อนุชา บุญยวรรธนะ

อนุชา บุญยวรรธนะ: เราต้องเปิดโอกาสให้คนทำงานศิลปะเข้าไปทำงานการเมืองได้

ก่อนหน้านี้มีประเด็นร้อนในแวดวงภาพยนตร์ไทย หลังจาก ‘นุชชี่’ – อนุชา บุญยวรรธนะ ผู้กำกับภาพยนตร์ที่มีผลงานเด่นอย่าง ‘อนธการ’ และ ‘มะลิลา’ ได้ออกมาแจ้งว่าลาออกจากตำแหน่งกรรมการสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย พร้อมชี้แจงเหตุผลสามข้อในลาออก หลังจากได้ต่อสู้ผลักดันข้อเสนอต่างๆ ที่เป็นประโยชน์กับวงการภาพยนตร์มาอย่างต่อเนื่อง แต่ก็ได้รับเหตุผลที่ว่าสมาคมฯ ไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง โดยเฉพาะกรณีที่ ‘ส.ส. กอล์ฟ’ หรือ ธัญญ์วาริน สุขะพิสิษฐ์ ส.ส. บัญชีรายชื่อพรรคก้าวไกล และเป็นอดีตนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย พ้นจากความเป็น ส.ส. เพราะศาลรัฐธรรมนูญเห็นว่าถือหุ้นสื่อ 

        อย่างไรก็ตาม ล่าสุด นุชชี่ได้รับเลือกให้รับตำแหน่งนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยคนที่ 8 จากการโหวตของสมาชิกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยเป็นที่เรียบร้อย 

        adB มีโอกาสสัมภาษณ์นุชชี่ในช่วงก่อนที่เธอจะก้าวขึ้นรับตำแหน่งนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย ในประเด็นที่เธอตัดสินใจลาออก ซึ่งเกี่ยวข้องกับกฎหมายที่คลุมเครือและส่งผลให้เป็นการปิดกั้นโอกาสคนในแวดวงภาพยนตร์หรือศิลปะที่จะเข้าไปมีบทบาทในสังคมการเมือง รวมถึงร่วมส่งเสียงในการร่วมพัฒนาวงการอย่างน่าเสียดาย

        “การที่เราประท้วงโดยการลาออกก็เพื่อให้คนรู้ว่าจริงๆ เราไม่ได้นิ่งเงียบ  ซึ่งก็มีความพยายามของผู้กำกับหลายๆ ท่านที่พยายามจะเปลี่ยนวงการบันเทิงให้สามารถที่จะนำสังคมไปในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตยได้เช่นกัน”

        น่าสนใจและน่าจับตาว่าทิศทางต่อไปของสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยภายใต้นายกสมาคมคนใหม่จะมีหน้าตาเป็นอย่างไร และจะขับเคลื่อนไปสู่ความมีเสรีภาพในการแสดงออกอย่างที่เธอตั้งใจไว้ขนาดไหน

 

อนุชา บุญยวรรธนะ

ย้อนกลับไปตอนที่คุณตัดสินใจลาออกจากการเป็นคณะกรรมการสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทย คุณตัดสินใจนานไหม

        จริงๆ ก็ไม่นาน เพราะก่อนหน้านี้เราก็มีความพยายามทำหลายๆ อย่างให้ทางสมาคมเข้ามา take action ในเรื่อง freedom of speech หรือเรื่องที่ต้องเกี่ยวข้องกับการเมืองบ้าง โดยในกรณีที่มีส่วนเกี่ยวข้องกับวงการภาพยนตร์ หรือบางเรื่องเราอาจไม่ได้มองเป็นการเมืองโดยตรงเลย เช่น กรณีเรื่องการระดมทุนสร้างภาพยนตร์ของคุณต้อม (ยุทธเลิศ สิปปภาค) 

