อ่านแผนที่

ในยุคที่เรามีเครื่องมือนำทางมากมาย ทำไมเราถึงยังจำเป็นต้องอ่านแผนที่อีก

1

        ถ้าถามคุณว่า ถนนสาทรใต้อยู่ทิศไหน หลายคนอาจตอบว่า – ก็อยู่ทิศใต้น่ะสิ เพราะชื่อก็บอกอยู่แล้วว่าถนนสาทรใต้ จะไปอยู่ทิศเหนือได้อย่างไร

        แต่ในความเป็นจริง การบอกว่าถนนสาทรใต้อยู่ทิศใต้ ราวกับนั่นเป็นความจริงที่ ‘สัมบูรณ์’ อาจไม่ใช่เรื่องถูกต้องเสมอไปก็ได้  

        เป็นไปได้ไหม – ที่ถนนสาทรใต้จะอยู่ทิศเหนือ?

        คำตอบก็คือเป็นไปได้ เพราะการถามเรื่องทิศทางและตำแหน่ง เราไม่อาจถามกันแบบโดดๆ ให้มีตัวแปรเดียวเดี่ยวๆ ได้ แต่การจะบอกว่าอะไรอยู่ตรงไหน เราต้องบอกโดย ‘เทียบ’ มันกับอะไรสักอย่าง

        ถนนสาทรใต้ย่อมอยู่ทิศใต้เมื่อ ‘สัมพัทธ์’ กับถนนสาทรเหนือ

        แต่ถนนสาทรใต้อาจอยู่ทิศเหนือก็ได้ ถ้าหากว่าเรานำไปเทียบและ ‘สัมพัทธ์’ กับถนนจันทน์

        ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะชื่อ ‘สาทรใต้’ ไม่ได้เกิดขึ้นมาเพื่อเป็น ‘ความจริง’ ที่สัมบูรณ์หรือสมบูรณ์แบบในตัวของมันเองโดยปราศจากข้อโต้แย้งอื่นๆ มันเพียงแต่เกิดขึ้นด้วยอาการ ‘สัมพัทธ์’ กับถนนอีกเส้นหนึ่ง (ในที่นี้คือถนนสาทรเหนือ) ก็เท่านั้น

 

2

        ครั้งหนึ่ง ผมเคยนัดเพื่อนโดยบอกเพื่อนให้ไปพบกันที่ประตูทางเข้าศูนย์การค้าใหญ่ตรงแยกราชประสงค์ ตรงประตูทิศตะวันออกเฉียงเหนือ ปรากฏว่าเพื่อนนึกไม่ออกว่าประตูนั้นอยู่ตรงไหน

        พูดให้ถูก เพื่อนไม่รู้ด้วยซ้ำว่าห้างนั้นตั้งอยู่ตรงตำแหน่งไหนในมิติของทิศ ถนนเพชรบุรีกับถนนสุขุมวิท อะไรอยู่เหนือหรือใต้กว่ากัน – เพื่อนก็ยังไม่รู้ เพื่อนย่อมรู้ว่าถนนไหนคือถนนอะไร แต่ถนนเหล่านี้ ‘สัมพัทธ์’ กันอย่างไรนั้นเหลือที่เธอจะรู้ได้

        “ฉันอ่านแผนที่ไม่เป็น” เมื่อเจอหน้ากัน เพื่อนสารภาพ และบอกเสริมด้วยว่าเธอนึกไม่ออกด้วยซ้ำว่าทิศไหนเป็นทิศไหน

        ที่จริงแล้ว ปัญหาเรื่องการ ‘ไม่รู้ทิศ’ และ ‘อ่านแผนที่ไม่เป็น’ ไม่ได้เกิดแค่กับเพื่อนผมเท่านั้น แต่ผมเชื่อว่ามีคนอีกมากที่มีปัญหาเรื่องนี้ ซึ่งดูเผินๆ คล้ายไม่เป็นอะไร ทุกวันนี้เราไม่จำเป็นต้อง ‘อ่านแผนที่’ กันแล้ว เพราะเรามีกูเกิลแมปส์และจีพีเอสคอยนำทาง แล้วทำไมเราถึงยังจำเป็นต้องอ่านแผนที่อีกเล่า

 

3

        มีการศึกษามากมายที่ยืนยันว่า การเลิกอ่านแผนที่แล้วหันมาใช้เฉพาะเครื่องนำทางแบบจีพีเอสหรือกูเกิลแมปส์อย่างเดียวโดยไม่เห็น ‘ภาพรวม’ นั้น มีผลกระทบลึกลงไปถึงระดับสมองของเราได้เลย

