สิ่งที่ไม่อาจรู้

โลกไม่ได้มีเพียงสิ่งที่รู้กับสิ่งที่ไม่รู้เท่านั้น แต่ยังมี ‘สิ่งที่ไม่อาจรู้’ อยู่ด้วย

เคยมีเรื่องเล่าเก่าแก่ของสองนักปราชญ์แห่งอินเดีย นักปราชญ์ทั้งสองท่านคือ กาบีร์และฟาริด

        กาบีร์สร้างชุมชนอยู่ใกล้พาราณสี บนฝั่งตรงข้ามของแม่น้ำคงคา ส่วนฟาริดเดินทางผ่านมาพร้อมกับศิษย์ นั่นทำให้ศิษย์ของทั้งคู่คิดว่า – หากทั้งคู่ได้มาพบกันก็คงเป็นเรื่องดี ศิษย์น่าจะได้ฟังอะไรดี

        ดังนั้น ศิษย์ของปราชญ์ทั้งคู่จึงเอ่ยชักชวนให้ทั้งคู่ได้มาพบกัน “คงไม่ถูกนักที่ฟาริดผ่านมาถึงนี่แล้วท่านไม่เชิญเขามาเยี่ยม” ศิษย์ของกาบีร์ว่า ส่วนศิษย์ของฟาริดก็บอกว่า “คงไม่ถูกนักที่จะผ่านชุมชนของกาบีร์ไปเลย อย่างน้อยเราควรเข้าไปเยือนพวกเขา”

        ความจริงก็คือ ศิษย์ทั้งหลายอยากเห็นว่าจะเกิดอะไรขึ้นเมื่อทั้งสองฝ่ายพบกัน พวกท่านจะพูดคุยอะไรกัน จะมีเรื่องอะไรสำคัญระหว่างคนสองคนนี้

        แต่ปรากฏว่า ทั้งสองท่านไม่ได้พูดอะไรต่อกันแม้แต่คำเดียว

        พวกศิษย์ผิดหวังมาก

        เมื่อแยกกันมาแล้ว ศิษย์ของทั้งคู่รู้สึกโกรธ ต่างฝ่ายต่างถามนักปราชญ์ทั้งสองว่าทำไมถึงเป็นแบบนี้

        น่าประหลาดที่คำตอบของทั้งกาบีร์และฟาริดเป็นเรื่องเดียวกัน ปราชญ์ทั้งสองตอบศิษย์ว่า

        “เราทั้งคู่รู้ว่าไม่มีอะไรต้องพูด เขามีตา ข้าก็มีตา เรามีประสบการณ์ เราล้วนลิ้มรสความจริง แล้วจะมีอะไรให้พูดอีกเล่า ใครก็ตามที่หล่นคำพูดแม้เพียงคำเดียวก็จะพิสูจน์ว่าเขาไม่รู้ เราตระหนักในกันและกัน เป็นไปไม่ได้ที่จะไม่ตระหนัก แม้แต่คนตาบอดสองคนก็ยังตระหนักรู้ซึ่งกัน พวกเจ้าคิดว่าคนสองคนที่มีตาจะไม่ตระหนักรู้ถึงกันเลยหรือ

        “แน่นอน เรามีความสุขกับกันและกัน นั่นคือเหตุผลที่ทั้งความเพลิดเพลิน รอยยิ้ม น้ำตา กลายเป็นภาษาเดียวที่เป็นไปได้ เมื่อความสุขล้นหลั่ง เราก็กอดกัน เรานั่งกุมมือกันและกันนานนับชั่วโมง และความรักของเราก็หลั่งไหล เกิดการติดต่อภายใน สองร่าง หนึ่งวิญญาณ

        “แต่ให้อภัยเราเถิด เราลืมเลือนพวกเจ้าไป เจ้าไม่อาจเข้าใจอะไรได้นอกจากถ้อยคำ และความจริงก็ไม่อาจแสดงออกด้วยถ้อยคำได้ เจ้ามีสิทธิทุกประการที่จะผิดหวัง ที่จะโกรธ แต่เจ้าควรมองจากมุมของเราบ้าง เราทำอะไรไม่ได้ เมื่อสองความเงียบพบกัน มันจะผสานเป็นหนึ่ง เมื่อหัวใจสองดวงที่รักกันเต้น มันจะเต้นกลมกลืนกัน ดนตรีที่ดังขึ้นไม่ใช่ดนตรีทางโลกที่อาจได้ยินได้ด้วยหู แต่ได้ยินเพียงเฉพาะผู้ที่เคยฟังมันมาแล้วด้วยหัวใจ” (ข้อความจากหนังสือ ‘คุรุวิพากษ์คุรุ’ โดย โอโช)

 

        กฤษณมูรติเคยกล่าวว่า “ผู้สังเกตย่อมถูกสังเกต”

        คำพูดนี้เป็นหนึ่งในสิ่งสำคัญที่สุดอย่างหนึ่ง วิทยาศาสตร์นั้นแบ่งประสบการณ์และการดำรงอยู่ของมนุษย์ออกเป็นสองส่วน คือส่ิงที่รู้กับสิ่งที่ไม่รู้

        พื้นที่ในการทำงานทางวิทยาศาสตร์พยายามกำจัดสิ่งที่ไม่รู้ออกไปด้วยการพิสูจน์ ทำให้พื้นที่แห่งความโง่ค่อยๆ ลดน้อยลง ดังนั้น เป้าหมายใหญ่ของวิทยาศาสตร์จึงคือการกำจัดพื้นที่แห่งความไม่รู้ให้น้อยลงเรื่อยๆ โดยหวังว่าสักวันหนึ่ง พื้นที่แห่งความไม่รู้จะไม่หลงเหลืออยู่อีก มีเพียงพื้นที่แห่งความรู้

        แต่มันเป็นเช่นนั้นได้จริงหรือ

        ในการหยั่งรู้แบบทิเบต ซึ่งเป็นการหยั่งรู้โดยไม่ได้ใช้ความคิด ทว่าใช้ญาณทัศนะ โลกไม่ได้มีเพียงสิ่งที่รู้กับสิ่งที่ไม่รู้เท่านั้น แต่ยังมี ‘สิ่งที่ไม่อาจรู้’ อยู่ด้วย

        สิ่งที่ไม่รู้อาจกลายเป็นสิ่งที่รู้ได้ในวันหนึ่ง แต่สิ่งที่ไม่อาจรู้จะไม่มีวันเป็นสิ่งที่รู้ได้เลย นั่นคือความลี้ลับที่รายล้อมรอบสรรพสิ่ง ล้อมรอบชีวิต ความรัก และความตายเสมอ เป็นความลี้ลับที่ไม่อาจทำลายลงได้

        สิ่งที่ไม่อาจรู้ คือสิ่งที่ไม่อาจเข้าถึงได้ด้วยถ้อยคำ ทว่าสามารถเข้าถึงได้ด้วยการนั่งนิ่งๆ อยู่ตรงนั้น กุมมือกัน โอบกอดกัน และยอมรับอย่างจำนน – ว่าเราทั้งหลายไม่อาจรู้

        นั่นคือการยอมรับและซึมซับทุกสิ่งที่ชีวิตเป็น

        กล่าวกันว่า ผู้ที่รู้จักความตายย่อมเป็นอิสระจากความกลัวตาย ผู้ที่รู้จักความลับของสันติวิธีย่อมเลิกกลัวความรุนแรง จิตวิญญาณย่อมไม่กลัวร่างกาย ซ้ายย่อมเป็นหนึ่งเดียวกับขวา ตราบเท่าที่เรายังเลือกส่วนหนึ่งและปฏิเสธอีกส่วนหนึ่ง เราก็กำลังพยายามกำจัดสิ่งที่ไม่รู้ออกไป ด้วยหมายมาดจะวาดสร้างเฉพาะสิ่งที่รู้ โดยไม่เข้าใจเลยว่า – โลกนี้ยังมีสิ่งที่ไม่อาจล่วงรู้อยู่ด้วย

        เมื่อยอมรับทุกสิ่งโดยไม่เลือก ก็เท่ากับยอมรับองค์รวมทั้งหมด

        เมื่อเป็นเช่นนั้น ปราชญ์อย่างกาบีร์และฟาริดจึงนั่งอยู่ตรงนั้นเงียบๆ เฝ้ามองรอยยิ้มของกันและกันได้โดยไม่จำเป็นต้องปริปากพูด

        คนที่ไร้สุขไม่สามารถทนทุกข์อยู่ได้คนเดียว เขาจำเป็นต้องทำให้คนอื่นไร้สุขไปด้วย

        แต่คนที่มีความสุขต่างหาก ที่จะกลายเป็นแหล่งของความสุขให้กับคนนับไม่ถ้วน