สมัยทำ a day BULLETIN หลายปีก่อน วันหยุดยาวแบบนี้ มักจะเป็นวันที่ผู้เขียนวางแผนไปเที่ยวแบบพักร่าง พักสมอง ไม่ติดต่อสื่อสารใดๆ กับใคร เพราะสมัยก่อนที่ adB ยังเป็นสิ่งพิมพ์ พวกเราในกองบรรณาธิการ ต้องเร่งปิดเล่มให้ทันช่วงหยุดยาว ซึ่งโรงพิมพ์ก็ต้องหยุดด้วย การปิดเล่มล่วงหน้ารีดเค้นพลังในการทำงานของเราแบบหมดก๊อก ทุกคนต้องมีงานเพิ่มเป็นสองเท่า ทุ่มพลังกันเพื่อให้คนอ่านได้รับนิตยสารแจกของสัปดาห์นั้นๆ โดยไม่ขาดตกบกพร่อง พอปิดเล่มเสร็จ แน่นอนการเดินทางไกลไปเที่ยวแบบยาวๆ จึงเป็นหมุดหมายปกติของพวกเราเพื่อชดเชยการทำงานหนักมาตลอดสัปดาห์ ช่วงไปเที่ยว เลยไปกันอย่างต่ำก็ 5-6 วัน โน่นละ
ตัดภาพกลับมาตอนนี้ นอกจากเราจะไม่ต้องเร่งรีบปิดเล่มล่วงหน้า เพราะเนื้อหาของเราย้ายมาอยู่บนโลกออนไลน์ร้อยเปอร์เซ็นต์ ผู้เขียนก็ไม่มีจุดหมายที่ไหนจะให้ไปอีกต่างหาก เพราะไม่นึกอยากเดินทางในช่วงที่สถานการณ์โรคระบาดยังไม่บรรเทาอย่างน้อยก็ในความรู้สึก…เพราะวันนี้ ตัวเลขผู้ติดเชื้อและตัวเลขผู้เสียชีวิตที่เพิ่มขึ้น ไม่อาจทำให้สบายใจได้ ประกอบกับข่าวคราวคนรอบตัวที่ติดเชื้อและอาการหลังจากนั้นแทบไม่ปกติ ก็ยิ่งทำให้การไม่เดินทาง เป็นทางเลือกที่สมเหตุสมผลกว่า
แต่การไม่เดินทาง ไม่ได้แปลว่าร่างกายไม่ต้องเคลื่อนที่ เพียงแต่มันไม่ได้ต้องเคลื่อนที่ไปไหนไกลนัก ปักหลักแค่ระยะรัศมีไม่เกิน 10-20 กิโลเมตรจากบ้าน ก็เพียงพอให้รู้สึกได้ออกเดินทางได้บ้างแล้ว เมื่อก่อน ผู้เขียนยอมรับว่า ยึดติดกับคำว่า ‘การเดินทางคือสายตาของนักเขียน’ (ถ้าจำไม่ผิด คนพูดก็น่าจะเป็น คุณ ’รงค์ วงษ์สวรรค์-นักเขียนชั้นครูผู้ล่วงลับ) ซึ่งแน่นอนว่าคำนั้นยังเป็นความจริงไม่เปลี่ยนแปลง เพียงแต่การตีความ ณ วันนี้ (จะด้วยความจำเป็นและเงื่อนไขของชีวิตที่บีบบังคับก็แล้วแต่) ทำให้ผู้เขียน โน้มไปในทางที่คิดใหม่ว่า ต่อให้ต้องอยู่กับที่ ก็ไม่ควรจะเป็นเหตุผลให้นักเขียน ไม่มีสายตาในการมองเห็นเส้นทางหรือทิวทัศน์ใดๆ รอบตัว
บางฉาก บางช่วง บางใบหน้า ไม่ต้องเดินทางไปพบ เราก็มองเห็นได้ ภาพนั้นอาจเกิดขึ้นในความทรงจำ ในภาพที่เราเคยถ่ายและบันทึกไว้ในโทรศัพท์ (ที่แทบไม่เคยย้อนดู) หรือมันอาจปรากฎอยู่ในภาพยนตร์สักเรื่อง ในฉากหนึ่งของนิยายที่เราเปิดอ่าน ผู้เขียนไม่ได้พยายามจะบอกว่า การไม่เดินทางเป็นเรื่องสวยงามอะไรนักหรอก ถ้าเลือกได้-ก็อยากจะเลือกเดินทางไปหาฉาก หาพื้นที่ใหม่ๆ ให้สูดลมหายใจไล่ความเครียดทั้งนั้น
แต่ในวันที่ไม่ได้ไปไหนเลย มันก็ไม่ได้เลวร้ายไปเสียทั้งหมด ถ้าเราจะย่นระยะทางให้ใกล้ขึ้น ให้สั้นลง แต่อารมณ์และความรู้สึกของการเดินทางยังครบถ้วน…
วันก่อนผู้เขียนขี่มอเตอร์ไซค์ฝ่าแดดไปนั่งทานก๋วยเตี๋ยวร้านหนึ่ง ไม่ใช่แค่เพราะรสชาติอร่อย แต่เจ้าของร้านที่ขาย ยังเป็นคนเดิมที่เคยเห็นเมื่อเกือบ 20 ปีก่อนสมัยพี่เขายังเปิดร้านอยู่แถวสยามสแควร์ สมัยนั้นร้านของเขาใหญ่โตหลายคูหา พนักงานแทบจะชนกันตาย ผู้เขียนยังจำวันที่ตัวเองแวะไปกินร้านนี้ทุกครั้งที่ไปสยามฯ ไปถึงก็สั่งเมนูเดิมๆ แบบไม่ต้องคิด เกาเหลา กับข้าวหมูทอด
วันนี้ รสชาติ ฝีไม้ลายมือ แม้กระทั่งหน้าตาเจ้าของร้าน แทบไม่เปลี่ยนไป (พี่เขาหน้าเหมือนเดิมจริงๆ อันนี้ต้องยอมรับ) แต่ร้านเล็กลงมาก เหลือแค่คูหาเดียว แต่ก็ได้ต้อนรับลูกค้าที่แวะไปหาไม่ขาดสาย อร่อยน่ะใช่ แต่การคิดถึงความหลังครั้งเคยกินเมื่อหลายปีก่อน ก็เป็นอีกเหตุผลสำคัญ
เรามักจะจำตัวเองได้ เมื่อได้ทำอะไรที่ครั้งหนึ่งเคยทำ
ตอนที่เคยไปนั่งกินที่ร้านนั้นในช่วงวัยรุ่น ผู้เขียนยังอลหม่านกับการเลือกวิถีชีวิตและการงานอยู่เลย สิ่งเดียวที่มั่นคง คือเมนูที่กิน แต่วันนี้ สิ่งเดียวที่มั่นคงคือการทำงานในแบบที่ทำอยู่ แต่สิ่งที่เปลี่ยนไปกลับเป็นเมนูที่เคยกิน…
ไม่เคยกินเนื้อ ก็ได้ลอง ที่เคยกินหมูทอด ก็เฉยๆ
บางวัน การเดินทางใกล้ๆ ก็ทำให้เราพบความหมายบางอย่าง ที่การเดินทางไกลแสนไกลแค่ไหนก็ไม่อาจพาเราไปเจอได้
วันแบบนั้นแหละ เป็นวันที่ดี…
เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม