หลายคนคงจะคุ้นชื่อจิมมี่ เลี่ยว (Jimmy Liao) และคุ้นตากับผลงานของเขากันมาบ้างแล้วจากหนังสือภาพชุดต่างๆ ที่ได้รับการแปลเป็นภาษาไทยและตีพิมพ์กับสำนักพิมพ์ a book ซึ่งถ้ามองดูรูปภาพอย่างเดียวอาจเข้าใจว่าเป็นเพียงหนังสือสำหรับเด็ก แต่เมื่อไหร่ก็ตามที่คุณได้อ่านเรื่องราวประกอบจะพบความจริงที่ลึกซึ้งกว่าภาพวาดที่ปรากฏ
เบื้องหลังลายเส้นและสีสันที่เขาแต่งแต้ม กลับมีเนื้อหาที่เคลือบแฝงความรู้สึกบางอย่างซึ่งโยงใยถึงความเป็นไปในชีวิตได้อย่างแยบยลและมีชั้นเชิง หนังสือแต่ละเล่มของจิมมี่ เลี่ยว จึงเป็นวรรณกรรมสำหรับผู้อ่านทุกคน โดยเฉพาะผู้ใหญ่ที่หลงใหลบรรยากาศความเหงาเศร้า ซึ่งมักจะเข้าปกคลุมพื้นที่ในหัวใจหลังจากอ่านหนังสือของเขาจบลง
แต่สำหรับผลงานเล่มล่าสุดอย่าง To Read or Not to Read, That Is My Question (หากโลกนี้ไม่มีหนังสือ) กลับชวนให้เกิดความรู้สึกที่แตกต่างไปจากครั้งก่อนๆ ซึ่งแฟนตัวยงของ จิมมี่ เลี่ยว และเป็นผู้แปลหนังสือเล่มนี้อย่าง ‘มีน’ – วีรนาถ โชติพันธุ์ ได้เผยความรู้สึกแรกหลังอ่านจบสั้นๆ ว่า ‘เซอร์ไพรส์’ ยิ่งทำให้หนังสือเล่มนี้มีความหมายลึกซึ้งกับเธอ (รวมถึงทุกคนที่มีหนังสือเป็นเพื่อนคลายเหงา) เหลือเกิน
Jimmy Liao: Enter Fully Into Your Loneliness
“จริงๆ เราชอบอ่านวรรณกรรมของมูราคามิ ชอบดูหนังของหว่องกาไว แล้วทุกคนจะบอกเราว่ามันคือการหมกมุ่นอยู่กับความเหงา ความโดดเดี่ยว ความแปลกแยก หรือความรู้สึกหนักอึ้งบางอย่าง” เธอเอ่ยขึ้นมาหลังจากครุ่นคิดถึงความสวยงามที่อยู่ในอารมณ์ที่อึมครึมแบบนี้
“ถ้าจำไม่ผิด ช่วงมหา’ลัยเราซื้อหนังเรื่อง Turn Left, Turn Right (2003) มาดู เป็นเรื่องเกี่ยวกับผู้หญิงและผู้ชายที่ใช้ชีวิตสวนกันไปมา ไม่เคยรู้จักหรือคุยกันเลย สุดท้ายมารู้ทีหลังว่าอยู่ห้องติดกัน เราชอบอารมณ์ของหนังมากเลยไปค้นต่อว่าเป็นมายังไง จนพบว่าสร้างมาจากหนังสือของ จิมมี่ เลี่ยว
“แล้วช่วงนั้นนิตยสาร a day ก็ทำธีมเล่มเกี่ยวกับ จิมมี่ เลี่ยว พอดี โดยเอาภาพวาดห้องของผู้หญิงและผู้ชายจากหนังสือ A Chance of Sunshine ซึ่งเป็นชื่อหนังสือเล่มนั้นมาขึ้นเป็นปก เราจึงเริ่มติดตามผลงานของ จิมมี่ เลี่ยว มาตั้งแต่ตอนนั้น
“หนังสือของ จิมมี่ เลี่ยว สำหรับเราก็จัดอยู่ประเภทเดียวกัน เราชอบอารมณ์แบบนั้นในหนังสือหรือหนังก็จริง แต่ไม่ได้หมายความว่าจะต้องเสพติดความเหงาเศร้านะ (หัวเราะ) เราคิดว่ามันไม่ใช่ความเหงาเสียทีเดียว แต่มันเป็นการที่เราได้มีเวลาอยู่คนเดียว ซึ่งไม่ใช่เรื่องแย่ ออกจะดีด้วยซ้ำ เพราะทำให้เราคิดทบทวนตัวเองไปเรื่อยๆ นึกถึงเรื่องราวบางอย่างที่ผ่านเข้ามา ส่วนหนึ่งอาจเป็นอารมณ์ของคนที่ทำงานเขียนด้วยมั้ง เราถึงชอบมีเวลาให้ตัวเอง อยู่กับตัวเอง มันคือช่วงเวลาที่ดีสำหรับเรา ซึ่งไม่ใช่ความเหงาเศร้าในความหมายของอารมณ์”
Sanctuary: Coffee, Café and Escape Place
ย้อนกลับไปช่วงสมัยเรียนชั้นประถม ครอบครัวของเธอก็เหมือนกับคนทั่วๆ ไป ที่ตอนเช้าจะนั่งกินข้าวกันพร้อมหน้าพร้อมตา โดยคุณแม่จะนั่งจิบกาแฟระหว่างดูโทรทัศน์รายงานข่าวไปด้วย ซึ่งเธอบอกว่าติดใจในกลิ่นกาแฟยามเช้าของแม่มากๆ แม้จะถูกห้ามไม่ให้ลองชิมเพราะยังเด็กเกินไป แต่นั่นก็ทำให้เธอค้นพบสถานที่พักใจของตัวเองเมื่อเติบโต
“เราชอบใช้เวลากับตัวเอง การไปคาเฟ่เหมือนเราหลุดไปอยู่ในที่ที่เราจะปล่อยเวลาให้ผ่านไปโดยไม่รู้สึกเสียดาย เราสามารถนั่งกินกาแฟอยู่ในบรรยากาศคาเฟ่เป็นชั่วโมงๆ เราชอบเสียงในคาเฟ่ กลิ่นกาแฟ เสียงบดเมล็ด เสียงชง ซึ่งบ้านให้สิ่งนี้เราไม่ได้ เคยลองพยายามทำให้เหมือนแล้วนะ แต่กินที่ร้านอร่อยกว่าทำเอง (หัวเราะ) สุดท้ายเราก็ต้องไปนั่งกินกาแฟที่คาเฟ่อยู่ดี จริงๆ คาเฟ่นับว่าเป็น Escape Place ของเราได้เหมือนกันนะ ดังนั้น Sanctuary ในความหมายของเราต้องเป็นที่ที่อยู่แล้วรู้สึกปลอดภัยทั้งกายและใจ นอกจากบ้านที่เป็นพื้นที่ส่วนตัว ก็มีแต่คาเฟ่นี่แหละที่ทำให้เรารู้สึกแบบนั้น”
หลบหนีจากความวุ่นวายไปนั่งอยู่ร้านกาแฟที่มีคนเดินเข้าออกตลอดทั้งวัน อาจฟังแล้วดูขัดแย้งไปบ้าง แต่เธอก็ให้เหตุผลกับเราอย่างตรงไปตรงมาว่า
“เราว่าชีวิตทุกคนต้องมีช่วงเวลาที่รู้สึกวุ่นวายจนทำให้เราอยากกดปุ่มพอสให้ชีวิตสักพัก ซึ่งแต่ละคนใช้วิธีหลีกหนีต่างกันไป บางคนอ่านนิยาย บางคนดูหนัง แต่ถ้าพูดถึงสถานที่ที่เราหลุดเข้าไป ปล่อยใจไปเรื่อย เข้าไปอยู่แล้วรู้สึกเวลาเดินช้าลง เหมือนตัดขาดจากสิ่งที่อยู่รายล้อมรอบตัว การไปคาเฟ่ให้ความรู้สึกนั้นกับเรา ไม่ต้องคิดอะไรเยอะ ไปดื่มกาแฟ ไปซึมซับบรรยากาศ ไปนั่งฟังเพลง ไปคนเดียวก็ได้ คนอื่นอาจมองว่าคาเฟ่คือที่นั่งทำงาน แต่เราไม่เคยเอางานไปทำแบบจริงจังเลย ถ้าได้ยินเราพูดว่าจะเอางานไปนั่งทำนั่นคือข้ออ้างการไปคาเฟ่มากกว่า (หัวเราะ) วันไหนที่เรารู้สึกแย่ๆ การได้ดื่มกาแฟอร่อยๆ สักแก้วก็พอแล้ว”
Print is (not) Dead: Everything Must Change
งานประจำของเธอในตอนนี้คือผู้จัดการฝ่ายการตลาดของสำนักพิมพ์ a book ซึ่งเป็นสิ่งที่รู้กันดีว่าวงการสิ่งพิมพ์ตอนนี้อยู่ในสภาวะที่ไม่น่าไว้วางใจ เหมือนกับที่ชื่อภาษาไทยของหนังสือ To Read or Not to Read, That Is My Question ที่เธอแปลไว้ว่า ‘หากโลกนี้ไม่มีหนังสือ’
“เราเริ่มเข้ามาทำงานในวงการสื่อสิ่งพิมพ์ช่วงที่นิตยสารไม่ได้รุ่งเรืองมากแล้ว แต่ก็รุ่งกว่าตอนนี้เยอะ สำหรับเรายุครุ่งเรืองของนิตยสารคือช่วงมอปลายกับมหา’ ลัย ตอนนั้นมีนิตยสารทางเลือกให้อ่านเยอะมาก เช่น a day, DDT, สารกระตุ้น หรือ OOM เป็นนิตยสารไลฟ์สไตล์ที่ไม่ได้มีเนื้อหาเกาะติดเทรนด์มากนัก แต่ใช้วิธีเล่าเรื่องเป็นธีม ช่วงนั้นนิตยสารสนุกมาก เป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เราอยากทำงานนิตยสารด้วย”
แต่ถ้ามองดูสถานการณ์ที่เกิดขึ้นและเป็นอยู่กับวงการสิ่งพิมพ์ในตอนนี้ ทุกอย่างกลับแปรเปลี่ยนและไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป
“ยอมรับว่าเห็นมันลงเรื่อยๆ หลังจากทำงานเรานิตยสารแฟชั่นมา 6 ปี เราเริ่มอิ่มตัวกับการผลิตงานที่อิงกับกระแส เลยอยากทำหนังสือเล่ม เพราะหนังสือหลายเล่มทำให้เรามั่นใจว่าสิ่งที่ทำมีคุณค่า อยู่ได้นาน ไม่มีวันเก่า กลับมาอ่านตอนไหนก็ได้ เลยตัดสินใจไปเรียนต่อปริญญาโทด้าน publishing media ที่ประเทศอังกฤษ ซึ่งเป็นการตัดสินใจที่ง่ายมาก เพราะเป็นสิ่งที่ชอบและในชีวิตเราก็ไม่ได้สนใจเรื่องอื่นเท่าเรื่องนี้แล้ว”
เมื่อเรียนจบเธอกลับมาก็เลือกทำงานในสำนักพิมพ์ a book ทันที ทั้งๆ ที่เป็นช่วงเวลาที่วงการสิ่งพิมพ์ถูกตั้งคำถามถึงความอยู่รอด จึงเป็นเรื่องน่ารู้ว่าในมุมมองของคนทำงานสิ่งพิมพ์อย่างเธอ มองเห็นชีวิตตัวเองที่ต้องเผชิญหน้ากับความท้าทายใหม่ๆ และการเปลี่ยนแปลงอย่างไรบ้าง
“เวลาถูกถามว่าไม่กลัวหรอ ใครๆ ก็พูดว่าสิ่งพิมพ์กำลังจะตาย เราไม่ได้รู้สึกหวั่นใจขนาดนั้น ส่วนหนึ่งอาจเป็นเพราะได้ยินจนชิน (หัวเราะ) แล้วเราก็ไม่ได้มองว่าการทำหนังสือเป็นแค่การขายของเท่านั้น เราทำเพราะเชื่อในคุณค่าของมัน เลยยังรู้สึกว่าต้องยังมีคนที่เชื่อในสิ่งเดียวกับเรา คนที่ยังรอสิ่งที่เราทำอยู่ และไม่เคยหวาดกลัวการเปลี่ยนแปลง นานแล้วเหมือนกันนะที่ใครๆ ก็พูดว่า ‘สิ่งพิมพ์กำลังจะตาย’ ก็ไม่รู้เหมือนกันว่ากำลังจะตายนี่กินเวลาแค่ไหน คงต้องดูกันไปเรื่อยๆ แต่สุดท้ายทุกอย่างก็คงต้องเปลี่ยนแปลง ต่างกันแค่จะช้าหรือเร็ว ไปในทางดีหรือแย่แค่นั้นเอง
