อนันดา เอเวอริ่งแฮม

อนันดา เอเวอริ่งแฮม | สิ่งที่คงอยู่กับสิ่งที่เปลี่ยนไปหลังวิกฤตวัยกลางคน

ความเพอร์เฟ็กชันนิสต์ของ อนันดา เอเวอริ่งแฮม มาจากความต้องการพิสูจน์ตัวตนให้พ้นจากความเกเรในวัยเด็ก ผ่านการทุ่มเททำงานแบบละเอียดยิบทุกดีเทล อาชีพนักแสดงที่เริ่มต้นแบบมาจับพลัดจับผลูจึงค่อยก่อร่างสร้างตัวตนจนขึ้นชื่อว่าเป็นนักแสดงคุณภาพของวงการภาพยนตร์ไทย แต่เมื่อเพอร์เฟ็กชันนิสต์ค้นลึกลงไปในจิตใจตัวเองกลับพบคำถามมากมาย

“ทำไมเราต้องเหนื่อยขนาดนี้ สิ่งที่ทำอยู่มาจากความต้องการตัวเองจริงหรือ”

     วิกฤตวัยกลางเดินทางมาหาเขาเข้าจนได้ เพื่อที่จะดีลกับสภาวะยุ่งเหยิงในจิตใจ เขาเลือกที่จะเฟดจากงานแสดงไปถึงสามปี กลับมาอีกครั้งในวาระของการโปรโมตภาพยนตร์ ขุนพันธ์ 2 ไคลแมกซ์ในชีวิตที่เพิ่งผ่านพ้น เบื้องหน้าที่เห็นเขายังเป็นนักแสดงมากฝีไม้ลายมือ ความรักความสัมพันธ์ก็อยู่ในขั้นหวานชื่น ครอบครัวก็อยู่กันพร้อมหน้า แต่สิ่งที่เปลี่ยนคือภายในใจที่ส่งผลให้เขาเลือกที่จะดีลกับสิ่งรอบตัวเปลี่ยนไป

     จากคนที่วางตัวเป็นศูนย์กลางของจักรวาลกลายเป็นคนปล่อยวางและไว้ใจคนรอบข้าง

     จากการแสดงที่เต็มไปด้วยตัวตนค่อยๆ ถูกลดทอนส่วนที่เป็น ‘ฉัน’ ออกไป

     จากตำแหน่งผู้นำในความรักความสัมพันธ์ เริ่มโอนอ่อนผ่อนปรนเป็นผู้ตามที่ดี

     จากลูกชายที่พร้อมตั้งการ์ดทะเลาะกับพ่อตลอดเวลาสามารถบอกรักพ่อได้อย่างไม่เก้อเขิน

อนันดา เอเวอริ่งแฮม

 

วุฒิภาวะที่มาพร้อมกับอายุที่มากขึ้นส่งผลให้เรามีสติปัญญามากขึ้น จัดการสมดุลชีวิตของตัวเองได้ดีขึ้น ชีวิตจึงมีความสุขมากขึ้น อยากรู้ว่าชีวิตของอนันดาเดินไปตามพล็อตนี้มั้ย

     ถ้าถามว่ามีความสุขมากกว่าเมื่อก่อนมั้ย มันพูดยากนะ อาจจะหาความสุขได้ง่ายกว่า รู้สึกว่าภาระในชีวิตมันเบากว่า ไม่ได้หมายความว่าภาระมันหายไปไหน แต่ทัศนคติและมุมมองที่เรามีต่อสิ่งที่เราเรียกว่าภาระหน้าที่มันอาจจะเปลี่ยนไป ซึ่งผมก็วิเคราะห์และมีพล็อตของตัวเองเหมือนกันว่า มันอาจจะเนื่องมาจากการที่ผมเริ่มทำงานตั้งแต่อายุสิบสามสิบสี่ และเหตุที่ผมเข้ามาอยู่ในวงการนี้มันไม่ได้มาจากการที่ผมอยากเป็นนักแสดงหรือดารา แต่มันคือเหตุบังเอิญหลายๆ อย่างรวมทั้งสิ่งที่เราได้ก่อสร้างไว้ตั้งแต่สมัยเด็ก เลยเกิดปมว่า เราต้องพิสูจน์ตัวเอง เราต้องมีความทะเยอทะยานเพื่อให้ครอบครัวและคนรอบข้างได้เห็นคุณค่าในตัวเรา

     พอมาถึงวัยยี่สิบก็เริ่มทำงานเป็นแต่ไม่ได้หมายความว่าปมเหล่านี้จะหายไป กลายเป็นคนที่ทำงานเป็นแต่ยังมีปม ภาระที่เรามีก็เลยหนักเป็นพิเศษ จนเมื่อไม่นานมานี้ ผมมีช่วงเวลาที่เว้นจากการแสดงไปอยู่ประมาณสามปีหลังจากปิดกล้องขุนพันธ์ภาคแรก อาจจะเป็นเพราะว่าเหนื่อยสะสมจากสิบกว่าปีที่ทำงานต่อเนื่องแทบจะไม่ได้พัก เหมือนกับว่าตอนนั้นผมได้เจอช่วง Mid-life crisis เราได้ทำงานตั้งแต่เด็ก เราจึงมีวิกฤตวัยกลางคนมาถึงตัวเร็ว

 

คนที่รักในงานที่ทำแถมยังประสบความสำเร็จมีชื่อเสียง ชีวิตยังต้องเจอกับวิกฤตวัยกลางคนอีกหรือ

     มันเป็นช่วงเวลาที่ชีวิตเริ่มเขว เกิดการตั้งคำถามกับตัวเองขึ้นมามากมาย ทำไมเราต้องเหนื่อยขนาดนี้ มันใช่สิ่งที่เราเลือกเพื่อตัวเองจริงหรือ มันถูกต้องใช่มั้ย ชีวิตมันมีคำถามไปกับทุกสิ่งทุกอย่าง ทั้งความสำเร็จหรือว่าเงินทองกลายเป็นสิ่งที่ไม่ค่อยมีค่าไปเลย เพราะเราหาค่าโดยรวมของมันไม่เจอ ก็เลยไม่รับงานแสดง ไม่ดูแลตัวเอง ปล่อยให้น้ำหนักขึ้น เที่ยวเสเพลไปวันๆ ส่วนมากก็จะไปทำงานอยู่เบื้องหลัง ผมก็ไม่รู้ว่าจุดพลิกแพลงมันอยู่ตรงไหน แต่มันเริ่มเกิดการคลายปมทีละอัน เราเริ่มมองตัวเองจากมุมของคนอื่น จากโลกทัศน์ที่กว้างขึ้น แล้วมันกลายเป็นว่า ผลที่มันเกิดในช่วงเวลาสิบปีนั้นมันค่อยๆ คลายออกไปทีละอย่าง ไม่ถึงขั้นปลงนะแต่ว่าทุกอย่างมันเบาลง รู้สึกว่าทุกอย่างที่เราทำมีวัฏจักรที่เคลื่อนที่ของมันไปได้ โดยเราไม่จำเป็นต้องเอาตัวเองมาเป็นศูนย์กลาง

แทนที่จะรู้สึกว่าเราเป็นมนุษย์แสนเดียวดายที่ต้องดีลกับโลกอันใหญ่โตน่ากลัวอยู่คนเดียว กลายเป็นว่าเราแชร์ชีวิตกับทุกๆ คน ซึ่งเขาก็มีปัญหาไม่ต่างจากเราเท่าไหร่ เมื่อปล่อยวางง่ายเลยรู้สึกว่าทำอะไรก็ง่ายขึ้น

 

