“ผมเกษียณอายุราชการมาห้าปีแล้ว แต่วันนี้ยังทำหน้าที่เป็นที่ปรึกษาด้านวิชาการอักษรศาสตร์ กรมศิลปากร ภารกิจหลักที่ต้องทำในวันนี้คือการดำเนินงานต่อเนื่องจากเมื่อยังรับราชการอยู่ คือการตรวจสอบชำระวรรณคดีของชาติเพื่อจัดพิมพ์เผยแพร่ หนังสือสมุดไทยจำนวนมากที่มีเนื้อหาเกี่ยวกับวรรณคดีนั้นอยู่ในความดูแลของกรมศิลปากร ซึ่งส่วนหนึ่งเก็บรักษาไว้ที่หอสมุดแห่งชาติ วรรณคดีไทยหลายเรื่องที่อยู่ในหนังสือ แบบเรียน เช่น รามเกียรติ์ ขุนช้างขุนแผน พระอภัยมณี เหล่านี้ล้วนมีต้นฉบับดั้งเดิมเป็นตัวเขียนอยู่ที่กรมศิลปากรทั้งสิ้น”
อาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ กล่าวสรุปงานที่ทำ แล้วบอกว่า
“เดี๋ยวผมจะให้ดูตัวอย่างหนังสือวรรณคดีที่เป็นสมุดไทย”
อาจารย์นำสมุดไทย หรือที่เรียกกันว่า ‘สมุดข่อย’ สองเล่มออกมาให้ดู เป็นหนังสือโบราณที่เขียนลงในกระดาษข่อย พับทบไปมาเป็นเล่มรูปสี่เหลี่ยมผืนผ้า เล่มหนึ่งเขียนด้วยลายมือบรรจง ตัวอักษรสีเหลืองบนพื้นกระดาษสีดำ ซึ่งอาจารย์อธิบายว่า เขียนด้วยหรดาล ส่วนอีกเล่มหนึ่งเขียนด้วยตัวอักษรคล้ายฝุ่นสีขาว
“สมุดไทยจะเปิดจากด้านล่างขึ้นด้านบน เล่มเส้นหรดาลนี้เขียนด้วยลายมืออาลักษณ์ สมัยรัชกาลที่ 3 มีอายุเกือบสองร้อยปี” อาจารย์บุญเตือนเปิดให้เห็นเนื้อหาภายในพร้อมกับอธิบายว่า “เล่มที่เขียนด้วยหรดาลเป็นของในราชสำนัก แต่เล่มที่เขียนด้วยดินสอเป็นฉบับของชาวบ้าน”
ข้อมูลแปลกใหม่ที่คณะของเราได้จากการร่วมสนทนากับ อาจารย์บุญเตือน ศรีวรพจน์ ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ (ภาษาและวรรณกรรม) กรมศิลปากร ณ ห้องสมุดสำนักวรรณกรรมและประวัติศาสตร์อาคารกรมศิลปากร เทเวศร์ ซึ่ง a day BULLETIN มีโอกาสได้เข้าเยี่ยมชมและสนทนา เนื่องในโอกาสวันภาษาไทยแห่งชาติ ซึ่งตรงกับวันที่ 29 กรกฎาคม ของทุกปี
บทสนทนาที่เปิดประตูเราสู่โลกใหม่ ดังที่ใครว่าไว้ว่าอักษรไม่ใช่เพียงจุดเริ่มต้นของภาษา หากคือบานประตูสู่ปรัชญา และปัญญา
ผู้เชี่ยวชาญด้านอักษรศาสตร์ทำหน้าที่อะไรบ้าง
ตำแหน่งนักอักษรศาสตร์ในสังกัดกรมศิลปากรมีหลายสาขาคือ วรรณกรรม ประวัติศาสตร์ การแปล และจารีตประเพณี ผมอยู่ในสาขาภาษาและวรรณกรรม ภารกิจสำคัญคือการรักษาสืบทอดมรดกวัฒนธรรมของชาติด้านภาษาและวรรณกรรม ภารกิจสำคัญคือการรักษาสืบทอดมรดกวัฒนธรรมของชาติด้านภาษาและวรรณคดี โดยการตรวจสอบชำระวรรณคดีโบราณที่บันทึกไว้ในสมุดไทย นำมาพิมพ์เผยแพร่ ประกอบการอธิบายที่มาและทำเชิงอรรถชี้แจง
อย่างเล่มนี้ (หยิบหนังสือเล่มหนึ่งบนโต๊ะ) กรมศิลปากรจัดพิมพ์เมื่อปีที่แล้ว คือ รามเกียรติ์ ฉบับสมเด็จพระเจ้ากรุงธนบุรี แต่เดิมเราพบต้นฉบับสมุดไทยเพียง 3 เล่ม ต่อมาพบว่ายังมีอีกเล่มหนึ่งเก็บรักษาอยู่ที่ หอสมุดแห่งชาติกรุงเบอร์ลิน ประเทศเยอรมนี พอเราได้ต้นฉบับมาจึงตรวจสอบกับฉบับเดิมที่มีอยู่ และพิมพ์เผยแพร่ตามภารกิจของกรมศิลปากร
เรื่อง รามเกียรติ์ มีหลายฉบับด้วยกัน บางฉบับเขียนต่อกันยาวถึง 117 เล่มสมุดไทย เมื่อจะนำมาพิมพ์ก็ต้องมีการตรวจสอบโดยละเอียด บางเรื่องต้นฉบับกระจัดกระจายไปด้วยเหตุผลนานาประการ การตรวจสอบชำระจึงค่อนข้างมีปัญหา หนังสือ จินดามณี ที่เป็นแบบเรียนไทยเล่มแรกก็เหมือนกัน ต้นฉบับสมุดไทยมีความหลากหลายและลักลั่นกันเป็นอันมาก ตั้งแต่ผมตรวจสอบวรรณคดีโบราณมา ดูเหมือนว่า จินดามณี จะมีปัญหามากที่สุด และยากที่สุด
เนื่องจากหนังสือสมุดไทยที่เกี่ยวกับวรรณคดีมีอยู่มากมาย ผมและผู้ร่วมงานในกลุ่มภาษาและวรรณกรรมได้พิจารณาคัดสรร วางแผนการตรวจสอบเรียงลำดับก่อนหลัง ตามความจำเป็น ความสำคัญ ความยากง่ายและข้อกำหนดอื่นๆ ของแต่ละเรื่อง บางเรื่องแม้จะสำคัญมากแต่ยุ่งยากซับซ้อนต้องใช้เวลานาน ก็ต้องค่อยๆ ผ่อนทำไป หากเร่งร้อนเกินอาจมีข้อผิดพลาดเกิดผลเสียในภายหลัง
ในโอกาสวันภาษาไทยแห่งชาติ อาจารย์คิดว่าภาษาไทยสำคัญอย่างไร
ภาษาเป็นประดิษฐการที่สำคัญที่สุดของมนุษยชาติ ภาษาเกิดจากการเรียนรู้ มนุษย์คิดภาษาขึ้นมาเพื่อการสื่อสารและบันทึกสืบทอดเรื่องราวต่างๆ เป็นคุณสมบัติพิเศษที่ทำให้มนุษย์ต่างกับสัตว์อื่น ภาษาของสัตว์เกิดจากสัญชาตญาณ แต่ภาษามนุษย์เกิดจากการเรียนรู้ สร้างสรรค์ และภาษานี่แหละที่ทำให้สังคมของมนุษยชาติเจริญก้าวหน้ามาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน วัฒนธรรมและสรรพวิทยาการต่างๆ ที่สืบทอดจากรุ่นหนึ่งไปสู่อีกรุ่นหนึ่งได้ก็เพราะมีภาษาเป็นเครื่องบันทึก
ภาษาที่แท้จริงคือเสียงพูดที่ประกอบด้วยความหมาย ตามข้อตกลงของแต่ละกลุ่มชนชาติพันธุ์ทำให้เกิดตระกูลภาษา ต่อมาภายหลังกลุ่มชนใดมีนักปราชญ์ฉลาดคิด จึงประดิษฐ์ตัวอักษรเป็นสัญลักษณ์แทนเสียงพูดในแต่ละภาษาทำให้เกิดภาษาเขียนขึ้น ชาติที่เจริญแล้วหลายชาติในยุโรป แม้จะมีภาษาพูดเป็นเอกลักษณ์ของชาติพันธุ์ตนเอง แต่ไม่มีตัวอักษรเฉพาะ ต้องใช้อักษรโรมันเป็นเครื่องบันทึก แต่ชนชาติไทยมีทั้งภาษาพูดและตัวอักษรของตนเอง นับว่าเราเป็นชนชาติที่มีอารยธรรมเจริญสูงสุดชาติหนึ่ง
