Deep Eye

Deep Eye: แอพพลิเคชันคัดกรองเบาหวานขึ้นจอตา ผลผลิตจากการศึกษาที่ไม่พึ่งพาสูตรสำเร็จ

Deep Eye แอพพลิเคชันช่วยคัดกรองผู้ป่วยโรคเบาหวานขึ้นจอตาและผู้ป่วยโรคจอประสาทตาเสื่อม หลักการทำงานคือผู้ใช้งานสามารถใช้กล้องถ่ายภาพจอตาแบบเคลื่อนที่ส่องตรวจหาโรคเบาหวานขึ้นจอตา ซึ่งข้อมูลนั้นจะถูกวิเคราะห์ผ่านแอพพลิเคชันโทรศัพท์มือถือ และสามารถตรวจคัดกรองได้ทันทีว่าผู้ตรวจป่วยเป็นโรคเบาหวานขึ้นจอตาหรือโรคจอประสาทตาเสื่อมหรือไม่ ซึ่งจะช่วยลดเวลาและปริมาณงานของบุคลากรทางการแพทย์ไปได้ไม่น้อย

        เห็นได้ว่าเทคโนโลยี AI ในปัจจุบันได้กลายเป็นผู้ช่วยคนสำคัญของมนุษย์เรียบร้อยแล้ว คำถามต่อมาจึงอยู่ที่ฝั่งของมนุษย์แทนว่าพวกเราเตรียมพร้อมจะเป็นผู้ใช้งานโดยพึ่งพาระบบ AI แล้วหรือยัง 

        พบกับความเห็นของ รศ. ดร. จาตุรงค์ ตันติบัณฑิต กับเส้นทางของการพัฒนาแอพพลิเคชันว่าก่อนจะไปถึงมือผู้ใช้งานต้องผ่านอะไรบ้าง และในอนาคตระบบการศึกษาจะสามารถผลิตบุคลากรผู้สร้างและผู้ใช้งานปัญญาประดิษฐ์ที่มีคุณภาพได้อย่างไร

 

Deep Eye

คุณเริ่มทำแอพพลิเคชันมานานหรือยัง

        ผมเริ่มทำแอพพลิเคชันมา 10 ปีตั้งแต่จบปริญญาเอกเมื่อปี 2006 พอผมได้มาสมัครเป็นอาจารย์ที่มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ก็ได้รู้จักศูนย์แห่งความเป็นเลิศทางวิชาการด้านสารสนเทศอัจฉริยะ เทคโนโลยีเสียงพูดและภาษา และนวัตกรรมด้านบริการ (CILS) ที่เป็นองค์กรที่ส่งเสริมงานวิจัยสำหรับตีพิมพ์สู่วารสารและต่อยอดการสร้างสรรค์สิ่งประดิษฐ์และผลิตบุคลากรชั้นนำในด้านเทคโนโลยีสู่สังคม ซึ่งส่วนที่องค์กรให้ความสำคัญมากที่สุดคือด้านการรักษา ซึ่งผมมองว่าน่าสนใจดี จึงร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการก่อตั้ง และนำความรู้เรื่องเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์มาปรับใช้กับการสร้างแอพพลิเคชันในการคัดกรองโรคจนเกิดเป็น Deep Eye อย่างที่เห็นกัน

Deep Eye เป็นแอพพลิเคชันแรกของคุณที่เกี่ยวกับการแก้ปัญหาโรคภัยไข้เจ็บหรือเปล่า

       เป็นเรื่องของจังหวะมากกว่า ความจริงผมจบปริญญาเอกทางด้านเสียงพูด (Speech Processing) เน้นไปที่การประมวลผลต่อสัญญาณเสียงพูด ทำให้เสียงทนทานต่อคลื่นหรือเสียงรบกวนอื่นๆ หลังจากนั้นผมก็กลับมาที่ไทย โดยงานแรกที่ได้ทำคือการพัฒนาการใช้เสียงอัลตราซาวนด์ตรวจคัดกรองผู้มีความเสี่ยงที่จะเกิดโรคหลอดเลือดสมอง (Stroke) ซึ่งเป็นงานทางการแพทย์ จากนั้นผมก็พัฒนาและต่อยอดออกมาเรื่อยๆ จากเสียงไปสู่ภาพและวิดีโอ ซึ่งกลายมาเป็นอีกหลายแอพพลิเคชันรวมถึง Deep Eye ด้วย

