แถวบ้านของผู้เขียน เป็นชุมชนเก่าแก่ ร้านรวงแถวนี้อยู่กันมาเกิน 20 ปีแทบทั้งนั้น บางร้านนี่ถึงกับแยกไม่ออกเอาเลยทีเดียวว่าตกลงร้านหรือคนแก่กว่ากัน ไม่ว่าจะร้านขายราดหน้า ร้านก๋วยเตี๋ยวเป็ด ลุงรถเข็นขายเต้าหู้-เผือกทอด ร้านคุณยายขายข้าวเกรียบปากหม้อ ไล่เรียงไปจนถึงร้านถ่ายรูป (ใช่แล้ว ยังมีร้านรับถ่ายรูปและถ่ายเอกสารอยู่แถวนั้นหนึ่งร้านถ้วน) หรือแม้กระทั่งร้านตัดผมสไตล์บาร์เบอร์ รุ่นเก่า ราคาค่าตัดอยู่ที่ 100 บาทถ้วนนี่ก็ยังมี ร้านเหล่านี้คือร้านที่คนในชุมชนอุดหนุนกันมายาวนาน อาจจะไม่ได้คึกคักแบบมีลูกค้ายืนต่อคิวรอแบบร้านดังๆ ในห้างใหญ่ แต่ก็มีลูกค้าประจำแน่นอน และที่ดั้นด้นตามมากินก็เยอะ
แต่ก็แน่นอนว่า บางวันก็มีจังหวะที่ลูกค้าขาดช่วงไปบ้าง มากน้อย แตกต่างกัน ถ้าเจอฝนเทโครมลงมา น้ำท่วมซอย ก็ต้องนั่งรอกันยาวไป จนฝนซานั่นแหละ ถึงจะมีคนเข้ามาอุดหนุนอีกที และหลายๆ ครั้งก็สังเกตเห็นว่า ช่วงที่โผล่หน้าเข้าไปตอนลูกค้าบางตา เจ้าของร้านเขาก็ไม่ได้นั่งรอแบบหมดอาลัยตายอยาก อาจจะไม่ถึงขนาดหาเรื่องเต้นติ๊กต็อก แต่รวมๆ แล้วก็ดูมีชีวิตชีวา เรียกว่าสดชื่นพร้อมยืนขายของทันที ไม่ต้องห่วง บางคนส่งเสียงทักทายกวนประสาทกันไปพอให้ครึกครื้นด้วยซ้ำ
การมีอยู่ของร้านเล็กๆ เหล่านี้ นอกจากจะเป็นแหล่งอาหาร หรือ บริการที่จำเป็นในราคาย่อมเยาแล้ว การเปิดร้านในแต่ละวัน ยังอาจหมายถึงการมีอยู่ของชีวิต รายได้อาจจะไม่มากมาย แต่ก็ได้พอสะสมไปในทุกวัน เอาแค่ไม่สวนทางกับรายจ่ายในยุคนี้ ก็ลุ้นกันจะแย่แล้ว
การมีอยู่ของชีวิต ตัวตน คุณค่าในการทำงานของแต่ละคน เป็นเรื่องที่เราคงมองด้วยตาเปล่าไม่เห็น แต่ก็ไม่ยากที่เราจะสัมผัสได้ ไม่เถียงว่า บางคนอาจจะบอกว่าเปิดไปอย่างนั้นแหละ ไม่เปิดร้านจะเอาอะไรกิน เหมือนคำพูดในหนังเรื่องหนึ่งที่คนนิยมเอามาอ้างอิงนั่นแหละว่า “กูไม่ออก ออกแล้วกูจะเอาอะไรแดก” จะดูเพื่อเอาฮา หรือจะดูเพื่อสะท้อนใจก็ได้ทั้งนั้น
ผู้เขียนคงไม่อาจไปไถ่ถามคนขายตามร้านแถวบ้านเป็นรายบุคคลได้ว่า “ลุง… คิดว่าคุณค่าของงานที่ทำคืออะไร?” “ลุงรู้จักคำว่าอิคิไกมั้ย” เพราะมองอุปกรณ์ในมือลุงที่อาจใช้เป็นอาวุธได้แล้ว ก็จำเป็นต้องสงบปากไว้ แต่อย่างที่บอกว่า ของแบบนี้มันไม่ยากที่จะสัมผัสได้จากผลงานที่เห็น ความกระตือรือร้นที่จะขายของหรือเปิดร้าน พลังในการทำของอร่อยๆ โดยที่ฝีมือไม่ตก การไม่ทำอะไรชุ่ยๆ เพราะต่อให้อุดหนุนกันมาเหนียวแน่น ถ้าวันหนึ่งฝีมือตก ลูกค้าจ่ายเงินแล้วรู้สึกไม่คุ้ม ก็นั่นแหละ ช่วงเวลาในการนั่งคอยลูกค้าเข้าร้านก็คงยิ่งทอดยาวไปอีก
