เมื่อปัญหาขยะของจริงกลายเป็นขยะในใจ การจัดการขยะให้ถูกต้องจึงเกิดขึ้น โดยคนตัวเล็กๆ ที่มีเป้าหมายเพื่อให้ผู้คนมีวินัยในการคัดแยกขยะด้วยวิธีการที่แตกต่างกันออกไปจึงได้เริ่มต้นขึ้น หนึ่งในนั้นก็คือตู้แลกขยะอัตโนมัติ นวัตกรรมที่ผ่านการคิดค้นมาอย่างยาวนานของ ‘ตู้’ – อนน เชาวกุล เจ้าของ Refun Machine พร้อมเครื่องมือที่ทำให้การคัดแยกขยะเป็นเรื่องง่ายที่ยั่งยืนอย่างธนาคารขยะ Refun Bank ที่ทำควบคู่กัน โดยมีเป้าหมายเพื่อเปลี่ยนพฤติกรรมของผู้คน ในขณะเดียวยังสามารถสร้างธุรกิจให้ตัวเองได้ในระยะยาว
ทำไมคุณถึงมองว่าการรีไซเคิลคือวิธีการจัดการขยะที่ดีที่สุดในเวลานี้
ปัญหาของขยะทุกวันนี้ วิธีการจัดการขยะที่เมืองไทยทำก็คือเอาไปลงหลุมฝังกลบขยะ เรามองว่านี่ไม่ใช่ทางออกของปัญหา แต่เป็นการย้ายปัญหาไปเรื่อยๆ จนวันหนึ่ง คนก็มองว่าหากทำแบบนี้ไปเรื่อยๆ ก็จะไม่มีที่ทิ้งขยะ ดังนั้น ขยะจึงควรมีที่ไป
มีอีกไอเดียหนึ่งก็คือการเผาขยะเพื่อนำไปทำเป็นพลังงานไฟฟ้า แต่ก็มีปัจจัยที่ไม่เอื้อตามมา เช่น โรงไฟฟ้าทำยากมาก ซึ่งก็ต้องแยกขยะก่อนเหมือนกัน เพื่อให้ได้ combustible waste คือขยะที่เป็นเชื้อเพลิงในตัว ไม่ใช่ขยะที่ต้องฉีดน้ำมันแก๊สแล้วจุดไฟเพื่อเผา แต่ต้องที่มีค่าความร้อนสูง เช่น ยางรถยนต์ เสื้อผ้า ส่วนอื่นๆ ที่เหลือค่อยไปฝังกลบและย่อยสลายทำเป็นปุ๋ยต่อได้ ส่วนไอเดียรีไซเคิลก็คือเมื่อทุกคนรู้จักใช้ ก็ต้องรู้จักการนำกลับมาใช้อีก สิ่งนี้จึงเข้าท่าและน่าจะยั่งยืนได้อีกใน 30–40 ปี
คุณคิดว่าคนต่างจังหวัดหรือคนกรุงเทพฯ มีความรีไซเคิลมากกว่ากัน
เราทำเรื่องรีไซเคิลอยู่ต่างจังหวัด เมื่อก่อนเราก็เคยอยู่กรุงเทพฯ เราเห็นว่าปลายทางคือมีรถเก็บขยะหรือซาเล้งมารับซื้อเหมือนกัน ต่างกันตรงที่คนต่างจังหวัดมีพื้นที่ให้แยกขยะ มีเวลาให้คัดแยก หลายบ้านมีรถกระบะ สามารถขนขยะที่แยกแล้วไปโรงรับซื้อขยะด้วยตัวเองได้ และรถก็ไม่ติด ไม่เหมือนในเมืองที่คนส่วนใหญ่อยู่คอนโดฯ ใช้รถยนต์ และการจราจรก็ติดขัด ทำให้การเคลื่อนย้ายขยะทำได้ยาก ต่อให้แยกขยะแล้วก็ตาม
ความเข้าใจเรื่องการคัดแยกขยะของผู้คนเป็นอย่างไร
