ถือเป็นความโชคดีของเราที่มีโอกาสได้สัมภาษณ์ Tracy Lee Stum ศิลปินชาวอเมริกันที่โด่งดังในเรื่องงานศิลปะแบบสามมิติ เธอเคยเดินทางมาร่วมแสดงผลงานในกรุงเทพฯ อยู่หลายครั้ง เราเห็นเธอวาดภาพสามมิติด้วยความสนุกสนาน และเมื่อผลงานขนาดใหญ่ยักษ์เสร็จสิ้น เรารู้เลยว่าทำไมเธอถึงมีความสุขที่ได้ทำงานสามมิติถึงเพียงนั้น เพราะคำตอบคือภาพที่เด็กหลายคนวิ่งกรูกันเข้าไปถ่ายรูปกับงานของเธออย่างตื่นเต้นนั่นเอง
อยากให้ทุกคนได้เห็นงานศิลปะที่ทำ
ช่วงที่ทำโปรเจ็กต์งานศิลปะในปีสุดท้ายก่อนจะเรียนจบ เรามีความคิดว่าอยากจะให้ทุกคนได้เห็นงานศิลปะที่เราทำ อยากจะเอาไปขึ้นที่บิลบอร์ดบนทางด่วนแทนที่จะตั้งอยู่ในแกลเลอรี แต่ตอนนั้นยังทำไม่ได้ และหลังจากนั้น 10 ปี เราถึงจะค้นพบสิ่งที่เรียกว่าสตรีทอาร์ต เราเห็นงานวาดสามมิติมากมายในแคลิฟอร์เนียจากหลากหลายศิลปิน แม้ว่าบางงานมันจะไม่ได้สมบูรณ์แบบมากนัก แต่การวาดภาพแบบสามมิติมันเป็นการจำลองโลกขึ้นมาโดยที่ไม่จำเป็นต้องใช้เครื่องมือมากเลย เขาสามารถเปลี่ยนพื้นที่ธรรมดาๆ ที่ไม่มีใครสนใจให้กลายเป็นพื้นที่ที่วิเศษขึ้นมาได้ผ่านงานสตรีทอาร์ตของเขา และที่สำคัญงานเหล่านี้จะทำที่ไหนก็ได้ จะเป็นทางเดิน บนถนน บนบันได มันทำให้เราเห็นงานศิลปะได้ทุกที่เลยจริงๆ เพราะเรารู้เลยว่าเราสามารถวาดอะไรก็ได้บนถนน ทางเดิน ฯลฯ ซึ่งผู้คนที่เดินผ่านไปผ่านมาก็จะได้เห็นมัน
จากงานสองมิติสู่สามมิติ
งานศิลปะแรกๆ ของเราเป็นงานสองมิติ ช่วงนั้นก็จะเรียนรู้เรื่องของการใช้สีชอล์กในการทำงานศิลปะ แต่หลังจากฝีมือของเราพัฒนาขึ้น เราก็เริ่มทำงานสามมิติมากขึ้น เพราะรู้สึกว่าท้าทายมากกว่า แล้วเราก็อยากจะให้คนทั่วไปสามารถเข้ามา interactive กับงานศิลปะที่เราทำได้ เพราะถ้าเป็นภาพวาดปกติ แม้จะสวยขนาดไหน แต่มันก็มีช่องว่างบางอย่างที่ทำให้เข้าถึงยาก
ศิลปะเป็นภาษาสากล
งานศิลปะมันเป็นภาษาสากล ทุกคนสามารถเข้าใจได้ แล้วการที่เราทำงานสามมิติ มันก็เชื้อเชิญให้หลายคนเข้ามาเป็นส่วนหนึ่งของงาน มาร่วมสนุกกับงาน ซึ่งงานสามมิติที่เราทำมันอยู่ในพื้นที่สาธารณะอยู่แล้ว ดังนั้น เราก็มีโอกาสที่จะให้ความรู้กับหลายๆ คน ทั้งเรื่องภาพลวงตา ภาพสามมิติ และให้พื้นที่กับหลายๆ คนได้เล่นสนุกกับมัน ซึ่งงานชิ้นนี้ที่เราทำมันเป็นงาน performance space art ที่สามารถเอาไปตั้งที่ไหนก็ได้ในพื้นที่สาธารณะ มันเป็นงานที่เราอยากให้คนเข้ามามีส่วนร่วมด้วย และที่สำคัญงานสามมิติก็เป็นงานที่ต้องใช้กล้องถ่ายรูปในการมองเห็นงาน ดังนั้น คุณต้องดูผ่านเลนส์ในจุดที่เราจัดไว้เท่านั้น ไม่อย่างนั้นมันก็จะเป็นงานอะไรก็ไม่รู้ (หัวเราะ) แต่สิ่งที่เราชอบในงานสตรีทอาร์ตคือ มันเป็นการนำงานศิลปะออกจากพิพิธภัณฑ์หรือแกลเลอรี เพื่อให้ทุกคนได้เห็นและเล่นกับมันได้จริงๆ
ให้ความรู้และส่งต่อแรงบันดาลใจ
แม้ว่างานของเราจะไม่ได้เป็นงานที่ทำเพื่อสังคมขนาดนั้น แต่เราก็อยากจะเป็นส่วนหนึ่ง ก็เลยมีการทำงานเวิร์กช็อปกับกลุ่มต่างๆ ที่ต่างประเทศ อย่างเช่น อินเดีย คาซัคสถาน เม็กซิโก ฯลฯ เพื่อไปให้ความรู้และให้แรงบันดาลใจ และผลักดันเด็กให้ออกไปทำงานสตรีทอาร์ต เพราะเมื่อ 20 ปีที่แล้วคนอาจจะไม่รู้จักสตรีทอาร์ตเลยด้วยซ้ำ แตกต่างจากปัจจุบันที่เราสามารถมองเห็นงานสตรีทอาร์ตได้ทั่วไป เด็กๆ หลายคนก็สามารถทำงานได้ ซึ่งก็สามารถทำเป็นอาชีพได้ด้วยซ้ำ