ฤดูเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ เวียนมาถึงอีกรอบหนึ่ง แต่ครั้งนี้ ชาวอเมริกันเครียดกว่าที่เคยเป็นมาเสมอ เพราะการเลือกตั้งครั้งนี้คือการชี้ชะตาว่าพวกเขาจะกลับไปเป็นเหมือนสี่ปีที่ผ่านมา (หรือที่จริงคืออาจร้ายแรงกว่า) หรือเปล่า
ในบทความ Protests Won’t Be Enough to Stop a Coup ของ Judith Shulevitz ใน The Atlantic เธอบอกว่า หากเกิดเหตุการณ์บางอย่างขึ้น เช่น ทรัมป์เลือกที่จะหยุดนับคะแนนหรือเกิดการเล่นเกมอะไรก็ตาม เชื่อกันว่าผู้สนับสนุนไบเดนจะ ‘ลงถนน’ แน่นอน
แต่สิ่งที่จูดิธตั้งคำถามก็คือ การลงถนนเพียงอย่างเดียวนั้นเพียงพอจริงหรือที่จะเปลี่ยนแปลงสิ่งที่เกิดขึ้น
หวั่นกลัวกันว่า รอยร้าวครั้งนี้ในสังคมอเมริกันอาจนำไปสู่สิ่งที่ไม่เคยเกิดขึ้นมาก่อนเลย นั่นก็คือการ Coup หรือพูดตรงๆ ก็คือการรัฐประหารนั่นเอง เพียงแต่จะเกิดรัฐประหารแบบไหนเท่านั้น เช่น ใช้ตุลาการภิวัตน์ หรือใช้อำนาจบริหารเข้ามาแทรกแซงการนับคะแนน ที่จริงคำว่า Coup อาจฟังดูเป็นคำที่แรงไม่น้อยสำหรับสหรัฐอเมริกา แต่จูดิธบอกว่า มาถึงขนาดนี้ คำนี้ได้กลายเป็นคำที่ไม่แรงสักเท่าไหร่แล้วในความเห็นของเธอ เพราะมันอาจเกิดขึ้นได้จริงๆ และพาอเมริกาถอยหลังเข้าคลองครั้งใหญ่
จูดิธไปคุยกับ จอร์จ ลาคีย์ (George Lakey) ซึ่งเป็นอาจารย์อาวุโสที่ศึกษาเรื่องการรวมตัวประท้วง จอร์จบอกว่า การ ‘ลงถนน’ ไม่ได้เป็นเพียงแท็กติกเดียวเท่านั้นที่ใช้ได้ ยังมีวิธีอื่นๆ อีกหลายอย่าง และไม่ได้แปลว่าการลงถนนจะได้ผลเสมอไปด้วยซ้ำ
จูดิธสงสัยว่า ถ้าหากคนเป็นหมื่นแสนคน (หรืออาจถึงล้านคน) ลงถนนแล้วยังมีอำนาจไม่มากพอจะสร้างความเปลี่ยนแปลง ก็แล้วพวกเขาควรทำอะไรกันเล่าเพื่อหยุดการฉ้อฉลการเลือกตั้งที่อาจเกิดขึ้นได้
จอร์จบอกว่า เรื่องแรกสุดในการต่อต้านของประชาชน ก็คือต้องใช้วิธีที่ปราศจากความรุนแรง ในหนังสือ Why Civil Resistance Works: The Strategic Logic of Nonviolent Conflict ของ Erica Chenoweth และ Maria Stephan มีการวิเคราะห์ข้อมูลของขบวนการประชาธิปไตย 323 ขบวนการ และพบว่าขบวนการที่ปราศจากความรุนแรงนั้น มีความเป็นไปได้ที่จะประสบความสำเร็จมากกว่าวิธีรุนแรงถึงราวสองเท่า คือมีโอกาสสำเร็จ 53% ในขณะที่วิธีรุนแรงมีโอกาสสำเร็จเพียง 26% เท่านั้น
ดังนั้น สิ่งที่จอร์จเน้นย้ำก็คือ ผู้คนต้องฝึกวิธีที่ปราศจากความรุนแรงหรือ Practicing Nonviolence ซึ่งไม่ได้เกิดขึ้นได้ง่ายๆ ที่จริงแล้วเป็นวิธีที่ยากด้วยซ้ำ เพราะคนแต่ละเจเนอเรชันต้องเรียนรู้เรื่องนี้ใหม่หมด เพราะในหมู่ผู้ประท้วง หากมีคนใช้ความรุนแรง ตำรวจหรือทหารก็จะแยกแยะคนที่ใช้ความรุนแรงได้ง่าย จึงสามารถจับกุมคนเหล่านี้ได้โดยเร็ว ที่สำคัญกว่านั้นก็คือ กลุ่มคน ‘กลางๆ’ ที่ยังไม่ตัดสินใจว่าจะอยู่ฝั่งไหน มักจะไม่อยากเข้าข้างคนที่ใช้ความรุนแรง ดังนั้น วิธีที่ปราศจากความรุนแรงจึงมักได้ผลในระยะยาวมากกว่า แม้เป็นวิธีการที่ยากลำบากและต้องอดทนนานก็ตาม
แต่การไม่ใช้ความรุนแรงไม่ได้แปลว่าไม่มีเป้าหมาย ทั้งจอร์จและเอริกาเห็นตรงกันว่าการประท้วงต้องมีเป้าหมายร่วม ในการประท้วงของชาวเซอร์เบียต่อต้านประธานาธิบดี สโลโบดาน มิโลเซวิค ในปี 2000 ผู้คนจากทุกกลุ่มวัย ทุกฐานะทางเศรษฐกิจ และทุกภูมิภาคของประเทศ ต่างลุกฮือขึ้นมาเหมือนกัน โดยเป้าหมายของผู้ประท้วงมุ่งไปยัง ‘เสาหลัก’ ที่เป็นพื้นฐานของสถาบันทางสังคมทั้งหลาย ไม่ว่าจะเป็นธนาคาร ธุรกิจต่างๆ โรงเรียน สื่อ ข้าราชการ ตำรวจ ผู้พิพากษา หรือกระทั่งทหารเอง ไม่ใช่เพื่อโจมตีคนเหล่านี้ แต่เพื่อมุ่งหมายให้คนเหล่านี้มาอยู่ฝั่งเดียวกัน
การลุกฮือในเซอร์เบียยุติลงได้ด้วยชัยชนะของฝ่ายประชาชน เมื่อผู้บัญชาการทหารตำรวจในกรุงเบลเกรดปฏิเสธจะสั่งทหารตำรวจให้ยิงใส่ผู้ประท้วง นั่นเพราะพวกเขารู้ว่าในหมู่ผู้ประท้วงนั้นมี ‘ลูกๆ’ ของพวกเขาอยู่ในนั้นด้วย
อีกเรื่องหนึ่งที่จูดิธเขียนถึง ก็คือเธอไปคุยกับ Hardy Merriman ซึ่งเป็นหนึ่งในผู้เขียนคู่มือปกป้องประชาธิปไตยชื่อ Hold the Line: A Guide to Defending Democracy และฮาร์ดี้ก็บอกว่า สิ่งที่ทำได้อีกอย่างหนึ่ง คือการคว่ำบาตรและนัดหยุดงาน คือไม่ใช้ไม่ซื้อสินค้าที่ไม่สนับสนุนประชาธิปไตย ซึ่งแรกทีเดียวจูดิธเห็นว่าอาจจะช้าไปหน่อย แต่สุดท้ายเธอก็ยอมรับว่าอาจเป็นวิธีที่ได้ผลก็ได้ถ้าหากมีคนที่รวมพลังกันมากพอ
จูดิธเสนอด้วยว่า ผู้คนควรลุกขึ้นมาประท้วงหรือ ‘ลงถนน’ กันได้ ถ้าหากว่ามีเงื่อนไขสามอย่าง ได้แก่ ทรัมป์ประกาศชัยชนะทั้งที่ผลการนับคะแนนยังไม่ชัดเจน, เจ้าหน้าที่การเลือกตั้งพบสัญญาณความผิดปกติที่อธิบายไม่ได้ว่ามีการโกงเลือกตั้ง และสุดท้ายคือทรัมป์แพ้ แต่ไม่ยอมออกจากตำแหน่ง (ซึ่งอันสุดท้ายถือว่าเป็นการ Coup ตรงๆ นั่นเอง)
เราไม่รู้หรอกว่า ผลการเลือกตั้งประธานาธิบดีสหรัฐฯ จะเป็นอย่างไร ได้แต่ติดตามดูในวันพรุ่งนี้ (3 พฤศจิกายน 2020) แต่เราอาจพอบอกได้ว่า การประท้วงในไทยนั้นมีการใช้กลยุทธ์ต่างๆ ที่จูดิธเขียนมาหมดแล้ว ทั้งไม่ใช้ความรุนแรง พยายามโน้มน้าวฝ่ายตรงข้าม รวมถึงการคว่ำบาตรต่างๆ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือ เราทำมาหมดแล้วนั่นเอง
ถ้ามองในมุมนี้ สังคมไทยอาจ ‘ก้าวหน้า’ กว่าในสหรัฐฯ ก็เป็นได้
เพียงแต่นี่อาจเป็นความก้าวหน้าที่ไม่พึงปรารถนาและน่าเศร้า – ก็เท่านั้นเอง
อ่านเพิ่มเติม:
- www.theatlantic.com/ideas/archive/2020/10/election-protests-alone-wont-stop-coup/616895/
- https://holdthelineguide.com