        นักวิทยาศาสตร์เคยศึกษาสมองของคนขับแท็กซี่ในลอนดอน ซึ่งว่ากันเป็นเมืองที่ใหญ่และซับซ้อนที่สุดในโลกเมืองหนึ่ง พบว่าคนขับแท็กซี่เหล่านี้มีสมองส่วนฮิปโปแคมปัสใหญ่กว่าคนทั่วไป และคนขับแท็กซี่ที่ทำงานมานานกว่า ก็จะมีสมองส่วนนี้ใหญ่ขึ้นด้วย

        ฮิปโปแคมปัสเป็นสมองส่วนที่เกี่ยวข้องกับความทรงจำระยะยาวและการกำหนดพื้นที่หรือที่ว่างต่างๆ ในผู้ป่วยอัลไซเมอร์ สมองส่วนนี้เป็นบริเวณหนึ่งที่ถูกทำลาย นักวิทยาศาสตร์เชื่อว่า สมองส่วนนี้เกี่ยวข้องกับการมองเห็น ‘โครงสร้าง’ ใหญ่ แล้วค่อยๆ แตกย่อยลงไปในรายละเอียด ทำให้คนขับแท็กซี่สามารถมองเห็นภาพได้เหมือนบินอยู่ในอากาศ แล้วเจาะลึกลงไปในพื้นที่ย่อยได้

        ความสามารถในการเห็น ‘ภาพรวม’ นั้น เรียกว่า Spatial Intelligence หรือปัญญาด้าน ‘มิติสัมพันธ์’ พูดอีกอย่างหนึ่งก็คือการกำหนดรู้ทิศทางและพื้นที่ รู้ว่าอะไรอยู่ตรงไหน และสัมพันธ์หรือสัมพัทธ์กับสิ่งอื่นๆ อย่างไร

        เมื่อมองแบบนี้ แผนที่แผ่นหนึ่งๆ จึงไม่ได้เป็นเพียงแผนที่ที่บอกสถานที่เท่านั้น แต่มันคือแผนที่ที่บอกเราถึง ‘ความสัมพันธ์’ ของโครงสร้างต่างๆ ที่กระทำต่อกันด้วย

        การที่เราบอกไม่ได้ว่าทิศไหนเป็นทิศไหน หรือไม่คุ้นเคยกับการอ่านแผนที่ จึงอาจบอกอะไรกับเราได้ไม่น้อยทีเดียว ว่าเราอาศัยอยู่ในสังคมแบบไหน

        คำถามก็คือ – สังคมที่ ‘อ่านแผนที่ไม่ออก’ เป็นสังคมที่มีข้อดีข้อเสียอย่างไร

        บางทีกับเรื่องนี้ คุณอาจต้องลองนั่งลงค้นหาคำตอบด้วยตัวเอง,

        ถ้าคุณเห็นว่ามันสำคัญมากพอน่ะนะครับ

 


What?

        หน้าตาของสมองส่วนฮิปโปแคมปัส ซึ่งมีลักษณะโค้งจนนักวิทยาศาสตร์สมัยก่อนเปรียบเทียบกับ ‘เขาแกะ’ หรือ ‘ม้าน้ำ’ เลยทำให้ได้ชื่อว่า Hippocampus ซึ่งเป็นภาษากรีก แปลว่า ‘ม้าน้ำ’

How?

        นักจิตวิทยาอเมริกันอย่าง โฮวาร์ด การ์ดเนอร์ (Howard Gardner) เคยแยก ‘ความฉลาด’ (Intelligence) ออกเป็น 9 อย่างด้วยกัน ได้แก่ Nature (ความฉลาดในเรื่องธรรมชาติ), Musical (ความฉลาดทางดนตรี), Logical-Mathematical (ความฉลาดทางตรรกะและคณิตศาสตร์), Existential (ความฉลาดในการดำรงอยู่), Interpersonal (ความฉลาดในความสัมพันธ์กับคนอื่น), Bodily-kinesthetic (ความฉลาดในด้านร่างกาย), Linguistic (ความฉลาดด้านภาษา), Intra-personal (ความฉลาดในตัวตน) และสุดท้ายคือ Spatial หรือความฉลาดในเรื่องมิติสัมพันธ์นั่นเอง