นัท ศุภวาที

นัท ศุภวาที | อย่าเพิ่งลาออก! ถ้าคุณยังไม่ได้อ่านบทสัมภาษณ์ บก. Soimilk ฉบับนี้

“จำได้ว่าเดือนสุดท้ายที่ทำงานคือ หยุด 1 วัน จากการทำงาน 30 วัน ทั้งๆ ที่เดือนนั้นมี 31 วัน”

ในฐานะพนักงานประจำเหมือนกัน เราจึงจำประโยคสะเทือนใจของ นัท ศุภวาที นักเขียนจากสำนักพิมพ์ a book และบรรณาธิการ SOIMILK ได้เป็นอย่างดี

“เราก็เลยลาออก ลาโดยที่ยังไม่ได้งานใหม่ แต่ลาออกเพราะมันถึงเวลาแล้ว” คำพูดต่อท้ายของเขา ที่ทำเราอยากรู้จักคำว่า ‘ลาออก’ ผ่านแนวคิดประสบการณ์และความกล้าตัดสินใจของเขา

นัท ศุภวาที

การลาออกครั้งแรก

     ในตำแหน่งสุดท้ายคือ Creative Manager บริษัทที่ทำงานด้านการผลิตโฆษณามา 7-8 ปี และเป็นบริษัทแรกที่เราทำงาน เหตุผลหลักเพราะบริษัทย้ายจากย่านทาวน์อินทาวน์ไปแถวซอยนวลจันทร์ เรื่องของเรื่องคือบ้านเราอยู่หนองแขม เราเดินทางจากพุทธมณฑลสาย 4 ไปทำงานทุกวัน หากออฟฟิศย้ายไปซอยนวลจันทร์ เราคงไปเช้าเย็นกลับเหมือนเดิมไม่ได้อีกแล้ว เราจึงตัดสินใจลาออกครั้งแรกในชีวิต และลาออกทั้งๆ ที่ยังไม่มีงานใหม่

 

งานในฟาร์มที่ญี่ปุ่น…

     หลังจากลาออกเราก็คิดว่าจะไปเที่ยว แต่การไปเที่ยวเพราะว่างงานไม่ใช่ความคิดของเราตั้งแต่แรก เราแค่อยากใช้เวลาช่วงลาออกให้เป็นประโยชน์ต่อตัวเองให้มากที่สุด เราเลยไปเป็น WWOOF อาสาสมัครทำงานในฟาร์มที่ญี่ปุ่น ที่นั่นเราทำงานตั้งแต่เช้าจรดเย็น 7-8 ชั่วโมง หยุดอาทิตย์ละ 1 วัน ตากแดดร้อนๆ ทำงานเป็นเกษตรกรตลอด 88 วัน ระหว่างทำงานก็จดไดอารีทุกวัน พอกลับมาไทยก็ยังว่างงานอยู่ เลยนั่งพิมพ์สิ่งที่เขียนอยู่ 2 เดือน จากนั้นก็ไปเสนอที่สำนักพิมพ์ต่างๆ ซึ่ง a book เป็นที่แรกก็อนุมัติ คลอดเป็นพ็อกเก็ตบุ๊กเล่มแรก อยู่ญี่ปุ่นอย่างหมาป่า

 

การลาออกครั้งที่สอง…

     หลังจากนั้นไม่นานเท่าไหร่ก็ได้งานที่ใหม่ เป็นเอเจนซีในบริษัทญี่ปุ่น ตำแหน่ง Creative Activation มีหน้าที่ดูแลกิจกรรมต่างๆ จากออฟไลน์มาเป็นออนไลน์ ทำอยู่ 4 เดือนก็ลาออก เพราะรู้สึกว่างานหนักมาก ทำต่อไม่ไหว ประจวบเพื่อนชวนไปอินเดียพอดี เลยไปแบบใช้ชีวิตในบ้านของชาวภารตะแบบถึงลูกถึงคน จนกลับมาแล้วก็ได้เขียนเรื่องราวออกมาเป็นหนังสือ แขกรับเชิญ

 

นัท ศุภวาที

 

