เมื่อ สุรเดช แก้วท่าไม้ ศิลปินรุ่นใหญ่ที่เราคุ้นเคยกับงานวาดภาพพระบรมฉายาสาทิสลักษณ์จากในหน้านิตยสาร พลอยแกมเพชร ปฏิทินปีใหม่ และผลงานภาพวาดที่มีต่อเนื่องมากว่ายี่สิบปี บอกกับเราถึงแรงบันดาลใจในการวาดภาพ ‘ติโต ความทรงจำในบทเพลงพระราชนิพนธ์’ นี้ขึ้นมา เพลงพระราชนิพนธ์ที่ชื่อ เทวาพาคู่ฝัน ก็เหมือนจะดังขึ้นมาในความรู้สึก
“ตอนที่ผมยังเป็นเด็ก ที่บ้านของผมไม่มีโทรทัศน์ มีแต่วิทยุทรานซิสเตอร์ ซึ่งพ่อของผมจะเปิดเพลงฟังเป็นประจำ พอเข้าสู่ช่วงเดือนธันวาคมของทุกปี รายการวิทยุก็จะนำเพลงพระราชนิพนธ์มาเปิดกัน ผมก็นั่งฟังเพลงของพระองค์ท่านคลอไปกับบรรยากาศเย็นๆ ริมแม่น้ำของจังหวัดสมุทรสาคร ซึ่งความสุขนี้ก็ซึมซับเข้ามาโดยไม่รู้ตัว เพลงพระราชนิพนธ์ของท่านเปรียบดังเสียงลมหายใจของท่านที่อยู่คู่กับวิถีชีวิตของคนไทย
“ผมวาดรูปนี้ขึ้นจากต้นแบบที่เราคุ้นตากันดี คือตอนที่ท่านกำลังทรงเปียโน มีแมวนั่งอยู่ด้านบน ซึ่งแมวตัวนี้คือ ติโต เป็นแมวของสมเด็จย่า ผมก็อยากสื่อสารผลงานนี้ผ่านเพลงพระราชนิพนธ์ของท่าน โดยให้ติโตเป็นผู้ที่อยู่กับพระองค์ท่านตั้งแต่ตอนที่ทรงเริ่มแต่งเพลง และถือเป็นคนแรกที่ได้ยินเพลงนี้ โดยโน้ตเพลงในภาพคือเพลง เทวาพาคู่ฝัน โดยอิงจากช่วงเวลาของภาพถ่ายที่ท่านกำลังทรงเปียโน ซึ่งเพลงนี้แต่งขึ้นมาในช่วงเวลาใกล้เคียงกันที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ โดยใช้ทองคำมาเป็นส่วนประกอบในภาพ ซึ่งทองคำในงานภาพวาดของไทยจะให้ความรู้สึกยิ่งใหญ่ สูงค่า และผมถือว่าภาพนี้ไม่ใช่ภาพแทนความรู้สึกของผม แต่เป็นความรู้สึกของคนไทยทุกคนที่เราร่วมกันระลึกถึงท่าน รักท่าน มีความทรงจำที่งดงามต่อท่าน”
ถึงจะเตรียมใจเอาไว้มานานแค่ไหนก็ตาม แต่เมื่อถึงเวลาจริงๆ ข่าวในคืนวันที่ 13 ตุลาคม พ.ศ. 2559 ก็ทำให้ชายที่มีความจงรักภักดีต่อพระองค์ท่านคนนี้ถึงกับเก็บกลั้นความเสียใจเอาไว้ไม่อยู่ ต้องระบายความรู้สึกเจ็บปวดที่อยู่ภายในตัวออกมาด้วยผลงานที่ชื่อว่า ‘ร้องไห้ในม่านหมอกธุมเกตุ’
“วันนั้นสิ่งที่เข้ามาปะทะตัวผมคือความรู้สึกที่จุกอยู่ในอก พูดอะไรไม่ออก หายใจไม่ทั่วท้อง ผมเหมือนกับเป็นขี้ผึ้งที่ถูกไฟลนค่อยๆ หลอมเหลวลงไปอย่างช้าๆ จนเสียรูปทรง ต้องขอเวลาไปตั้งสติ และทำสมาธิอยู่สักพักเพื่อให้ตัวเองกลับมายืนขึ้นใหม่ ภายนอกอาจจะไม่มีน้ำตา แต่ในใจผมนั้นร้องไห้อยู่ลึกๆ ข้างในจนต้องหาวิธีระบายความเศร้าโศกนี้ออกมา
“ผมวาดภาพ ‘ร้องไห้ในม่านหมอกธุมเกตุ’ ขึ้นมาโดยอยากสื่อสารถึงในหลวงรัชกาลที่ 9 โดยไม่ผ่านพระบรมฉายาลักษณ์ของท่าน เพื่อแสดงความรู้สึกที่อัดอั้นอยู่ในใจของผม ดังนั้นผมจึงใช้ตัวแทนเป็นผู้ชายที่นุ่งผ้าสีดำกำลังร้องไห้คร่ำครวญ และเป็นการแทนความหมายของประชาชนที่กำลังร่ำไห้ด้วย ซึ่งฉากหลังเป็นพระราชวังดุสิตโดยมีหมอกธุมเกตุเป็นชั้นบรรยากาศ และมีใบโพธิ์สีทองลอยปลิวอยู่ในสายลม ซึ่งรูปนี้ผมวาดขึ้นมาช่วงวันที่ 14 ตุลาคม และวาดเสร็จใน 7 วัน เป็นการสื่อสารอารมณ์เศร้าของผมที่แน่นจนล้นอยู่ข้างในออกมา”
ปกติการวาดรูปพระองค์ท่านก็มีความยากมากอยู่แล้ว และถ้าต้องวาดรูปในช่วงเวลาที่จิตใจเศร้าหมองแล้วก็ยิ่งเป็นความกดดันอย่างมาก แต่ด้วยประสบการณ์ที่บ่มเพาะมาอย่างยาวนาน จึงไม่ได้เป็นอุปสรรคที่น่าวิตกสำหรับศิลปินคนนี้หากจะต้องวาดรูปพระองค์ท่านในผลงานชิ้นต่อไปหลังจากนี้
“การวาดรูปพระองค์ท่านก็เหมือนกับการเล่นดนตรี ไม่ต่างกับเพลงของโมสาร์ต หรือบีโธเฟน ที่มีนักดนตรีนำเพลงของพวกเขามาเล่นกันทั่วโลก รูปในหลวงก็มีคนเขียนเยอะ ไม่แปลกที่จะถูกคนดูจับจ้องว่าตรงนี้เหมือนหรือตรงนี้ไม่เหมือน การวาดรูปของผมจึงใช้แค่ความเหมือนอย่างเดียวไม่พอ ต้องหานัยยะอื่นมาประกอบ แล้วจะทำให้รูปของท่านมีความหลากหลายมากขึ้น เพราะในหลวงท่านมีความผูกพันกับคนไทย ใครที่วาดไม่เหมือนนี่ทุกคนดูออกหมดเลย ผมได้วิธีการวาดภาพของท่านมาจากอาจารย์จักรพันธุ์ โปษยกฤต ซึ่งท่านจะไม่ลอกรูปใดรูปหนึ่งมาแบบตรงๆ คนที่เอารูปมาเขียนแบบตรงๆ นี้จะถูกเพ่งเล็งมาก อาจารย์จักรพันธุ์จะเอาภาพหลายๆ ภาพมาประกอบให้เป็นภาพหนึ่งภาพแล้วถึงวาดออกมา ซึ่งนี่เป็นกลไกที่ทำให้คนดูมองข้ามเรื่องการจับผิด และรู้สึกว่ารูปสวย มีความหลากหลาย ดังนั้น บางคนก็จะมองว่ารูปที่ผมวาดนี้ยังไม่เคยเห็นมาก่อน”
แม้จะอยู่ในช่วงที่เศร้าโศก แต่ทุกครั้งที่เราถามถึงความประทับใจที่มีต่อพระองค์ท่าน แววตาที่หม่นหมองของเขาก็กลับเปล่งประกายแห่งความปลื้มปีติขึ้นมาทันที
“เด็กต่างจังหวัดอย่างผมพอมีโอกาสได้เข้ามากรุงเทพฯ ก็จะตื่นตาตื่นใจกับภาพวาดคัตเอาต์ขนาดใหญ่ตามโรงหนัง ถ้าครั้งไหนที่นั่งรถเมล์ผ่านรูปวาดคัตเอาต์ของในหลวงที่มีขนาดเท่าตึกสามสี่ชั้น จะรู้สึกตื่นเต้นมาก ผมจะเอี้ยวคอมองรูปท่านจนคอแทบเคล็ด รูปคัตเอาต์ของท่านช่างเป็นความรู้สึกที่ยิ่งใหญ่ต่อตัวผมจริงๆ
“พอถึงช่วงวันเฉลิมพระชนมพรรษาผมก็วาดรูปท่าน และได้นำไปติดที่หน้าห้องเรียน พอปีต่อมาอาจารย์ก็เอารูปไปติดที่หน้าโรงเรียนผมวาดรูปท่านมาตั้งแต่เด็ก โดยดูต้นแบบจากธนบัตรใบละสิบบาท ซึ่งการวาดรูปพอร์เทรตของผมนั้น ถ้าไม่วาดรูปบุคคล ก็จะวาดรูปพ่อแม่ หรือคนที่เราผูกพัน ซึ่งก็คือในหลวง โดยเฉพาะเวลาที่เราอยากวาดภาพอะไรที่เป็นพิเศษหรือวาดรูปที่เป็นนิมิตหมายที่ดีสำหรับการเริ่มต้นสิ่งดีๆ ผมก็จะวาดรูปท่าน ท่านทรงเป็นครูของนักวาดภาพทุกคนก็ว่าได้ และก่อนวาดรูปท่านผมจะเตรียมใจให้พร้อม ใช้เครื่องมือที่เหมาะสมเพื่อจะวาดท่านออกมาให้ดีที่สุด ก่อนวาดรูปก็จะก้มกราบขออนุญาตท่านก่อน และไม่วางรูปท่านไว้บนพื้น ซึ่งผมรู้สึกว่าถ้าเราแสดงความเคารพต่อท่านก่อน สิ่งที่เราทำจะสำเร็จลุล่วงไปด้วยดี นี่เป็นความศรัทธาส่วนตัวของผม”
การสนทนาของเราจบลงพร้อมกับโน้ตตัวสุดท้ายของเพลงพระราชนิพนธ์ เทวาพาคู่ฝัน ที่อยู่ในหัวค่อยๆ แผ่วเบาลงไป แต่สิ่งที่ยังคงอยู่ และไม่มีอะไรที่จะมาลบออกไปได้ก็คือ ภาพของพระบาทสมเด็จพระปรมินทรมหาภูมิพลอดุลเดช ในหลวงอันเป็นที่รักของคนไทยทุกคนที่ยังปรากฏเด่นชัดในใจของพวกเราตลอดไป