Editor's note

นิยามคำว่าพ่อ-แม่ และความหมายของความกตัญญู

เพื่อนคนหนึ่งมีความสัมพันธ์ที่ย่ำแย่กับบุพการี แต่เมื่อเวลาผ่านไป ทุกคนร่วงโรยลง ก็ถึงเวลาที่เธอต้องคอยดูแลแม่ที่ป่วย

         แต่แน่นอน – แม่ที่ป่วยนั้นย่อมไม่ได้ป่วยเฉพาะโรคทางกาย แม่ของเธอมีปัญหาทางจิตใจด้วย การเรียกร้องต้องการ ภาวะเอาแต่ใจ ไม่เชื่อฟังลูก ไม่เชื่อฟังหมอ, ก็ทำให้การดูแลนั้นเป็นไปโดยลำบาก

         เธอถามว่า เธอควรทำอย่างไรดี เมื่อความสัมพันธ์ไม่ค่อยดี เธอก็รู้สึกกระอักกระอ่วนใจ และต้องต่อสู้ระหว่างความกตัญญูกับความไม่เคยรักกัน

         ที่จริงแล้ว ต่อให้ไม่มีภาวะเจ็บป่วยหรือกระอักกระอ่วนใจเข้ามาข้องแวะ การดูแลพ่อแม่ก็ไม่ใช่เรื่องง่าย เพราะมันคือการสลับบทบาทจากการเป็นลูกที่เคยให้พ่อแม่ดูแล กลายมาเป็นผู้ดูแลพ่อแม่แทน

         พ่อแม่ที่เคยแข็งแรงเป็นหลักให้ครอบครัวหลายคนอาจยอมรับตัวเองไม่ค่อยได้ที่เจ็บป่วยจนต้องพึ่งพาคนอื่น (ต่อให้เป็นลูกหลานก็เถอะ) ดังนั้น พ่อแม่จึงอาจอารมณ์เสียหรือ ‘ดื้อ’ ในเรื่องต่างๆ ได้บ้าง

         ดังนั้น สิ่งที่ควรทำเป็นอย่างแรกเลยก็คือการพิจารณาสภาพความเป็นอยู่ของตัวเองและพ่อแม่ให้ถ่องแท้ ดูว่าปัญหาอยู่ตรงไหนบ้าง ทั้งปัญหาภายใน เช่น ปัญหาความสัมพันธ์ หรือปัญหาภายนอก เช่น ลูกต้องทำงาน ทำให้ไม่มีเวลาดูแลเต็มที่

         ปัญหาสองระดับนี้จะกระทบกันไปมา เช่น ถ้าลูกไม่มีเวลาดูแลเต็มที่ พ่อแม่ก็อาจเกิดอาการน้อยใจได้ แล้วก็ส่งผลกลับมาที่ลูกอีก วนเวียนไปอย่างนี้ หรือถ้าลูกมีเวลา (หรือมีเงินทองในการจ้างคนมา) ดูแล แต่พ่อแม่มีอาการ ‘ดื้อ’ เช่น ไม่ยอมเปลี่ยนการกินอาหารตามที่แพทย์สั่ง ฯลฯ ก็ต้องหาวิธีดูแลที่เหมาะสมต่อแต่ละคน โดยหลักการใหญ่ๆ ก็คือการให้ความรักความอบอุ่นและความ ‘เคารพ’ ต่อพ่อแม่ โดยเฉพาะความเคารพในศักดิ์ศรีของความเป็นมนุษย์ ซึ่งโดยมาก เมื่ออยู่ในครอบครัวเดียวกัน ใกล้ชิดกัน และอาจต้องรับภาระดูแลหนักๆ เป็นเวลานานๆ หลายคนก็อาจมองข้ามเรื่องนี้ไป

         อย่างไรก็ตาม สำหรับเพื่อนคนนี้ สิ่งที่บอกกล่าวแก่เธอไปก็คือ เรื่องของความกตัญญูนั้น ถ้าเราคิดว่าต้องทำอะไรบางอย่างด้วย ‘ความกตัญญู’ คืออุทิศตัวเพียงเพื่อให้ได้ชื่อว่ากตัญญูในสายตาของคนอื่น ก็น่าจะเรียกสิ่งนั้นว่า ‘กตัญญู’ ได้ลำบากอยู่สักหน่อย

