Editor's note

‘บทสนทนา’ สำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง

แท็กไลน์ของ a day BULLETIN ในปัจจุบันคือ Conversations for All

           คำแปลของมันง่ายดายมาก เพราะหมายถึง ‘บทสนทนา’ สำหรับทุกสิ่งทุกอย่าง

           คำว่า All ในที่นี้ ไม่ได้หมายถึงเฉพาะผู้คนเท่านั้น แต่ยังหมายถึง ‘ความเป็นไปได้’ ในทุกมิติ ทุกเรื่องราว ทุกความขัดแย้ง และทุกความสัมพันธ์เชิงอำนาจด้วย

           บางครั้งผมก็ไม่แน่ใจเหมือนกัน ว่า a day BULLETIN จัดเป็น ‘สื่อ’ หรือเปล่า เพราะบ่อยหนทีเดียวที่เราตั้งใจจะสื่อสารอะไรบางอย่างออกสู่สาธารณะ แต่ก็มีอีกนับไม่ถ้วนครั้งที่เราไม่ได้มีวาระใดๆ ซุกซ่อนอยู่ข้างใน สิ่งที่เราทำก็เพียงแต่เปิดตัวเองเป็นเวทีเล็กๆ ให้ผู้คนได้มาสานบทสนทนาระหว่างกัน

           แน่นอน ไม่มีบทสนทนาใดในโลกที่ไม่ถูกกำกับควบคุมด้วย ‘อำนาจ’

           แค่การพูดคุยกันระหว่างสามีและภรรยา ก็มีความสัมพันธ์เชิงอำนาจคอยควบคุมกำกับอยู่ไม่รู้จักเท่าไหร่ ตั้งแต่อำนาจทางกายภาพ อย่างความแข็งแกร่งของร่างกายที่แตกต่างกัน ไล่ไปถึงอำนาจทางวัฒนธรรมตามบริบทชีวิตของคนสองคนนั้น – ว่าอยู่ในโลกที่ชายเป็นใหญ่มากแค่ไหน หรือกระทั่งบอกว่าตัวเองมีสำนึกเสมอภาคระหว่างเพศ ก็ยังยากจะบอกได้ถึงอำนาจแนบเนียนที่กำกับควบคุมอยู่โดยไม่รู้ตัว นี่ยังไม่ได้พูดถึงอำนาจของเพศทางชีววิทยาที่เต้นเร่าระหว่างกันมาเป็นแสนๆ ปี หรืออำนาจที่ฝังอยู่ในระบบลิมบิกของสมอง ซึ่งคอยกำกับควบคุมอารมณ์สู้หรือหนี และอำนาจอื่นๆ อีกมากมายที่หมุนวนอยู่รอบตัวอีก

           แม้แต่การพูดคุยกันระหว่างพ่อแม่กับลูก เราก็อาจไม่ตระหนักว่ามีอำนาจหลายอย่างคอยควบคุมอยู่ ความต่ำสูง ความกตัญญู การ ‘เถียง’ ที่ไม่ได้วางอยู่บนฐานของความพยายามทำความเข้าใจแต่มุ่งกำกับชีวิตกันและกัน

           จะเห็นว่า แม้แต่การพูดคุยกันของคนที่ควรจะสนิทสนมใกล้ชิดและเข้าใจกันมากที่สุดอย่างพ่อแม่ลูกและสามีภรรยา โดยเนื้อแท้ก็อาจเข้าใจกันได้ยาก โดยเฉพาะถ้าหากไม่เข้าใจหรือมองไม่เห็นว่าความสัมพันธ์ของตัวเองนั้นถูกอำนาจแบบไหนคอยควบคุมอยู่เหมือนสายใยล่องหนที่ชักเชิดหุ่นให้เต้นเร่าไปตาม ‘รหัสวัฒนธรรม’ (หรือรหัสธรรมอื่นๆ) โดยไม่รู้ตัว

           ประโยคที่บอกว่า – ใครๆ ก็ควรจะคิดต่างกันได้นั้น, โดยเนื้อแท้แล้วเป็นประโยคที่ไม่มีความหมายสักเท่าไหร่ เพราะไม่ใช่ว่าใครๆ ก็ ‘ควร’ จะคิดต่างกันได้ทั้งนั้นหรอก แต่ในความเป็นจริงแล้ว – ไม่มีใครเลยที่คิด ‘เหมือน’ กันไปหมดทุกเรื่อง กระทั่งในเรื่องเดียวกันที่คิดว่าคิดเหมือนกัน ถ้าลงลึกไปในรายละเอียดให้ถ่องแท้ อย่างไรก็จะพบความต่างบางอย่างได้เสมอ

           โลกนี้จึงไม่ใช่โลกที่ใครๆ ‘ควร’ จะคิดต่างกันได้ เพราะที่จริงเราคิดต่างกันอยู่แล้วทั้งหมด กลุ่มผู้ใหญ่ที่แลดูบูมเมอร์เร่อร่านั้น แท้จริงแล้วไม่ใช่คนกลุ่มเดียวกันทั้งหมด เช่นเดียวกับกลุ่มเด็กๆ รุ่นใหม่ก็ไม่ได้คิดเห็นเป็นแบบเดียวกันหมดด้วย

           ฝั่งซ้ายมีหลายเฉดสี ฝั่งขวาก็มีหลายเฉดสี แต่ปัญหาก็คือการผลักตัวเองออกไปอยู่อีกฝั่งจนไกลเกินกว่าจะเห็นนั่นต่างหาก – ที่ทำให้ความสามารถในการมองของเราคับแคบลง จนพานคิดว่าเฉดต่างๆ ของอีกฝั่งนั้น ล้วนกลายกลืนเป็นสีเดียวกันที่เหมือนกันไปหมด

           แล้วเราก็สร้างอัตลักษณ์หรือ Identity ของกลุ่มตัวเองขึ้นมาจากฝ่ายตรงข้ามที่เรายึดถือว่าเป็นศัตรู

           นักเขียนหญิงคนหนึ่งเคยบอกว่า – เราต่อสู้เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของตัวเอง และบ่อยครั้งเราก็ ‘ฆ่า’ เพื่อรักษาอัตลักษณ์ของตัวเองด้วย

           ตรงนี้นี่เอง ที่ผมคิดว่า ‘การสนทนา’ คือเรื่องสำคัญ

           สนทนาในกลุ่มอัตลักษณ์ของตัวเอง – เพื่อให้รู้จักเฉดสีอันหลากหลายของฝ่ายตัวเองเสียก่อนก็ได้ ตระหนักแน่ว่า ในการต่อสู้หนึ่งนี้ คนที่เราคิดว่าเป็นพวกเดียวกัน แท้จริงแล้วไม่ได้คิดเหมือนกันไปทุกเรื่อง โดยเฉพาะเรื่องในรายละเอียดที่อาจจะดูไม่สลักสำคัญในตอนนี้ แต่อาจสลักสำคัญอย่างยิ่งในอนาคต

           เมื่อทำเช่นนั้นได้แล้ว – ทีละเล็กทีละน้อย, บทสนทนาอื่นๆ ก็จะตามมา

           แม้วลี Conversations for All จะฟังดูเป็นวลีแสนเพ้อฝันที่อาจไม่มีวันเป็นจริงได้เลยในชั่วความฝันแห่งการดำรงอยู่ของมนุษยชาติ

           แต่การค่อยๆ ผลักมันไปข้างหน้า เพื่อมองเห็นความหลากหลายให้ชัดเจนขึ้น – ก็น่าจะเป็นเรื่องดีไม่ใช่หรือ