คนต่างจังหวัด โดยเฉพาะในชุมชนเล็กๆ อาจจะไม่ได้นึกถึงเรื่องการรักษ์โลกมาเป็นตัวตั้งในการคัดแยกขยะ แต่เขาเห็นว่าเมื่อแยกขยะแล้วขายได้ เขารู้จากการบอกของคนที่รับซื้อว่าอันไหนใช้ซ้ำได้ อันไหนเอาไปขายได้ ประเภทไหนขายได้ราคาดี และรู้ว่าแยกแล้วมีคนรอรับซื้อหรือไปขายได้ที่ไหน ได้ราคาเท่าไหร่ ตรงข้ามกับคนเมือง รู้ว่าขยะต้องรีไซเคิล ต้องแยกขยะ ต้องช่วยกันดูแลโลก แต่คำถามเกิดขึ้นว่า แล้วทำยังไงต่อ
คนต่างจังหวัดสามารถคัดแยกขยะได้เข้มข้นกว่าคนเมืองจริงไหม ในเมื่อมีพื้นที่และเวลา
นั่นมันเป็นภาพในจินตนาการ (หัวเราะ) ไม่ใช่ว่าบ้านในต่างจังหวัดจะแยกขยะกันทุกหลัง หลายหลังก็ไม่แยก และไม่มีการจัดการขยะด้วยซ้ำ รวมทั้งจัดการขยะอย่างผิดวิธีด้วย มีทุกรูปแบบ แต่สุดท้ายก็ต้องมีวิธีจัดการให้เหมาะกับแต่ละพื้นที่ แต่ละชุมชน ไม่ว่าจะเป็นต่างจังหวัดหรือในเมืองก็ตาม และค่อยๆ ให้ทุกคนทำจนกลายเป็นวิถี ไม่อย่างนั้นปัญหาเรื่องนี้คงจบไปนานแล้ว
เราพูดเรื่องรีไซเคิลกันบ่อย แต่ไม่ประสบความสำเร็จเสียที คุณคิดว่าเป็นเพราะอะไร
ใช่ โดยเฉพาะเรื่องการรณรงค์ หรือคำว่าจิตสำนึก ในความเห็นเราที่มาทำ Refun จิตสำนึกไม่ใช่แค่การมาเขียนป้าย ซึ่งเป็นไปได้ยาก เราเชื่อว่าจิตสำนึกจะเกิดจากพฤติกรรมที่ร่างกายมนุษย์เริ่มทำและทำซ้ำๆ ไปเรื่อยๆ เช่น ขวดเปล่าใส่ถังสีนี้นะ จากนั้นจิตสำนึกจะตามมาจากการทำซ้ำแบบนี้ เพียงแต่ว่า ทุกวันนี้เราไม่มีช่องทางให้เขาทำสิ่งนี้ได้ ต่อให้คนเราอาจจะมีจิตสำนึก แต่กลับทำไม่ได้
เราเชื่อว่าคนจำนวนไม่น้อยที่แยกขยะ ในขณะที่อีกหลายๆ คนเชื่อว่า แยกไปก็เท่านั้น สุดท้ายก็เอาไปรวมกันอยู่ดี คุณมองเรื่องนี้อย่างไรบ้าง
นี่คือสิ่งที่เราอยากจะบอกมากๆ เลยว่าในความเป็นจริงสิ่งที่คุณแยกแล้ว เขาเอารวมกันจริง แต่สุดท้ายก็ต้องเอาไปแยกอยู่ดี เอาไปแยกขายได้เงิน แต่ภาพที่ออกมากลายเป็นทำให้ผู้คนปฏิเสธการแยกขยะ เพราะเห็นว่าไปรวมกัน ตรงนี้คือความไม่ชัดเจนในความคิดของผู้คน
เมื่อการจัดการขยะขึ้นอยู่กับไลฟ์สไตล์และบริบทพื้นที่ คุณเองมีวิธีจัดการขยะอย่างไร
การแยกขยะของเราแยกออกเป็น 4 ตะกร้าคือขยะย่อยสลายได้ ขยะทั่วไป ขยะรีไซเคิล และขยะอันตราย แต่ตัวรีไซเคิล เราจะแยกเพิ่มขึ้น เช่น กระดาษที่เราลองเอาไปหมักทำปุ๋ย แต่ก็ยังไม่สำเร็จเสียที (หัวเราะ) แยกโลหะ พลาสติก แก้ว ซึ่งเป็นส่วนที่ขายได้ รวมทั้งดูว่าขยะอันไหนที่เอากลับมาใช้ซ้ำได้ก็จะดีกว่าเอาไปรีไซเคิล
แล้วคุณมีวิธีบอกคนที่บ้านให้ช่วยกันแยกขยะอย่างที่คุณทำอย่างไร
เราไม่ได้บอกหรือบังคับอะไรเลย เราแค่เอาตะกร้ามาวาง ใส่ขยะตามประเภทที่แยก พอคนในบ้านจะทิ้งก็จะดู แล้วก็เริ่มทิ้งตามตะกร้า พอตะกร้าเต็มเราก็รวมๆ ไว้แล้วก็ใส่ท้ายกระบะเอาออกไปที่โรงรับซื้อของเก่า หรือบางครั้งก็มีคนมารับซื้อ เมื่อทุกคนเห็นภาพแบบนี้ซ้ำ พวกเขาก็เข้าใจได้เองว่าขยะที่เกิดขึ้น ระหว่างทางต้องทำอย่างไร และจะไปจบที่ปลายทางคืออะไร เมื่อเห็นกระบวนการทั้งหมด การคัดแยกก็กลายเป็นเรื่องที่ทำได้ทุกวันไปโดยปริยาย
คุณคิดว่า การให้ความรู้เรื่องการคัดแยกขยะจำเป็นมากน้อยแค่ไหน
เราว่าเรื่องการคัดแยกขยะไม่ใช่เรื่องเข้าใจยากเท่าไหร่ ลุงๆ ป้าๆ ที่รับซื้อของเก่าก็สามารถแยกพลาสติกเนื้อต่างๆ ได้ เราเชื่อว่าทุกคนรับรู้และเข้าใจได้ โดยเฉพาะคนเมืองที่เข้าถึงข้อมูลได้ง่าย เรามองว่าการเรียนรู้ผ่านการลงมือทำเป็นสิ่งที่จำเป็น แต่ประเด็นที่มองข้ามไม่ได้ก็คือรู้แล้วว่าแยกขยะยังไง แต่แยกแล้วยังไงต่อล่ะคือปัญหาที่คนไม่รู้มากกว่า นั่นทำให้เราเองอยากเปิดช่องทางให้คนรู้ว่าแยกแล้วไปไหนต่อ เพื่อให้กระบวนการนั้นชัดเจนและสร้างความยั่งยืนให้กับการแยกขยะได้ รวมทั้งสามารถแยกขยะได้เข้มขึ้น ได้ขยะที่มีคุณภาพมากยิ่งๆ ขึ้นไปได้ด้วย
เพราะเรื่องขยะเป็นเรื่องใหญ่ที่หลายคนเข้าใจไม่ได้ชัดเจน ทำให้คุณเลือกที่จะหาทางแก้ไขปัญหาด้วยการเริ่มทำตู้แลกขยะหรือเปล่า
จริงๆ แล้วทุกอย่างเริ่มต้นที่ความชอบเรื่องของสิ่งแวดล้อม ด้วยตัวผมเป็นวิศวกรสิ่งแวดล้อม เราจึงอยากแก้ปัญหา อยากทำให้สิ่งแวดล้อมดีขึ้น และรู้ว่าเราทำเรื่องขยะได้จึงอยากทำ พอดีมีเหตุให้เราต้องกลับบ้านที่จังหวัดอุบลราชธานี เลยติดไอเดียนี้กลับไปด้วยและคิดว่าคงทำเป็นธุรกิจได้ บวกกับสิ่งที่เราตระหนักเรื่อยมา คือทำยังไงก็ได้ไม่ให้ขยะกลับไปเพิ่มในหลุมฝังกลบ หรือทำยังไงก็ได้ให้ไม่ไปถูกเผา ขยะควรนำไปรีไซเคิลได้ โรงรับซื้อของเก่าที่เราซื้อแฟรนไชส์จากวงษ์พาณิชย์มาจึงเกิดขึ้น เพื่อเป็นอีกหนึ่งช่องทางการจัดการขยะที่มีจำนวนมาก โดยให้ส่วนหนึ่งนำไปผลิตได้ใหม่ นับจากวันนั้นถึงตอนนี้ก็ 10 กว่าปีแล้วที่เราทำโรงรับซื้อของเก่ามา