วัฒนธรรมทางภาษาเป็นสิ่งบ่งชี้ความเป็นชาติพันธุ์ของมนุษย์ได้ชัดเจนที่สุด อย่างชนชาติต่างๆ ในเอเชีย เช่น ไทย ลาว เขมร จีน ญวน ฯลฯ ซึ่งมีรูปร่างหน้าตาคล้ายกัน และทุกวันนี้การแต่งกายก็เป็นสากลเหมือนกัน ถ้าเราเห็นเพียงรูปกายก็ไม่สามารถบอกได้ว่าเขาเป็นชนชาติใด แต่หากเขาพูดออกมาเราก็พอจะรู้จักที่มาเขาได้ทันที
มีความเห็นอย่างไรกับภาษาใหม่ๆ ที่เกิดขึ้นในช่องทางการสื่อสารใหม่ๆ
ภาษาเป็นสมบัติของสังคม ซึ่งสังคมของมนุษยชาติมีการเปลี่ยนแปลงปรับปรุงอยู่ตลอดเวลา อาจจะช้าหรือเร็วเท่านั้น ทุกยุคสมัยต้องมีการเปลี่ยนแปลง สังคมสมัยสุโขทัยก็ไม่เหมือนสังคมสมัยอยุธยา สังคมสมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ไม่เหมือนสังคมสมัยปัจจุบัน การเปลี่ยนแปลงคือการพัฒนา ดังนั้น เมื่อภาษาเป็นสมบัติของสังคม ภาษาจึงต้องเปลี่ยนตามไปด้วย แน่นอนว่าภาษาไทยสมัยพ่อขุนรามคำแหงย่อมไม่เหมือนกับภาษาไทยที่ใช้กันในยุคปัจจุบัน เราคงไม่ปฏิเสธว่าการเปลี่ยนแปลงของสังคมคือพัฒนาการ ดังนั้นการเปลี่ยนแปลงของภาษาก็หมายถึงพัฒนาการของภาษาด้วย
เราต้องไม่ลืมว่า มนุษย์คิดสร้างสรรค์ภาษาขึ้นมาเพื่อการสื่อสาร ดังนั้น สัมฤทธิผลของภาษาคือการสื่อสาร ภาษาที่ใช้กันในสื่อสมัยใหม่ที่ปรับเปลี่ยนไปจากภาษาดั้งเดิม หากสามารถสื่อความเข้าใจกันได้จึงไม่ควรถือว่าเป็น ‘ภาษาวิบัติ’ แต่เป็นความเจริญของภาษาที่น่าจะเรียกว่า ‘ภาษาวิวัฒน์’ มากกว่า
ปัญหาคือ ภาษาใหม่เกิดขึ้นในสังคมของคนรุ่นใหม่กับช่องทางการสื่อสารใหม่ซึ่งสังคมของคนรุ่นเก่าไม่คุ้นเคย มองว่าภาษาที่เกิดขึ้นใหม่ คำใหม่ อักขรวิธีใหม่ เป็น ‘ภาษาวิบัติ’ การเปลี่ยนแปลงเป็นธรรมชาติของภาษาและสังคม ดังนั้น ในความเห็นส่วนตัวแม้ว่าจะทำงานอยู่กับภาษาเก่า แต่ไม่รู้สึกเป็นกังวลหรือวิตกกับการเปลี่ยนแปลงของภาษาอย่างที่เป็นอยู่ในปัจจุบัน
เด็กรุ่นใหม่เขาอาจจะมีภาษาที่ใช้กันอยู่ในช่องทางของเขา เฟซบุ๊ก ไลน์ อะไรก็ว่าไป ตราบใดที่เขาสื่อสารกันได้นั่นคือสัมฤทธิผลของภาษา และหากต้องการให้ภาษายังต้องคงรูปตามแบบเมื่อ 500 ปีที่แล้วก็คงจะเป็นไปไม่ได้ เวลาเปลี่ยน ยุคสมัยเปลี่ยน สังคมเปลี่ยน ภาษาก็ต้องเปลี่ยน
อย่างคำว่า ‘สู่ขิต’ ‘หาทำ’ หรือ ‘เบียว’ อาจารย์เคยได้ยินไหม
