พรพิมล ผู้พัฒน์

พรพิมล ผู้พัฒน์ | ออกแบบชีวิตให้ประสบความสำเร็จเพื่อคนที่เรารัก

แม้วิถีชีวิตและไลฟ์สไตล์ของคนยุคปัจจุบันจะเปลี่ยนไป แต่เงื่อนไขเรื่องการเงินยังคงเป็นส่วนสำคัญที่ทำให้เราต้องคำนึงถึงเสมอ เพราะชีวิตไม่ใช่แค่เรื่องของการทำงานหนักเพื่อหาเงิน เก็บเงิน และใช้มันทั้งหมดด้วยตัวเอง เมื่อถึงจุดหนึ่ง เราจะรับรู้ได้ว่าชีวิตเรายังเกี่ยวข้องและเชื่อมโยงกับครอบครัว คนที่เรารัก และคนที่เราต้องการดูแลอีกด้วย เพียงแต่น้อยคนที่จะตระหนักได้ถึงการวางแผนทางการเงินที่ถูกต้องและเหมาะสม เพื่อเตรียมพร้อมรับมือสำหรับเหตุการณ์ไม่คาดฝันในอนาคตที่อาจเกิดขึ้น

     “เรารู้สึกว่าการไม่มีเงินเหลือเก็บเป็นเรื่องหายนะมาก ในขณะที่คนอื่นอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรามองว่าอันตรายนะ แล้วยิ่งไม่เหลือให้ใครข้างหลังเลยมันยิ่งน่ากลัวมาก”

     ‘อ้อม’ – พรพิมล ผู้พัฒน์ สถาปนิกสาวคนเก่ง บอกกับเราในบางตอนของบทสนทนาที่ชี้ให้เราเข้าใจถึงความสำคัญของการเริ่มวางแผนการเงินตั้งแต่ยังอายุน้อย เธอเป็นสถาปนิกที่ประสบความสำเร็จสูงด้านรายได้ แต่เมื่อถึงจุดหนึ่ง เธอกลับตระหนักได้ว่าเธอไม่มีเวลาให้กับครอบครัวอย่างที่ควรจะเป็น ซึ่งนำไปสู่การวางแผนลงทุนการเงินกับธุรกิจใหม่ที่เธอเลือกเอง เพื่อนำพาชีวิตไปสู่ความมั่นคงทางการเงิน พร้อมเปิดโอกาสให้เธอได้มีอิสรภาพทั้งทางการเงิน และเวลาอย่างเหมาะสมเพื่อคนที่เธอรักได้ 

     เพราะคุณค่าของเงินไม่ได้อยู่ที่มูลค่า แต่ต้องทำให้เรามีเวลาที่จะดูแลคนที่เรารักได้ด้วย

 

พรพิมล ผู้พัฒน์

 

ชีวิตที่ทุ่มให้กับงานสถาปนิก

     เราทำงานเป็นสถาปนิกมาตั้งแต่เรียนจบ อย่างที่ทราบว่างานสถาปนิกค่อนข้างหนัก แต่ออฟฟิศเราก็ค่อนข้างยืดหยุ่นให้พอสมควร เพราะเขาอยากได้คนรุ่นใหม่ไปทำงาน ก็ไม่ได้จำเป็นว่าต้องเข้าออฟฟิศ แต่ยังไม่ถึงขนาด work from home เราทำมาประมาณ 8-9 ปี แล้ว จนปีที่แล้วเราตั้งใจจะลาออก เพราะเราคิดว่าอิ่มตัวแล้ว ธุรกิจอีกด้านก็มั่นคง เราอยู่ได้แล้ว เลยอยากอยู่บ้านดูแลพ่อแม่ ก็ตกลงกับเขาว่า เราขอเรื่องเวลา ไม่ต้องเพิ่มเงินเดือนก็ได้ แต่ทางออฟฟิศเขาก็อยากให้เราอยู่ต่อ

 

หารายได้พิเศษเพื่อท่องโลกกว้าง

     ตั้งแต่ตอนเรียนมหาวิทยาลัยเราอยากเดินทางท่องเที่ยว อยากไปเมืองนอก เราเรียนสถาปัตย์มาก็คิดว่าอยากไปเห็นตึกสวยๆ ของจริง ซึ่งบ้านเราก็ไม่ได้มีเงินเยอะ แต่ก็ไม่ถึงกับให้เราทำงานไปเรียนไป ค่าเทอมทางบ้านก็ยังให้อยู่ แต่ว่ารายได้พิเศษเขาไม่ได้ซัพพอร์ต ซึ่งเราก็คิดว่าเป็นความโชคดีนะ เขาไม่ได้ซัพพอร์ตก็จริง แต่เรามีความต้องการของเรา ก็ตัดสินใจทำงานหาเงินเอง หาได้หลักหมื่นบ้าง เจอลูกค้าโกงบ้าง ตอนนั้นเราคิดว่าเราเก๋าในมหาวิทยาลัยมาก ทำงานยังไงก็สำเร็จ แต่พอรับงานมาทำจริงปุ๊บ ลูกค้าเขาไม่ได้สนใจเลยนะ จะจบเกรด 4.00 มาก็ไม่สน เขาดูแค่งานก็คืองาน ไม่สนใจด้วยซ้ำว่าคุณทำงานหนักแค่ไหน สุดท้ายถ้าเขาจะไม่จ่ายก็คือไม่จ่าย เราเข้าใจเลย พอตอนปี 3 ก็เริ่มรู้สึกแล้วว่าจริงๆ มันยาก โลกไม่สวยแล้ว

 

พรพิมล ผู้พัฒน์

 

วิชาที่มหาวิทยาลัยไม่ได้สอน

     ด้วยความที่เราเป็นคนไทย บ้านเราจะไม่ค่อยได้แนะนำเรื่องการวางแผนการใช้เงินเท่าไร บ้านเราเป็นข้าราชการ บนโต๊ะกินข้าวก็จะไม่ได้คุยกันเรื่องนี้เลย เขาจะบอกเราให้ขยัน เข้ามหาวิทยาลัยที่ดีๆ ให้ได้ แต่โชคดีที่เราได้มารู้จักแอมเวย์ตอนสมัยเรียน ซึ่งโมเดลธุรกิจช่วยสอนเราทุกอย่าง สอนให้คิด เก็บเงินยังไง ลงทุนยังไง ซึ่งแตกต่างจากที่บ้านเราที่จะฝากทุกอย่างไว้กับการศึกษา เขาไว้ใจว่าเดี๋ยวมหาวิทยาลัยก็สอนเรื่องนี้ให้ลูก ซึ่งเอาเข้าจริงมหาวิทยาลัยก็ไม่ได้สอน ไม่มีวิชาการวางแผนชีวิตให้ เพื่อนเราที่เรียนบัญชี ก็ไม่ได้รับการสอนเรื่องการวางแผนการเงินส่วนบุคคล เราก็คิดว่าชีวิตเราจะยังไงดี ตอนนั้นเลยคิดแค่ว่า พยายามทำเยอะๆ เก็บเยอะๆ ไว้ก่อน เดี๋ยวก็เหลือ พอเหลือแล้วเดี๋ยวก็จะรวย

 

รายได้ที่ไม่ใช่แค่ตัวเอง แต่เผื่อถึงคนข้างหลัง

     พอเรียนจบแล้วเริ่มทำงานเราจะเริ่มคิดไกลขึ้น ไม่ได้คิดถึงแต่ตัวเองแล้ว คือถ้าเราไม่ได้คิดถึงใครมากมาย เดือนละหมื่นห้าคือก็อยู่ได้แล้วนะ เราอยู่บ้านด้วย รถก็อาจจะใช้ของพ่อแม่หรือรถประจำทาง แต่ในชีวิตจริงมันมีค่าใช้จ่ายมากกว่านั้น สุดท้ายมันไม่พอหรอก มันไม่มีเหลือเก็บ

     เรารู้สึกว่าการไม่มีเงินเหลือเก็บเป็นเรื่องหายนะมาก ในขณะที่คนอื่นอาจมองว่าเป็นเรื่องธรรมดา แต่เรามองว่าอันตรายนะ แล้วยิ่งไม่เหลือให้ใครข้างหลังเลยมันยิ่งน่ากลัวมาก ตอนเรียนเราได้เงินจากที่บ้านมาใช้แล้วเหลือด้วย แต่พอทำงานมาขนาดนี้เรากลับไม่มีเงินเหลือเลย ก็เลยเริ่มคิดบวกลบคูณหารการใช้จ่ายแต่ละเดือนประมาณเท่าไร ถ้าต้องหาเพิ่มต้องหาเท่าไร อย่างน้อยเราอยากให้พ่อแม่ไม่ต่ำกว่าตอนที่เขาให้เราสมัยเรียนหนังสือ

     จริงๆ เขาก็ไม่ได้เรียกร้องอะไรจากเรานะ เขาดุเราด้วยซ้ำว่าไม่ต้องเอามาให้หรอก (หัวเราะ) แต่เรารู้สึกว่ามันเป็นหน้าที่ อย่างน้อยให้ไว้แล้วไม่ใช้ก็ยังดีกว่า

     เราคิดเผื่อไปว่าเราเองยังอยากท่องเที่ยวเลย พ่อกับแม่ลึกๆ แล้วเขาก็คงน่าจะอยากเหมือนกัน แล้วเราต้องหาเท่าไรล่ะ ถึงจะสามารถไปแบบคูณสี่ พ่อ แม่ น้องสาว เราได้ ตอนนั้นก็คิดว่าต้องหาให้ได้อย่างน้อย 6 หลัก ถึงจะอยู่ในกรุงเทพฯ ได้ พอเริ่มที่อยากจะดูแลคนอื่นที่มากกว่าตัวเราเอง ก็เลยเริ่มซีเรียสกับเป้าหมายชีวิตที่มันมากขึ้น และคิดได้ว่าต้องโฟกัสกับธุรกิจอีกด้านนอกเหนือจากงานประจำให้มากขึ้นแล้ว ซึ่งเป็นสิ่งที่เราศึกษาและวิเคราะห์แล้วว่ามันให้อิสรภาพทางการเงินกับเวลาเราได้

 

โอกาสจากชีวิตที่ออกแบบได้และเปิดโอกาสให้ทำตามเป้าหมาย

     เราเชื่อว่าคนทุกวันนี้ไม่ได้ปฏิเสธการมีรายได้มากกว่าหนึ่งช่องทาง เดี๋ยวนี้การขายของออนไลน์เป็นเรื่องปกติมาก เทคโนโลยีก็ง่ายขึ้น การหาช่องทางเพิ่มรายได้ไม่ใช่เรื่องยากอีกต่อไปแล้ว คนไม่ได้มีปัญหากับการหารายได้เพิ่มหรอก แต่คนมีปัญหากับการที่ว่ารายได้อีกช่องทางนั้นต้องง่ายและเร็ว แถมยังต้องเท่ด้วย อาจเพราะเสพสื่อโซเชียลเยอะ ความอดทนในชีวิตก็ค่อนข้างต่ำลงเรื่อยๆ การแคร์สายตาคนอื่นที่จะมองยังไงก็หนักขึ้นเรื่อยๆ

     คนยุคนี้ทำงานหนักมาก ทุกคนมีต้นทุนเหมือนกัน เราใช้สื่อโซเชียลเหมือนกัน นอนดึกเหมือนกัน เพียงแต่ว่าสิ่งที่ทำให้คนไม่กล้าจะทำอะไรสักอย่างคือทัศนคติที่ว่า มันต้องง่ายสิ ฉันต้องชอบด้วย ถ้าไม่ชอบไม่ทำ แล้วต้องดูดีด้วย ทำเสร็จแล้วต้องดูด้วยว่าคนจะมองเรายังไง ซึ่งเราว่าเป็นคนส่วนใหญ่ด้วยที่คิดแบบนั้น และมันทำให้เขาไปได้ไม่ไกลเท่าที่เขาควรจะไป ทั้งที่ความรู้ ความสามารถ ความอดทน ความขยัน ไม่ได้ต่างกัน

พรพิมล ผู้พัฒน์

 

ตัดความชอบ โฟกัสที่เป้าหมาย

     ถ้าเราแคร์ตัวเอง เราก็จะเลือกทำแต่สิ่งที่ตัวเองชอบ ซึ่งไม่ผิดนะ ถ้าสิ่งที่คุณชอบมันสามารถสร้างรายได้ให้คุณได้ดีด้วย แต่สำหรับเรา วันที่เปลี่ยนชีวิตคือวันที่เราตัดสินใจปรับความคิดว่าจะไม่ทำแต่สิ่งที่ชอบเท่านั้น แต่เราปรับตัวแล้วออกแบบตัวเองให้เหมาะกับงานหรือธุรกิจอีกด้านที่ศึกษาแล้วว่ามันเปลี่ยนชีวิตเราได้ แล้วเราจะออกแบบวิธีการทำยังไงให้เหมาะกับเรา เป็นธุรกิจที่ต่างจากงานประจำอย่างการเป็นสถาปนิก

     เวลาเราคิดถึงสิ่งที่คนอื่นข้างนอกพูดถึงเราในทางไม่ดี หน้าพ่อกับแม่จะลอยเข้ามาทุกที แล้วมันเป็นสิ่งที่เหนือกว่าคำพูดเหล่านั้น เราจะนึกถึงวันที่เขาต้องเข้าโรงพยาบาล หรือเขาต้องการเวลาเร่งด่วนจากเรา เราให้เขาไม่ได้แน่นอน ถ้ายังใช้ชีวิตเหมือนคนอื่นๆ ที่เราแคร์

     พอโตขึ้นเรื่อยๆ ก็เริ่มรู้ว่าจริงๆ แล้วชาวบ้านไม่ได้สนใจเราหรอก ทุกคนก็สนใจแต่เรื่องตัวเองก่อนทั้งนั้นแหละ เราจะทำอะไรหรือไม่ทำอะไรอยู่ที่เราประสบผลสำเร็จไหม ถ้าเราทำได้ คำวิจารณ์ทุกอย่างมันจบเลย มีเพื่อนเราโดนคนดูถูก จบสถาปัตย์ไปเปิดร้านอาหาร แต่เขากลับมีแฟรนไชส์เป็นสิบสาขาเลย สิ่งเหล่านี้มันพิสูจน์ได้

 

คุณค่าของเงินไม่ใช่มูลค่า แต่คือการทำให้เรามีอิสระในการเลือก

     จริงๆ แล้วเราคิดว่าทำอาชีพอะไรก็ได้เงินเหมือนกัน แต่ว่าส่วนใหญ่เราต้องเอาเวลาไปแลกหมด เมื่อก่อนตอนทำงานสถาปนิกอย่างเดียว ถ้าอยากมีรายได้เป็นแสนเราต้องอยู่กับงานแทบจะ 24 ชั่วโมง ต้องอยู่กับลูกค้า ตอนอายุยังน้อยก็โอเคนะ แต่ถ้าเราอายุ 35 หรือ 40 แล้วยังต้องทำแบบนี้ เราจะไม่ได้ลืมหูลืมตา แล้วก็ไม่ได้ดูแลใครเลย คือมีเงินก็จริง แต่พ่อแม่นี่แทบจะไม่ได้เจอกันเลย พอโตขึ้นเราเลยเป็นคนหวงเวลามากกว่า เพราะเราเอาเวลาไปแลกเงินได้ แต่เราเอาเงินซื้อเวลากลับมาไม่ได้ หลายคนก็เป็นแบบนี้ ยิ่งประสบความสำเร็จก็ยิ่งต้องการเวลา ดังนั้น การที่เราสามารถสร้างธุรกิจอะไรบางอย่างของตัวเองที่นอกเหนือจากงานประจำขึ้นมาแล้วสามารถทำให้มันมีรายได้เลี้ยงเราได้ ดูแลครอบครัวได้ แถมยังทำให้เรามีอิสรภาพในเรื่องเวลาอีกจึงสำคัญมาก

 

พรพิมล ผู้พัฒน์

 

เคล็ดลับคือวางแผนการเงินตั้งแต่ยังอายุน้อย

     ถ้าเราไม่ได้วางแผนการเงินตั้งแต่ตอนเป็นวัยรุ่น มันจะสวนทางกับชีวิตพ่อแม่นะ คือเรากับพ่อแม่อายุห่างกันประมาณยี่สิบสามสิบปี ช่วงวัยที่เราพีกจะเป็นช่วงพักของเขา แล้วตอนเรายิ่งพีกก็จะเป็นช่วงที่เขาต้องการเวลาจากเรามากที่สุด เพราะฉะนั้น ถ้าเราไม่วางแผนตั้งแต่ตอนนี้ แต่วางแผนเหมือนคนทั่วๆ ไป บางทีอาจจะลำบาก เราเห็นอาม่าเสีย คุณพ่อเราเพิ่งตั้งตัวได้ แล้วเรามาลองนั่งคิดบวกลบไปอีกสามสิบปี อีกหน่อยเราก็ต้องเจอเหมือนกัน พ่อเจ็ดสิบ เราสี่สิบ เราสี่สิบแล้วถ้าไม่ได้สร้างอะไรไว้ตั้งแต่ยี่สิบต้นๆ ลำบากนะ สี่สิบเป็นช่วงที่เรากำลังต้องปั๊มเงิน ผ่อนบ้าน มีลูก กำลังวุ่นวายเลย ในขณะที่พ่อแม่อยู่ในช่วงที่ต้องการทั้งเวลา ทั้งการดูแลจากเรา เขาจะกลับไปเป็นเด็กอีกครั้ง สุขภาพก็ร่วงโรย

 

หาเครื่องมือที่ถูกต้องเพื่อพาไปสู่เป้าหมาย

     ช่วงยี่สิบต้นๆ จนถึงก่อนสามสิบเป็นช่วงที่วัดเลยว่า ถ้าเราบังเอิญได้เจอโอกาสจากเครื่องมือที่ดีแล้วเราปราศจากอคติ ไม่ต้องแคร์ว่าใครจะพูดจะคิดจะทำกับเรายังไง ตัดเรื่องความชอบไม่ชอบออกไป แล้วเราทำอะไรบางอย่างในช่วงชีวิตประมาณนี้ให้เสร็จก่อนสัก 35 ปี เราว่าถ้าโอกาสนั้นมันใช่ มันจะทำให้สุดท้ายแล้วชีวิตเราไม่รู้สึกผิด แล้วเราโชคดีที่เจอโอกาสกับเครื่องมือนั้นเร็ว

     ตอนนั้นก็มีคนบอกเหมือนกันว่าให้เรียนอย่างเดียว เพื่อนก็บอกว่าเราหายไปจากสังคมเลย แต่เราก็ไม่ได้ถึงขนาดนั้นนะ เราแค่แบ่งเวลาไปทำสิ่งอื่นที่เราคิดและวางแผนไว้ว่าพอเวลาอายุสามสิบมาถึงเราจะไม่เสียใจที่ทำแบบนี้ จริงๆ ตอนนั้นเราก็หวั่นไหวเหมือนกัน ในขณะที่เพื่อนมีไลฟ์สไตล์ที่สบาย เรากลับต้องเดินสายไปนั่นไปนี่ สร้างธุรกิจ ขยายธุรกิจ เจอคน เจอคำปฏิเสธ แต่ทุกวันนี้ ผ่านไป 7-8 ปี คือเราสำเร็จแล้วจริงๆ ซึ่งเพื่อนหลายคนกลับกำลังเพิ่งเริ่มชีวิตอีกฉากหนึ่ง เราเลยคิดได้ว่าเราโชคดีที่ได้เอาเรื่องบางอย่างมาทำก่อนเขา แล้วย่นระยะเวลาของเราได้ สุดท้ายเราก็ยังได้มารียูเนียนกับเพื่อนในวันนี้อยู่ดี

     เราเป็นคนชอบวางแผนมาตั้งแต่สมัยทำงาน เพียงแต่ในตอนนั้นเราหาเครื่องมือไม่เจอ ทำให้ผลลัพธ์มันไม่เป็นเหมือนทุกวันนี้ ถ้าทุกวันนี้เรายังทำแค่งานสถาปนิกอย่างเดียวอยู่แล้วต้องหาเงินให้ได้เท่าทุกวันนี้ เราทำได้นะ แต่เราคงสุขภาพแย่มาก ดังนั้น เครื่องมือจึงสำคัญอย่างที่เราบอก แม้จะมีนิสัยชอบวางแผน ชอบทำงานก็จริง แต่ถ้าใช้กับเครื่องมือที่ผิด สุดท้ายเราก็ได้แค่เงิน แต่สุขภาพต้องแย่แน่

