Editor's note

อคติและท่อนไม้ในดวงตา

ทำไมท่านมองเห็นผงในตาพี่น้องของท่าน แต่กลับมองไม่เห็นไม้ทั้งท่อนที่อยู่ในตาของท่าน? …คนหน้าซื่อใจคด จงชักไม้ทั้งท่อนออกจากตาของท่านก่อน แล้วท่านจะเห็นได้ถนัด จึงจะเขี่ยผงออกจากตาพี่น้องของท่านได้ — พระวรสารนักบุญมัทธิว 7 : 3-5

        เป็นเรื่องง่ายที่เราจะเห็น ‘โทษ’ หรือความผิดของคนอื่น และเห็นแต่คุณงามความดีของตัวเอง

        เคยมีการทดลองทางสังคมของ นิก เอพลีย์ (Nick Epley) และ เดวิด ดันนิง (David Dunning) ซึ่งพยายามหาว่าเราเป็นแบบนี้ได้อย่างไร เขาขอให้นักศึกษาจากมหาวิทยาลัยคอร์แนลลองทำนายว่า พวกตนจะซื้อดอกไม้ในงานการกุศลที่กำลังจะมาถึงกี่ดอก และคนอื่นๆ ซื้อกี่ดอก จากนั้นก็ไปดูพฤติกรรมจริง

        ข้อสรุปจากการทดลองก็คือ คนเราจะประเมินค่าคุณธรรมของตัวเองสูงเกินจริงมาก และประเมินความดีของคนอื่นได้ใกล้เคียงความจริง นั่นแปลว่าแม้เราจะค่อนข้าง ‘แม่นยำ’ ในการประเมินคนอื่น (ในเรื่องความดี) แต่เราจะประเมินตัวเองสูงล้ำอยู่เสมอ

        เอพลีย์และดันนิงทดลองอีกหลายแบบ เป็นการทดลองที่ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ มีเงินจริงๆ เข้ามาเกี่ยวข้อง เช่น ให้ลองดูว่าจะร่วมมือกับคนอื่นหรือแข่งขัน หรือให้เงินเพื่อนำไปบริจาค ฯลฯ เขาพบว่า ผู้เข้าทดลองจะทำนายว่าตัวเองจะใจบุญสุนทานกว่าคนอื่นเกือบทั้งหมด

        เรื่องดีๆ อื่นๆ ก็เหมือนกัน เคยมีการสำรวจนักเรียนไฮสกูลชาวอเมริกัน 1 ล้านคน จะพบว่า 70 เปอร์เซ็นต์ คิดว่าตัวเองมีความเป็นผู้นำเหนือค่าเฉลี่ย และมีเพียง 2 เปอร์เซ็นต์ ที่คิดว่าตัวเองอยู่ต่ำกว่าค่าเฉลี่ย

        ที่เป็นอย่างนี้ก็เพราะทุกคนสามารถหาทักษะบางอย่างที่อาจตีความว่าเกี่ยวพันกับความเป็นผู้นำได้ ซึ่งก็ต้องเป็นทักษะที่ตัวเองเก่งอยู่แล้ว แล้วบอกว่านี่ไง – ฉันมีความเป็นผู้นำ

        นอกจากนี้ เวลามีข้อขัดแย้งพิพาทหรือต้องต่อรองกัน เรายังชอบคิดว่าตัวเองถูก และอีกฝ่ายมีอคติด้วย

        เอมิลี โพรนิน (Emily Pronin) จากพรินซ์ตัน และ ลี รอส (Lee Ross) จากสแตนฟอร์ด เรียกปรากฏการณ์แบบนี้ว่า ‘สัจนิยมไร้เดียงสา’ (Naive Realism) คือเราแต่ละคนคิดว่าตัวเองเห็นโลกอย่างที่มัน ‘เป็นจริง’ คือคิดว่าตัวเองรู้ไปหมดทุกเรื่อง และเชื่อว่าสิ่งที่เราเห็นคือสิ่งที่เป็นจริง แต่ที่จริงแล้วเป็นเรานั่นแหละที่ไร้เดียงสาอย่างที่สุด

        แต่เมื่อเราเชื่อว่าโลกเป็นอย่างที่เราเห็น คนอื่นๆ ก็ควรเห็นพ้องกับเราด้วย ถ้าคนอื่นไม่เห็นพ้อง ก็แปลว่าคนพวกนั้นยังไม่ได้บรรลุ ‘ความจริง’ แบบเดียวกับเรา หรือไม่ก็ถูกผลประโยชน์หรือความเชื่อบางอย่างมาบังตาอยู่ ซึ่งนั่นนำทางเราไปสู่วิธีคิดแบบสองขั้ว แบ่งแยกโลกออกเป็นดำกับขาว คือคนที่เห็นด้วยกับความไร้เดียงสาของเรา เราคิดว่าเขาเป็นฝ่ายเดียวกับเรา เป็นคนดี เป็นคนเก่ง เป็นคนฉลาด แต่อีกฝ่ายอาจเป็นได้ตั้งแต่คนโง่จนถึงคนเลว

        ด้วยเหตุนี้ ปีศาจชั่วร้ายจึงปรากฏอยู่ในศาสนามากมายมาตั้งแต่เริ่มเกิดศาสนานั้นๆ ขึ้น แล้วยิ่งเป็นเรื่องของศาสนาที่ละเมิดไม่ได้ ก็ยิ่งขังให้คนอยู่ในกรอบของโลกสองขั้วนี้มากขึ้นเรื่อยๆ จนเกิดเป็นมายาคติว่าด้วยปีศาจที่ ‘เลวบริสุทธิ์’ คือไม่มีอะไรดีเลย แล้วที่สุดก็นำไปสู่ลัทธิพิพากษาตัดสิน

        เรื่องทำนองนี้ไม่ใช่เรื่องที่จะมองเห็นได้ง่ายๆ แต่หากเราอยากปลดปล่อยตัวเองออกจากลัทธิพิพากษาตัดสิน เวลาเกิดความขัดแย้ง เราก็ต้องหัดมองโลกจากมุมมองของฝ่ายตรงข้าม ซึ่งแน่นอน – อคติว่าตัวเองเราเป็นคนดีกว่า มีศีลธรรมสูงส่งกว่า ก็จะยื่นมือเข้ามายุ่งเกี่ยวอีก ทำให้เราคิดว่าเราได้มองโลกจากมุมของอีกฝ่ายแล้ว แต่กระนั้นเราก็ยังเห็นว่าโลกแบบที่เราเป็นถูกต้องกว่าอยู่ดี

        พระเยซูจึงตรัสถึงไม้ทั้งท่อนในตาของเราเอง พระพุทธเจ้าจึงตรัสถึงการเพ่งโทษผู้อื่น ทั้งสองเรื่องนี้เป็นเรื่องเดียวกัน และเป็นเรื่องที่ก่อให้เกิดปัญหาใหญ่ในสังคมปัจจุบันที่ยิ่งสลับซับซ้อนมากขึ้น หาพวกได้ง่ายขึ้น จนไม่มีใครยอมมองหาข้อบกพร่องของตัวเองอีกต่อไป