การเคลื่อนไหวทางการเมืองของเยาวชนในครั้งนี้ หลายคนคงเห็นว่าไม่ได้หยุดแค่กลุ่มนิสิตนักศึกษาอีกต่อไป แต่ขยายไปจนถึงกลุ่มนักเรียนด้วย นี่อาจจะเป็นปรากฏการณ์ใหม่ที่เกิดขึ้นในบ้านเรา แต่ปรากฏการณ์นี้ก็สะท้อนให้เห็นว่าสภาพสังคมของประเทศนี้มันเดินทางมาถึงจุดที่ไม่สามารถฝันต่อได้จนเยาวชนต้องออกมาทวงคืนอนาคตของเขาเอง
‘อั่งอั๊ง’ – อัครสร โอปิลันธน์ เป็นเยาวชนคนหนึ่งที่ออกมาเคลื่อนไหวทางการเมืองเช่นกัน ทุกคนรู้จักเธอดีจากคลิปให้สัมภาษณ์เป็นภาษาอังกฤษเกี่ยวกับประชาธิปไตย แม้ภาพของเธอจะดูเป็นคนฉะฉาน กล้าพูด กล้าทำ แต่อีกมุมหนึ่งเธอก็ไม่ต่างอะไรจากเด็กสาววัย 16 ปีทั่วไป ที่อยากใช้ชีวิตวัยรุ่นอย่างสนุกสนานมากกว่านั่งปวดหัวเรื่องการเมือง
“ถ้าการเมืองดีและสังคมมันดีขนาดนั้นจริงๆ ก็อยากจะทำตามความฝันวัยรุ่นทั่วไป อยากจะทำเรื่องดนตรี หนูเป็นคนชอบเล่นดนตรี ร้องเพลง เล่นเปียโน ก็คงไปแนวนั้นมากกว่ามั้ง”
แต่สภาพสังคมที่เป็นอยู่ในปัจจุบันทำให้เธออดไม่ได้ที่จะกังวลอนาคตของตัวเอง อั่งอั๊งจึงออกมาสู้เพื่อประชาธิปไตยเหมือนกับที่วัยรุ่นคนอื่นๆ กำลังต่อสู้อยู่ขณะนี้ เพราะทุกคนต่างเล็งเห็นว่าการเมืองอยู่ทุกอณูของชีวิต หากการเมืองยังไม่เปลี่ยน อนาคตก็ไม่เปลี่ยนเช่นกัน ซึ่งนับตั้งแต่เธอออกมาพูดเรื่องการเมืองชีวิตของก็เธอต้องจ่ายด้วยหลายอย่าง แต่เมื่อเทียบกับสิ่งที่จะได้กลับคืนมาอั่งอั๋งมองว่ามันก็คุ้ม
ตั้งแต่เมื่อไหร่ที่เริ่มหันมาสนใจการเมือง
ประมาณตอน ป.6 หรือ ม.1 แต่ว่าสนใจในเชิงภาควิชามากกว่า เช่น การเมือง ปรัชญา อะไรแบบนั้น แล้วเราเป็นคนชอบหนังอ่านหนังสืออยู่แล้วด้วย เลยอ่านอริสโตเติล หรือ เจ.เอส. มิลล์ หลังจากนั้นมีโอกาสได้ไปเข้าค่ายที่ต่างประเทศเลยเห็นได้ถึงความแตกต่างของการเมืองบ้านเขากับการเมืองบ้านเรา จึงหันมาเริ่มสนใจการเมืองในเชิง Civic Responsibility ว่ามันเป็นหน้าที่พลเมืองมากกว่าการเมืองในเชิงวิชาการ เมื่อกลับมาเมืองไทยเราก็ได้ไปเข้าค่ายต่างๆ ที่ชุมชนในแถบภาคเหนือและภาคอีสาน จึงได้เห็นจริงๆ ว่าการเมืองมันส่งกระทบต่ออะไรบ้างในสังคมไทย ตอนนั้นจึงหันมาสนใจการเมืองไทยแบบเจาะจงมากขึ้น
การเมืองกระทบอะไรต่อชุมชนที่คุณไปค่ายมาอย่างไร
เช่น เรื่องการนิยามคำว่าชาติ เพราะตอนที่ไปภาคอีสาน เราได้ไปเจอชุมชนชาวภูไท เลยถามชาวภูไทที่อยู่ที่นั่นว่า คิดว่าตัวเองเป็นคนไทยหรือเปล่าเพราะแม้วัฒนธรรมต่างๆ จะคล้ายคลึงกับไทย แต่ว่าโดยรวมแล้วมันก็ไม่ใช่ไทย 100% ซึ่งเขาตอบกลับมาว่าเขาไม่ได้คิดว่าตัวเองเป็นคนไทย เราก็เลยถามกลับไปว่าถ้าไม่คิดว่าตัวเองเป็นคนไทย ทำไมต้องมีธงชาติไทยไว้หน้าบ้าน เขาก็บอกว่าแถวนั้นบังคับให้ชาวภูไทเอาธงชาติไทยไว้หน้าบ้านเพราะจะได้แสดงว่าเขาก็คือคนไทยเหมือนกัน เราจึงเริ่มหันกลับมามองว่าอะไรที่จะมาเป็นคำนิยามของคำว่าชาติ ชาติคืออะไร คนไทยที่แท้จริงคืออะไร เรามองไปที่ประเทศเพื่อนบ้าน เราก็เห็นว่าวัด ศาสนา หรือวัฒนธรรมต่างๆ มันคล้ายคลึงกันมาก แล้วอะไรที่จะบอกว่านี่คือความเป็นไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ นี่ไม่ใช่ไทยร้อยเปอร์เซ็นต์
แต่ก็ยังมีคนกลุ่มหนึ่งที่ยึดติดกับความเป็นชาติมากจนตีตราคนที่เห็นต่างว่า ‘ชังชาติ’
เมื่อกาลเวลาเปลี่ยนความคิดหรือค่านิยมเราก็ต้องเคลื่อนตามไปให้ทันสังคม ยุคนี้เป็นสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้น เป็นสังคมที่ยอมรับความหลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นความหลากหลายทางศาสนา เพศ การศึกษา ความชอบอะไรต่างๆ นานา มันมีมากกว่าเมื่อ 10 ปีที่แล้วอีก เราควรหันมามองว่าความหลากหลายนี้จะส่งเสริมให้สังคมเราพัฒนาไปข้างหน้าได้อย่างไร ถ้าเกิดว่าความหลากหลายนี้ส่งเสริมให้คนในสังคมมีความสุขมากขึ้น พัฒนามากขึ้น ยอมรับกันมากขึ้น เราก็ควรที่จะสนับสนุนความหลากหลายไม่ใช่ต่อต้านมัน
ในสถานการณ์ปัจจุบัน สังคมไทยมีการแบ่งขั้วทางการเมืองอย่างชัดเจน ซึ่งไม่ได้แบ่งแค่ในวงกว้าง แต่แบ่งลึกลงไปถึงระดับครอบครัวด้วย ในมุมของคุณรู้สึกอย่างไรกับการเมืองในครอบครัว เพราะนับวันการแบ่งขั้วทางการเมืองยิ่งสร้างความแตกแยกมากขึ้น
การเมืองในไทยของเรายังยึดอยู่กับการแบ่งว่าเราจะเป็นซ้ายหรือจะเป็นขวา จะเป็นฝ่ายค้านหรือฝ่ายรัฐบาล จะเป็นเสื้อเหลืองหรือเสื้อแดง เรามีความแบ่งแยกอย่างนี้มาตลอด นอกจากนั้นเรายังมีสิ่งที่เรียกว่า generation gap ในครอบครัวด้วย ซึ่งหนูไม่ได้บอกว่าคนที่อายุมากกว่าหรือคนที่เป็นรุ่นพ่อรุ่นแม่จะผิด แล้วรุ่นเราจะต้องถูกเสมอ แต่ความเห็นต่างทางการเมืองคือสีสันของสังคมที่เป็นประชาธิปไตย ประชาธิปไตยคือความเห็นของทุกคนมีคุณค่าเท่ากัน ไม่ว่าคุณจะคิดอย่างไร แต่ว่าเรายึดติดกับเส้นแบ่งมากเกินจนเราใช้ความแบ่งแยกนี้มาตีตราว่า คนนี้เป็นสลิ่ม คนนี้ชังชาติ คนนี้เป็นเด็กรุ่นใหม่ คนนี้เป็นหัวเก่าเราใช้คำนิยามหรือวาทกรรมต่างๆ นานามาเพื่อสร้างความแบ่งแยก
เมื่อมาอยู่ในครอบครัว ต่อให้เราจะเห็นต่างแค่นิดเดียวก็ตาม เราก็จะเริ่มใช้วาทกรรม เริ่มมีเส้นแบ่งแยกจนนำมาสู่ความแตกแยก วิธีเดียวที่จะแก้ปัญหาความแตกแยกในครอบครัวหรือว่าความแตกแยกทางการเมืองของสังคมได้ก็คือ ‘การรับฟัง’ ซึ่งเป็นสิ่งที่สำคัญมาก เราอยู่ในสังคมที่เน้นการพูด เน้นการที่จะออกมาบอกว่าความคิดเราคืออะไร เชื่อมั่นในอุดมการณ์อะไร เรายึดมั่นกับอุดมการณ์เรามาก แต่บางทีแม้กระทั่งฝ่ายซ้ายและฝ่ายขวาไม่ว่าจะเป็นใคร เราลืมที่จะรับฟังอีกฝั่งหนึ่ง
อีกอย่างต้องเข้าใจด้วยว่าพื้นฐานของการมาพูดเรื่องการเมืองทุกคนมีแบ็กกราวนด์ที่ไม่เหมือนกัน มีความคิดเห็นที่ไม่เหมือนกัน มีความหลากหลายที่ไม่เหมือนกัน ดังนั้น ถ้าตัวตนของทุกคนไม่เหมือนกัน ความเห็นก็ย่อมที่จะแตกต่างอยู่แล้ว เราต้องเรียนรู้ที่จะยอมรับความแตกต่าง ถ้าอยู่ในครอบครัวเราก็ต้องมานั่งแชร์กันว่าทำไมเราถึงคิดอย่างนี้ แล้วเราจะอยู่ร่วมบ้านเดียวกันอย่างไรภายใต้การเห็นต่าง เพราะท้ายที่สุดแล้วบ้านก็เหมือนสังคม บ้านเป็นสังคมอันแรกของหลายๆ คนเลย ถ้าเราอยากเห็นสังคมสงบก็ต้องเริ่มจากที่บ้านก่อน แค่ต้องรู้จักที่จะรับฟังและยอมรับ นี่เป็นจุดเริ่มต้นจุดแรกเลยที่จะทำให้ความแตกแยกในครอบครัวน้อยลง
ตั้งข้อสังเกตว่าอำนาจมันอยู่ในทุกอณูของสังคมเริ่มตั้งแต่ครอบครัว โรงเรียน และระดับประเทศ แค่อำนาจในครอบครัวกับอำนาจในโรงเรียนมันสะท้อนโครงสร้างทางการเมืองไทยอย่างไรบ้าง
อันนี้สะท้อนหนักมากเลยค่ะ เพราะรู้สึกว่าเรื่องของอำนาจมันปลูกฝังมาจากค่านิยม อำนาจนิยมที่สมัยก่อนประเทศไทยเราเป็นระบบศักดินา สมัยนี้ถึงแม้ว่าระบบศักดินานั้นมันจะไม่มีอยู่แล้ว แต่ว่าคุณค่าของมันยังอยู่ คุณค่าของมันยังอยู่ในแง่ที่ว่าถ้าเกิดคุณทำงานแล้วตำแหน่งคุณสูงกว่าแปลว่าศักดิ์ศรีความเป็นคนอาจจะมีมากกว่า หรือว่าถ้าคุณอายุเยอะกว่าแปลว่าวุฒิภาวะคุณต้องมีมากกว่า เพราะฉะนั้น คนอื่นต้องเคารพคุณแค่เพียงเพราะคุณอายุมากกว่า
ค่านิยมระบบศักดินาที่ยังคงมีอยู่ในสังคมไทย ทำให้เรารู้สึกว่าถ้าเกิดเราถูกอำนาจเบื้องบนกดขี่ เราต้องบอกว่าไม่เป็นไรนะ เพราะว่าเราอายุน้อยกว่า ไม่เป็นไรนะเพราะอย่างนี้อย่างนั้น ถึงจะไม่มีใครบอกเราเรื่องนี้แต่มันอยู่ในสังคม อยู่ในความคิดเราที่พยายามหาเหตุผลว่าเราโดนกดขี่แล้วไม่เป็นไร มันเป็นสังคมแห่งการจำยอมที่ถูกสร้างขึ้นมา โดยเริ่มตั้งแต่จากครอบครัว เริ่มจากโรงเรียน ให้เป็นการผลิตคนในสังคมแห่งการจำยอม รัฐจะสั่งอะไรเราห้ามตั้งคำถาม เรายอมอย่างเดียวเพียงเพราะเขามีอำนาจ ซึ่งท้ายที่สุดแล้วควรเป็นทางกลับกันไม่ใช่เหรอคะ ถ้าเกิดว่าโรงเรียนไม่มีนักเรียน โรงเรียนจะอยู่ได้ไหม มันเป็นเรื่องของทั้งสองฝ่าย เราไม่สามารถปฏิเสธได้ว่าอำนาจเป็นสิ่งสำคัญที่จะทำให้การเมืองอยู่อย่างสงบได้ แต่ไม่ได้แปลว่าเราจะสามารถใช้อำนาจกดขี่คนได้
เราก็ต้องรู้ว่าอำนาจมันสำคัญนะในเชิง power stucture ของสังคม ไม่ว่าคุณจะมีอำนาจมากกว่า อำนาจน้อยกว่า ศักดิ์ศรีความเป็นคนของทุกคนก็ควรจะเท่ากัน สิทธิของทุกคนก็ควรที่จะเท่าเทียมกัน เราต้องมองคนในสายตาเดียวกันว่าคุณคือคนเหมือนกัน ถึงแม้คุณจะมีอำนาจมากกว่าแต่ไม่ได้แปลว่าเราต้องเชื่องมงายกับคนคนหนึ่งร้อยเปอร์เซ็นต์ มันมีปรัญชาหนึ่งที่เคยอ่าน เขาบอกว่า คนที่มีอำนาจมี 2 แบบ คืออำนาจที่เกิดจากความรักกับอำนาจที่เกิดจากความกลัว ในสังคมเราอำนาจมันได้มาจากความกลัวโดยส่วนใหญ่ แต่สังคมที่เป็น idealistic หรือสังคมที่เท่าเทียมกัน อำนาจมันไม่จำเป็นที่จะต้องถูกคว้ามา คนเราจะสามารถได้อำนาจจากความภักดีหรือจากความรักซึ่งกันและกัน ซึ่งเป็นอำนาจที่ควรจะพึงมีในสังคม ไม่ใช่อำนาจที่ได้มาด้วยการยึดอำนาจคนอื่นมาหรือใช้ความกลัวกดขี่
คิดอย่างไรต่อสถานการณ์ปัจจุบันที่เราเห็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมของรัฐมากขึ้นเรื่อยๆ
อำนาจที่เห็นได้ชัดว่ามีการใช้อย่างไม่ชอบธรรมคือ กฎหมาย ความเที่ยงธรรมของกฎหมายไทยมันไม่มีแล้ว ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายถูกใช้เป็นเครื่องมือ ทั้งๆ ที่จริงกฎหมายควรทำให้สังคมเดินในทางที่ถูกต้องและมีศีลธรรม แต่มันกลายเป็นว่าเราใช้ศีลธรรมของตัวเองไปกำหนดกฎหมาย รัฐบาลชุดนี้ใช้ข้ออ้างเรื่อง COVID-19 ใช้กฎหมายมาตรา 112 และ 116 มาทำโทษคนที่ออกมาใช้สิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐาน เราเห็นได้ว่ามันขัดแย้งกันโดยสิ้นเชิ้ง เพราะว่ากฎหมายมันถูกสร้างขึ้นมาจากสิทธิมนุษยชน
สิทธิมนุษยชนเป็นสิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนพึงมี เมื่อคุณเกิดมาคุณก็พึงมีสิทธินี้อยู่แล้ว ไม่ว่าคุณจะมีค่านิยมอะไร ไม่ว่าคุณจะเป็นบุคคลที่มีความหลากหลายหรือมีความเชื่อแบบไหนก็ตาม ด้วยความเข้าใจของสิทธิเหล่านี้ที่เราพึงมี เราถึงเขียนกฎหมาย เราถึงได้ร่างกฎหมายขึ้นมาเพื่อให้ทุกคนอยู่ในกรอบว่าเราต้องคำนึงในสิทธิมนุษยชนนะ แต่ตอนนี้กลายเป็นว่ามีการใช้อำนาจเบื้องบนเพื่อที่จะมาบิดเบือนกฎหมาย กลายเป็นว่าคนกลุ่มหนึ่งเชื่อและรู้สึกว่ามันโอเคที่จะถูกกฎหมายกดขี่ เพราะสังคมสอนเราว่ามันโอเคที่จะให้อำนาจเบื้องบนกดขี่เราเพราะอย่างนี้อย่างนั้น ดังนั้น เราต้อง deconstruct ความคิดนี้เราถึงจะเข้าใจได้ว่าการที่เราจะขัดแย้งอำนาจเบื้องบน การที่จะใช้นิติสงคราม เราต้องเริ่มที่จุดไหน และทำไมเราต้องขัดแย้งอำนาจไม่ชอบธรรมนี้
กฎหมายมันควรถูกเขียนขึ้นมาเพื่อคนในสังคม แต่ตอนนี้มันกลายเป็นว่าคนในสังคมบางคนเขียนกฎหมายเพื่อตัวเอง นี่คือรากฐานของปัญหา มันไม่ได้ต้องแก้ที่ปากกาที่ถูกเขียน เราเริ่มที่ลายลักษณ์อักษรหรือตัวหนังสือที่ถูกพิมพ์อยู่ในหนังสือกฎหมายอย่างเดียวไม่ได้ แต่ต้องเริ่มจากใจของคนที่กุมปากกาเขียน ต้องเริ่มที่จุดนั้นเลย เราแก้ลายลักษณ์อักษร แต่ถ้าคนที่อยู่บนเบื้องบน คนที่มีอำนาจในอนาคตยังมีใจที่อยากจะเขียนกฎหมายเอื้อตัวเองอีกเขาก็สามารถลบแล้วเขียนใหม่ได้ทุกเมื่อ มันต้องแก้ที่ความคิด มันต้องแก้ที่ค่านิยมของคนเรา
ยิ่งเห็นการใช้อำนาจที่ไม่ชอบธรรมยิ่งบั่นทอนจิตใจไหม
บั่นทอนจิตใจจริงๆ โดยเฉพาะสำหรับคนรุ่นใหม่ เราคืออนาคตของสังคมนี้ แต่ทางเดินที่ปูเอาไว้มันเป็นทางเดินที่ขรุขระมาก เป็นทางเดินที่เหมือนมีแผ่นดินไหว มีสึนามิมาถล่ม และไม่มีใครอยากจะมาช่วยบูรณะเพื่อสร้างทางเดินนี้ให้น่าเดินมากขึ้น ตัวเราเองก็ไม่มีทรัพยากรที่จะไปสร้างทางเดินนี้ให้เรียบ ทรัพยากรในที่นี้คือกฎหมายที่เที่ยงธรรม ทรัพยากรคือการเมืองที่มั่นคง ทรัพยากรคือการศึกษาที่ดี แต่เราไม่มีทรัพยากรเหล่านี้สำหรับสร้างแผ่นดินหรือทางเดินสำหรับอนาคตของเราเลย มันรู้สึกบั่นทอน รู้สึกสิ้นหวัง
แต่เราเชื่อว่าคนรุ่นใหม่ทุกคนที่ฝันอยากจะเห็นสังคมที่ดีขึ้น สังคมที่เราเท่าเทียม สังคมที่เราอยากอยู่ ความฝันเหล่านี้ยังคงเป็นตัวช่วยให้เราต่อสู้ต่อไป แต่เราจะไปอยู่จุดนั้นได้อย่างไรนอกจากฝัน มันไม่รู้จะเริ่มตรงไหนเลยด้วยการเมืองที่ใช้อำนาจกดขี่แบบนี้ เหมือนมันไม่มีพื้นที่ที่ให้เราได้เติบโตงอกงาม ทุกคนก็เป็นเหมือนเมล็ดพันธุ์พยายามที่จะเติบโตงอกงามในสังคมใหม่ แต่ว่าเราถูกเหยียบย่ำตลอดเวลา ต่อให้เราจะพูดจนเจ็บคอแค่ไหน ท้ายที่ที่สุดเหมือนเราพูดกับกำแพง แล้ววันดีคืนดีเราจะหายตัวไปก็ไม่มีใครรู้
การที่ระบบตุลาการมันไม่เป็นธรรมอย่างที่ควรเป็นหรือเปล่าที่ทำให้คุณตัดสินใจเลิกฝันเป็นทนายความด้านสิทธิมนุษยชน
ใจลึกๆ แล้วตอนนี้ก็ยังอยากเป็นอยู่ แต่ความอยากเป็นมันน้อยลง เมื่อก่อนหนูเคยเชิดชูนับถือว่าเราสามารถเชิดชูสิทธิมนุษยชนขั้นพื้นฐานหรือทำให้สังคมเป็นธรรมมากขึ้นได้ยังไงผ่านระบบตุลาการ แต่ตอนนี้ก็เห็นแล้วว่าเป็นทางกลับกัน เราใช้กฎหมายไปในทางที่ไม่ชอบธรรม เราใช้กดหมายกดขี่คนอื่นจนกฎหมายมันหายศักดิ์สิทธิ์
หนูก็เลยรู้สึกว่าจะไปอยู่ในตรงนั้นทำไม ถ้าสิ่งเดียวที่ศักดิ์สิทธิที่สุดในอาชีพกฎหมายคือตอนเปิดหนังสือเรียนอ่าน ตอนนั้นที่ใจเรายังบริสุทธิ์ ตอนที่ใจและสมองเรายังขาวสะอาดอยู่ นี่คือความเชื่อมั่นที่เราให้ในกฎหมาย และถ้าเกิดว่าเรียนมาแล้วท้ายที่สุดไม่ได้ใช้มัน ความศักดิ์สิทธิ์ของกฎหมายถ้าไม่มีในชีวิตจริง เราจะเรียนไปทำไม เราจะอยากเป็นทนายไปทำไม หนูก็อยากจะเป็นทนายช่วยด้านสิทธิมนุษยชนอยู่ แต่ความเชื่อมั่นในระบบตุลาการยิ่งน้อยลงไปทุกทีเวลาที่เรายิ่งสนใจการเมืองมากขึ้น
มองว่าตอนนี้เราสู้กับอะไรอยู่
โห… เราสู้หลายอย่างเลย เราสู้กับผู้ใหญ่ที่ไม่น่ารักที่ไม่ยอมมาฟังเรา เราต่อสู้กับค่านิยมแบบเดิมๆ ที่ยังไม่ถูก deconstruct เราต่อสู้กับระบบกฎขี่ เราต่อสู้กับอำนาจนิยมที่ไม่ใช่แค่กลุ่มหรือบุคคลแต่เป็นวัฒนธรรมอำนาจนิยมที่ควรจะเปลี่ยนแต่ยังไม่ได้เปลี่ยน
เป็นการต่อสู้ในเชิงอุดมการณ์ด้วยไหม
เราสู้ในเชิงอดุมการณ์ด้วยระดับหนึ่ง แต่ไม่ว่าคนเราจะมีอุดมการณ์ไหน ไม่ว่าเราจะซ้ายหรือขวา เราจะอยู่ฝั่งไหนของการเมือง ท้ายที่สุดเราเชื่อว่าอุดมการณ์การเมืองโดยรวมแล้ว คนที่ออกมาต่อสู้ทั้งหมด ไม่ว่าคุณจะเป็นฝั่งไหน คุณจะใส่เสื้อสีไหน หนูเชื่อว่าอุดมการณ์ในใจลึกๆ ของทุกคนก็อยากให้สังคมมันดีขึ้น แต่ก็ไม่สามารถพูดได้เต็มปากว่าเป็นการต่อสู้ของอุดมการณ์ เพราะท้ายที่สุดแล้วแก่นแท้ของอุดมการณ์ของหลายๆ คนเหมือนกัน แต่ทุกคนอาจจะมีความคิดไม่เหมือนกันว่าสังคมที่ดีต้องไปถึงจุดๆ ไหน ก็อาจจะไม่ใช่เป็นอุดมการณ์ แต่เป็นความแตกต่างของภาพสังคมที่เราอยากจะเห็นมากกว่า
แล้วเกิดว่าสิ่งที่เราพยายามต่อสู้ไม่จบที่รุ่นเรา คาดว่าต่อไปจะเป็นอย่างไร
สิ่งที่จะทำให้มันแตกต่างจากการต่อสู้ก่อนๆ ได้ก็คือ ครั้งนี้เป็นยุคของโซเชียลมีเดีย เมื่อมีอะไรเกิดขึ้นก็มันถูกจารึกไว้ในโซเชียลมีเดีย เราเชื่อว่าในอนาคตประวัติศาสตร์จะไม่ได้ถูกบิดเบือนง่ายๆ การต่อสู้ครั้งนี้จะไม่เหมือนครั้งก่อนที่เราจะถูกตีตราว่าเป็นคอมมิวนิสต์อีกแล้ว แล้วหนูเชื่อว่าถ้ามันไม่จบที่รุ่นเรา คนรุ่นหลังก็จะได้อ่านประวัติศาสตร์ที่เป็นกลาง อ่านประวัติศาสตร์ที่เห็นว่าคนรุ่นหนูได้ออกมาสู้เพื่อประชาธิปไตย ได้ออกมาสู้เพื่อความเท่าเทียมอย่างแท้จริง แล้วถ้าเกิดว่าสังคมไปไม่ถึงจุดนั้น เขาสามารถอ่านประวัติศาสตร์ถึงสิ่งที่เกิดขึ้นได้ และหนูก็ได้แต่หวังว่าเขาจะลุกขึ้นมาสานต่อการต่อสู้ครั้งนี้
ไม่ใช่แค่ในประเทศไทยเท่านั้นที่คนรุ่นใหม่ออกมาเคลื่อนไหวประเด็นทางการเมืองหรือประเด็นทางสังคม แต่เป็นปรากฏการณ์ที่เกิดขึ้นทั่วโลก นี่กลายมาเป็นความรับผิดชอบอย่างหนึ่งของคนรุ่นนี้หรือเปล่าที่จะต้องออกมาเรียกร้องอนาคตของเขา
จริงๆ มันกลายมาเป็นความรับผิดชอบของคนรุ่นเรา เพราะเราตระหนักได้ถึงความสำคัญว่าการเมืองมันอยู่ในทุกอณูของสังคม และถ้าเราจะเติบโตในสังคมที่ดีได้ สังคมที่ช่วยเหลือเรา สังคมที่รัฐเอื้อในความฝันของเราไม่ว่าเราจะทำอะไร และการเมืองเป็นรากฐานของทั้งหมด แต่ในเมื่อการเมืองมันแย่มาก เราจึงกลัวว่าอนาคตเราจะไม่เป็นดั่งที่เราฝัน หนูเชื่อว่าหลายๆ คนที่ออกมาต่อสู้ เริ่มต้นด้วยการต่อสู้ว่าเรากลัวสำหรับอนาคตเราเองนะ ที่หนูเริ่มออกมาพูด เริ่มออกมาเขียน เริ่มออกมาต่อสู้ เพราะว่าหนูกลัวว่าหนูจะเติบโตในสังคมที่หนูไม่สามารถเป็นทนายด้านสิทธิมนุษยชนได้จากความไม่เที่ยงธรรมของระบบตุลาการ หนูกลัวว่าในอนาคตหนูจะไม่มีสิทธิพูดอะไรอย่างเสรี หนูกลัวว่าจะไม่มีโอกาสในการได้แสดงความคิดเห็นของตัวเอง มันเป็นความกลัวในขั้นพื้นฐานของบุคคลเลย แต่ด้วยความกลัวนี้ในเมื่อเราออกมาต่อสู้เพื่อมัน จึงเหมือนว่าเราไม่ได้อยู่ตัวคนเดียวนะ คนรุ่นใหม่หลายๆ คนก็กลัวเหมือนกัน เลยกลายเป็นว่าเราไม่ได้ออกมาต่อสู้เพื่ออนาคตของเราคนเดียว เราออกมาต่อสู้เพื่ออนาคตคนอื่นหรือคนรุ่นใหม่คนอื่นๆ ที่อาจจะไม่สามารถออกมาพูดได้
