อาร์ทตี้ ปฐพร

อาร์ทตี้ ปฐพร กับบทสนทนาว่าด้วยชีวิต การงาน และหนังสือเล่มโปรด

ชื่อของ ‘อาร์ทตี้’ – ปฐพร ทรัพย์ไพฑูรย์ กลายเป็นที่รู้จักอย่างรวดเร็วในฐานะนักข่าว Bangkok Post ที่มีเรื่องชวนฮาแทรกเข้ามาตลอดระหว่างออกไปรายงานข่าวภาคสนามจนกลายมีมไปทั่วอินเทอร์เน็ต แต่ขณะที่ชื่อเสียงของเขากำลังอยู่ในขาขึ้น อาร์ทตี้ประกาศพักหน้าที่ใน Bangkok Post ลงชั่วคราว

        ต่อจากนี้อาร์ทตี้จะก้าวเดินต่อไปอย่างไร นี่คือคำถามที่หลายคนคิด 

        ล่าสุดเขาออกมายืนยันแล้วว่าได้ลาออกจาก Bangkok Post อย่างเป็นทางการพร้อมยืนยันจะ Live ต่อไปในช่องทางของตัวเอง ไม่ว่าจะเกิดอะไรขึ้น ไม่ว่าจะอยู่ที่ไหนในอนาคต แต่เขาจะอยู่กับประชาชนทุกฝั่งทุกฝ่ายเพื่อนำเสนอสิ่งที่เกิดขึ้นอย่างตรงไปตรงมา 

        นอกจากบทบาทการเป็นนักข่าว ชีวิตบทอื่นของอาร์ทตี้ยังมีอีกหลายเรื่องที่น่าสนใจ ก่อนจะมายืนอยู่ในจุดที่สปอร์ตไลต์สาดส่อง เขาเคยถูกตัดชื่อออกจากนักการทูตและการประกวด True Academy Fantasia 2 ครั้ง และถูกยกเลิกจากการเป็นพิธีกร Forbes ก่อนเริ่มงาน 3 วัน การถูกปฏิเสธหลายครั้งเข้าทำให้ตกอยู่ในภาวะซึมเศร้าอยู่ช่วงหนึ่ง สิ่งที่ช่วยให้เขาก้าวผ่านช่วงนั้นมาได้คือหนังสือ คนที่รัก และสัตว์เลี้ยง

        น้อยคนอาจจะรู้ว่าอาร์ทตี้เป็นหนอนหนังสือตัวยงที่ไปไหนมาไหนต้องมีหนังสือติดตัวอยู่เสมอ เวลาพูดถึงหนังสือสักเล่มแววตาเขาจะเป็นประกายขึ้นมาทันที บทสนทนาในวันนี้จึงเป็นเหมือนการเปิดหนังสือที่ชื่อว่า ‘อาร์ทตี้’ ค่อยๆ อ่านทีละบทไปพร้อมกัน เริ่มด้วยบทที่ว่าด้วยสื่อ บทที่ว่าด้วยความชอบ และบทที่ว่าด้วยชีวิต 

 

อาร์ทตี้ ปฐพร

ตั้งแต่คุณประกาศพักจากการทำงานที่ Bangkok Post ก็เห็นยุ่งๆ ตลอดเลยไม่ทราบว่าตอนนี้ได้พักหรือยัง 

        เฮ้อ พักแบบไม่ต้องทำงานที่ Bangkok Post แต่ก็คือยังมีงานเดินสายที่เขาให้พูดเรื่องเสรีภาพสื่อ ถามว่าพักไหมก็ถือว่าพักนะ มันเหนื่อยแต่เหนื่อยแล้วมีความสุข ก็โอเค 

ที่ผ่านมาคุณพูดเสมอว่าการเป็นสื่อมีชื่อเสียงนั้นไม่ดี ทำไมถึงรู้สึกแคร์ในเรื่องของการมีชื่อเสียงมากขนาดนั้นในเมื่อก็มีนักข่าวหลายคนที่มีชื่อเสียง 

        ถ้าไปตามดูในสัมภาษณ์จะรู้ว่าจริงๆ แล้วเราไม่เคยอยากดังในฐานะสื่อ เพราะว่าครูของเรา ‘คุณเอม’ – กรชนก รักษาเสรี บอกว่าเป็นสื่ออย่าดัง ดังแล้วยาก ซึ่งยากจริงๆ อย่างที่เราเห็นในช่วงที่ผ่านมาที่คนมีความคิดเห็นว่าเราเป็นอย่างนั้นอย่างนี้ ของฝั่งนั้นของฝั่งนี้ แม้ว่าเราใช่หรือไม่ใช่ก็ตาม เขาก็คิดไปแล้วโดยไม่ให้โอกาสเราพูด เราเลยเหนื่อย เพราะเราทำงานมาตลอด 3 ปี เราแฟร์กับทุกคนตลอด พอวันหนึ่งโดนแปะป้าย เราเลยคิดว่าเราต้องแสดงความรับผิดชอบด้วยการลาออกจากวงการสื่อเลยหรือเปล่า ถ้าเป็นในญี่ปุ่นเขาทำกันอย่างนั้นเลย เพราะเราต้องเป็นเลนส์ไง ไม่รู้สิ คติส่วนตัวของเราคือ The only job for journalist is to bring free fair accurate information to the public. เพื่อทำให้เกิดการ discourse ขึ้นในสังคม เช่นประเด็นหนึ่งมันอาจจะมีหลายมุม แต่มุมจากคนหนึ่งก็จะเป็นแบบหนึ่ง เราจะทำยังไงให้มุมนั้นมีข้อมูลรอบด้านเพื่อที่คนสามารถตัดสินใจได้อย่างชาญฉลาดที่สุด อย่างเรื่องเลือกตั้งนะ สมมติการเลือกตั้งที่พรรคนี้ดันคุยกับแค่สื่อนี้ ไม่คุยกับสื่อนี้ ประเทศเรามักมีคนชอบพูดว่า สื่อเลือกข้าง มันเลยสำคัญมากที่สื่อจะต้องใส่ใจ 

