Atompakorn

‘อะตอม’ – ปกรณ์ แก้วดี ศิลปินที่ยอมรับว่าตัวเราเองนั้นเป็นใคร และก้าวเดินต่อไปในแบบที่เราเป็น

“เราต้องมองเห็นว่าเรากำลังมีปัญหาอะไรอยู่ ถึงแม้ว่าตอนนี้เราจะยังแก้ไขมันไม่ได้ในทันทีทันใด แต่เหมือนกับพอเรารู้สึกปวดหัว เราก็จะกินยาแก้ปวดทันที ถึงแม้ตอนนี้มันจะยังไม่หายเจ็บปวด แต่เราก็รู้แล้วว่าเรากำลังจะเริ่มรักษามัน และหลังจากนั้นเราก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง”

        หลายครั้งที่คนเราติดอยู่กับปัญหา แทนที่จะเลือกแก้ไขมัน บางคนก็มักเลือกที่จะมองข้ามและไปทำอย่างอื่น เพื่อป้องกันไม่ให้ตัวเองต้องทนอยู่กับความเจ็บปวด สิ่งนั้นย่อมสร้างบาดแผลในใจของเราไม่น้อย แต่เมื่อพอเราเริ่มหยุดและเฝ้าสังเกต กล้าที่จะเผชิญหน้ากับปัญหาเหล่านั้น และหาทางแก้ไขความผิดพลาด ก็จะเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับในตัวตนที่เราเป็น เพื่อที่จะกลายไปเป็นเรา ในแบบที่เรา (ต้องการ) เป็น

        นี่คือบทเรียนที่เราได้รับจากการพูดคุยกับ ‘อะตอม’ – ปกรณ์ แก้วดี หรือที่รู้จักกันในฐานะ Artist Youtuber แชนแนล Atompakorn ถึงการเดินทางที่ไม่เคยง่ายดาย ตั้งแต่เด็กที่แม้จะรู้ดีว่าตัวเองฝันอยากเป็นอะไร แต่ระบบการศึกษาไทยก็ไม่ได้เอื้อให้เป็น หรือระยะแรกที่ก้าวเข้าสู่เส้นทางนี้ ก็ติดบ่วงภาพจำความเป็น LGBTQ+ ที่สังคมมักตีกรอบไว้ ทั้งที่แท้จริงแล้วตัวเองไม่ได้เป็นแบบนั้น บนถนนที่ไม่ได้ถูกปูไว้อย่างสวยงาม แน่นอนว่าคนเราพลาดสะดุดบ้าง ล้มบ้างย่อมเป็นเรื่องธรรมดา

        เขาทิ้งท้ายได้ไว้ว่า ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม ท้ายที่สุดแล้ว เราก็ต้องใช้ชีวิตด้วยความพยายามต่อไป ถ้าเป็นไปได้ ก็ขอให้อย่าติดขัดบ่อยนักก็แล้วกัน

Atompakorn

ตัวตน ชีวิต ความฝัน และระบบการศึกษาไทยที่ไม่ตอบโจทย์

        บทสนทนาในวันนี้เริ่มต้นด้วยการสอบถามสารทุกข์สุขดิบตามประสา ต่างฝ่ายต่างแบ่งปันความรู้สึกที่มีในช่วงนี้ให้แก่กัน ก่อนที่การพูดคุยอย่างจริงจังจะเริ่มต้นขึ้น ด้วยการให้คู่สนทนาเล่าเรื่องถึงจุดเริ่มต้นตั้งแต่เยาว์วัย ว่าเริ่มรู้สึกว่าตัวเองชอบศิลปะตอนไหน และทำอย่างไรกว่าจะก้าวมาถึงจุดนี้ได้

        “ตั้งแต่สมัยยังเป็นเด็ก คุณพอจะนึกถึงภาพประกอบในหนังสือเรียนออกไหม สำหรับเราก็รู้สึกว่าภาพมันสวย น่ารัก ก็ลองเอาดินสอไปเขียนแต่งเติม ให้เขามีแว่นตา ชุดหุ่นยนต์ ชุดเพิ่มเติม คนอื่นก็ชอบมาถามเราว่าวาดรูปแบบนี้ขึ้นมาได้อย่างไร ใชวิธีทาบจากแบบที่ไหนเหรอ เราก็คิดว่าทำไมต้องทาบล่ะ วาดเองไม่ได้เหรอ เพื่อนก็บอกว่า ไม่สิ มันต้องมีต้นแบบ เราก็ตอบกลับไปว่า เนี่ย! เราคิดเอง สักพักก็เลยพอเริ่มเข้าใจว่า ไม่ใช่ทุกคนที่จะสามารถทำอะไรแบบนี้ได้ นั่นคือจุดที่ทำให้เรารู้สึกแตกต่าง

        “แต่ด้วยเราเรียนอยู่ที่โรงเรียนชนบทในต่างจังหวัด เพราะฉะนั้น หลักสูตรการเรียนรู้ย่อมไม่สามารถสนับสนุนทุกอาชีพได้ เราก็ทำได้แค่เรียนไปตามสิ่งที่เขามีให้มา เราเรียนมัธยมศึกษาตอนปลาย จบสายวิทยาศาสตร์-คณิตศาสตร์ ตอนนั้นก็สอบตกระนาวไม่ว่าจะเป็นเคมีหรือฟิสิกส์ ไม่เข้าใจว่าทำไมบวกเลขแล้วถึงกลายเป็นอักษรภาษาอังกฤษ ไม่ชอบเลย แต่เราก็อดทนมาตลอด

        “แต่ช่วงนั้นที่บ้านเปิดโอกาสให้เราเลือกมหาวิทยาลัยเอง นี่มันคือโอกาสของฉันแล้ว ก็เลยตัดสินใจจะสมัครสายศิลปะ เพราะว่าเราชอบจริงๆ สิ่งที่เราต้องทำคือฝึกตัวเองทุกวัน ทำการบ้านฟิสิกส์ตอนกลางคืนเสร็จ ก็ต้องหยิบสมุดมาหัดวาดรูปต่อเลย เพื่อที่จะไปสอบ จนสุดท้ายไปสอบก็ได้เป็นไทแล้ว เริ่มเข้าสู่วงการศิลปะช้าไปหน่อย แต่ก็ถือว่าเป็นจังหวะที่โอเค”

        จากเด็กที่มักจะชอบวาดรูปเล่นเป็นงานอดิเรก และคิดว่าสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เราพิเศษไปกว่าคนบางคน แต่ด้วยระบบการศึกษาของไทยที่ไม่ได้เอื้อให้เกิดความหลากหลายทางอาชีพมากนัก ไหนจะความเหลื่อมล้ำในการเข้าถึงการศึกษาและทรัพยากร ทำให้เขาต้องหลงทางกับการเป็นใครที่ระบบพยายามสร้างให้เป็นอยู่เนิ่นนาน ต่อให้ล่วงรู้ตัวดีว่านั่นไม่ใช่เรา แต่ก็ไม่อาจจะสามารถพัฒนาศักยภาพได้อย่างเต็มที่อย่างที่ควรจะเป็น

        ทว่าอย่างไรก็ตาม เขาก็ไม่ย่อท้อ แถมยังกล่าวกับเราอย่างติดตลกว่า

        “เสียดายถ้าเกิดว่า ถ้าการศึกษามันกว้างมากพอ เราอาจจะได้ฝึกฝนตั้งแต่เด็ก รู้ว่าชอบหรือไม่ชอบ และเจอตัวเองเร็วกว่านี้ก็ได้ แต่วิชาศิลปะในหนึ่งสัปดาห์กลับมีแค่ชั่วโมงเดียว นอกจากนั้นยังต้องคิดคะแนนรวมกับวิชาดนตรีและนาฏศิลป์อีก”

จุดเริ่มต้นของ Artist Youtuber ที่ไม่หยุดพยายาม

        การเดินทางในเส้นทางแห่งวงการ Artist Youtuber หรือยูทูเบอร์ที่เน้นผลิตคอนเทนต์ด้านศิลปะเป็นส่วนใหญ่ เขาต้องพบเจอกับอะไรมาบ้าง และจัดการกับสิ่งตรงหน้าอย่างไรบ้าง นั่นคือสิ่งที่เราอยากรู้ต่อไป

        “ช่วงที่เรียนจบมีเดียอาร์ตมาใหม่ๆ ประมาณ 6-7 ปีที่แล้ว ขณะที่สายงานวาดมันยังค่อยไม่ได้รับความนิยมขนาดนี้ ที่บ้านเขาก็มักจะถามเราว่าทำไมยังเลือกทำงานด้านวาดรูปอยู่อีก เพราะสมัยก่อนยังมีคำว่า ‘ศิลปินไส้แห้ง’ อยู่นะ และมักจะถูกกดดันจากสังคมรอบข้างว่า ‘ถ้าเธอไม่ใช่นักวาดรูปศิลปินที่เก่งมากๆ เธอจะไม่รวยแน่ๆ เธอจะไม่ประสบความสำเร็จแน่ๆ’ นั่นเป็นแรงผลักที่ทำให้เราต้องพัฒนาตัวเองอยู่เสมอ ทั้งที่ความเป็นจริงแล้วอาจไม่ใช่อย่างนั้นเสมอไป

        “ในปัจจุบัน ถึงแม้ว่าคุณจะไม่ใช่คนที่วาดรูปสวยที่สุดในโลกก็สามารถมีอาชีพรองรับได้ ตลาดตอนนี้ไม่ได้เป็นพื้นที่สำหรับแค่ที่วาดรูปเก่งอย่างเดียวถึงจะอยู่ได้ แต่มันเปิดกว้างไปอีกหลายทางเยอะมาก ก่อนจะมาเป็นยูทูบ เราก็มักจะคิดน้อยใจตัวเองเสมอว่า ทำไมฉันวาดไม่สวย ทำไมฉันวาดไม่เก่ง จนสุดท้ายมาเป็นยูทูเบอร์ ก็พัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ จนเข้าใจว่า ถึงแม้เราไม่ได้เป็นคนวาดรูปเก่ง แต่เราก็ยังมีทักษะการสื่อสารที่ดีนี่นา”

        ช่วงเวลาที่รู้สึกท้อแท้ น้อยใจตัวเองที่ไม่ได้เป็นคนที่เก่งกาจตามบรรทัดฐานของสังคม ตอนนั้นมีความคิดอยากจะล้มเลิกความฝันครั้งนี้ และเบนสายไปทางอื่นหรือไม่

        “สิ่งที่คิดในเวลานั้น คือต่อให้ไม่เก่ง เราก็จะพยายาม และพัฒนาตัวเองต่อไป เวลามีโอกาสไหนเข้ามาที่จะทำให้ทักษะและฝีมือของเราดีขึ้นก็จะพยายามรับไว้ก่อน สมัยนั้นยังคิดราคาของผลงานตัวเองอยู่ที่ 100-150 บาท เราก็ตีค่าราคาตัวเองเท่านั้นอยู่เลย พอมองไปยังคนข้างบนที่เขาอยู่สูงกว่า วาดเก่งมากกว่า คิดว่าเขาต้องได้เงินมากกว่านี้อีกหลายเท่าแน่ๆ นั่นคือความดื้อของเรา ที่ต่อให้รู้ว่าตัวเองไม่เก่ง ก็จะไม่หยุดพัฒนาตัวเอง

        “แต่พอมาคิดอีกทางหนึ่ง เราก็เก่งอยู่นะ (หัวเราะ) รับงานได้หลากหลาย ทั้งเป็นฟรีแลนซ์งานวาดภาพ งานวาดภาพการ์ตูน งานวาดภาพประกอบหนังสือ งานวาดภาพประกอบเกมส์ แต่นั่นคงไม่พอยาไส้แน่ๆ ด้วยความที่ประเทศไทยไม่ได้ให้เงินเราเยอะขนาดนั้น เลยมองช่องทางอื่นที่เป็นรายได้เสริม เพราะเห็นเขาว่ากันว่าหากปล่อยคลิปลงไปก็จะมีเงินเข้ามาเป็นเดือนๆ ตอนนั้นก็จะมีความหลงทางหน่อยนึง ก่อนที่จะมาเป็นสายศิลปะ ก็ทำช่องเอนเตอร์เทนเมนต์ทั่วไป สำหรับน้องๆ เด็กๆ แต่จุดเริ่มต้นของการเป็น Artist Youtuber จริงๆ ก็คงน่าจะเป็นอยากได้เงินเพิ่ม (หัวเราะ)”

Atompakorn

การเดินทางที่ไม่ได้สวยหรู และเต็มไปด้วยขวากหนามทิ่มแทงใจ

        เราเคยได้ยินเขาตัดพ้อว่าเมื่อทำยูทูบมาได้สักระยะแล้วรู้สึกว่ายอดไม่ได้ดีอย่างที่คาดหวัง วันนี้จึงหยิบเรื่องนี้มาถามเจ้าตัวอีกครั้งว่าสิ่งนั้นทำให้ตัวเองน้อยใจ ตัน หมดไฟ หรือรู้สึกอย่างไรกันแน่

        “เมื่อ 2-3 ปีก่อน วงการอินฟลูเอนเซอร์ วงการสื่อบนโลกอินเทอร์เน็ตยังไม่ได้กว้างขวางขนาดนี้ เราเองก็ไปตกหลุมพรางภาพจำของ LGBTQ+ ว่าในเมื่อสังคมมักจะบอกว่า กะเทยต้องตลก กะเทยต้องเสียงดัง กะเทยต้องปากแจ๋ว ถึงแม้ว่าเราจะเป็นคนเงียบๆ ไม่ชอบสุงสิงกับใคร แล้วก็ไม่ได้เป็นคนตลกขนาดนั้น แต่สิ่งสำคัญคือเราอยากทำเงินให้ได้มากที่สุด เราก็เลยสร้างคาแรกเตอร์ของตัวเอง สร้างเปลือกของตัวเองตามที่สังคมวางกรอบเอาไว้ให้ เพราะคนชอบดู และสามารถสร้างรายได้

        “คนที่ตลกคือเขาเก่งมากเลยนะ เราชื่นชม แต่ความตลกก็เป็นทักษะด้วย ซึ่งเราไม่ใช่คนแบบนั้น เมื่อต้องทำแบบนั้น ตี 2-3 ทุกวันๆ ตามกรอบที่ตัวเองสร้างขึ้นมา ตอนนั้นเราเลิกวาดรูปไปแล้ว เพราะเวลาชีวิตไม่พอ จนสุดท้ายสภาพจิตใจพังมาก แต่ก็หยุดทำไม่ได้ กดดันตัวเองอีกว่าถ้าทำไม่ตลกคนก็ไม่ดู เพราะคนดันชอบภาพที่เราลงไป กลายเป็นยึดติดไปแล้วว่าฉันต้องเป็นคนแบบนี้ ถึงแม้ว่าเงินจะไหลเข้ามาในกระเป๋า มีรายได้เข้าบัญชี มีโฆษณาจ้าง แต่เราไม่มีความสุขเลย ไม่มีกำลังใจในการใช้ชีวิตต่อไปเลย ต่อให้คนรอบข้างมองเห็นว่าเรากำลังแย่ แต่เขาก็เข้ามาในชีวิตเราไม่ได้ เพราะเราอยู่ในโลกของเรา ในกรอบ ในโลกของเราแล้ว”

        นี่เป็นอีกครั้งที่ต้องกลายเป็นใครบางคนตามที่สังคมวาดฝันให้เป็น ด้วยความเชื่อว่าวิธีนี้จะทำให้สามารถสร้างชื่อเสียงและเงินทองตามมาได้ ทว่าใช่ว่าความสุขที่แท้จริงจะตามมา ยิ่งไปกว่านั้น ยังทำให้สภาพจิตใจปั่นป่วนจนยากที่จะแก้ไขปัญหาเพียงผู้เดียว หากเป็นเช่นนั้น คุณผ่านสถานการณ์แบบนั้นมาได้อย่างไร

        “สุดท้ายก็จบลงโดยการที่เราไปพบจิตแพทย์ เพื่อเล่าให้เขาฟังว่าเกิดอะไรขึ้นบ้างกับชีวิตเราที่ผ่านมา เพราะเราไม่โอเคกับสภาพตอนนี้แล้ว และก็ถูกวินิจฉัยว่าเป็นโรคซึมเศร้า ตอนนั้นเลยต้องจัดการแก้ปัญหาตัวเองก่อน โชคดีที่ไม่เราไม่ได้ปล่อยทิ้งไว้จนเรื้อรังนานมากเท่าไหร่ ไม่ได้เป็นถึงขั้นรักษา ทำตามแพทย์ทุกอย่าง กินยา ไปออกกำลังกาย ไปใช้ชีวิต

        “ในส่วนของตัวคอนเทนต์นี่ยากเลย เพราะถ้าเกิดเรายังคงทำต่อไปตามเคย เราจะกลับไปวนลูปเดิมอีกครั้ง และค่ายาแพงมากเลยนะ แล้วเรายังจะต้องกลับไปทำแบบเดิมอีกเหรอ ก็เลยคิดว่าเดี๋ยวเราเป็นเวอร์ชันที่เราโอเค ที่มันเหมาะสำหรับเราจริงๆ และคิดว่าน่าจะเหมาะกับคนดูด้วย ค่อยๆ เฟดเวอร์ชันเดิมออกไป แล้วก็สร้างเวอร์ชันใหม่ขึ้นมา เพื่อให้เราสามารถอัดคลิปตอนตีสองแล้วตัวเองยังไหวอยู่”

จงยอมรับว่าตัวเราเองนั้นเป็นใคร และก้าวเดินต่อไปในแบบที่เราเป็น

        ในช่วงเวลาที่เราพยายามหลีกหนีจากวิถีเดิมของเรา และกลายเป็นใครบางคนที่แท้จริงแล้วเราไม่ได้เป็น สิ่งนั้นย่อมสร้างบาดแผลในใจของเราไม่น้อย แต่เมื่อพอเราเริ่มหยุดและเฝ้าสังเกต พร้อมทั้งอนุญาตให้เราได้เป็นตัวของตัวเอง มองเห็นว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนั้นผิดพลาดอย่างไร ก็จะเกิดเป็นกระบวนการเรียนรู้ เข้าใจ และยอมรับในตัวตนที่เราเป็น เพื่อที่จะกลายไปเป็นเรา ในแบบที่เราเป็น

        “เราต้องมองเห็นว่าเรากำลังมีปัญหาอะไรอยู่ ถึงแม้ว่าตอนนี้เราจะยังแก้ไขมันไม่ได้ในทันทีทันใด แต่เหมือนกับพอเรารู้สึกปวดหัว เราก็จะกินยาแก้ปวดทันที ถึงแม้ตอนนี้มันจะยังไม่หายเจ็บปวด แต่เราก็รู้แล้วว่าเรากำลังจะเริ่มรักษามัน และหลังจากนั้นเราก็จะค่อยๆ ดีขึ้นเอง

        “ในช่วงที่ปรับเปลี่ยนแนวทางทำคอนเทนต์ตอนแรก แน่นอนว่าย่อมมีความคิดเห็นแนว ‘ทำไมพี่ไม่เหมือนเดิม หนูไม่ดูพี่แล้ว ลาก่อน ไม่อยากดูแล้ว’ เราก็ต้องค่อยๆ ยอมรับว่าเมื่อมีการเปลี่ยนแปลงจากสิ่งหนึ่งไปสิ่งหนึ่ง ใช่ว่าทุกคนจะยอมรับได้ และมีความสุขกับสิ่งนั้น แต่ถ้าเรามองเห็นว่ามันโอเค แล้วมันทำให้ตัวเราโอเค เราก็ต้องค่อยๆ เฟดเรื่องเก่าที่ไม่ดีอยู่ก่อนออกไป มีบ้างที่เราอาจไปเจอเส้นทางใหม่ที่อาจไม่สวยงามอย่างเคย แต่ถ้าทำให้เราสบายใจมากกว่า เราอาจจะอยู่จุดนั้นได้ดีกว่า สุดท้ายตอนนี้ เราก็กลายเป็นเราเวอร์ชันที่โอเคขึ้น อาจจะไม่ได้เหมือนเดิม แต่เป็นเวอร์ชันที่เราสบายใจขึ้น และก็โรคซึมเศร้านั้นหายดีขึ้นในเวลาอันรวดเร็ว”

        หลักใหญ่ใจความก็คือ เมื่อมีอาการบางอย่างเกิดขึ้นกับตัวเอง และเราก็เริ่มรู้สึกว่าสิ่งนั้นไม่ใช่ตัวเราเองที่แท้จริงแล้ว อย่าพยายามปฏิเสธเซนส์ของตัวเอง จงใช้เวลาเหล่านั้นทบทวนสังเกตความเป็นมาเป็นไปของเราเอง เมื่อถึงจุดหนึ่งที่เราสามารถทำใจยอมรับสิ่งนั้นได้ แม้ว่าจะไม่ใช่สิ่งที่ทำได้อย่างง่ายดาย แต่สัญญาณนั้นจะนำไปสู่การแก้ไขปัญหาหรือเข้าสู่กระบวนการรักษาเยียวยาได้อย่างรวดเร็ว และไม่กลายเป็นปัญหาเรื้อรังจนสายเกินแก้

        “ภูมิต้านทานที่เราได้มาจากเหตุการณ์นี้ก็คือ เมื่อไหร่ก็ตามที่รู้สึกว่าตัวเองเศร้า เราจะสังเกตตัวเองได้เร็วมาก พอรู้ว่ากำลังเข้าสู่สภาวะเศร้า เสียงในหัวของเราจะบอกว่า ‘มันมาแล้ว มันมาแล้ว’ ถ้าอย่างนั้นมีสิ่งใดบ้างที่จะแก้ไขปัญหานี้ได้ เราก็มักจะไปบอกคนอื่น บอกทีมงาน ว่าตอนนี้เรากำลังรู้สึกไม่ดีนะ อยากให้ช่วยเข้าใจนิดหนึ่ง ถ้าเกิดเราพลั้งทำอะไรลงไปก็ขอโทษด้วย”

        นี่เป็นวิธีที่ดีมากเลย เพราะพอตัวเราเองรู้สึกว่าเราเริ่มเข้าดาร์กโหมดแล้ว ก็ควรจะบอกให้คนรอบข้างได้รับรู้ถ้วนทั่วกัน หากเราเกิดพลั้งมือพลั้งปากกับใครลงไป เขาจะได้สามารถเข้าใจได้ง่ายขึ้นว่าเราที่ไม่ได้ตั้งใจให้เป็นเช่นนั้น

        “แล้วเพื่อนก็อาจจะช่วยรองรับอารมณ์เราก็ได้นะ ส่วนคนอื่นคนทั่วไปเขาก็จะได้รู้ว่าเรากำลังมีปัญหา ถึงจะช่วยอะไรเราไม่ได้มากนัก แต่แค่ไม่มากวน เราก็จะไม่ไปสร้างผลกระทบอะไรกับใครเหมือนกัน คิดว่าถ้าเราไม่ได้ไปทำให้ใครเจ็บ ก็น่าจะไม่มีใครมาทำให้เราเจ็บเหมือนกันนะ (หัวเราะ)”

        แล้วสิ่งที่คุณได้เรียนรู้จากการก้าวข้ามผ่านเหตุการณ์ร้ายดีที่ผ่านมาคืออะไร

        “ไม่ใช่เรื่องแย่ที่จะเกิดความเศร้า มันเป็นสิ่งที่เราต้องเจอ เดี๋ยวเราก็จะพยายามรักษา และผ่านไปได้ด้วยตัวของเราเอง”

Atompakorn

ทำความรู้จักหน้าค่าตาของ อะตอม ปกรณ์ ในโหมดดาร์ก

        ในฐานะของศิลปิน ก็มักจะมองเห็นอะไรเป็นภาพ และสื่อสารสิ่งนั้นออกมาด้วยภาพได้ด้วยเช่นกัน ถ้าอย่างนั้น เคยจินตนาการกับตัวเองบ้างหรือไม่ว่า หน้าตาเจ้าดาร์กโหมดของ อะตอม ปกรณ์ เป็นอย่างไร

        “ศิลปินอย่างเรามักจะถนัดเอาเรื่องราวของตัวเองมาพูดอยู่แล้ว เพราะนั่นเป็นเวอร์ชันที่ง่ายที่สุด และผู้อื่นก็จะสามารถเชื่อมโยงกับเราได้ง่ายด้วย ในตอนนั้นที่จมดิ่งกับห้วงอารมณ์เศร้า เราไม่ได้มองว่ารูปทรงนั้นเป็นอย่างไร แต่เมื่อเราลองมองย้อนกลับไป และเห็นว่าเกิดอะไรขึ้นกับเราในวันนั้น สำหรับเรา พลังงานด้านลบมีรูปทรงเป็นมวลก้อนที่ขมุกขมัว ขุ่นหมอง เหมือนเมฆหมอกอยู่ล้อมรอบตัวเรา เป็นสีเทาๆ เต็มไปหมด ก้อนเมฆที่ว่านี้ทำให้เราไม่สามารถมองเห็นออกไปข้างนอก ทำให้เรามองเห็นแต่เรื่องแย่ของตัวเอง มองเห็นตัวเองกำลังเจ็บปวด ต่อให้ใครมาบอกว่า ลองมองที่หน้าต่างนั่นสิ ดูตะวันสดใสสอดแสง เราก็ยังมองไม่เห็นอยู่ดี เพราะเห็นแต่เมฆหมอกบดบังอยู่

        “ความชั่วร้ายคือ ต่อให้เราไปดูหนัง ดำน้ำ ดูปะการัง สวดมนต์ข้ามปี หรือทำอะไรก็ตาม มันก็ยังจะตามเราไปอยู่ทุกที่ ไม่ได้เป็นเรื่องที่แค่อย่าไปคิด แล้วเดี๋ยวมันก็หายไปเอง คือมันไม่หาย ต่อให้ไปนั่งสวดแล้ว เมฆหมอกมันก็ยังจะอยู่กับเราเหมือนเดิม แต่สิ่งที่จะทำให้เมฆนั้นหายไปคือ คนข้างในต้องทำให้ค่อยๆ จางไปเอง ค่อยๆ รักษาไปเอง แล้วมันจะค่อยๆ ปลิวหายไป หรืออีกทางหนึ่งคือ เวลาคนใกล้ตัวเข้ามาในเมฆของเรา มาถามว่าเป็นอย่างไรบ้าง จากคนที่จมอยู่ในเมฆ ไม่รู้จะทำอย่างไร ก็จะสามารถดีขึ้นได้เหมือนกัน

        “นี่คือสิ่งที่เราหยิบเอาอาการของโรคซึมเศร้า ตอนที่เป็นและศึกษามาทำเป็นภาพประกอบหนึ่งในหนังสือ ซึ่งก็ไม่ได้บอกคนอ่านจริงจังหรอก ว่านั่นคือโรคซึมเศร้า หรือความรู้สึกแย่ๆ แต่มันคือการตีความผ่านประสบการณ์ที่เราผ่านมาเอง ไม่รู้เหมือนกันว่าคือหนังสือเราเป็นอะไร ถึงได้ดึงดูดแต่คนเป็นซึมเศร้าด้วยกันเข้ามาอ่าน (หัวเราะ)”

    อาการเศร้าซึมของคนที่เศร้าซึมจากข้างใน เป็นสิ่งที่ใครหลายคนพยายามหาแต่ทางผลักใสไล่ส่งสิ่งนั้นออกไปให้ไกล ต่างจากคู่สนทนาตรงหน้าของเรา ที่กลับนำเอาสิ่งเหล่านั้นมาบอกเล่าเรื่องราวให้นำไปสู่อะไรบางอย่าง ซึ่งท้ายที่สุดแล้วนั่นก็ได้สร้างผลดีต่อทั้งตัวเอง และอีกหลายคนในสังคมให้เข้าใจถึงอาการดังกล่าวมากขึ้นด้วย

        “เราหยิบเอาบทเรียนเหล่านี้มาต่อยอด เพราะเคยผ่านมาแล้วเข้าใจว่ามันเกิดอะไรขึ้น อย่างน้อยก็น่าจะทำให้คนที่กำลังอยู่ในช่วงเวลาที่ยากลำบากพอเห็นหนทาง เห็นความรู้สึก หรือเห็นว่ามีคนเข้าใจ เห็นว่าเราเป็นเพื่อนกัน เพราะตอนเป็นซึมเศร้า สิ่งที่เกิดขึ้นกับตัวเองคือ โลกทั้งใบไม่มีใครเข้าใจเราเลย ไม่มีใครเห็นเราเลย คิดแต่ว่า ‘เธอก็พูดได้สิ เธอสบายดีนี่นา แต่เราเป็นแบบนี้ไง ไม่มีใครเข้าใจหรอกในโลกใบนี้’ แต่มีใครสักคนมาแตะไหล่แล้วบอกกับเราว่า ‘เราเข้าใจนะ’ เพียงเท่านั้นแหละ น้ำตาไหลเลย การได้อ่านและเขียนเรื่องราวอะไรแบบนี้ก็ถือว่าตอบโจทย์เหมือนกัน”

ดวงดาว ก้อนเมฆ ท้องฟ้า จักรวาล

        จากที่ติดตามผลงานมา ไม่ว่าจะเป็นหนังสืออย่าง ทานตะวันบนดวงจันทร์ เรื่องเล่าจากดาวตก และ หลงทางกลางปุยเมฆ คุณมักจะเขียนหรือทำอะไรเกี่ยวกับ ดวงดาว ก้อนเมฆ ท้องฟ้า จักรวาลเสมอ จนกลายมาเป็นสิ่งที่สร้างเอกลักษณ์และเป็นตัวแทนของคุณไปแล้ว อยากถามว่าทำไมชอบหยิบสิ่งเหล่านี้มาเล่า

        “เป็นความแฟนตาซีแหละเนอะ เราเชื่อว่าทุกคนมันมีความเป็นเด็กตัวเล็กวิ่งอยู่ในตัวเองตลอดเวลา เด็กน้อยที่ว่านี้มักจะโหยหาเรื่องราวพวกนี้ เรื่องดวงดาว ปราสาท เจ้าหญิงเจ้าชาย การผจญภัย ถึงแม้ว่าเราไม่เด็กแล้ว แต่เราก็ยังสนุกกับสิ่งพวกนี้อยู่ ยังใจเต้นทุกครั้งที่ได้เจอ และรู้สึกโอเคที่จะมันอยู่ในชีวิตเรา จึงหยิบมาเป็นเรื่องราวผลงานเสมอ

        “ส่วนหนึ่งก็เพราะตอนเด็กเราชอบดาราศาสตร์ เพราะการใช้ชีวิตอยู่ชนบท สิ่งที่จะทำให้เด็กๆ ได้มีความสนุกสนานไม่ใช่โทรทัศน์ เกม หรืออะไร แต่เป็นการออกไปนั่งดูท้องฟ้าเวลาตอนกลางคืน ซึ่งมันน่ามหัศจรรย์มาก เมื่อก่อนเห็นดาวเต็มไปหมด ไม่มีแสงไฟรบกวนเลย ขนาดที่บ้านเราสามารถเห็นทางช้างเผือกได้เลยนะ นั่นเป็นความสุขตอนเด็ก และเมื่อไหร่ก็ตามที่เราได้กลับไป หรือได้เจอความเป็นดวงดาว เราก็จะรู้สึกปลอดภัยเสมอเลย”

        อย่างที่บอกว่าคนเรามักจะมีเด็กตัวเล็กซ่อนอยู่ข้างในเสมอ แต่ก็มีเหมือนกันในบางทีที่เราโดนผู้ใหญ่พูดว่า ‘ทำไมโตแล้วถึงยังชอบทำตัวเด็กอยู่เลย’ สำหรับคุณ รู้สึกอย่างไรกับคำเหล่านี้ มีมุมมอง หรือเรื่องอยากแนะนำอย่างไรบ้าง

        “คำว่า ‘โตแล้วทำไมยังทำตัวเด็กอยู่’ เราไม่เห็นมองว่าเป็นคำด่าเลยนะ เป็นคำที่น่ารักดีออก (หัวเราะ) สำหรับเรามองว่าเป็นส่วนหนึ่งในความแตกต่างหลากหลายของแต่ละคน คนเกิดมาร้อยพ่อพันแม่ คนมีเป็นล้านๆ จะให้เป็นคนเหมือนกันหมดไม่ได้ บางคนเขาอาจมีความสุขที่มีชีวิตแบบนี้ ได้ทำตัวเด็กๆ น่ารัก บางคนชอบสีเขียว สีเหลือง สีม่วงต่างกันไป เราก็ไม่ไปตัดสินใคร บางวันที่เราอยากเป็นเด็กบ้าง หรือบางวันเราไม่อยากเป็น เราก็ไม่เห็นมานั่งกังวลอะไรเลย ขอให้เคารพในความแตกต่างของแต่ละชีวิตก็พอ”

Atompakorn

        ก็ใช่ว่าความเป็นเด็กจะหมายถึงการไม่เติบโตเสมอไป แต่บางทีที่เราทำตัวเป็นเด็ก หรือพอเทียบกับคนอื่นแล้วรู้สึกว่าทำไมฉันโตได้ไม่เท่าเขา เอาแต่ทำตัวเป็นเด็กตลอดเวลา แล้วก็ถูกเอ็ดจากพ่อแม่ผู้ปกครอง ก็มักจะทำให้เรารู้สึกไม่ดีเหมือนกัน

        “เราแค่มองตัวเองเป็นตัวเล็กเกินไปหรือเปล่า มันก็มีบางโมเมนต์ที่เราเองก็ไม่ได้รู้สึกว่าตัวเองโตเป็นผู้ใหญ่ขนาดนั้น เราจะอายุสามสิบอยู่แล้ว ทำไมเรายังมัวแต่ทำเรื่องปัญญาอ่อน ทำไมไม่ผ่านเรื่องนี้ไปได้สักที แต่สุดท้ายแล้ว ต่อให้ไม่ว่าใครจะมองเราแบบไหน ใครกำหนดนิยามให้เราอย่างไร คนที่จะบอกว่าเราควรจะก้าวไปทางไหน ก็คือคนที่อยู่กับเราตลอดเวลา นั่นก็คือตัวเราเอง แต่การที่เราเป็นแบบนี้ ก็เพราะว่าเราเลือกเอง ถ้าเกิดใครมีเรื่องกังวลว่าเราจะทำอะไรได้ไม่ดีก็เดินมาบอกเราสิ จะได้หาทางแก้ไขให้มันดีขึ้น”

จงมีความสุขไปกับช่วงเวลาต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นเรื่องเล็กหรือใหญ่ก็ตาม

        หลังจากผ่านบทสนทนาที่พูดถึงช่วงเวลาที่เจ็บปวดและยากลำบากแล้วนั้น เราได้ยินคู่สนทนามักจะพูดถึงคำว่า ‘ความสุข’ อยู่เนืองๆ ด้วยรอยยิ้มอันสดใส อย่างที่เขาว่าเอาไว้จริงๆ ในตอนเป็นเด็ก ความสุขของเขาดูเหมือนที่เป็นเรื่องที่ง่ายดาย อย่างการดูดาวที่เต็มไปหมดบนท้องฟ้า แล้วในเวลาแบบนี้ล่ะ สำหรับเขาแล้ว ความสุขยังคงหาได้ง่ายดายเหมือนเดิมไหม

        “คำว่า  ‘ความสุข’ ของคนเรามันไม่เท่ากันสักเท่าไหร่ ขึ้นอยู่กับว่าสิ่งไหนที่ทำให้ใจฟู ซึ่งแต่ละคนก็ใจฟูกับสิ่งที่แตกต่างกันไป บางคนอยู่บ้านก็ใจฟูแล้ว บางคนออกเดินทางไปข้างนอกบ้านถึงจะใจฟู แต่สิ่งที่เราควรให้ค่ามันก็คือ ไม่ว่าความสุขมันจะเล็กจะใหญ่ จะเป็นเพียงเพราะกินขนมก้อนเล็กๆ หรือจะได้แจ็กพ็อต ถูกหวยร้อยล้าน ทุกสิ่งคือความสุขทั้งหมด และเป็นองค์ประกอบที่ชีวิตควรจะได้รับทั้งหมด จะเล็กหรือใหญ่ก็ไม่สำคัญ อย่างน้อยมันอาจจะช่วยต่อลมหายใจของเราวันนั้นต่อไปก็ได้ จงมีความสุขไปกับช่วงเวลาเหล่านั้น ไม่ว่าอะไรก็มีประโยชน์กับชีวิตเรามากเลยนะช่วงนี้”

        ยิ่งในช่วงที่ใครก็ตามต่างพูดเป็นเสียงเดียวกันว่ากว่าจะผ่านไปได้นั้นยากลำบากเหลือเกิน แต่ก็เป็นโลกใบเดียวกันกับที่เราสามารถเปิดโทรศัพท์ขึ้นมา เพื่อเสพความบันเทิงเล็กๆ น้อยๆ เพื่อต่อชีวิตของเราไปได้อย่างง่ายดาย เป็นวิธีการที่ไม่ว่าใครก็ต่างสามารถเลือกใช้เยียวยาให้ตัวเองมีความสุขขึ้นได้ ซึ่งสิ่งนี้ไม่ใช่เรื่องผิดเลย

        “ความสุขมันเข้าถึงได้ง่ายมากกว่าเมื่อก่อน แต่ในทางกลับกัน มันก็เป็นพื้นที่ที่ทำให้เราสามารถเอาตัวเองไปเปรียบเทียบกับคนอื่นได้ง่ายเช่นเดียวกัน ในเมื่อเทคโนโลยีและโลกอินเทอร์เน็ตนั้นกว้างขึ้น มีอะไรให้จับจ่ายใช้สอยเต็มไปหมดเลย จะแย่ จะดี เต็มไปหมดเลย ก็ขึ้นอยู่ที่เราจะเลือกรับเอาอันไหนมาใช้”

        ในบทส่งท้ายนี้ มีเรื่องราวอะไร ที่เกิดจากการเรียนรู้ ผ่านประสบการณ์ของชีวิตตัวเอง ที่อยากจะถ่ายทอดให้กับผู้อื่นไหมเราถามขึ้นมาหลังจากดูเวลาว่ารบกวนเขามาได้พักใหญ่ๆ แล้ว

Atompakorn

        “สิ่งที่เรียนรู้มาตลอดเกือบสิบปีหลังจากจบการศึกษา คือการเข้าใจว่าไม่มีอะไรอยู่ยงคงกระพันตลอดไป วันหนึ่งเราได้ขึ้นไปจุดสูงสุดของยอดเขา เราจะตกมาเมื่อไหร่ก็ได้ หรือวันหนึ่งที่เราอยู่ตีนเขาเดินต๊อกแต๊กๆ อาจมีลมอะไรพัดพาเราให้ขึ้นไปบนยอดเขาก็ได้ แต่ไม่ว่าอย่างไรก็ตาม จงเดินต่อไป ต่อให้สถานการณ์บ้านเมืองจะเลวร้ายขนาดไหน สุดท้ายหน้าที่เราคือ อย่าหมดลมหายใจ จงเลือกเดินเส้นทางที่จะพาเราไปสู่อนาคต บางคนอาจเลี้ยวซ้าย เลี้ยวขวา เดินทางผิดไปบ้าง หลงทาง จะนั่งพักก่อนแล้วค่อยเดินกลับมาก็ยังได้ ไม่เห็นเป็นอะไรเลย เพราะเส้นทางชีวิตของแต่ละคนแตกต่างกันไป ด้วยร้อยปัจจัย ร้อยเหตุผล ทุกคนเดินไม่เหมือนกัน ถึงจะอาชีพเดียวกัน มันก็มีปัจจัยที่ปลายเส้นทางของเราไม่เหมือนกัน ไม่จำเป็นต้องไปเดินตามใคร แต่สุดท้ายแล้วเมื่อเรามองหันกลับไป เราก็จะเห็นได้ว่าเดินมาไกลแค่ไหนแล้ว ระหว่างทาง ย่อมมีอะไรให้เก็บเกี่ยวและเรียนรู้มากมาย ต่อให้ล้มหรือเจ็บปวดแค่ไหน เราก็จะลุกขึ้นเดินต่อไปได้ไวมากขึ้น และเดินเข้าใกล้ปลายทางมากขึ้น หรือสำหรับบางคนเดินมาสิบปีแล้วอาจจะเพิ่งรู้ว่าตัวเองเดินมาผิดทางก็ได้ บางคนจะนอนจมอยู่กับเส้นทางเดิมๆ ไม่สามารถก้าวเดินต่อไปได้อีก นั่นก็ไม่ใช่เพราะว่าพวกเขาผิดพลาดหรือล้มเหลวอะไร อย่างเราเองตอนนี้ใช้ชีวิตด้วยการสร้างสรรค์ผลงานในฐานะศิลปิน ในอนาคตเราอาจจะมองชีวิตเปลี่ยนไปก็ได้เหมือนกัน ในช่วงเวลาแบบนี้ เส้นทางของแต่ละคนอาจจะขรุขระมากขึ้นไปอีก ตะกุกตะกักมากขึ้นไปอีก เราก็ต้องดูแลตัวเองมากขึ้น เพราะดันเดินทางบนเส้นทางที่คนทำถนนดันไม่ทำหน้าที่ของตัวเองให้ดี แต่อย่างไรก็ตาม เราก็ต้องพยายาม อย่าเดินสะดุดบ่อยกันนะครับ”


ภาพ: ปกรณ์ แก้วดี