10 กว่าปี ปัญหาขยะที่คุณตั้งใจช่วยลดก็ไม่ได้ลดลงเลย แถมยังเป็นปัญหาคาราคาซังกันมาเนิ่นนาน
ใช่ นั่นเพราะเรายังไม่สามารถเข้าไปถึงต้นตอของคนที่สร้างขยะจริงๆ เรามองว่าขยะจริงๆ ส่วนใหญ่เกิดในเมือง ในห้างสรรพสินค้า ที่อยู่อาศัย หากสังเกตดีๆ จะพบว่าร้านรับซื้อของเก่าจะอยู่มุมหนึ่งของจังหวัด แล้วเราจะทำยังไงให้เจาะเข้าไปได้ ระหว่างนั้นเราก็เห็นวิธีการแก้ปัญหา อย่างง่ายสุดคือตั้งถังขยะแยกประเภท 4 ถัง แต่คนส่วนใหญ่ก็แยกบ้างไม่แยกบ้าง เพราะคิดว่าเดี๋ยวก็ไปรวมกันอยู่ดี เราเลยมองว่าต้องมีแนวทางแก้ปัญหาที่เปลี่ยนไป เพราะสังคมเองก็เปลี่ยนไปเรื่อยๆ ด้วย
แสดงว่าคุณคิดว่าวิธีนี้ได้ผลช้า จึงหาหนทางใหม่เพื่อให้เข้าถึงได้ง่ายและเร็วที่สุด
ใช่ เพราะรูปแบบของการคัดแยกขยะในแต่ละพื้นที่มีวิธีการนำเสนอและสร้างแรงจูงใจที่ต่างกัน โดยเฉพาะระหว่างคนในเมืองกับคนชนบท ดังนั้น จึงต้องหาช่องทางที่เหมาะกับวิถีชีวิตของคนในแต่ละพื้นที่ด้วย โดยเราตั้งใจมุ่งไปที่คนในเมือง เพราะขยะมาจากที่นี่เป็นส่วนใหญ่ เรานำเสนอการคัดแยกขยะผ่านคนรุ่นใหม่เพื่อหวังให้พวกเขาเกิดการคัดแยกขยะได้จริง และเป็นขยะที่ดี สามารถนำกลับไปผลิตใหม่ได้อีกครั้ง จนเป็นที่มาของตู้รีฟัน เราก็ลองผิดลองถูกอยู่หลายรูปแบบ จนในที่สุดปี 2555 เราจึงคิดออกว่าจะทำผ่านตู้แลกขยะอัตโนมัติ เพื่อตอบโจทย์ของผู้คนในเมือง เราขยับปรับเปลี่ยนรูปแบบกันมายาวนานกว่า 5 ปี ท้ายที่สุดปี 2560 ตู้รีฟันโฉมนี้จึงได้เริ่มจำหน่ายเป็นตู้แรก น้ำตาจะไหล (หัวเราะ)
5 ปีเป็นเวลาที่ยาวนานพอจะให้คุณท้อแท้ได้เลย คุณเอาอะไรมายึดโยงสิ่งที่คุณจะทำนี้ต่อ
