การนอนตกหมอนเป็นเรื่องธรรมดา แต่การนั่งตกหมอนน่าจะเป็นเรื่องใหม่ และขอแนะนำว่าถ้าไม่จำเป็น อย่าเป็นเลย เพราะความเจ็บปวดที่ตามมา มันไม่ธรรมดาจริงๆ
ด้วยความที่ต้องทำงานผ่านหน้าจอโทรศัพท์เป็นหลัก ทั้งตรวจงาน ตอบแชท หาข้อมูล หรือแม้กระทั่งสั่งซื้อของ ก็ต้องยอมรับว่าวันๆ ตัวเองก็ต้องนั่งก้มหน้าก้มตาง่วนอยู่กับโทรศัพท์เป็นหลัก วันก่อน ก้มอย่างเดียวไม่พอ ยังนั่งผิดท่า หรือที่เรียกว่านั่งจมลงไปในโซฟานานเป็นชั่วโมง หมอนหนุนหลังก็ผิดทิศผิดทาง เงยหน้ามาอีกทีได้เรื่อง คอเคล็ดแบบหันไม่ได้เลย หลังจากนั้นอีกสองสามวัน กลายเป็นคนหยิ่งไปในทันที ขับรถก็คอแข็ง ใครเรียกก็ไม่หัน หนักเข้าก็พาลจะโกรธคนเรียกเข้าไปอีก
กลางดึกคืนหนึ่ง แค่จะขยับตัวขึ้นมาจากที่นอนเพื่อมากินยาแก้ปวด ยังต้องใช้เวลานานกว่าครึ่งชั่วโมง เพราะปวดแปล๊บจนต้องนอนนิ่งๆ แล้วค่อยๆ ขยับ ตะแคงตัว พักกลั้นหายใจ เพื่อหา ‘จุดที่เจ็บปวดน้อยที่สุด’ ในการลุก กว่าจะผ่านกว่าจะพ้นต้องเรียกว่ากลั้นใจไปหลายเฮือก นึกโทษตัวเองว่าทำอะไรไม่ระวังเองแท้ๆ แล้วก็ต้องมารับผลที่ทำเองเจ็บเอง
เจ็บแล้วก็ต้องจำ ทำแล้วก็ต้องยอมรับกันไป
ช่วงเวลาไล่เลี่ยกันนั้น ก็ได้รับแจ้งจากสำนักพิมพ์ Being ว่า ‘The Little Book of Stoicism’ หนังสือที่ผู้เขียนแปล พร้อมวางขายแล้ว หลังจากปลุกปล้ำกันมานาน จำได้ว่าปวดต้นคอไปดีใจไป นี่มันช่างทุลักทุเลจริงๆ
แต่เอาเถอะ ช่วงเวลาแห่งความเจ็บปวดนี่แหละคือช่วงที่เราทำอะไรไม่ได้เลยนอกจากอดทน ยอมรับ และทบทวน เหมือนนักปรัชญาต้นสายหรือบิดาแห่งปรัชญาสโตอิก อย่าง ซีโนแห่งซิทิอุม (Zino of Citium) เจอปัญหาชีวิตผลักดันให้หันหน้าเข้าหาปรัชญา จากเหตุการณ์เรืออับปางกลางทะเลเมดิเตอร์เรเนียนช่วง 320 ปีก่อนคริสต์ศักราช ซึ่งที่เล่านี่ไม่ใช่อยากเปรียบเทียบอาการคอเคล็ดกับเรืออับปาง เพราะความเสียหายมันต่างกันจนน่าเกลียด แต่แค่อยากบอกว่า ที่มาของวิธีคิดในการเผชิญความหนักหน่วงหรือความเจ็บปวดในชีวิต มันก็คือความเจ็บปวดนี่แหละ หนามยอกก็ต้องเอาหนามบ่ง
ผู้เขียนได้ยินและได้อ่านปรัชญานี้มานานพอสมควร และระยะหลังๆ ก็มีนักคิด นักเขียนชื่อดังพูดถึงอยู่บ่อยๆ ไม่ว่าจะเป็น ทิม เฟอร์ริส เจ้าของหนังสือขายดีอย่าง ‘The 4 Hour Work Week’ ผู้ทำให้แนวคิดทำงานสัปดาห์ละ 4 ชั่วโมงโด่งดังไปทั่วโลก หรือ ไรอัน ฮอลิเดย์ เจ้าของหนังสือดังอย่าง ‘The Obstacle is the Way’ ฯลฯ ซึ่งจุดที่ทำให้เริ่มสนใจในปรัชญานี้ ก็คือวิธีคิดแบบเปิดหน้าลุยกับปัญหา พร้อมยอมรับ แต่ไม่ได้สยบยอม
ขณะเดียวกัน ก็สอนให้เราตั้งสติเมื่อเจอปัญหา เพื่อแยกแยะว่า อะไรคือสิ่งที่ควบคุมได้ และอะไรคือสิ่งที่ควบคุมไม่ได้ จากนั้นก็ให้ใส่ใจเฉพาะสิ่งที่ควบคุมได้เท่านั้น ที่เหลือ… อะไรต้องปล่อย เราก็ต้องปล่อย
