อย่ากลัวเขียนไม่ได้ อย่ากลัวเขียนไม่ดี อย่ากลัวเขียนไม่ดัง

อยู่ในแวดวงการอ่าน การเขียนมานาน ก็ไม่ใช่เรื่องแปลกอะไรที่จะมีคนชวนไปพูดหรือแสดงทัศนคติเกี่ยวกับวงการนักเขียนนักอ่านในบ้านเรา แต่สิ่งหนึ่งและน่าจะเป็นสิ่งเดียวที่ผู้เขียนยังไม่ตกลงปลงใจทำกับใคร น่าจะเป็นการสอนเรื่องการเขียน อย่างมากก็แค่ไปเป็นวิทยากรรับเชิญบ้าง แต่ถึงขั้นเปิดคอร์สสอนจริงๆ จังๆ นั้น เห็นจะยังไม่สะดวก เหตุผลหนึ่งก็คือ ชอบเขียนมากกว่าสอน (ฮา) และชอบเป็นคนเรียนรู้เรื่องการเขียนไปเรื่อยๆ มากกว่า ที่สำคัญ บ่อยครั้งตัวเองก็ยังต้องดิ้นรนพาตัวเองให้ผ่านพ้นช่วงที่เขียนงานไม่ได้ดังใจ 

        เส้นทางของการเป็นนักเขียน หรือนักเล่าเรื่องผ่านการเขียน ไม่เคยมีช่วงราบรื่นนักหรอก แต่ก็นั่นแหละ มีสะดุดบ้าง ตกหลุมตกหล่มบ้าง พอให้ตื่นตัวว่ามีอุปสรรคให้ข้ามผ่าน ก็ยังดีกว่าปล่อยไหลทางตรงไปเรื่อยๆ ไม่ใช่อะไร เกรงว่าตัวเองจะหลับในเอาได้ 

        ล่าสุดมีน้องจากสมาคมนักเขียนฯ โทรมาขอสัมภาษณ์เพื่อนำไปออกรายการ Shine a Light โดยจะคุยเกี่ยวกับการอ่านการเขียน รวมไปถึงวิถีชีวิตที่วนเวียนอยู่ในแวดวงนี้แบบไม่มีทีท่าว่าจะไปทำอย่างอื่น ตลอดการสนทนาเพียงครึ่งชั่วโมงกว่า มันสนุกตรงที่ได้นึกย้อนไปว่าอะไรทำให้กลายมาเป็นนักเขียน เหมือนเป็นช่วงสั้นๆ ที่มองกลับไปเห็นตัวเองในวัยที่ยังกล้าบ้าบิ่นกว่านี้ ตอนนั้นอยากเขียนก็เดินดุ่มๆ ไปสมัครงานเขียนกับนิตยสารฉบับหนึ่ง ไม่รู้ด้วยซ้ำว่าจะเขียนยังไง สัมภาษณ์ยังไง 

        เริ่มต้นจากจุดที่เขียนไม่เก่ง แต่ยังดีที่มีพี่ๆ คอยให้คำแนะนำ ให้โอกาสได้ลองทำอะไรใหม่ๆ บนพื้นฐานที่ว่า ผิดก็แก้ไข ถูกก็ไปต่อ ง่ายๆ แค่นี้แหละ แต่ที่สำคัญที่สุดในตอนนั้นก็คือ เรามีความกลัวน้อยมาก ส่วนหนึ่งเพราะไม่มีคำตัดสินจากคนรอบข้างมาบั่นทอน อีกส่วนหนึ่ง น่าจะเป็นเพราะยังไม่มีความสำเร็จมาแบกไว้บนบ่า ยังไม่มีความคาดหวังทั้งของคนอื่นและของตัวเอง แน่นอนว่าตรงหน้ามีเส้นชัยที่อยากไปให้ถึง แต่เพราะยังไปไม่ถึง มันเลยมีแต่ความพยายามที่จะไป

        แต่ที่จะลืมเสียไม่ได้เลยก็คือ นั่นคือยุคที่โซเชียลมีเดียยังไม่เกิด (มาร์ก ซักเคอร์เบิร์ก ก็น่าจะยังไม่เกิดด้วย) ตัวเลข เอนเกจเมนต์ ไลก์ แชร์ ต่างๆ เลยไม่ได้มีผลต่อความรู้สึกมากมายนัก นักเขียนรุ่นใหม่ที่ต้องเผชิญกับเรื่องพวกนี้อย่างแยกกันไม่ออกนี่ต่างหากที่น่าเป็นห่วงในแง่ของการเริ่มต้นทำงาน เพราะต้องรับฟังคำวิจารณ์ที่มาจากร้อยพ่อพันแม่ ยิ่งถ้าแยกแยะไม่ถูกว่า คนไหนควรฟัง คนไหนไม่ควรเก็บมาคิด ก็ยิ่งจะทำให้ตัวเองท้อตั้งแต่ก้าวแรก โดยเฉพาะคนที่ยังไม่มีภูมิคุ้มกันคำวิจารณ์ 

        แต่ถึงอย่างนั้น งานเขียน ที่ไม่ได้มีรายได้งดงามเมื่อเทียบกับงานประเภทอื่น ก็ยังดึงดูดคนรุ่นใหม่ๆ ให้แวะเวียนกันเข้ามา (และเดินออกไป) แบบไม่มีทีท่าว่าจะมีใครเข็ด

        แต่ในเมื่อมีโอกาสให้คำแนะนำนักเขียนรุ่นใหม่ๆ ในรายการวันนั้น ผู้เขียนเลยขอฝากไปสามคำเท่านั้นว่า อย่ากลัวเขียนไม่ได้ อย่ากลัวเขียนไม่ดี อย่ากลัวเขียนไม่ดังนี้ ซึ่งเหตุผลก็ไม่มีอะไรซับซ้อน

        อย่ากลัวเขียนไม่ได้ ถามตัวเองก่อนว่า ทำไมถึงกลัว ถ้าเขียนเพจ เขียนสเตตัสเล่าเรื่องให้เพื่อนฟังได้ เขียนเรียงความส่งอาจารย์ได้ เขียนจดหมายสมัครงานได้ ก็ถือว่าเขียนได้ทั้งนั้น เพียงแต่ตอนที่เริ่มต้น เราควรจะเขียนในสิ่งที่อยากเล่า หรืออยากบอกใครสักคนแทบตาย ผู้เขียนเคยพูดเล่นๆ ว่า เขียนเหมือนคนคันปากอยากจะนินทาใครสักคนก็ได้ แต่เราเลือกที่จะนินทาตัวเอง นินทาคนข้างบ้าน อะไรก็ว่าไป  แต่ท้ายที่สุด การเขียนก็คือการค่อยๆ เรียบเรียงความคิดออกมาเป็นประโยคที่ได้ใจความ ต่อเนื่องไปทีละประโยค จนจบเรื่องที่อยากเล่า อย่ากลัวเขียนไม่ได้ เท่ากับ กลัวไม่ได้เขียน เพราะพลังของสองสิ่งนี้ต่างกันมาก เรื่องนี้ คนที่กลัวไม่ได้เขียนจะรู้ดี 

        อย่ากลัวเขียนไม่ดี เพราะคำว่า ‘ดี’ ของแต่ละคนไม่เหมือนกัน แต่เท่าที่รู้ คนที่เขียนดีในวันนี้ ล้วนเคยผ่านการเป็นคนที่เขียนงานไม่ได้เรื่องได้ราวกันมาก่อนทั้งนั้น แต่ด้วยการก้มหน้าก้มตาเขียนวันแล้ววันเล่านั่นแหละ ที่มันจะค่อยๆ ขัดเกลาให้เขียนได้ดีขึ้น ขณะเดียวกัน ก็ต้องเรียนรู้ที่จะวางการตัดสินของตัวเองลงก่อน เขียนให้จบแล้วค่อยตัดสิน วิ่งให้มันครบเวลาที่ตั้งใจแล้วค่อยมาดูสถิติ เขียนไม่ดีวันนี้ พรุ่งนี้อาจจะดีกว่าก็ได้ เหมือนกับคนที่เขียนได้ดีวันนี้ พรุ่งนี้อาจจะเขียนเหมือนคนตรรกะเพี้ยนก็ได้อีก การกลัวว่าจะเขียนไม่ดี ทั้งที่ไม่มีการฝึกเขียนอย่างสม่ำเสมอ ก็เหมือนคนที่บอกว่า ชาตินี้ฉันคงวิ่ง 5 กิโลไม่ได้ ทั้งที่ยังไม่เริ่มลุกจากโซฟา คงวิ่ง 5 กิโลด้วยสถิติงดงามไม่ได้ ทั้งที่ไม่ได้ฝึกอย่างจริงจัง 

        เอาเข้าจริง การเขียนไม่ดี เป็นเรื่องที่เกิดขึ้นได้ตลอดชีวิตของนักเขียนนั่นแหละ ไม่ต้องกลัว (ฮา) ถ้ารักที่จะเขียน ต้องเขียนให้มากที่สุด และทำอย่างสม่ำเสมอ เพราะก่อนจะเขียนได้ดี เราต้องเขียนงานที่ไม่ดีมาก่อนเพื่อจะได้เรียนรู้และพัฒนาตัวเอง อย่ากลัวจะเขียนไม่ดี เพราะถ้าเราซื่อสัตย์กับงาน ทุ่มเทพลังให้กับงานเขียน มันต้องมีสักคนที่อ่านแล้วบอกว่า ดีสำหรับเขา สิ่งที่ดีสำหรับคนเดียว มันง่ายกว่าดีสำหรับทุกคน เขียนในแบบที่เราไม่เสียดายเวลาที่ทุ่มเท เขียนในแบบที่เราพอใจกับสิ่งที่ได้เล่า เขียนไปแบบนั้นก่อน 

        อย่ากลัวเขียนไม่ดัง ข้อนี้ยิ่งไม่ต้องกลัว เพราะดังของแต่ละคนก็ไม่เท่ากัน บางคนดังในกลุ่มหนึ่ง แต่เงียบกริบในอีกกลุ่ม บางคนมีหนังสือขายดีติดอันดับจนจะทิ่มตา แต่ก็ไม่ได้หมายความว่าทุกคนจะเคยอ่าน และคนที่เคยอ่านก็อาจไม่ได้มองว่า งานของคนดัง จะเท่ากับงานดี 

        พูดมาจนถึงตรงนี้ ผู้เขียนแค่อยากจะบอกว่า ยินดีทุกครั้งที่มีคนบอกว่าอยากเขียนหนังสือ เพราะในประเทศที่การอ่านการเขียนยังไม่เบ่งบานจนถึงที่สุด การมีนักเขียนผลิตงานออกมา จะมากจะน้อยก็สร้างความคึกคักให้วงการเสมอ 

        งานเขียนอาจดูเหมือนทำง่าย ก็แค่เขียน… แต่คงปฏิเสธไม่ได้ว่า งานที่บอกว่าทำง่ายนี่แหละ ที่ลงมือทำได้ยาก และยากกว่านั้นคือ ลงมือทำไปเรื่อยๆ ด้วย นี่ก็นึกถึงตอนถามแม่ไปเมื่อวันก่อนว่า ทำไมมะม่วงต้นหลังบ้านเราลูกดกมาก? ดูแลยังไง แม่ตอบว่า ก็ดูแลตามปกติเท่าที่มะม่วงต้องการให้ทำนั่นแหละ ตอนแรกก็ไม่ได้คิดว่า กิ่งที่เอามาชำ มันจะรอดด้วยซ้ำ เท่าที่ทำได้ก็แค่รดน้ำ ใส่ปุ๋ย ตัดหญ้าเท่าที่จำเป็น พูดง่ายๆ ก็คือ ทำทั้งหมดทั้งปวงเท่าที่จะทำได้ ในสถานการณ์ที่ทำได้ ที่เหลือก็อยู่ที่มะม่วงกับลมฟ้าอากาศที่ต้องฝ่าฟันกันไปให้ได้ในแต่ละวันนั่นแหละ 

        สิ่งเดียวที่ไม่ได้ทำก็คือ ไปคาดคั้นมะม่วงให้ออกลูกดกๆ เท่านั้นเอง


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม