จะว่าไป การมีโซเชียลมีเดีย หรือช่องทางในการสื่อสารของตัวเอง น่าจะถือเป็นอีกเรื่องที่เปลี่ยนแปลงวิถีชีวิตระหว่างเรากับโลกไปโดยสิ้นเชิงเหมือนกัน เส้นแบ่งระหว่างเรื่องส่วนตัวกับเรื่องที่เราอยากให้คนอื่นรู้ กลายเป็นเส้นที่บางจนเบลอ และบ่อยครั้งเราก็อาจมองไม่เห็นเส้นดังกล่าวไปเสียเฉยๆ
เมื่อเรามีช่องทางให้บอก ให้ระบาย ให้บ่น เราก็ใช้มันอย่างเต็มที่ ไม่บันยะบันยัง เชื้อเชิญให้คนแปลกหน้าทั่วโลกเข้ามาในโลกของเราได้อย่างง่ายดาย และดูเหมือนว่าทุกคนสามารถรู้จักตัวตนและชีวิตของเราแทบทุกซอกทุกมุม มากเท่าที่เราจะเปิดให้ดู และน่าประหลาดใจที่หลายๆ คนก็เปิดให้ดูในสิ่งที่ครั้งหนึ่งเราเคยเชื่อว่ามันเป็นเรื่องส่วนตัว จริงๆ การที่เฟซบุ๊กใช้คำว่า Wall กับพื้นที่อัพเดตสเตตัส อาจเป็นการบอกกลายๆ ว่านี่คือกำแพงที่เอาไว้แปะประกาศ (post) สิ่งที่อยากให้คนรู้กันนะ อยากบอกอะไรก็บอก เขาไม่ได้ห้าม จะแปะให้รกสายตาชาวบ้านแค่ไหน ก็เรื่องของเรา และใช่… เราก็ไม่เคยห้ามตัวเองอีกต่างหาก ไอคอนรูปคน กับ ไอคอนรูปลูกโลกที่ขึ้นให้เลือก privacy ไม่ได้ทำขึ้นมาอย่างไร้เหตุผล หากแต่เขาให้เราเลือกเสมอว่าเราจะบอกใครบ้าง อยากให้ใครรู้บ้าง แต่ส่วนใหญ่ เราเลือกที่จะบอกโลกไว้ก่อน
ร้องไห้น้ำตาไหลนองอาบแก้ม เราก็ถ่ายภาพหรืออัดคลิปตัวเองมาโพสต์ไว้ เพื่อบอกว่าเรากำลังเศร้า… เรื่องชีวิตความเป็นอยู่ กินอะไร อยู่อย่างไร ใส่เสื้อผ้า ใช้รถแบบไหน มีดบาด เข้าห้องผ่าตัด ให้น้ำเกลือ 3 ขวด เป็นลมเป็นแล้งหน้าซีดเซียว กลายเป็นเรื่องธรรมดาสามัญที่คนเราสามารถบอกกันได้ เสมือนเราบอกเพื่อนสนิท และล่าสุด การเปิดเผยตัวเลขเงินในบัญชีก็กลายเป็นเรื่องที่เปิดเผยกันได้ไปอีกเรื่อง (ส่วนใหญ่มักจะเป็นตัวเลขระดับ 7-8 หลักขึ้นไป และคนมักไม่ค่อยเปิดเผยตัวเลขหลักหน่วย เช่น มีเงิน 5 บาท เว้นแต่จะทำคอนเทนต์เรียกเสียงฮา) เข้ามาไล่อ่านเรื่องราวในเฟซบุ๊กแล้วบางทีก็เปิดโลกดี เพราะมีหลายคนเขาเลือกที่จะเปิดให้โลกรู้นี่แหละ
สมัยเด็กๆ ผู้เขียนมีหน้าที่เล็กๆ น้อยๆ อยู่เรื่องหนึ่งที่ไม่ค่อยมีใครรับรู้ แม้แต่คนที่บ้าน นั่นคือ หน้าที่เขียนจดหมายให้คุณยายคนหนึ่งที่อยู่บ้านใกล้ๆ กัน นอกเหนือจากแค่เดินไปคุยเล่นและยกกับข้าวไปแบ่งให้แกบ้าง เรียกว่าต้องมีเฉลี่ยเดือนละครั้งสองครั้ง ที่ต้องนอนเขียนจดหมายให้แกส่งหาลูกๆ ที่อยู่กรุงเทพฯ (ใช้คำว่านอนเพราะต้องนอนคว่ำ เอาหมอนรองกับกระดานแข็งๆ เพื่อเขียนจดหมายจริงๆ เนื่องจากไม่มีโต๊ะอะไรให้นั่งเลย) ทุกครั้งที่เขียน ก็เลยได้รู้เรื่องของแกไปด้วยว่า ช่วงนี้ไม่ค่อยมีเงินใช้ กอไผ่หน้าบ้านรกมาก ฝนตกหนัก คิดถึงหลานๆ หรือเรื่องที่ลูกชายแวะมาเยี่ยมเดือนที่แล้ว ฯลฯ เขียนวนๆ อยู่แบบนี้ประมาณครึ่งหน้ากระดาษ แล้วก็ให้แกหาคนไปส่งจดหมาย พอลูกเขียนตอบกลับมา แกก็เรียกเราให้มาอ่านให้ฟัง (เพื่อสรุปว่าจะเอายังไงกับกอไผ่) ซึ่งตลอดเวลาที่คอยช่วยเขียนจดหมายให้แกนั้น เหมือนแกกรองมาแล้วว่าอะไรที่อยากบอกลูก อะไรที่ไม่ต้องบอกก็ได้ เพราะแกคงคิดเสมอว่าเราเป็นคนกลางในการสื่อสาร ถ้ารู้อะไรที่ไม่ควรรู้ คงไม่ดีไม่งามแน่ๆ ดังนั้น เวลาแกจะด่าลูก แกเลยด่าต่อหน้า ไม่ด่าผ่านจดหมายให้เราอึดอัดใจ (แต่ด่าแล้วดังมาถึงบ้านเราไม่เป็นไร ถือว่าไม่ได้ตั้งใจให้ได้ยิน เราต้องรับผิดชอบการได้ยินเอาเอง)
เคยอ่านเจอว่า การเขียนจดหมายให้คนอื่น เคยเป็นอาชีพของคนสมัยก่อนในยุคที่อัตราการอ่านออกเขียนได้ยังต่ำอยู่ แต่ล่าสุดเจอคลิปหนึ่งในรายการ Watch the World ที่ทางเพจ adB เลือกมานำเสนอ เป็นเรื่องของคุณลุงชาวโบลิเวีย ที่เคยมีอาชีพเป็นที่ปรึกษาด้านภาษีให้ชาวบ้านชาวช่องมานาน วันหนึ่งจากที่เคยรู้เรื่องส่วนตัวเรื่องการเงิน ก็ขยับมารู้เรื่องส่วนตัวเรื่องความรัก เพราะแกรับพิมพ์จดหมายรักเป็นอีกอาชีพหนึ่ง และเก๋าขนาดที่ว่าพิมพ์ (หรือจิ้มดีด) ด้วยพิมพ์ดีดคู่ใจอยู่ริมถนนที่คนสัญจรไปมา แถมยังบอกว่า จดหมายรักที่แกรับพิมพ์ให้ ช่วยให้คู่รักบางคู่คืนดีกันมาแล้ว! คงไม่ผิดถ้าจะบอกว่า แกคือคนถือกุญแจไขความลับเรื่องส่วนตัวของประชากรจำนวนหนึ่งบนถนนเส้นเล็กๆ ในโบลิเวียเอาไว้ ซึ่งแกน่าจะต้องมีจรรยาบรรณในการทำธุรกิจระดับหนึ่ง เพราะทำงานในที่โล่งกว้างแบบนี้ ถ้าเปิดเผยความลับลูกค้าอาจโดนถล่มร้านเอาได้
โลกทุกวันนี้อนุญาตให้เราบอกได้ทุกอย่าง และสร้างความมั่นใจเล็กๆ น้อยๆ ให้เราเข้าใจด้วยว่ามีคนอยากรู้ มีคนสนใจ มีคนอยากฟังเสมอ ไม่ว่าความจริงจะเป็นอย่างนั้นหรือไม่ และคนที่ฟังจะหวังดีหรือเอาไปใช้ประโยชน์อะไรนั้นก็สุดจะคาดเดาได้ แต่ผู้เขียนแอบคิดว่า ทักษะหนึ่งที่เราจำเป็นต้องรื้อฟื้นมันขึ้นมาอีกครั้งในยุคนี้ ก็คือการกลั่นกรองในสิ่งที่จะบอกโลก
คิดทุกอย่างที่พูด กับพูดทุกอย่างที่คิด ผลที่ได้ย่อมไม่เหมือนกัน
บอกทุกอย่างที่รู้สึก กับรู้สึกทุกอย่างแต่ไม่บอก ก็ส่งผลกับชีวิตต่างกัน
เป็นในแบบที่โลกบอก กับเป็นในแบบที่บอกโลก นี่ก็ยิ่งส่งผลกันคนละเรื่อง
เขียนเรื่องนี้แล้วอดคิดไม่ได้ว่า นี่ถ้าวันนี้คุณยายข้างบ้านที่เคยให้ช่วยเขียนจดหมายยังอยู่ แกคงปวดหัวไม่ใช่น้อยที่ลูกชายที่แกสู้อุตส่าห์สงบปากสงบคำไม่ด่าให้คนอื่นฟังกลายเป็นผู้ชายที่นั่งด่าคนอื่นโหวกเหวกทั้งวัน จนชาวบ้านเขารู้หมดแล้วว่าชีวิตส่วนตัวเป็นยังไงบ้าง ละครชีวิตของลูกชายแกดำเนินไปแบบนั้นวันแล้ววันเล่า… ปีแล้วปีเล่า ตราบเท่าทุกวันนี้
ก็จะไปทำยังไงได้ ถ้าหากบางคนเลือกที่จะทำให้ชีวิตตัวเองเป็นละครให้คนดูฟรีๆ คนดูก็ต้องกดกระดิ่ง สับตะไคร้ นั่งดูไปเพลินๆ ตามวิถีโลกนี่แหละ
เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม