point of view

ชนัญญา เตชจักรเสมา | พาตัวเองออกไปอยู่ในที่ที่แตกต่าง แล้วจะค้นพบค่าของสิ่งที่คุ้นเคย

“ตอนเหนื่อยๆ เจอแต่เรื่องอะไรก็ไม่รู้ถาโถมเข้ามา คุณหลบ ไปพักใจที่ไหน”

เรากำคำถามนี้ไปถาม ‘วิว’ – ชนัญญา เตชจักรเสมา หญิงสาวสายฟรีแลนซ์ที่มีงานรัดตัวแทบตลอดเวลา เธอเป็นทั้งเจ้าของแชนเนลยูทูบ Point of View ที่มีผู้ติดตามกว่า 7 แสนคน เป็นเจ้าของเพจเฟซบุ๊ก อินสตาแกรม และทวิตเตอร์ รวมทั้งล่าสุดกับการออกหนังสือ วรรณคดีไดเจสต์ แบบ Limited Edition ที่เธอวาดรูปประกอบใหม่เองทั้งเล่ม

     หลังจากคิดทบทวนคำถามของเราอยู่นาน เธอตัดสินใจบอกเราว่า “ไม่มี” เพราะที่พักใจของเธอนั้นไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นการย้ายตัวเองจากที่หนึ่งไปสู่อีกที่หนึ่งซึ่งสร้างความสบายใจ เปิดโอกาสให้สมองได้โลดแล่นไปกับความตื่นเต้น หรือบางทีก็สร้างความสงบทางอารมณ์ จนสามารถกลับมาเผชิญปัญหาที่เกิดขึ้นได้อย่างแข็งแกร่ง โดยเธอบอกความลับกับเราว่า ส่วนใหญ่แล้วสภาวะนี้จะเกิดเมื่อได้ออกเดินทางไปต่างประเทศ

      ในคืนที่เธอกำลังจะบินไปประเทศญี่ปุ่น เราตามไปส่งสาวคนเก่งคนนี้ถึงสนามบิน และถือโอกาสชวนเธอคุยเรื่องชีวิตการทำงาน ปัญหา อุปสรรค และการออกตามหาที่พักใจในต่างแดนในแบบฉบับของเธอ

 

point of view

 

     “เราเชื่อว่าทุกคนเคยมีช่วงเวลาที่บั่นทอนกับการทำงาน แต่ก็ต้องยอมรับว่าเวลาทำงานอะไรก็ตามมันมีปัญหาอยู่แล้ว ยิ่งเราเป็นฟรีแลนซ์และไม่มีทีมประจำที่จะไปปรึกษาได้ งานทั้งหมดเข้ามาที่เราคนเดียว เพราะฉะนั้น ความกดดันค่อนข้างสูง”

      ในช่วงเวลาที่ผ่านมา เราได้เห็นการคอมเมนต์ที่รุนแรงผ่านทางโซเชียลฯ หลายต่อหลายครั้ง และช่องของเธอก็เป็นหนึ่งในนั้น จนอดถามออกไปไม่ได้ว่าจริงๆ แล้วนั่นเป็นปัญหาใหญ่ที่เธอต้องเผชิญหรือเปล่า

     “ปัญหาส่วนใหญ่คือเรื่องคน ไม่ใช่แค่คอมเมนต์อย่างเดียวนะ แต่มันเกิดจากการที่เราเองเป็นคนที่พยายามทำความเข้าใจทุกอย่าง คิดอะไรค่อนข้างเป็นเหตุผล คือพอมีปัญหาอะไรเราจะเอาเหตุผลขึ้นก่อนว่าทำไมคนคนนี้ถึงบอกเราแบบนี้ เขาอารมณ์ไม่ดีเพราะทะเลาะกับแม่มาหรือเปล่า โดนหัวหน้าโกรธมาไหม ซึ่งพอเรารู้แล้วว่าปัญหาเกิดจากอะไรก็จะจบได้ แต่บางทีที่เราคิดไม่ออก หาต้นตอไม่ได้ อารมณ์จะเข้ามาทันทีเลย ทำไมเขาทำแบบนั้น เราทำผิดอะไร แล้วเราจะเหนื่อยมากเพราะเราหาเหตุผลไม่ได้เลย หรือบางทีก็โกรธตัวเองว่า รู้ว่ารับงานนี้มาแล้วจะเหนื่อย แล้วรับทำไม ตอนนั้นคิดอะไรอยู่ พอหาเหตุผลให้ตัวเองไม่ได้ก็จะเหนื่อย”

 

เอาปัญหาออกจากตัวเอง / เอาตัวเองออกจากปัญหา

     วิวเล่าว่า เวลาเธอเหนื่อยหรือท้อใจ เธอจะมีวิธีคิดอยู่ 2 อย่าง หนึ่งคือการเอาปัญหาออกจากตัวเอง และการเอาตัวเองออกจากปัญหา พอเห็นเราขมวดคิ้วด้วยความสงสัย เธอก็รีบอธิบายต่อทันที

     “อย่างแรกเราต้องดูก่อนว่า ตอนที่เหนื่อยนั้นเราอยู่ในสภาวะที่เหนื่อยได้หรือเปล่า คือถ้าเราเหนื่อย แต่เดดไลน์มันใกล้เข้ามาแล้ว แสดงว่าเราเหนื่อยไม่ได้ ต้องทำงานต่อ และตัดความรู้สึกส่วนตัวออกให้หมด เพราะไฟลนก้นแล้ว เราจะไม่นึกถึงอะไรเลยนอกจากทำให้เสร็จ แต่ปัญหาของการทำแบบนี้คือ เมื่อเรายกก้อนงานที่ทำเสร็จแล้วออกไป เหมือนเราใช้พลังงานชีวิตของอีกหนึ่งเดือนข้างหน้าไปกับการอัดงานในอาทิตย์นี้ เราก็จะเหนื่อยหนักกว่าเดิมหลายเท่าเลย แล้วก็จะทรุด

     “กับวิธีที่สองคือ ถ้ามันเป็นเดดไลน์ที่ไม่เร่งมาก เราก็จะไปหาวิธีพักก่อน เพื่อออกจากปัญหาและความเหนื่อยล้าตรงนั้นไปสักพักหนึ่ง เพราะตอนไหนที่เรามีปัญหาเยอะๆ เราก็จะคิดแต่ปัญหาจนสมองไม่ถูกเอาไปใช้ในการคิดงาน เราจึงจะเอาตัวเองออกไปจากตรงนั้น ด้วยวิธีใดๆ ก็ตาม ถ้ามีเวลาพอก็อาจเดินทางท่องเที่ยว หนีไปต่างประเทศบ้าง ในไทยบ้าง วันเดย์ทริปก็ได้ แค่เอาตัวเองออกไปจากสภาพแวดล้อมที่คุ้นชิน แต่ถ้าเวลาไม่พอจริงๆ เราจะไปเที่ยวโดยใช้จินตนาการ เช่น ดูหนัง ดูละคร อ่านหนังสือนิยาย

     “การได้เอาตัวเองออกไปจากปัญหา สามารถช่วยให้เราได้เคลียร์สมองตัวเอง รู้สึกว่าปัญหาเบาบางลง คือเวลาที่เราจมอยู่กับปัญหานานๆ เกิดความเครียดหรือกดดันมากๆ จะทำให้รู้สึกว่าปัญหาใหญ่กว่าความเป็นจริง ซึ่งถ้าเราพาตัวเองออกมาจากจุดนั้นจะเห็นว่า เฮ้ย ปัญหาก็ไม่ได้ใหญ่ขนาดนั้น พอกลับมาแล้วเราก็แก้ได้”

 

point of view

 

วิวจากหน้าต่างเครื่องบิน

     เวลาไปต่างประเทศ วิวมักจะไปแต่ที่เดิมซ้ำๆ เช่น อังกฤษและญี่ปุ่น แม้ว่าบางครั้งเธอจะอยากลองไปที่อื่นบ้าง แต่สุดท้ายก็มักมาลงเอยที่สองประเทศนี้ทุกที

     “จริงๆ อยากไปที่อื่นเหมือนกัน แต่บางทีการไปประเทศใหม่ๆ คือการผจญภัย ไปเจอความตื่นเต้น น่าสนใจ แต่ปัญหาคือมันเหนื่อยและต้องเตรียมตัวค่อนข้างเยอะ เลยชอบไปที่เดิมมากกว่า อย่างปีที่แล้วไปอังกฤษมา 2 รอบ ทั้งทำงานและไปพักด้วย อยู่ค่อนข้างนาน จึงถือว่าได้พักผ่อนจิตใจอยู่ในอีกโลกหนึ่งเลย

     “อังกฤษเป็นประเทศที่เราไปแล้วสบายใจมาก อาจเป็นเพราะเราสนใจวัฒนธรรมที่นั่นอยู่แล้วเป็นทุนเดิม” เธอหลงใหลนวนิยาย แฮรี พอตเตอร์ มากพอๆ กับติดใจในศิลปวัฒนธรรมแบบอังกฤษ ละครเวที พิพิธภัณฑ์ “เพราะฉะนั้นเวลาอยู่ในลอนดอนเราจะเดินเล่นคนเดียวได้ทั้งวันทั้งคืน เดินออกจากบ้านตั้งแต่แปดโมงเช้า กลับบ้านห้าทุ่ม (หัวเราะ) ทั้งๆ ที่อยู่เมืองไทยจะเป็นคนขี้เกียจเดินมากเลย นิดเดียวก็เรียกมอเตอร์ไซค์วินแล้ว แต่ที่นั่นเราจะเดินดูนู่นนี่ไปเรื่อยๆ หรือบางทีก็ไปนั่งเฉยๆ อยู่ข้างแม่น้ำ ไปดูสะพาน หรือแค่ไปนั่งเล่นมองเมฆ มองหญ้าในสวน Greenwich แค่นี้ก็มีความสุขแล้ว”

     การเดินทางคนเดียวในต่างแดน ยังทำให้เธอค้นพบมิตรภาพใหม่ๆ จากคนแปลกหน้าที่บังเอิญเจอกัน พร้อมกับหลุดจากคอมฟอร์ตโซนเก่าๆ ที่เธอคุ้นเคยด้วย

     “ปกติเราจะไม่คุยกับคนแปลกหน้าเลยนะ เพราะไม่รู้จะคุยไปทำไม แต่การอยู่ต่างประเทศคนเดียวมันทำให้เราตกอยู่ในสภาพที่พร้อมเปิดรับทุกสิ่งอย่าง คุยกับใครก็ได้ อยู่กับใครก็ได้ อย่างอยู่เมืองไทย เพื่อนที่รู้จักกันมา 3-4 ปี ชวนไปบ้านยังไม่ไปเลย แต่อยู่ที่นั่นเราเจอเพื่อนของเพื่อนแค่วันเดียว วันต่อไปเขาชวนไปปาร์ตี้ที่บ้านเขาเราก็ไปนะ” เธอหัวเราะเสียงดังกับประสบการณ์ตลกๆ ในต่างแดนของเธอ

     วิวเล่ามุมมองที่น่าสนใจว่า การไปพักผ่อนหัวใจที่ต่างแดนนั้นไม่ใช่การย้ายไปอยู่ แต่เป็นการไปเที่ยวชั่วคราวประมาณ 2-3 สัปดาห์ เพราะยังเป็นช่วงเวลาที่เรายังตื่นเต้นกับการเจอสิ่งใหม่ๆ ถ้าอยู่นานกว่านั้น เราจะกลายเป็นคนโลคอลที่ต้องเจอกับปัญหาในการอยู่อาศัยที่นั่นอยู่ดี

     “เหมือนเราแค่เอาตัวเองออกจากที่ที่คุ้นเคยไปเจอความตื่นเต้น ทุกอย่างสวยไปหมด ในขณะที่เวลาเราอยู่ที่บ้าน เราเจออะไรเดิมๆ ที่เห็นทุกวันจนอาจไม่ได้ใส่ใจกับมันขนาดนั้นแล้วก็ได้”

 

point of view

 

ที่ที่เป็นของเรา

     “การไปต่างประเทศบ่อยๆ ของเราไม่ได้เกิดจากความรู้สึกไม่ belong กับไทยนะ จริงแล้วๆ เรารู้สึกว่าเรา belong กับที่นี่มาก อย่างเวลาไปเที่ยวญี่ปุ่น 6 วัน พอวันที่ 4 ก็เริ่มอยากกลับกรุงเทพฯ แล้ว อยากกลับบ้าน คิดถึงเตียงตัวเอง แม้ว่าเราสนุกที่ไปรับประสบการณ์ใหม่ๆ แต่สุดท้ายแล้วไม่มีที่ไหนที่รู้สึกเหมือนบ้านตัวเอง มันแค่เป็นความรู้สึกที่เราออกไปจากสิ่งที่เราคุ้นเคย แล้วจะได้เห็นค่ากับสิ่งที่เราคุ้นเคยมากขึ้น”

     เราตัดสินใจถามเธอออกไปว่าจริงๆ แล้ว ในฐานะยูทูเบอร์ การย้ายตัวเองไปต่างประเทศชั่วครั้งชั่วคราว จะช่วยให้เธอได้หลีกหนีออกจากผู้คนมากมายที่คอยตัดสิน รวมทั้งเสียงวิพากษ์วิจารณ์จากคนในโซเชียลฯ หรือไม่ แต่เธอรีบตอบทันทีเลยว่า

     “ไม่เลย เราเคยคิดนะว่าการไปเมืองนอกจะทำให้เราได้ออกไปจากที่ที่คนรู้จักเราหรือตัดสินเรา แต่ไม่จริงหรอก เราเดินอยู่ในลอนดอนหรือญี่ปุ่นก็ยังมีคนทักเราอยู่ แล้วตอนนี้อินเทอร์เน็ตก็ globalize ทุกอย่างแล้ว ไม่ได้เป็นเหมือนหนังเรื่อง กวน มึน โฮ ที่อยู่เมืองนอก ไม่มีใครรู้จัก แล้วเราจะทำอะไรก็ได้

     “เอาจริงๆ สมมติว่าคนไทยคนหนึ่งไปต่างประเทศแล้วคิดว่าอยู่ที่นั่นทำอะไรก็ได้เพราะไม่มีใครรู้จัก แต่สุดท้ายเขาก็แบกชื่อประเทศไทยไปอยู่ดี สุดท้ายการที่เรายังอยู่ในโลก ในสังคม เราก็ยังส่งผลกระทบต่ออะไรบางอย่างเสมอ ทั้งกับตัวเอง ประเทศเรา หรือโดนเหยียดทั้งเอเชียเพราะคนเอเชียคนเดียว

     “ทุกวันนี้เวลาอยู่ประเทศไทยเราไม่ได้พยายามแสดงเป็นคนอื่น ที่เราเป็นคือตัวเราจริงๆ ซึ่งก็ต้องยอมรับให้ได้ว่ายังไงก็มีคนตัดสิน ต่อให้เราจะแสร้งว่าเราจะเป็นคนดีขนาดไหนก็ตาม ดังนั้น เราก็เป็นตัวเองไปแหละ และพยายามทำตัวเองให้ดี

     “ในที่นี้ไม่ได้หมายความว่าพยายามแสดงออกว่าเราเป็นคนดี แต่พยายามเปลี่ยนข้างในตัวเองให้เป็นคนดี ถ้าเราทำอะไรบางอย่างแล้วคนไม่ชอบ เราก็จะพยายามปรับข้างในเราว่าทำไมถึงไม่ควรทำ ซึ่งพอมายด์เซตเราเปลี่ยน ต่อให้เราไปอยู่ในที่ที่คนไม่รู้จัก เราก็ยังเป็นคนๆ นั้นอยู่ดี เอาจริงๆ อยู่ที่นั่นหรือที่นี่เราก็ไม่ได้เป็นคนที่ต่างกันเลย”