ภาระหน้าที่อะไรกันที่ทำให้คุณรู้สึกโดดเดี่ยวท่ามกลางโลกที่น่ากลัว

     อาจจะด้วยความที่เราเอาตัวเองเป็นศูนย์กลางของจักรวาล เราเลยรู้สึกว่าเราลุยอยู่คนเดียว พอเราเหนื่อยพอเราเกิดความท้อแท้ มันจึงง่ายมากที่เราจะรู้สึกเหมือนอยู่ตัวคนเดียว ทำไมกูเหนื่อยอยู่คนเดียว ซึ่งจริงๆ มันไม่ใช่หรอก มันเกิดจากอารมณ์ต่างหาก แล้วก็ชอบไปลงกับคนอื่น ทำนองที่ว่าไม่เข้าใจกูหรอกว่าวันๆ กูต้องทำอะไรบ้าง กูเหนื่อยนะมึง โอเค เราทำงานเยอะเราเหนื่อยจริง แต่เรามีสิทธิ์หรือที่จะไปบอกว่าเขาเหนื่อยน้อยกว่าเรา เราไม่ได้เป็นเขา เราไม่มีทางรู้หรอก

     เรารู้สึกว่าสติมันไม่อยู่กับตัวแล้ว พอมันไม่มีสติมันก็เหลือแต่อารมณ์ ซึ่งถ้าเป็นวันที่อารมณ์ดีมันก็ดี แต่วันที่อารมณ์ไม่ดีขึ้นมาเมื่อไหร่ก็มักจะลามไปสู่คนอื่น ไปหนักหัวคนอื่นเขาซึ่งมันก็ไม่ควร บางทีเราไม่รู้ตัวด้วยซ้ำว่าเราใช้เหตุผลจากความคิดหรืออารมณ์ ความรู้สึกมันมาจากตรงไหน เราขาดสติ ตกเป็นทาสของอารมณ์ แยกแยะไม่ออก เหมือนชีวิตเรามันไม่ค่อยละเอียดเท่าไหร่ ถามว่าทุกวันนี้ยังเป็นมั้ย ก็ยังเป็นนะ บางทีกลับบ้านมา มึนเมา ก็มีฟีลของขึ้น เดือด อยากโวยวาย เพียงแต่ว่าตื่นเช้ามาเราจะขอโทษทันทีเลย ไม่เก๊กแล้ว เฮ้ย กูขอโทษ กูผิดเอง ตรงนี้กลายเป็นเรื่องที่ทำง่ายขึ้น

 

อนันดา เอเวอริ่งแฮม

 

การแสดงในวันที่ชีวิตเริ่มปล่อยวางเปลี่ยนไปจากการแสดงในวันที่คุณพยายามจะพิสูจน์ตัวเองอย่างไร

     สิ่งที่เปลี่ยนไปคือมุมมองของเรามากกว่า กลายเป็นรู้สึกว่าทุกอย่างมันไม่ต้องเกี่ยวกับตัวเรา ซึ่งจริงๆ เหตุผลของตัวละครมันไม่ควรมาจากฝั่งเราอยู่แล้วแหละ แต่บางทีเราไม่รู้ตัวเพราะมันอยู่ในช่วงที่ความคิดมันลบ พอเราอยากพิสูจน์ตัวเองเราก็เริ่มนึกว่า คนจะชอบมั้ย เล่นดีหรือเปล่า ซึ่งธรรมชาติของตัวละครเขาจะไม่คิดว่าคนดูกำลังดูเขาอยู่ เขาไม่ได้ต้องมานั่งคิดว่าสิ่งที่กูทำมันเป็นชีวิตประจำวันของกู แต่พอสมาธิเราหลุด เราเอา ‘ฉัน’ เอาความรู้สึกว่าเราเป็นนักแสดงเข้าไปเกี่ยวข้อง

การที่เราบอกว่าเรามีความพยายามมากมันไม่ใช่สิ่งที่จะมาพิสูจน์คุณค่าของตัวงานเลย เราเอาภาระของเราซึ่งไม่เกี่ยวกับตัวละครเข้าไปปะปนกับตัวละคร มันก็จะเริ่มไม่เพียวแล้ว

