เก้ากระบี่เดียวดาย

เก้ากระบี่เดียวดาย: ชวนรำลึกความหลังวันที่คนไทยติดละครและหนังฮ่องกงกันอย่างงอมแงม

ย้อนไปในวันวานช่วงเวลาที่เรายังไม่มียูทูบหรือบริการสตรีมมิงหนังหรือละครต่างๆ ให้ดูกันแบบทันอกทันใจแบบตอนนี้ ความบันเทิงใหญ่ของผู้คนในตอนนั้นคือละครฮ่องกงที่ฉายต่อจากละครหลังข่าว ซึ่งมีความสนุกสนาน เข้มข้น จนต้องมานั่งรออยู่หน้าโทรทัศน์

        โดยละครฮ่องกงหลายๆ เรื่องก็สร้างปรากฏการณ์ในบ้านเราหลายอย่าง เช่น ยุคหนึ่งเด็กผู้ชายเกือบทุกคนต้องมีดาบวงพระจันทร์เป็นของเล่นคู่กาย หรือเด็กผู้หญิงหยิบผ้าเช็ดตัวมาดัดแปลงเป็นเสื้อผ้าแบบเซียวเหล่งนึ่ง หรือเล่นบทบาทสมมติเป็นเอี้ยก้วยจากหนังเรื่อง มังกรหยก ภาคจอมยุทธอินทรี  (The Return of the Condor Heroes, 1995) เรื่อยไปจนปลายยุค 2000s ที่ละครอย่าง องค์หญิงกำมะลอ (My Fair Princess, 1998-1999) ทำให้หลายคนติดกันงอมแงม 

        ความเฟื่องฟูของละครและหนังฮ่องกงได้เสื่อมถอยลงไปตามเวลา แม้จะมีประกายเล็กๆ ถูกจุดติดขึ้นมาบ้างจากหนังดังๆ หลายเรื่องแต่ก็ไม่ฟู่ฟ่าเหมือนเมื่อก่อน ด้วยความคิดถึงนี้จึงทำให้ ‘อาร์ม’ – ริทธิเมธ ทับสุวรรณ สร้างเพจขึ้นมาชื่อ ‘เก้ากระบี่เดียวดาย’ โดยที่เขาจะนำเรื่องเล่าของนักแสดงและเกร็ดสนุกๆ จากหนังและละครฮ่องกงในอดีตมาเล่าให้กับแฟนหนังจีนในบ้านเราได้รำลึกถึงอดีตกันอย่างมีความสุข ซึ่งในฐานะที่เราเองก็เป็นคนชอบดูหนังฮ่องกงอยู่แล้ว เราจึงชวนเขามาย้อนถึงวันวานกับความสุขที่ได้ขลุกอยู่กับการติดตามเรื่องราวในวงการบันเทิงฮ่องกงที่เคยได้ชื่อว่าเป็นฮอลลีวูดแห่งเอเชียมาแล้ว

 

เก้ากระบี่เดียวดาย

ความเฟื่องฟูของหนังจีน (ฮ่องกง) เริ่มต้นในยุค 80s 

        บ้านเรามีคนไทยเชื้อสายจีนเยอะ หนังจีนจึงได้รับความนิยมสืบต่อกันมา โดยทางบริษัทชอว์บราเดอร์สเป็นผู้นำเข้าภาพยนตร์ ซึ่งในยุคนั้นเราไม่ได้มีโทรทัศน์กันทุกบ้าน และรายการโทรทัศน์เองก็ไม่ได้ออกอากาศ 24 ชั่วโมงแบบสมัยนี้ เพราะตอนนั้น พลเอกเปรม ติณสูลานนท์ เป็นนายกรัฐมนตรี ทางรัฐบาลมีนโยบายประหยัดไฟ ดังนั้น หลังเที่ยงคืนโทรทัศน์ก็จะยุติการออกอากาศ รวมถึงช่วงบ่ายด้วย จะได้ดูรายการอีกทีก็ราวสี่โมงเย็น นั่นทำให้เราต้องนั่งรออยู่หน้าจอดูคัลเลอร์บาร์ที่ขึ้นมาสแตนด์บาย แล้วรอจนกว่ารายการแรกจะออกอากาศ

        ยอมรับเลยว่าตอนนั้นคือช่วงเฟื่องฟูของหนังจีน คนดูหนังจีนกันเยอะเพราะเรามีวัฒนธรรมที่ใกล้เคียงกัน เป็นคนเอเชียเหมือนกัน ที่ดังๆ ก็อย่าง เดชไอ้ด้วน (One-Armed Swordsman, 1967) ของชอว์บราเดอร์ส เพราะคนไทยเชื้อสายจีนส่วนใหญ่ก็มาจากวางตุ้งที่เป็นจีนตอนใต้ เราจึงรับอิทธิพลการดูหนังฮ่องกงมาจากคนเหล่านี้ด้วย ที่ยังเคยชินกับภาษากวางตุ้งเหมือนเดิม

        และในช่วงเวลาใกล้เคียงกัน โลกก็ได้รู้จักกับ บรูซ ลี หลังจากที่ไปเล่นซีรีส์เรื่อง หน้ากากแตน (The Green Hornet, 1966) แล้วไม่รุ่ง เขาได้กลับมาที่ฮ่องกงและเซ็นสัญญากับทางบริษัทโกลเดน ฮาร์เวสต์ พาภาพยนตร์เรื่อง ไอ้หนุ่มซินตึ๊ง (The Big Boss, 1971) ผงาดไปทั่วโลก ซึ่งหนังเรื่องสุดท้ายของ บรูซ ลี ทำรายได้มหาศาลเลยนะ ถ้าจำไม่ผิดน่าจะได้ถึง 200 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (ยอดรวมจากทั่วโลก) ซึ่ง บรูซ ลี คือคนที่ทำให้โลกหันมามองหนังฮ่องกง

 

เก้ากระบี่เดียวดาย
บรูซ ลี ใน Game of Death หนังเรื่องสุดท้ายของเขาพร้อมกับชุดเหลืองที่เป็นเอกลักษณ์จนเควนติน แทแรนติโน นำมาคารวะใน Kill Bill Vol.1

 TVB ยุคทองของละครชุดฮ่องกงที่เป็นปรากฏการณ์ไปทั้งเอเชีย

        ยุคทองของบริษัท TVB นั้นแบ่งออกเป็นสามรุ่น รุ่นแรกคือยุคของสามพี่ใหญ่นั่นคือ เจิ้งเส้าชิว ที่โด่งดังจากบทบาทของชอลิ้วเฮียง หลิวสงเหยิน จากบทของเล็กเซียวหงส์ และละครเรื่อง ฤทธิ์ดาบวงพระจันทร์  (Full Moon Scimitar, 1979) ส่วนคนที่สามคือ โจวเหวินฟะ ซึ่งเขาจะเล่นละครร่วมสมัยเป็นหลัก เช่น เทพบุตรชาวดิน (The Good, the Bad and the Ugly, 1979) หรือ เจ้าพ่อเซี่ยงไฮ้  (The Bun, 1980) ซึ่งตอนนั้นชื่อเสียงของโจวเหวินฟะเป็นที่รู้จักไปทั่วเอเชียแล้ว เขาก็เริ่มรับแต่งานหนังใหญ่ เพราะทีวีบีเองก็ใช้งานเขาเยอะจนแทบไม่มีเวลาพักผ่อน ซึ่งนักแสดงอย่างเจิ้งเส้าชิวและหลิวสงเหยินก็โดนใช้งานหนักหน่วง จนเวลาต่อมาพวกเขาก็ไม่ต่อสัญญากับทางทีวีบีเช่นกัน นั่นจึงเป็นการมาถึงของทีมนักแสดงเลือดใหม่ที่ชื่อ 5 พยัคฆ์ทีวีบี

 

เก้ากระบี่เดียวดาย
เจิ้งเส้าชิว ตำนานแห่งชอลิ้วเฮียง

5 พยัคฆ์ 5 ธิดามังกร 

        ทีวีบีทำการรวมกลุ่มทีมนักแสดงหน้าใหม่ซึ่งเป็นนักแสดงฝึกหัดของทางช่องเอง ได้แก่ เหมียวเฉียวเหว่ย, ทังเจิ้นเยี่ย, หวงเย่อหัว, หลิวเต๋อหัว และเหลียงเฉาเหว่ย โดยทางทีวีบีได้ผลักดันพวกเขาอย่างเต็มที่ จนนักแสดงทั้ง 5 มีชื่อเสียงโด่งดังอย่างรวดเร็ว เรียกว่าพวกเขาต่างก็ขึ้นแท่นเป็นพระเอกอันดับหนึ่งของช่องแบบเท่าเทียมกัน จนเข้าสู่ยุค 90s ที่ต่างคนก็ต่างแยกย้ายไปตามสายงานของตัวเอง หลิวเต๋อหัวไปเอาดีทางด้านการเป็นนักร้องและแสดงภาพยนตร์ เหลียงเฉาเหว่ยก็ทุ่มเทกับการแสดงหนังจนเป็นนักแสดงขายฝีมือ ทังเจิ้นเยี่ยออกจากวงการบันเทิงฮ่องกงแล้วย้ายตัวเองไปอยู่ที่ไต้หวัน เนื่องจากทนกระแสสังคมของฮ่องกงไม่ไหว ที่กล่าวหาว่าเขาคือสาเหตุที่ทำให้ องเหม่ยหลิง นักแสดงหญิงที่โด่งดังจากบทอึ้งย้งใน มังกรหยก (The Legend of the Condor Heroes, 1983) เวอร์ชันหวงเย่อหัวฆ่าตัวตาย (ทังเจิ้นเยี่ยเป็นอดีตแฟนของเธอ) ส่วนหวงเย่อหัวนั้นยังคงแสดงละครชุดให้กับทางทีวีบีต่อไป ซึ่ง มังกรหยก เวอร์ชันของหวงเย่อหัวนั้นโด่งดังระดับที่เรียกว่าคว้าเรตติ้งละครฮ่องกงมาได้ถึง 99% เลย ว่ากันว่าอีก 1% ที่เหลือคือบ้านเหล่านั้นโทรทัศน์เสีย (ฮา) และเป็นสถิติเรตติ้งของละครในฮ่องกงที่สูงตลอดกาล

        ส่วน 5 นักแสดงหญิงสาวสวยมาแรงของทางทีวีบีในยุค 80s ถูกเรียกว่า 5 ธิดามังกร (TVB’s 5 Dragon Girls) หรืออีกชื่อหนึ่งเรียกพวกเธอว่า 5 นางฟ้าแห่งทีวีบี (The Five Beauties of TVB) ประกอบไปด้วย เฉินอวี้เหลียน โด่งดังจากละครเรื่อง มังกรหยก ตอนจอมยุทธอินทรี รับบทเป็นเซียวเหล่งนึ่งคู่กับหลิวเต๋อหัว ชีเหม่ยเจิน จากละครเรื่อง ขุนศึกตระกูลหยาง (The Yang’s Saga, 1985) และ ขวัญใจโปลิส ภาค 2 (Police Cadet ’85, 1985) เจิ้งหัวเชียน โด่งดังจากละครฟอร์มใหญ่เรื่อง ศึกลำน้ำเลือด (The Grand Canal, 1987) ยอดทรนง (When Silken Hands Get Rough, 1987) นักสู้ผู้พิทักษ์ ภาค 3 (Police Cadet ’88, 1988) และ ดาบจอมภพ (The Black Sabre, 1989) จากนิยายของโกวเล้ง หลีเหม่ยเสียน เริ่มเป็นที่รู้จักจากละครเรื่อง มรสุมสายเลือด (The Challenge Of Life, 1990) ที่นำแสดงคู่กับหลี่หมิง และ มังกรเจ้ายุทธจักร (Mystery Of The Parchment, 1990) ส่วนหลันเจี๋ยอิง เพิ่งเสียชีวิตไป ซึ่งบทบาทที่เข้มข้นของเธอในละครเรื่อง คู่แค้นสายโลหิต (Look Back in Anger, 1989) และ เจ้าพ่อตลาดหุ้น (The Greed of Man, 1992) ก็เป็นที่จดจำของแฟนละครมาจนถึงวันนี้

เปิดศักราชของละครดังร่วมสมัยสุดเข้มข้นอย่าง คู่แค้นสายโลหิต, เพื่อนรักเพื่อนแค้น, เจ้าพ่อตลาดหุ้น, เพื่อนรักหักเหลี่ยมโหด ฯลฯ

