คอนเทนต์ แปลว่า ความพอใจ

ในโลกแห่งข่าวสารและการผลิตคอนเทนต์ (content) สิ่งที่ทำให้พวกเราสนุกที่สุด (ขออนุญาตใช้คำว่า ‘พวกเรา’ แทนคนที่ทำงานด้านนี้) ก็คือการสร้างสรรค์คอนเทนต์ดีๆ ในแบบที่เราเชื่อ และตอบโจทย์ audience หรือคนที่ติดตามเราอยู่ แต่ขณะเดียวกัน ในความสนุกก็มีความยากที่เราต้องเจอทุกเมื่อเชื่อวัน คำถามหรือโจทย์ที่เราต้องหาคำตอบ นับวันจะเป็นคำถามที่ตอบยาก ซับซ้อนมากขึ้นเรื่อยๆ จากที่เราคิดแค่ว่า จะทำคอนเทนต์อะไรดี ก็เริ่มต้องคิดว่า จะทำคอนเทนต์แบบไหนคนถึงจะชอบ แชร์ ไลก์ หรือมีเอนเกจเมนต์กับคอนเทนต์นั้นๆ ซึ่งแน่นอนว่าบางคำตอบมีสูตรสำเร็จ แต่บางสูตรก็ไม่สำเร็จอีกแล้วเมื่อเวลาผ่านพ้นไป 

        คอนเทนต์มีความหมายที่เราคุ้นเคยว่า เนื้อหา แต่เราอาจลืมไปแล้วว่า ในภาษาอังกฤษ คำนี้มีอีกความหมายคือ ความพอใจ ซึ่งเป็นเรื่องที่ผู้เขียนเคยให้สัมภาษณ์กับสื่อแห่งหนึ่งเมื่อไม่กี่ปีมาแล้ว เพราะครุ่นคิดกับคำว่าคอนเทนต์มากเป็นพิเศษ ในวันที่ใครๆ ก็อยากทำคอนเทนต์เพื่อหาเลี้ยงปากท้องกัน  

        คนทำคอนเทนต์หลายคนก้มหน้าก้มตาทำคอนเทนต์ที่ตัวเองอยากทำ คิดว่าทำได้ คิดว่าทำแล้วดี จนเงยหน้ามาอีกทีก็เดินชนกำแพงที่พาเรามาตันตรงคำว่า แล้วเราพอใจกับสิ่งที่ทำแค่ไหน?​ ชีวิตยังเป็นชีวิตที่ควรจะเป็นอีกมั้ย ถ้าเราใช้มันเพียงเพื่อผลิตออกมาเป็นคอนเทนต์ลงแพลตฟอร์มสารพัดช่องทางในทุกวันนี้

        สมัยที่เรามีแค่เฟซบุ๊ก วันนั้นเราก็แค่พิมพ์ข้อความสั้นๆ หรือแคปชั่นประกอบภาพง่ายๆ จากนั้นรูปแบบการผลิตคอนเทนต์ก็ซับซ้อนขึ้นเรื่อยๆ เมื่อมีการทำคลิปสั้น ลงใน IG facebook เริ่มมีไลฟ์ และที่ทุกคนติดหนึบกันมากที่สุดในตอนนี้ก็คือ TikTok ฯลฯ คอนเทนต์ครีเอเตอร์ (รวมไปถึงยูทูเบอร์ ติ๊กต็อกเกอร์ อินฟลูเอนเซอร์) ก็เลยกลายเป็นอาชีพที่เกิดขึ้นมาพร้อมกับแพลตฟอร์มเหล่านี้ และมันก็เป็นชื่ออาชีพที่คนรุ่นก่อนๆ นึกภาพไม่ออกว่าคืออะไร เรียกว่าโลกเปลี่ยนไปแบบสิ้นเชิงแล้วจริงๆ 

        มนุษย์ที่เป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์รอบๆ ตัวผู้เขียน เป็นมนุษย์สายพันธุ์ที่น่าทึ่งมาก เพราะทุกอย่างในชีวิตล้วนเป็นคอนเทนต์ได้ทั้งสิ้น อยู่ที่ว่าถนัดผลิตคอนเทนต์แนวไหน กิน ดื่ม เที่ยว? หรือนั่งกินอย่างเดียวก็เป็นคอนเทนต์ได้แล้วด้วยซ้ำ (ตรงจุดนี้อยากจะรบกวนไปอธิบายญาติผู้ใหญ่บางท่านของผู้เขียนให้เข้าใจด้วยว่า ทำไมเราต้องมานั่งดูคนอื่นกินซ้วบๆ เคี้ยวผักดังสนั่นหวั่นไหวและกินกุ้งดองทีละ 100 ตัวเพื่ออะไรนะจ๊ะ?) เวลาไปเที่ยวกับเพื่อนบางคนที่มีอาชีพเป็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ที่สลัดชีวิตส่วนตัวกับการงานไม่หลุด เพื่อนก็จะก้มหน้าก้มตาทำคอนเทนต์หนักหน่วงและเราอาจกลายสภาพเป็นทีมงาน กล้อง ไฟ ซับหน้า ถ้าไหวตัวไม่ทัน 

        ขณะที่เพื่อนบางคนไม่หยิบมือถือมาดูอะไรเลยตลอดการสนทนา เรียกว่าให้เกียรติเพื่อนร่วมโต๊ะจนเราอายที่ต้องหยิบมือถือมาตอบข้อความบ้างในกรณีเร่งด่วน 

