ความขัดแย้งทางการเมือง

เราจะ ‘อยู่’ กับความขัดแย้งทางการเมืองอย่างไร

นักคิดทางการเมืองหลายคนเห็นตรงกันว่า สังคมจะบรรลุถึงความเห็นที่เป็นเอกฉันท์ (ซึ่งแปลว่าไม่ขัดแย้งกัน) ได้ ก็ต้องวางผลประโยชน์เฉพาะตัวลงก่อน แล้วหันมา ‘คิด’ โดยเถียงกันบนฐานของเหตุผล จนออกมาเป็นความเห็นพ้องต้องกันขั้นสุดท้าย

        แต่คำถามก็คือ แม้เราจะต้องการให้ ‘ความขัดแย้ง’ หายไปจากสังคม แต่มนุษย์ก็ต้อง ‘เป็นอิสระ’ หรือมีเสรีภาพในการคิดด้วย ซึ่งสุดท้ายก็จะเกิดความแตกต่างทางความคิด – ที่ก็ย่อมนำไปสู่ ‘ความขัดแย้ง’ ขึ้นมาอยู่ดีนั่นแหละ

        คำถามสำคัญจึงคือ – อะไรสำคัญกว่ากัน ระหว่าง ‘ผลลัพธ์’ ที่เป็นเอกฉันท์เห็นพ้องต้องกันไปหมด หรือการอยู่กับ ‘ความขัดแย้งอันเป็นนิรันดร์’ ที่จะไม่มีวันสิ้นสุด

        ถ้าพูดในภาพใหญ่ๆ ‘ฝักฝ่าย’ ในสังคมการเมือง ไม่ว่าจะเป็นแบบที่หยาบที่สุด คือเอากับไม่เอาประชาธิปไตย หรือละเอียดขึ้นกว่านั้น คือการเอาหรือไม่เอาประชาธิปไตย ‘แบบไหน’ มักสร้างความขัดแย้งรุนแรงไม่น้อย ยิ่งถ้ามีมิติอื่นๆ เข้ามาผสมด้วย เช่น ศีลธรรม ศาสนา ชนชั้น เศรษฐกิจ ก็อาจกลายเป็น ‘ลัทธิการเมือง’ (Political Cult) บางรูปแบบที่ยิ่งไปเสริมความขัดแย้งให้รุนแรงสุดขั้วขึ้นไปอีกเรื่อยๆ

        ถ้าเรารู้สึกว่าอีกฝ่ายเป็นศัตรู ส่วนใหญ่แล้ว เรามักใช้วิธีการพื้นฐานที่สุด ที่ ‘ติดตั้ง’ อยู่ในสมองของมนุษย์มาตั้งแต่ยุคดึกดำบรรพ์ ก็คือโหมด ‘สู้หรือหนี’ (Fight or Flight) แบบที่เอาไว้ใช้รับมือกับสัตว์ป่าหรือภัยธรรมชาติ แต่วิธีคิดพื้นฐานอย่างนี้นำมาใช้กับเรื่องที่ซับซ้อนอย่างความขัดแย้งทางการเมืองไม่ได้ เพราะเราไม่มีทางสู้หรือหนีสิ่งเหล่านี้แล้วเข้าสู่สภาวะสงบเรียบร้อย หรือเกิด ‘เสียงเอกฉันท์’ ขึ้นมาได้ง่ายๆ

        ในสายตาของนักปรัชญาการเมืองหลายคน อุดมคติของประชาธิปไตย (ที่ต้องการผลลัพธ์ร่วมในแบบที่เรียกว่า ‘เอกฉันท์’) จึงอาจขัดแย้งกับเสรีนิยม (ที่มีความคิดแตกต่างหลากหลาย) ก็ได้

        ข้อเสนอหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ ไหนๆ สังคมการเมืองทุกหนแห่งในโลก ต่างก็วางตัวอยู่บนความขัดแย้งไม่แบบใดก็แบบหนึ่งในแบบที่ไม่อาจหนีไปจากความขัดแย้งได้ ก็แล้วทำไมเราถึงจะต้องทำให้ความขัดแย้งพวกนั้นเป็นปฏิปักษ์กันด้วยเล่า

        มีวิธีอื่นอีกไหมที่จะ ‘ฟูมฟักความขัดแย้ง’ ให้ดำรงอยู่ร่วมกันได้ (เพราะจะว่าไป ความขัดแย้งย่อมเกิดจากความคิดความเชื่อของคนกลุ่มต่างๆ ที่ไม่เหมือนกัน พูดอีกอย่างก็คือ มันอาจเป็น ‘อัตลักษณ์’ ของกลุ่มต่างๆ ด้วยซ้ำ) แทนที่จะต้องไปพยายาม ‘กำจัด’ ความขัดแย้งทิ้ง ซึ่งแปลว่าบางความคิดเห็นจะถูกกีดกันออกไป (แบบแนวคิดอนุรักษนิยม) หรือปล่อยให้เกิดการต่อรองผลประโยชน์ไปจนสุดขั้ว (ตามแนวคิดเสรีนิยม) แต่เราสามารถฟูมฟักความขัดแย้งเหล่านี้เอาไว้ เข้าใจมัน มองเห็นมัน แล้วทำให้ความขัดแย้งเหล่านี้อยู่ร่วมและเกิดผลลัพธ์ในแง่บวกขึ้นมาได้ไหม

        เราไม่รู้หรอก ว่าแนวคิดที่ขัดแย้งกันในปัจจุบันนั้น ในโลกอนาคต แนวคิดไหนจะกลายเป็นประโยชน์หรือสอดรับกับความเปลี่ยนแปลงของโลกได้มากกว่ากัน

        เคยมีนักทฤษฎีการเมืองชาวกรีซอีกคนหนึ่ง คือ Takis Fotopoulos เสนอประชาธิปไตยแบบใหม่ที่เรียกว่า Inclusive Democracy หรือประชาธิปไตยแบบนับรวม ซึ่งไม่ได้แปลแค่ว่าจะต้องนับรวมฝ่ายตรงข้ามเท่านั้น แต่ยังหมายถึงการรวมเอาประชาธิปไตยหลายๆ แบบเข้ามาอยู่ด้วยกัน โดยเฉพาะประชาธิปไตยเชิงเศรษฐกิจกับประชาธิปไตยเชิงนิเวศ (ที่มักจะขัดแย้งกันเอง) ด้วย

        Takis Fotopoulos เขียนหนังสือว่าด้วยประชาธิปไตยแบบนับรวมมาตั้งแต่ปี 1997 แต่เริ่มมีการพูดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาอีกครั้ง เพราะโลกกำลังเผชิญหน้ากับความขัดแย้งรุนแรงอย่างที่ไม่เคยเป็นมาก่อน โดยเฉพาะความรุนแรงทางการเมืองที่มีรากลงลึกไปถึงศรัทธาและความเชื่อในทางศาสนา

        คำถามสำคัญของ Inclusive Democracy ก็คือ เราจะอยู่กับความขัดแย้งเพื่อสร้างความขัดแย้งที่รุนแรงยิ่งขึ้น หรืออยู่กับความขัดแย้งเพื่อรักษาความขัดแย้งนั้นให้มีพื้นที่ของมัน และพยายามสร้างคุณค่าขึ้นมาจากความขัดแย้งให้ได้

        นี่ไม่ใช่เรื่องง่าย แต่เป็นเรื่องสำคัญมากต่อการอยู่ร่วมกันในโลกที่นับวันก็จะซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ ใบนี้