ความเชื่อล้วนๆ เพราะตลอด 5 ปีที่ทำ มีแต่คนบอกว่าเราทำไม่ได้หรอก แต่ที่เราทำเพราะเราเองก็อยากใช้ และมาจากความฝัน ความฝันที่อยากเห็นคนในโลกอนาคตอยู่ได้โดยไม่เบียดบังสิ่งแวดล้อม สังคมโลกที่เจริญไปพร้อมกับทรัพยากรสิ่งแวดล้อมที่สวยงามและพอเพียงสำหรับทุกคน ส่วนแรงขับที่ทำให้ยังไม่หยุดทำ มันมาจากความเชื่อ เราเชื่อว่าทุกคนควรได้อยู่ในโลกมีทรัพยากรสิ่งแวดล้อมและมีที่จัดการขยะที่ดี และจะเกิดขึ้นได้หากทุกคนร่วมมือกัน ผสมกับความเชื่อว่าชีวิตคงหมดความหมาย ถ้าต้องอยู่กับความเสียดายที่ไม่ได้ลองลงมือทำ
ในแง่ของการทำธุรกิจ ในสถานการณ์นี้คุณคิดว่าจะเป็นอย่างไรต่อไป
เริ่มต้นเราอาจผลิตโปรดักต์ขึ้นมาก่อน ค่อยคิดทำโมเดลธุรกิจเพราะเราอยากใช้จริงๆ แต่เพื่อการดำเนินธุรกิจต่อ เราจึงต้องคิดต่อว่าตู้นี้จะสามารถไปแก้ปัญหาคนเมืองได้อย่างไรหรือไปช่วยอะไรพวกเขา และลองหากลุ่มเป้าหมายหลัก เราใช้เวลาร่วมปีที่ผลิตตู้แรกออกมาแล้วขายไม่ออก (หัวเราะ) ทั้งๆ ที่ราคาก็แทบไม่ได้กำไร เราเลยไปเติมหน้าตาในส่วนหน้าจอให้กับตู้ และลูกค้ารายแรกเป็นหมู่บ้านมาซื้อตู้ในราคาแสนกว่าบาท นั่นทำให้เรารู้กลุ่มลูกค้าของเราคือลูกค้าพรีเมียม อาจจะเป็นองค์กรหรือหน่วยงานที่ซื้อหรือเช่าตู้ของเราเพื่อทำกิจกรรม CSR รวมทั้งเป็นการส่งเสริมภาพลักษณ์ ซึ่งทำให้เราอยู่ได้ และทำสิ่งที่อยากทำต่อได้ด้วย
ตอนนี้ตู้รีฟันกระจายตัวอยู่ที่ไหนได้บ้าง
หลักๆ อยู่ที่กรุงเทพฯ และกระจายอยู่ตามปริมณฑล รวมแล้วประมาณ 40 ตู้ แต่ที่อุบลฯ ยังไม่มีนะ (หัวเราะ)
ทราบมาว่า นอกจากทำ Refun Machine แล้ว คุณยังทำ Refun Bank ธนาคารขยะให้กับหน่วยงานและองค์กรต่างๆ อีกด้วย
ใช่ รีฟันแบงก์คือเครื่องมือสำหรับทำธนาคารขยะรีไซเคิลแบบง่ายๆ ที่เราทำควบคู่กับตู้รีฟันมาตั้งแต่แรก แต่ที่ยังไม่เป็นที่นิยมหรือยังไม่ประสบผลสำเร็จมากเท่าไหร่นัก เรามองว่าการทำธนาคารขยะแบบเก่าสร้างความยุ่งยากให้กับผู้ใช้งาน ยกตัวอย่าง ธนาคารขยะในโรงเรียน สิ่งที่เกิดขึ้นคือทำได้แค่ช่วงเวลาสั้นๆ 3 เดือนหรือ 1 เทอม พอเปลี่ยนเทอมหน้าก็ไม่ทำแล้ว ปีถัดไปอาจารย์ที่ดูแลโครงการ รวมทั้งรุ่นพี่ที่เป็นโต้โผจบไปแล้วก็ไม่มีคนมาสานต่อ หรือโรงเรียนได้รางวัลไปแล้วก็พอแล้ว ท้ายสุดก็ไม่ได้ทำเป็นกิจวัตรจริงๆ ทุกอย่างก็จบ
ตามความเห็นของเรา เราคิดว่าพวกเขามองว่านี่คือ วามยุ่งยาก ซึ่งก็เป็นอย่างนั้นจริงๆ ล่ะ เพราะอย่างแรกเลยจะต้องมีพื้นที่สำหรับสร้างโกดังเก็บขยะ ขนาด 4 x 8 เมตร ต้องมีคนมาดูแลสมุดบัญชี ต้องมีการยกขยะขึ้นลงใส่คอก และมีกุญแจเปิด-ปิดโกดัง ต้องหาคนรับซื้อของเก่า สุดท้ายพอทำไปสักระยะ ก็ไม่อยากจะทำอีกต่อไป โกดังคัดแยกขยะก็ถูกปล่อยทิ้งร้างกลายเป็นซาก
แล้วคุณแก้ปัญหาเรื่องนี้จนออกมาเป็นธนาคารขยะโรงพยาบาลอุบลฯ ได้อย่างไร
เราพยายามปรับรูปแบบใหม่ ไม่เอาแล้วการสร้างโกดัง เปลี่ยนมาใช้โปรแกรมรับซื้อที่สะดวกและใช้งานง่ายดีกว่า เราจึงนำไอเดียนี้ไปลองที่โรงพยาบาลสรรพสิทธิประสงค์ จังหวัดอุบลราชธานี ตอนแรกๆ ที่นี่ก็พยายามสร้างโกดังคัดแยกขยะเหมือนกัน แต่เราบอกว่าไม่ต้องสร้างให้ทรมานใจหรอก แล้วลองใช้กิจกรรมที่แมชชิงกับพฤติกรรมการใช้งานของเจ้าหน้าที่ในโรงพยาบาล เราให้แต่ละแผนกในโรงพยาบาลช่วยกันคัดแยกขยะ จากนั้นจะมีรถมารับซื้อขยะทุกวันตั้งแต่เวลา 13.00–15.00 น. ทุกคนจะต้องนำขยะมาบริเวณที่กำหนดและในเวลานี้เท่านั้น ทำแบบนี้ทุกวันเรื่อยๆ ขยะก็จะถูกปล่อยออกมาอย่างต่อเนื่องจนไม่มีขยะตกค้างอยู่ในโรงพยาบาลเลย
การทำงานของโปรแกรมรับซื้อของเก่า ทำให้การคัดแยกขยะง่ายขึ้นหรือเปล่า
ไม่ใช่ แต่ทำให้ทุกอย่างรวดเร็ว เพียงแค่เจ้าหน้าที่ที่ดูแลธนาคารขยะหนึ่งคนทำการเปิดโปรแกรมรับซื้อขยะ คนอื่นๆ ก็นำขยะที่แยกแล้วมาชั่ง ได้น้ำหนักเท่าไหร่ เป็นเงินกี่บาท ก็พรินต์เป็นสลิปออกมา เสร็จแล้วก็ไปทำงานต่อ เราทำขึ้นเพื่อให้พวกเขาคิดว่าเรื่องนี้ใช้เวลาแค่ 10 นาทีแล้วไปทำงานต่อได้ ไม่ได้กระทบต่อการทำงาน คุณยังคงมีหน้าที่ซัพพอร์ตคนไข้หรือดูแลผู้ป่วยมากกว่า แต่แค่เวลาสั้นๆ ที่คุณทำนั้นสามารถส่งผลต่อปริมาณขยะในแผนกและโรงพยาบาลที่ทำงานอยู่
ส่วนเรื่องการคัดแยกขยะ หากทำบ่อยๆ เป็นประจำก็จะสามารถเปลี่ยนพฤติกรรม จนเป็นกิจวัตร กลายเป็นนิสัย ท้ายสุดคือกลายเป็นจิตสำนึกได้ในระยะเวลาไม่นาน โดยไม่ต้องบังคับหรือมีของรางวัลมาเป็นแรงจูงใจ
โปรแกรมที่ว่านี้ทำงานอย่างไร
เรียกว่าแอพพลิเคชันรับซื้อขยะออนไลน์ ผู้ใช้งานสามารถล็อกอินเข้ามาผ่านเว็บไซต์ แล้วก็สมัครใช้งาน เมื่อเข้ามาก็จะเจอหน้าตาระบบการรับซื้อไม่ต่างจากร้านสะดวกซื้อ เวลาคนนำกระดาษมาขายก็จิ้มหน้าจอที่ไอคอนกระดาษ ชั่งน้ำหนัก ได้กี่กิโลกรัม และเป็นเงินเท่าไหร่ จากนั้นก็ใส่ชื่อสมาชิกหรือชื่อแผนกแล้วลงบัญชีเอาไว้ แล้วพรินต์สลิปออกมา และเพื่อให้ทุกอย่างง่ายและเร็ว ไม่ต้องจ่ายเงินเป็นครั้งๆ แต่จะรวมยอดสะสมไว้เหมือนธนาคารฝากเงิน ครบ 1 เดือน ก็ไปทำเรื่องถอนเงิน ระบบก็ทำการรวบรวมข้อมูล แล้วส่งข้อมูลไปที่ฝ่ายการเงิน เพื่อเตรียมเงินสดไว้ให้ เรียบร้อยทุกแผนกมีเงินจากการขายขยะเป็นของตัวเอง ซึ่งจะนำไปใช้อย่างไรต่อก็แล้วแต่แต่ละแผนกจะดีไซน์เลย
รูปแบบนี้ใช้เวลานานแค่ไหนถึงเห็นผล
เราทำธนาคารขยะกับที่นี่มากว่า 5 ปีแล้ว ทุกอย่างค่อยเป็นค่อยไป อย่างการคัดแยกขยะช่วงแรกๆ ก็ยังแยกแบบเบื้องต้น เวลาผ่านไปทุกคนเริ่มสนใจและสนุก การคัดแยกจึงค่อยๆ เข้มข้นขึ้น การปนเปื้อนของขยะประเภทต่างๆ ก็น้อยลง ส่งผลให้ขยะทั่วไปและขยะติดเชื้อน้อยลงตามไปด้วย นั่นส่งผลให้สามารถจัดการขยะส่วนนี้ได้ดียิ่งขึ้น และเมื่อในโรงพยาบาลมีขยะทั่วไปน้อยลง ทำให้นักการภารโรงมีเวลาที่จะคัดแยกขยะได้อย่างเข้มข้นขึ้นไปอีก สุดท้ายเราก็จะได้ขยะมีคุณภาพ สามารถนำไปรีไซเคิลได้ดียิ่งๆ ขึ้นไปตามลำดับ ที่สำคัญยังสามารถช่วยลดรายจ่ายเรื่องการจัดการขยะไปได้อีกเยอะ
อ่านเจอมาว่าที่จาการ์ตา ประเทศอินโดนีเซียได้ใช้วิธีคัดแยกและจัดการขยะผ่านธนาคารขยะ ที่ประสบความสำเร็จทั้งในแง่ของการคัดแยกขยะ ความร่วมมือ รวมทั้งจำนวนเงินที่หมุนเวียนจากการรับซื้อขยะที่สูง คุณคิดว่าบ้านเราจะทำได้หรือไม่
เราเชื่อว่าธนาคารขยะเป็นรูปแบบของการคัดแยกที่ดีและเป็นการจัดการขยะที่ยั่งยืน หากทำได้จนครบกระบวนการ ตั้งแต่เราในฐานะผู้บริโภค รวมไปถึงการจัดระเบียบคนรับซื้ออย่างซาเล้งให้เป็นระบบ แล้วเชื่อมต่อระหว่างคนต้นทางกับคนกลางทาง อย่างซาเล้งหรือคนรับซื้อขยะให้ทั้งสองทางเจอกันได้ง่ายขึ้นกว่าเดิม เมื่อเป็นแบบนั้นการคัดแยกขยะก็จะทำได้มากขึ้น ขยะรีไซเคิลเองก็จะได้นำกลับไปผลิตของดีๆ มีคุณภาพ กลับมาใช้ใหม่ได้เรื่อยๆ ขยะก็จะลด สิ่งแวดล้อมและสังคมก็จะดีตามลำดับ