การบินไทย

บทสนทนาที่ผมนึกถึงในวันที่มีข่าวการขาดทุนของการบินไทยอย่างมโหฬาร

1

        พูดได้เต็มปาก – ว่าผมเป็นเจ้าของการบินไทยคนหนึ่ง

        ในปี 2535 ตอนเริ่มทำงานใหม่ๆ ผมพอมีเงินเก็บอยู่ก้อนหนึ่ง ที่จริงถ้าเทียบกับสมัยนี้อาจจะเรียกว่า ‘ก้อน’ คงไม่ได้ เพราะมันน้อยนิดเหลือเกิน

        ให้บังเอิญว่าในตอนนั้น บริษัทการบินไทยที่กล่าวกันว่าเป็น ‘สายการบินแห่งชาติ’ ได้นำหุ้นของตัวเองเข้ามาจำหน่ายในตลาดหลักทรัพย์ฯ เป็นครั้งแรก พูดง่ายๆ ก็คือ การบินไทยจะเข้าตลาดหุ้น และ ‘คนทั่วไป’ ก็มีสิทธิที่จะได้ซื้อหุ้นนั้น

        ทั้งประเทศตื่นเต้น – ตื่นเต้นเพราะทุกคนเห็นแต่โอกาส ภาพของการบินไทยในตอนนั้นดีงามมาก ได้รับรางวัลจากต่างประเทศมากมาย ความหรูลอยฟ้าของเครื่องบินการบินไทยเป็นภาพจำและเป็นสำนึกของคนไทยโดยทั่วไป โดยเฉพาะช่วงนั้นกำลังมีดีลสั่งโบอิ้ง 777 เข้ามาใหม่ด้วย หลายคนจึงคิดว่าการบินไทยมีแต่อนาคตอันสดใส

        ผมก็ด้วย

        ครั้งแรกที่นั่งเครื่องบินในชีวิต จำได้ว่าผมนั่งเครื่องในประเทศของการบินไทยนี่เอง ยุคนั้น การบินไทยขึ้นชื่อเรื่องการให้บริการอันเป็นเลิศ แม้นั่งเครื่องจากเชียงใหม่มากรุงเทพฯ ก็มีบริการเสิร์ฟอาหารด้วยภาชนะและอุปกรณ์ต่างๆ เทียบเท่ากับเที่ยวบินระหว่างประเทศ

        ช่วงนั้น พอดีได้ฟังรายการ ‘ครอบจักรวาล’ ของ คุณชายถนัดศรี สวัสดิวัฒน์ ท่านเล่าถึง ‘แซนด์วิชเปิด’ ของการบินไทย คือเป็นแซนด์วิชที่เป็นขนมปังวางเป็นฐานรอง แล้วมีหน้าเป็นแฮม ชีส และผักนานา รวมไปถึงเครื่องเคียงอื่นๆ ตบท้ายด้วยของหวานรสชาติดีในระดับที่คุณชายต้นตำรับเชลล์ชวนชิมยังนำมาบอกกล่าวการันตี

        เมื่อขึ้นเครื่อง ผมจึงตั้งใจรอแซนด์วิชเปิดนั่น และพนักงานต้อนรับบนเครื่องก็นำมาเสิร์ฟสมใจ ถ้าจำไม่ผิด ผมคิดว่าเครื่องบินชั้นประหยัดในประเทศยุคโน้น (คือถ้าไม่ใช่ 2520s ปลายๆ ก็เป็นราว 2530s ต้นๆ) ใช้มีดส้อมและช้อนที่เป็นโลหะหรูหราแวววาว ไม่ใช่พลาสติกเหมือนทุกวันนี้ ดังนั้น การกินอาหารบนเครื่องจึงสะดวก ใช้มีดส้อมหั่นอะไรต่อมิอะไรได้สบายๆ และให้ความรู้สึกที่ดีมาก