ยอมรับ ไม่ใช่ยอมแพ้ เข้าใจ ไม่ใช่ถอดใจ สโตอิกไม่ใช่ปรัชญาของคนที่ทำอะไรไม่ได้แล้วก็เลยยอมรับความพ่ายแพ้ไปเฉยๆ
“การยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างที่มันเป็น ไม่เกี่ยวอะไรกับการถอดใจ” ในหนังสือกล่าวไว้แบบนั้น
“ข้ออ้างที่ว่าคุณต้องยอมแพ้ถ้าคุณจะยอมรับในทุกสิ่งทุกอย่างที่เกิดขึ้นในชีวิต เป็นความคิดที่โง่เขลาและขี้เกียจเท่านั้น เพราะจริงๆ แล้วมันต้องอาศัยอะไรมากมายอย่างยิ่งในการยอมรับความจริงแทนที่จะสู้กับทุกสิ่งที่เกิดขึ้น มันต้องอาศัยความเป็นคนจริงมากๆ ในการเผชิญหน้าเมื่อจำเป็น และต้องใช้จิตใจที่แข็งแกร่งและถ่อมตนอยู่ในที ในการยอมรับและรับมือกับเรื่องเลวร้าย พูดอีกอย่างก็คือ มันจำเป็นต้องอาศัยความเป็นนักรบนักปรัชญา เพราะนักรบจะมองทุกอย่างเป็นความท้าทาย เพื่อจะทำให้ดีที่สุด ขณะที่คนทั่วไปจะมองทุกอย่างว่าเป็นพรหรือไม่ก็คำสาป
“แค่เพียงเพราะเราควรยอมรับสิ่งที่เกิดขึ้น ไม่ได้หมายความว่าเราเห็นด้วยกับสิ่งนั้น มันเพียงหมายความว่า เราเข้าใจว่าเราไม่สามารถเปลี่ยนแปลงอะไรมันได้ ดังนั้นทางเลือกที่ดีที่สุดก็คือ ยอมรับมันเสีย และเมื่อยอมรับแล้ว ก็พยายามทำสิ่งที่ดีที่สุดในสถานการณ์นั้นๆ ไปด้วย” ที่อยู่ในเครื่องหมายคำพูดคือ ข้อความจากหนังสือในหน้า 126-127
การขยับตัวหาจุดที่เจ็บปวดน้อยที่สุดคือเรื่องสำคัญ ในวันที่แย่ที่สุด มันต้องมีสักจุดหนึ่ง ที่เราพอไหวและสามารถเคลื่อนไปยังจุดนั้นได้ เพื่อค่อยๆ พยุงตัวเองให้ลุกขึ้น แทนที่จะนอนปวดร้าวอยู่เฉยๆ เมื่อเจ็บปวดน้อยลงแล้ว ก็ค่อยๆ จัดการในสิ่งที่จัดการได้ต่อไป
บอกแล้วว่า คอเคล็ดไม่ได้เกี่ยวอะไรกับสโตอิก แต่สโตอิกแค่มาทันเวลาในวันที่แย่อีกครั้ง ไม่ต่างจากวันที่หยิบหนังสือเกี่ยวกับสโตอิกมาอ่านเป็นครั้งแรกนั่นเอง
ในวันที่ทุกอย่างย่ำแย่ หนักหน่วง เราต้องดิ้นรนเอาตัวรอดทุกวิถีทางเป็นธรรมดา วิธีคิดในห้วงยามนั้นอาจไม่ใช่การพร่ำบอกตัวเองว่าเดี๋ยวมันก็ผ่านไป เพราะใจมันไม่ยอมรับหรอก ผ่านบ้าอะไร หนักหน่วงขนาดนี้ จะตายมั้ยยังไม่รู้ (จิตใจอีกส่วนอาจจะเถียงคำไม่ตกฟากกลับมา) ดังนั้นเท่าที่ทำได้อาจจะเป็นแค่ยอมรับไปเลยว่ามันหนักและมันแย่จริงๆ นั่นแหละ ความเจ็บปวดนี้ไม่น่าจบเร็ว อย่างอาการคอเคล็ดนี่ก็ต้องใช้เวลาราวๆ 3-4 วันโน่นกว่าจะหาย ระหว่างนั้นก็ดูแลตัวเองเท่าที่สามารถทำได้ และไม่ทำอะไรที่เสี่ยงต่อการบาดเจ็บ ก็ถ้ามันทำได้เท่านี้ ก็เท่านี้
พยายามหาจุดที่เจ็บปวดน้อยที่สุดให้เจอ แล้วขยับไปตรงนั้นให้ได้ เพราะเมื่อเจ็บน้อยลง เราก็มีโอกาสช่วยเหลือตัวเองมากขึ้น ที่สำคัญ ไม่ต้องรีบเร่งมองหาข้อดีในเวลาที่แย่ แย่ก็คือแย่นั่นแหละแกเอ๊ย มนุษย์เรามันก็ต้องมีเวลาที่แย่บ้าง อย่าซ้ำเติมตัวเองด้วยการลุกขึ้นสู้ในเวลาที่ควรจะยอมเลย ระวังคอจะเคล็ดไม่เลิก (อันนี้แอบบอกตัวเอง)
เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม