ฉากชีวิต

ทำไมฉากชีวิตของเรา จึงเหมือนกับถอดแบบมาจากฉากใดฉากหนึ่งในหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งเสมอ

ขณะที่เครื่องบินกำลังเร่งความเร็วเพื่อเทกออฟจากสนามบินนาริตะ ผมเหม่อมองออกไปภายนอกหน้าต่าง

        จากภาพของต้นไม้ใบหญ้าข้างทาง ค่อยๆ เปลี่ยนเป็นภาพของท้องฟ้าสูงขึ้นๆ เรากำลังลอยผ่านละอองเมฆทีละชั้นๆ แล้วท่วงทำนองอันล่องลอย เวิ้งว้าง ของเพลง Alone in Kyoto จากหนังเรื่อง Lost in Translation ก็ผุดขึ้นมาในใจ

        เสียงเคาะจังหวะเหมือนเสียงน้ำหยดลงบนสวนหินแบบญี่ปุ่น บอกเวลาแต่ละวินาทีๆ ที่ผ่านไป เชื่อมโยงกับภาพที่เห็นเป็นท้องฟ้าสูงขึ้นๆ สว่างขึ้นๆ

        จนเมื่อบินสูงขึ้นไปถึงระดับ เครื่องก็ค่อยๆ เอียงลำเพื่อเลี้ยวปรับทิศทาง เผยให้เห็นภาพเบื้องล่าง เป็นชายฝั่งทะเลกว้างใหญ่ สวยงามจับใจ เรากำลังมุ่งหน้าไปทางทิศตะวันตกเพื่อกลับประเทศไทย

        ดวงอาทิตย์เมื่อไร้ก้อนเมฆบดบังก็สาดแสงส่องเข้ามาในห้องผู้โดยสาร ทำให้ปรากฏเป็นแสงแฟลร์สีรุ้งงดงาม เหมือนกับภาพที่ถ่ายด้วยเลนส์มุมกว้าง ในฉากผู้ก่อการร้ายไฮแจ็กเครื่องบินยามเช้า ของหนังเรื่อง United 93 จะแตกต่างกันก็ตรงที่บรรยากาศของแสงสีในเครื่องบิน ณ วินาทีนี้ มีเพียงความสุขสงบและอบอุ่น

        สาวน้อยที่ตรงเบาะด้านหน้า ผมแอบมองลอดพนักพิงหลังไป เห็นเธอกำลังมองทัศนียภาพข้างนอกอย่างชื่นชม ใบหน้าของเธอสดใสยามต้องแสงแดด สะท้อนเป็นเงาไปบนกระจกหน้าต่าง เหมือนเธอกำลังประจันหน้ากับอีกตัวตนในจักรวาลคู่ขนาน ภาพนี้ทำให้นึกถึงฉากที่ เฟย์ วอง กำลังเดินบนทางเลื่อน ในหนังเรื่อง Chungking Express

        ภาพจำเมื่อครั้งเดินทางไปประเทศญี่ปุ่นเมื่อหลายปีก่อน พร่างพรูทะลักล้นออกมาจากลิ้นชักสมอง เมื่อ ‘ผมอยู่ข้างหลังคุณ’ ส่งงานต้นฉบับหนังสือเรื่อง หลง : Lost & Love in Japan ของเขา มาให้ผมทดลองอ่าน แล้วช่วยบอกเขาหน่อยว่าต้นฉบับชิ้นนี้ทำงานอย่างไรกับผม

        มันทำงานอย่างนี้แหละ!

        โลกและสรรพสิ่งทั้งหลายที่ดำรงอยู่ภายนอกนั้น ล่องลอยและไร้ความหมาย จนกระทั่งเราเข้าไปรับรู้และทำความเข้าใจมันด้วยโลกของความคิดที่มีอยู่ภายใน

        นักเขียนแบบพวกเราก็ทำงานเขียนกันแบบนี้ เราใช้โลกและสรรพสิ่งภายนอกเป็นอินพุต กรองผ่านโลกภายใน แล้วอธิบายออกมาเป็นเอาต์พุตผ่านงานเขียน

        ในระหว่างวัน ในวิถีชีวิตปกติประจำวัน ผมก็มักจะมีภาพของหนังมากมายผ่านเข้ามาในห้วงคำนึง คงเป็นเพราะโลกภายในของเรามีความคล้ายคลึงกัน การอ่านต้นฉบับชิ้นนี้จึงให้ความเพลิดเพลิน และกระตุ้นให้เกิดคำถามขึ้นในใจ

        …ว่าทำไมทุกฉากชีวิตของเรา ช่างเหมือนกับถอดแบบออกมาจากฉากใดฉากหนึ่งในหนังเรื่องใดเรื่องหนึ่งเสมอ?

        ถึงแม้เราจะไม่เคยเดินทางท่องเที่ยวไปด้วยกัน และเรามีโลกภายนอกรอบตัวแตกต่างกัน เราเหมือนอยู่กันคนละมิติของสถานที่และเวลา แต่เราต่างก็มีโลกภายในร่วมกันอยู่มากมาย มันจึงเหมือนคล้ายเราอยู่ร่วมมิติของสถานที่และเวลาเดียวกัน

        จู่ๆ ผมก็ขนลุกเกรียว รู้สึกเหมือนกับกำลังถูกคนจ้องมองจากข้างหลัง

        ในฉากจบของหนังเรื่อง Hannibal หลังจากที่ ดร. เลกเตอร์ หลบหนีการจับกุมของนักสืบสตาร์ลิง เขาปลอมตัวและหลบหนีออกนอกประเทศทางเครื่องบิน

        ดร. เลกเตอร์ หยิบกล่องอาหารที่เขาปรุงเองอย่างสุดฝีมือขึ้นมาเปิดกิน เด็กหญิงที่นั่งข้างๆ มองเขาด้วยสายตาอยากรู้อยากเห็น และอยากขอชิมบ้าง

        “As your mother tells you, and my mother certainly told me, it is important, she always used to say, always to try new things.” ดร. เลกเตอร์ กล่าว

        ในวินาทีนี้ ท่วงทำนองอันล่องลอย เวิ้งว้าง ของเพลง Alone in Kyoto จากหนังเรื่อง Lost in Translation หายวับไปจากห้วงคำนึง มันถูกแทนที่ด้วยเสียงเพลงสกอร์จากหนังเรื่อง Psycho ในฉากฆาตกรรมใต้ฝักบัว

        บนท้องฟ้าระดับหลายหมื่นฟุตเหนือน้ำทะเล คุณไม่มีทางรู้หรอกว่าในบรรดาคนแปลกหน้านับร้อยๆ ที่นั่งเบียดเสียดกันอยู่รอบตัว พวกเขาเป็นใครมาจากไหน

        บางทีเขาอาจจะอยู่ข้างหลังผมในตอนนี้ก็ได้

 


หมายเหตุ: เรียบเรียงใหม่จากคำนิยมในหนังสือ หลง : Lost & Love in Japan โดย ผมอยู่ข้างหลังคุณ สำนักพิมพ์ 4-letter word พ.ศ. 2556