         พ่อกับแม่ของเราเป็นผู้ให้กำเนิดเราในหลายความหมาย มีทั้งความหมายเชิงสังคม ความหมายในทางวัฒนธรรม ความหมายในทางเพศ หรือความหมายในทางวิทยาศาสตร์ การแค่เอาสายรหัสเกลียวของดีเอ็นเอของสองคนมาแยกออก แล้วจับมาพันรัดเกลียวกระหวัดระหว่างกันเพื่อก่อกำเนิดเป็นชีวิตใหม่อันเป็นส่วนผสมของดีเอ็นเอจากสองฟากฝั่งนั้น สำหรับบางคนและบางวัฒนธรรม – อาจไม่นับว่ามีความเป็นพ่อเป็นแม่อยู่ในตัวก็ได้ ถ้าไม่ได้เลี้ยงดูลูกต่อเนื่องหลังจากนั้น แต่สำหรับบางคนหรือบางวัฒนธรรม เพียงเป็นพ่อแม่ในทางชีวภาพ แล้วหลังจากนั้นทิ้งขว้างลูกไปตลอดชีวิต ก็อาจต้องนับว่าเป็นพ่อเป็นแม่ของเราแล้ว

         นั่นเป็นเพียงการให้ความหมายของการเป็นพ่อกับแม่เบื้องต้น ทว่ายังมีความหมายของ ‘ความเป็นพ่อกับแม่’ ที่ซ้อนทับสลับซับซ้อนเข้าไปอีกชั้น นั่นคือในบางสังคมบางศาสนาบางวัฒนธรรม ความเป็นพ่อกับแม่ถือเป็นสิ่งสูงสุด ละเมิดไม่ได้ เป็นพรหมของลูก เป็นสิ่งที่ลูกต้องเทิดทูนไว้เหนือศีรษะ แต่ในบางสังคม ความเป็นพ่อกับแม่ไม่ได้ยิ่งใหญ่สูงส่งอะไรขนาดนั้น พ่อกับแม่อาจไม่ได้มี ‘ความเป็นพรหม’ แต่มี ‘ความเป็นเพื่อน’ กับลูก ถึงขั้นที่ลูกเล่นหัวกับพ่อแม่ได้ เรียกพ่อแม่ด้วยชื่อ ฯลฯ

         แต่ไม่ว่าเราจะสมาทานตัวเองกับ ‘ความเป็นพ่อเป็นแม่’ (และรวมถึง ‘ความเป็นลูก’) ในรูปแบบไหน ก็ล้วนมีราคาที่ต้องจ่ายและรางวัลที่ได้รับแตกต่างกันไปทั้งสิ้น ในคนที่สมาทานความเป็นพ่อแม่แบบแรก ครอบครัวอาจสุขสงบดีก็ได้ เพราะลูกย่อมต้องเชื่อฟังพ่อแม่ที่ถูกมองว่าสูงสุด ทำให้ครอบครัวเดินหน้าไปอย่างกลมเกลียว เวลามีปัญหาอะไรระหว่างพี่น้อง พ่อกับแม่แค่พูดคำเดียว ปัญหาก็คลี่คลายลงได้ แต่ครอบครัวแบบนี้ก็อาจมีปัญหาลึกๆ ซ่อนอยู่ใต้ผิวน้ำในแบบที่ไม่เคยได้หยิบยกมาพูดถึงกันจริงจัง ในขณะที่ครอบครัวแบบที่สองอาจดูเหมือนไม่เคารพพ่อแม่ แต่ก็เป็นไปได้ว่า ในความเป็นเพื่อน ลูกกับพ่อแม่อาจร่วมกันฝ่าฟันแก้ปัญหาต่างๆ ไปได้โดยสามารถเปิดอกพูดระหว่างกันได้มากกว่า

         บอกเพื่อนไปว่า อยากให้เธอลองนั่งนิ่งๆ แล้วค่อยๆ คิดดูว่า – ตลอดชีวิตที่ผ่านมา เธออยู่กับความเป็นพ่อแม่และความเป็นลูกแบบไหน และสิ่งที่เรียกว่า ‘ความกตัญญู’ นั้น แท้จริงก็คือผลผลิตของความเป็นพ่อแม่ลูกของเธอกับพ่อแม่นั่นเอง หากความเป็นพ่อแม่หลากหลายกว่าที่เราคิด ความกตัญญูก็ย่อมหลากหลายกว่าที่เราคิดด้วย

         มีแต่เธอเท่านั้นที่ตอบได้ ว่าที่บอกว่า ‘ไม่เคยรักกัน’ นั้น มันคือการ ‘ไม่รัก’ ในดีกรีแบบไหน และนั่นแหละจะเป็นคำตอบให้กับคำถามของเธอได้ในที่สุด