 

พรพิมล ผู้พัฒน์

 

Family Trip

     เครื่องมือที่ใช่ ต้องเปิดโอกาสให้เราประสบความสำเร็จและทำตามเป้าได้ เราสามารถพาครอบครัวไปเที่ยวต่างประเทศได้ตั้งแต่อายุ 25 ปี แล้วก็เป็นการไปเที่ยวที่เขาไปต่างประเทศด้วยกันเป็นครั้งแรกตั้งแต่แต่งงานมา 20 กว่าปีด้วย ก่อนหน้านี้คุณพ่อคุณแม่เขาก็จะมีโอกาสเดินทางไปต่างประเทศด้วยกิจการงานของแต่ละคนอยู่แล้ว แต่จุดที่มันแตกต่างกว่าทุกครั้งคือคราวนี้เขาได้ไปด้วยกัน แล้วเราเป็นเจ้าภาพ ตอนนั้นเราอายุ 25 ปีเอง เราพาไปทั้งบ้านเลย เขาก็เลยพูดขึ้นมาว่านี่คือ family trip จริงๆ เขาก็เริ่มรู้สึกว่ามันมีคุณภาพชีวิตบางอย่างที่ดีขึ้นกว่าเดิมที่เขาเคยให้เรา

 

ความสุขคือการดูแลครอบครัว

     สำหรับเราคือการที่ทุกวันนี้เราโอนเงินค่าขนมให้พ่อแม่ได้ (หัวเราะ) คือคุณพ่อก็มีรายได้หลังเกษียณอยู่แล้ว เราว่าสุดท้ายแล้วนั่นคือการทำหน้าที่ของลูกทุกคน วันหนึ่งยังไงคุณก็ต้องรู้สึกขึ้นมาว่าอยากทำ ไม่ว่าจะตอนอายุ 30 หรือ 40 ปี อยู่ที่ว่าเราคิดถึงเรื่องนี้ขึ้นมาได้ตั้งแต่เมื่อไหร่ บางคนอาจจะให้พวกท่านสามพัน หมื่นหนึ่ง หรือเป็นแสนก็มี แต่ว่าวันนั้นที่คิดได้ ปัญหาคือเราสามารถทำได้หรือเปล่า เรามองว่าวันที่เรายังไม่จำเป็นต้องทำ เรากลับคิดได้เพราะมาเจอธุรกิจที่ดี ก็ถือเป็นโชคดีที่ไม่ได้ปฏิเสธโอกาสนั้น เรื่องการตอบแทนคนที่เรารักแม้ว่าเขาจะไม่ได้ต้องการ แต่เราให้เขาได้ นั่นหมายความว่าเขาหมดห่วงและสบายใจแล้วนะ เราว่าเป็นบุญครั้งใหญ่เลยที่เราทำให้เขาไม่ต้องคิดอะไรแล้ว ดูแลสุขภาพตัวเองให้ดีแล้วเตรียมเที่ยวก็พอ สิ่งนั้นทำให้เราค่อนข้างภูมิใจในตัวเอง

 

เราสามารถออกแบบได้ทุกอย่างโดยเฉพาะกับชีวิตเรา บางคนออกแบบได้ทุกอย่าง ยกเว้นชีวิตตัวเอง

 

I am what I am

     พื้นฐานเราเป็นนักออกแบบ เราเชื่อว่าเราสามารถออกแบบได้ทุกอย่างโดยเฉพาะกับชีวิตเรา บางคนออกแบบได้ทุกอย่าง ยกเว้นชีวิตตัวเอง การรู้จักตัวเองคือสิ่งที่สำคัญ แต่ถ้าเรารู้จักตัวเองแล้วลงแรงผิดที่ บางทีความพยายามอาจสูญเปล่า ถ้าเราสามารถหาเครื่องมือที่เหมาะสมจนเจอ นั่นคือสิ่งสำคัญที่จะทำให้การลงทุนของเราไม่สูญเปล่า และจะช่วยให้เกิดผลได้ในท้ายที่สุด

 

 

ติดตามรายละเอียดเพิ่มเติมที่ Facebook: ชีวิตสร้างตามใจชอบ

#IAMWHATIAM #ชีวิตสร้างตามใจชอบ