LGBTQI ย่อมาจาก Lesbian, Gay, Bisexual, Transgender, Queer และ Intersex ความหลากหลายทางเพศ 5 ข้อแรก หลายคนคงจะรู้จักเป็นอย่างดีแล้วว่ามีลักษณะเป็นอย่างไร แต่ข้อสุดท้ายที่แทนด้วย I หรือ ‘Intersex’ นี่สิ ยังถือว่าเป็นเรื่องใหม่มากในหลายประเทศทั่วโลก
Khejdi ภาพยนตร์สัญชาติอินเดีย จึงหยิบยกประเด็นเรื่อง Intersex ขึ้นมาเล่าอย่างห้าวหาญ แม้จะอยู่ในประเทศที่เสรีภาพด้านความหลากหลายทางเพศเต็มไปด้วยขีดจำกัด โดยมี อาชิช ชาร์มา (Ashish Sharma) นักแสดงหนุ่มระดับแนวหน้าก้าวขึ้นมารับบทเด็กที่เกิดมาเป็น Intersex หรือภาวะเพศกำกวม ถูกเลี้ยงดูมาอย่างเด็กผู้หญิงและไม่ได้รับอนุญาตให้ออกไปใช้ชีวิตในโลกภายนอกอย่างที่ตนเองปรารถนา
เมื่อภาพยนตร์เรื่องนี้เข้าฉายในไทย ด้วยความร่วมมือกับ บริษัท เจเคเอ็น โกลบอล มีเดีย จำกัด (มหาชน) และมูลนิธิข้ามเพศบันดาลใจ (LIFT Foundation) a day BULLETIN จึงได้รับโอกาสไปพูดคุยกับ อาชิช ชาร์มา อย่างกระทบไหล่ และนี่คือการเปิดใจครั้งล่าสุดของเขา ต่อประเด็น LGBTQI ในวงการบอลลีวูด
จากประสบการณ์การเป็นนักแสดงบอลลีวูดที่ประสบความสำเร็จมากว่า 10 ปี คุณมองเห็นตัวเองเติบโตขึ้นอย่างไรบ้าง
เติบโตขึ้นเยอะเหมือนกัน ผมสามารถเลือกทำในสิ่งที่ตนเองอยากทำมากขึ้นและมีข้อจำกัดลดลง ได้ลองเล่นบทใหม่ๆ ที่บางคนอาจไม่เห็นด้วย หรือบางคนอาจจะบอกว่ามันทำให้ภาพลักษณ์ของผมแย่ แต่ก็ไม่เป็นไรนี่ อย่างน้อยคุณก็ได้ข้ามขีดจำกัดของตัวเองและเรียนรู้จากมัน จนถึงวันนี้ผมกล้าทำสิ่งใหม่ๆ เยอะขึ้น และยังชอบที่จะ explore อยู่ มันไม่ใช่แค่ explore แล้วได้เจออะไรบางอย่างนะ แต่เป็นขั้นตอนที่เราออกเดินทางสำรวจความเป็นไปได้ใหม่ๆ ด้วยที่ทำให้ผมสนุก
อย่างบท Khejdi นี่เรียกได้ว่าทำลายข้อจำกัดของตัวเองเลยไหม
ท้าทายมาก เพราะในอินเดีย และอาจจะประเทศอื่นๆ ด้วย ผู้ชมจำนวนมากมีอคติต่อนักแสดงที่เล่นบท LGBTQI โดยเฉพาะนักแสดงดังๆ ที่มีคนติดตามจำนวนมาก เขามีภาพลักษณ์ที่ต้องปกป้อง ว่าถ้าเล่นแล้วจะมีแฟนบางกลุ่มไม่ชอบหรือเปล่า หรือทำให้ความนิยมต่ำลงไหม พวกเขาจึงลังเลจะเล่นบทแบบนี้ แต่ผมไม่ได้สนใจมันมากขนาดนั้น ผมสนใจประเด็นของหนังมากกว่า เพราะมันเป็นเรื่องที่ควรพูดถึงและควรมีการแลกเปลี่ยนมากขึ้นในสังคม ซึ่งเป็นเรื่องที่ใหญ่กว่าการรักษาภาพลักษณ์ของตัวเองเสียอีก
ไม่ใช่เรื่องง่ายที่นักแสดงจะเข้าถึงบทบาทที่ไม่เคยมีประสบการณ์มาก่อน แล้วสำหรับการแสดงเป็นเด็กสาวที่เกิดมาเป็น intersex นี้คุณทุ่มเทและใช้เวลาทำความเข้าใจกับมันนานแค่ไหน
มันง่ายเวลาเราจะแสดงอะไรบางอย่างที่มี reference เพราะเราเห็นและเข้าใจมันมาก่อน แต่บางอย่างที่เราไม่มี reference เลยอย่างบท transgender หรือ intersex ในอินเดีย มันยากมากๆ เพราะฉะนั้น เราต้องเริ่มตีความด้วยตนเองทั้งหมด ผมคุยกับโปรดิวเซอร์และนักเขียนบท ช่วยกันสร้างคาแรกเตอร์ขึ้นมาในหัว เขาจะมีหน้าตาเป็นยังไง นิสัยยังไง เดินแบบไหน นั่งแบบไหน คิดอะไรแบบไหน แล้วทำไมถึงคิดแบบนั้น เราเขียนพื้นหลังทุกอย่างของคาแรกเตอร์คนนี้ขึ้นมา แล้วก็ค่อยๆ ทำความเข้าใจความรู้สึกนึกคิดของตัวละครนี้ให้มากขึ้น
ประเด็นนี้ถือเป็นเรื่องใหม่ในวงการบอลลีวูดไหม
เราเคยมีภาพยนตร์บอลลีวูดที่เกี่ยวกับประเด็นความหลากหลายทางเพศมาบ้างแล้ว เพราะบอลลีวูดเป็นอุตสาหกรรมบันเทิงที่ใหญ่มาก แต่ละปีมีหนังที่ผลิตออกมาใหม่กว่า 1,000 เรื่อง ซึ่งในหนึ่งพันเรื่องนั้นก็คงมีหนังประเด็น LGBTQI หลุดออกมาสัก 2-3 เรื่อง แต่ถึงอย่างนั้น หนัง 2-3 เรื่องที่ว่าก็ไม่ได้เล่าให้เห็นถึงมุมมองการมองโลกของคนที่เป็น transgender โดยตรง แต่เป็นมุมมองของเราที่มีต่อ transgender มากกว่า เพราะฉะนั้น เรายังไม่เคยมีภาพยนตร์ที่ตัวละครหลักเป็น LGBTQI แล้วเล่าเรื่องราวการ come out ของเขามาก่อน ภาพยนตร์เรื่อง Khejdi จึงถือว่าแตกต่าง เพราะเราเล่าในมุมมองของ transgender เลยว่าเธอมองโลกภายนอกอย่างไร มองเห็นกฎเกณฑ์และค่านิยมของสังคมอย่างไร
เราสนใจประเด็นที่หนังเล่าว่า Khejdi ‘เกิด’ มาเป็น transgender ทั้งๆ ที่คนส่วนใหญ่มักคิดว่าความหลากหลายทางเพศนั้นเกิดจากอิทธิพลและการขัดเกลาของสังคมมากกว่า
ไม่จริงเลย คนเราเกิดมาเป็น transgender ได้ แต่ถ้าใช้ศัพท์ที่ถูกต้องเขาจะเรียกว่า Intersex ซึ่งเป็นตัว I ของคำว่า LGBTQI หรือคำศัพท์ทางชีววิทยาที่เรียกว่า Hermaphrodite (หมายถึง สิ่งมีชีวิตที่มีอวัยวะสืบพันธุ์ของทั้งเพศหญิงและเพศชายอยู่ในตัวเดียวกัน หรือมีอวัยวะเพศแบบก้ำกึ่ง บอกไม่ได้แน่ชัดว่าเป็นหญิงหรือชาย เช่น ไส้เดือน หอยทาก) เพราะฉะนั้น แน่นอน Hermaphrodite คือเกิดมาก็เป็นแบบนั้นเลย ไม่ได้รับอิทธิพลจากทางสังคม ไม่ได้เกี่ยวกับการเลี้ยงดู หรือเลือกที่จะเป็นเพศใดเพศหนึ่งตอนโตแล้ว เช่นเดียวกันกับ Intersex ที่ตีความได้อีกอย่างว่าเป็นภาวะเพศกำกวม
จะได้เห็นว่า Intersex ถือว่าเป็นเรื่องใหม่มาก คนทั่วไปไม่รู้ด้วยซ้ำว่าคนเราเกิดมาก็มีเพศที่กำกวมได้ แต่แน่นอน ถ้าเราใช้คำว่า intersex เพื่ออธิบายหนังเรื่องนี้ คนทั่วไปก็จะไม่เก็ตว่ากำลังจะสื่ออะไร เราจึงเลือกใช้คำว่า transgender ซึ่งเป็นคำที่มีความหมายกว้างกว่าและเข้าใจง่ายกว่า
เรามองว่าการออกมาเล่าเรื่อง LGBTQI ในอินเดียเป็นการกระทำที่ห้าวหาญมาก เพราะจริงๆ แล้วมันเป็นเรื่องเซนซิทีฟสำหรับใครหลายคน
มันไม่ได้เป็นเรื่องเซนซิทีฟแค่ในอินเดีย แต่เป็นเรื่องเซนซิทีฟทั่วโลก เราได้รับฟีดแบ็กทั้งด้านบวกและด้านลบจากผู้ชมหลายประเทศ คุณเชื่อไหม มีข้อความต่อว่าส่งมาหาทีมงานว่าคุณทำเรื่องแบบนี้ได้อย่างไร มันขัดต่อหลักศาสนาคริสต์ อิสลาม และอีกมากมาย หลายคนพยายามบอกเราว่าการข้ามเพศหรือเพศที่สามเป็นเรื่องที่คนคิดไปเอง จริงๆ มันไม่มีหรอก หรือบางคนก็ต่อว่าเราว่า ทำไมเราถึงทำหนังที่แสดงว่า transgender เป็นคน ‘ปกติ’ เฮ้ย คือเขาใช้คำว่า ‘normal’ เลยนะ แล้วเราก็ไม่เข้าใจว่าแล้วพวกเขาไม่ normal ตรงไหน มีเรื่องไหนเหรอที่พวกเขาผิดปกติ
พูดก็พูดเถอะนะ อย่างอาชญากรข่มขืน ลักทรัพย์ ทำไมเขายังมีพื้นที่ในสังคม เขาทำผิด เข้าคุก บำเพ็ญประโยชน์อะไรก็ว่ากันไป แต่สุดท้ายแล้วเขาก็ได้ออกมาเป็นส่วนหนึ่งของสังคมอีกครั้ง แต่คนที่เกิดมามีความหลากหลายทางเพศ หรือเลือกที่จะใช้ชีวิตแบบที่พวกเขาต้องการ คนเหล่านี้ไม่ใช่อาชญากร ไม่ได้ทำอะไรผิดด้วยซ้ำ ไม่เคยทำร้ายใคร มีแต่ความรักมอบให้คนอื่น แต่กลับถูกกีดกันจากสังคม ทำไมล่ะ ทำไมเราถึงยอมรับพวกเขาไม่ได้ มันคือข้อเท็จจริงที่เกิดขึ้น ต่อให้คุณเมินเฉยและคิดว่าคนเหล่านี้ไม่มีจริง แต่นั่นก็ไม่ได้เปลี่ยนแปลงความจริงว่ามันเกิดขึ้นแล้ว
เพราะฉะนั้น เราต้องยอมรับความจริงข้อนี้ให้ได้ พอยอมรับแล้ว เราก็ต้องสนทนา แลกเปลี่ยนความคิดกันมากขึ้นด้วย คนทุกคนเกิดมาแตกต่างกัน เราไม่สามารถเอาความคิดของเราไปครอบคนอื่นหรือเลือกปฏิบัติกับใครบางคนได้
แล้วอีกด้านหนึ่ง มีคนออกมาเห็นด้วยกับประเด็นในหนังของคุณมากแค่ไหน
ฟีดแบ็กเชิงบวกก็มีเยอะมากเหมือนกัน เหตุการณ์ที่เราประทับใจมากๆ คือมีผู้หญิงอินเดียคนหนึ่งที่ไปใช้ชีวิตอยู่ในลอนดอนแล้วได้ดูหนังเรื่องนี้ในเยอรมนี เธอบอกเราว่า ฉันเคยกลัว transgender แต่หนังเรื่องนี้เปลี่ยนความคิดฉันไปเลย ฉันเข้าใจแล้วว่า transgender ก็เป็นเพื่อนมนุษย์คนหนึ่งที่ไม่แตกต่างอะไรกับคนอื่น และเราก็ควรจะปฏิบัติกับเขาเหมือนทุกๆ คน เอาจริงๆ แค่คนเริ่มตั้งคำถามว่าทำไมฉันถึงทำแบบนี้กับเพื่อนมนุษย์คนนี้ ทำไมฉันถึงเลือกปฏิบัติกับคนร่วมโลก มันก็เป็นการเคลื่อนไหวที่ยิ่งใหญ่แล้ว
คุณมองเห็นการเคลื่อนไหวด้านความหลากหลายทางเพศในอินเดียอย่างไรบ้าง
มีการเคลื่อนไหวที่เข้มข้นขึ้นเยอะมาก ตอนที่เริ่มทำหนังในปี 2017 เราแทบไม่ค่อยเห็นการเคลื่อนไหวอะไรมาก่อน แต่ตอนนี้เริ่มมีการเฉลิมฉลอง Pride Month เป็นครั้งแรก ศาลสูงสุดของอินเดียก็ออกกฎหมายว่าการรักร่วมเพศไม่ใช่ความผิดทางอาญาอีกต่อไป
นอกจากนี้ผู้มีความหลากหลายทางเพศยังสามารถเลือกใช้คำขึ้นต้นชื่อของชื่อตัวเองได้ด้วยว่าจะเป็นนาย นาง หรือนางสาว ได้หมด เพราะฉะนั้น ในอินเดียมีการเคลื่อนไหวเรื่องนี้อย่างรวดเร็วและเป็นรูปธรรม เราได้เห็นพ่อที่ออกมาพูดว่า ลูกชายของผมเป็นเกย์ และผมก็ภูมิใจในตัวเขา โดยไม่ได้ภูมิใจที่เขาเป็นเกย์นะ แต่ภูมิใจในสิ่งที่เขาทำ ในฐานะมนุษย์คนหนึ่งที่ประสบความสำเร็จ
แม้แต่ในระดับครอบครัวเอง เมื่อก่อนเราไม่เคยหยิบยกเรื่องเพศมาพูดเวลากินข้าว พ่อแม่จะให้เด็กๆ เงียบทันทีเวลาที่พวกเขาชวนคุยเรื่องความหลากหลายทางเพศ พอเจอญาติๆ ก็มีแต่ชวนคุยว่าเงินเดือนเท่าไหร่ งานเป็นยังไง มีลูกหรือยัง แต่งงานเมื่อไหร่ เพราะมาตรฐานสังคมเมื่อก่อนมันเป็นแบบนั้น แต่ตอนนี้มันเปลี่ยนไปแล้ว เราสามารถพูดเรื่องความหลากหลายทางเพศได้มากขึ้น เราเห็นแล้วว่า ต่อให้เป็น transgender คุณก็ได้งานตำแหน่งดีๆ ในบริษัทที่มีชื่อเสียงได้ ไม่ใช่ว่าพอเป็นผู้หญิงข้ามเพศแล้วคนจะนึกถึงแต่งานบริการหรือโสเภณีเท่านั้น มีคนที่มีความหลากหลายทางเพศอยู่ในสภา เป็นตำรวจ ทุกที่เลย
แสดงว่าคุณก็ได้เห็นการเปลี่ยนแปลงที่ว่านี้ในชีวิตประจำวันเช่นกัน
ที่เห็นได้ชัดเจนที่สุดเลยคือตอนนี้เรามีเพื่อนหลายคนที่เป็นเกย์ และกล้าพูดว่าฉันเป็นเกย์ เพราะเมื่อก่อน เขากล้าพูดแค่ในกลุ่มเพื่อนสนิทเท่านั้น และกลัวที่จะเปิดเผยตัวต่อสาธารณชน ผมเองก็ยังเคยถามเขาว่า แล้วจะใช้ชีวิตแบบนี้ไปอีกนานเท่าไหร่ ปิดบังมาจะ 20 ปีแล้ว ไม่อึดอัดเหรอ แต่ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา ที่ประเทศเราเริ่มมีการเคลื่อนไหวด้านนี้อย่างเข้มข้น มีการออกกฎหมายคุ้มครองคนเหล่านี้มากขึ้น เพื่อนของผมก็เริ่มยอมรับตัวเองและออกมาจากความกลัวนั้น ผมได้เห็นเขาออกไปมีชีวิตที่แตกต่าง มีความสุขจากภายใน และนั่นทำให้พวกเขาดำรงชีวิตได้อย่างสบายใจขึ้น การงานก็รุ่งเพราะเขาไม่จำกัดตัวเองอีกต่อไป เขาเอนจอยกับชีวิตได้แบบเต็มร้อย เห็นไหมว่ามันไม่ได้มีผลดีกับเขาเท่านั้น แต่กับทุกๆ คนรอบตัวเลย
ถ้าเทียบกับประเทศไทย แม้ว่าเราจะดูเหมือนเป็นประเทศที่เปิดรับเรื่องเพศที่สามมานาน แต่ก็ยังไม่มีกฎหมายคุ้มครองเท่าในอินเดีย โดยเฉพาะเรื่องการเปลี่ยนคำนำหน้าชื่อ
ผมคิดว่าคนไทยยอมรับเรื่องเพศที่สามมากกว่าคนอินเดียนะ แล้วพวกคุณก็ดูเปิดกว้างเรื่องนี้ในชีวิตประจำวันมานานแล้วด้วย แต่ในอินเดียเอง แม้ว่าเราจะต่อสู้จนได้กฎหมายคุ้มครองแล้ว แต่คนทั่วไปก็ยังไม่ยอมรับเท่าที่ควร สังคมยังคงมีอคติ หรือแม้แต่ผู้มีความหลากหลายทางเพศเองก็ไม่ได้มองว่าพวกเขามีสิทธิที่จะปกป้องความเป็นมนุษย์ของตัวเอง เราอาจกำลังต่อสู้เรื่องเดียวกันบนสังเวียนที่ต่างกัน ที่ไทยอาจจะยังต้องต่อสู้ในเชิงกฎหมายมากขึ้น แต่ในอินเดียเราต้องพยายามลดอคติคนหมู่มากและทำให้ทุกคนยอมรับให้ได้ แต่สุดท้ายทุกๆ อย่างก็วนกลับมาเรื่องเดียวกัน คือการส่งเสริมและยอมรับความหลากหลายในสังคม