ความจริงของการล้ม

ต้องบอกว่า เรื่องราวในวันนี้ ตรงตัวตามหัวข้อแบบไม่ต้องอธิบายให้มากความ ล้มก็คือล้ม และการล้มที่ว่าก็เกิดมาจากการที่ตัวเองเดินสะดุดอะไรสักอย่างบนพื้นถนน แล้วหน้าคะมำ หัวทิ่ม เข่ากระแทก เอามือลงไปยันพื้นจนถลอกปอกเปิกไปหมด พอได้สติ ก็บอกตัวเองอย่างไม่อายเลยว่า อาย และก่อนจะกระทำการใดๆ ต่อไป สัญชาติญาณการป้องกันตัวที่เกิดขึ้นตามมาก็คือ หันมองไปรอบๆ ตัวว่ามีใครเห็นหรือเปล่า (ซึ่งมี) คิดดูก็แล้วกันว่าขนาดตอนที่เริ่มเจ็บเข่า แสบตรงแผลที่ถลอกจนเลือดออกซิบๆ มนุษย์มนาอย่างเราก็ยังมีแก่ใจนึกไปว่าคนอื่นจะมองยังไง 

        เพราะการล้มหัวคะมำในวัยผู้ใหญ่ มันช่างน่าอายกว่าเด็กๆ ไม่รู้กี่เท่า เจ็บตัวยังไม่เท่าเจ็บใจ ช้ำที่เข่าซ้ายยังไม่เท่าช้ำที่ความรู้สึก เออ ทำไมเรามันช่างเซ่อซ่าบ้าบออะไรแบบนี้ กว่าจะได้สติ ลุกมาปัดฝุ่น เช็กสภาพร่างกายและลุกเดินต่อ ก็ใช้เวลาไม่น้อย นี่ไม่นับว่ายังต้องกลับมานั่งทำแผล เดินโขยกเขยก ขึ้นลงบันไดด้วยความรวดร้าว เข่าบวม เรียกว่าวันนี้ทั้งวันไม่เป็นอันทำอะไร นอกจากนึกถึงภาพที่ตัวเองหัวทิ่มทั้งที่ไม่ได้เมามายอะไร 

        แม้จนถึงตอนนี้ก็นึกไม่ออกว่าเดินสะดุดอะไร เสียจังหวะยังไง เพราะพื้นก็ไม่ได้มีรอยแตกรอยทรุดให้สะดุดได้ ถ้าไม่คิดถึงปัจจัยภายนอก ก็น่าจะเกิดจากปัจจัยภายในของตัวเองนี่แหละ ที่เดินไม่ค่อยดูทาง ไม่มีสติ คิดอะไรเรื่อยเปื่อย หรืออาจเป็นไปได้ว่าเกิดจากรองเท้าแตะคู่ใหม่ ที่ยังไม่ชินกับเท้าเท่าที่ควร เรียกว่ามีสารพัดเหตุผลที่ทำให้ล้มเลยก็ว่าได้ 

        คนล้มอย่าข้าม ใช่ ไม่มีใครมาข้ามเราได้ ถ้าเราไม่ยอมนอนอยู่ตรงนั้น นี่ไม่ได้พูดสร้างขวัญและกำลังใจหรือจะมาไลฟ์โค้ชให้ใครเลย แต่ความจริงของการล้มมันบอกเราแบบนั้น ทุกคนที่ล้มเขาก็ต้องรีบลุกเสมอ ไม่อายตัวเองก็อายคนอื่น เวลาเจอคนล้มจึงแทบไม่ต้องไปให้กำลังใจเขาหรอกว่า ล้มแล้วต้องลุกนะ เพราะเกิดมาไม่เคยเห็นใครล้มแล้วไม่รีบลุกเลย แต่การจะลุกขึ้นมาของแต่ละคนมันใช้เรี่ยวแรงไม่เท่ากัน บางคนสปริงตัวขึ้นมาได้เลย บางคนต้องค่อยๆ ยักแย่ยักยันขึ้นมา และถ้าไม่หนักหนาจนเกินไป ก็คงไม่มีใครอยากขอความช่วยเหลือ เพียงแต่ถ้าจังหวะนั้นมีคนยื่นมือมาฉุด ก็ถือว่าโลกยังไม่แล้งน้ำใจจนเกินไปนัก 

        ใครๆ ก็บินได้ เป็นสโลแกนสายการบิน แต่ใครๆ ก็ล้มได้ เป็นสโลแกนชีวิตของมนุษย์ทุกคน  เพราะต่อให้เติบโตระดับไหน ก้าวเดินอย่างมั่นคงมาตลอดทางยังไงก็ตาม มันต้องมีวันสะดุด วันพลาด และวันหน้าคว่ำ แต่เอาเข้าจริงคำถามสำคัญมันไม่ได้อยู่ที่ว่าเราต้องรีบลุกหรือไม่รีบ ผู้เขียนกลับคิดว่า คำถามสำคัญที่สุดคือ ทำไมเราต้องอายที่ตัวเองล้ม? เพราะเราคิดว่าท่าล้มมันจะดูไม่ดีหรือเปล่า? แต่เชื่อเถอะว่า นาทีนั้น แค่พยายามเซฟตัวเองไม่ให้หน้าไถไปกับพื้นก็ยากพอแล้ว ใครมันจะมีกะจิตกะใจออกแบบท่าล้มให้สวยงามชวนปรบมือให้ 

        ย้อนนึกไปถึงสมัยสิบกว่าปีที่แล้วที่ผู้เขียนยังคลั่งไคล้การขี่ม้าแบบเข้าเส้น ช่วงนั้นสนุกก็สนุก แต่อีกใจก็หวาดหวั่นการร่วงหล่นจากหลังม้าตลอดเวลา เพราะมันไม่สนุกตอนตก! ดังนั้น ในคลาสการเรียนขี่ม้าเขาถึงสอนนักสอนหนาว่าให้มีสติ ถ้ารู้ว่าจะตกลงมา ต้องรู้ตัวว่าจะลงยังไง เรียกว่าจินตนาการท่าลงไว้ตั้งแต่ตอนขึ้นม้าเลยก็ว่าได้ 

        แต่นั่นเป็นเพราะเรารู้ว่า เรามีความเสี่ยงที่จะตกจากหลังม้า เพราะสถานการณ์ในสนามมันเอาแน่เอานอนไม่ได้เลยจริงๆ ทางที่ดี เราจึงต้องเรียนรู้ท่าทางการตกที่ปลอดภัยที่สุดไว้ก่อน ต่างกับเวลาที่เราเดินไปซื้อของแถวบ้าน หรือการเดินไปไหนต่อไหนทุกเมื่อเชื่อวัน ที่เราไม่ได้เสี่ยงระดับนั้นเลยอาจจะไม่ได้ระแวดระวังว่าจะหกล้ม (น่าสนใจว่าใครกันที่ริเริ่มเรียกการหกล้มว่า ‘จับกบ’ ฟังดูน่ารัก แม้ว่านาทีนั้นกบเองก็อาจเยาะเย้ยเราได้) แต่ล้มแล้วยังไงต่อต่างหาก? 

        จริงๆ ก็เคยคิดเหมือนกันว่า ตอนที่คนเราอับอายขายขี้หน้าที่สุดยิ่งกว่าตอนล้มลงไปก็คือ ตอนที่มีคนหัวเราะ เพราะท่าลงของแต่ละคนมันสง่างามน้อยกันทั้งนั้นแหละ แต่ถ้าพูดให้ชัดก็คือ เรื่องแบบนี้เขาไม่หัวเราะกัน เพราะคนล้มมันเจ็บ จะเจ็บมากเจ็บน้อย เจ็บตรงไหนยังไงก็อีกเรื่อง การหัวเราะคนที่กำลังเจ็บ หรือคนที่พลาดพลั้งไป จึงไม่ใช่สิ่งที่คนควรทำต่อกัน ถ้ายื่นมือไปช่วยเขาไม่ได้ ก็ไม่มีเหตุผลอะไรที่เราจะหัวเราะใคร นั่นก็เรื่องหนึ่ง

        แต่ทั้งหมดทั้งปวง คนล้มเองก็ต้อง ‘อย่าอายที่จะล้ม’ แน่นอนว่านี่คงไม่ใช่เรื่องที่ใครจะบอกตัวเองให้ทำได้ในชั่วข้ามคืน แต่เป็นสิ่งจำเป็นที่เราต้องจดจำไว้เสมอ ไม่ว่าจะล้มหน้าปากซอยบ้าน หรือล้มต่อหน้าสังคมยังไงก็ตาม เพราะมีแต่คนล้มเท่านั้นที่จะเข้าใจว่า ตนเป็นที่พึ่งแห่งตนในการยืนขึ้นเองและต้องก้าวข้ามทุกความรู้สึกแย่ๆ ด้วยตัวเอง เพื่อยืนสบตาทุกคนได้อีกครั้ง ไม่ใช่แค่ทำเหมือนไม่มีอะไรเกิดขึ้น แต่เพราะว่ามันมีอะไรเกิดขึ้นแล้วจริงๆ เราถึงต้องยอมรับและก้าวต่อไป