        ที่จริงยังจำเรื่องเกี่ยวเนื่องต่อไปได้อีกว่า คนรุ่นก่อนหน้าผมชอบอวดวีรกรรมขโมยมีดส้อมบนเครื่อง (ที่มีตราการบินไทย) ลงมาด้วย บางคนถึงขั้นเล่าขำๆ ตอนให้สัมภาษณ์นิตยสารด้วยซ้ำไป แม้บางคนแก้เกี้ยวหน้าฉากด้วยการบอกว่าซื้อจากร้านขายของที่ระลึก แต่ที่จริงแล้วก็แอบ ‘จิ๊ก’ ลงมานั่นแหละ แน่นอน นี่คือพฤติกรรมน่ารังเกียจ เพราะคือการขโมย แต่ย้อนกลับไปในสมัยนั้น พฤติกรรมนี้ที่เกิดขึ้นแพร่หลายแสดงให้เห็นว่าคนทั่วๆ ไป มองว่าการบินไทยเป็น ‘สัญญะ’ แสดงสถานภาพอะไรบางอย่างในชีวิตเหมือนกัน คือเมื่อได้นั่งแล้วก็อยาก ‘อวด’ ให้คนอื่นๆ เห็น ว่าตัวเองเคยนั่งเครื่องการบินไทย – จึงต้องหยิบติดมือเป็นที่ระลึกลงมาด้วย (ซึ่งก็ต้องเน้นไว้ตรงนี้อีกครั้งว่าเป็นพฤติกรรมที่แย่จริงๆ)

        ความนิยมในการบินไทยทำให้ข่าวการบินไทยขายหุ้นเป็นเรื่องฮือฮา ประกอบกับยุคนั้นเป็นยุคเศรษฐกิจดี (คือยุคหลังเปลี่ยนสนามรบเป็นสนามการค้าของ พล.อ. ชาติชาย ชุณหะวัณ ไม่นาน) คนยังมีตังค์ในกระเป๋ากันมาก ดังนั้น เมื่อการบินไทยประกาศจะขายหุ้น ผู้อยากเข้าชื่อจองซื้อหุ้นจึงมากมายเป็นประวัติการณ์

        มันมากเกินความต้องการของการบินไทยไปหลายขุมอยู่

        ด้วยเหตุนี้ การบินไทยจึงใช้วิธีแก้ปัญหา – ด้วยการประกาศ ‘จับฉลาก’ ซื้อหุ้น นั่นคือทุกคนต้องไปจอง แล้วถ้าไม่ใช่คนที่มีสิทธิก่อน เป็นแค่คนธรรมดาทั่วไป ก็ค่อยนำหุ้นที่เหลือมาจับฉลากกัน

        ด้วยความอยากได้หุ้นการบินไทยมากเช่นเดียวกับคนอื่นๆ ผมจึงจองซื้อหุ้นการบินไทยให้ทั้งตัวเอง แม่ และน้องสาว แต่ผลปรากฏว่า ทั้งแม่และน้องสาวจับฉลากไม่ได้ มีแต่ชื่อของผมเท่านั้นที่ดวงสมพงศ์กับการบินไทย เมื่อผลประกาศออกมา ผมจึงดีใจยิ่งนัก – ที่จะได้เป็นเจ้าของบริษัทที่ยิ่งใหญ่ที่สุดแห่งนี้

        ตอนนั้น การบินไทยหุ้นละ 60 บาท ทุกคนที่จับฉลากได้ จะได้สิทธิเป็นเจ้าของ 200 หุ้น รวมแล้วคือต้องจ่ายเงินซื้อหุ้นการบินไทย 12,000 บาท (ซึ่งในตอนนั้นไม่ใช่เงินน้อยๆ เลย) โดยรวมทั้งหมดแล้ว บริษัทระดมทุนได้ 14,000 ล้านบาท จากนักลงทุนกว่า 256,000 ราย และกลายเป็นบริษัทมหาชนเต็มตัวในปี 2537

        แต่แล้วหลังจากนั้น – หุ้นการบินไทยก็แทบไม่เคยมีราคาถึง 60 บาทอีกเลย ถ้าจะมีก็เพียงช่วงแรกๆ เพียงวูบๆ และเลยเส้น 60 บาทไปเพียงเล็กน้อยเท่านั้น ส่วนใหญ่ไต่อยู่แถวๆ 50 บาทปลายๆ แล้วก็ค่อยๆ ดิ่งลงมาเรื่อยๆ