“เราไม่เคยกลัวการเปลี่ยนแปลง แต่เรากลัวการไม่ยอมเปลี่ยนแปลงมากกว่า เราเชื่อว่าคนเรามีทางไปของตัวเองเสมอ เราเป็นคนเชื่อมั่นในสัญชาตญาณตัวเอง เวลาจะทำอะไรเราจะคิดถึงอยู่สองข้อ หนึ่งคือเราทำในสิ่งที่ไม่ได้ต่อต้านสัญชาตญาณของตัวเอง สองคือไม่ใช่เรื่องผิดบาป ชีวิตไม่ได้โรยด้วยกลีบกุหลาบอยู่แล้ว ก็ต้องมีทั้งช่วงเวลาที่สนุก และยากลำบาก ซึ่งเป็นเรื่องปกติของชีวิต
“แต่ก่อนเป็นคนโลกสวยมาก เพราะชอบอ่านหนังสือฟีลกู๊ดมากๆ เท่านั้น เพื่อให้ตัวเองรู้สึกดี แต่พอได้อ่านงานเขียนหลากหลายมากขึ้น กลายเป็นว่าตอนนี้ชอบอ่านหนังสือดาร์กๆ พวกนิยายดิสโทเปีย แล้วจะรู้สึกดี เพราะจะคิดว่าอย่างน้อยชีวิตตอนนี้ดีกว่าในนิยายที่อ่านอยู่ ดีที่ชีวิตเราไม่เป็นแบบนั้น กลายเป็นคนมองโลกตามความเป็นจริงมากขึ้น มองโลกในแบบที่เป็น ไม่เพ้อฝันเหมือนแต่ก่อน อีกอย่างมันทำให้เราชอบคิด worst-case scenario หรือคิดถึงเรื่องแย่ที่สุดที่อาจเกิดขึ้นได้ไว้ก่อน ถ้า… จะทำ… แต่คนส่วนใหญ่จะบ่นว่าคิดอะไร ทำไมมองโลกแง่ร้าย แต่นี่แหละคือการเตรียมพร้อมและตั้งรับอย่างหนึ่ง เพราะในหัวเราจะคิดหาวิธีแก้ไขทันที ซึ่งก็มีโอกาสสิ่งที่เกิดขึ้นได้จริงๆ ไม่ใช่เหรอ”
Books: Reading Makes a Full Man
ฟรานซิส เบคอน นักปรัชญาชาวอังกฤษ รัฐบุรุษ นักวิทยาศาสตร์ นักเขียน ผู้ทรงอิทธิพลทางความคิดในด้านต่างๆ เคยกล่าวไว้ว่า ‘การอ่านทำให้เป็นมนุษย์ที่สมบูรณ์’ แต่สำหรับมีนไม่ใช่แค่การอ่านเท่านั้นที่ช่วยเติมเต็มเธอ เพราะในฐานะคนทำหนังสือ สิ่งสำคัญที่ช่วยทำให้หัวใจฟองฟูอาจเป็นความรู้สึกเล็กๆ ของผู้อ่านที่เปลี่ยนแปลงไปหลังได้อ่านหนังสือที่เธอตั้งใจทำ
“ถ้าหนังสือที่เราทำออกมา ทำให้คนอ่านรู้สึกดี ไม่ต้องถึงกับเป็นหนังสือเปลี่ยนชีวิตหรอก นี่แหละคือจุดมุ่งหมายของคนทำหนังสือ มีคนถามเราว่าผลิตหนังสือแล้วคาดหวังอะไร เรารู้สึกว่าหนังสือต้องช่วยให้เราได้เติบโตข้างในในแง่มุมที่แตกต่างกันไป อาจมีความรู้มากขึ้น ได้ความบันเทิง จรรโลงใจ แต่สำคัญคือช่วยหล่อหลอมเราเรื่องการมองโลกการมีทัศนคติหรือมุมมองบางอย่าง การอ่านคืออ่านสิ่งที่คนอื่นคิดและเขียนออกมา มันคือการเรียนรู้คนอื่น แล้วการทำหนังสือทำให้คนเราเรียนรู้กันและกัน สุดท้ายการอ่านหนังสือจะทำให้ทุกคนได้เติบโต หนังสือทุกเล่มที่ได้อ่านทำให้เราเป็นเราในวันนี้ เข้าใจโลกอย่างที่โลกเป็น เข้าใจคนอื่นมากขึ้น”