        มีหลายๆ ครั้งที่เราเห็นคอนเทนต์ครีเอเตอร์ สรรหา หรือหาทำคอนเทนต์ประเภทที่เราไม่ค่อยเข้าใจว่าจะทำไปทำไม บางคนยิ่งพิลึกพิเรนทร์เท่าไหร่ ก็ยิ่งชอบทำ เพราะยอดวิวมันเร้าใจ ยิ่งคนดูเยอะ ยิ่งหมายถึงความโด่งดัง และแน่นอน รายได้ที่จะตามมา แต่ก็นั่นแหละ บ่อยครั้งที่เราก็ได้ยินเสียงบ่นจากเพื่อนฝูง พี่น้องคนในวงการว่า เบื่อที่จะต้องทำคอนเทนต์ให้คนติดตามตลอดเวลา จนบางครั้งการใช้ชีวิตกับการทำคอนเทนต์มันแนบสนิทเป็นเนื้อเดียวกันไปแล้ว อยากแยกก็แยกไม่ออก คอนเทนต์ที่คนดูสนุก อาจแลกกับการเอาชีวิตส่วนตัวไปเปิดเผยมากขึ้นเรื่อยๆ จนหลายครั้งเราเองยังอดตั้งคำถามไม่ได้ว่า เรื่องแบบนี้ ต้องบอกคนอื่นด้วยเหรอ?​

        หรือว่ายิ่งส่วนตัวมากเท่าไหร่ ยิ่งยูนีค ยิ่งหาดูยาก ยิ่งเพิ่มยอดวิว? อันนี้ก็ไม่อาจจะทราบได้ แต่ที่แน่ๆ มีงานวิจัยให้อ่านมากขึ้นเรื่อยๆ ว่าคนทำคอนเทนต์เองก็เริ่มมีปัญหาสุขภาพจิต เพราะต้องแบกรับความคาดหวังของคนติดตาม ไหนจะเจอกับการบูลลี คำวิจารณ์ที่ไม่สร้างสรรค์ ฯลฯ เพราะคนดูมองไม่เห็นอะไรนอกจากนี่คือคนสร้างความบันเทิงให้ฉัน ถ้าฉันดูแล้วไม่บันเทิง ขัดหูขัดตา ฉันก็พร้อมจะเกรี้ยวกราดฟาดไม่ยั้ง ทั้งที่คนทำคอนเทนต์ ก็คือคนธรรมดาคนหนึ่ง แต่กลับต้องแบกรับความสมบูรณ์แบบ ทำในสิ่งที่คิดว่าคนดูอยากเห็นไม่จบไม่สิ้น 

        แต่ขณะเดียวกันก็เริ่มไม่แน่ใจว่า ตัวเองอยากทำมากน้อยแค่ไหน 

        ใน Oxford Dictionary บอกว่า

Content (1) adj. in a state of peaceful happiness / willing to accept something ; satisfied 

Content (2) noun. the things that are held or included in something / contents : a list of the chapters or section given at the front of a book or periodical 

        ในทะเลแห่งเนื้อหาหรือคอนเทนต์นั้น คนดูอยู่ในภาวะท่วมท้นล้นไปด้วยสิ่งที่รอให้ subscribe กดกระดิ่ง หรือกด follow ฝ่ายคนผลิตก็นั่งคิดนอนคิดว่าจะผลิตคอนเทนต์อะไรดีถึงจะถูกใจคนดู วันนี้ฉันสั่งปูดองแพงสุดขีดมาแล้ว พรุ่งนี้ฉันต้องสั่งตะขาบทอดมากินมั้ย (อย่าเลย)​ บางวันก็เหนื่อย เหมือนไม่ได้ใช้ชีวิตของตัวเอง” เพื่อนสายผลิตคอนเทนต์เคยเปรยๆ ให้ได้ยิน และบังเอิญที่เมื่อไม่กี่วันมานี้ เพิ่งเห็นอินฟลูเอนเซอร์รายหนึ่งใช้คำว่า “ทำงานให้คนดูจนไม่มีเวลาเสียใจเรื่องส่วนตัว” ซึ่งเรื่องส่วนตัวที่ว่าคือ การสูญเสียคนในครอบครัวไปทั้งคน 

        แน่นอนว่าเราทุ่มเทเวลาไปกับการทำคอนเทนต์ ดูคอนเทนต์ แล้วในที่สุด, โดยไม่รู้ตัว เราก็อาจจะถูกคอนเทนต์กลืนกินชีวิตไปด้วย 

        ในพจนานุกรมของชีวิตเรา คอนเทนต์คงเป็นคำที่ไม่หายไปไหนทั้งในระยะใกล้และไกลต่อจากนี้ แต่เราจะเลือกความหมายใดให้ชีวิตตัวเองก็คงอยู่ที่เรา… 

        ความพอใจในสิ่งที่เป็น ภาชนะบรรจุสิ่งต่างๆ (เช่น ความคาดหวังของคนดู) หรือแม้กระทั่ง สารบัญ ที่เอาไว้ดูและทบทวนว่า เรามีเรื่องอะไรให้คนอ่าน และเรื่องอะไร ที่เราไม่จำเป็นต้องบอก เพราะท้ายที่สุดแล้ว ชีวิตเราไม่ใช่คอนเทนต์ที่ต้องการยอดวิว แต่ต้องการแค่เวลาเพื่อตัวเองและคนที่สำคัญกับชีวิตเราแค่คนเดียวก็ได้… ถ้าหากจะมี 


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม