ไม่กลัวหรือไง? ถึงกล้าไปใช้ชีวิตอยู่ข้างถนนแบบนั้น คือคำถามที่เขาเจอเป็นประจำ เวลาที่คนได้ยินว่างานวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอกของเขาคือการเข้าไปคลุกคลีและใช้ชีวิตแบบเดียวกับคนไร้บ้าน เขาไม่ได้คิดว่าตัวเองกล้าบ้าบิ่นหรือเก่งเหนือใคร แต่คำถามแบบนี้กลับทำให้เขาแปลกใจและชวนให้ค้นลึกลงไปถึงอคติที่อยู่เบื้องหลังคำถาม
“เรามักจะกลัวในสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย ความกลัวเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อคนรู้สึกว่ากำลังเผชิญกับอันตราย หรือรู้สึกว่ามีสิ่งซึ่งเข้ามาคุกคามความมั่นคงปลอดภัยของเขา”
ผู้ช่วยศาสตราจารย์ ดร. บุญเลิศ วิเศษปรีชา อาจารย์ประจำคณะสังคมวิทยาและมานุษยวิทยา มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ หรือนักมานุษยวิทยาผู้ทุ่มเท ลงลึก และหลงใหลในการศึกษาชีวิตของคนชายขอบ เขาเอาจริงเอาจังกับการลงพื้นที่เพื่อทำวิจัย ด้วยความเชื่อว่าการจะได้มาซึ่งคำตอบ เราต้องออกจากจุดที่เรายืนอยู่ ลองไปยืนอยู่ในมุมของคนอื่น เพื่อที่จะได้เข้าใจคนที่แตกต่างไปจากเรา
เช่นเดียวกับหลายๆ สถานการณ์ที่เกิดขึ้นในชีวิต โดยเฉพาะความขัดแย้งทางการเมือง หากเราออกจากจุดยืนเดิม เปลี่ยนจากการตัดสินแบบ ‘เหมารวม’ เลือกที่จะ ‘ฟัง’ คนที่คิดไม่เหมือนเราด้วย ‘ความเข้าใจ’ การแบ่งฝักแบ่งฝ่ายจากอคติส่วนตัวและความเกลียดชังต่อกันจะน้อยลง ความคิดแบบนี้ผลักดันมาสู่การทำงานวิจัยชิ้นล่าสุดของเขา ที่ตีพิมพ์ออกมาในรูปแบบหนังสือชื่อ อยู่กับบาดแผล โดยใช้วิธีลงพื้นที่สัมภาษณ์เก็บข้อมูลจากเหยื่อผู้ได้รับผลกระทบจากการออกไปยืนอยู่แถวหน้าของการชุมนุม ซึ่งบางรายได้รับบาดเจ็บจนพิการ บางคนติดคดีอยู่ในคุก ขณะที่เหยื่ออีกส่วนหนึ่งต้องทนทุกข์อยู่กับบาดแผลทั้งทางร่างกายและจิตใจ
“มันเป็นงานที่ตั้งใจเขียนให้ทั้งคนเสื้อแดงที่เกลียดคนเสื้อเหลือง และคนเสื้อเหลืองที่เกลียดคนเสื้อแดงได้อ่าน ผมรู้ว่างานชิ้นเดียวไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของคนได้ในทันที แต่อย่างน้อยขอให้มีไดอะล็อกเกิดขึ้นก็ยังดี เพื่อให้กำแพงที่เกิดจากความไม่คุ้นเคยหรือไม่ชอบหน้ากันถูกลดทอนลงไปบ้าง”
จากคนไร้บ้าน สู่เหยื่อทางการเมือง… ความกลัวที่สังคมมีต่อคนชายขอบทั้งสองกลุ่มสะท้อนให้เห็นว่า ทั้งสองกรณีล้วนเป็นความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยกันทั้งคู่
“ความแปลกหน้า ความไม่คุ้นเคย ทำให้คนหลายคนหวาดกลัวคนไร้บ้าน ส่วนความกลัวของเหยื่อ เป็นความกลัวที่รัฐและคนในสังคมได้สร้างขึ้นเพื่อให้คนเหล่านี้ต้องใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกหวาดกลัวว่ายังถูกรัฐเฝ้ามองอยู่ บางคนจึงหวาดกลัวที่จะพูดความรู้สึกจริงๆ”
ในฐานะนักมานุษยวิทยาที่ศึกษาคนไร้บ้าน โดยเลือกใช้วิธีเข้าไปใช้ชีวิตคลุกคลีอยู่กับพวกเขา คุณน่าจะถูกถามอยู่บ่อยๆ ว่า กลัวไหม? ทำไมไม่กลัว?
ผมได้ยินคำถามแบบนี้บ่อย ทั้งถามว่า ไม่กลัวอันตรายเหรอ? หรือต้องกล้าขนาดไหนถึงมาทำวิจัยเรื่องนี้? แต่ผมเองไม่ได้รู้สึกว่าเราทำเรื่องน่าทึ่งหรือกล้าหาญเป็นพิเศษเลย ผมกลับประหลาดใจกับคำถามเหล่านี้มากกว่า ทำให้ผมกลับมาตั้งคำถามต่อว่า ‘ทำไม’ คนเขาถึงถามเราว่ากลัวหรือเปล่า? หรือทำไมเขาถึงรู้สึกทึ่งกับสิ่งที่เราคิดว่าเป็นเรื่องธรรมดา? ผมพบว่ามันคืออาการร่วมกันของคนในหลายๆ สังคม คือเรามักจะกลัวในสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย ในทางมานุษยวิทยา ความกลัวเป็นปฏิกิริยาที่เกิดขึ้นเมื่อคนรู้สึกว่ากำลังเผชิญกับอันตราย หรือรู้สึกว่ามีสิ่งซึ่งเข้ามาคุกคามความมั่นคงปลอดภัยของเขา สำหรับผมแล้ว หลายๆ ความกลัวเป็นสิ่งที่ถูกสร้างขึ้น ทั้งจากประวัติศาสตร์ จากสังคม และจากวัฒนธรรม
ถามว่าผมกลัวอันตรายไหม ผมกลัวนะ แต่สำหรับผม คนที่แตกต่างจากเราไม่ได้แปลว่าเขาน่ากลัวหรือเขาเป็นคนอันตราย ความกลัวที่คนส่วนหนึ่งมีต่อคนไร้บ้านคือความกลัวจากสิ่งที่เราไม่คุ้นเคย และเป็นความกลัวที่เกิดจากการประทับตราว่าคนเหล่านี้จะน่ากลัว แต่นักมานุษยวิทยาถูกฝึกให้มองคนที่แตกต่างด้วยความเคารพ เมื่อไปทำวิจัยกับคนที่แตกต่างไปจากเรา เราจึงไม่กลัว เราถืออยู่เสมอว่าความแตกต่างเป็นเรื่องที่เราต้องเคารพและเรียนรู้
ถ้าคุณไม่กลัวเขา แล้วคนไร้บ้านเขากลัวคุณหรือเปล่า
กลัว คนส่วนใหญ่จะชอบคิดว่าเรากลัวคนไร้บ้านอยู่ฝ่ายเดียว แต่ลืมคิดไปว่าเขาเองก็กลัวเราเหมือนกัน ผมพบประสบการณ์นี้ตั้งแต่ตอนทำวิจัยเรื่องคนไร้บ้านอยู่เมืองไทยแล้ว ตอนที่ผมลงพื้นที่ในสนามหลวงช่วงแรกๆ พวกเขามักกลัวว่าผมเป็นเจ้าหน้าที่กรมประชาสงเคราะห์ที่จะมาจับเขาเข้าสถานสงเคราะห์ หรือหวาดระแวงว่าผมเป็น ‘นิ้ว’ คือคำศัพท์ที่พวกเขาใช้เรียกคนที่เป็นสายให้ตำรวจ
ความกลัวเหล่านี้สะท้อนมาจากประสบการณ์เดิม จากการที่พวกเขาเคยถูกกวาดจับมาก่อน และเราต่างเป็นคนแปลกหน้าต่อกัน เขาไม่เคยเจอคนแบบเราที่สนใจและอยากมาศึกษาชีวิตพวกเขาอย่างจริงจัง จึงรู้สึกว่าคนนี้มาแปลก อยู่ๆ ก็เข้ามาแนะนำตัวว่าเป็นนักศึกษา จะมาเรียนรู้ชีวิตของคนไร้บ้าน มันน่าเชื่อถือตรงไหนกันล่ะ เพราะฉะนั้น การแนะนำตัวเพียงอย่างเดียวยังไม่พอ เราต้องรับฟังสิ่งที่เขาพูด และมากกว่านั้นคือเราต้องอยู่กลมกลืนไปกับพวกเขาด้วย
ถ้าเปรียบเทียบคนไร้บ้านทั้ง 3 ประเทศที่คุณได้ลงพื้นที่ศึกษา ได้แก่ ไทย ญี่ปุ่น และฟิลิปปินส์ คุณคิดว่าคนไร้บ้านที่ไหนมีความหวาดกลัวสูงที่สุด
คนไร้บ้านที่ญี่ปุ่น ผมว่าเป็นที่สุดของความกลัวเลย ในทางทฤษฎีเมื่อมนุษย์เรากลัวคนที่แตกต่าง เราจะพยายามสร้างกำแพงทั้งทางรูปธรรมและนามธรรมขึ้นมา ในทางรูปธรรม คุณจะเห็นได้อย่างชัดเจนจากการที่คนรวยสร้างบ้านด้วยการทำรั้วสูงๆ เพื่อกีดกันคนจนออกจากสายตาให้ได้มากที่สุด ขณะเดียวกันมันก็มีการสร้างกำแพงในทางนามธรรม คือการที่คุณเมินเฉย ทำเป็นไม่สนใจเขาไปเลย ที่ญี่ปุ่นเราเห็นอาการแบบนี้ชัดเจนมาก อย่างเวลาเจอคนไร้บ้านอยู่ข้างทาง คนส่วนใหญ่เลือกที่จะไม่สบตา ทำเป็นมองไม่เห็น ซึ่งเป็นการแสดงให้เห็นว่า พวกเขาไม่แยแสคนไร้บ้านเลยสักนิด
ในทางกลับกัน ถ้าเราเจอคนไร้บ้านที่เป็นผู้หญิงแก่ในเมืองไทย หลายๆ คนยังรู้สึกว่า น่าเห็นใจคุณยายคนนี้ที่ชีวิตเขาต้องมาตกระกำลำบาก ถึงแม้ว่าจะยังไม่กล้าเข้าไปคุย แต่เรายังเห็นอกเห็นใจเขา ส่วนที่ญี่ปุ่นผู้หญิงไร้บ้านคนนี้จะถูกเดินผ่านโดยไม่มีใครเหลียวตามองไปที่เธอเลย ปฏิกิริยาที่คนญี่ปุ่นมีต่อคนไร้บ้านจึงโหดร้ายกว่าเมืองไทยเยอะ การสร้างกำแพงทางนามธรรม การถูกมองไม่เห็น หรือการถูกทำให้กลายเป็นอากาศธาตุยิ่งทำให้คนหมดคุณค่าและรู้สึกหวาดกลัว
แล้วการลงพื้นที่ในฟิลิปปินส์ที่เป็นโปรเจ็กต์ใหญ่ของคุณล่ะ จากความหวาดกลัว หวาดระแวงว่า คุณจะมาจับตัวเขาไปส่งตำรวจ คลี่คลายไปสู่ความกลมกลืนได้อย่างไร
โชคดีที่ในช่วงวันแรกๆ ผมลงพื้นที่ไปพร้อมกับกลุ่มนักศึกษาที่เขาฝึกงานในองค์กรพัฒนาเอกชนด้านสลัม พวกเขาพาผมลงพื้นที่สำรวจ จึงเป็นการแนะนำตัวผมให้คนไร้บ้านได้รู้จักกลายๆ หลังจากที่พวกเขากลับไป ผมจึงบอกคนไร้บ้านว่าผมจะอยู่ต่อ บางคนยังหวาดกลัวว่าเราปลอมตัวมาด้วยจุดประสงค์อื่น เช่น เป็นพวกพาสปอร์ตหายหรือหนีคดี ขณะที่คนอีกกลุ่มหนึ่งเป็นห่วงว่าเราจะถูกตุ๋นโดยคนไร้บ้านหรือเปล่า
ผมทำแบบเดียวกับที่ผมสอนนักศึกษาอยู่ตลอดเวลาว่า เราเป็นนักมานุษยวิทยาที่เอาตัวเองเข้าไปอยู่ในสังคมของคนที่เราอยากจะศึกษา เมื่อเขาทำอะไรกัน เราก็ทำตัวเหมือนกับเขานั่นแหละ พอวันที่ผมขอเข้าไปใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับพวกเขา ผมบอกเลยว่าผมจะไม่กลับไปนอนที่ออฟฟิศแล้วนะ คืนนี้ผมจะขอนอนอยู่ที่นี่ด้วย เขาก็ถามเรากลับมาว่า จริงเหรอ? ที่นี่หนาวแล้วยังฝนตกด้วยนะ
วันแรกโกลาหลมาก บางคนเขานึกว่าเราเป็นคนมีสตางค์ก็เอาของมาขายเรา คือนอกจากเราจะเข้าไปสำรวจเขาแล้ว เขาเองก็อยากสำรวจเราด้วย มีคนเดินเอาของมือสองมาขายให้เรา เราบอกว่าไม่เอา วันนี้ไม่มีตังค์แล้ว หิวด้วย กินข้าวกันที่ไหน พอมีคนเดินมาขายหมี่ถูกๆ ถุงละ 10 เปโซ ตกเป็นเงินไทยราว 7.50 บาท เขาฉีกถุงและเรียกให้เราไปแบ่งกินกับเขา เราเอามือจกกินหมี่ถุงนั้นด้วยกัน จากความหวาดกลัวสงสัยที่พวกเขามีต่อผมในตอนแรกจึงได้เปลี่ยนมาเป็นความสงสารและเห็นใจว่าเราจะตกทุกข์ได้ยากหรือเปล่า แต่กว่าจะทำให้เขายอมรับ รู้สึกว่าเราเป็นคนไม่มีเงินเหมือนๆ พวกเขา ก็ต้องใช้เวลาอยู่สักพักหนึ่ง
ในหนังสือ สายสตรีท: มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา คุณได้เล่าเรื่องของคนไร้บ้านบางคนที่แต่งเรื่องเพื่อที่จะปดปิดความจริงบางอย่างของตัวเอง สิ่งนี้สะท้อนให้เห็นถึงความกลัวหรือเปล่า
ใช่ บางคนเลือกที่จะแต่งเติมเรื่องราวของตัวเอง หรือค่อยๆ บอกความจริงออกมาทีละนิด อย่างที่บอกไปตั้งแต่ต้นว่า ความกลัวเป็นปฏิกิริยาต่อความรู้สึกว่ามีสิ่งซึ่งมาคุกคามตัวของเรา คนไร้บ้านกลุ่มหนึ่งก็กลัวเช่นกันว่าถ้าเขาบอกความจริงออกไปทั้งหมด เขาต้องเผชิญกับการสูญเสียหน้าตาและสถานะบางอย่าง เขาจึงเลือกที่จะปิดบังหรือไม่เล่าเรื่องที่มันจะไปลดทอนคุณค่าหรือศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของเขา
ต่อให้ชีวิตต้องออกไปกินนอนอยู่ข้างถนน แต่ศักดิ์ศรียังจำเป็นกับการมีชีวิต?
จำเป็นมาก มนุษย์ใช้ชีวิตเพื่อตอบในสิ่งซึ่งเป็นคุณค่าของตัวเอง เขาต้องอธิบายได้ว่าทำไมเขาถึงมาอยู่ข้างถนนแบบนี้ การพูดเรื่องไม่จริงเกี่ยวกับตัวเองคือการปกป้องตัวเองในรูปแบบหนึ่ง เขาจึงไม่อยากเล่าเรื่องที่มันกัดกินตัวเอง ผมเขียนถึง ‘เอ็นริเล่’ คนไร้บ้านในมะนิลาไว้ใน สายสตรีทฯ ว่า ตอนที่เขาเมาแล้วจึงมาเปิดเผยทีหลังว่าพ่อแม่ของเขาแยกทางกัน ซึ่งตอนแรกเขาบอกแค่เพียงว่าเขาทำความผิดหวังให้กับครอบครัว ได้เรียนปริญญาตรี แต่ดันทำงานได้ไม่ดีก็เลยต้องลาออก จนกลายมาเป็นคนไร้บ้านในที่สุด
เอ็นริเล่เลือกที่จะไม่เล่าถึงการแยกทางระหว่างพ่อแม่ เพราะมันคือปมลึกในจิตใจ ไม่ว่าชีวิตจะย่ำแย่แค่ไหน แต่อย่างน้อยมนุษย์เราก็ไม่ต้องการทำลายศักดิ์ศรีหรือตัวตนของเราให้แตกสลายลงไป เราจึงพอคาดเดาได้ตั้งแต่ก่อนจะลงพื้นที่แล้วว่า เขาอาจไม่บอกความจริงกับเรา แต่การได้คลุกคลีอยู่ด้วยกันทำให้เราได้เรียนรู้มากขึ้นเรื่อยๆ ว่าการปกปิดความจริงมีหลายชั้น เขาอาจจะค่อยๆ เปิดเผยความจริงหรือความไม่จริงมากขึ้นไปเรื่อยๆ จนถึงป่านนี้เรายังไม่กล้าฟันธงทั้งหมดเลยว่าเรื่องไหนจริงหรือไม่จริง แต่อย่างน้อยเรามีกลุ่มคนที่สนิทกัน ที่พาเราไปเห็นชีวิต พาเราไปหาครอบครัวของเขา ก็พอจะบอกได้ว่ามีคนจำนวนหนึ่งที่เรารู้จักกันจนหมดเปลือก
เราทำวิจัยเกี่ยวกับมนุษย์ เราจะเจอเรื่องพวกนี้อยู่เป็นประจำ นอกจากการอธิบายตัวเองกับคนอื่นโดยที่คงศักดิ์ศรีของเราไว้ มนุษย์เรายังต้องการคำอธิบายกับตัวเองด้วย คนไทยพุทธมักให้คำอธิบายต่อชีวิตที่ยากลำบากของตัวเองว่า การที่ฉันเกิดมาจนเป็นเพราะกรรมเก่าของฉัน แต่ถ้าเป็นคนฟิลิปปินส์เขามักจะบอกว่า ประเทศของเราลำบาก เพราะรัฐบาลของเราไม่ดี คนตกงานกันเยอะก็เป็นเพราะว่ารัฐบาลคอร์รัปชัน นี่คือคำอธิบายของคนแต่ละสังคม ซึ่งยังมีรายละเอียดที่แตกต่างกันไปตามแต่ละบุคคล แต่ถ้าให้มองในภาพรวม ผมเห็นคำอธิบายของทั้งสองสังคมเป็นอย่างนี้
แล้วกับสิ่งที่จะเป็นอันตรายกับชีวิต อย่างเช่นงูหรือสัตว์ร้ายที่นำมาสู่ความเจ็บป่วยต่างๆ ล่ะ พวกเขายังมีความกลัวต่อสิ่งเหล่านี้หรือเปล่า
พอคนเราต้องปรับตัว เราจะเคยชินนะ เราค่อยๆ ได้เรียนรู้ว่าความกลัวเหล่านี้ก็ถูกสร้างขึ้นมาเช่นกัน มีอยู่เหมือนกันที่คนไร้บ้านจะคอยเตือนกันว่าอย่าไปนอนใต้สะพานนะ เพราะอาจเจองูกัดได้ ให้นอนริมถนนหรือริมฟุตพาทเท่านั้น แต่พอมีคนสักคนหนึ่งที่กล้าลงไปแล้วพบว่าไม่มีอันตรายอะไร เขาจะกลับมาบอกว่าตรงนั้นมันไม่ได้น่ากลัวอย่างที่คิด เราลงไปนอนตรงนั้นกันได้
ส่วนเรื่องฝน หนาว หรือความลำบากทั้งหลายเรารู้และเตรียมตัวที่จะเจออยู่แล้ว แต่สิ่งหนึ่งที่อันตรายและต้องหลีกเลี่ยงเป็นอย่างมากเลย คือ magulo (มา-กู-โหละ) หรือสถานการณ์ที่วุ่นวาย เช่น คนเมาทะเลาะกัน ถ้าคุณเป็นคนไร้บ้าน สิ่งที่สำคัญมากนอกจากเรื่องอาหารการกินแล้วก็คือการไม่คบหากับพวก siga (ซี-กะ) หรือพวกนักเลง ถึงแม้ว่านักเลงเขาจะมีอิทธิพลในการปกป้องคุณ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็อาจจะไปหาเรื่องคนอื่น ทำให้ถูกตามมาเอาคืนได้ ชีวิตช่วงต้นๆ ในมะนิลาของผมคลุกอยู่กับแก๊งนักเลง ตอนหลังพอรู้เรื่องมากขึ้นแล้วยังแอบคิดว่า ตอนนั้นเราห้าวเกินไป ชีวิตข้างถนนไม่ใช่แค่บาดเจ็บจนเลือดตกยางออก แต่ถ้าเกิดไม่พอใจกันขึ้นมาเมื่อไหร่ เขาแทงกันตายได้เลย
มีอยู่ครั้งหนึ่งที่ ‘เอ็ดการ์’ คนที่มีนิสัยเอาเรื่องและดื่มหนัก เขาต่อยกับ ‘เรย์มอนด์’ คนไร้บ้านที่สูงวัยกว่า ซึ่งก่อนสถานการณ์จะสงบลง เอ็ดการ์ก็โดนหมัดของเรย์มอนด์เข้าเต็มๆ คืนนั้นผมต้องนอนต้องอยู่ข้างๆ เรย์มอนด้วยความกลัว เพราะเคยได้ยินเรื่องเล่ามาว่า คนไร้บ้านจะล้างแค้นกันตอนนอน โดยใช้อาวุธที่อยู่ข้างถนนก็คือ หินก้อนใหญ่ๆ เขาจะเอามาทุ่มใส่หัวระหว่างที่คู่อริกำลังหลับ จนถึงตายเลย ผมจึงกลัวว่าตัวเองจะโดนลูกหลงไปด้วย แต่เรื่องแบบนี้ก็ไม่ได้เกิดขึ้นบ่อยๆ อย่างน้อยถ้าเราไม่ได้ไปสร้างปัญหาให้ใคร ก็ไม่น่าจะมีใครหมั่นไส้จนมาทำร้ายคุณได้ขนาดนั้น
มั่นใจแค่ไหนว่าตัวเองจะมีชีวิตรอดกลับมาพร้อมร่างกายที่สมบูรณ์
No one can guarantee you! (หัวเราะ) พอรู้ว่าผมจะลงพื้นที่ไปใช้ชีวิตอยู่กับคนไร้บ้านที่มะนิลาก็มีคนเป็นห่วงผมเยอะนะ ผมบอกแม่ เขาก็เตือนผมว่าอย่าไปลงลึกเหมือนกับตอนที่ผมไปอยู่สนามหลวง อยู่เมืองนอกเราไว้ใจใครไม่ได้ แต่เราก็ไม่ได้ทำตามแม่ทั้งหมด (ยิ้ม) อาจารย์อัลเฟรด แม็คคอย (Alfred McCoy) กรรมการวิทยานิพนธ์ที่รู้จักประวัติศาสตร์สังคมฟิลิปปินส์อย่างดี เตือนผมว่า บุญเลิศ ยูรู้จักฟิลิปปินส์น้อยเกินไป ที่นั่นมีพวกคนของมาเฟียหรือเขาเรียกว่า ‘tough guy’ มาคอยทำอันตรายคนไร้บ้าน เพราะเขาอยากไล่คนไร้บ้านให้พ้นจากพื้นที่ของเขา ยูต้องระวังเรื่องพวกนี้ด้วย อย่าชะล่าใจ ส่วน แคเธอรีน บาววี (Katherine Bowie) อาจารย์ที่ปรึกษาของผมยังกลัวยิ่งกว่าผมอีก แกชอบบอกว่า นอกจากแกจะพูดในฐานะอาจารย์ที่ปรึกษาผมแล้ว แกยังพูดในฐานะของแม่คนหนึ่งด้วย จึงขอร้องให้ผมพกโทรศัพท์มือถือไว้ในกระเป๋าตลอดเวลา เผื่อไว้ใช้ในกรณีฉุกเฉิน
ตลอด 14 เดือนที่ใช้ชีวิตข้างถนนอยู่ในมะนิลา วันไหนที่หัวใจเต้นแรงมากที่สุด
ช่วงที่ผมไปอยู่ฟิลิปปินส์แรกๆ เลย มีคนไร้บ้านคนหนึ่งที่เป็นซีกะ (นักเลง) ชื่อ เจฟฟรี เขาเป็นผู้ชายที่ชอบหาเรื่องคนอื่น พออยู่ไปสักพักผมจึงมารู้ทีหลังว่าเขาติดยาด้วย คือปกติเขาเป็นคนที่ชอบมองหน้าคนนั้นคนนี้เพื่อดูว่ามีใครที่กูพอจะหาเรื่องได้บ้าง ให้กูได้ exercise สักหน่อย วันนั้นเขาไล่มองหน้าคนอื่นๆ จนมาหยุดที่ผม ถามว่าผมเป็นคนที่ไหน พยายามจะพูดอะไรกับผมสักอย่าง แต่ตอนนั้นผมยังฟังภาษาตากาล็อกไม่ค่อยออก จึงตอบเขากลับไปทำนองว่า sorry, ผมฟังไม่รู้เรื่อง โดยไม่มองหน้าเขาตอบ จากนั้นเขาก็หันไปต่อยเพื่อนผมแทน หาว่าพวกมึงอยู่ถิ่นอื่นนี่หว่า บุกรุกเข้ามาถิ่นกูได้ยังไง ผมตกใจมาก และบอกตัวเองเลยว่าเราต้องคอยระมัดระวังพวกจิ๊กโก๋ข้างถนนที่ชอบหาเรื่องคนอื่นไปทั่วแบบนี้ คนพวกนี้อันตราย เพื่อนคนไร้บ้านคนอื่นๆ ก็ออกความเห็นว่าอย่าไปยุ่งกับมัน
เราเองก็ไม่เคยอธิบายให้เขาฟังว่าเราเป็นนักศึกษา ไม่ใช่คนไร้บ้าน และไม่ใช่คนฟิลิปปินส์ด้วย เพราะคิดว่าคงซับซ้อนเกินกว่าที่เขาจะเข้าใจ เวลาเจอหน้ากัน เราเลือกที่จะไม่สนใจ ไม่มองหน้ากลับ จนตอนหลังผมเดินไปกับเพื่อนที่เป็นคนเคยใช้ยา ปรากฏว่าเพื่อนคนนี้กับเจฟฟรีเคยใช้ยาด้วยกันและรู้จักกัน เจฟฟรีก็เลยเลิกมองหน้าหาเรื่องผมไปในที่สุด เพราะเขาคงรู้สึกว่าการที่ผมสนิทกับเพื่อนคนนี้แปลว่าผมคงไม่ใช่คนกระจอก ดังนั้น อย่าไปยุ่งกับมันเลย
เมื่อใช้ชีวิตอยู่ข้างถนน เราต้องเรียนรู้ที่จะหลีกเลี่ยงปัญหา แม้ว่าการอยู่กับเพื่อนที่มีอิทธิพล รู้จักกับพวกนักเลง อาจช่วยให้เราเอาตัวรอดได้ แต่ในขณะเดียวกันเขาก็อาจจะสร้างปัญหาได้เช่นเดียวกัน เพราะชีวิตข้างถนนไม่มีใครกลัวใคร หลายๆ คนพร้อมแลกกันด้วยชีวิต เพราะเขาไม่มีอะไรจะเสียมากไปกว่านี้แล้ว คนไร้บ้านบางคนจึงเป็นอันตราย ขณะที่ยังมีอีกหลายคนที่เขาไม่มีพิษภัยอะไร แต่พวกเราต่างหากที่กลัวเกินไป เพราะเรามีอคติกับพวกเขา เราชอบคิดว่าเขาสกปรก อันตราย และควรถูกกำจัด ซึ่งความคิดเห็นเหล่านี้มาจากมุมมองที่ไม่เข้าใจเขา
ในความเป็นจริงเราไม่ได้รู้เรื่องราวของพวกเขามากสักเท่าไหร่เลย เมื่อก่อนเราเรียกเขาว่า ‘คนเร่ร่อน คนจรจัด’ ผมจึงเรียกชื่อพวกเขาใหม่ว่า ‘คนไร้บ้าน’ โดยแปลมาจากคำว่า ‘homeless’ เป็นความตั้งใจที่จะทำให้สังคมมองคนไร้บ้านอย่างเข้าอกเข้าใจ แยกแยะมากขึ้น และช่วยกันสลายอคติที่มีต่อพวกเขา ผมเขียนเรื่องคนไร้บ้านทั้งในเมืองไทย ญี่ปุ่น รวมถึงฟิลิปปินส์ก็เพื่อจะบอกว่า อย่ามองแต่ว่าพวกเขาเป็นตัวปัญหาเพียงเพราะพวกเขาแตกต่างไปจากเรา ความจริงเขามีที่มาที่ไป และต้องประสบอะไรมากมายในชีวิต จึงไปที่ไหนไม่ได้ ปลายทางของเขาเลยต้องมาอยู่ข้างถนนแบบนี้
ความหวาดกลัวและอคติต่างๆ ที่สังคมมีต่อพวกเขา เป็นเพราะว่าคนไร้บ้านไม่ได้ผลิตเรื่องเล่าของตัวเองด้วยหรือเปล่า
มีส่วนเป็นอย่างมาก ผมเองอยากส่งเสริมให้เกิดขึ้นมากๆ เลย เพราะรู้สึกว่าตัวเราเองก็ผูกขาดการเขียนถึงคนไร้บ้านมากเกินไปหน่อย ผมผูกขาดเสียงของพวกเขาด้วยการเล่าผ่านประสบการณ์ของผม การส่งเสริมให้คนไร้บ้านเล่าเรื่องของตัวเองได้เป็นสิ่งสำคัญ แต่ผมก็เข้าใจว่ามันยาก คงต้องออกแบบกระบวนการทำวิจัยอีกรูปแบบหนึ่ง ที่จริงเริ่มมีการทำกับคนบางกลุ่มแล้ว เช่น เสียงของเหยื่อ คือการทำอย่างไรให้เหยื่อได้เล่าถึงความรู้สึกที่เขาประสบด้วยตัวเอง ทั้งในรูปแบบของเรื่องเล่า หรือการจัดนิทรรศการจากมุมมองของเขา ก็เป็นตัวอย่างของการลดการผูกขาดของผู้เล่า
สงสัยว่าคนชั้นกลางอย่างเราที่สนใจแต่ตัวเอง นิ่งดูดาย และตัดขาดตัวเองจากพวกเขา มีส่วนซ้ำร้ายให้ชีวิตของพวกเขาแย่ลงไปกว่าเดิมหรือเปล่า
ใช้คำว่าอะไรดีล่ะ (นิ่งคิด) อืม…มันก็ไปผลิตซ้ำโครงสร้างที่ไม่เป็นธรรม มีคนถามผมบ่อย ๆ ว่า แล้วจะให้เขาทำยังไง เขาเองก็ต้องออกจากบ้านแต่เช้า ทำงานง่กๆ จนกลับบ้านดึกดื่น ใช่ว่าชีวิตของเขาจะสบาย แต่ในขณะเดียวกันยังมีคนจำนวนมากที่ใจดี เดินผ่านแล้วมีน้ำใจให้เงินให้อาหารกับคนไร้บ้านนะ ผมว่าข้อเสียอย่างหนึ่งคือ คนไทยไม่ค่อยบริจาคเพื่อสนับสนุนให้องค์กรไปทำงานกับคนไร้บ้าน ทั้งที่จริงๆ แล้วการทำงานช่วยเหลือคนไร้บ้านที่จะเห็นผลจริงๆ ต้องมีการรวมกลุ่ม และต้องมีความเป็นมืออาชีพ ไม่ใช่งานอาสาสมัคร เราต้องการคนทำงานแบบฟูลไทม์ ถ้าไม่มีการซัพพอร์ตคนทำงานเลย เอ็นจีโอก็ทำงานไม่ไหวเหมือนกัน ถ้าอยากช่วยเหลือพวกเขาจริงๆ ผมว่าซัพพอร์ตให้เอ็นจีโอที่ทำงานแบบมืออาชีพน่าจะได้ผลมากกว่าการให้แบบทำบุญ
ถ้าพบเจอกันในชีวิตประจำวัน เพียงแค่คุณเหลียวแลเขา หรือยิ้มให้เขาบ้างก็ได้ ถ้ามีโอกาสลองคุยกับเขา โห พี่ ฝนตกอย่างนี้ทำยังไงล่ะ ผมเคยทำและได้เขียนเล่าไว้ในหนังสือ โลกของคนไร้บ้าน ว่าระหว่างที่ผมยืนรอรถเมล์อยู่ มีคนไร้บ้านเดินผ่านมาแล้วผมทักเขา ปรากฏว่าลุงคนไร้บ้านคนนั้นดีใจมากเลย เขารู้สึกว่าผมกล้าทักทายเขาด้วย แรกๆ เขาอาจจะกลัวคุณ หรือไม่คุณก็อาจจะเขินๆ บ้าหรือเปล่าให้เรายิ้มทักคนไร้บ้าน แต่ผมคิดว่าอย่างน้อยมันก็ทำให้เขารู้ว่าคนอื่นไม่รังเกียจเขา
อย่างตัวคุณเองเคยเป็นเอ็นจีโอที่ทำงานผลักดันเรื่องชีวิตความเป็นอยู่ของคนไร้บ้านมาก่อน อยากรู้ว่าเหตุผลอะไรถึงเลือกเปลี่ยนบทบาทมาเป็นอาจารย์
ตอนแรกผมไม่ได้มีความตั้งใจจะมาเป็นอาจารย์หรอก เรียนจบปริญญาโทแล้วก็คิดว่าจะไปทำงานเอ็นจีโอต่อด้วยซ้ำ พอดีว่าทางคณะฯ ชักชวน บอกว่าเรามีคุณสมบัติครบ ลองมาสมัครดูไหม แต่ก็ไม่รับรองว่าจะได้เป็นเลยนะ ต้องสมัครเข้ามาผ่านกระบวนการคัดเลือกตามปกติ ผมเรียนจบปี 2546-47 เป็นผู้ช่วยทำวิจัยอยู่ประมาณปีหนึ่ง ได้ทุนไปญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์เป็นช่วงเวลาสั้นๆ แล้วค่อยกลับมาเป็นอาจารย์ตอนปี 2548 ทำให้เห็นว่า การที่เลือกเรียนต่อทำให้เราไม่ได้ช่วยงานเอ็นจีโอโดยตรงแล้ว แต่มันช่วยให้เราวิเคราะห์สังคมได้อย่างเข้าใจมากขึ้น และเริ่มรู้สึกว่าการทำงานเอ็นจีโอที่ผ่านมาของเราเป็นเหมือนกับมวยวัด
เหมือนมวยวัด หมายความว่าอะไร
เราเห็นคนไร้บ้าน เราเห็นคนในสลัมเดือดร้อน เราก็ช่วยไปตามประสบการณ์ด้วยความรู้สึกว่าเรากำลังเผชิญปัญหาร่วมกับพวกเขา แต่การขลุกอยู่กับสถานการณ์แบบวันต่อวันแบบนั้นทำให้เราไม่ได้ถอยออกมามองในภาพรวมว่ามันเกิดขึ้นจากอะไร ซึ่งการเรียนไม่ได้ให้คำตอบทั้งหมดหรอก แต่มันสอนให้เราต้องอ่านหนังสือ และบอกว่าเราควรจะไปหาคำตอบที่เป็นระบบอย่างไร จึงทำให้เรามีความสามารถในการวิเคราะห์ปัญหามากขึ้น
ทราบมาว่าในระดับปริญญาตรี คุณเลือกเรียนคณะประมง สงสัยว่ามันเชื่อมโยงมาสู่ความสนใจในปัจจุบันอย่างไร
ก่อนหน้านี้ผมออกจะเขินๆ ไม่กล้าพูด แต่ตอนนี้ผมกล้าพูดแล้ว คือสมัยก่อนผมอยากเป็นนักเขียน ผมเป็นคนกรุงเทพฯ ที่ไม่ชอบกรุงเทพฯ แล้วผมก็อยากไปเป็นนักเขียนอยู่ต่างจังหวัด ผมเลยเลือกเรียนประมงเพราะคิดว่าจบแล้วจะได้ไปอยู่ต่างจังหวัดแบบที่ตัวเองฝันไว้ แต่พอเรียนไปเรื่อยๆ กลับพบว่าวิชาเรียนส่วนใหญ่เป็นพวกวิชาวิทยาศาสตร์และเทคนิคทางวิทยาศาสตร์ เรียนเรื่องอวัยวะกุ้ง กระดูกปลา หรือเรียนเรื่องแพลงก์ตอน ฯลฯ ซึ่งไม่ได้สัมพันธ์กับสังคมและไม่เกี่ยวกับชุมชนประมงเลย ผมจึงไม่ค่อยชอบเรียนสักเท่าไหร่ โชคดีที่ผมเป็นคนชอบอ่านหนังสือและสนใจเรื่องทางสังคมมาเป็นทุนเดิม จึงได้เปลี่ยนสายมาสู่มานุษยวิทยาตอนปริญญาโท
ถึงแม้ว่าผมจะไม่ชอบรูปแบบการเรียนที่คณะประมง แต่ผมชอบสังคมในมหาวิทยาลัยเกษตรศาสตร์ ผมชอบอยู่กับเพื่อน และได้เรียนรู้มิตรภาพมากมายจากที่นั่น ถ้าคนไม่เคยรู้ประวัติของผมมาก่อนจะไม่ค่อยรู้หรอกว่าผมจบมาจากคณะประมง เพราะแทบไม่มีอะไรหลงเหลือมาใช้กับงานวิชาการในปัจจุบันเลย
ชอบอ่านหนังสือประเภทไหน
อ่านวรรณกรรมเพื่อชีวิต อ่านหนังสือของพวกมาร์กซิสต์ตั้งแต่สมัยมัธยม เมื่อไม่กี่วันที่ผ่านมา ผมก็เพิ่งได้อ่านหนังสือของ เดือนวาด พิมวนา และเพิ่งเขียนสเตตัสบรรยายความรู้สึกส่วนตัวไปว่า ผมชอบอ่านหนังสือพวกนี้ เพราะมันพาให้เราไปรู้จักโลกที่เราไม่เคยรู้จัก และอยากชวนให้มาอ่านหนังสือที่พาเราไปรู้จักในสิ่งที่เราไม่เคยรู้จักกันเถอะ เพราะผมรู้สึกว่าเดี๋ยวนี้คนเลือกอ่านหนังสือในเรื่องที่ใกล้ตัวเองมาก ไปดูชื่อหนังสือขายดี มีแต่หนังสือเศร้า เหงา อกหัก ความสำเร็จ ซึ่งเป็นหนังสือที่ทำให้เราหมกมุ่นอยู่แต่กับตัวเอง ไม่ได้พาเราออกไปเรียนรู้โลกในมุมอื่นๆ เลย
เราเป็นลูกคนกรุงเทพฯ บ้านเป็นตึกแถว แต่เราได้เรียนรู้ถึงชีวิตอื่นๆ จากการเลือกอ่านหนังสือที่เปิดโลก และนำมาสู่การทำงานวิจัยทั้งหลายของผม ซึ่งมักจะมาจากโจทย์หลักๆ คือ หนึ่ง เราจะทำให้สังคมเป็นธรรมขึ้นมาได้อย่างไรบ้าง สอง ทำให้คนเข้าใจซึ่งกันและกันมากขึ้นได้อย่างไร เช่น อยู่กับบาดแผล ก็เป็นงานที่ตั้งใจเขียนให้ทั้งคนเสื้อแดงที่เกลียดคนเสื้อเหลือง และคนเสื้อเหลืองที่เกลียดคนเสื้อแดงได้อ่าน ผมรู้ว่างานชิ้นเดียวไม่สามารถเปลี่ยนความคิดของคนได้ในทันที แต่อย่างน้อยขอให้มีไดอะล็อกเกิดขึ้นก็ยังดี เพื่อให้กำแพงที่เกิดจากความไม่คุ้นเคย หรือไม่ชอบหน้ากันถูกลดทอนลงไปบ้าง
จากการที่คุณได้ลงพื้นที่ไปสัมภาษณ์เหยื่อทางการเมืองทั้งสองฝั่ง มองเห็นความหวาดกลัวของพวกเขาบ้างไหม
เหยื่อหลายคนรู้สึกหวาดกลัว เขากลัวว่าเราอาจจะไม่ได้เป็นอาจารย์จริงๆ ทำให้บางคนเลือกที่จะไม่เปิดเผยตัวเอง ถ้าเราเปรียบเทียบความกลัวที่สังคมมีต่อคนไร้บ้าน กับความกลัวที่เหยื่อทางการเมืองบางคนไม่กล้าพูดความรู้สึกจริงๆ ผมพบว่า ความกลัวทั้งสองกรณีเป็นความกลัวที่ถูกสร้างขึ้นมาด้วยกันทั้งคู่ ความแปลกหน้า ความไม่คุ้นเคย ทำให้คนหลายคนหวาดกลัวคนไร้บ้าน ส่วนความกลัวของเหยื่อเป็นความกลัวที่รัฐและคนในสังคมได้สร้างขึ้นเพื่อให้คนเหล่านี้ต้องใช้ชีวิตด้วยความรู้สึกหวาดกลัวว่ายังถูกรัฐเฝ้ามองอยู่ บางคนจึงหวาดกลัวที่จะพูดความรู้สึกจริงๆ
ในการลดความหวาดกลัวที่เขามีต่อเรา ผมไม่สามารถลงพื้นที่เพื่อไปพิสูจน์ตัวเองได้มากเท่ากับเคสคนไร้บ้าน เพราะเริ่มตั้งแต่โทร.ไปขอสัมภาษณ์ เรามีเวลาสั้นๆ เพียง 5-10 นาที สำหรับแนะนำตัวเพื่อให้เขาตัดสินว่าจะอนุญาตให้เราเข้าไปที่บ้านหรือไม่ เพียงแค่นี้ผมก็ถูกปฏิเสธจากคนบางคนแล้ว เช่น บางรายบอกว่าเราโทร.ผิด บางรายอนุญาตแต่สอบถามเราอย่างละเอียดเลยว่าเป็นอาจารย์จริงๆ หรือเปล่า ไม่ได้แกล้งหลอกกันนะ ไม่ได้จะมาจับกันใช่ไหม เราเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าเขาอยู่กับความกลัว ส่วนบางรายตอบกลับมาทันทีเลยว่า ไม่รู้สึกว่าการกลับมาพูดเรื่องนี้จะมีประโยชน์ตรงไหน บางคนถึงกับต่อว่าเรากลับมาเลยก็มี ซึ่งคงเป็นเพราะว่าเรามีเวลาที่ได้อธิบายตัวเองน้อยเกินไป แตกต่างจากกรณีคนไร้บ้านที่เรายังได้โอกาสเข้าไปแนะนำและทำความรู้จักด้วยตัวเอง
ใช้วิธีการไหนในการสัมภาษณ์
ครั้งนี้ผมใช้วิธีสัมภาษณ์อย่างเป็นทางการ จึงใช้ทั้งการจดบันทึกและการอัดเสียง แตกต่างจากตอนลงพื้นที่กับคนไร้บ้านที่ผมใช้วิธีการจดบันทึกเพียงอย่างเดียว ใช้เวลาโดยเฉลี่ยประมาณคนละชั่วโมงเศษๆ คุยเรื่องประวัติความเป็นมาของเขา แล้วก็เจาะไปที่เหตุการณ์ที่เขาประสบ ถามถึงความคิด ความรู้สึก และมุมมองต่อชีวิต ตัวกระบวนการไม่ซับซ้อน ยากแค่ขั้นตอนหาคนมาให้สัมภาษณ์
งานชิ้นนี้แบ่งออกเป็น 3 กลุ่มกับอีก 1 นาย โดยกลุ่มแรก คือเหยื่อที่เป็นคนเสื้อแดง ผู้ถูกกระทำด้วยความรุนแรงจากการชุมนุมที่กรุงเทพฯ ในช่วง 2553 กลุ่มที่สอง คือผู้ถูกดำเนินคดีจากเหตุการณ์ชุมนุมและเหตุเพลิงไหม้ที่ศาลากลางจังหวัดอุบลราชธานี กลุ่มที่สาม คือเหยื่อจากการร่วมเคลื่อนไหวกับกลุ่ม กปปส. และ คปท. และสุดท้ายคือนายทหารอีก 1 คนที่เข้าร่วมปฏิบัติการสลายการชุมนุมฯ ในปี 2553 และถูกยิงเข้าที่ศีรษะ สิ่งที่ได้พบตั้งแต่ช่วงเริ่มต้นก็คือ กลุ่มคนเสื้อแดงหายากที่สุด และไม่ค่อยอยากจะให้สัมภาษณ์สักเท่าไหร่
ทำไมเหยื่อที่เป็นคนเสื้อแดงถึงไม่ค่อยอยากจะให้สัมภาษณ์
เพราะบ้านเมืองอยู่ในสถานการณ์ที่รัฐบาลของ พลเอกประยุทธ์ จันทร์โอชา เป็นใหญ่ เหยื่อที่เป็นคนเสื้อแดงซึ่งต่อต้านการยึดอำนาจของทหารจึงมีความรู้สึกเหมือนเขาไปรบแพ้กลับมา ได้รับบาดเจ็บจนพิการ แถมยังตกเป็นจำเลยของสังคม โดนคนประณามว่าเผาบ้านเผาเมือง ทั้งๆ ที่ถ้าไปดูในแง่ของความช่วยเหลือทางการเงิน รัฐบาลของ ยิ่งลักษณ์ ชินวัตร ก็ให้เงินช่วยเหลือเหยื่อที่เป็นคนเสื้อแดงในระดับที่มากพอสมควรนะ แต่ก็เป็นเพียงการช่วยเหลือทางการเงินเท่านั้น ไม่ได้ช่วยเหลือเยียวยาในแง่ของความรู้สึก
การใช้อำนาจเบ็ดเสร็จโดยรัฐทำให้พวกเขาหวาดกลัว แต่ผมมองว่านั่นเป็นเพียงปลายทาง สิ่งที่เป็นหัวใจสำคัญ คือ การสร้างความหวาดกลัวและความเกลียดชังโดยคนชั้นกลางที่มีจำนวนไม่มากแต่เสียงดัง รวมถึงการมีสื่อเป็นกระบอกเสียงในการกระพือให้คนเกลียดชังกันมากขึ้น เหยื่อที่เป็นคนเสื้อแดง นอกจากได้รับผลกระทบทางร่างกายจนพิการบาดเจ็บ บางส่วนยังอยู่ในการติดตามเฝ้าระวังของรัฐด้วย การถูกติดตามและคุกคามเช่นนี้ส่งผลให้พวกเขามีบาดแผลในใจ ประกอบกับคุณค่าในตัวเองถูกกระทบ เหยื่อบางรายจึงไม่สามารถพูดถึงการออกไปร่วมชุมนุมด้วยความภาคภูมิใจ ขณะที่บางคนแค้นเคืองและรู้สึกว่าพวกเขาถูกกระทำอย่างไม่เป็นธรรม
ส่วนเหยื่อที่เป็นกลุ่มผู้ร่วมชุมนุมกับ กปปส. และ คปท. ยินดีให้สัมภาษณ์มากกว่า ซึ่งผมคิดว่าเพราะพวกเขามีความรู้สึกภูมิใจเหมือนทหารผ่านศึกที่ออกรบแล้วชนะกลับมา มีคุณป้าคนหนึ่งถึงขนาดโดนระเบิด M79 ทั้งแขนและขา พอถามว่าหากย้อนเวลากลับไปได้ คุณป้าจะออกไปร่วมชุมนุมในวันนั้นหรือเปล่า? แกยืนยันเลยว่า ไปสิ ไปแน่นอน คุณป้าคนนี้คือคนที่ภูมิใจที่สุดในบรรดาเหยื่อทุกคน
ส่วนเหยื่อคนเสื้อแดงจะตอบในทำนองว่า ถ้าไปก็จะไปแบบระมัดระวังตัวมากขึ้น ไม่อยู่แถวหน้าอีกแล้ว มีคนเสื้อแดงที่เป็นแม่คนหนึ่งเล่าให้ฟังว่าลูกชายของเธอถูกยิงจนตาบอด จากนั้นเธอบอกเลยว่า จะไม่ยุ่งกับการเมืองอีกแล้ว เลือกที่จะเก็บตัวดีกว่า
เพราะความกล้าหาญไม่ได้เหมาะกับทุกคนใช่หรือเปล่า ยิ่งเป็นคนโนเนม ยากจนข้นแค้นเป็นทุนเดิม การออกไปยืนรับกระสุนอยู่แถวหน้าของชุมนุม ถ้าไม่บาดเจ็บจนพิการ ไร้คนเหลียวแล ก็ต้องอยู่อย่างทนทุกข์กับบาดแผลและความรู้สึกหมดคุณค่าในตัวเอง
ในบางสถานการณ์เราไม่ต้องการความกล้าหาญแบบนั้น ผมไม่ได้คิดว่าความกล้าหาญเป็นเรื่องไม่ดีนะ อย่างความกล้าหาญของคนที่เลือกไปยืนอยู่ตรงนั้นเพราะความเป็นห่วงลูกของเขาเป็นสิ่งที่มีคุณค่ามาก แต่ไม่ว่าใครก็ตาม อย่าให้ถึงกับต้องเจ็บตัวหรือพิการเลย และต่อให้เป็นเซเลบก็ไม่ควรต้องถูกเรียกร้องให้ไปอยู่แถวหน้า ในสถานการณ์ที่อันตรายและสุ่มเสี่ยง ผมอยากเรียกร้องให้ทุกคนกล้าที่จะ calm down กล้าที่จะถอย และกล้าที่จะดึงเพื่อนกลับมา แล้วสู้กันในสถานการณ์ที่ไม่ต้องแลกด้วยชีวิตดีกว่า
สิ่งที่ต้องระมัดระวังอีกอย่างก็คือ อย่าลืมว่าเรานั่งคุยกันอยู่ตรงนี้ พอคุณมาถามผมตอนนี้ แน่นอนว่าผมคงไม่ไป และไม่เชียร์ให้ใครต้องออกไปยืนอยู่แถวหน้าของการชุมนุม ซึ่งเราไม่รู้ว่าหากเกิดสถานการณ์ขึ้นอยู่ตรงหน้า เรามองเห็นคนนอนตายอยู่ตรงนั้น เราก็อาจจะเป็นคนหนึ่งที่บ้าดีเดือดแล้ววิ่งออกไปใช้กำลังเพื่อต่อต้านการปราบปรามคนด้วยความรุนแรงก็ได้
ในบางครั้งการสัมภาษณ์เพื่อให้เขาเล่าถึงอดีตที่ทุกข์ทน อาจไปสะกิดแผลเก่า และยิ่งทำให้เขาหดหู่ เศร้าใจลงไปอีกโดยที่เราไม่ตั้งใจ
ผมเองเป็นคนขี้เกรงใจคนนะ เวลาสัมภาษณ์ถ้าเราเห็นเขาเหนื่อย เราจะบอกว่าพอแล้วก็ได้ ไม่กล้าไปขยี้ให้เขาต้องน้ำตาไหล มันเป็นจริยธรรมในการวิจัยด้วยที่จะไม่ทำให้เขาเจ็บปวดซ้ำ เพราะฉะนั้น ผมจึงระมัดระวังมากในการไม่ไปขยี้เขาซ้ำๆ มีหลายๆ คนที่พอฟังเรื่องราวของเขา เราเองก็หดหู่และเศร้าใจไปกับเขาด้วย
มีพี่คนหนึ่งที่อยู่ในกลุ่มของเหยื่อจากการร่วมชุมนุมกับกลุ่ม กปปส. และ คปท. ที่ชีวิตของเขาลำบากมากจนน่าเศร้าใจ คือเขาถูกยิงด้วยกระป๋องแก๊สน้ำตาแล้วสมองได้รับการกระทบกระเทือน ฐานะที่บ้านก็ค่อนข้างลำบาก คุณแม่อายุมาก พี่สาวก็อายุมาก ซึ่งคนอายุมากต้องกลายมาเป็นคนดูแลสมาชิกครอบครัวที่บาดเจ็บพิการ
ส่วนเหยื่อฝั่งคนเสื้อแดงที่เราสงสารและเห็นใจมากๆ คือกลุ่มของครอบครัวที่ได้รับผลกระทบจากการที่สมาชิกในครอบครัวติดคุก เพราะถูกดำเนินคดีจากการชุมนุมที่ศาลากลางฯ เราเห็นลูกสาวร้องไห้เพราะเห็นพ่อที่แก่ตัวขนาดนี้ แต่ต้องมาติดคุกอย่างไม่เป็นธรรม เราเห็นแม่คนหนึ่งที่ยิ้มแย้ม คุยกันดีๆ มาตลอดการสัมภาษณ์ แต่พอเจอคำถามว่า ช่วงนั้นลูกเป็นอย่างไรบ้าง? เธอก็ร้องไห้ออกมาเพราะความคิดถึงลูก ไม่ได้พบเจอหน้าลูกเลยระหว่างที่เขาติดคุก มันทำให้เห็นว่าความเจ็บปวดจริงๆ แล้วไม่ใช่เรื่องร่างกายหรือเงินทอง แต่เป็นความทุกข์เพราะเรื่องราวที่เกิดขึ้นมาพรากจากครอบครัวของพวกเขาไป
เปรียบเทียบได้ไหมว่า ระหว่างคนไร้บ้าน กับคนที่มีบ้านอยู่แต่กลับต้องอยู่กับบาดแผล ใครเจ็บปวดมากกว่ากัน
(นิ่งคิด) ไม่มีใครเจ็บปวดมากกว่าใคร และไม่มีใครที่น่าสงสารมากไปกว่ากัน ทุกคนต่างมีความน่าสนใจกันไปคนละแบบ คนที่ตกเป็นเหยื่อทางการเมืองอาจดูมีความเจ็บปวดและต้องทนทุกข์อย่างชัดเจน แต่คนไร้บ้านก็มีประสบการณ์ที่เจ็บปวดเป็นของเขาเช่นกัน อย่างบาร์ตโตเรเม คนไร้บ้านที่ผมสนิทด้วยมากๆ ภายนอกเขาดูเป็นคนใจร้อน เอะอะโวยวาย และเคยติดคุกมาแล้วถึงสามครั้ง แต่วันหนึ่งเขาทำให้มุมมองที่ผมมีต่อเขาเปลี่ยนไปเลย คือเขาไปสมัครงาน แต่หัวหน้างานบอกว่ามีคนงานเต็มแล้ว แต่บาร์ตโตเรเมรู้ว่ามันเป็นเพราะรอยสักของเขาที่บ่งบอกว่าเขาเป็นคนขี้คุกมาก่อน เขาจึงไม่ได้งาน ครั้งนั้นมันทำให้เขาเกือบจะร้องไห้ออกมา เราเองก็รู้สึกเศร้าไปด้วย
คุณมีการรักษาสมดุลระหว่างความเห็นอกเห็นใจกับการเป็นเพียงผู้เฝ้ามองเหตุการณ์มากน้อยแค่ไหน ยกตัวอย่างเช่น ตอนที่บาร์ตโตเรเมโดนรถชนปางตาย ถูกโรงพยาบาลเพิกเฉย ไม่ใส่ใจที่จะรักษา เพราะพวกเขาไม่มีเงิน แล้วตัวคุณเองก็เลือกที่จะไม่หยิบยื่นเงินส่วนตัวให้ เพราะตั้งใจที่จะไม่แทรกแซงการวิจัยใช่หรือเปล่า
ไม่ใช่ผมเลือกไม่หยิบยื่นเงินให้ แต่ผมไม่มีเงินติดตัวจริงๆ ตอนนั้นผมเสียใจและหงุดหงิดตัวเองมากว่าทำไมกูไม่เตรียมเงินเผื่อมาบ้าง ถ้าตอนนั้นเรามีเงิน เราจะรีบเอาให้เขาเลย ผมเซ็งตัวเองนะ โห กูอยากทำตัวให้เหมือนคนไร้บ้านซะจนไม่ได้เผื่อแผนการให้กับสถานการณ์แบบนี้เลย วันนั้นผมไม่มีตังค์ติดตัว จึงทำได้แค่รวบรวมเอาเศษเหรียญที่บาร์ตโตเรเมได้มาจากการรับจ้างโบกรถไปซื้อยามาจ่ายเอง เหตุการณ์นี้จึงสอนให้ผมได้เรียนรู้ว่า เราต้องพกเงินเผื่อไว้ใช้ในสถานการณ์ที่มันจำเป็นแบบนี้
แม้เรามีหลักข้อหนึ่งในการทำวิจัย คือผู้วิจัยต้องไม่เข้าไปแทรกแซงเปลี่ยนแปลงผู้คน แต่สำหรับผม ชีวิตมนุษย์สำคัญกว่า เมื่อถึงจุดที่เสี่ยงต่อชีวิต ผมเลือกที่จะแทรกแซงมากกว่าจะเพิกเฉย มีคนเล่าให้ฟังเหมือนกันว่า มีอาจารย์คนหนึ่งลงพื้นที่ไปในหมู่บ้านแล้วมีชาวบ้านโดนงูกัดตาย เพราะเขาไม่ได้ให้ยืมรถออกไปหาหมอ ถ้าเป็นผม คงไม่สามารถจะยืนดูอยู่เฉยๆ เฮ้ย ดูซิว่าพอมีคนโดนงูกัดจะตายอยู่แล้ว ชาวบ้านที่นี่เขาปฏิบัติกันอย่างไร ผมไม่ทำขนาดนั้น ผมเลือกเซฟชีวิตคนไว้ก่อน
แล้วเราควรประณามนักวิจัยที่ปล่อยให้คนตายไปต่อหน้าต่อตาไหม
ผมคงไม่ถึงขั้นประณาม เพราะอาจไม่ทราบความซับซ้อนของสถานการณ์ แต่จะเรียกร้องให้ตระหนักในคุณค่าของชีวิตคน ประเด็นนี้ยังเป็นประเด็นที่อยู่ในการดีเบตในปัจจุบันด้วย มานุษยวิทยาสอนให้เราเคารพความแตกต่าง แต่ตัวผมเองคิดว่าชีวิตคนคือคุณค่าสากล เช่น เราไม่เห็นด้วยกับพิธีสตีของคนฮินดู ที่กำหนดให้ผู้หญิงต้องถูกบูชายัญหลังจากสามีเสียชีวิต เราเชื่อในหลากหลายทางวัฒนธรรม แต่ไม่ใช่ว่าเราจะเคารพวัฒนธรรมจนเห็นด้วยกับการต้องสละชีวิต
การเข้าไปศึกษาอาจช่วยให้เราเข้าใจมากขึ้นว่ามุมมองของสังคมนั้นเป็นอย่างไร แต่เราสามารถจะก้าวไปอีกขึ้นหนึ่งด้วยการยืนยันว่า ชีวิตมนุษย์คือคุณค่าที่เราต้องปกป้องรักษาไว้
ถ้าการศึกษาวิจัยของเราไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาให้ชีวิตที่ยากลำบากของคนเหล่านั้นดีขึ้นเลย คุณเสียใจไหม
มีหลายครั้งเหมือนกันที่ผมรู้สึกว่า เราอยู่ข้างถนนด้วยความสนุกมากเกินไปหรือเปล่า เราอยากช่วยเหลือพวกเขาให้ได้มากกว่านี้ ตอนผมทำวิจัยเรื่องคนไร้บ้านที่สนามหลวง ผมรู้จักกับครอบครัวข้างถนนครอบครัวหนึ่ง พวกเขามีลูกที่อายุประมาณ 7-8 ขวบแล้วแหละ ตอนลงพื้นที่ไปทำวิจัยผมจึงได้สนิทสนมกับพวกเขา เราเป็นเพื่อนและมีมิตรภาพที่ดีต่อกัน วันหนึ่งตอนที่เรากลับมาทำงานเป็นอาจารย์แล้ว ได้รู้ข่าวว่าพ่อแม่ของเขาตายไปทั้งคู่ มันทำให้เราคิดถึงเด็กคนนั้นขึ้นมา เขายังอยู่ในวัยกำลังโต พอพ่อแม่ตายจากไปแบบนี้ เขาจะใช้ชีวิตต่อไปอย่างไร แล้วจะไปอยู่ที่ไหนต่อ มันเป็นความรู้สึกแย่กับตัวเองเหมือนกันนะ (ฝืนยิ้ม)
วันหนึ่งเด็กข้างถนนที่สนามหลวงคนนั้นโทร.กลับมาหาผม เราถามเขาว่า ‘ตอนนี้หนูอยู่ไหนล่ะลูก น้าไปแถวนั้นแล้วไม่เจอเลย’ เด็กบอกว่าตอนนี้ย้ายไปอยู่ที่อื่นแล้ว เราก็เลยถามเขาว่า ‘นี่สายแล้วนะ กินข้าวหรือยังเนี่ย’ เด็กบอกว่ายัง เราก็ถามกลับไปด้วยความแปลกใจว่า ‘อ้าว ไม่กินข้าวแล้วจะอยู่ยังไง?’ เด็กบอกผมว่า ‘ก็อดสิน้า’ โห ผมฟังเด็กตัวเล็กๆ พูดประโยคนั้นแล้วใจหายวาบเลย พอถามว่า ‘แล้วตกลงว่าอยู่ที่ไหนกัน’ ยังไม่ทันคุยรู้เรื่อง สายโทรศัพท์ก็ตัดไปเสียก่อน เข้าใจว่าเขาใช้โทรศัพท์สาธารณะโทร.หาเรา แล้วเหรียญคงจะหมด นักมานุษยวิทยามักเจอกับความรู้สึก guilty อยู่เสมอ ซึ่งมักจะเกิดขึ้นหลังจากที่เราออกจากสนามวิจัยมาใช้ชีวิตปกติ แล้วหวนกลับไปคิดถึงคนที่เราเคยคลุกคลี จึงอดเป็นห่วงไม่ได้ว่าตอนนี้เขาจะมีชีวิตเป็นยังไง อยากจะบอกว่า ถ้าออยได้มีโอกาสอ่านที่น้าพูดนี่ น้ายังคิดถึงหนูและน้องๆ อยู่ตลอดนะ
ดูเหมือนว่านักมานุษยวิทยาก็ต้องการการบำบัดจิตใจตัวเองเหมือนกัน
ใช่ๆ ผมเขียนไว้ในบทท้ายสุดของหนังสือ สายสตรีท โดยถ่ายทอดความรู้สึกไว้ในทำนองว่า เรามาอยู่กับเขาเป็นปีๆ จนได้ข้อมูลมากมายกลับไปเขียนงานวิจัยพร้อมกับได้ปริญญาเอกมาครอบครอง จริงๆ แล้วเราได้ช่วยอะไรคนไร้บ้านบ้าง นอกจากการมอบเสื้อผ้ากับกระเป๋าให้แก่พวกเขา ซึ่งก็เป็นของที่เราไม่มีความจำเป็นต้องใช้มันอีกต่อไปแล้ว
นักมานุษยวิทยารุ่นใหญ่คนหนึ่งบอกผมว่า อย่าคิดว่านักมานุษยวิทยาอย่างเราจะช่วยอะไรใครเขาได้ เราอย่าไปแบกความคาดหวังต่อสิ่งที่เราทำสูงขนาดนั้น ผมใช้ถ้อยคำเหล่านี้ในการอธิบายเพื่อปลอบใจตัวเอง (ยิ้มเฝื่อน)
อย่างน้อยการไปยืนในจุดเดียวกับเขา พยายามถ่ายทอดสิ่งที่เห็นจากมุมมองของเขา ก็อาจจะส่งผลให้สังคมช่วยเหลือเยียวยาพวกเขาด้วยความเข้าอกเข้าใจมากขึ้น
ผมก็หวังว่าการที่เราช่วยเปิดพื้นที่ให้คนเข้าใจคนไร้บ้านมากขึ้น แล้วอะไรอื่นๆ จะดีขึ้นตามมา การช่วยเหลือเยียวยาที่กอบกู้ศักดิ์ศรีของพวกเขากลับมาต้องเป็นการช่วยเหลือในระยะยาว ไม่ทำให้เขาต้องไปพึ่งพาคนอื่นอยู่เรื่อยๆ สิ่งหนึ่งที่ผมเจอจากการใช้ชีวิตอยู่ในฟิลิปปินส์แล้วรู้สึกหงุดหงิดมากๆ ก็คือ การจัดงานที่อ้างว่าเพื่อคนจน แต่กลับเกณฑ์เอาคนจนมานั่งดูนิทรรศการ บริจาคอาหาร โดยที่คนจนเหล่านั้นไม่ได้นำเสนอสิ่งที่ตัวเองรู้สึกจริงๆ ออกมาเลย เป็นแค่ตัวประกอบ การช่วยเหลือแบบนี้ทำให้คนจนยังคงจนอยู่ต่อไป คนไร้บ้านก็ยังต้องอยู่ข้างถนนกันต่อไป โดยไม่ได้ช่วยให้ชีวิตของเขาดีขึ้น เขาจะกลับมาพึ่งพาอาหารจากฟีดดิ้งโปรแกรมทุกวัน ไม่มีงานระยะยาว และก็จะไม่มีทางมีที่อยู่อาศัยเป็นของตัวเอง ผมเชื่อว่ามนุษย์เราจะมีศักดิ์ศรีเมื่อเขาสามารถยืนได้ด้วยตัวเอง
แล้วเรื่องความเกลียดชังทางการเมืองล่ะ ดูเหมือนว่าโลกในปัจจุบันและอนาคต คนเรายิ่งมีความเข้าอกเข้าใจกันน้อยลง คุณคิดว่างานของคุณจะทำให้คนทั้งสองขั้วหันมารับฟัง และเข้าใจความรู้สึกกันและกันมากน้อยแค่ไหน
ผมหวังว่าอย่างน้อยคือ ทำอย่างไรให้เราไม่ใช้ hate speech ไม่สร้างคำใส่ร้ายป้ายสี ลดอคติต่อกัน อย่างเช่น เสื้อแดงเผาบ้านเผาเมือง ส่วนเสื้อเหลืองก็เป็นพวกดักดาน ผมพูดอยู่ตลอดเวลาว่า อย่างน้อยคุณต้องถือว่าคนที่เขาออกไปชุมนุมเขาเป็นพวกตื่นตัวต่อสังคม เขาไม่ใช่คนที่เอาแต่นอนอยู่บ้านเฉยๆ นะ คิดดูสิ คุณต้องออกจากบ้าน หรือเดินทางจากต่างจังหวัดขึ้นมาชุมนุมที่กรุงเทพฯ ลำบากขนาดไหน คนพวกนี้เขารู้ร้อนรู้หนาวกับสังคม ในขณะที่คนเกลียดชังพวกเขาหลายๆ คนไม่เคยสนใจเรื่องราวชีวิตของคนอื่นเลย อย่างน้อยเราจะทำอย่างไรให้เกิดบทสนทนาที่ข้ามฝั่งกันบ้าง ซึ่งผมรู้สึกว่าทุกวันนี้สื่อไม่ได้ทำหน้าที่แบบนั้นเลย
หลังจากปี 2549 เป็นต้นมา สื่อกลายเป็น one direction ไปแล้ว สมัยนี้ถ้าคุณเชียร์ขั้วการเมืองไหน คุณจะรู้เลยว่าควรเปิดทีวีช่องไหน แล้วทีวีช่องนั้นก็จะกรอกคนให้ไปในทิศทางเดียวกัน การเสพข่าวจึงมีลักษณะ selective อยากจะอ่านแต่ความเห็นที่สอดคล้องกับความเชื่อของเรา เท่ากับว่าในแต่ละวันคุณไม่ได้รับรู้ข่าวสารมากขึ้นเลย แล้วเราก็ไม่เคยรู้ว่าคนอื่นเขามีไดอะล็อกอะไรกันอยู่
เราจะลดความเชื่อฝังหัวที่มีอยู่เดิมได้อย่างไร เพราะมันไม่ได้ทำกันได้ง่ายๆ เลย
ผมคิดว่าเราต้องฝึกพาตัวเองไปอยู่ในโลกที่ต้องถกเถียง ฟังหูไว้หู สิ่งที่เป็นพื้นฐานที่สุดคือ เสพสื่อหลายๆ ด้าน นี่คือการพูดแบบอุดมคติเลย ซึ่งผมเองก็เข้าใจว่าบางครั้งเราทำไม่ได้ เผลอลืมตัวไปก็มี ผมเลยใช้คำว่าต้อง ‘ฝึก’ นักมานุษยวิทยาจะถูกฝึกให้ลองไปยืนอยู่ในมุมของคนอื่น ครั้งหนึ่งผมเคยสอนหลานตัวเอง เขายังเป็นเด็กตัวเล็กๆ อายุไม่กี่ขวบหรอก วันนั้นเขาขึ้นไปร้องเพลงในงานแต่งงานของคนในครอบครัว ญาติๆ ก็ให้ทิปกับเขา แต่หลานก็รู้สึกว่าเงินของเขาหายไป และสงสัยว่าจะต้องเป็นบ๋อยแน่นอนที่มาเอาสตางค์ไป เขาเอาแต่บ่นว่า หนูไม่เข้าใจเลย มันไม่ใช่เงินของเขา เขาเอาไปได้ยังไง ในเหตุการณ์นั้นผมสอนเขาว่า คิดแค่นี้ใครๆ ก็คิดได้ แต่ถ้าหนูเรียนมานุษยวิทยา หนูจะถามใหม่ว่า ทำไมคนเขาถึงเอาไป หนูอาจคิดว่า เพราะรายได้เขาอาจจะน้อยมาก หรือเขาอาจจะไม่มีเงินเดือนเลยก็ได้ ต้องรอจากเงินทิปเท่านั้น เขาเลยจำเป็นต้องทำ
ผมเองพยายามฝึก พยายามเตือนตัวเองเสมอเมื่อต้องเผชิญสถานการณ์ต่างๆ ที่ทำให้เราหงุดหงิดใจ คิดว่าคนนั้นมันผิด คนนั้นมันเลว หรือคิดว่าทำไมเราต้องทนคุยกับคนที่มันคุยไม่รู้เรื่องด้วยวะ เฮ้ย แบบนี้ใครๆ ก็คิดได้ ที่ยากกว่าคือคิดดูซิว่า เขารู้ไหมว่าสิ่งที่เขาทำมันผิด หรือในมุมมองของเขามันไม่ผิด หรือเขาอาจจะรู้ก็ได้ว่ามันผิด แต่จำเป็นต้องทำ
ผลงานตีพิมพ์ของผู้ให้สัมภาษณ์ ในรูปแบบหนังสือ
โลกของคนไร้บ้าน
งานศึกษาที่สะท้อนภาพชีวิตของคนไร้บ้านที่สนามหลวง ในช่วงที่ผู้เขียนเก็บข้อมูลเพื่อทำปริญญาวิทยานิพนธ์ปริญญาโท สาขามานุษยวิทยา ระหว่างปี 2544-2546 โดยวิทยานิพนธ์ได้รับการยกย่องให้เป็นวิทยานิพนธ์ดีเด่นทางมานุษยวิทยา ประจำปี พ.ศ. 2546 และหนังสือเล่มนี้ยังได้รับรางวัลชูเกียรติ อุทกะพันธุ์ ประจำปี พ.ศ. 2550
สายสตรีท: มานุษยวิทยาข้างถนนในมะนิลา
งานเขียนเชิงความเรียง สะท้อนชีวิตของคนไร้บ้านที่มะนิลา ระหว่างที่ผู้เขียนลงพื้นที่ทำงานวิจัยภาคสนามที่เมืองมะนิลา ประเทศฟิลิปปินส์ เป็นเวลา 14 เดือน ในช่วงปี 2556-2557 โดยสำเร็จเป็นวิทยานิพนธ์ระดับปริญญาเอก ที่มีชื่อว่า Structural Violence and Homelessness: Searching for Happiness on the Street of Manila
อยู่กับบาดแผล
ส่วนหนึ่งของงานศึกษาที่สะท้อนเรื่องราวชีวิตของผู้ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ความรุนแรงทางการเมือง ในช่วงปี 2553-2557 โดยใช้มุมมองทางมานุษยวิทยาในการรับฟังเสียงของพวกเขา ผ่านแนวคิด ความทนทุกข์ทางสังคม (Social Suffering)
อ่านบทสัมภาษณ์ซีรีส์ ‘ความกลัว’ อื่นๆ ได้ที่
- น้าเน็ก: กลัวที่สุดคือความรู้สึกแปลกหน้าที่ก่อให้เราเกิดความเกลียดชังต่อกัน
- เม้ง ชูใจ: ผมขอโทษ ถ้าผมเคยทำโฆษณาให้พวกคุณรู้สึกไม่ชอบตัวเอง
- จิงจิง: กลัวอ้วน กลัวผอม คือความวิตกกังวลตามปกติ ไม่น่ากลัวเท่ากับความกลัวภายในจิตใจ
- ษัษฐรัมย์ ธรรมบุษดี: เมื่อถูกหล่อเลี้ยงด้วยความกลัว เราจึงไม่กล้าฝันถึงสวัสดิการพึงได้รับ