 

point of view

 

ที่ที่ใจได้พัก

     “สำหรับส่วนตัวเรา ที่พักใจที่ไม่ต้องแคร์โลกอะไรเลย ไม่มี แม้แต่ในบ้านของตัวเอง ที่พักใจจริงๆ อยู่ที่ใจเรามากกว่า ที่พักใจ แปลว่าที่ที่ทำให้ใจได้พัก คำว่าพักไม่ได้แปลว่าปลดปล่อย ไม่ได้หมายถึงการทำอะไรร้ายแรง รุนแรง หรือแปลกประหลาดจนคนอื่นเห็นไม่ได้ คำว่าพักก็คือคำว่าพัก อย่างการไปเมืองนอก มันไม่ใช่เราไปแล้วได้ปลดปล่อยทุกอย่าง แต่ถามว่าได้พักไหม เราได้พัก เพราะเราได้ดูอะไรสวยๆ งามๆ ทำให้ใจเราสงบขึ้นและตื่นเต้นกับสิ่งใหม่ๆ คนเรามีการพักที่ไม่เหมือนกัน เราไม่จำเป็นต้องแหกปากโวยวาย พูดคำหยาบ อาละวาด หรือทำตัวหลุดจากกรอบของการเป็นคนดีเพื่อได้พัก เราสามารถพักแต่ยังอยู่ในความดีงามของมาตรฐานสังคมได้

     “ที่พักใจของเราอาจจะไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นสภาวะที่เรารู้ว่าอยู่ตรงนี้แล้วไม่โอเค จะเอาตัวเองหนีไปอยู่ตรงไหนดีที่เราสบายใจที่สุด บางครั้งการอยู่ในห้องนอนทำให้เราสบายใจที่สุด แต่บางครั้งก็ทำให้เราทุกข์ใจที่สุดเพราะเราเก็บปัญหาไว้กับตัวเอง เราอาจโทร.สั่งอาหารแล้วเรียกเพื่อน 3-4 คนมานั่งกินด้วยกัน ซึ่งตอนนั้นเพื่อนก็อาจเป็นที่พักใจของเราได้ เพราะฉะนั้น ที่พักใจไม่ใช่สถานที่ แต่เป็นอะไรก็ได้ที่เหมาะสมกับสภาพจิตใจของเราที่สุด

     “เหมือนการฟังเพลงเลย ถ้าถามว่าเหนื่อยแล้วฟังเพลงอะไรเราตอบไม่ได้ เพราะถ้าเหนื่อยจากงานเราต้องฟังเพลงหนึ่ง เหนื่อยเพราะอกหักต้องฟังอีกเพลงหนึ่ง หรือถ้าเหนื่อยเพราะออกกำลังกายก็ต้องฟังอีกเพลงหนึ่ง มันไม่เหมือนกัน”

     เราพยักหน้าเห็นด้วย พร้อมกับถามเธอต่อว่า แล้วถ้าเราพักไปสักระยะหนึ่งแล้ว จะรู้ได้อย่างไรว่าตอนนี้พอแล้ว หัวใจฉันพร้อมกับมาเผชิญกับปัญหาอีกครั้งได้แล้ว

     “เราคิดว่าด้วยความที่เป็นเรื่องของหัวใจ เราไม่รู้หรอกว่าร้อยเปอร์เซ็นต์อยู่ตรงไหน ที่ผ่านมาเราไม่คิดว่าเราเคยชาร์จพลังใจจนเต็ม เพราะมีอะไรหลายอย่างดึงให้กลับมาเสมอ อยู่ที่เราอนุญาตตัวเองให้พักแค่ไหน แล้วก็มีความรับผิดชอบที่จะดึงตัวเองกลับมาแค่ไหนต่างหาก”

 

point of view

 

เนิร์ดแต่สนุก

     เธอพูดย้อนไปถึงประเด็นที่คนพร้อมจะตัดสินเราเสมอ แม้ว่าจะอยู่ที่ไหนก็ตามว่าจริงๆ แล้ว ก็คล้ายๆ กับการเป็นเด็กเนิร์ดที่หลงใหลเรื่องประวัติศาสตร์และวรรณคดีไทย ซึ่งแน่นอนว่าตอนนั้นเด็กๆ เพื่อนร่วมห้องของเธอไม่เข้าใจและไม่อินไปกับเธอด้วย แต่เธอเชื่อเหลือเกินว่าคนเราเนิร์ดได้ แม้ถูกใครต่อใครตัดสินก็ตาม เพราะการเนิร์กไม่ใช่เรื่องผิด แถมยังเป็นเรื่องที่สนุกด้วย

     “นี่คือสิ่งที่เราต้องการบอกผ่านแชลเนลของเราตลอด เราเนิร์ดได้ ยิ่งถ้าเนิร์ดไปด้วยกันนะจะยิ่งสนุกมาก” แล้วความเนิร์ดสุดทางของเธอก็ถ่ายทอดออกมาเป็นคอนเทนต์ดีๆ ในหลายช่องทาง รวมทั้งหนังสือ วรรณคดีไทยไดเจสต์ เล่ม Limited Edition ที่เธอกำลังถืออยู่นี่เอง

     “เล่มลิมิเต็ดนี้เราวาดภาพประกอบเองทั้งหมด เพราะมีคนบอกเราว่าเวลาอ่านหนังสือเล่มนี้แล้วเสียงของเรามันลอยออกมา (หัวเราะ) แต่พอดูภาพประกอบก็ไม่ค่อยเป็นเสียงของเราเท่าไหร่ ซึ่งจริงๆ ภาพประกอบที่ทำมาตอนแรกคือดีมากๆ อยู่แล้วนะ แต่แค่ไม่เข้ากับบุคลิกเราเท่านั้นเอง พอได้โอกาส เราเลยขอวาดรูปประกอบเองหมดเลย วรรณคดีไดเจสต์ เล่มนี้ จึงสะท้อนความเป็นตัวเราออกมาได้อย่างชัดเจนขึ้นมากๆ”

 

วรรณคดีไทยไดเจสต์ ฉบับ Limited Edition

     หนังสือว่าด้วยเรื่องราวแสบๆ แซ่บๆ ของวรรณคดีไทย ในแง่มุมสุดสนุกที่โรงเรียนไม่เคยสอน โดย ‘วิว’ – ชนัญญา เตชจักรเสมา หรือ Point of View ครั้งนี้กลับมาในฉบับลิมิเต็ดเอดิชัน พร้อมปกและภาพประกอบใหม่ในเล่ม วาดโดยฝีมือของวิวเองทั้งหมด

     งานนี้ถ้าใครติดใจลายเส้นน่ารักๆ ของเธอจากแชนแนลยูทูบก็ต้องซื้อไปครอบครองแล้วล่ะ เพราะแม้แต่วิวเองยังบอกกับเราว่าการวาดรูปประกอบเองทำให้หนังสือเล่มนี้สะท้อนความเป็น ‘ตัวเธอ’ มากขึ้นไปอีกหลายเท่า

 


อ่านการตามหาพื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ของนักเขียน/นักแปล สำนักพิมพ์ a book เรื่องอื่นๆ ได้ที่

     – ฟาน.ปีติ | ตามอลิซในดินแดนแห่งความเป็นจริง เพื่อค้นหาที่พักใจและทำให้ชีวิตมีชีวา

     – ภาณุ บุรุษรัตนพันธุ์ | ทอม แฮงก์ส เรื่องสั้น งานแปล และบาร์ดีๆ ให้ใจได้ชื่นฉ่ำ

     – วีรนาถ โชติพันธุ์ | หากโลกนี้ไม่มีหนังสือก็ไม่เป็นไร เพราะการอ่านจะอยู่คู่ทุกคนตลอดไป