มีบทความหนึ่งที่พูดว่าประเด็นทางสังคมและการเมืองมีผลต่อการเลือกคบเพื่อนหรือหาคู่เดทของคนรุ่นใหม่เลย
ในแง่หนึ่งมันจริงนะที่เราคบเพื่อนเราก็ดูอุดมการณ์การเมืองด้วย แต่ของอั่งอั๊งอยู่ในสังคมที่เพื่อนหลายๆ คนมีพริวิเลจ ความเห็นต่างทางการเมืองของหนูกับเพื่อนหลายคนมีอยู่แล้ว แต่หนูอยากจะบอกว่าไม่อินกับการเมือง ไม่เห็นด้วยกับการเมืองไม่เป็นไร เราคบกับคนที่ไม่อินหรือไม่เห็นด้วยทางการเมืองได้ แต่รู้สึกว่าเราไม่สามารถที่จะคบหรือเป็นเพื่อนกับคนที่ไม่อินเรื่องสิทธิมนุษยชนได้ เราไม่สามารถคบกับเพื่อนที่ไม่เห็นค่าความเป็นคนได้ มันต้องมีอยู่แล้วเพื่อนที่เห็นต่างกันทางการเมือง เพราะนี่คือหลักของประชาธิปไตยเลยนะที่เราจะต้องเห็นคุณค่าความแตกต่าง ความเห็นของทุกคนต้องเท่าเทียมกัน แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราเห็นอีกแบบ เพื่อนเห็นอีกแบบ จะเป็นเพื่อนกับเขาไม่ได้เลย อันนี้ก็ไม่ใช่
แต่เราเข้าใจได้ถ้าเกิดว่าจะไม่สามารถคบคนที่ไม่เห็นคุณค่าความเป็นคน หรือเห็นค่าความเป็นคนไม่เท่ากัน นี่เป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่ตระหนักถึงมาก ถ้าวันดีคืนดีเราไปเจอเพื่อน แล้วเขาบอกว่าไม่เป็นไรที่จะมีคนหายตัวไป นี่ไม่ใช่การเมืองนะคะ นี่คือสิทธิมนุษยชน สิทธิขั้นพื้นฐานที่ทุกคนควรพึงมี ถ้าเกิดว่าเราไม่สามารถเห็นว่าสิทธิของทุกคนที่ควรพึงมีคืออะไร มันไม่ใช่ในเชิงการเมือง มันไม่ใช่ในเชิงของอุดมการณ์แล้ว แต่มันคือจิตใจ มันสะท้อนให้เห็นถึงคุณธรรมหรือศีลธรรมของคนคนนั้น ต้องมาคิดอีกทีว่าศีลธรรมของคนแบบไหนที่เราไม่สามารถคบได้จริงๆ เพราะไม่ใช่แค่การเมือง มันคือแก่นแท้ มันคือจิตใจ มันคือความคิดของเราเลย
จากสถานการณ์ตอนนี้มีการพูดกันว่าถ้าบอกว่าเป็นกลางเท่ากับเลือกข้างแล้ว เพราะอีกข้างหนึ่งคือรัฐที่ใช้อำนาจไม่ชอบธรรม ตัวคุณเองคิดอย่างไรกับเรื่องนี้
ก็เห็นอยู่นะคะที่บางคนออกมาบอกว่าตัวเองเป็นกลาง สิ่งที่เราต้องตั้งคำถามคือ ความเป็นกลางคืออะไร ความเป็นกลางคือการที่จะไม่แสดงความคิดเห็นอะไรเลยหรือเปล่า หรือว่าการที่ตัวเองจะไม่มีความคิดเห็นอะไรเลยหรือเปล่า การไม่แสดงความคิดเห็นไม่เป็นไร แต่อย่างน้อยเราต้องมีอุดมการณ์ มีความคิดเห็นของตัวเอง เข้าใจว่าบางคนไม่สามารถที่จะออกมาแสดงออกได้ แต่เราก็ไม่สามารถที่จะไปบังคับใครเหมือนกัน เพราะนี่มันคือสิทธิ์ของเขา แต่ความเป็นกลางที่แท้จริง มันไม่มีหรอกค่ะ ถ้าคุณเป็นกลางคุณ ไม่ออกความคิดเห็น ไม่เป็นไร แต่ถ้าเกิดคุณไม่มีความคิดเห็นอะไรเลยมันคือการเพิกเฉย อาจจะเห็น เห็นหมดเลยว่ามีอะไรเกิดขึ้นแต่เลือกที่จะไม่สนใจเอง เรื่องการเมืองเกี่ยวกับความเป็นอยู่ของคนทั้งสังคม ถ้าคุณเดินอยู่แล้วเห็นเด็กจมน้ำคุณจะไปช่วยเด็กเขาไหม ถ้าเห็นแล้วคุณเพิกเฉยมันก็บอกถึงศีลธรรมของคุณ
เราเข้าใจที่บางคนเขาอาจจะไม่อยากออกมาแสดงความคิดเห็น แต่เราก็ไม่ควรที่จะตีความเขาไปเลยว่าเขาเป็นคนของรัฐ เพราะแต่ละคนต้องใช้เวลาที่จะออกมาแสดงความคิดเห็น และใช้ความกล้าอย่างมากในการสร้างความคิดเห็นของตัวเอง เพราะว่าการเมืองไทยของเรานั้นก็เห็นหลายๆ ปัจจัย อย่างสื่อมันมีแบ่งเป็นว่าซ้ายจัดขวาจัด การที่จะได้สื่อเป็นกลางก็ยาก ซึ่งก็เข้าใจได้ที่บางคนจะต้องใช้เวลามากกว่า
นอกจากนี้ยังมีสิ่งที่ตัวเขาเองต้องเอามาเสี่ยง ครอบครัวหรือการงานของเขา ดังนั้นเราไม่ควรจะตีความไปเลยว่าคนที่ไม่ออกมาต้องเป็นฝั่งรัฐร้อยเปอร์เซ็นต์ คนที่บอกว่าตัวเองเป็นกลางเขาอาจจะต้องใช้เวลามากกว่านี้ในการค้นหาอุดมการณ์ที่แท้จริงของเขา และคนบางคนที่เป็นกลางก็อาจจะรู้สึกไม่สะดวกใจที่จะออกมาพูด แต่ใจลึกๆ เขาก็อาจจะมีอุดมการณ์ของเขาเองเหมือนกัน
คนที่ไม่ออกมาแสดงความคิดเห็นอาจมองว่าเขามีราคาที่ต้องจ่าย แล้วตัวคุณต้องจ่ายอะไรไปบ้างเพียงเพราะออกมาพูดเรื่องการเมือง