AI ถือเป็นสิ่งใหม่สำหรับการแพทย์มากน้อยแค่ไหน

       ต้องบอกว่าในสมัยก่อน AI เป็นศาสตร์ที่ใหม่มากและยังมีข้อจำกัดทางการแพทย์อยู่เยอะ เขายังไม่เปิดรับ AI เท่าที่ควร อาจเพราะเรายังไม่เคยคุยเรื่องนี้กันอย่างจริงจัง ในสมัยนั้นคนยังไม่รู้ว่า AI สามารถทำอะไรได้บ้าง 

ที่คุณสร้าง Deep Eye ขึ้นมา ก็เพื่อช่วยในการตรวจคัดกรองโรคโดยเฉพาะ ไม่ใช่เพื่อการรักษา

        ปัจจัยที่เรามาทำในเชิงการคัดกรองก่อนเพราะต้องการลดภาระให้กับแพทย์ ปัจจุบัน บุคลากรทางการแพทย์ยังขาดแคลนอยู่เป็นจำนวนมาก และเวลาที่เสียไปส่วนใหญ่คือการตรวจคัดกรอง ซึ่งเป็นงานกิจวัตรที่กินเวลามาก แทนที่แพทย์จะเอาเวลาไปตรวจรักษารักษาผู้ป่วยที่โรคมีความรุนแรงซึ่งต้องใช้ความรู้ความสามารถอย่างเต็มที่ของแพทย์ ก็ต้องมาคัดกรองคนที่ไม่ได้ป่วยด้วย เลยเกิดไอเดียขึ้นว่าจะให้  AI เข้ามาช่วยแก้ปัญหาต้นทางเรื่องปริมาณของผู้ป่วยก่อน ประเทศไทยมีประชากรถึง 70 ล้านคน แต่เรามีจักษุแพทย์อยู่แค่ 1,500 คน ซึ่งครึ่งหนึ่งอยู่ในกรุงเทพฯ ดังนั้น คนที่อยู่ต่างจังหวัดหรือโรงพยาบาลชุมชนจึงเข้าถึงการตรวจได้ยาก AI จึงมีประโยชน์มากหากมันช่วยคัดกรองผู้ป่วยก่อนจะถึงมือแพทย์ในเบื้องต้นได้

 

Deep Eye

แสดงว่า AI ในปัจจุบันก็ยังไม่ฉลาดพอที่จะวินิจฉัยเรื่องของการรักษาได้ทันทีใช่ไหม

      เพราะการใช้ AI ในทางการแพทย์ ไม่ว่าจะเป็นการคัดกรองหรือวินิจฉัย ในปัจจุบัน AI ตัวนั้นต้องได้รับการรับรองจากองค์การอาหารและยาก่อน ทำให้การคัดกรองโรคมีความเสี่ยงต่อตัวผู้ป่วยน้อยกว่าเนื่องจากเป็นการช่วยสนับสนุนการทำงานของแพทย์และการวินิจฉัยยังกระทำโดยแพทย์ ดังนั้น การขออนุมัติ FDA สำหรับการตรวจคัดกรองสามารถทำได้ง่ายกว่า ถ้าหากเราเริ่มจากส่วนนี้แล้วประชาชนยอมรับ แพทย์ยอมรับ คนในสังคมเริ่มใช้งานอุปกรณ์ของเรา ก็จะเกิดการพัฒนาและต่อยอดมากขึ้นเรื่อยๆ ซึ่งตอนนี้ก็มีแอพพลิเคชันหลายตัวที่กำลังพัฒนาสู่ขั้นตอนนี้อยู่

ใช้เวลานานไหม กว่าที่ Deep Eye จะได้การยอมรับจากวงการแพทย์

         ในช่วงแรกก็ยากเหมือนกัน การที่จะเข้าไปพูดคุยและร่วมมือกับแพทย์ สิ่งสำคัญเลยคือเราต้องทำให้เขาเปิดใจก่อน ซึ่งปัจจุบันที่ผมเจอคือเขาเปิดรับอยู่แล้ว แพทย์สมัยนี้ปรับตัวและเปิดใจมากขึ้น เขาเริ่มมองหาเทคโนโลยีมาช่วยเหลือมากขึ้นในหลายแง่เพราะเขาก็รู้ดีว่าอาชีพตัวเองมีปัญหาเรื่องจำนวนงานที่เยอะเกินไป และก็เข้าใจว่าเราจริงใจที่จะมาแก้ไขปัญหาในตรงนี้ กลายเป็นว่าหลังๆ แพทย์จะมีโจทย์มาให้พวกเราสร้างสิ่งประดิษฐ์มาแก้ไขด้วยซ้ำ

        เพราะยังมีหลายคนคิดอยู่ว่า AI จะมาแทนที่มนุษย์ ผมอยากบอกว่า AI จะมาช่วยเหลือเรามากกว่า อย่างงานของผมเองก็จะเห็นว่า มันมาช่วยเหลือแพทย์ ไม่ได้มาแทนที่แพทย์จริงๆ

เวลามีแอพพลิเคชันใหม่ๆ ที่เกี่ยวข้องกับโรคภัยไข้เจ็บ คนทั่วไปกล้าใช้กันไหม

        ปกติเวลาผมจะสร้างสิ่งประดิษฐ์ขึ้นมา ผมจะยึดหลักการอยู่ 4 ข้อคือ หนึ่ง ต้องใช้งานง่าย ขั้นตอนไม่ยุ่งยาก สอง ราคาต้องถูก เพราะประเทศไทยไม่ได้มีเงินทุนมากขนาดนั้น สาม ต้องปลอดภัย ไม่มีอันตรายใดๆ ต่อผู้ใช้งาน และสี่ ต้องคัดกรองโรคและรักษาได้อย่างแม่นยำ  

แอพพลิเคชัน Deep Eye คว้ารางวัล Grand Prix ระดับโลกมาด้วย คุณคิดว่าอะไรทำให้ผลงานนี้เข้าตากรรมการ

        งานสิ่งประดิษฐ์ระดับโลก ครั้งที่ 45 (International Exhibition of Inventions) ที่กรุงเจนีวาจะมี 22 สาขา มีผลงานจากทั่วโลกมากกว่า 1,000 ผลงาน ซึ่งแอพพลิเคชัน Deep Eye อยู่ในสาขาการแพทย์ คณะกรรมการจะพิจารณาผลงานทุกผลงาน และรางวัลที่ใหญ่ที่สุดของงานคือ Grand Prix ซึ่งต้องแข่งกันทุกผลงานในทุกสาขา ผมมีโอกาสได้คุยกับคณะกรรมการ ก็ถามเขาว่าทำไมงานของผมถึงได้รางวัล เขาตอบว่าอย่างแรกเลยคือ ‘extremely easy’ ใช้งานง่าย ได้ผลจริง และใช้ได้กับเป้าหมายกลุ่มใหญ่อย่างโรคเบาหวาน ทุกวันนี้มีคนเป็นโรคเบาหวานมากกว่า 380 ล้านคน ซึ่งคิดเป็น 1ใน 10 ของประชากรโลก เขาจึงมองว่างานของผมสามารถช่วยเหลือผู้ป่วยได้ในวงกว้าง

การใช้ AI ของคุณช่วยวิเคราะห์ผล มีความเที่ยงตรงระดับไหน

        ความผิดพลาดของผู้ใช้งานหรือความผิดพลาดของแอพพลิเคชันเองเกิดขึ้นได้เสมอ ไม่มีอัลกอริทึมไหนที่สามารถใช้งานได้ 100 เปอร์เซ็นต์บนโลก

        แต่ปัจจุบัน ทางด้านการแพทย์ของประเทศไทยก็มีมาตรการในการตรวจสอบเทคโนโลยี AI เหมือนกัน ดังนั้น การที่เราจะสร้างแอพพลิเคชันขึ้นมา กว่าจะสามารถปล่อยให้ใช้งานได้จะต้องได้รับการยอมรับจากหน่วยงานที่ตรวจสอบก่อน ซึ่งกว่าจะยอมรับ เขาก็ต้องมั่นใจแล้วมั่นใจอีกว่าแอพพลิเคชันสามารถใช้งานได้ถูกต้อง ใช้งานได้เทียบเท่าหรือดีกว่าแพทย์ และมีข้อผิดพลาดน้อยที่สุดแล้วจริงๆ ดังนั้นถ้าพิจารณาตามมาตรฐานของไทยแล้ว ผมว่าเรื่องนี้ไม่น่าเป็นห่วงเท่าไร

        อีกอย่างคือตอนนี้สิ่งที่เรากำลังสร้างคือการคัดกรองเพื่อหาโรค ซึ่งหากข้อมูลผิดพลาดดันอ่านค่าคนที่ไม่ป่วยกลายเป็นผู้ป่วย เขาก็ต้องไปโรงพยาบาลเพื่อตรวจและรอฟังคำวินิจฉัยกับหมออีกรอบอยู่แล้ว จึงไม่ต้องกังวลอะไร ส่วนกรณีที่เป็นผู้ป่วยแล้วผลตรวจจากแอพฯ ออกมาว่าไม่ป่วย อันนี้มีความรุนแรงอยู่ เป็นสิ่งที่ผู้พัฒนาต้องแก้ไขให้มีข้อผิดพลาดเช่นนี้เกิดขึ้นให้น้อยที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้

 

Deep Eye

คุณคิดว่าตอนนี้วงการ AI ในประเทศไทยพัฒนาขึ้นมากแค่ไหน สามารถเทียบเคียงกับนักพัฒนา AI บนเวทีโลกได้หรือยัง

        ผมคิดว่าอุตสาหกรรม AI ในไทยกำลังพัฒนาไปในทางที่ดีขึ้น บุคลากรมีความรู้ความสามารถในด้านนี้ก็มีให้เห็นอยู่ตลอด ซึ่งเทียบกับระดับโลกได้สบาย แต่ปัญหาคือจำนวนบุคลากรและเงินลงทุนในด้านนี้ที่ยังขาดแคลนอยู่มาก 

        ปัญหาหลักจริงๆ คือเรื่องเงินลงทุน เราจึงต้องยอมรับว่าเรายังตามหลังอีกหลายประเทศ อย่างตัวผมเองก็มีวิธีการสร้าง AI ไม่เหมือนกับต่างประเทศ ของผมจะเน้นใช้ทรัพยากรที่มีอยู่อย่างจำกัดสร้างสิ่งประดิษฐ์เพื่อแก้ปัญหาและใช้ให้เกิดประโยชน์มากที่สุด แต่ของเขาจะมีการสนับสนุนในด้านเงินลงทุนและการเข้าถึงอุปกรณ์ที่สูงมากเพื่อให้เกิดการสร้างสิ่งใหม่แบบพลิกโฉมวงการไปเลย 

        ทุกวันนี้ต่างประเทศเขานำเทคโนโลยีหลาย ๆ ตัวที่เรายังทำการพัฒนาอยู่ออกมาใช้กันแล้ว เพราะมีเงินลงทุน มีบุคลากรที่เพียงพอ แต่ประเทศไทยเรายังติดปัญหาตรงนี้อยู่ ผมคิดว่าถ้าเราได้รับการสนับสนุนในเรื่องนี้ วงการเทคโนโลยีประเทศไทยก็พัฒนาได้ไม่แพ้ต่างประเทศเหมือนกัน

        ผมว่าเด็กยุคนี้พัฒนาขึ้นมาก ทุกวันนี้เรามีสื่อทุกอย่างที่ดูผ่านอินเทอร์เน็ตได้เต็มไปหมด คอร์สเรียนออนไลน์ก็มีเยอะแยะ เป็นข้อดีสำหรับตัวเด็ก แต่ก็เป็นข้อเสียกับประเทศไทย เราสูญเสียเด็กไทยเก่งๆ มากขึ้น เพราะเขามีความสามารถในการไปเรียนที่ต่างประเทศได้มากขึ้น ซึ่งพอเรียนจบเขาทำงานที่นั่นต่อเลย ไม่กลับมา กลายเป็นว่ามันสมองไหลออกจากประเทศ คนพัฒนาที่เก่งจริงๆ ไม่ค่อยได้อยู่ในประเทศไทย 

แต่ดูเหมือนเรื่อง AI หรือเทคโนโลยีใหม่ๆ ยังไม่ใช่ความสนใจของคนในวงกว้าง ทั้งที่มันคือโลกอนาคตที่เราต้องใช้ชีวิตร่วมกับสิ่งเหล่านั้น

        ผมมองว่าเป็นเรื่องของระบบการศึกษา เราต้องแก้ตั้งแต่ระบบการศึกษาไทยตั้งแต่ยังเด็กเลย อันดับแรกคือต้องยอมรับกันก่อนว่าการศึกษาในไทยค่อนข้างจะตีกรอบ สังเกตไหมว่าตั้งแต่เริ่มโตมาเด็กจะถูกให้เรียนพิเศษอย่างเดียว เพื่อที่จะไปตอบข้อสอบแบบกาคำตอบอย่างเดียว ดังนั้นเด็กก็จะคิดอย่างเดียวว่า ‘ฉันจะทำอย่างไรให้กาคำตอบให้ถูกเพื่อให้ได้คะแนน’ แต่ที่ต่างประเทศข้อสอบเขาจะให้โจทย์กับเด็กได้คิด บ่อยครั้งเป็นโจทย์ที่ไม่มีถูกผิด แต่เขาจะให้เด็กอธิบายกระบวนการคิดและการได้มาซึ่งคำตอบ โดยอาจารย์ก็จะให้คะแนนในส่วนนี้แทน ผมมองว่าข้อสอบแบบนี้จะฝึกให้เด็กได้เกิดการเรียนรู้และหล่อหลอมให้เขากลายเป็นคนกล้าที่จะคิดสร้างสรรค์

        AI เป็นศาสตร์ที่สนุกมาก มันไม่ได้มีแค่ตัวเลข มีแค่โค้ด แต่มีเรื่องของศิลปะ สังคม จิตวิทยา อะไรอีกหลายสิ่งให้เขาได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์เติมลงไป ซึ่งผมมองว่าวิธีการสอนของไทยก็ต้องปรับเปลี่ยนให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ด้วย

ถือเป็นปัญหาเรื้อรังของระบบการศึกษาไทยก็ว่าได้ ที่ตอนนี้เด็กหรือคนทั่วไปมักสนใจแต่เรื่องของผลลัพธ์มากกว่าวิธีการ

        เพราะเราโดนสอนแบบนี้มาโดยตลอด เราไม่ค่อยให้ความสำคัญกับกระบวนการคิด กระบวนการวิเคราะห์ กระบวนการแก้ปัญหา แต่ให้ความสำคัญกับคำตอบที่ถูกมากกว่า เราสร้างระบบที่ไม่สอนให้เขาตระหนักว่าเขาได้เรียนรู้อะไรมา เราสร้างเงื่อนไขว่าถ้าตอบถูกก็ได้เกรด ง่ายๆ แค่นั้น เด็กเลยสนใจแค่เรื่องเกรด เขาไม่ได้สนใจว่าวิธีการที่ได้มาเป็นอย่างไร อ่านหนังสือ เรียนพิเศษ ลอกเพื่อน หรือเดา ถ้าทำแล้วได้เกรดดี เขาก็ทำ

ยิ่งยุคนี้เต็มไปด้วยคำตอบสำเร็จรูปและสูตรสำเร็จต่างๆ ในชีวิตเต็มไปหมด 

        ใช่ กลายเป็นว่าเราไม่สนใจว่ากระบวนการในการหาผลลัพธ์ว่าต้องใช้อะไรบ้าง ซึ่งเป็นส่วนที่จะทำให้เกิดความคิดสร้างสรรค์ เช่น เวลาเรียนเรื่องหิน ปกติเราก็จะได้แค่ท่องตามรูปในหนังสือว่าหินคืออะไร ลักษณะเป็นอย่างไร แต่การเรียนมันควรจะให้เด็กออกไปลองหาหิน ไปจับหิน ลองไปขว้างลงพื้น ลองเอาไปจุ่มน้ำ แล้วเรียนรู้เองว่าหินมันแข็งไหม น้ำซึมเข้าไปหรือเปล่า ถ้าเอาไปจุดไฟเผาล่ะ ถ้าลองทุบกับหินอีกก้อนล่ะ แค่นี้ก็เกิดการต่อยอดความคิดมากมายแล้ว และสิ่งเหล่านี้จะทำให้เขาเกิดคำถามต่อไปเอง 

        ถ้ามองไปต่างประเทศอย่างมหาวิทยาลัยชั้นนำของโลกหลายที่ เขาจะไม่มีวิชาบังคับเลย อยากเรียนอะไรก็เรียน จะเรียนเมื่อไรก็ได้ ขอแค่เก็บหน่วยกิตให้ครบพอ ซึ่งมหาวิทยาลัยหลายแห่งก็พยายามปรับเปลี่ยนไปตามทิศทางของโลกแบบนี้ แต่ก็ต้องค่อยเป็นค่อยไป

        แต่หลักสูตรแบบนี้ จริงๆ ก็เป็นดาบสองคมนะ การที่เราไม่มีวิชาพื้นฐานเลย จะทำให้เด็กหลงทางมาก ผมก็เคยคิดเหมือนกันว่าเราจะเรียนวิชาที่ไม่จำเป็นไปทำไม แต่เอาเข้าจริงเราก็ได้ใช้ความรู้จากวิชานั้นอยู่ตลอด ผมมองว่าสมัยนี้เรียนรู้ให้กว้างไว้ก็ดี มองวิชาอื่นๆ ในหลักสูตรไว้บ้าง แต่ถ้าเด็กอยากเรียนอะไรเพิ่มเติม มหาวิทยาลัยก็ต้องเปิดโอกาสให้เด็กเรียนรู้เหมือนกัน

โลกเปิดกว้างขึ้น ข้อมูลหาง่ายขึ้น แต่กลายเป็นว่าคนกลับค้นพบตัวตนและศักยภาพที่แท้ของตัวเองได้น้อยลงกว่าเดิม

        เพราะเขาโตมากับระบบการศึกษาแบบสูตรสำเร็จอย่างที่เพิ่งเล่าไป เขาอาจไม่มีโอกาสได้เรียนรู้และค้นหาตัวตน เด็กไทยเรียนพิเศษเยอะมาก เลยหลายเป็นว่าเขาจึงแทบไม่เหลือเวลาให้ได้ทำให้สิ่งที่เขาควรจะได้พัฒนาในวัยของเขา แทนที่จะให้เด็กค้นคว้าด้วยตัวเอง เราเอาคำตอบมาให้เขาจำ เด็กเลยขาดทักษะด้านนี้ไป

        อีกอย่างที่อยากฝากเลยคือ AI ไม่ได้อยู่แค่ในโรงงานกับห้องทดลอง ทุกแขนงความรู้และวิชาล้วนกลายเป็น AI ได้ทั้งสิ้น ขอแค่คุณมีข้อมูลที่มากพอ ดังนั้น การเรียนเกี่ยวกับ AI เป็นสิ่งที่สนุกมาก อย่าคิดว่าเข้ามาจะมีแต่การเขียนโค้ด คณิตศาสตร์ คุณได้ใช้ความคิดสร้างสรรค์ต่อยอดกลายเป็นเทคโนโลยีต่อไปแน่นอน