        ในชีวิตคนทำงานสัมภาษณ์ทั้งคนที่ประสบความสำเร็จและคนที่ล้มเหลวมามากมาย บอกได้เลยว่า บ่อยครั้งพวกเขาคือคนคนเดียวกันนั่นแหละ เพียงแต่ในวันที่พวกเขาล้มอาจไม่มีใครเห็น หรือเห็นแต่ไม่ได้เข้าไปช่วยเหลือ แต่วันที่เขาลุกขึ้นยืนได้และประสบความสำเร็จ โลกแค่หันไปมองเขาด้วยสายตาอีกแบบเท่านั้นเอง

        ว่าแล้วก็นึกถึงคลิปในยูทูบคลิปหนึ่งของกูรูชาวอินเดีย Gaur Gopal Das ที่พูดเรื่องยีราฟ (Why a giraffe kicks it’s child straight after birth) 

        คุณคนนี้เขาเล่าว่า เมื่อแม่ยีราฟให้กำเนิดลูกในท่ายืนคลอด ลูกยีราฟจะหล่นตุ้บลงมา และจะพยายามลุกขึ้นยืนทันที แต่ด้วยความที่ร่างกายยังเพิ่งปรับตัว ขาแข้งก็ยังไม่แข็งแรง เมื่อลุกขึ้นยืนได้สักพัก ก็จะล้มแผละลงไปกองเสมอ สิ่งที่เกิดขึ้นตามมาคือแม่ยีราฟจะเตะให้ลุกขึ้นใหม่ ล้มอีก ก็เตะอีก ลูกจะยืนขาสั่นอ่อนแรงยังไงก็ต้องเตะให้ลุก เหตุผลตามธรรมชาติก็เพราะว่า ลูกยีราฟเกิดใหม่เนื้อตัวนุ่มนิ่มแบบนั้น คืออาหารอันโอชะของไฮยีนาที่พร้อมจะกระโจนเข้าใส่เหยื่อในพริบตา ดังนั้น เมื่ออยู่ในป่าท่ามกลางสิงสาราสัตว์รายล้อม ชีวิตที่แข็งแรงและว่องไวที่สุดเท่านั้นถึงจะมีโอกาสรอดไปอีกวัน สิ่งที่แม่ยีราฟสอนบทเรียนแรกให้กับลูกที่เพิ่งจะเกิดมาก็คือ เอ็งต้องลุกให้เร็ว เพราะหลังจากนี้เอ็งต้องมีชีวิตอยู่ให้ได้ จะล้มกี่ครั้งก็ได้ แต่ถ้าไม่อยากตายก็ต้องลุกและไปต่อ 

        ไม่ว่าคนเราจะคิดยังไงกับการล้ม แต่ธรรมชาติบอกเราว่า การล้มไม่ใช่เรื่องต้องอาย ต่อให้ล้มเพราะความซุ่มซ่าม มันก็ไม่ได้นิยามตัวเราไปตลอดชีวิตนี่ว่าเราเป็นไอ้ขี้ล้ม เพราะสุดท้ายแล้ว ชีวิตมันขึ้นอยู่กับการตัดสินใจเดินหน้าต่อไป ไม่ว่าอะไรจะเกิดขึ้น ความเจ็บเป็นเรื่องธรรมชาติ ไม่มีการล้มแบบไหนที่ไม่เจ็บ แต่ความอายที่ล้มลงต่างหาก เป็นเรื่องที่เราคิดไปเอง และเผลอๆ จะตอกย้ำซ้ำซากก่นด่าตัวเองไม่รู้จบ

        ตราบใดที่เรายังลุกขึ้น เดินหน้าต่อได้ เราย่อมไม่ใช่คนล้มไปตลอดกาลหรอก ไม่ใกล้เคียงเลยสักนิด อย่างมากเราก็เป็นแค่คนหนึ่งคนที่ต้องล้มบ้าง เมื่อพลาดพลั้ง หรือซุ่มซ่าม และตราบใดที่เราไม่ได้ล้มซ้ำซากอยู่ที่เดิม ทางโลกเขาเรียกกันว่า ‘มีความก้าวหน้า’ หรือ ‘ล้มไปข้างหน้า’ แต่ที่สำคัญคือ ขอไม่นับรวมคนล้มบนฟูก เพราะ no pain ก็ no gain นะเออ 

        เอ้า ลุกมาปัดกางเกง แล้วเดินต่อไป…


เรื่อง: วิไลรัตน์ เอมเอี่ยม ภาพ: Photo by Sami Anas  / UNSPLASH