เวลาที่ผมออกเดินทางท่องเที่ยว นอกจากการชื่นชมโลกกว้างที่น่าตื่นตาตื่นใจ ผมยังชอบสังเกตผู้คนรอบข้างว่ามีปฏิกิริยาอย่างไรต่อกัน
ตั้งแต่เริ่มต้นออกเดินทาง สมมติว่าเดินทางด้วยเครื่องบินจะเห็นตัวอย่างได้ชัด วินาทีที่พนักงานบริการประกาศให้ขึ้นเครื่องได้ พวกเราค่อยๆ เดินตามกันไป เรียงแถวผ่านงวงช้างเข้าไปจนถึงประตูทางเข้าเครื่อง เมื่อคนข้างหน้าหยิบหนังสือพิมพ์ คนที่เดินตามหลังมาก็จะหยิบหนังสือพิมพ์บ้าง
เมื่อได้ที่นั่งเรียบร้อย โดยเฉพาะอย่างยิ่งถ้าได้นั่งอยู่ในชั้นประหยัดที่มีผู้โดยสารแออัด นั่งใกล้ชิดกันมากๆ ถ้าคนข้างๆ เริ่มหยิบนิตยสารของสายการบินขึ้นมาอ่าน อีกสักอึดใจต่อมาเราก็นึกอยากจะหยิบนิตยสารขึ้นมาอ่านเหมือนเขาบ้าง เมื่อเครื่องบินเทกออฟลอยละล่องอยู่บนท้องฟ้า คนข้างๆ เริ่มเปิดจอทีวีส่วนตัวของเขาเพื่อดูหนัง เราก็นึกอยากจะเปิดดูตามเขา
มันก็คล้ายๆ กับการหาวนอนนั่นแหละ การหาวเป็นอาการที่แพร่ลามออกไปถึงคนรอบตัวได้ง่ายๆ คำถามคือทำไม? อะไรทำให้เราที่อยู่ใกล้ชิดกันในพื้นที่และเวลาหนึ่ง จู่ๆ ก็เกิดง่วงนอนขึ้นมาพร้อมกัน
ในทีวีซีรีส์เรื่อง Lie to Me พระเอกเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านภาษาร่างกาย มาช่วยตำรวจสอบสวนผู้ต้องหาคดีอาชญากรรม มีอยู่ฉากหนึ่ง เขาทำการทดลองทางจิตวิทยาง่ายๆ เพื่อแสดงให้เห็นถึงพลังของอวัจนภาษาที่เราสื่อสารถึงกันทั้งโดยเจตนาและไม่เจตนา เขาสามารถกำกับท่าทางของคู่สนทนาได้ด้วยการขยับมือไม้ตัวเอง เช่น เมื่อเขาเกาจมูกตัวเอง สักอึดใจต่อมาคู่สนทนาก็เกาจมูกตามโดยไม่ทันรู้ตัว
นี่เป็นตัวอย่างง่ายๆ ที่แสดงให้เห็นว่าในบางครั้ง เราหาว เกาจมูก หยิบหนังสือพิมพ์ หรือเปิดจอทีวี เรื่อยไปจนถึงการแจ้งพนักงานบริการบนเครื่องว่าเราขอเมนูไก่หรือปลา ชาหรือกาแฟ ไวน์หรือน้ำอัดลม ฯลฯ สิ่งเหล่านี้มีเหตุผลอะไรอยู่เบื้องหลังมากกว่าที่จะเป็นเจตจำนงบริสุทธิ์ของตัวเราเอง
ถ้าลองนึกย้อนให้ไกลออกไปอีก ก่อนหน้าที่เราจะมานั่งแออัดกันอยู่ในที่นั่งชั้นประหยัดในเวลานี้
ทำไมคนเราต้องออกเดินทางท่องเที่ยว?
บางคนบอกว่ามันเป็นธรรมชาติของมนุษย์ ความปรารถนาที่จะได้ออกเดินทางไกลๆ นั้นอาจจะฝังอยู่ภายในเนื้อหนังของเรา ในขณะที่บางคนบอกว่ามันเป็นการเรียนรู้ทางวัฒนธรรม เราออกเดินทางท่องเที่ยวเพราะได้รับการสั่งสอนสืบทอดกันมาตลอดประวัติศาสตร์มนุษยชาติ
แล้วคำตอบของคุณคืออะไร?
หมายเหตุ: เรียบเรียงใหม่จากส่วนหนึ่งของบทความในวารสาร TAT Journal