social approval

ชีวิตจะมีความหมายอะไร ถ้าเราอยู่อย่างไม่มีตัวตน และตายไปโดยไม่มีใครจดจำ?

ฟาร์ราห์ ฟอว์เซ็ตต์ ตายวันเดียวกับ ไมเคิล แจ็กสัน แต่ไม่ค่อยมีใครจดจำ

     ชีวิตจะมีความหมายอะไร ถ้าเราอยู่อย่างไม่มีตัวตน และตายไปโดยไม่มีใครจดจำ?

     ผมคิดว่า Birdman และ Whiplash บอกเล่าในประเด็นเดียวกัน ตัวเอกของทั้งสองเรื่องหมกมุ่นอยู่กับตัวเอง โดยคาดหวังการยอมรับจากภายนอก คนหนึ่งหวดกลองจนมือแตก เลือดหยดแหมะบนหนังกลอง อีกคนหนึ่งอยากกลับมามีชื่อเสียงอีกครั้ง กระเสือกกระสนดิ้นรนยอมทำได้ทุกอย่าง แม้กระทั่งการฆ่าตัวตาย

     นักวิจารณ์ใน Birdman เหมือนกันกับคุณครูเฟลตเชอร์ใน Whiplash เธอและเขาคือสิ่งที่เป็น deep dark fear ในใจของเราทุกคน คนที่เรากลัวสุดขีด เรากลัวเพราะว่าตัวตนของเราขึ้นอยู่กับการตัดสินของเขา เขาตัดสินเราได้เพราะเรายึดถือว่าเขาคือ social approval

     ลูกสาวเถียงกับพ่อที่เป็นดาราตกกระป๋อง… พ่อต้องยอมรับนะว่าไอ้ที่พ่อกำลังทำอยู่นี่มันไม่ใช่เพื่อศิลปะอะไรเลย พ่อทำเพราะต้องการจะกลับมาเป็นที่สนใจอีกครั้งหนึ่ง ซึ่งโลกข้างนอกนั่นก็เต็มไปด้วยผู้คนที่ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อให้คนอื่นมาสนใจเหมือนกัน พ่อเองก็ทำอย่างกับว่ามันไม่มีอยู่จริง เรื่องราวมากมายเกิดขึ้นในที่ที่พ่อเมินใส่มัน และมันก็เมินใส่พ่อเช่นกัน I mean… Who are you?

 

     คำถามคือ แท้จริงแล้วเราคือใคร?

     คำตอบคือ แท้จริงแล้วเราว่างเปล่า ไม่ได้เป็นอะไรเลย เราไม่ได้เป็นอะไรเลย จนกว่าจะมีคนอื่นมายืนยันตัวตนของเรา

     ความเป็นตัวของตัวเองเป็นแค่ภาพเพ้อฝัน เป็นคอนเซ็ปต์ทางการตลาดที่คนขายเขาเอาใส่ไว้ในสินค้าอะไรก็ตาม แฟชั่น แกดเจ็ต น้ำอัดลม รถยนต์ ฯลฯ เพื่อที่เราจะได้ซื้อไปด้วยความหลงผิด คิดว่านี่คือการตัดสินใจเลือกด้วยตัวเราเอง แท้จริงแล้วเราไม่ได้เลือก ไม่ได้มีความต้องการ ไม่มีความหมายใดๆ และไม่มีจุดประสงค์ใดๆ จนกระทั่งมีคนอื่นมากำหนด

 

     ตัวละครซูเปอร์ฮีโร่ Birdman ที่เคยโด่งดังคือตัวแทนสังคมที่คอยตามหลอกหลอน เมื่อดาราตกกระป๋องคนหนึ่งถอดตัวตนนี้ออกไป ภายในนั้นจึงกลวงเปล่า และเขากำลังโหยหาอะไรอย่างอื่นจากภายนอกมาถมใส่เข้าไปอีกครั้ง

     เขาไปหาเอาจากความเห็นของนักวิจารณ์ผู้ชั่วร้าย จากนักข่าวที่ถามแต่เรื่องราวกอสสิป หรือจากนักวิชาการที่อวดภูมิรู้ปรัชญาวรรณกรรม จากเพื่อนนักแสดง จากลูกและเมีย และจากคนที่มาดูละครเวทีของเขา ทั้งหมดทั้งปวงมาถมใส่รวมกันแล้วก็ยังใหญ่ไม่เท่าตัวตนเก่า

     ลูกสาวของเขาพูดต่อ… พ่อเกลียดบล็อกเกอร์ พ่อเยาะเย้ยทวิตเตอร์ พ่อไม่มีแม้กระทั่งเพจเฟซบุ๊ก พ่อเองนั่นแหละที่ไม่มีตัวตน!    

     ในขณะที่แต่ละวันๆ เราได้เห็นข่าวดาราและคนดังระดับโลกล้มหายตายจากไปคนแล้วคนเล่า เราคอยโพสต์ข้อความไว้อาลัยแก่พวกเขา แต่ผมไม่แน่ใจว่าจะมีสักกี่คนที่รู้สึกผูกพันกับเขาจริงๆ

     โซเชียลมีเดียทำให้ความตายแบบนี้มีความสำคัญขึ้นมา เพราะมันเป็น viral เป็น meme เป็น media sensation

     ใน Birdman ก็เช่นกัน หลังจากที่พระเอกเดินแก้ผ้าไปบนท้องถนนรอบโรงละครและถูกผู้คนมากมายถ่ายภาพ ถ่ายคลิป แชร์ใส่โซเชียลมีเดีย เรื่องน่าละอายของเขากลายเป็น viral ในทันที พอกลับเข้าไปในโรงละคร ลูกสาวดูกระตือรือร้นขึ้นมา เปิดทวิตเตอร์ให้เขาดูว่ามีคนแชร์คลิปนี้ไปแล้วหลายล้านคน

     โซเชียลมีเดียจึงได้กลายเป็น social approval แบบใหม่ และมันก็จะเป็น deep dark fear ในใจของเราด้วย

     เราไม่ได้ตีกลองเพื่อศิลปะ เราไม่ได้แสดงละครเวทีเพื่อศิลปะ เราแค่ต้องการ social approval ต่อสู้ดิ้นรนเพื่อการยอมรับจากสังคม

     โซเชียลมีเดียจึงกลายเป็นครูเฟลตเชอร์และนักวิจารณ์ผู้ชั่วร้าย ที่เราจะต้องคอยเอาอกเอาใจ ด้วยความรู้สึก deep dark fear อยู่ภายใน

 

      คำถามคือ เราคือใคร??

      คำตอบคือ เราไม่ได้เป็นใครเลย เราแค่โพสต์ในสิ่งที่คิดว่าเพื่อนเราจะชอบไปเรื่อยๆ เพราะเราอยากได้การยอมรับ เพราะเราไม่อยากถูกลืม