        ทุกๆ ปี จะมีเช็คเงินปันผลส่งมาถึงผมประมาณปีละ 300 กว่าบาท แต่ผมไม่เคยนำไปขึ้นเงินเลยเพราะต้องไปที่ธนาคารอะไรสักอย่างที่อยู่ไกลจากที่พักในตอนนั้นมาก ก็เลยได้แต่เก็บเอาไว้เพราะไม่รู้สึกว่าคุ้มค่ากับการเดินทางข้ามเมืองไป

        ทุกวันนี้ (หลังการแตกพาร์) หุ้นการบินไทยอยู่ที่ราวๆ ไม่เกิน 20 บาท

        ใช่ – ผมยังเป็นเจ้าของการบินไทยอยู่ แต่พูดตามตรง, ผมไม่เคยรู้สึกถึงความเป็นเจ้าของนั้นเลย

2

        ครั้งหนึ่ง ผมเคยนั่งเครื่องการบินไทยจากลอนดอนกลับกรุงเทพฯ แล้วพบว่าเครื่องเป็นเครื่องค่อนข้างเก่า น่าจะเป็นโบอิ้ง 747 ปัญหาก็คือ มีน้ำจากแอร์หยดติ๋งๆ ลงมาเฉียดหัวผมพอดี จึงต้องกดปุ่มให้พนักงานต้อนรับบนเครื่องมาดูแล

        ผมถามแกมบ่นว่าที่เป็นแบบนี้เพราะเครื่องเก่าใช่ไหม ทำไมถึงยังบินเครื่องเก่าในไฟลต์ยาวแบบนี้อยู่อีก พนักงานต้อนรับของการบินไทยที่กุลีกุจอมาช่วยเหลืออย่างดีตอบผมอย่างน่ารัก (ผมไม่เคยพบพนักงานต้อนรับของการบินไทยที่ดูแลผู้โดยสารไม่ดีเลย – ที่พบบ่อยกว่าคือสายการบินจากประเทศมหาอำนาจตะวันตก)

        เธออธิบายให้ฟังว่าน่าจะมีการเปลี่ยนเครื่องใหม่เร็วๆ นี้ ผมน่าจะเป็นผู้โดยสารชุดท้ายๆ แล้วที่ต้องเจอกับเครื่องเก่า

        “แต่เครื่องเก่าก็ดีนะคะ” เธอว่า ชวนให้ถามต่อว่าทำไม

        “เพราะแอร์ฯ จะคุ้นเคยแล้ว ทำงานสะดวก ครัวก็ใหญ่กว่าด้วย จริงๆ พวกหนูไม่ค่อยอยากให้เปลี่ยนกันเท่าไหร่ แต่ผู้โดยสารคงอยากได้เครื่องใหม่มากกว่า”

        ในตอนนั้น ผมนึกถึงใบหุ้นการบินไทยขึ้นมา แต่ผมไม่ได้บอกเธอหรอก, ว่าผมคือหนึ่งในเจ้าของการบินไทยที่มีใบหุ้นเป็นหลักเป็นฐาน เพราะมันแทบไม่มีมูลค่า และไม่มีนัยสำคัญอะไรเลย

        ผมได้แต่บอกเธอไปว่า – เธอเข้าใจถูกแล้ว, ผมอยากได้เครื่องใหม่ และผู้โดยสารอื่นๆ ทั่วๆ ไปก็น่าจะมีความปรารถนาเช่นเดียวกัน

        เธอยิ้มตอบด้วยความเข้าอกเข้าใจ

        ในวันที่มีข่าวการขาดทุนของการบินไทยอย่างมโหฬาร และทำท่าว่า ‘สายการบินแห่งชาติ’ อาจล้มละลาย ผมนึกถึงบทสนทนานั้นขึ้นมาอีกครั้ง

        ไม่รู้เหมือนกันว่าทำไม