งานใหม่ที่ยังไม่ (ยอม) หา…

     ไม่ใช่ว่าการลาออกโดยไม่มีจุดหมายจะโรยด้วยกลีบกุหลาบอย่างเรานะ ช่วงแรกๆ ที่ลาออกเราต้องบอกกับแม่ แม่ถึงกับอุทานร้องเสียงหลง ยิ่งบอกว่ายังไม่ได้หางานใหม่ด้วยนะ แม่ถึงกับพูดไม่ออก แต่เราก็ให้เหตุผลว่าทำงานมานาน อยากพักผ่อน ไม่ได้รบกวนทางบ้าน ไม่ได้ใช้เงินเยอะ และไม่ต้องเป็นห่วง บอกแม่ไปว่า เรามีโฮสต์ดูแล มีอาสาสมัครคนอื่นๆ อยู่ด้วย ทีนี้ครั้งต่อๆ มา แม่ก็ไม่ได้ว่าอะไรแล้ว คงเป็นเพราะรู้สึกว่าไปแล้วรอดกลับมา มีงานใหม่ให้ทำ ไม่ได้ใช้ชีวิตเรื่อยเปื่อยอย่างไม่มีจุดหมาย

 

การลาออกครั้งที่สาม…

     ทีนี้เราได้งานใหม่เป็นดิจิตอลเอเจนซีในบริษัทญี่ปุ่นเหมือนกัน ทำได้สองปีกว่าๆ ก็ขยับจนได้รับตำแหน่ง Social Media Director ก็สุดทางเรา ทำต่ออีกครึ่งปีแล้วมาคิดว่า ก็ได้อยู่แค่นี้สินะ (หัวเราะ) ทำเหมือนเดิมทุกวัน อะ… ลาออกอีกครั้ง

 

งานฟรีที่โฮลเทลเกาหลี…

     เราเลือกที่จะเป็นอาสาสมัครในโฮสเทลที่เกาหลี 2 เดือน ทำงานวันละ 3 ชั่วโมง แค่ช่วงเช็กอินและเช็กเอาต์ ไม่ค่อยลำบากเท่าไหร่ แต่สิ่งที่ยากกว่านั้นคือ เมื่อทำงาน 3 ชั่วโมงต่อวัน บางวันต้องทำความสะอาด 3 ห้อง ตอนแรกก็คิดว่าสบาย ทำชั่วโมงละห้อง แต่บางวันมีแขกพัก 17 ห้องเต็ม เราต้องทำความสะอาดในเวลา 3 ชั่วโมง หัวก็จะหมุนๆ หน่อยแต่ก็มีเรื่องน่าจดจำเยอะ และก็กลายมาเป็นหนังสือเล่มที่สาม เกาหลีใต้ที่นอน และอาจจะเป็นเล่มสุดท้าย (กระซิบ)

 

 

การลาออกครั้งสุดท้าย…

     เมื่อชีวิตเราได้ใช้เต็มที่ เราก็ได้งานใหม่อีกครั้งกับตำแหน่งบรรณาธิการ SOIMILK และคิดว่าคงจะไม่ลาออกแล้ว เราอายุ 35 แล้ว คงไม่สามารถลาออกไปไหนได้นานๆ อีก เราไม่ได้กังวลว่าจะหางานไม่ได้ ไม่ได้กังวลเรื่องตำแหน่ง แต่กังวลเรื่องอายุ เพราะที่ไหนๆ เขาก็คงต้องการคนอายุน้อยๆ มีความสดใหม่มากกว่า

 

หากไม่เคยลาออก…

     เราก็คงไม่รู้ว่าอาสาสมัครในที่ต่างๆ ของโลกเป็นยังไง แต่ที่เหล่านั้นก็ทำให้เราได้อะไรกลับมาเยอะ ญี่ปุ่นทำให้เราเปลี่ยนตัวเองทั้งเรื่องมารยาทและการตรงต่อเวลา เกาหลีเต็มไปด้วยประสบการณ์ที่สนุกและมิตรภาพที่ดี ทุกอย่างมันทำให้เราเห็นโลกตามจริงที่เต็มไปด้วยสิ่งดีและไม่ดี แต่มันขึ้นอยู่กับว่าเราจะเลือกจำและทำสิ่งใดมากกว่า