        คนก็เป็นมนุษย์อะ ต่างมีอคติของตัวเองอยู่แล้ว แต่ในฐานะสื่อคุณจะต้องเป็นกลางที่สุด ถึงกลางมันจะไม่มีจริง แต่เราต้องทำให้ผู้คนสามารถเข้าถึงแหล่งข้อมูลได้ทุกคน ทุกฝั่ง ทุกสี ทุกฝ่าย เพื่อที่จะได้นำข้อมูลที่สังเคราะห์แล้ว กรองแล้วว่ามันถูกต้อง มาวางบนโต๊ะแล้วเถียงกัน ถ้ามีข่าวที่ค่อนข้างมีความแย้งกัน บก. เราเขาจะบอกว่า ต้องฟังความเห็นจากทุกฝั่งก่อน ถึงจะเป็นข่าวรวมกันได้ ถ้ามีข่าวจากฝั่งนี้ก็ต้องมีฝั่งนี้ด้วยมาผสมกันเพื่อให้ประชาชนไปตัดสินเอาเองว่าอะไรจริง อะไรถูกอะไรผิด แค่นี้เอง มันเลยลำบาก ว่าทำไมต้องแคร์ชื่อเสียง เพราะถ้าดังในฐานะนักข่าว คุณเป็นขวัญใจฝั่งนั้น คุณเป็นขวัญใจฝั่งนี้ เขากำหนดความคิดของคุณ คุณก็คุยกับเขายากละ มันเลยเหนื่อย ก็เลยแบบว่า ไม่เป็นก็ได้ เพราะมันก็มาแบบแรนดอม ออกไปแบบแรนดอมก็ได้นี่ ไม่เห็นเป็นไรเลย 

หลังจากยุติการทำงานใน Bangkok Post อย่างเป็นทางการ หากมองย้อนกลับไป ประสบการณ์อะไรบ้างที่คุณได้กลับมาบ้าง

        Bangkok Post คือประสบการณ์ที่ล้ำค่าที่สุดในชีวิต เพราะมันทำให้เด็กรัฐศาสตร์อย่างเราที่จะชอบมั่นหน้าว่าตัวเองมีความคิดของตัวเอง ว่าเราเปิดกว้างแล้ว เมื่อได้เรียนรู้งานจากนักข่าวมืออาชีพจริงๆ ก็ทำให้รู้เลยว่าเราไม่เปิดเท่าไหร่ มันยังมีอะไรที่แบบว่าฉันมีความคิด ฉันมีความสนใจ มีข้อสันนิษฐานไว้ในใจ แต่เป็นนักข่าวคุณเป็นอย่างงั้นไม่ได้ไง คุณจะต้องไปแบบแก้วเปล่า แล้วไปเติมเอาตรงนั้น 

ในกระบวนการทำงานของ Bangkok Post มีความเคี่ยวขนาดไหน 

        เคี่ยวมาก เพราะแต่ละคนเขาก็เป็นอาจารย์จากธรรมศาสตร์ จากจุฬาฯ แรกๆ เราก็โดนแบบ น้องมั่นใจหรือเปล่า ที่เขียนมามันถูกหรือเปล่า เหมือนเขาเกลียดเรา 2 อาทิตย์แรก คือร้องไห้หนักมาก มันยากมาก ตอนอยู่จุฬาฯ เราจะมีรายงานต้องส่งเดือนหนึ่งอาจจะ 2-3 ชิ้น แต่ Bangkok Post เหมือนต้องเขียนรายงานส่งทุกวันเป็นภาษาอังกฤษ แต่พอทำไปทำมาเราก็ชิน เหมือนเราเป็นหนูที่ถีบจักรตัวหนึ่งที่ก็ไปทำงานเพราะวงการข่าวตอนนี้มันตกต่ำจริงๆ ในแง่ที่ว่าเขาต้องพยายามหาฟางเส้นสุดท้ายสำหรับรายได้ ต้องเรียกกระแส ต้องเป็นดราม่า ต้องมีคนพยายามสร้างดราม่านู่นนี่นั่น แต่เราไม่ได้สนใจเรื่องดราม่านั้น ในตัวคนเรามันก็เทาทุกคน มันมีมุมที่มีอารมณ์กันทุกคน แต่ในฐานะที่คุณเป็นสื่อ ถ้าสื่อคุณมีคุณภาพคนก็เข้าหาคุณเอง เรื่องรายได้คิดทีหลัง

 