ทุกคนมีราคาที่ต้องจ่ายซึ่งมันไม่ควรเป็นแบบนั้นในสังคมเรา การที่จะออกมาใช้สิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็นอย่างเสรีมันไม่ควรที่จะต้องจ่าย ไม่ควรที่จะต้องแลกด้วยอะไรเลย มันมีคำพูดหนึ่งที่บอกว่า Humanright is not compromisable สิทธิพื้นฐานของเราไม่ใช่อะไรที่จะต่อรองได้ มันเป็นสิทธิ์ที่พึงมี แต่ตอนนี้กลายเป็นว่าถ้าทุกคนจะออกมาพูดเขามีราคาที่ต้องจ่าย อย่างของหนูเองก็อาจจะเป็นการเสียเพื่อนบางคนไป และเราอยู่ในโรงเรียนที่อาจจะอนุรักษนิยมหน่อยไม่ใช่ว่าทุกคนไม่สนับสนุนนะ แต่ก็มีผู้ปกครองบางคนที่เขาต่อว่าไม่อยากให้รุ่นน้องคนนี้มายุ่งกับเรา เดี๋ยวจะกลายเป็นเด็กรุ่นใหม่ที่ออกมาประท้วงตลอด มันคือการแบ่งแยกอยู่แล้ว
อีกอย่างหนึ่งก็คือ privacy ล่าสุดในออนไลน์มีคนพยายามจะแฮกโซเชียลมีเดียของเราอยู่หลายครั้ง ทวิตเตอร์ก็มีการคอมเมนต์คุกคามอยู่ตลอดเวลา รวมถึง privacy ของครอบครัวเรา ที่วันดีคืนดีก็มีคนเอาประวัติครอบครัวออกมาเผยแพร่ สืบว่าเราเรียนที่ไหน พูดภาษาอะไรได้บ้าง นี่คือสิ่งที่หนูต้องจ่ายไป ทุกคนก็มีราคาที่ต้องจ่ายไปอยู่แล้ว แต่คุณคิดว่ามันคุ้มไหม ถ้าคุณจ่ายราคานี้ไป อนาคตคุณจะได้อยู่ในสังคมประชาธิปไตย สำหรับหนูก็คิดว่ามันคุ้มนะคะ ถ้าจะต้องเสียเพื่อนบางคน ถ้าจะต้องถูกนินทาโดยผู้ปกครอง โดยเพื่อนหลายๆ คน เสีย privacy ของตัวเองเทียบกับอนาคตที่มั่นคง เทียบกับอนาคตที่ดีกว่านี้ หนูรู้สึกว่ามันเป็นสิ่งที่หนูยอมจ่าย
หมายความว่าคุณทำใจมาตั้งแต่แรกแล้วใช่ไหมว่าจะต้องจ่ายอะไรไปบ้าง
ไม่ค่ะ (หัวเราะ) ไม่ได้ทำใจเลย บทความแรกที่ทำให้หนูเข้าสู่สนามการเมืองก็คือบทความที่พูดถึงพรีวิเลจของเด็กอินเตอร์ หลายคนอาจจะได้อ่าน ตอนเขียนบทความนั้นไป ไม่ได้รู้สึกอะไรเลยนะก็แค่รู้สึกหงุดหงิดเฉยๆ ว่าการตายของ จอร์จ ฟลอยด์ มันเป็นช่วงเดียวกับการหายตัวไปของวันเฉลิม แต่ไม่มีคนพูดถึงวันเฉลิมเลย ไม่ได้คิดเลยว่าเราจะต้องโดนอะไร ไม่ได้คิดเลยว่าจะมีคนมาอ่าน แต่หลังจากบทความออกไปแก็มีคน DM มาว่าเยอะมาก มีคนได้เบอร์โทรศัพท์หนูและก็โทร.มาต่อว่าเป็นชั่วโมงๆ โดยที่หนูไม่รู้ว่าเขาเป็นใคร
ช่วงแรกๆ ก็ร้องไห้เลยนะ เราโทร.หาเพื่อนๆ ร้องไห้ฟูมฟายว่าทำไมต้องเป็นแบบนี้ ทำไมสังคมจะต้องออกมาว่าเราขนาดนี้ เราแค่ 16 เอง ทำไมถึงมาเจออะไรแบบนี้ แต่หลังๆ พอเราโดน เราก็รู้สึกว่ามีคนเห็นด้วยก็ต้องมีคนไม่เห็นด้วย คำวิจารณ์บางอย่างที่สมเหตุสมผลเราก็กลับเอามาคิดและพัฒนาตัวเอง แต่บางคอมเมนต์ที่บอกว่า ‘ชังชาติ’ ไม่ได้รู้สึกอะไรแล้ว เพราะว่าท้ายที่สุดการที่เขาจะมาด่าเราว่ามันสะท้อนให้เห็นถึงความคิดของเขาเองว่าปัญญาชนหรือวุฒิภาวะของเขาก็มีได้แค่นี้ แทนที่เขาจะมาวิจารณ์อย่างมีเหตุมีผล เขาทำไม่ได้ เขาทำได้แค่เขียนสองคำ คือคำว่า ชังชาติ เขาทำได้แค่นี้
เราจะไปเสียเวลากับคนที่มีวุฒิภาวะแค่นี้ทำไม คนที่เห็นต่างทางการเมืองเราพร้อมที่จะคุยถ้าเขามีเหตุผลและใช้เหตุผลมาคุยกัน เราพร้อมที่จะรับฟังอยู่แล้ว จริงๆ เราเป็นคนที่อ่านคอมเมนต์ตลอดนะ อ่านทุกคอมเมนต์เลยด้วย ซึ่งคนที่วิจารณ์อย่างมีเหตุมีผลก็มีเยอะนะ แล้วเราก็เอาสิ่งนั้นกลับมาพยายามมาพัฒนาตลอดเวลา แต่บางคนที่ด่าด้วยคำหยาบบ้างอะไรบ้างมันไม่ได้ทำร้ายจิตใจอะไรเท่าไหร่เลย เพราะมันก็สะท้อนให้เห็นตัวเขาเองว่าเป็นคนแบบไหน ไม่ได้สะท้อนว่าเราเป็นคนแบบไหน
คนที่สนับสนุนเรามันมีมากกว่าคนที่วิจารณ์อยู่แล้ว แต่ใจเราไม่ได้เตรียมมาว่าจะมีคนมาด่าเรา จะมีคนมาตามเราขนาดนี้ หนูรู้สึกว่าพอมาถึงจุดๆ นี้มันกลับไม่ทันแล้ว แล้วหนูมีโอกาสขนาดนี้ที่จะได้แชร์ความรู้ อุดมการณ์ ความเชื่อของหนูกับใครหลายๆ คน หนูก็คิดว่าถ้าเราจ่ายไปด้วยราคาเท่านี้แต่ได้ผลตอบแทนกลับมาแบบนี้มีก็คุ้มที่จะเสี่ยง มันคุ้มมากด้วยค่ะสำหรับหนู
อยากทราบว่าครอบครัวของคุณมีส่วนหล่อหลอมให้เป็นคุณในแบบนี้ได้อย่างไร
(ยิ้ม) จริงๆ หนูไม่ได้คุยเรื่องการเมืองกับครอบครัวเลยเท่าไหร่เลยนะ คุณพ่อกับคุณแม่ก็ไม่ได้สนใจเรื่องการเมือง 100% จนถึงขั้นมาพูดเป็น dinner table conversation มันเริ่มจะตัวเองมากกว่า แต่ว่าครอบครัวส่งเสริมให้ตั้งคำถาม คืออยากทำอะไรให้ลองทำ อยากเรียนอะไรให้ลองเรียนด้วยตัวเอง ไม่ได้มีขอบเขตอะไรสักเท่าไหร่ ก็เริ่มจากจุดนั้นที่ทำให้เราเป็นเด็กขี้สงสัยชอบตั้งคำถาม แล้วพอหันมาสนใจการเมืองในเชิงภาควิชา เราก็จะเอาการเมืองมาถามในครอบครัว อย่างเช่น เวลากินข้าวเย็นอยู่ดีๆ เราก็จะเป็นคนถามเองว่าป๊ากับม้าคิดยังไงเรื่องกฎหมายการทำแท้ง คุณพ่อคุณแม่ก็จะไม่ได้มีการบอกว่าการเมืองต้องเป็นแบบนี้ๆ แต่เป็นการเปิดกว้างว่าให้คิดอะไรก็คิด ลองทำอะไรลองผิดลองถูกได้ด้วยตัวเอง แล้วก็ความสนใจของเรามาตั้งคำถาม มันก็เลยกลายเป็นครอบครัวที่สนับสนุนเรา
คุณเป็นที่รู้จักในแง่ของการเป็นหลานของคุณธนาธรด้วย อยากรู้ว่าคุณธนาธรมีส่วนในการสนับสนุนหรือเป็นแรงบันดาลใจให้คุณบ้างไหม
เอาตรงๆ เลยก็ไม่มีนะคะ (หัวเราะ) ก็เป็นคนในครอบครัวเดียวกันแต่ว่าไม่ได้เจอกันบ่อย อย่างเดียวที่คุยกับคุณอาก็คือเรื่องหนังสือที่จะเยอะหน่อย เพราะว่าคุณอาชอบอ่านหนังสือ หนูก็ชอบอ่านหนังสือ แต่หนูสนใจการเมืองตั้งแต่ก่อนที่พรรคอนาคตใหม่จะตั้งขึ้นมาอีก ก็เหมือนที่บอกว่าช่วงประมาณ ม.1 ที่หันมาสนใจแล้ว หรือบทความที่หนูเขียน ทางบ้านก็จะไม่รู้นะ จะมีแค่คุณแม่ที่รู้ ทางบ้านก็จะรู้จากโซเชียลมีเดีย แล้วเขาจะรู้แค่ว่าอั่งอั๊งเขียนงานอะไรอย่างนี้ คือไม่ได้มีความเชื่อมโยงอะไรกับคุณอามากขนาดนั้น ในครอบครัวมีการพูดถึงการเมืองไทยมากขึ้นเพราะคุณอาจริง แต่ว่าด้วยความคิดอะไรของหนูก็มาจากหนังสือที่ตัวเองอ่าน มาจากค่ายที่ตัวเองไป มาจากความรู้ที่ตัวเองได้มา มาจาก conversation ของตัวเองที่ตัวเองมีอยู่ เวลาประท้วงก็คือไปเองไปกับคุณแม่ ไม่ได้มีอะไรอย่างอื่นเข้ามาเกี่ยวข้อง ไม่ได้มีใครเข้ามาเกี่ยวข้องเลย
Role Model ของเราหลายคนก็ชอบถามว่าเป็นคุณอาหรือเปล่า แต่ว่าไม่ใช่ค่ะ เราก็เหมือนนับถือคุณอาว่าเป็นคนเก่งอะไรแบบนี้ แต่โดยส่วนตัวเราเป็นคนที่ไม่มี Role Model เพราะรู้สึกว่าในเชิงการเมืองไม่มี Role Model ให้นับถือได้ 100% เพียวๆ เลย สิ่งที่ผลักดันเรามากที่สุดไม่ใช่ Role Model แต่เป็นสังคมที่เราอยากจะเห็น แล้วมันก็ผลักดันว่าถ้าเราอยากอยู่ในสังคมนั้น Role Model ของอั่งอั๊งจึงเป็นตัวเองในอนาคตว่าเราอยากเห็นตัวเองอยู่ในสังคมแบบไหน แล้วมันก็จะผลักดันให้ตัวเองสู้เพื่ออนาคตแบบนั้นเอง
คุณเคยพูดประโยคหนึ่งที่ว่าถ้าหากประชาชนรู้ว่าตัวเองมีอำนาจพอที่จะสามารถสร้างการเปลี่ยนแปลงได้ เราจะไม่หวังพึ่งนายกคนไหนหรือรัฐบาลไหน อยากให้คุณพูดถึงในส่วนนี้หน่อยว่าตัวเราเองมีความสำคัญอย่างไร
ท้ายที่สุดแล้วอำนาจที่แท้จริงมันอยู่กับราษฎร มันอยู่กับประชาชนของประเทศนั้น หากว่าเราตระหนักได้ว่ามีอำนาจประชาชนอยู่ในมือ ถ้าทุกคนตระหนักได้แล้วออกมาใช้สิทธิ์นั้น เราไม่จำเป็นต้องหวังพึ่งว่าการเมืองมันแย่มากเลยตอนนี้เราต้องรอให้นายกรัฐมนตรีมาแก้อย่างนี้ๆ การเมืองที่ดีเป็นรากฐานสำคัญ แต่การเมืองที่ดีมาจากการตระหนักของอำนาจประชาชน ไม่ใช่อำนาจของนายกรัฐมนตรี นายกรัฐมนตรีหรือ ส.ส. เป็นเพียงแค่ตัวแทนของประชาชนถูกไหมคะ แต่ ณ ตอนนี้มันไม่ใช่แบบนั้น มันกลายเป็นว่ารัฐบาลเป็นหนึ่ง ประชาชนเป็นอีกหนึ่งทั้งๆ ที่ท้ายที่สุดแล้วควรเป็นประชาชนแล้วก็นายกหรือ ส.ส. เป็นคนที่ประชาชนเลือกขึ้นมา เพราะฉะนั้น ถ้าเราใช้อำนาจของประชาชน แล้วการเมืองเอื้อต่อระบบที่เป็นประชาธิปไตยจริงๆ เราทุกคนมาใช้อำนาจของเราเลือก ส.ส. ที่เป็นตัวแทนของเราจริงๆ หรือเป็นนายกของจริง เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องหวังคนอีกฝ่ายที่จะมาทำความฝันของเรา เพราะถ้าคนเหล่านั้นเป็นตัวแทนของความฝันเราอยู่แล้ว เราก็ไม่จำเป็นที่จะต้องมารอคอยหวังพึ่งเขา
คิดว่าประชาธิปไตยเป็นคำตอบเดียวไหมที่จะทำให้สังคมเท่าเทียมกัน
ไม่ได้เป็นคำตอบเดียวนะคะ ประชาธิปไตยเป็นกรอบ เป็น structure เป็นเหมือนเสาหลักที่จะสร้างความเท่าเทียม แต่ว่ามันมีปัจจัยอีกหลายปัจจัย อย่างเช่น ค่านิยมของเราเอง stereotype ของเราเอง ที่ต้องตัดมันทิ้งให้ได้ ไม่ว่าจะเรื่องของความเท่าเทียมทางเพศหรือ LGBTQ+ เช่นหลายคนก็เห็นอยู่ว่าในอุตสาหกรรมหลายๆ อย่าง คนที่เป็นซีอีโอก็จะเป็นผู้ชาย ผู้นำหลายคนก็จะเป็นผู้ชาย ระบอบประชาธิปไตยมันทำให้ทุกคนเห็นค่าเราเท่ากันอยู่แล้ว แต่ว่าเราต้องเริ่มที่ระบอบประชาธิปไตยก่อน สร้างเสาหลักให้ดี แล้วค่อยมาดูสิ่งอื่นๆ พอเสาหลักมันดี พอการเมืองมันดี เราถึงเริ่มหันมาเปลี่ยนค่านิยมของปัจเจกบุคคลได้ เราต้อง deconstruct ค่านิยมชายเป็นใหญ่ deconstruct ค่านิยม 12 ประการ deconstruct ค่านิยมของอำนาจนิยม อันนี้เป็นเชิงปัจเจกค่านิยมที่ต้องถูกแก้ แต่ว่าสังคมอันเป็นประชาธิปไตยก็แค่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเป็นเสาหลักของทุกอย่างเท่านั้นเองค่ะ
ถ้าสมมติว่าการเมืองมันดีคิดว่าตอนนี้ตัวเองจะใช้ชีวิตอย่างไร
ถ้าการเมืองดีคงไม่ต้องออกมาเขียน คงไม่ต้องออกมาประท้วง คงไม่ต้องออกมาสร้างแพลตฟอร์มของตัวเอง คงไม่ต้องออกมาสัมภาษณ์เรื่องการเมืองหรือความฝันอะไรแบบนี้ หลายคนก็เคยถามว่าถ้าการเมืองดีจะอยากเป็นทนายอยู่ไหม แต่ถ้าการเมืองดีและสังคมมันดีขนาดนั้นจริงๆ ก็อยากจะทำตามความฝันวัยรุ่นทั่วไป อยากจะทำเรื่องดนตรี หนูเป็นคนชอบเล่นดนตรี ร้องเพลง เล่นเปียโน ก็คงไปแนวนั้นมากกว่ามั้ง แต่มันเป็นเพราะว่าสังคมมันมีจุดให้แก้เยอะ อั่งอั๊งเองกับเพื่อนๆ หลายคน ที่เป็นนักกิจกรรมเลยไม่ได้มีเวลาไปคิดเรื่องความฝันของตัวเองนอกเหนือจากนั้น แต่ถ้าการเมืองดีอยู่แล้วก็คงใช้ชีวิตวัยรุ่นทั่วๆ ไปมากๆ ติ่งเกาหลีอะไรอย่างนี้ ดูซีรีส์ไปวันๆ ทำเพลง ร้องเพลง ยังนึกไม่ค่อยออก แต่ก็คงเป็นแนวนั้นมั้ง
มันจึงกลายเป็นว่าปัญหาทางการเมือง ทำให้ชีวิตของวัยรุ่นคนหนึ่งที่ควรจะได้สนุกสนานหายไป เพราะต้องออกมาเรียกร้องในสิ่งที่เขายังไม่มี
แน่นอนอยู่แล้วค่ะ เพราะว่าการเมืองมันแย่ถึงขนาดที่ว่าเด็กๆ ต้องออกมาเรียกร้อง มันทำให้ความสนุกของชีวิตหายไป ไม่ใช่แค่เพราะว่าต้องออกมาม็อบ ออกมาทำอะไรแบบนี้นะ มันไม่ใช่แค่นั้น แต่มันอยู่ในเชิงจิตใจ อยู่ในความคิดเลยนะ มันอยู่ในจุดที่ว่าเราต้องเอาเวลามานั่งคิดว่า เฮ้ย เราจะต้องเกิดมา เราต้องอยู่ในสังคมที่เป็นแบบนี้จริงๆ เหรอ ในฐานะที่เราเป็นผู้หญิงเอง เราต้องอยู่ในสังคมที่มันไม่มีความเท่าเทียมทางเพศจริงๆเหรอ เราต้องอยู่ในสังคมที่เราไม่มีเสรีภาพในการพูดสิ่งที่เราอยากจะพูดจริงๆเหรอ มันเป็นความคิดที่บั่นทอนจิตใจของวัยรุ่น วัยรุ่นเขาไม่ควรจะต้องมาคิดอะไรแบบนี้ การไปม็อบมันก็ถือเป็นอย่างหนึ่งที่ต้องเสียเวลากับมัน แทนที่เราจะได้ใช้ชีวิตวัยรุ่น
บางคนอาจเลือกที่จะไม่มีลูกเพราะว่าไม่อยากให้เกิดมาเจอกับสภาพสังคมที่เป็นแบบนี้ การเมืองส่งผลต่อคุณระดับนั้นไหม
ก็ส่งผลนะคะ รู้สึกว่าถ้าสังคมเราเป็นแบบนี้อั่งอั๊งก็ไม่อยากมีลูกนะคะ แม้จะด้วยอีกหลายปัจจัย แต่ถ้าสังคมเราเป็นแบบนี้หนูก็ไม่อยากให้คนรุ่นต่อไปต้องมาเจอสังคมที่ต้องมานั่งต่อสู้แบบนี้อีก ถ้าเรามีลูกเราก็อยากให้เขาใช้เวลากับชีวิตในวัยเด็กได้เต็มที่ที่สุด จะทำอะไรก็ทำ ไม่ต้องมานั่งหมกหมุ่นกับการเมือง ไม่ต้องมานั่งครุ่นคิดว่าการเมืองจะเป็นยังไง ความฝันในอนาคตจะเป็นยังไง ถ้าเราพูดอยู่ดีๆ วันดีคืนดีจะหายตัวหรือว่าติดคุกหรือเปล่า หนูก็เป็นห่วงตัวเองเหมือนกันในทุกวันนี้ ไม่อยากให้ลูกเราหรือลูกเพื่อนเรา หรือคนรุ่นหลังจากนี้สักคนที่เรารู้จักหรือไม่รู้จักก็ตามต้องมาเจอกับอะไรแบบนี้
ในอุดมคติคุณอยากเห็นสังคมเป็นอย่างไร
ยาวเลยนะ (หัวเราะ) สังคมที่เป็นประชาธิปไตย และสังคมที่เท่าเทียมกัน แต่เวลาที่เราพูดว่าสังคมที่เท่าเทียมกัน หลายคนก็ชอบแย้งว่าไม่มีวันที่สังคมจะเท่าเทียมกันจริงๆ หรอก แต่ความเท่าเทียมของเราหมายถึง ศักดิ์ศรี และเสียงของทุกคนเท่าเทียมกัน ความเท่าเทียมกันอยู่ในแง่ที่ว่าไม่ว่าคุณจะเงินเดือนเท่าไหร่ เรียนอะไรมา เสียงของคุณมีความหมายเท่ากัน สังคมที่ผู้นำของเราถูกเลือกมาโดยประชาชนอย่างแท้จริง สังคมที่รัฐธรรมนูญเขียนไม่ได้เอื้อเพื่อคนกลุ่มใดกลุ่มหนึ่ง ไม่ได้เลือกเพื่อครอบครัวใดครอบครัวหนึ่ง แต่เพื่อประชาชนที่แท้จริง สังคมที่ระบบตุลาการมีความเที่ยงธรรม สังคมที่ผู้พิพากษาของศาลฎีกาไม่ได้ถูกเลือกมาจากนายกรัฐมนตรี แต่มีความเที่ยงธรรมที่แท้จริง อีกอย่างคือสังคมที่ไม่ได้เป็นสังคมแห่งความเงียบ สังคมแห่งความสิ้นหวัง เป็นสังคมที่ทำให้เด็กทุกคนกล้าที่จะฝัน แล้วไม่ได้แค่ฝันอย่างเดียว แต่เป็นสังคมที่ทำให้เด็กกล้าฝันและเชื่อว่าสิ่งที่เขากล้าฝันจะเป็นจริงได้