     มันเป็นจุดหนึ่งที่ทำให้เรารู้สึกว่าการแสดงของเรามันเหมือนไม่ได้พัฒนาไปไหน มันใช้แต่ชั่วโมงบิน บางทีก็มักง่ายเกินไป บางทีก็คิดมากเกินไป ถ้าอย่างนั้นขอเบรกหน่อย จนกลับมาเริ่มทำงานอีกรอบเมื่อสองสามปีก่อน โชคดีที่มีพี่โขม (ก้องเกียรติ โขมศิริ) กับหม่อมน้อย (หม่อมหลวงพันธุ์เทวนพ เทวกุล) เข้ามา เหมือนเราได้กลับไปเคาะสนิม รีเซ็ตเครื่อง ยอมรับว่ามันมีช่วงที่รวนอยู่ รู้สึกว่า เอ๊ะ ทำไมอะไรง่ายๆ ตัวละครที่ไม่ซับซ้อนมันถึงดูซับซ้อนจัง อ๋อ มันเป็นเพราะเราไม่รู้ตัวว่าเราเอาตัวเข้าไปเกี่ยวข้องกับตัวละคร พอเบรกจึงทำให้เห็นปัญหา เห็นตัวเองมากขึ้น แล้วค่อยๆ มาแก้ไขทีละอย่าง คลายไปทีละปม รวมถึงวิธีการแสดงด้วย

 

ทุกวันนี้ได้ย้อนกลับไปดูการแสดงเก่าๆ ของตัวเองบ้างหรือเปล่า

     ผมเคยดูการแสดงของตัวเองในเวอร์ชันไฟนอลตั้งแต่ต้นจนจบไม่เกินสองถึงสามเรื่อง ถ้าเป็นตอนเด็กๆ มันจะเต็มไปด้วยความรู้สึกกลัวจนเราไม่กล้ากลับไปดูเพลย์แบ็กที่มอนิเตอร์ของกองถ่ายเลยนะ กลัวว่าจะเล่นไม่ดี แต่พอมาช่วงที่บอกว่าเริ่มทำงานเป็น ความเพอร์เฟ็กชันนิสต์ก็จะเกิดขึ้น เราเช็กทุกมูฟเมนต์ ดูมอร์นิเตอร์แล้วกลับมาแก้ไขๆ เวลาเดินต้องเดินอย่างนี้ มาร์กนี้ องศาผิดก็ต้องปรับองศา ก็จะเป็นการดูแบบเพอร์เฟ็กชันนิสต์ การแสดงมันใกล้เคียงกับธรรมะมาก ธรรมะคือธรรมชาติ การแสดงคือการแสดงความธรรมชาติ บางทีเรารู้อยู่ว่าอย่าไปคิดถึงสิ่งที่เราจะต้องพูด แค่พูดออกมาแล้วทุกอย่างจะถูกต้อง แต่ดันไปคิดไงว่าต้องพูดยังไงก่อน ซึ่งมันอาจจะเป็นปัญหาของทุกคนคือเรามักจะใช้ชีวิตเหมือนเป็นนักเดินทางในเวลา เดี๋ยวก็อยู่ในอดีต เดี๋ยวก็อยู่ในปัจจุบัน เดี๋ยวก็อยู่ในอนาคต เขาพูดมาแล้วเราต้องพูดอะไรต่อ คือเล็กๆ น้อยๆ บางทีแค่การอยู่ในโมเมนต์แต่มันก็ออกมาเพอร์เฟ็กต์แล้ว

     แต่ช่วงหลังๆ มานี้ก็จะไม่เช็กงานของตัวเอง เพราะด้วยความรู้สึกว่าเมื่อปิดกล้องแล้วหน้าที่ของเราก็จบ อะไรจะเกิดขึ้นในขั้นตอนโพสต์โปรดักชันหรืออะไรจะเกิดขึ้นกับคนดูไม่ใช่หน้าที่ของผมอีกต่อไป ผมจะเป็นอย่างนี้ตลอด พอหนังฉายผมก็จะแอกติ้งทำเป็นเดินเข้าโรงหนังแล้วตียูเทิร์นออกมาไปนั่งรอที่บาร์ แล้วก็แบบ เอ้อ ทุกคนเป็นไงบ้าง แฮปปี้กันนะ

 

แล้วเรื่องความรักความสัมพันธ์ในวันที่เรายังต้องการพิสูจน์ตัวเองแตกต่างจากวันที่เรามองทุกอย่างด้วยความละเอียดมากขึ้นอย่างไร

     จริงๆ แล้วเรื่องความรักหรือความสัมพันธ์กับคนรอบข้างของผมค่อนข้างราบรื่นอยู่แล้ว เพียงแต่ว่าผมจะติดนิสัยชอบเป็นผู้นำ ตั้งแต่เด็กเราถูกจับมาอยู่ในตำแหน่งที่ต้องนำอยู่ตลอดเวลา จนมันกลายเป็นธรรมชาติของตัวเราไป แล้วมันก็ลามมาถึงคนใกล้ตัว คือเราทำโดยไม่รู้ตัว ตอนเรามีความรัก ไม่ใช่ว่าเรามีปัญหาอะไรนะ ทุกอย่างนำด้วยความรัก แต่ผมอาจจะไม่ได้ละเอียดตรงที่เราไม่ได้มองมุมมองของคนอื่นมากพอเพราะว่าเราอยู่ในตำแหน่งผู้นำ โอเค ผมรักคุณเพราะฉะนั้นจงตามผมมา เราลุยกันต่อ โดยที่ไม่ได้มองเลยว่าการที่ผมลุยต่อมันอาจจะไม่ได้เป็นทิศทางในชีวิตของเขาก็ได้

     หลายครั้งตอนที่ผมคบใครมันก็มักจะไปเจอจุดที่เส้นทางของเราจะแตกออกจากกัน ซึ่งส่วนมากก็ไม่ได้มีเรื่องชู้สาวหรือเรื่องดราม่าอะไร มันแค่เราเดินไปทิศหนึ่งเขาเดินไปในอีกทิศหนึ่ง พอมาถึงจุดที่เรารู้สึกว่าเราโตขึ้น ก็คิดว่าอย่างนี้มันเสียเวลาคนอื่นเขาหรือเปล่า ช่วงหลังผมก็เลยโสดมาหลายปี เพราะรู้สึกว่าเรายังไม่เข้าใจว่าทิศทางนี้คืออะไร แถมกูยังจะลัดอยู่นั่นแหละ แล้วก็ไม่รู้ด้วยนะว่าจะนำไปไหนกันแน่ จะมาอ้างแค่ว่าผมรักคุณมันคงไม่พอ ก็เลยรู้สึกว่าทำอย่างนี้ไม่ได้ อย่างคนที่ผมคบอยู่ตอนนี้เราก็ต้องมองจากมุมของเขาบ้าง ไม่ใช่เอะอะมาบอกว่าผมรักคุณแล้วปีแรกจะเป็นอย่างนี้ ปีที่สองเราจะเป็นอย่างนี้ อนาคตข้างหน้ามันจะเป็นแบบนี้ ทุกอย่างมันจะโอเค มันก็ไม่ใช่

 

อนันดา เอเวอริ่งแฮม

 

ไม่กลัวเหรอว่าถ้าตอนนี้คุณกลายเป็นคนยอมแล้วเขาจะกลายเป็นคนนำ

     ก็ใช่ มันก็ต้องหัด ไม่ใช่แค่กับแฟน แต่กับครอบครัว กับคนที่ผมทำงานด้วย ผมก็ต้องเรียนรู้ที่จะให้เขามีบทบาทของเขา ผมชอบบอกว่าผมเป็นมนุษย์เพอร์เฟ็กชันนิสต์ ต้องจับทุกสิ่งทุกอย่าง ต้องตรวจทุกอย่าง เอาตัวเองไปอยู่ในทุกดีเทล ก็แน่ล่ะ มันเลยทำให้เครียด เพราะเราต้องแบกข้อมูลแบกภาระที่ไม่จำเป็น แล้วมันก็เยอะจนล้นตัวไปหมด

     แต่ตอนนี้คือแค่เรารู้จักปล่อยให้เขาได้ทำหน้าที่ของเขา เราเชื่อใจ ให้เขาเป็นคนนำแล้วเราเอาสิ่งที่มันเป็นประสบการณ์ของเราไปเสริมเพื่อช่วยให้เขาไปสู่จุดมุ่งหมายของเขา แทนที่เราจะไปลากทุกสิ่งทุกอย่างจากทุกคนมา มันต้องรู้สึกแชร์ชีวิตกับคนอื่นบ้าง เป็นการช่วยเตือนให้เราเห็นว่ามีอะไรอีกตั้งเยอะตั้งแยะในโลกนี้ที่ยังจะสอนเราได้ เพราะบางทีตอนเรานำๆ อยู่เราก็ชอบไปตีความว่า สิ่งที่เรารู้คือสิ่งที่ถูกต้อง โดยที่มันอาจจะมีสิ่งที่ถูกอยู่สามอย่างสี่อย่างก็ได้ มันเป็นเรื่องของมุมมองมากกว่า ซึ่งมุมมองของคนอื่นมันก็กลับมาสอนเราเยอะ

 

คนที่เป็นเพอร์เฟ็กชันนิสต์จะวัดคุณค่าของสิ่งที่ทำจากความสำเร็จ แล้วอนันดาในวัยที่ลดละความเป็นเพอร์เฟ็กชันนิสต์ลงจะวัดคุณค่าจากสิ่งใด

     (นิ่งคิด) คุณค่าหรือมูลค่าที่ใครพูดถึงมันอาจจะเป็นสิ่งสมมติก็ได้ แต่ผมแค่รู้สึกว่าการที่ใช้ชีวิตให้มันละเอียดและมองอะไรให้มันละเอียดขึ้นมันจะสร้างคุณค่าของมันขึ้นมาเอง สิ่งที่คุณเคยมองข้ามอาจกลับกลายเป็นสิ่งที่ให้อะไรกับคุณและกลายเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามหาศาลก็ได้ ในมุมเพอร์เฟ็กชันนิสต์ ถูกต้องว่าเราไปตีคุณค่าจากความสำเร็จ ใครจะไปรู้ เราอาจจะเกิดคุณค่าจากการอย่างเช่น ผมบอกว่าผมมีวิกฤตวัยกลางคนถ้ามองในแง่หนึ่งมันอาจจะเนกาทีฟ แต่สำหรับผมสุดท้ายมันกลายเป็นโพสิทีฟที่ทำให้ผมก็รู้สึกดีขึ้นเยอะ เพราะผมได้เรียนรู้เรื่องการจับสังเกตแล้วมองอะไรให้มันละเอียดขึ้น

     เราก็ไม่ได้เป็นมนุษย์ที่ขาดปัญญาสักเท่าไหร่ ก็ฉลาดประมาณหนึ่ง เคยผ่านวัย 20 กว่าๆ ที่ทุกอย่างคือการศึกษา ผมศึกษาหนักมาก อ่านหนังสือหนักมาก แต่มันเป็นความรู้ที่เรายังคิดไม่ออกเหมือนกันว่าจริงๆ แล้วชีวิตมันอาจจะเป็นอะไรที่ง่าย ช่วงที่เราแบกทุกข์เยอะๆ แค่หายใจให้อิ่มยังทำไม่ได้ รู้สึกว่าขาดลมหายใจอยู่ตลอดเวลา แต่ทุกวันนี้ที่เราเริ่มมองอะไรให้ละเอียดมากขึ้น เราตื่นมาแล้วรู้สึกโล่ง หายใจสบาย แค่นี้ก็ทำให้เรารู้สึกว่า ณ โมเมนต์นั้นชีวิตเรามีคุณค่า

 

รวมไปถึงการเปลี่ยนสไตล์ของหนังสือที่อ่านด้วยหรือเปล่าที่ส่งผลให้มุมมองต่อชีวิตเปลี่ยนไป

     ยังคงชอบอ่านหนังสือประเภทวรรณกรรมคลาสสิกเหมือนเดิมและเชื่อว่าชั่วชีวิตนี้คงอ่านได้ไม่หมดหรอก แต่แตกต่างตรงที่เมื่อก่อนอาจจะอ่านด้วยความที่กูต้องอ่านเพื่อจะได้เอาไว้พูดว่ากูได้อ่านแล้ว มันจะมีวัยที่ต้องอ่านฌอง ปอล ซาร์ต แล้วต้องเอาเรื่อง Existentialism มาถกกันว่าความหมายของชีวิตมันคืออะไร เราสร้างมันขึ้นมาเองหรือเปล่า (หัวเราะ) ต้องไปอ่าน สิทธารถะ เพื่อเอามาคุย แต่ตอนนี้เราอ่านเป็นเอนเตอร์เทนมากกว่า ล่าสุดก็เพิ่งอ่าน ร้อยปีแห่งความโดดเดี่ยว อ่านด้วยความที่รู้สึกว่าหนังสือสนุกมาก

 

แล้วความสัมพันธ์ของคุณกับคนในครอบครัวมีทิศทางที่เปลี่ยนแปลงไปหรือเปล่า

     จริงๆ แล้วผมกับแม่มีความสัมพันธ์ที่ค่อนข้างดีมาแต่ไหนแต่ไร เพราะมันเป็นปกติของลูกชายที่จะมีความสัมพันธ์กับแม่ที่พิเศษหน่อย แต่กับคนอื่นๆ ผมยอมรับว่าเจอน้อย บางทีผมไม่ได้เจอพ่อ 6 เดือน หลังๆ ก็เลยรู้สึกมีคำถามกับตัวเองว่าทำไมวะ เรามีปัญหาอะไรกับพ่อ อย่างที่บอกว่าพอเราพยายามมองให้มันละเอียดขึ้นเราจึงเห็นว่า มันเป็นอะไรก็ไม่รู้ที่ไร้สาระซึ่งสั่งสมมา แล้วเราก็ไปตีความเองว่าเราอึดอัด หลังๆ พอมีเวลากับเขามากขึ้น มุมมองของเราก็เปลี่ยน รู้สึกว่าความอึดอัดเป็นสิ่งที่เราสร้างมาเองด้วยซ้ำไป

ถ้าอยากบอกรักพ่อ ก็แค่โทรไปบอกเขา

     แต่ว่าทำไมเมื่อก่อนมันพูดยากจัง เก๊ก อยู่กับพ่อแล้วต้องตั้งการ์ดพร้อมทะเลาะตลอดเวลา แต่ตอนนี้ความสัมพันธ์กับพ่อดีขึ้นง่ายขึ้น ทุกวันนี้รู้สึกว่าการบอกรักพ่อเป็นเรื่องธรรมดามาก พอเราทำแล้วทุกอย่างก็ดีขึ้น เดี๋ยวอีกไม่กี่วันก็จะไปเจอพ่อที่หัวหิน ไม่รู้เหมือนกันนะ แต่ชีวิตตอนนี้มันดีขึ้นมันอาจจะเป็นเพราะว่าความสัมพันธ์กับคนรอบข้างของเราดีขึ้นด้วย