        ยุคของละครฮ่องกงร่วมสมัย เป็นละครที่มีเนื้อเรื่องในปัจจุบัน เขาจะเรียกละครแนวนี้ว่า ‘over acting’ แต่เป็นโอเวอร์แอ็กติ้งที่ไม่เหมือนละครบ้านเรา เนื้อเรื่องของเขาจะเป็นตัวละครประเภท โอชิน ที่ค่อยๆ ไต่เต้า ค่อยๆ เจอปัญหาชีวิต เล่นบทเดียวแต่เล่นหลายอารมณ์ เดี๋ยวก็มีความสุข เดี๋ยวก็มีปัญหา เกิดเรื่องราวเรื่องโน้นเรื่องนี้ โดยทุกปีเขาจะมีละครฟอร์มยักษ์แบบนี้ปีละหนึ่งเรื่อง มีการรวมดาราดังๆ มาเล่นด้วยกัน ใครที่เป็นดาวรุ่งอยู่ก็จะถูกผลักดัน ถูกแทรกเข้าไปอยู่ในละครฟอร์มยักษ์เหล่านี้ เนื้อเรื่องก็จะเป็นการสู้ชีวิต ครอบครัวมีปัญหา ปัญหาชีวิต ปัญหาธุรกิจแบบ เจ้าพ่อตลาดหุ้น, เจ้าพ่อสนามม้า (Racing Peak, 1993) ตี๋ใหญ่เลือดมังกร  (Edge of Righteousness, 1993) หรือเป็นละครฟอร์มยักษ์อย่าง ไซอิ๋ว (Journey to the west) ในปี 1986 ที่จางเหว่ยเจี้ยนเล่น 

 

เก้ากระบี่เดียวดาย
เจ้าพ่อตลาดหุ้น ละครดราม่าเข้มข้นที่แจ้งเกิดให้กับหลิวชิงหวินจนโด่งดัง

โมงยามแห่งการรอคอย การหวนคิดถึงอดีตที่พาย้อนไปเจอกับความสุขในวันที่ได้นั่งอยู่หน้าจอโทรทัศน์

        ความถวิลหาก็เป็นส่วนหนึ่ง แต่ความเป็นจริงอีกอย่างคือ first impression ที่เราดูครั้งแรก ถ้าไปถามคนรุ่นพ่อรุ่นแม่ว่า มังกรหยก เวอร์ชันไหนดีที่สุด เขาอาจจะบอกว่าเวอร์ชันหมีเซียะกับไป่เปียว เพราะเขาดูครั้งแรก เขาก็จะไม่ลืม พอมีเวอร์ชันอื่นเกิดขึ้นมา แม้จะเต็มไปด้วยฉากแอ็กชันอลังการหรืออะไรก็แล้วแต่ เขาก็จะบอกว่าเวอร์ชันยุคเขาดีที่สุด นั่นคือความประทับใจแรก ถ้าคุณดู มังกรหยก เวอร์ชันองเหม่ยหลิงกับหวงเย่อหัว คุณก็จะจำได้ว่าเวอร์ชันนี้ดี และตอนนี้ทุกอย่างมันเร็วและง่าย ไม่เหมือนสมัยก่อนกว่าจะได้อะไรสักอย่างต้องรอคอย เพราะช่องทางการสื่อสารมีน้อย เดี๋ยวนี้เราแค่หยิบมือถือขึ้นมาก็ดูได้เลย สมัยก่อนละครจะมาตอนสี่โมงเย็นหรือหนังหกโมงเย็นทุกคนต้องรอ การรอคอยทำให้สิ่งที่เราได้ดูมันมีคุณค่าขึ้น 

        เหมือนเวลานักร้องออกเทปที่กว่าเราจะได้ฟังเพลงใหม่ต้องรอฟังจากวิทยุ ตอนนั้นเราก็ยังเป็นเจ้าของเพลงนั้นไม่ได้ ต้องรอจนกว่าเขาจะวางแผง ถ้าเป็นศิลปินดังบางทีพอเทปวางแผงแล้วก็หมดทันที เราก็ต้องไปตีซี้กับแผงเทปแถวบ้านว่าให้เก็บของไว้ให้หน่อย ไหนจะเป็นเรื่องของการเก็บเงินซื้อเทป ที่ต้องใช้เวลากว่าจะซื้อมาได้ เวลาเปิดฟังจะรู้สึกว่าโคตรเพราะ คุณค่าที่เกิดขึ้นส่วนหนึ่งเพราะว่าเราใช้เวลากับมัน ไม่เหมือนเดี๋ยวนี้ที่คลิกและเปิดดูได้เลย การที่เราใช้เวลากับอะไรนานๆ หรือมีการรอคอยมันทำให้ของสิ่งนั้นมีคุณค่า คนก็จะถวิลหาความรู้สึกของการรอคอย การได้ดูละครชุดที่ดังๆ วิธีที่เร็วที่สุดคือไปเหมามาจากร้านเช่าวิดีโอ 

        สมัยก่อนร้านเช่าวิดีโอในวันเสาร์-อาทิตย์ ช่วงสักเก้าโมงเช้าจะมีเด็กไปนั่งรอตั้งแต่แปดโมง รอร้านเปิดเพื่อที่จะรีบเข้าไปเช่าละครชุด เพราะว่าหนังมันต้องเวียน เช่าเสร็จแล้วก็ต้องรีบกลับบ้านไปเปิดดู อย่างละครเรื่อง โคมวิเศษเจ้าแม่หัวซาน (The Lamp Lore, 1986) ตอนที่ละครดังมากๆ หนังจะมาทีละล็อต เราดูค้างไว้ที่ม้วนห้า พออาทิตย์ต่อมาม้วนหกเข้ามา คนก็จะไปรอเช่า บางทีก็ต้องไปรอแย่งกับเขาเพราะเป็นช่วงที่ละครกำลังไคลแม็กซ์ พ่อแม่ขับรถมาส่งให้ลูกไปรอรับเลย เช่าเสร็จแล้วค่อยกลับมา เพราะม้วนวิดีโอไม่ได้มีไว้ให้ครบกับทุกคนอยู่แล้ว 

 

เก้ากระบี่เดียวดาย
กำเนิดเจ้าแม่กวนอิม นำแสดงโดย จ้าวหย่าจือ ละครที่ทำให้ชาวพุทธในไทยเลิกกินเนื้อวัว

ตำนานเรื่องเล่าความผูกพันในความเชื่อของคนเอเชีย 

        ละครอย่าง โคมวิเศษเจ้าแม่หัวซาน หรือ กำเนิดเจ้าแม่กวนอิม (The Reincarnated Princess, 1985)ทุกอย่างมันใกล้ตัวคนไทย ใกล้ตัวคนในแถบเอเชีย ความเชื่อมโยงของวัฒนธรรมมันเชื่อมโยงให้คนดูรู้สึกว่าคนไทยหรือคนประเทศอื่นที่ไม่ใช่ฮ่องกงรู้สึกว่าเขาเข้าใจเรื่องนี้ อย่างเจ้าแม่กวนอิมจะมีเรื่องตลกที่เขาเล่ากันว่าคนฮ่องกงที่เขานับถือเจ้าแม่กวนอิมเขาก็กินเนื้อกันปกติ มีบ้านเรานี่แหละไม่กิน เพราะว่าในหนัง พ่อของเจ้าแม่กวนอิมไปเกิดเป็นวัว กลับกลายเป็นว่าเราไปขยายความเชื่อแบบนั้น แต่ประเทศอื่นเขาไม่ได้เชื่อแบบนี้ มันคืออิทธิพลและวัฒนธรรมของหนัง

กำเนิดศาสดาของคนเหงาการมาของหนังแบบหว่องกาไว

        หนังของหว่องกาไวจะมาช่วงปลายยุค 80s ความโดดเด่นของหว่องกาไวคือหนังของเขาไม่ได้เล่าเรื่องตามลำดับหนึ่ง สอง สาม แบบเดิมอีกแล้ว แต่เขาจะเล่าให้เรารู้สึกอยากดูและติดตามไปว่าตัวละครเป็นอย่างไร ดังนั้น มันจึงเป็นความแปลกที่มันไม่ค่อยมีในหนังฮ่องกง ซึ่งตอนเด็กๆ เราจะดูหนังของหว่องกาไวอย่าง Days of Being Wild (1990) ไม่เข้าใจเลย นี่มันหนังห่าอะไรวะ (หัวเราะ) ตอนท้ายที่เหลียงเฉาเหว่ยออกมาเขาคือใคร แล้วทำไมตัดจบ ซึ่งก็มารู้ทีหลังว่าจริงๆ แล้วเนื้อเรื่องมันมีต่อ แต่งบถ่ายทำหนังมันหมดแล้ว 

Ashes of Time การตัดต่อใหม่เวอร์ชันฉายไทย

        หนังเรื่องนี้รู้สึกว่าทางไฟว์สตาร์เป็นคนนำเข้า ตอนนั้นหนังกำลังภายในฮิตมาก เป็นผลมาจากหนังเรื่อง เดชคัมภีร์เทวดา ภาค 2 (Swordsman II, 1992) ซึ่ง Ashes of Time (1994) เป็นหนัง มังกรหยก ของหว่องกาไวที่มีดาราดังแสดงอยู่ในเรื่องนี้เต็มไปหมด ทั้งเหลียงเฉาเหว่ย, เลสลี จาง, หลินชิงเสีย จางม่านอวี้ ฯลฯ แต่หนังกลับไม่ค่อยมีฉากสู้กันเลย มีแต่ฉากคนยืนเหงาๆ ทางไฟว์สตาร์เห็นว่าหนังมันไม่ค่อยมีฉากแอ็กชัน เขาก็ไปตัดต่อใหม่ให้มันมีแต่ฉากแอ็กชัน คราวนี้ยิ่งดูไม่รู้เรื่องเลย (หัวเราะ) เพราะความยาวของหนังจะเหลืออยู่แค่ชั่วโมงนิดๆ เอง จนกระทั่งหว่องกาไวเอามาทำเป็น Director’s Cut อีกทีหนึ่ง แต่จริงๆ หนังเรื่องนี้มันจะมีอีกเวอร์ชันหนึ่งที่หาดูยากมาก คือเวอร์ชันที่มีหวังจู่เสียนอยู่ในหนังเรื่องนี้ เธอโผล่มาประมาณ 4 วินาทีได้ เพราะตอนทำหนังเรื่องนี้หว่องกาไวใช้งบไปจนหมดอีกแล้ว (หัวเราะ) 

 

เก้ากระบี่เดียวดาย
Ashes of Time มังกรหยกที่เหงาที่สุดที่เคยมีมา

หว่องกาไวคือรสชาติใหม่ของหนังฮ่องกง

        ปกติหนังฮ่องกงจะมีแค่หนังกำลังภายใน หนังตลก หนังแอ็กชัน หนังมาเฟีย แต่หนังของหว่องกาไวนั้นไม่เคยมีมาก่อน ไม่เคยเจอหนังอารมณ์เหงาๆ หนังที่ลงลึกไปในความรู้สึกของตัวละคร มีคนถามผมในเพจบ่อยๆ ว่า ทำไมดาราดังๆ ถึงมาเล่นหนังของหว่องกาไว ทั้งๆ ที่หนังของเขาไม่มีบท ซึ่งนั่นคือเสน่ห์เฉพาะตัวที่นักแสดงได้อิมโพรไวซ์ตัวละครของเขาเอง อย่าง เลสลี จาง ที่เป็นขาประจำของหว่องกาไว ที่เขารับเล่นเพราะเขาจะได้อิมโพรไวซ์ตัวละครเอง ทั้ง Day of being Wild, Ashes of Time หรือ Happy Together (1997) จะมีหลายอย่างที่เป็นตัวเขาออกมา ทั้งเรื่องไดอะล็อก วิธีคิด ความเหงา ความเหงาของเลสลีกับเหลียงเฉาเหว่ยก็ไม่เหมือนกัน เหลียงเฉาเหว่ยใน Chungking Express (1994) เป็นผู้ชายเหงาแต่เหงาแบบน่ารัก คุยกับตุ๊กตาหมี คุยกับสบู่ได้ สบู่ทำไมแกผอมลง ผ้าขี้ริ้วทำไมร้องไห้ตลอดเลย เธอไม่อยู่แล้ว เสื้อของเธอที่ทิ้งไว้เหงาหรือเปล่า เอาไปรีดให้ความอุ่นหน่อยดีกว่า เหลียงเฉาเหว่ยจะเหงาสไตล์นั้น แต่ เลสลี จาง จะเป็นความเหงาที่หนาวเหน็บ เหงาแบบเหงาจริงๆ แล้วมันก็จะมีคำพูดหนึ่งของตัวละครฮาวเอี้ยงฮงใน Ashes of Time ที่ผมว่ามันสะท้อนความเป็นตัวเขา

“คนเรามีความทุกข์ ก็เพราะมีความจำที่ดีเกินไป” Ashes of Time (1994)

        เลสลี จาง มีปมเรื่องแม่ แต่อีกส่วนหนึ่งที่ผมว่าเป็นตัวเขามากๆ คือการที่เขาทิ้งทุกคนก่อนเพราะเขาไม่อยากรอให้ถึงวันหนึ่งที่ทุกคนทิ้งเขา ผมว่ามันเป็นปมส่วนหนึ่งในใจที่ทำให้เขาเสียชีวิต การที่เขาฆ่าตัวตายอาจเป็นเพราะช่วงก่อนหน้านั้นเขาเริ่มรู้สึกว่าตัวเองไม่เหมือนเดิม เขาเริ่มแก่ตัวลง ซึ่งจริงๆ เลสลี จาง เป็นนักแสดงรุ่นเดียวกับโจวเหวินฟะ เผลอๆ อาจจะอายุมากกว่าหนึ่งปีด้วยซ้ำ แต่เขาหน้าเด็ก ถ้าเขายังอยู่ตอนนี้ก็คงอายุ 60 กว่าๆ แล้ว เป็นรุ่นพี่ของหลิวเต๋อหัว เลสลี จาง เป็นคนชอบอะไรที่ต้องเปอร์เฟ็กต์ เขารู้สึกว่าตัวเองเป็นที่ 1 ตลอด ตอนเข้าวงการแรกๆ เลสลีประกวดร้องเพลงแล้วได้รางวัลรองชนะเลิศ เขากลับไม่แฮปปี้เลย แต่เขากลับดังมาก ดังกว่าคนที่ชนะด้วยซ้ำ เขาเข้าประกวดปี 1977 หลังจากนั้นปี 1978-1979 เขาก็ได้เป็นดารายอดนิยมจากผลโหวตของแฟนๆ มาตลอด 