        ทีนี้ พอมีข้อเสนอที่เรามองสมาคมต่างออกไปจากตัวกรรมการท่านอื่นๆ เราเลยคิดว่าน่าจะลาออกเพื่อให้เรื่องมันดันดีกว่า การลาออกหรือการประท้วงก็เพื่อเป็นการต่อสู้แบบหนึ่ง เพื่อทำให้เรื่องออกสู่สาธารณะ แทนที่จะเป็นเรื่องที่เก็บอยู่เฉพาะภายในกรรมการสมาคม แล้วคนภายนอกอาจจะบอกว่าสมาคมไม่ได้มีแอ็กชันในเรื่องต่างๆ ออกมาเลย มันไม่มีแอ็กชันในเรื่องของ พี่กอล์ฟ ธัญวารินทร์ ไม่ได้มีแอ็กชันในเรื่องการระดมทุน ไม่ได้มีแอ็กชันในเรื่องเกี่ยวกับตอนที่มีสถานการณ์บ้านเมืองที่มีการชุมนุมประท้วง หรือมีเจ้าหน้าที่รัฐใช้ความรุนแรงกับผู้ชุมนุม หรือปิดกั้นสิทธิเสรีภาพ สุดท้ายจะกลายเป็นทำไมวงการหนังนิ่งเงียบ ดังนั้น การที่เราประท้วงโดยการลาออกก็เพื่อให้คนรู้ว่าจริงๆ เราไม่ได้นิ่งเงียบ ซึ่งก็มีความพยายามของผู้กำกับหลายๆ ท่าน ที่พยายามจะเปลี่ยนวงการบันเทิงให้สามารถที่จะนำสังคมไปในทิศทางที่เป็นประชาธิปไตยได้เช่นกัน 

การที่สมาคมปฏิเสธในแถลงการณ์ของคุณและบอกว่า ‘สมาคมไม่ต้องการยุ่งเกี่ยวกับความขัดแย้งทางการเมือง’ ถือว่ายอมรับและเข้าใจได้ไหมสำหรับคุณ

        เข้าใจได้ แต่ถามว่ายอมรับได้ไหม เรายังคงไม่เห็นด้วย คือเข้าใจได้เพราะว่ามุมมองต่อสมาคมผู้กำกับของแต่ละคนไม่เหมือนกัน เราว่ากรรมการหลายท่านมองว่าไม่อยากให้เข้าไปยุ่งเรื่องเหล่านี้ เพราะอาจจะมีผลที่ตามมาในหลายเรื่อง หรืออาจจะมองว่าไม่ได้เป็นหน้าที่ของสมาคมโดยตรง เพราะแต่เดิมสมาคมอาจจะไม่เคยทำกรณีแบบนี้มาก่อน แต่เรามองว่าถ้าสมาคมต้องการจะเติบโตหรือเป็นที่ยอมรับมากขึ้น การยืนหยัดเพื่อสิ่งที่ถูกต้องหรือหลักการที่ถูกต้อง มันเป็นส่วนหนึ่งที่สำคัญที่ทำให้คนให้การยอมรับ และจะส่งผลดีโดยรวมด้วยว่าคนอื่นอาจจะยอมรับผู้กำกับไทยว่าเขาต่อสู้เรื่องเสรีภาพและการแสดงออก โดยเฉพาะกลุ่มคนดูหนังรุ่นใหม่ๆ ที่เป็นนักเรียน นักศึกษา ซึ่งต่อไปก็จะเป็นคนดูหนังในอนาคต การที่เราต่อสู้เคียงข้างพวกเขา หรือว่าให้การสนับสนุนแนวคิดที่ตรงกับแนวคิดที่ผู้กำกับทุกคนต้องยึดถืออยู่แล้ว ก็ไม่น่าเป็นเรื่องที่ผิด และเป็นเรื่องที่สมควรกระทำ เพราะอย่างน้อยจะทำให้ผู้ชมมองวงการภาพยนตร์ในแง่ที่ให้การยอมรับนับถือมากขึ้น ว่าเราพยายามดิ้นรนอย่างนี้ เพื่อให้มีสิทธิเสรีภาพ เราสู้เคียงข้างในเรื่องนี้กับทุกคน

ปัญหาเรื่องเหล่านี้มีมานานหรือยัง แล้วการเมืองที่เข้มข้นในช่วงนี้เป็นตัวกระตุ้นให้คุณต้องออกมา take action ไหม

        ภาพยนตร์ไทยไม่เคยได้รับสิทธิเสรีภาพจริงๆ อยู่แล้ว คือ มีความพยายามต่อสู้กันมายาวนาน ตั้งแต่ต้นยุคปี 2550 ตอนนั้นมีการแบนภาพยนตร์หลายเรื่อง อย่างเช่น แสงศตวรรษ ของพี่เจ้ย (อภิชาติพงศ์ วีระเศรษฐกุล) มีการต่อสู้ให้เปลี่ยนจากระบบเซ็นเซอร์โดยสำนักงานตำรวจแห่งชาติ มาเป็นคณะกรรมการจัดเรต มีการร่าง พรบ. ภาพยนตร์ขึ้นมาใหม่ แต่ว่าท้ายที่สุดแล้ว ภาครัฐก็ยังไม่ได้ปล่อยให้ภาพยนตร์เป็นอิสระเต็มที่ ยังมีเรตที่ห้ามฉายอยู่ ทั้งที่ในเมื่อมีการจัดเรตแล้ว ก็มีการถกเถียงว่า ไม่ควรจะมีการห้ามฉายหรือเปล่า ในขณะเดียวกันสื่อที่เป็นออนไลน์ เขาไม่ต้องเซ็นเซอร์ตัวเองด้วยซ้ำ เขาสามารถลงคลิปแล้วรับผิดชอบกันเองเมื่อมีกรณีละเมิดเกิดขึ้นได้ แต่ว่าภาพยนตร์ยังคงต้องผ่านระบบจัดเรตและเซ็นเซอร์อยู่ คือเราเห็นด้วยกับการจัดเรต หรือจำกัดอายุผู้ชมให้เหมาะ มันเป็นหลักการสากล แต่พอมีเรื่องการเซ็นเซอร์เกิดขึ้น ก็ทำให้หนังหรือคอนเทนต์ไทยไม่สามารถแข่งกับต่างประเทศได้

อนุชา บุญยวรรธนะ

ส่วนใหญ่การเซ็นเซอร์มักโยงกับเรื่องศาสนา ศีลธรรม การเมือง ใช่ไหม

        การที่หนังเรื่องหนึ่งจะโดนเซ็นเซอร์หรือไม่โดนมันเป็นเรื่องที่คาดเดาไม่ได้ คือเราพอจับได้เลาๆ ว่า การพูดเรื่องศาสนา การมีเรื่องการเมือง มีสิทธิ์ที่จะโดนเซ็นเซอร์ แต่ว่าไม่ได้ร้อยเปอร์เซ็นต์ หนังอย่าง ไทบ้าน ใครจะคิดว่าจะถูกเซ็นเซอร์ เราอาจจะมองฉากที่พระไปเคาะโลงศพไม่ได้แรง แต่ก็ถูกเซ็นเซอร์ การเซ็นเซอร์หรือระบบจัดเรตในประเทศไทยก็ส่วนหนึ่ง แต่ส่วนหนึ่งคนในวงการก็เริ่มจะมองเห็นแล้วว่า ยังมีเรื่องราวหลายเรื่อง เช่น เรื่องราวในประวัติศาสตร์ก็ตาม หรือปัญหาบางเรื่องที่เราอยากจะเล่า อยากเปิดเผย และเป็นที่สนใจของผู้ชมชาวไทย แต่เราไม่สามารถเล่าได้ พอประจวบเหมาะกับมีการต่อสู้ของกลุ่มเยาวชนขึ้นมาเพื่อที่จะสู้เรื่องนี้ ก็พอจะเห็นทางออกร่วมกันได้ว่า ถ้าประเทศเรามีสิทธิเสรีภาพมากกว่านี้ จะทำให้การทำภาพยนตร์หรือการสร้างสรรค์งานภาพยนตร์มีอิสระมากขึ้น และเป็นส่วนช่วยให้เราแข่งขันกับคอนเทนต์ต่างประเทศได้มากขึ้น

        ลองคิดดูว่าถ้าเราสามารถที่จะเล่าประวัติศาสตร์ในช่วง ปรีดี พนมยงค์ หรือจอมพล ป. หรือเราสามารถที่จะทำประวัติศาสตร์ทางเลือกในช่วง ร.5 ร.7 ร.8 อะไรต่างๆ ก็จะทำให้ทลายข้อจำกัดบางอย่างไป แล้วเราอาจจะได้คอนเทนต์ที่แข็งแกร่ง มีศักยภาพที่จะแข่งขันในประเทศและต่างประเทศได้ รวมทั้งหนังอย่างอัตชีวประวัติหลายๆ อย่าง แต่คนไทยก็มีกฎหมายหมิ่นประมาทอีก ซึ่งเยอะแยะ วุ่นวาย ทำให้พอเราจะทำหนังอัตชีวประวัติ ก็ต้องขอว่าคนนี้ยอมไหม คนนั้นยอมไหม มันทำให้หนังประเภทนี้แทบจะทำไม่ได้เลยในไทย

คุณคิดว่าตอนนี้แวดวงภาพยนตร์ไทยอยู่จุดไหนของเอเชียหรือของโลก

        เราว่าวงการภาพยนตร์ไทยมีเสน่ห์ และเป็นที่ต้องการ หลายๆ ที่อยากได้คอนเทนต์ของประเทศไทย แต่ว่ามันเหมือนเพชรพลอยที่ยังไม่ได้ถูกขัดและเจียระไน หรือใส่ตัวเรือนที่เหมาะสมให้สง่างามอย่างที่ควรจะเป็น มันเหมือนดอกไม้ในมือมาร เหมือนเพชรในโคลนตม เพราะว่ามันพิสูจน์อยู่ว่าต่อให้ล้มลุกคลุกคลานมาอย่างไร ก็ยังมีคอนเทนต์หนังไทยที่สามารถประสบความสำเร็จในระดับนานาชาติได้ ไม่ว่าจะเป็น ฉลาดเกมส์โกง ที่อยู่ๆ ก็ประสบความสำเร็จระดับโลก ทั้งที่ว่าไม่ได้มีอะไรเป็นพื้นฐานที่จะทำให้เกิดความประสบความสำเร็จในหนังเรื่องนี้ได้เลย แต่ว่ามันไปด้วยตัวของมันเองได้

การที่คุณออกมา take action ครั้งนี้ มีผู้กำกับคนอื่นเห็นด้วยกับคุณไหม หรือมันทำให้คุณโดดเดี่ยวไหมกับการต่อสู้ตรงนี้

        คือเรารู้สึกว่ามีผู้กำกับที่เห็นด้วยกับเราเยอะนะ แต่เขาอาจจะไม่ได้ออกมาพูด เพราะวัฒนธรรมบ้านเราทำให้บางคนไม่อยากออกตัว เราว่าหลายคนเหมือนทำงานที่เน้นเรื่องบันเทิงจนไม่ได้สนใจหน้าที่ในเรื่องที่จะต้องสะท้อนหรือวิพากษ์วิจารณ์ปัญหาในสังคมแล้ว เขาอาจจะมองว่าฉันไม่พูดตรงนี้ดีกว่า ถึงแม้ทุกคนอาจจะเห็นภาพเดียวกันว่า การมีอิสระมากกว่ามันก็คือเรื่องที่ดีกว่า ทำให้ต่อสู้ไปก็คิดไปด้วยว่า… (นิ่งคิด) ทำไมมีแต่ผู้กำกับกะเทยกับผู้หญิงที่สู้อยู่ล่ะ

การลาออกมามีผลกระทบอะไรกับคุณบ้างไหม

        ไม่มีหรอกค่ะ การออกมาก็เพื่อทำให้ทุกคนได้รับรู้ ซึ่งก็สำเร็จดีนะ ทำให้ทุกคนรู้ว่าเราต้องให้ความสำคัญในเรื่องนี้ คือเรื่องแก้กฎหมายที่เป็นปัญหา ทำให้ประเด็นต่างๆ ไม่ว่าจะเป็น freedom of speech เรื่องจรรยาบรรณ หรือเรื่องของกฎหมายสื่อที่ยังบกพร่อง คนในวงการได้รับรู้กันแล้ว ฉะนั้นถ้ามันมีช่อง เช่น มีการแก้ไขรัฐธรรมนูญ เราก็ต้องไปตามเรื่องนี้ว่าคุณต้องแก้ตรงนี้นะ ทุกคนก็จะได้รับเสียงจากคนในวงการว่า เราเห็นไปในทางเดียวกันว่าควรแก้ เพราะว่ามันมีกรณีที่เคยเกิดปัญหามาแล้ว หรืออย่าง freedom of speech ก็น่าจะเห็นแล้วว่า มันเป็นสิ่งที่เราสู้มาโดยตลอด ทำให้คนรู้สึกว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้วงการภาพยนตร์ไทยพัฒนาทัดเทียมไปกับนานาชาติได้

ก่อนหน้านี้มีแถลงการณ์จากเพจ ‘ปลดแอกหนังไทย’ ซึ่งมีเป้าหมายในการแก้ไขกฎหมายบางข้อ ส่วนตัวคุณมองว่ากฎหมายไหนที่เห็นว่าเป็นปัญหาที่สุดในเรื่องเสรีภาพทางการแสดงออก (Freedom of Speech) ของคนทำงานแวดวงภาพยนตร์

        ถ้าสืบเนื่องจากกรณีของ ส.ส. ธัญญ์วาริน ก็คือเรื่องนิยามของสื่อ เพราะจะมีกฎหมายในรัฐธรรมนูญข้อ 98 (3) อยู่ โดยข้อ 98 คือ ‘กำหนดคุณสมบัติต้องห้ามสำหรับผู้ที่จะสมัครเป็นสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร’ ส่วนวงเล็บสามระบุไว้ว่า ‘เป็นเจ้าของหรือถือหุ้นกิจการหนังสือพิมพ์ หรือสื่อมวลชนใดๆ’ ทีนี้การที่ใช้คำว่า ‘สื่อมวลชนใดๆ’ เราว่าล้าสมัยแล้ว เพราะคำว่าสื่อมวลชนใดๆ ในกฎหมายที่เราดูของประเทศไทยทั้งหมด เขาจะมีการแบ่งแยกมาว่าเป็น หนังสือพิมพ์ มีวิทยุ โทรทัศน์ ภาพยนตร์ คือสื่อมวลชนเป็นคำที่กว้างมาก ซึ่งรวมไปถึงผู้รับจ้างผลิตหรือผู้ควบคุมช่องทางการเผยแพร่ ด้วยหรือเปล่า

        ในรัฐธรรมนูญมาตรา 98 (3) เขาไม่ได้ต้องการให้นักการเมืองครอบงำสื่อเพื่อเอื้อผลประโยชน์ให้ตัวเอง แต่การที่เราเป็นโปรดักชันเฮาส์รับจ้างผลิตภาพยนตร์ รับจ้างผลิตละคร จะครอบงำสื่อได้อย่างไร ดังนั้น เราควรถูกจัดเป็นสื่อมวลชนหรือเปล่า ข้อนี้สำคัญมาก เพราะลองดูเทียบปัจจุบัน รัฐธรรมนูญนี้เป็นรัฐธรรมนูญที่ร่างมาตั้งแต่ยุคไหนแล้วเป็นกฎหมายที่มีอายุประมาณหนึ่ง แต่ปัจจุบัน landscape ของสื่อเปลี่ยนไปเยอะ ตอนนี้มีโซเชียลมีเดีย ทุกคนที่มีแอ็กเคานต์เฟซบุ๊ก อินสตาแกรม ทวิตเตอร์ ช่องยูทูบ อาจจะมีอิทธิพลมากกว่าบริษัทรับจ้างผลิตสื่อหรือเปล่า อย่างนั้นใครก็เป็นสื่อได้หรือเปล่า

 

อนุชา บุญยวรรธนะ

ข้อสังเกตของคุณคือต้องดูที่เจตนารมณ์ของกฎหมาย

        เราคิดว่าควรต้องดูที่เจตนารมณ์ของกฎหมาย เช่น อาจจะคุมแค่เฉพาะผู้ที่สามารถควบคุมช่องทางการเผยแพร่ได้หรือเปล่า เช่น เจ้าของสถานีโทรทัศน์ เจ้าของช่องบริการสตรีมมิงขนาดใหญ่ เพราะว่าคนที่ผลิตคอนเทนต์ไม่สามารถครอบงำสื่อได้ การที่มีกฎหมายข้อนี้ ทำให้คนในวงการภาพยนตร์ ผู้กำกับ หรือนักแสดง หรือผู้สร้าง ที่โดยมากเวลารับงาน ก็ต้องจัดตั้งบริษัทเพื่อรับงานอยู่แล้ว ทำให้ก่อนที่จะเข้าไปทำงานด้านการเมือง ต้องขายหุ้น หรือเลิกกิจการของตัวเองเสียก่อน เพื่อจะไปสมัครเป็น ส.ส. โดยที่ยังไม่รู้จะได้รับเลือกหรือไม่ เกิดสมมติเราเป็นเจ้าของบริษัทโปรดักชันเฮาส์เอาไว้รับงานผลิตโฆษณาผลิตภาพยนตร์ จะไปเป็น ส.ส. ต้องขายบริษัทเราไปก่อน และยังไม่รู้ว่าได้รับเลือกไหม ถ้าได้รับเลือกก็โอเค ถ้าไม่ได้รับเลือกต้องทำอย่างไร เราขายไปแล้ว มันปิดกั้นโอกาสคนในวงการไปทั้งหมด

        การที่จะมีคนในวงการภาพยนตร์ไปมีเสียงในรัฐสภาก็ยากและน้อยอยู่แล้ว ถ้ามีกฎหมายมาตรา 98 (3) อยู่อีก ก็น่าเสียดายที่ผู้มีความสามารถ ที่อาจจะช่วยพัฒนาหรือให้ทัศนะที่น่าสนใจในวงการบันเทิง วงการสื่อต่างๆ จะไม่สามารถไปมีเสียงตรงนั้นมันหายไป เราคิดว่าต้องแก้ให้ชัดเจนเพื่อให้ตรงตามเจตนารมณ์ตามกฎหมาย และเพื่อไม่ให้นักการเมืองครอบงำสื่อ แต่ขณะเดียวกัน เราก็ต้องเปิดโอกาสให้คนทำงานที่มีความสามารถ ทำงานสร้างสรรค์ศิลปะ ศิลปิน ผู้สร้างหนัง สามารถเข้าไปทำงานทางด้านการเมืองได้ เพราะคนเหล่านี้ไม่ได้สามารถที่จะครอบงำสื่อได้

ถ้าเราแก้กฎหมายนี้ได้ อะไรคือสิ่งที่แวดวงผู้กำกับหรือวงการภาพยนตร์จะได้ประโยชน์ และถ้าไม่แก้ เราจะเสียประโยชน์ในแง่ไหนบ้าง

