Hard Year of 2020

2020: ปีที่ยากเย็นเข็ญใจ และบ่งบอกว่าโลกเรากำลังก้าวสู่จุดที่ไม่อาจหวนคืนได้อีก

ตั้งแต่เริ่มปี 2020 เป็นต้นมา ดูเหมือนจะยังไม่มีข่าวดีเลย ไทเลอร์ โคเวน นักเขียนและนักวิเคราะห์คนหนึ่งของบลูมเบิร์ก เสนอความคิดไว้น่าสนใจมากว่า ถ้าเราดูสภาวะในโลกแทบทุกเรื่อง เราจะพบว่า ไม่ว่าจะเป็นเทรนด์อะไรก็ตามแต่ ดูเหมือนทุกเทรนด์จะอยู่ในช่วง ‘อ่อนแรง’ แทบทั้งนั้น

        เขาเรียกมันว่าสภาวะ Trend Exhaustion หรือ ‘เทรนด์หมดแรง’ จริงๆ ศัพท์นี้ไม่ใช่ศัพท์ใหม่ มีการใช้กันมากในหมู่นักวิเคราะห์หุ้นสายเทคนิค ประเภทที่ดูกราฟหุ้นขึ้นๆ ลงๆ โดยช่วงที่กราฟหุ้นร่วงลงแบบอ่อนแรงนั่นเอง ที่เรียกกันว่า Trend Exhaustion

        แต่ ไทเลอร์ โคเวน นำคำนี้มาพิจารณาดูปรากฏการณ์ต่างๆ หลายๆ อย่างในโลก เช่น ภาวะว่างงานในสหรัฐฯ เขารู้สึกว่าอัตราการว่างงานดีขึ้นเรื่อยๆ (คือคนว่างงานน้อยลง) แต่แนวโน้มนี้น่าจะมาถึงจุดสุดยอดของมันแล้ว และน่าจะกำลังอ่อนแรงลง

        ที่อีกฝั่งโลกอย่างจีน เขาพบว่าอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจของจีนที่เคยร้อนแรงหวือหวา ตอนนี้เริ่มแผ่วและอ่อนแรงลงมาเหมือนกัน เศรษฐกิจจีนไม่ได้เติบโตพุ่งพรวดเหมือนเดิมอีกต่อไป แต่กำลังชะลอตัวลง แม้แต่อินเดีย ก็พบว่าอัตราการเติบโตไม่เป็นไปตามที่คาด คืออยู่ที่ราว 4% แทนที่จะเป็น 6% หรือ 8% อย่างที่คาดกันไว้ก่อนหน้า

         ในแอฟริกาก็เช่นเดียวกัน ที่เคยคาดการณ์กันว่าแอฟริกาจะเป็น The Next Big Thing หรือเป็นกลุ่มประเทศที่มาแรง ก็ดูเหมือนตัวเลขเศรษฐกิจจะดีแค่ในไม่กี่ประเทศ (เช่น กานาและเอธิโอเปีย) แต่นอกนั้นแล้วอยู่ในระดับน่าผิดหวัง แสดงให้เห็นว่า ‘เทรนด์’ การเติบโตในแอฟริกา จีน อินเดีย รวมถึงอเมริกา น่าจะไปในทิศทางเดียวกัน – คืออ่อนแรง

        แม้แต่เรื่องอื่นๆ เช่น ขบวนการฝ่ายขวาที่ทำท่าเหมือนมาแรงในยุโรปและหลายๆ ประเทศในช่วงที่ผ่านมา หรือขบวนการ #metoo ที่เรียกร้องความเสมอภาคทางเพศ ไทเลอร์ โคเวน ก็บอกเช่นกันว่ามันอ่อนแรงลงอย่างเห็นได้ชัด ไม่นับรวมเทรนด์อื่นๆ อีกหลายเรื่อง ที่เหมือนมาถึงจุดสุดท้าย ที่ทำให้เขาบอกว่า 2020 จะเป็นปีที่ ‘ยาก’ แก่การทำนายทางเศรษฐกิจอย่างมาก

        แต่กระนั้นก็มีข้อยกเว้นอยู่เทรนด์หนึ่ง

        เทรนด์นั้นก็คือเทรนด์เรื่อง ‘สิ่งแวดล้อม’ 

        ไฟป่าที่ลุกไหม้ในบราซิล คุกรุ่นอยู่ใต้ผืนป่าแอมะซอนเมื่อปีที่แล้ว ไล่มาจนถึงความรุนแรงของไฟป่าในแคลิฟอร์เนียที่เกิดซ้ำแล้วซ้ำเล่า ไม่นับไฟป่าในอินโดนีเซีย ในจีน และล่าสุดที่รุนแรงมากจนยากจะดับได้ในเร็ววันก็คือไฟป่าของออสเตรเลีย – เหล่านี้คือ ‘สัญญาณ’ แสดงอาการผิดปกติให้เห็นชัดเจนยิ่งขึ้น ว่าเราอาจเริ่มก้าวเข้าสู่ภาวะ The Point of No Return หรือจุดที่อาจไม่สามารถหวนกลับได้อีกแล้ว – ก็เป็นได้

        Anthropocene หรือธรณีกาลยุคใหม่ที่เกิดขึ้นเพราะฝีมือมนุษย์ คือยุคที่มนุษย์ได้พาโลกก้าวสู่ภาวะที่มีสภาพอากาศและอัตราส่วนของคาร์บอนไดออกไซด์ในอากาศเปลี่ยนแปลงไปอย่างสุดขั้ว – ใช่, ทั้งหมดนี้เกิดเพราะฝีมือของเราเอง

        และนั่นแหละ – คือ ‘เทรนด์’ เดียว ที่นักวิเคราะห์หลายคน รวมถึง ไทเลอร์ โคเวน ด้วย – บอกว่ามันจะเป็นเทรนด์ที่เกิดขึ้นอย่างแน่นอน

        เรากำลังก้าวสู่จุดที่ไม่อาจหวนคืนได้อีก

        และ 2020 อาจเป็นหมุดหมายแห่งการเปลี่ยนแปลงนั้น

        หมุดหมายที่ทำให้ปีนี้และปีต่อๆ ไป กลายเป็น The Hard Year ที่จะ Hard มากขึ้นเรื่อยๆ