แต่สำหรับ To Read or Not to Read, That Is My Question ล่ะ เราถามเธอถึงความรู้สึกแรกที่เกิดขึ้นหลังอ่านหนังสือที่เธอเป็นคนแปลจบลง “ความรู้สึกแรกคือเซอร์ไพรส์กับผลงานนี้มาก เพราะเป็นการตีแผ่ประเด็นเรื่องการอ่านหรือไม่อ่านหนังสือของคนสมัยนี้ซึ่งเข้ากับสถานการณ์การอ่านที่เป็นอยู่ และเป็นผลงานที่แหวกแนวไปจากความเหงาเศร้าด้วย ทำให้เราเห็น จิมมี่ เลี่ยวในอีกมุมเลยซึ่งแสบมากด้วยการวิพากษ์วิจารณ์คำพูดคมๆ เกี่ยวกับการอ่านของนักเขียนแต่ละคน และเสียดสีค่านิยมที่บอกว่าการอ่านคืออะไร และควรต้องทำยังไง ทำให้เรากลับมาคิดว่าเออจริง ทำไมเราต้องยึดติดกับว่าการหาความรู้ต้องมาจากการอ่านหนังสืออย่างเดียว และไม่จำเป็นต้องเป็นหนังสือกระดาษเท่านั้นด้วย อย่างในเล่มจะมีประโยคหนึ่งที่พูดว่า ‘เกมและการผจญภัยก็เป็นหนทางในการเรียนรู้โลกเหมือนกัน’
“ที่สำคัญในฐานะที่เราเป็นคนอ่านและทำหนังสือ To Read or Not to Read, That Is My Question มันทำให้เราเข้าใจมุมมองของคนที่ไม่อ่านอย่างไม่ตัดสินว่าระหว่างคนอ่านกับคนไม่อ่านหนังสือใครดีกว่ากัน เพราะสุดท้าย จิมมี่ เลี่ยว บอกกับเราว่า ถึงคุณไม่อ่านหนังสือคุณก็ไม่ได้ผิดอะไร แต่ละคนมีวิธีการเรียนรู้ได้ในหลากหลายวิธี ไม่ใช่แค่จากการอ่านหนังสือเท่านั้น แสดงถึงความใจกว้างมากๆ ดังนั้น การอ่านจึงไม่ใช่แค่การซึมซับตัวหนังสือ แต่เป็นการซึมซับข้อมูลหรือความรู้สึกแบบไหนก็ได้ อย่างอ่านโลก ก็ไม่ได้หมายความว่าเราจะต้องเรียนรู้โลกจากการอ่านหนังสือเท่านั้น ใช่ไหม”
To Read or Not to Read, That Is My Question หากโลกนี้ไม่มีหนังสือ
หนังสือภาพเล่มใหม่จาก จิมมี่ เลี่ยว ซึ่งเปิดเรื่องด้วยสถานการณ์คนอ่านหนังสือน้อยจนร้านหนังสือต้องปิดกิจการในปัจจุบัน ทว่าเขาถ่ายทอดเหตุการณ์นี้ผ่านสายตาเด็กชายลูกเจ้าของร้าน ผู้ขี้เกียจช่วยพ่อจัดชั้นหนังสือ แต่พอเห็นพ่อเศร้าใจ เขาจึงนัดแนะเพื่อนฝูงมารวมตัวเพื่อช่วยกันตอบคำถามเรียบง่ายแต่แสนยิ่งใหญ่ว่า ‘ทำไมเราถึงไม่อ่านหนังสือกันอีกแล้ว?’ พร้อมนำเสนอผ่านคำคมของนักเขียนผู้ยิ่งใหญ่ทุกยุคสมัย ความเหนือชั้นของหนังสือเล่มนี้คือเนื้อหาสะกิดใจให้คิดอย่างจริงจังว่าสุดท้ายการอ่านสำคัญขนาดไหนกันแน่
สั่งซื้อได้ที่ https://godaypoets.com/product/to-read-or-not-to-read
อ่านการตามหาพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของนักเขียน/นักแปล สำนักพิมพ์ a book เรื่องอื่นๆ ได้ที่
– ฟาน.ปีติ | ตามอลิซในดินแดนแห่งความเป็นจริง เพื่อค้นหาที่พักใจและทำให้ชีวิตมีชีวา
– ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ | ทอม แฮงก์ส เรื่องสั้น งานแปล และบาร์ดีๆ ให้ใจได้ชื่นฉ่ำ
– ชนัญญา เตชจักรเสมา | พาตัวเองออกไปอยู่ในที่ที่แตกต่าง แล้วจะค้นพบค่าของสิ่งที่คุ้นเคย