        ตอนเริ่มแสดงหนังเรื่องแรกเขาก็รู้สึกว่าไม่ประสบความสำเร็จ แต่พอไปเล่นอีกเรื่องหนึ่งเขาก็ได้รางวัลนักแสดงนำชายยอดเยี่ยมเลย เขารู้ว่าตัวเองไม่ชอบอะไรที่ไม่สมบูรณ์แบบ  พอถึงจุดที่เขารู้สึกว่าตัวเองแก่ลง ตัวเองไม่สมบูรณ์ ผมว่านี่เป็นส่วนหนึ่งที่ทำให้เขาป่วยเป็นซึมเศร้า แล้วเหมือนตัวละครฮาวเอี้ยงฮงที่บอกว่าเขาพร้อมทิ้งทุกคนก่อน ก่อนที่ทุกคนจะทิ้งเขา ประโยคเหล่านี้ในหนังของหว่องกาไวมันสะท้อนความคิดของนักแสดงแต่ละคน เพราะนักแสดงแต่ละคนได้อิมโพรไวซ์ตัวละครนั้นเอง มันก็มีพาร์ตที่เป็นของเขาเอง 

        อย่างเหลียงเฉาเหว่ยยังเห็นได้ชัด เพราะเขามีปมเกี่ยวกับครอบครัว ช่วงหนึ่งเขาไม่อยากแต่งงานเพราะเขารู้สึกว่าการแต่งงานไม่ใช่คำตอบของชีวิต เขาจะมีปัญหากับแฟนตลอดแต่สุดท้ายก็ได้แต่งงานกัน ตัวละครก็จะมีปมแบบนี้ ปมกลัวความรักอะไรแบบนี้ก็เลยสะท้อนออกมาในตัวละครของหว่องกาไวได้ แต่ถ้าเล่นกับผู้กำกับคนอื่นเขาก็จะเล่นไปตามบททั่วๆ ไป 

หว่องกาไว ผู้ปูทางให้หลิวเต๋อหัวไปสู่ตำนานผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ 

        As Tears Go By (1988) เป็นหนังเรื่องแรกของหว่องกาไวที่ยังมีความตลาด เป็นหนังมาเฟียแก๊งสเตอร์ มีหลิวเต๋อหัวเป็นพระเอก เขาได้ปูทางคาแรกเตอร์ของหลิวเต๋อหัวในบทของนักเลงกระจอกที่ต่อไปจะโด่งดังในหนังเรื่อง ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ (A Moment of Romance, 1990) มีลูกเพจบอกผมว่าเขาดูหนังเรื่องนี้ไป 24 รอบ จนได้ถ่ายรูปคู่กับหลิวเต๋อหัว 

        ซึ่งตอนนั้นหนังเรื่อง ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ ทางค่ายนนทนันท์ที่เอาเข้ามาฉายก็ไม่คิดว่าจะดัง เพราะเป็นหนังแถมที่ซื้อพ่วงมากับหนังฮ่องกงฟอร์มยักษ์เรื่องอื่นๆ เขาซื้อมาแค่หนึ่งแสนบาทเองมั้ง แต่ทำเงินรวมๆ กันได้ 18 ล้านบาท นี่นับแค่รายได้จากโรงหนัง ยังไม่นับการฉายแบบหนังกลางแปลงต่างๆ ที่บอกจำนวนไม่ได้จริงๆ 

 

เก้ากระบี่เดียวดาย
ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ หนังฮ่องกงที่ทุบสถิติในไทย ผู้ชายก็อยากเป็นหลิวเต๋อหัว ผู้หญิงก็อยากใส่ชุดเจ้าสาวขึ้นซ้อนบิ๊กไบค์ในยุคนั้น และเพลงประกอบภาพยนตร์ก็ดังมาจนถึงวันนี้

ยุคตกต่ำของหนังฮ่องกง

        ตอนนี้นักแสดงดังๆ ก็เหลือแค่หลิวเต๋อหัว ส่วนเหลียงเฉาเหว่ยก็ไปเล่นหนังให้มาร์เวลแล้ว ทุกอย่างเปลี่ยนไปตามยุคสมัย ดาราคนอื่นก็ไปเล่นหนังที่จีนแผ่นดินใหญ่ซึ่งเขามีทุนสร้างที่สูง แต่จีนจะตีกรอบหนังไว้เยอะ ล่าสุดก็เห็นว่าจะจำกัดการสร้างหนังกำลังภายในแล้ว เพราะมันออกมาเยอะมากๆ แต่หนังจากจีนจะไม่มีหนังผีเพราะทางรัฐบาลบอกว่าเป็นเรื่องงมงาย ตอนนี้คนทำหนังฮ่องกงก็หันมาทำหนังเพื่อไปฉายที่ประเทศจีน ดาราดังๆ อย่างโจวเหวินฟะหรือคนอื่นๆ ก็ไปเล่นหนังที่ประเทศจีนกันหมด

ตู้ฉีฟง ความหวังของหนังฮ่องกงในตอนนี้

         หลังจากที่หวังเทียนหลิน ซึ่งเป็นผู้กำกับขาประจำของทีวีบีที่ละครอย่าง มังกรหยก หรือ คมเฉือนคม (The Shell Game, 1980) เมื่อถึงตอนจะเกษียณ ตู้ฉีฟงในตอนนั้นก็อยากทดแทนบุญคุณให้กับอาจารย์ของเขา จึงร่วมทุนกับเพื่อนๆ ทำหนังเรื่อง ผู้หญิงข้าใครอย่าแตะ ขึ้นมา โดยตอนแรกหวังไว้แค่ว่าได้กำไรกลับมาให้กับหวังเทียนหลินเป็นทุนไว้ใช้ตอนแก่ แต่กลับกลายเป็นว่าหนังได้เงินเยอะมาก มีภาคต่อออกมาอีกสองภาค ซึ่งตู้ฉีฟงเป็นผู้กำกับและโปรดิวเซอร์หนังมาตั้งแต่ยุค 80s หนังดังๆ ที่เราเคยผ่านตากันมาถ้าย้อนกลับไปดู มีเครดิตของเขาเกือบทั้งนั้นเลย ซึ่งตอนนี้หนังฮ่องกงส่วนใหญ่ก็จะมาจากเขา และตู้ฉีฟงเป็นคนที่ทำหนังสนุก ทำได้ทุกแนว และหนังของเขาน่าสนใจ บางเรื่องก็จะหักมุมจนคนดูทึ่ง ซึ่งต่อมาก็ได้รับคำชื่นชมว่าเป็นเจ้าพ่อหนังหักมุม บางเรื่องก็ตลกมากๆ หรือบางเรื่องคนดูก็จะเอาใจช่วยตัวร้าย เพราะตู้ฉีฟงชอบเขียนบทหนังให้ตัวละครแต่ละตัวมีความเทา ร้ายก็ร้ายไม่สุด แต่ก็ไม่ได้เป็นคนดีแบบขาวสะอาดอะไรแบบนั้น

สำรวจความสุขในวันวาน 

        นึกภาพตอนเด็กๆ ที่นั่งรอหน้าทีวีเพื่อดูละครฮ่องกง มันมีความสุขมากๆ เลยนะ เพราะเมื่อเรามีคำว่ารอคอย คุณค่าก็เพิ่มขึ้น เหมือนตอนที่เราอยากได้รองเท้าสนีกเกอร์ที่หายาก ที่ไม่ใช่ว่าจะมีได้ทุกคน หรือมีเงินแล้วจะซื้อได้เลยเพราะต้องรอ เพราะรุ่นนี้มันเป็นลิมิเต็ดเอดิชัน เลยพิเศษ ดังนั้น หนังหรือละครฮ่องกงคือลิมิเต็ดเอดิชันในช่วงยุคนั้นของพวกเรา เลยรู้สึกว่าดาราในยุคนั้นสวยจัง หล่อจัง หรือหนังดีจังประทับใจจัง พอเป็นความประทับใจแรกเมื่อไหร่ เราก็จะจำ เหมือนรุ่นปู่ย่าเราที่ยังจำเดอะบีเทิลส์หรือ เอลวิส เพรสลีย์ ว่าเป็นอมตะ ไม่มีใครมาแทนได้จนถึงทุกวันนี้