ความเหงา

ความเหงาทำให้เราตัดขาดจากสังคมและส่งผลต่อการทำงานของสมองอย่างเหลือร้าย

นักวิทยาศาสตร์รู้มานานแล้วว่า ความเหงา โดดเดี่ยว และรู้สึกว่าตัวเองถูกตัดขาดจากสังคม มีผลลึกลงไปถึงการทำงานของสมอง ทำให้การควบคุมทางสมองและการควบคุมตัวเองบกพร่องลง

         ความเหงาที่เรื้อรังทำให้เรามองโลกด้วยเลนส์ที่บิดเบี้ยว เมื่อรู้สึกว่าคนอื่นตัดขาดเรา ในที่สุดเราจะเป็นฝ่ายสร้างป้อมปราการเอาไว้ล่วงหน้า และมักจะตัดสินประเมินคนอื่นเอาไว้ล่วงหน้า ว่าทุกปฏิกิริยาของเขา จะต้องเป็นไปเพื่อการกีดกันเราออกจากสังคมแน่ๆ

         ด้วยเหตุนี้ ความเหงาที่เรื้อรังอยู่ลึกๆ ภายใน จึงมักสร้างพฤติกรรมโต้ตอบอย่างรุนแรงออกมา หลายคนกลายเป็นคนที่คิดในแง่ลบ มีลักษณะที่ ‘รอดู’ ว่าสังคมจะทำอะไรกับตัวเอง จากนั้นก็ตีความสิ่งที่เกิดขึ้นให้เป็นไปในมุมมองของตัวเอง แต่ไม่ลุกขึ้นสร้างความเข้าใจทั้งกับตัวเองและผู้อื่น

         ผลลัพธ์ก็คือการถูกดูดกลืนเข้าไปในวงจรดูดกลืนแห่งความโดดเดี่ยวที่ทวีขึ้นเรื่อยๆ

         ความเหงาและความรู้สึกว่าตัวเองถูกตัดขาด จึงทำให้เรา ‘ประเมิน’ คนอื่นผิดพลาดได้ง่าย จึงยิ่งนำไปสู่ความเหงาและการตัดขาดที่มากขึ้น กลายเป็นวงจรอุบาทว์ที่ทำร้ายเราซ้ำๆ ไม่รู้จบ 

         ที่จริงแล้ว มนุษย์เราต้องการความสามารถในการ ‘ตีความ’ สัญญาณทางสังคมต่างๆ อย่างละเอียดอ่อนและถูกต้อง เรื่องนี้โดยเนื้อแท้แล้วเป็นเหมือน ‘อุปกรณ์’ ที่ ‘ติดตั้ง’ อยู่ในสมองและวิถีชีวิตของเรา เพราะมันเริ่มต้นมาจากการปรับตัว ก่อเกิดเป็น ‘สัตว์สังคมยิ่งยวด’ ที่ต้องประสานกันในการออกล่าสัตว์ในยุคหมื่นแสนปีที่แล้ว กระทั่งถึงการรวมตัวเป็นหมู่บ้าน เป็นเผ่า เป็นเมือง ซึ่งการ ‘อ่าน’ สัญญาณจากคนอื่นเป็นเรื่องจำเป็นยิ่งยวดเพื่อจะมีชีวิตอยู่ให้รอด

         แต่การถูกตัดขาดในทางสังคมที่เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ ทำให้ความสามารถละเอียดอ่อนเหล่านี้พร่องไป

         ความเหงาลดความรู้สึก ‘ได้รับรางวัล’ ซึ่งปกติแล้วเป็นความรู้สึกที่เกิดขึ้นเนื่องจากการมีปฏิสัมพันธ์กับผู้อื่น เราจะระแวงระวังเสมอ มันผลักดันให้เราต้องตอบสนองแบบแย่ๆ ออกไป นั่นเพราะเราอ่านคนอื่นได้ไม่แม่นยำ จึงไม่สามารถรับรู้รายละเอียดทางอารมณ์ต่างๆ ได้ เมื่อไม่เข้าใจอีกฝ่ายอย่างลึกซึ้ง เราก็ไม่อาจหาทางออกในแบบ ‘วิน-วิน’ ได้ ทว่า มักมองว่าอีกฝ่ายเข้ามาเอาเปรียบอยู่เสมอ

         ความทึบทื่อทางสังคมนี้ มักจะนำทางเราไป ทำให้เราไม่อาจเห็นพ้องกับคนอื่นได้ง่ายๆ แล้วเราก็ดึงตัวเองออกจากคนอื่น หรือไม่ก็ทำให้คนอื่นต้องผลักเราออกจากเขา มันคือตัวการที่อาจทำให้เราไม่พึงพอใจต่อปฏิสัมพันธ์ในสังคม เพราะไม่อาจเกิดความรู้สึกได้รับรางวัลเหมือนที่คนอื่นเขาได้กัน

         เราจึงไม่มีความสุข

         แล้วจะทำอย่างไรดี?

         เรื่องหนึ่งที่น่าสนใจก็คือ มีอีกหลายงานวิจัยที่บอกว่า เมื่ออายุมากขึ้น มนุษย์เรามักจะมีความสุขมากขึ้น ซึ่งขัดแย้งกับความเชื่อที่ว่า วัยเยาว์หรือวัยหนุ่มสาวน่าจะร่าเริงเบิกบานมากกว่า

         ทำไมถึงเป็นอย่างนั้น?

         นักวิทยาศาสตร์อธิบายว่ามีอยู่ด้วยกันสองปัจจัย

         ปัจจัยแรกก็คือ สมองส่วนที่ควบคุมการตอบสนองทางอารมณ์ โดยเฉพาะอารมณ์ในแง่ลบของเรา (ซึ่งคืออะมิกดาลา) ทำงานตอบสนองได้น้อยลง เราจึง ‘รู้สึก’ กับเรื่องที่เข้ามากระทบเราว่าเป็นเรื่องแง่ลบน้อยลง

         แต่ปัจจัยอีกอย่างหนึ่งที่สำคัญกว่าก็คือ ในคนสูงวัยนั้น เมื่อรู้ว่าตัวเองมีเวลาในชีวิตเหลืออยู่น้อยกว่า ก็เริ่มหันไปสนใจกับแง่มุมชีวิตหรือสายสัมพันธ์ระหว่างมนุษย์ที่ให้ความพึงพอใจทางภาวะอารมณ์มากกว่า ไม่ได้ใส่ใจกับเรื่องลบๆ มากเหมือนที่เคยเป็นมาสมัยยังหนุ่มยังสาว

         แล้วพวกเขาก็มีความสุขมากขึ้น

         ที่จริงแล้ว นี่อาจเป็นเรื่องง่ายๆ ที่ปฏิบัติได้ยากเหลือเกิน ถ้าหากว่าร่างกายของเราไม่พร้อม (คือยังไม่ถึงวัย) ในวัยหนุ่มสาว เรามักพลุ่งพล่าน วิ่งไล่ต้อนความคิดของตัวเองและของผู้อื่น เพื่อจับมันมาใส่ไว้ในกรอบกรงที่ตัวเราคิดว่าเหมาะควร จนเกิดเป็น dogma หรือความคิดความเชื่อบางอย่างที่ไม่อาจประนีประนอมได้ แล้วหลายคนก็เลือกตัดขาดตัวเองออกจากสังคม ซึ่งก็ส่งผลให้เกิดวงจรแห่งการตัดขาดที่มากขึ้นและมากขึ้นไปเรื่อยๆ

         ทั้งหมดที่เล่ามานี้ ไม่ได้หมายจะให้เกิดคำตอบหรือสูตรสำเร็จใดๆ ในเรื่องของความเหงา ความโดดเดี่ยว ความทุกข์ และความสุข

         เพราะเรื่องเหล่านี้เป็นเรื่องเฉพาะตัวทั้งสิ้น