การนั่งคอยลูกค้า ไม่ใช่สัญลักษณ์ของความซบเซาหรือน่าเบื่อหน่ายเสมอไป เพราะกับบางคนมันก็เป็นแค่จังหวะพักของวัน แค่รอเวลาที่เหมาะสม เดี๋ยวลูกค้าก็เข้ามาเอง สิ่งที่พวกเขาต้องเตรียมไว้ให้พร้อมคือ พลังและเรี่ยวแรงในการขาย แถมรอยยิ้มเป็นน้ำจิ้มอีกนิด แต่ทั้งหมดย่อมหมายถึงรายได้ และแน่นอนว่า มันคือคุณค่าของคนทำมาหากิน ที่มีอาชีพที่เลี้ยงตัวเองได้ และไม่ต้องขอใครกิน… ถ้าจะพูดให้ชัด
นั่งรอคอยจังหวะของตัวเอง ไม่เร่งจนเกินกำลัง แต่ก็ไม่ได้นานเกินกว่าจะรอ
ไม่นานมานี้ ผู้เขียนมีโอกาสได้สัมภาษณ์คอนดักเตอร์ชื่อดังท่านหนึ่งที่ทำงานในระดับนานาชาติ และทุกวันนี้ก็ยังมีพลังสร้างสรรค์ผลงานอย่างสม่ำเสมอ อย่างที่ไม่เห็นวี่แววของความหมดแพสชัน ระหว่างการพูดคุยเกี่ยวกับการควบคุมวงออร์เคสตรา อาจารย์ย้ำเสมอว่า ในวงดนตรีขนาดใหญ่ที่เราเห็นกันนั้น มันแสดงถึงการสอดประสานจังหวะเป็นอย่างดี ในเพลงหนึ่งเพลงไม่อาจขาดใครได้ ทุกคนมีส่วนสำคัญที่จะทำให้เพลงมีชีวิตชีวา ขาดไม่ได้แม้แต่คนที่เราแทบลืมไปเลยว่ามีเขาอยู่… ระบุตำแหน่งให้ชัดก็คือ คนตีฉาบ ที่นานๆ ทีเขาจะลุกพรึ่บขึ้นมาแล้วบรรจงตีฉาบดังแช้ง แม้เพียงครั้งเดียว… ก็อาจสร้างแรงสั่นสะเทือนให้กับอารมณ์คนดูทั้งฮอลล์
แต่นานเท่าไหร่ที่เขานั่งรออยู่เพื่อจังหวะนั้น? คงไม่มีใครสนใจจะนับเวลา นอกจากเจ้าตัว
อาจารย์เล่าให้ฟังว่า
“คนตีฉาบที่เรามองว่าไม่เห็นทำอะไร นั่งอยู่ชั่วโมงนึงถึงจะได้ลุกขึ้นมาตีฉาบรอบนึงแล้วจบ มันมีคอนเสิร์ตแบบนี้จริงๆ นะ แล้วยิ่งเพลงยุคโบราณมากๆ บางคนนั่งซ้อมนานหลายชั่วโมง แต่ลุกมาตีครั้งเดียวนี่เป็นเรื่องธรรมดา แต่เขารู้ไงว่า ไอ้ครั้งที่เขาลุกขึ้นมาตีน่ะ มันมีความสำคัญกับเพลงยังไง เพราะเขาพลาดไม่ได้ เขาต้องโฟกัสตลอดเวลา เขาต้องเตรียมตัว ซึ่งมันเป็นธรรมชาติของเขาเลย แล้วผมคิดว่ามันเป็นระบบ ecosystem ที่ดีในระบบสังคม เพราะทุกคนรู้หน้าที่ว่าตัวเองต้องทำอะไร ทุกคนมีความสำคัญยังไง แม้เขาจะมีหน้าที่ลุกมาตีฉาบเพียงครั้งเดียว แต่ครั้งนั้นมันสำคัญมากนะ เพราะเขาคือคนที่ช่วยทำให้เพลงของทั้งวงดูอลังการมาก ทุกคนในวงจะรู้ว่าทุกอย่างมีเวลาของมัน ฉันต้องรอให้ถึงเวลาของฉัน แล้วเขาก็จะนั่งรอนะ เขาไม่ได้บ่นอะไร เขาจะนั่งรอจนกว่าจะถึงเวลาของตัวเอง”
คุณค่าของสิ่งที่ทำ แม้คนอื่นจะไม่รู้ แต่เราก็รู้อยู่แก่ใจว่าเราทำไปเพื่ออะไร และการแสดงออกของเราต่อสิ่งที่เราทำ มันก็พอจะบอกได้ว่าเราคิดอย่างไรกับสิ่งนั้น กระทั่งว่าคิดอย่างไรกับตัวเอง เราจะเป็นคนตีฉาบที่รู้ว่าเมื่อถึงจังหวะที่เหมาะสม เราจะทำให้สุดฝีมือ หรือเราจะนั่งอย่างเหม่อลอย ไร้เรี่ยวแรง เมื่อถึงจุดที่วงทั้งวงต้องการชั่วขณะแห่งความอลังการ เราก็เพียงแค่ลุกมาทำหน้าที่เฉยๆ แรงที่ใช้ ใจที่มี ไม่ได้รอเพื่อแสดงฝีมือให้โลกเห็น แต่ทำให้มันผ่านไปเพียงเพราะเพลงนี้ ต้องมีเสียงฉาบ
ก็แค่งานงานหนึ่ง ก็แค่หน้าที่หนึ่ง ก็แค่วันวันหนึ่ง เดี๋ยวมันก็จะผ่านไป
แต่กับบางคน ทำวันนี้ไม่พอ แต่ทำวันนี้ เพื่อที่มันจะทำให้มีพรุ่งนี้ที่ดีกว่าด้วย
ถ้าผู้เขียนเดินไปที่ร้านลุงขายเผือกทอด แล้วแกไม่ลุกมายิ้มแย้มแจ่มใสพร้อมกับยิงมุกแป้กบ้างไม่แป้กบ้าง เช่น สั่งเผือกกับเต้าหู้ แล้วแกถามว่า เอาเต้าหู้กับเผือกได้มั้ย? เผลอๆ เราคงได้อุดหนุนกันไปแค่ครั้งสองครั้ง ยิ่งถ้าไม่อร่อย ก็คงครั้งเดียวพอ แต่ไม่รู้สิ ทุกวันนี้ก็ยังสนุกในการไปซื้อของร้านแก และเชื่อว่าแกสนุกที่ได้ยิงมุกพอๆ กับเชี่ยวชาญในการทอดเผือก-เต้าหู้
ของในราคาแค่ 30 บาท อาจไม่มากมายอะไรสำหรับเรา แต่แกก็สะสมเงินทองทีละเล็กทีละน้อยมาได้หลายสิบปีเพราะอาชีพนี้ เก่าและแก่ไปพร้อมรถเข็นคู่ใจนั่นแหละ ถ้าแกชุ่ยแทนที่จะเชี่ยว วันนี้เดินไปคงไม่เจอ
ยืนขายที่เดิม ยึดทำเลเดิม สร้างสีสันให้คนซื้อเหมือนเดิมไม่เปลี่ยนแปลง บางวันเจอคนซื้อนิสัยแย่ พูดไม่ดี หรือเข็นไปขายที่อื่นแล้วโดนไล่ที่แบบไม่ไว้หน้า แกก็คุยให้ฟังยิ้มๆ ปิดท้ายด้วยการบอกว่า ‘ปล่อยเขา เราก็หาที่ขายของเราใหม่’
บางวันเดินผ่านร้านเห็นแกนั่งเงียบๆ มือถือใดๆ ก็ไม่เอามาเล่น นั่งเฉยๆ เหมือนแมวแถวนั้นที่นั่งมองไปข้างหน้าเฉยๆ เหมือนไม่รู้ว่านั่งไปทำไม แต่แท้จริงแล้วต่างคนต่างรู้ เมื่อจังหวะและเวลาของตัวเองพร้อม แมวก็พุ่งไปตะปบหนู ลุงก็แค่ลุกมาขายของที่แกทำด้วยความตั้งใจ
เวลามันไม่ได้ผ่านไปเฉยๆ หรอก แต่มันมีเวลาของเรารออยู่ขณะใดขณะหนึ่ง แต่เราจะทำให้มันน่าจดจำสำหรับคนอื่นหรือไม่ มันก็แล้วแต่เรา
เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม