Nola Nolee

NOLA NOLEE | ความอิสระของสตรีทอาร์ต ศิลปะที่แฝงอารมณ์ขันแบบร้ายๆ ในระดับพอดี

NOLA NOLEE หรือ ‘ปอ’ – โชติกา สมจิตร์ นักวาดภาพประกอบคนนี้ เป็นศิลปินคนแรกที่เรานึกถึงทันทีถ้าพูดถึงคนที่ทำงานศิลปะแนวสตรีทอาร์ต คงเป็นเพราะผลงานของเธอที่มีเอกลักษณ์เฉพาะตัว แฝงด้วยอารมณ์ขันแบบร้ายๆ แต่ไม่หนักหนารุนแรงจนเกินไป และเธอก็เป็นอีกคนที่เชื่อว่าศิลปะแขนงนี้คือความอิสระ ไม่จำเป็นต้องยึดติดกับการทำงานเพียงแบบใดแบบหนึ่งเท่านั้น

nola nolee

 

เริ่มจากความอยากทำงานศิลปะ

     หลังจากที่ทำงานภาพประกอบมาสักระยะก็รู้สึกอยากลองไปใช้ชีวิตทำงานศิลปะอย่างจริงจังดูบ้าง ก็เลยเดินทางไปใช้ชีวิตที่นิวยอร์กประมาณ 1 ปี โดยเริ่มจากการนำสติ๊กเกอร์งานของตัวเองไปติดตามจุดต่างๆ พร้อมกับเขียนชื่อ NOLA NOLEE เอาไว้ เพราะอยากให้คนดูรู้จักเรา เลยได้แสดงงานถึงสองครั้ง พอกลับมาอยู่ประเทศไทยก็ทำงานวาดภาพตามปกติ แต่ช่วงไหนที่อยากออกไปวาดรูปบนกำแพงก็คิดคอนเซ็ปต์ แล้วก็ออกไปทำเลย ซึ่งยังมีงานของเราอยู่ตรงเสาโฮปเวลที่เคยทำไว้แต่ยังไม่เสร็จอยู่ตรงนั้นด้วย

 

เสียดสีสังคมและเหน็บแนม 

     งานของ NOLA NOLEE คือการเสียดสีสังคมเป็นหลัก แต่พอเราโตขึ้นก็เริ่มรู้สึกว่าการเหน็บแนมถึงจะส่งผลให้งานของเรามีความน่าสนใจก็จริง แต่ก็มีเรื่องอื่นๆ ที่เราเล่าได้โดยไม่ต้องไปล้อเลียนใคร อย่างรูปที่เราวาดบนกำแพงนี้ จะเป็นเด็กผู้หญิงที่กำลังลอยคออยู่ในน้ำ และกำลังชูธงเป็นรูปหัวใจ เราจะสื่อว่าเมื่อตัวเราไม่มีความรักก็เหมือนกับคนที่กำลังจะจมน้ำ คนที่จะมาช่วยเราได้คือคนที่มีความรักมอบให้เรา ไม่ใช่แค่การยื่นมือเข้ามาช่วยเพียงอย่างเดียว ก็เลยวาดออกมาเป็นรูปของคนที่ลอยอยู่ในน้ำรอให้ความรักมาช่วย

 

Nola Nolee

 

สร้างความจรรโลงใจให้คนดู

     คนไทยมักจะคิดว่าสตรีทอาร์ตคืองานศิลปะที่ต้องวาดลงบนกำแพงเท่านั้น แต่ในความคิดของเรางานศิลปะแขนงนี้จะเป็นรูปแบบไหนก็ได้ ในต่างประเทศเราจะเห็นงานสตรีทอาร์ตในแบบต่างๆ เช่น ศิลปินเอาตุ๊กตาไปแขวนตามต้นไม้ และทั้งซอยก็จะมีแต่ตุ๊กตาที่แขวนอยู่บนต้นไม้ บางคนก็ใช้ไหมพรมมาถักเป็นอะไรบางอย่างมาพันรอบต้นไม้ หรือแม้กระทั่งงานศิลปะที่คนไปทำกันบนดาดฟ้าซึ่งจริงๆ ก็คือสตรีทอาร์ตด้วยเหมือนกัน

     แต่สิ่งที่ชัดเจนที่สุดในการให้ความหมายของสตรีทอาร์ต เราขอยกแนวคิดของ คีธ แฮริง ที่เขายกงานศิลปะออกมาอยู่ข้างนอกพิพิธภัณฑ์เพื่อให้คนทั่วไปมองเห็นงานชิ้นนั้นมากขึ้น ทำให้คนที่เราไม่คิดว่าเขาจะสนใจงานศิลปะอย่างคุณป้าที่ขายน้ำดื่มได้เห็น ศิลปะสามารถบรรเทาความรู้สึกไม่ดีได้หลายอย่าง และสร้างความจรรโลงใจให้คนดูได้ เชื่อเถอะว่าคนในสมัยนี้เปิดใจ และพร้อมจะเสพศิลปะกันอยู่แล้ว เพียงแต่เขาไม่กล้าเดินเข้าไปในแกลเลอรีหรือพิพิธภัณฑ์แค่นั้นเอง

 

ไม่ว่าไกลแค่ไหนศิลปะจะเชื่อมเรา

     เราเคยทำงานโดยใช้คอนเซ็ปต์ Be Strong ก็มีคนจีนถ่ายรูปงานของเราไปโพสต์ในอินเทอร์เน็ต และก็มีชาวจีนมาตามฟอลโลว์เราในอินสตาแกรม @Nolanolee เกือบ 200 คน หรือช่วงที่เราเดินทางไปติดสติ๊กเกอร์ที่ประเทศต่างๆ อย่างญี่ปุ่นหรือเยอรมนีก็มีคนเข้ามาคุยกับเรา บางครั้งก็มีชาวต่างชาติถ่ายรูปงานของเราแล้วก็แท็กมาหาพร้อมกับบอกว่า ชอบงานของเรา งานเราโคตรตลกเลย