Writer's Block

‘Writer’s Block’ ทำอย่างไรเมื่อเขียนไม่ออก

คำถามยอดฮิตที่สุดเมื่อไปสอนการเขียนตามที่ต่างๆ มีอยู่ด้วยกันสองคำถาม

         คำถามแรกก็คือ – จะเริ่มต้นเขียนประโยคแรกอย่างไร ทั้งที่รู้อยู่แล้วว่าอยากเขียนอะไร แต่เหตุใด ‘ประโยคแรก’ จึงไม่มาเยือนสมองเสียที

         ส่วนคำถามที่สองก็คือ – หากเกิดอาการ ‘เขียนไม่ออก’ อย่างที่เรียกกันเป็นภาษาอังกฤษว่าเกิดอาการ Writer’s Block นั้น ควรทำอย่างไรดี

         ที่จริงแล้ว เมื่อหยั่งลึกลงไปถึงสุดปลายทางแห่งคำถาม เราจะรู้ว่าทั้งสองคำถามไม่ใช่คนละเรื่องเลย

         โดยเนื้อแท้แล้ว นี่คือเรื่องเดียวกัน

         เรื่องที่อาจกล่าวได้ว่าสำคัญที่สุดสำหรับงานเขียน ในระดับที่ต้องระลึกไว้ในเซลล์ประสาทของสมอง เก็บเอาไว้ให้เป็น ‘ความทรงจำระยะยาว’ หรือ long-term memory กันเลยทีเดียว – ก็คือ, ไม่มีสูตรสำเร็จ ไม่มีเวทมนตร์ใดที่จะทำให้ประโยคแรกผุดบังเกิดขึ้นโดยไม่ต้องใช้ความพยายาม และไม่มีคาถาอาคมใดที่จะกำจัด Writer’s Block ให้ปลาสนาการไปได้ในบัดดลราวกับการถีบกำแพงแก้วให้แตกกระจายกระจัดกระเจิงไปในคราวเดียว

         ไม่มี

         นักเขียนระดับโลกจำนวนมาก ตั้งแต่ เจมส์ บอลด์วิน ไปจนถึง เออร์เนสต์ เฮมมิงเวย์ และคนอื่นๆ อีกมากมายในโลก ล้วนแต่บอกเราว่า – จงเขียน, ในเรื่องที่หากไม่ได้บอกเล่าออกมาเป็นเรื่องราวแล้ว เราจะรู้สึกคล้ายต้องตาย สิ่งที่อัดอั้นอยู่ภายในล้วนอยากระเบิดระบายออกมา มันแผ่พลุ่งพลังเผาไหม้อยู่ในอก หากปล่อยให้คุคั่งอยู่อย่างนั้น เราอาจป่วยไข้ – ไม่ว่าจะทางกาย ทางสมอง หรือทางจิตใจ, จนอาจต้องล้มลงจากชีวิต

         มีเพียงสิ่งเดียวเท่านั้นที่ทำได้ คือการปล่อยมันออกมา

         มนุษย์เรามีวิธีปลดปล่อยสิ่งที่กักขังอยู่ภายในออกมามากมาย คุณอาจผรุสวาท ด่าว่าคนอื่นที่ไม่ยอมคิด พูดทำ หรือเชื่อมั่นในอุดมการณ์เดียวกันกับคุณ คุณอาจนั่งพูดคุยน้ำตาไหลพรากกับเพื่อนหรือคนที่ไว้วางใจที่สุดในชีวิต อาจหากลุ่มในโซเชียลมีเดียที่คิดเหมือนกัน อยู่ในฟองสบู่แห่งความคิดเดียวกันเพื่อระเบิดระบายอารมณ์ความรู้สึกของตัวเองให้กันฟังไปเรื่อยๆ ใครคิดต่างแหยมเข้ามาก็ต้องกำจัดมันออกไป คุณอาจปีนขึ้นเขาไปกู่ตะโกนร้องเสียงดังอยู่ริมหน้าผา อาจออกวิ่งจนเหงื่อไหลคล้ายน้ำตาที่หลั่งออกมาจากรูขุมขน หรืออาจลุกขึ้นร้องเพลงเสียงลั่นเพื่อระเบิดระบายโดยไม่สนใจว่ามันจะเพราะหรือไม่ และใครจะอยากฟังหรือเปล่า

         ที่จริงแล้ว – การทำงานเขียนก็เป็นเช่นนั้นด้วย

         แต่ที่ผิดไปจากการระเบิดระบายเฉยๆ ก็คือเมื่อเป็นการทำงานเขียนเสียแล้ว ก็ต้องมีศิลปะ

         ไม่ใช่ศิลปะในการเขียนหรือการใช้ตัวอักษรเท่านั้น แต่สิ่งที่เป็นพื้นฐานมากกว่านั้นก็คือ – การทำงานเขียนก็ไม่ต่างอะไรกับการแต่งเพลงหรือการทำงานศิลปะอื่นๆ นั่นคือเราต้องมีศิลปะในการ ‘พินิจ’ ว่า – สิ่งที่กักขังซุ่มซ่อนคุคั่งอยู่ภายในตัวเรานั้น, มันมีหน้าตาเป็นอย่างไร

         หากโกรธ – ก็จงนั่งมองมัน ดูให้เห็น แล้วลองตัดหั่นความโกรธนั้นออกเป็นท่อนๆ เพื่อพิจารณาว่าแต่ละท่อนมีความเชื่อมโยงต่อเนื่องกันอย่างไร อะไรคือเหตุและผลของมัน ก้อนความโกรธของเราเหมือนก้อนความโกรธของคนอื่นๆ มากน้อยเพียงใด มีความเป็นส่วนตัวอยู่ในความโกรธนั้นมากน้อยแค่ไหน แล้วความเป็นสากลเล่า – คนอื่นๆ จะมีอารมณ์รับรู้ร่วมกับความโกรธนั้นของเราเช่นเดียวกันหรือเปล่า หากมี – มีมากน้อยเพียงใด อะไรเป็นตัวกระตุ้นความโกรธนั้นให้วาบขึ้นมา อาการวาบขึ้นมาของความโกรธในแต่ละคราวเหมือนหรือแตกต่างกันอย่างไร และอะไรทำให้ความโกรธนั้นค่อยๆ เบางบางจางลงได้ หรือมีใครหรืออะไรไหม ที่อาจทำให้ความโกรธนั้นหายไปได้ในฉับพลันทันที

         ทั้งหมดนี้ไม่ใช่อะไรอื่นเลย นอกจากการนำสิ่งที่กักขังคั่งคุอยู่ภายในมาพิจารณาใหม่ มองดูมันให้ทะลุลึกซึ้ง และไม่ได้เพียงแต่มองดู ทว่าครุ่นคิดกับมันให้มากหลากมิติที่สุดเท่าที่ความสามารถและต้นทุนในชีวิตของเราจะพอทำได้

         ต้นทุนไม่ได้แปลว่าเราจะต้องโกรธด้วยตัวเอง แต่ต้นทุนอาจมาจากการสังเกตสิ่งกระตุ้นต่างๆ ที่กระทำต่อมนุษย์ ไม่ว่าจะในความโกรธของผู้อื่น ตัวละครในหนังสือ ในภาพยนตร์ หรืออารมณ์ความรู้สึกที่ถ่ายทอดออกมาจากอินเนอร์ของนักร้องที่กำลังบอกเล่าว่าความโกรธคืออะไร – นั่นก็เป็นต้นทุนในอีกรูปแบบหนึ่ง ต้นทุนที่นักเขียนพึงเก็บรักษาและทะนุถนอมไว้ราวกับเป็นคลังสมบัติส่วนตัวไม่แพ้คลังคำ

         ไม่ใช่เพียงความโกรธ ทว่ายังนับรวมไปถึงความรัก ความปรารถนาดี ความอับอาย ความกลัว ความใคร่ ความคับแค้น ความจงเกลียดจงชัง ความอาฆาต ความอัดอั้นตันใจ ความน้อยเนื้อต่ำใจ ความอื่นๆ อีกมาก แต่ที่จะลืมเลือนเสียไม่ได้ – ก็คือความรู้

         ในความเป็นมนุษย์ สิ่งต่างๆ เหล่านี้จะไหลเวียนคุกรุ่นอยู่ตลอดเวลา เราโต้เถียง เราน้อยใจ เรารัก เราโกรธ ฯลฯ ก็เพราะเราเป็นมนุษย์ อารมณ์ต่างๆ เหล่านี้จึงมักผุดขึ้นมาเองโดยบังคับควบคุมไม่ได้ และเกือบร้อยทั้งร้อย – เราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่ามันได้ผุดบังเกิดขึ้นมา