อาร์ทตี้ ปฐพร

ตอนนี้มองว่าสื่อไทยเป็นอย่างไร 

        ทำงานลำบาก มันเหมือนภาวะวิกฤตที่ทุกคนเขามีความคิดของเขา มีความคิดเห็นที่รุนแรงของเขาอยู่แล้ว เลยยากที่นักข่าวจะทำงาน เพราะไม่ว่าคุณจะนำเสนอข่าวฝั่งไหน คุณจะโดนมองว่าเป็นฝั่งนั้น ฉะนั้นจริงๆ แล้วนักข่าวทุกคนถูกส่งไปตามหมาย อย่างตอนมีการวิพากษ์วิจารณ์ว่าสื่อไทยไม่ทำงาน เราก็ เอ๊ะ สื่อไทยทำงานนะ เขามานะ แต่ด้วยลิมิตของบางอย่าง เพดานของเขา เขาอาจจะพูดอะไรมากไม่ได้ แต่สื่อไทยอยู่นี่นะและมันทำงานลำบาก ไม่ว่าจะพูดอะไรก็ผิดเพราะทุกคนเรามีอคติอยู่แล้ว บางคนก็อ่านแค่พาดหัว คือต้องใช้สติทั้งคนอ่านข่าวทั้งนักข่าวเอง

คิดอย่างไรกับการที่ประชาชนขยับจากการเลิกติดตามสื่อมาเป็นการแบนสปอนเซอร์ที่สนับสนุนสื่อที่ไม่ได้อยู่ข้างพวกเขา

        เข้าใจนะ ทวิตเตอร์มันเร็วมาก ไฟไหม้ฟางเร็วมาก จริงๆ การโดนแบนมันก็เป็นสิทธิเสรีภาพของประชาชน ถ้าเขาอยากจะแบนเขาก็มีสิทธิแบน ก็ถ้าคุณอยู่ข้างประชาชน ประชาชนก็อยู่ข้างคุณ ง่ายๆ แค่นี้เอง คือสื่อชอบเรียกตัวเองว่าฐานันดรที่สี่ ซึ่งฐานันดรที่สี่ไม่ได้หมายความว่าคุณมีอภิสิทธิ์เหนือคนอื่น ฐานันดรที่สี่คือคุณลอยตัวอยู่เหนือทุกอย่างเพื่อตรวจสอบการทำงานของทุกสถาบัน เพราะฉะนั้นถ้าคุณทำหน้าที่ตรวจสอบการทำงานของทุกสถาบันได้อย่างดี ประชาชนก็สนับสนุนคุณอยู่แล้ว ใครทำดีเขาก็สนับสนุน  

หมายความว่าสิ่งที่สื่อนำเสนออยู่ทุกวันนี้อาจจะได้อยู่ข้างประชาชนหรือเปล่า  

        ไม่ เราไม่ตัดสิน เพราะเราไม่สามารถพูดได้ว่าเราอ่านทุกสื่อ คนเราในหนึ่งวันมีแค่ 24 ชั่วโมง แต่สื่อมีเป็นพันๆ สื่อ แค่อยากจะบอกว่าสื่อหลัก traditional media มันยังมีบทบาทสำคัญ เพราะคุณต้องทำให้สาธารณชนเขาสามารถเข้าถึงคุณได้ ถ้าเกิดว่าประชาชนไว้ใจสื่อไม่ได้ มันทำให้เกิดข้อมูลที่ขาดหาย ทำให้เกิดข่าวปลอมได้ง่ายมาก แล้วพอประชาชนไม่เชื่อสื่อหลัก เขาก็จะไปหาสื่ออื่นอ่านเอา ซึ่งเราก็ไม่รู้ว่าสื่อนั้นเอาข้อมูลมาจากไหน เพราะฉะนั้นเราจะยึดโยงที่ Bangkok Post เพราะเขาแน่นอนมากในเรื่องของการเสนอความถูกต้องของข้อมูล แต่บางทีทุกคนมันก็มีผิดพลาดบ้าง มันก็มนุษย์ อย่าไปตัดสินกันมากเลย ไม่มีใครเป็นคนดีหรือเลวร้อยเปอร์เซ็นต์หรอก 

ตอนนี้ทำอะไรอยู่บ้าง เห็นล่าสุดมีการปล่อยเพลง ไม่ลืม ออกมา และก็มีคอนเสิร์ตของตัวเองด้วย 

        จริงๆ อยากอยู่เงียบๆ แต่เราเห็นเพื่อนโพสต์เฟสบุ๊กร้านเขา ก็เห็นคนโล่งๆ เราเลยอยากไปนั่งกินไวน์ พอไปถึงคนน้อย เพราะตอนนี้การท่องเที่ยวในประเทศกระทบกันหมด ฉะนั้นมันยากมากที่จะสร้างรายได้ให้ธุรกิจ ขนาดธุรกิจใหญ่ๆ ยังแย่เลย ธุรกิจฐานรากก็แย่หมด เราเลยไปอุดหนุนเพื่อนหน่อย แล้วก็นั่งคุยเรื่องว่าจะทำอะไรดี เราจะหยุดไปเพื่อทำเพลงตัวเองดีไหม เพราะจริงๆ แล้วความฝันเดียวของเราคือร้องเพลง นั่งคุยไปคุยมา เราเลยบอกว่าเดี๋ยวจะร้องเพลงให้เอาไหม กระตุ้นคนเข้าร้าน เลยจัดเป็นคอนเสิร์ตขึ้นมา คนก็มาฟัง เป็นคืนที่มีความสุขมาก เพราะในขณะที่ทุกอย่างถาโถมใส่เรา มีคนรอบตัวคอยสนับสนุนเรา เราก็รู้สึกดี

นี่ถือเป็นรอบหลายปีเลยไหมที่มีคอนเสิร์ตของตัวเอง 

        ไม่ มีปีที่แล้วช่วงธันวาคม เราเป็นพิธีกรงานคริสต์มาสของสมาคมหอการค้าฝรั่งเศส แล้วเขาจับพลัดจับผลูให้เราไปร้องเพลงบนคอนเสิร์ตที่จัดอยู่ตรงกลางพารากอน คนเขาก็มานั่งฟังสนุกๆ แต่ไม่ได้เป็นทางการเลยไม่ได้เรียกว่าเป็นคอนเสิร์ตครั้งแรก เพราะฉะนั้นอันนี้จึงเป็นคอนเสิร์ตครั้งแรก แต่ก็โดนด่านะว่า เกิดจากม็อบไปฉายแสงร้านเหล้า แต่ก็อย่างว่าทุกคนมีความเห็นของตัวเอง ตอนนี้เรามีแพลตฟอร์มที่ประชาชนเขาให้เรามาในทวิตเตอร์ เราเลยรู้สึกอย่างน้อยจะทำอะไรคืนให้ได้บ้าง งั้นเอาเพลงที่แต่งไว้ละกัน ยอดขาย ยอดดู ยอดดาวน์โหลด เราเอาไปบริจาคโรงพยาบาลอะไรพวกนี้ เพราะประชาชนให้อำนาจเรา เราก็ต้องตอบแทนประชาชน 

ทำไมถึงคิดว่าอยากจะตอบแทนประชาชนในเมื่ออาจจะไม่ต้องตอบแทนก็ได้ 

        ถ้าคนเราเต็มแล้วเราก็ต้องให้คนอื่น เรารู้สึกว่าเราเต็ม ไม่ใช่น้ำเต็มแก้วนะ แต่เรารู้สึกว่าเราอิ่มกับชีวิตตอนนี้ อย่างที่เราไม่เคยรู้สึกมาก่อน ในที่สุดเราก็หายใจออกสักทีจากเรื่องต่างๆ ที่ผ่านมาที่เราไม่เคยเอามาพูด จากที่เมื่อก่อนโทษตัวเองทุกวันทุกคืน ตอนนี้ใจดีกับตัวเองมากขึ้น เพราะถ้าเราไม่ใจดีกับตัวเองก่อน เราก็จะใจดีกับใครไม่ได้ เราเลยรู้สึกว่าตอนนี้เราเต็ม เรามีความสุข ถ้าให้ได้ก็ให้ เมื่อก่อนเรารู้สึกว่าตัวเองไม่ดีพอ เปรียบเทียบนู่นนี่นั่น โกรธว่าทำไมเราไม่ได้ เราไม่ดีพอเหรอ แต่แผลมันผ่านไปแล้ว ตอนนี้ก็เหลือแค่แผลเป็น เราก็ไม่อยากมองกลับ เรามองไปข้างหน้า สิ่งทีเยียวยา คือหนังสือ เพลง หนัง คนที่รักเรา หมา แมว 

จริงๆ คุณเป็นคนแคร์เป็นคนอื่นมากไหม

        เราแคร์คนอื่นที่เสียใจ เช่น คืนที่จัดคอนเสิร์ตด้วยความที่เราเตรียมตัวกันน้อย นักดนตรีเขาก็เสียใจที่คนดูไม่เข้าใจว่าเรากับเขาสนิทกันเพราะเราสั่งให้หยุดเล่นบ่อยๆ เราก็ขอโทษเขา เรารู้สึกแย่นะที่ทำให้คนเสียใจ เพราะว่าความเห็นของสังคมมันเร็วเหมือนกับพายุ มันมาไวไปไว เพราะฉะนั้นใครจะพูดอะไรก็ช่างเขาเถอะ เรารู้ว่าเราเป็นยังไง

 

อาร์ทตี้ ปฐพร

ในฐานะที่ถูกยกเป็นขวัญใจม็อบ ไม่กลัวคนผิดหวังเหรอถ้าต่อจากนี้คุณอาจจะไม่ใช่คนที่ตระเวนไปเสนอข่าวทุกม็อบแล้ว 

        เราไม่ใช่ขวัญใจใคร เราเป็นกระบอกเสียงให้ freedom of expression หรือเสรีภาพในการแสดงออก คุณอยากจะคิดอะไร ทำอะไร ถ้ามันไม่ไปเดือดร้อนใคร ทำไปเถอะ เราเลยบอกว่าไม่เคยแคร์ว่าม็อบไหนเพราะสุดท้ายมันแค่ Infinite time มันก็แค่กระแสน้ำที่เป็นแค่จุดหนึ่งของเวลา ความเห็นของคนก็เป็นแค่จุดหนึ่งของเวลา ถ้าเราทำเขาผิดหวังเราขอโทษ แต่เราเป็นของเราได้ประมาณนี้แหละ 

เห็นคุณให้สัมภาษณ์ว่าเคยทำงานมาหลากหลายสายอาชีพมาก อะไรที่ทำให้ตัวเองเป็นคนที่รับโอกาสทุกอย่างที่เข้ามา

        มีเกมแอ็กชันเกมหนึ่งที่เราชอบมาก เมื่อเราขึ้นไปถึงบนภูเขาสูงสุด มันจะมีจุดให้เราได้เช็กพอยต์ด้วยการให้กระโดด คือเราไม่รู้ว่าข้างล่างคืออะไร แต่ต้องกระโดดลงไป เราก็กระโดดลงไป เราชอบตรงนั้น อะไรโยนใส่เรา เราก็ทำ เป็นประมาณนั้นมากกว่า ถ้าเราทำได้ แล้วเราชอบ ทำแล้วมีความสุขเราก็ทำ  

ก่อนมาเป็นนักข่าว งานอะไรที่เคยทำมาแล้วรู้จักว่าโอเคที่สุด ณ เวลานั้น

        ก็โอเคกับทุกอย่างที่ผ่านมา เราไม่เสียใจกับอะไรก็ตามที่ทำ ไม่เสียใจกับความล้มเหลวหรือตัวตน หรือความสำเร็จ เพราะบอกแล้วมนุษย์มันก็คือสิ่งประกอบสร้างของสังคม สมมติ 100% ของเรามันก็ต้องมีล้มมีลุก เมื่อก่อนตอนเรียนเราอ่านหนังสือพวก fiction เยอะมาก แล้วมันจะเป็นโลกในอุดมคติหน่อย ทำให้เราติดอยู่กับโลกนั้นหลายอย่าง แต่หลังๆ มานี้ชีวิตเหมือนแก่แล้ว แค่เราเปิดใจอ่านหนังสือ non-fiction หนังสือธุรกิจ หนังสือประวัติคนนั้นคนนี้ มันทำให้รู้สึกว่ามีโลกที่ฉันไม่รู้และทำให้เราถ่อมตัวมากขึ้น มีประโยคหนึ่งที่บอกว่าเวลาเราอยู่บนภูเขา เราจะรู้สึกตัวเองตัวเล็กมาก และไม่ได้สำคัญอะไรเลย เราเป็นแค่คนตัวเล็กๆ ในจักรวาล เมื่อการอ่าน fiction มาผสมกับการอ่าน non-fiction เลยเป็นความกลมกลืนของสองโลกที่ทำให้เรากลายเป็นแบบนี้ เป็นคนที่สามารถจะ ‘แล้วยังไง’ กับทุกอย่าง ความสุขเดี๋ยวมันก็ไป ความทุกข์เดี๋ยวมันก็ไป 

ดูเหมือนว่าหนังสือจะมีอิทธิพลต่อคุณมาก

        มีอิทธิพลมาก The book you read define you in some way.  หนังสือ หนัง เพลง ทุกอย่างมีอิทธิพลหมด คนที่อยู่รอบตัวเรามีอิทธิพลหมด 

เมื่อไหร่ที่เริ่มหันมาอ่านหนังสือ จนหนังสือกลายมาเป็นส่วนหนึ่งในชีวิตของคุณ 

        ตอนประมาณ ป.6 เล่มแรกที่อ่านเลยคือ ‘แม่โขง’ เป็นนิยายพญานาค แล้วเราอินมาก เราคิดว่าพญานาคมีจริง มีตัวละครชื่อแวววัน พ่อแม่เขาทำสวนพลู แต่เขาไม่อยากเป็นชาวสวน แวววันอยากเรียนจุฬาฯ พ่อแม่ก็บอกว่าไม่มีทางเป็นไปได้หรอก มันก็คล้ายกับเรา แต่พ่อแม่เราไม่ได้บอกนะ พ่อแม่เราไม่ได้ว่าอะไร แต่บางทีครูที่โรงเรียนบอกว่า น้ำหน้าอย่างเธอเหรอจะเข้าจุฬาฯ ได้ เด็กๆ ทุกคนอาจจะเคยโดน เราไม่ได้บอกว่าจุฬาฯ ดีกว่าที่อื่นนะ แต่แวววันเธออยากเข้าจุฬาฯมาก เธอเก็บเงินจากตอนทำสวนพลูช่วยพ่อแม่ ไปเรียนพิเศษแล้วก็สอบติด มันเลยเป็นแรงบันดาลใจให้เรา  

        จากนั้นก็อ่านหนังสือเรื่อยมา เริ่มอ่านหนังสือภาษาอังกฤษเรื่อง The Interpreter แล้วก็อ่าน แฮร์รี่ พอตเตอร์ ซึ่งตอนนั้นยังไม่มีแปลไทย เลยอ่านหนังสือภาษาอังกฤษมาตั้งแต่นั้น และก็อ่านมาตลอด จะอ่านทุกวัน ในกระเป๋าก็จะมีหนังสือติดอยู่  

มีกระแสที่คนส่วนหนึ่งอาจจะไม่ชอบหนังสือแนวพัฒนาตัวเอง สำหรับคุณคิดอย่างไร

        อยากอ่านอะไรก็อ่าน ไม่ต้องมาทำเป็นเท่ ด้วยความที่ส่วนใหญ่มันคือเรื่องความไม่มั่นคงเวลาดูถูกคนอื่น หรือการเกลียดใครก็ตาม ร้อยทั้งร้อยมันมาจากความไม่มั่นคงของคน ไม่ได้สะท้อนคนโดนด่า มันสะท้อนคนด่าว่าเขาไม่มั่นคงถึงมาด่าเรา 

หนังสืออะไรที่อ่านอยู่ในตอนนี้ 

        ไม่อยากให้คนรู้เลยว่าตอนนี้อ่านอะไร กลัวคนจะเอาไปด่า เราเลยมักจะห่อปกหนังสือเอาไว้ แต่มีชอบหลายเล่มมาก ชอบที่สุดคือ Outliers ของ Malcolm Gladwell ที่เป็นนักข่าวอยู่ New York Times แล้วก็เขียนหนังสือหลายเล่มมาก ฉลาดมาก มันเป็นหนังสือที่เปลี่ยนความคิด เกี่ยวกับ Poverty, Elite Quality, Opportunity, Success, Outliers ว่าคนที่โดดเด่น คนที่ประสบความสำเร็จอย่างสูง จริงๆ แล้วปัจจัยมันคือ ‘โอกาส’ กับ ‘โชค’ ซึ่งมีหนังสือการ์ตูนเล่มหนึ่งเราอ่านแค่ตอนแรกแต่รู้สึกว่าใช่เลย เขาบอกว่าคนทุกคนก็เหมือนซื้อลอตเตอรี่ก่อนวันเกิด โชคดีก็ได้รางวัลใหญ่ โชคร้ายก็ได้แค่เลขท้ายสามตัว แค่นั้น 

        หนังสือ Outliers มันทำให้เราไม่อิจฉาใครหรือว่ารู้สึกอะไรกับใครเลย ทำให้เรามีมุทิตา เพราะว่าทุกอย่างคือองค์ประกอบเรื่องโชคและโอกาส อย่าง บิล เกตส์ หรือใครก็ตามที่เขารวยมากๆ ถ้าไปอ่านหนังสือเล่มนั้นมันจะทำให้เรารู้ว่าไม่มีใครสามารถอ้างได้หรอกว่าความสำเร็จนั้นมาจากตัวเองร้อยเปอร์เซ็นต์ คอนเซ็ปต์มันมาจากทั้งหมดที่เราบอกไป โอกาส จังหวะ โชค เวลา คนรอบตัว เพราะว่าถ้าคุณไม่มีหนึ่ง คุณไปสองก็ไม่ได้

        เช่นว่าทำไมโอกาสทางการศึกษาถึงสำคัญ อันนี้สำหรับความคิดเราเองนะ เพราะโอกาสทางการศึกษาที่ดี มันจะทำให้เขามีมุมมองที่ต่างกัน เหมือนเด็กยืนบนแท่นต่างกัน แล้วมองเห็นได้ต่างกัน ดังนั้น การศึกษาที่ดีสำคัญที่สุด มันทำให้คนฝันได้ เหมือนแวววัน เหมือนเรา ถ้าเราไม่ได้รับการศึกษา บ้านเราไม่ให้การศึกษาเรา ไม่เปิดโอกาสให้เราอ่าน ฟัง ดู อะไรก็ได้  เราก็ไม่มีวันมีวันนี้ 

        การศึกษาสำคัญที่สุด ถ้ามีอะไรที่เป็นวาระเร่งด่วนในการพัฒนาหรือให้เงินก็คือเรื่องการศึกษาที่มีคุณภาพ ไม่ใช่สอนให้เด็กจำ แต่สอนให้เด็กคิด  กระตุ้นเขา ให้การสนับสนุน ให้กำลังใจเขา ให้เขาเป็นอะไรก็ได้ ให้เขาเป็นตัวเอง ไม่มีผิดมีถูกหรอก ทุกอย่างมันเทาหมด คนที่ไปบอกว่าคนอื่นผิดถูก คนนั้นเราว่าไม่แฟร์

        อย่างเรื่องการเลี้ยงดูก็สำคัญ เพราะฉะนั้น อย่าไปมองว่าเกิดมาจากไหน จากตรงไหนไม่สำคัญเลย ก็อย่างที่บอก เกิดมาเป็นคนก็คือการซื้อหวย การเลี้ยงดูสำคัญที่สุด ความอบอุ่นสำคัญที่สุด พ่อแม่เราแยกทางกันก็จริง แต่ว่าเรามีคนในบ้านผู้หญิงสามคนที่รักและดูแลเรามาตลอด คุณแม่ คุณยาย คุณป้า แล้วก็เพื่อนๆ ที่ดี มันทำให้เราเป็นเราในวันนี้ การเลี้ยงดูสำคัญ เพราะฉะนั้น ปัญหาเชิงโครงสร้างสังคมในเรื่องครอบครัว การวางแผนครอบครัว ก็เป็นอีกเรื่องหนึ่งที่รัฐบาลไทยจะต้องให้ความสำคัญมากๆ

 

อาร์ทตี้ ปฐพร

เคยเจอระบบการศึกษาทำร้ายไหม

        ทุกอย่างคือบทเรียน แน่นอนก็ต้องเคยเจอ แต่เราก็ก้าวข้ามไปแล้ว  เราไม่อยากจะยึดติดกับมัน ใช้บทเรียนของเราเป็นของขวัญให้น้องๆ จากที่เราโดนกดขี่หรือว่าการศึกษาทำร้ายทุกคนก้าวข้ามมันไปได้ โรงเรียนเราไม่ดีเหรอ คุณครูเราไม่ดีเหรอ เราก็เรียนได้จากสื่อที่เราไว้ใจได้ จากข้อมูลที่เราไว้ใจได้  ต้องศึกษาด้วยตัวเองเยอะๆ อ่านหนังสือเยอะๆ อย่าไปหวังว่าใครจะมาช่วยเราได้ เราต้องช่วยตัวเองก่อน 

คุณเคยให้สัมภาษณ์ว่าเมื่อก่อนสมัยเรียนเป็นสายบวกมาก เล่าให้ฟังได้ไหมช่วงนั้นเป็นอาร์ทตี้แบบไหน 

        ก็คือป็นคนอินมากไง เด็กรัฐศาสตร์มันเป็นแบบนี้จริงๆ ไปถามใครก็ได้  อินกับความยุติธรรม ถ้าเรารู้สึกว่ามันไม่ยุติธรรมเราก็จะสู้ แต่ตอนนั้นเราก็เด็ก เด็กก็คือเด็ก มันก็มีความรุนแรง พอโตขึ้นก็เริ่มเย็นลงตามวัยตอนนั้นอินกับทุกอย่าง อินกับเรื่องบริจาคเลือด อินกับนิสิตข้ามเพศแต่งชุดนิสิตหญิง แต่ตอนนั้นรู้สึกสนุก เวลามีคนบอกว่าเสียใจกับสิ่งที่ผ่านมา เราจะไปเสียใจทำไม ถ้าเราไม่ได้ไปละเมิดใคร เสียใจทำไม มันก็เป็นเราในวันนี้

แล้วตอนนี้คุณนิยามตัวเองไหมว่าเป็นเพศอะไร 

        วันนี้คุณคนหนึ่งอาจจะเป็นเพศนี้ คนหนึ่งอาจจะเป็นเพศนั้นก็เรื่องของเขา ทำไมสังคมเรายังต้องมาติดอยู่กับคนนี่เพศอะไร สมมติชายหญิง เดินมาแล้วถามว่าคนนี้เป็นผู้หญิงหรือเปล่า คนนี้เป็นผู้ชายใช่ไหม คือเราว่ามันไร้สาระ อยากให้มองคนที่แก่นมากกว่าว่าทุกสิ่งถูกสร้างขึ้นมาเพื่อสังคม everything socially constructed เพศเป็นสิ่งประกอบสร้างทางสังคม ส่วน biological sex เป็นอีกเรื่องหนึ่ง วันนี้เป็นอย่างหนึ่ง พรุ่งนี้เป็นอีกอย่างหนึ่ง เราไม่รู้ได้ 

ขณะที่เราเรียกร้องเรื่องความเท่าเทียมแต่ก็ยังมีการตีกรอบคนคนหนึ่งด้วยนิยามเพศต่างๆ

        ตัวเราเองไม่ได้จะพูดเพื่อลบล้างคนอื่น เราไม่ตัดสิน เราไม่เคยแคร์เลยว่าใครเป็นอะไร แต่ถ้าคนอื่นเขาจะแคร์เขาจะตัดสินก็เป็นสิทธิของเขา เพราะฉะนั้นคนที่โดนตัดสินอยากให้คิดไว้ว่าถ้าเรารู้ว่าเราเป็นใคร ตัวตนเราเป็นอะไร แล้วเราไม่ได้เป็นอะไร เท่านี้ นอกนั้นไม่สำคัญเลย 

จากการโดนปฏิเสธงานมาหลายครั้ง ส่วนหนึ่งคิดว่าเกิดจากการประเด็น LGBTQ+ ด้วยหรือเปล่า 

        เราไม่รู้นะ เราบอกตลอดทุกคนมีสิทธิ์ในการแสดงความคิดเห็น เราไม่มีทางรู้ว่าเขาคิดอะไรกับเรา เหตุผลคืออะไรเราก็รู้กันอยู่ แค่ไม่พูดเท่านั้นเอง 

เมื่อโดนปฏิเสธไปหลายๆ ครั้งเข้ารู้สึกอย่างไร  

        ท้อสิ ท้อ เหนื่อย คนเรามันโดนกระทำหลายๆ ครั้งมันก็ต้องเจ็บ เหมือนหมาโดนเตะๆๆๆ หลายครั้ง เราก็รู้สึก อยู่ตรงไหนก็ไม่ได้ เดินบนถนนก็ไม่ได้แล้ว อาย เจ็บปวด ตอนนั้นก็เป็นซึมเศร้าไปเลย 

มันคือช่วงที่คุณหายไป 3 ปีหรือเปล่า 

        ตอนนั้นเราไปทำฟันมาด้วย เมื่อก่อนฟันยื่น ก็เลยผ่าตัดและต้องพักฟื้นนาน

เห็นว่าเลือกที่จะตัดขาดจากโซเชียลฯ ทุกอย่างเลย

        เพราะว่าตอนนั้นเราดังมากที่ทำ MV ขำๆ ด่าการเมือง ด่าทุกคน เลยรู้สึกว่าเราไม่อยากเป็นแบบนี้ละ ฉุนเฉียว เราไม่น่ารักอะ ลองเปลี่ยนดู เห็นเขาพูดถึงเรื่องโซเชียลดีท็อกซ์ พอลองแล้วมันดีจริงๆ เพราะเราไม่รู้ว่าโลกข้างนอกเกิดอะไรขึ้น แต่โลกรอบตัวเรามีดอกไม้ มีนก มีอะไรเยอะแยะ คือจะฟังเพลง อ่านข่าวใน New York Times โซเชียลฯ ไม่เข้า 

        ถ้ามองย้อนกลับไปเราว่าเราทำถูก ตอนนั้นก็ทรมานนะลงแดงประมาณ 2 เดือนกว่าจะเริ่มเข้าที่ พอนานไป เราก็มีเวลาอ่านหนังสือ มีเวลาทำอะไรมากขึ้น เรื่องโซเชียลมีเดียอยากแนะนำให้อ่านหนังสือเล่มหนึ่งชื่อว่า Ten Arguments for Deleting Your Social Media Accounts Right Now ของ Jaron Lanier ในหนังสือบอกว่าอัลกอรึทึมของโซเชียลมีเดียทำให้เกิด bubble เราเห็นอะไร เราชอบอะไร มันจะทำให้เราเห็นสิ่งนั้นบ่อยๆ เรื่อง personalize marketing ยิ่งน่ากลัว เขาให้ซื้อสินค้า หรือแม้กระทั่ง survey politics ที่ชี้นำการเมืองได้ง่ายๆ เลย โซเชียลมีเดียวผลดีก็มี ผลเสียมันก็มากมาย เหมือนกับทุกอย่างมีดาบสองคม ต้องใช้อย่างระมัดระวัง หลังจากดีท็อกซ์ในครั้งนั้น เรามองย้อนกลับไป เราก็ทำถูกแล้ว เพราะว่าเราเห็นว่ามันทำอะไรกับสติเราบ้าง เรื่องของ self-image เรื่องของ comprehensive ของข้อโต้แย้งเรา ถ้าเราเสพจากโซเชียลมีเดียโดยไม่ดูสำนักข่าว ไม่ดูว่าเขาคัดกรองข่าวไหม มันทำให้เรามีความคิดไปในทางเดียว

 

อาร์ทตี้ ปฐพร

เรื่อง self-image เหมือนเป็นปัญหาหนึ่งที่หลายคนเจอ โดยเฉพาะคนรุ่นใหม่ที่อาจจะรู้สึกว่าเขาดีไม่พอ

        อยากแนะนำให้ดูหนังหรืออ่านหนังสือ The Help ไม่ก็ดูคลิปตอน Abilene พูดกับลูกที่เขาพูดผิดหลักไวยากรณ์แล้วมันสะท้อนภาพสังคมของการกดขี่ เขาพูดว่า you is good, you is kind, you is important ทุกคนมีเวลาของตัวเอง อย่างที่เราบอก มองย้อนกลับไป ถ้าตัวตนเราแน่น เรารู้ว่าเราทำอะไรอยู่ เรารู้ว่าเราต้องไปตรงไหน เรารู้ว่าเราจะต้องทำอะไรเพื่อให้ไปตรงนั้น อย่าไปเปรียบเทียบตัวเองกับคนอื่น ไปอ่าน Outlier อยากให้เด็กไทยได้อ่าน ลองพักโซเชียลมีเดียดูก็ได้ เพราะมันทำให้เราเปรียบเทียบกับคนที่มีมากกว่าไม่ว่าจะทางใดก็ตาม แต่เราไม่รู้หรอกว่าในโซเชียลมีเดียกับในชีวิตจริงมันซ้อนทับกันมากแค่ไหน และอยู่กับตัวเอง อยู่กับคนที่รักเราในโลกความเป็นจริง 

        อ่านหนังสือเยอะๆ หลายแนว สร้างภูมิคุ้มกันทางสังคมในชีวิต อยากเป็นอะไรก็เป็น แล้วก็ฝันวันหนึ่งมันอาจจะเกิดขึ้น แต่ถ้ามันไม่เกิดขึ้นเราก็ไม่เสียใจ เพราะว่าเราได้เดินตามฝันเราแล้ว อย่างเราก็คือแต่งเพลงเก็บไว้เป็น 100 เพลง เก็บไว้ในโทรศัพท์ แต่เข้าไม่ได้เหลือแค่ 10 เพลง เราไม่รู้หรอกว่าฝันในการร้องเพลงของเรามันจะจริงหรือเปล่า แต่เราก็ร้อง ถ้าไม่ทำแล้วมานั่งซึมเศร้าจะมีประโยชน์อะไร ก็แค่ลุกขึ้นมาทำอย่าไปโทษอะไรมาก โทษได้ แต่ว่าดูปัจจัยต่างๆ ว่าจริงๆ แล้วเรายังไม่ถึงตรงนั้นเพราะอะไร

ตอนนี้มองเห็นอนาคตตัวเองเป็นแบบไหน 

        อยากมีหมา ที่บ้านมีแมว 3 ตัว แต่เราชอบหมามากว่า แมวมันชอบคิดว่าเราเป็นทาสมันไง เวลาจะเอาก็มา เวลาไม่เอาอะไรก็หนี และเราเป็นคนคุยกับหมารู้เรื่อง จริงๆ นะ (หัวเราะ) ตอนนั้นไปดูชิบะคาเฟ่ที่ญี่ปุ่น มีคนประมาณ 10 คน เขาก็ปล่อยหมามา หมาก็วิ่งเล่นกันเอง แล้วมันกระโดดเข้าใส่เราคนเดียวเลย คนตื่นเต้นกันใหญ่ คือเรารู้สึกว่าเราจมูกดี เราชอบกลิ่นหมามาก เราชอบดมหมา เป็นโรคจิต หมามันไม่มีผลประโยชน์แอบแฝง เราเลยอยากได้ชิบะสักตัว แล้วก็แก่ตายไปกับหมากับคนที่รักพร้อมกับหนังสือ เพลง หนัง 

อยากฝากอะไรถึงคนที่ยังทำงานสื่อไหม หากต่อไปคุณอาจจะไม่ได้ทำหน้าที่ตรงนี้แล้ว 

        ทำเพื่อประชาชน ไม่ว่าจะฝั่งไหน นำเสนอข้อมูลที่รอบด้าน ที่ถูกต้อง ที่เช็กแล้ว เพื่อให้การถกเถียงในสังคมมีประโยชน์ และคนไทยคุยกันได้โดยไม่เกลียดกัน