        ประโยชน์ที่ได้คือ ทำให้กฎหมายใช้ได้ตรงตามเจตนารมณ์ และเป็นการเปิดโอกาสให้คนมีความสามารถ นักทำหนัง คนทำงานสร้างสรรค์ต่างๆ ที่อาจจะถูกมองว่าเป็นสื่อ แต่ว่าถ้าจำกัดคำนิยามดีๆ เรื่องการครอบงำสื่อ และไม่รวมบุคคลเหล่านี้ได้ เราก็จะได้บุคลากรจำนวนมากที่อยากจะเข้าไปทำงานพัฒนาประเทศชาติ แต่ถ้าเราไม่แก้ กฎหมายนี้ก็ไม่ตรงตามเจตนารมณ์ แล้วจะมีช่องว่าง มีความไม่ทันสมัย และอาจจะกลายเป็นเครื่องมีของผู้อำนาจใช้กลั่นแกล้งฝ่ายตรงข้ามหรือเปล่า หรืออาจจะไม่ได้กลั่นแกล้ง แต่ที่สำคัญคือมันปิดโอกาส เพราะถามว่าจะมีใครที่จะยอมแลกหน้าที่การงานไปในอนาคตที่ยังไม่แน่นอน ไปสมัคร ส.ส. ซึ่งก็ยังไม่รู้ว่าจะได้รับเลือกหรือไม่ แต่ต้องขายทุกอย่างไปแล้ว ซึ่งอาชีพอื่นไม่ต้องทำแบบนี้ อาชีพอื่นเขาก็ยังทำอาชีพของตัวเองอยู่ได้ ยังเป็นเสียงของวิชาชีพนั้นๆ อยู่ได้ แต่ของเราไม่ได้ ต้องหยุดทำถึงจะเข้าไปได้ 

การออกมาเคลื่อนไหวตอนนี้มีสัญญาณอะไรจากทางสมาคมบ้างไหม

        ตอนนี้ก็กำลังมีการเปลี่ยนแปลง คิดว่าน่าจะเป็นตัวอย่างที่ดี เพราะทางสมาคมกำลังจะต้องเลือกนายกสมาคมคนใหม่พอดี เขาก็อยากให้เราลงสมัครเป็นนายกสมาคม เราคงลงสมัครและดูว่าใครจะเลือกเราบ้าง มีผู้กำกับท่านไหนจะเห็นด้วยบ้าง หรือว่าใครจะได้รับเลือกก็แล้วแต่ ต้องดูทิศทางการโหวตของผู้กำกับภาพยนตร์ไทยว่าไปในทิศทางไหน อยากให้สมาคมปรับเปลี่ยน มีการ take action กับสถานการณ์ร่วมสมัยมากขึ้น หรือต่อสู้ให้ชัดเจนขึ้น หรือว่าอยากได้สมาคมในลักษณะที่เป็นแบบเดิม

ถ้าคุณได้รับเลือกเป็นนายกสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ไทยจริงๆ อยากเปลี่ยนแปลงอะไร

        อย่างน้อยคือเรื่องหลักการ Freedom of Speech จะต้องถูกทำให้เห็นชัดเจน ต้องสู้ตรงนี้มากขึ้น แต่จริงๆ ยังมีรายละเอียดเยอะ มันมีโครงการประเภทที่ต้องให้มีการจัดตั้ง Film Council เหมือนเป็นโมเดลคล้ายๆ ที่ เกาหลีใต้ ฝรั่งเศส ซึ่งเป็นองค์กรที่กำหนดนโยบายในการพัฒนาภาพยนตร์ แต่ว่าบริหารงานโดยคนที่มีความรู้ความเชี่ยวชาญจากในวงการอุตสาหกรรม และได้รับเงินสนับสนุนจากภาครัฐเป็นรายปี ซึ่งจะทำให้การกำหนดนโยบายภาพยนตร์มีความต่อเนื่อง ไม่ขาดตอน มีคนที่มีความรู้ความเข้าใจในเรื่องวงการภาพยนตร์จริงๆ เข้ามาทำงานตรงนี้ แล้วก็มีเรื่องสหภาพการศึกษา เรื่องอัตราค่าจ้างที่เป็นธรรม และชั่วโมงการทำงานที่เหมาะสม สวัสดิการต่างๆ แต่ว่าของเรายังเพิ่งเริ่มต้นกันอยู่ อาจจะไม่ได้สำเร็จในไม่กี่ปีข้างหน้า และต้องใช้เวลาหลายปี ดังนั้น ต้องค่อยๆ แผ้วถางทางไป ว่าทางไหนจะเหมาะกับประเทศไทย เรื่องไหนทำได้หรือไม่ได้ 

คุณมีโอกาสได้คุยกับคนอื่นในแวดวงภาพยนตร์ไหม เขาจะเคลื่อนไหวอย่างไรกันต่อ

        เราว่าอันนี้เป็นสมาคมผู้กำกับภาพยนตร์ หน้าที่ของผู้กำกับภาพยนตร์อย่างแรกคือทำหนังที่ดี เพื่อพัฒนาวงการ ส่วนเรื่องการดำเนินการต่อสู้ทางด้านต่างๆ มันเป็นงานที่แยกออกมา เป็นงานที่เราจะร่วมกันทำตามแต่กำลังของแต่ละคน อย่างสมาคมผู้กำกับก็เป็นสมาคมที่ทุกคนอาสามาทำ เพราะฉะนั้นมันเป็นการอุทิศเวลามาทำ ก็ทำไปได้ตามแต่กำลังที่มี แต่ว่าในเรื่องสำคัญก็ต้องรีบร่วมแรงร่วมใจกันทำ มันจะเป็นลักษณะเป็นงานๆ ไป

 

อนุชา บุญยวรรธนะ

คุณกลัวไหมว่ามาทำตรงนี้แล้วอาจตกไปเป็นตัวละครในวังวนการเมือง

        ไม่กลัว ตกก็ช่วยไม่ได้ (หัวเราะ) คือถ้าคนเขาจะมองแบบนั้น ก็เป็นเรื่องที่ช่วยไม่ได้ แต่เราก็แค่ทำในสิ่งที่สมควรจะทำ

และมันคุ้มค่าที่จะทำใช่ไหม

        ถ้าเพื่อสิ่งที่ดีกว่าก็ต้องคิดอย่างนั้น ไม่อย่างนั้นก็ไม่พัฒนาสักที สิ่งเดิมอาจจะดีอยู่แล้ว อย่างกฎหมายข้อที่ว่ามา ไม่ใช่ไม่ดี มันมีเจตนารมณ์ที่ดี แต่ในเมื่อเราเจอข้อบกพร่องแล้วเราคิดว่ามีสิ่งที่ดีกว่า ทำไมเราจะไม่แก้ ไม่ใช่ว่าเราจะไปแก้เพื่อให้ฉันเข้าไปโกงได้ ไม่ใช่อย่างนั้นไง (หัวเราะ) มันต้องสื่อสารออกไปให้คนในสังคมเข้าใจในสิ่งที่เราต้องการจะทำ

คุณอยากเรียกร้องให้ผู้กำกับออกมาพูดหรือสนับสนุนเรื่องนี้กันเยอะๆ หรือเปล่า

       แล้วแต่สิทธิของแต่ละบุคคลนะ สำหรับเราก็ไม่ได้ติด บางคนอาจจะไม่ได้เป็นคนชอบโพสต์แสดงออกทางการเมือง เราไม่ต้องไปบังคับเขาก็ได้ แต่เราว่าสิ่งสำคัญคือการทำงาน อย่างของเราเอง น้อยครั้งมากที่จะโพสต์เรื่องที่เกี่ยวกับการเมืองมากๆ แต่เราก็ทำผลงานที่มีการวิพากษ์วิจารณ์การเมืองลงไป ถือเป็น statement ของผู้กำกับออกสู่ประชาชน เราว่าเราเป็นคนที่ทำเป็นผลงานออกไปดีกว่า หรืออย่างกรณีตอนเรียกร้องสิทธิ LGBT เราก็ไม่เคยขึ้นสเตตัสว่าสนับสนุนอะไร เราไม่ได้เป็นคนชอบโพสต์ แต่ถามว่าหนังของเราทำออกมาแล้วสนับสนุนเสียงของ LGBT ไหม มันก็ชัดเจนด้วยตัวของมันเอง แปลว่าสำหรับผู้กำกับแล้ว มันมีวิธีที่ทรงพลังกว่านั้นคือสร้างเป็นผลงาน สร้างเป็นหนังออกมา