         แต่ในความเป็นคนเขียนหนังสือ เราจะเฝ้าดูสิ่งที่ไหลเวียนคุกรุ่นเหล่านี้อย่างพึงใจ โอบกอดมันราวมารดาโอบกอดลูกน้อย ไม่ว่าลูกจะอยู่ในอารมณ์ปั่นป่วนวุ่นวายหรือน่ารักใคร่มากเพียงใด สิ่งที่แม่ทำก็ยังเป็นวิธีเดิม – นั่นคือโอบกอดโดยปราศจากเงื่อนไข รักในอารมณ์อันคุกรุ่นเหล่านั้น และใช้สิ่งที่เรียกว่า ‘ความรู้’ เพื่อหาวิธีโอบกอดอย่างถูกต้อง เข้าใจ เจ็บปวดไปด้วยกันกับลูก ทว่าสุดท้ายก็หาวิธีผ่อนบรรเทามันลง เพื่อนำพาความรู้สึกและอารมณ์คุกรุ่นเหล่านั้นให้มาถือกำเนิดใหม่อีกครั้ง – บนหน้ากระดาษ

         นั่นเองคือการเขียน

         นั่นเองคือการระบายสีสันเพริศพรายแห่งอารมณ์ ความรู้สึก และความรู้ตัว – ลงไปบนหน้ากระดาษ, โดยไม่ได้ใช้สีสันและพู่กัน

         การเขียน – โดยเนื้อแท้, ก็คือการพาตัวเองตกจมกลับสู่อดีต สู่อารมณ์ความรู้สึก (และความรู้) ต่างๆ เหล่านั้นอีกครั้ง มันคือการเดินทางย้อนกลับไป ไม่ใช่การอยู่ในปัจจุบันขณะ ทว่าก็ต้องใช้อากัปแห่งปัจจุบันเพื่อย้อนกลับสู่อดีต การเขียนจึงคือการจมน้ำตายอีกครั้ง… และอีกครั้ง – โดยไม่ได้จมลงไปในกระแสน้ำนั้นอย่างสิ้นเชิง

         หากในกระบวนการก่อนเขียน เราสามารถตัดแบ่งเศษเสี้ยวแห่งความคุกรุ่นเหล่านั้นได้มากพอ สามารถจมน้ำตายไปกับความคุกรุ่นเหล่านั้นได้มาก และรู้วิธีดึงตัวเองขึ้นจากกระแสน้ำเชี่ยวกรากแห่งอารมณ์และความรู้ (สึก) เหล่านั้นได้มากพอ – ก็จะไม่มีวันเลยที่ประโยคแรกจะไม่ผุดขึ้นมา และไม่มีวันเลยที่อาการเขียนไม่ออกจะถือกำเนิดขึ้น

         อยู่กับมัน มองเห็นมัน อยู่นอกมัน มองเห็นมัน แล้วกลับไปอยู่กับมัน เพื่อบอกเล่ามันออกมา

         การคิดประโยคแรกไม่ออกและเขียนไม่ออก ล้วนแต่เป็นการทำงานของ ‘ความคิด’ ที่เกิดจากการถอนตัวเองออกมาจากตัวเองเพื่อมองย้อนกลับไปยังอาการเขียนไม่ออกของตัวเองทั้งสิ้น เมื่อเขียน เราจึงไม่ได้จมลงไปในกระแสน้ำแห่งมวลอักษร อารมณ์ และความรู้ดังที่ควรเป็น ทว่าพยายามถอนตัวออกมาจากมัน ไม่กลายกลืน ไม่เป็นหนึ่ง ไม่เป็นเหยือกใสที่แช่อยู่ในลำธารใส

         เราจึงเขียนไม่ออก – ไม่ว่าจะประโยคแรกหรือประโยคไหนๆ

         เมื่อไหร่ที่คิดว่าตัวเองเขียนไม่ออก อาจต้องย้อนกลับไปทบทวนสภาวะต่างๆ ภายในตัวเองให้ถ่องแท้อีกครั้ง

         ใช่แล้ว – นี่ไม่ใช่เรื่องง่ายเลย, แต่กระนั้นก็เป็นเรื่องจำเป็น