(ยิ้ม) ไม่เคย การสร้างภาษาที่ใช้เฉพาะกลุ่มมีมานานแล้ว ในสมัยรัชกาลที่ 5 ก็มีคำแปลกๆ อย่างคำว่า ‘นุ่ง’ โบราณเขาสื่อความว่าฉลาดแกมโกง ทุกวันนี้ก็ไม่มีใครใช้กันแล้ว แต่บางคำก็ยังเป็นคำที่ใช้กันมาจนถึงวันนี้ เช่น ‘โคมลอย’ ทั้งที่โคมลอยไม่เกี่ยวอะไรกับข่าวเลย โดยส่วนมากคำนั้นจะเกิดขึ้นจากเหตุการณ์อะไรบางอย่าง เช่น โรคที่คนกลัวมากที่สุดในยุครัตนโกสินทร์ตอนต้นคือโรคห่า คนเลยเอามาใช้เป็นคำในความหมายลบ เรียกห่าลงบ้าง หรือห่ากินบ้าง
เอาแค่คำง่ายๆ อย่างหุงข้าว รุ่นผมจะมีศัพท์ว่า ‘ดง’ คือเอาข้าวไปดงหม้อ หรือหุงข้าวแบบเช็ดน้ำ แต่สมัยนี้คนในเมืองไม่มีใครหุงข้าวแบบนั้น แล้วเราต้องใช้คำว่าดงอยู่อีกหรือ มันไม่ได้ช่วยให้เราสื่อสารในชีวิตประจำวันได้
อย่าไปมองว่าภาษากำลังเสื่อมหรือถดถอย อย่างที่บอกว่าภาษาเป็นสมบัติของสังคม ซึ่งเปลี่ยนไปเรื่อยๆ ไปด้วยกัน ไม่มีข้อกำหนดใดตายตัวว่าต้องไม่เปลี่ยนแปลง ไวยากรณ์ของภาษาไทยก็เปลี่ยนไปตามเวลาเช่นกัน หากมีข้อกำหนดตายตัวอย่างละตินและสันสกฤตที่เปลี่ยนแปลงไม่ได้จะเป็นภาษาตายในที่สุด ภาษาตายคือภาษาที่ไม่ได้นำมาสื่อสารกันในชีวิตประจำวัน
อาจารย์พูดว่าสิ่งใดไม่เปลี่ยนแปลง สิ่งนั้นจะตายไป แต่ตัวอักษรบางอย่างที่เราไม่ได้ใช้แล้ว ทำไมมันยังคงอยู่ ของบางอย่างที่มันไม่ถูกใช้งานแล้ว ทำไมมันยังคงอยู่ได้
จริงๆ แล้วเปลี่ยนนะ รูปของตัวอักษรเปลี่ยนแปลงตลอด ถ้าไปดูศิลาจารึกของพ่อขุนรามคำแหงจะเห็นว่า ก. ไก่ ไม่เหมือนอย่างทุกวันนี้ อักษรคือสัญลักษณ์แทนเสียง ในอดีตนั้น ค. ควาย กับ ฅ. ฅน ออกเสียงไม่เหมือนกัน แต่วันนี้เราออกเสียงเหมือนกัน ก็เป็นการเปลี่ยนแปลงที่ทำให้บางเสียงหายไป เหมือนกับเสียง ย. ยักษ์ และ ญ. หญิง ซึ่งเดิมเสียงต่างกันแต่วันนี้เราออกเสียงเหมือนกัน แต่ยังมีบางถิ่นในประเทศไทยที่รักษาความต่างของเสียง ญ. หญิง ไว้ได้ เช่นในภาคอีสานที่ยังออกเสียง ญ. หญิง (อาจารย์ทำเสียงขึ้นจมูกเล็กน้อย) ไว้ได้อยู่ แต่ในภาคกลางกลายเป็นเสียงเดียวกันแล้ว รูปตัวอักษรมีกำเนิดจากเสียงที่ต่างกัน ทุกตัวอักษรมีการแทนรูปทุกเสียงอยู่ มันมีที่มา เพียงแต่การเปลี่ยนแปลงมันเกิดขึ้นช้าๆ เราไม่รู้ตัวหรอก รู้อีกทีเสียงนั้นก็หายกลายเป็นเสียงเดียวกันไปแล้ว
เมื่อการเปลี่ยนแปลงของภาษาเป็นสภาวะที่หลีกเลี่ยงไม่ได้ ทำไมอาจารย์ยังคงทำงานอนุรักษ์วรรณคดีโบราณ
การใช้ภาษาต้องคำนึงถึงกาละเทศะ คือเวลาและสถานที่ พูดง่ายๆ คือใช้เมื่อไหร่และที่ไหน เช่น เมื่ออยู่ในกลุ่มคนที่คุ้นเคยและไม่ใช่ที่สาธารณะ ภาษาที่ใช้ก็เป็นระดับหนึ่ง แต่หากอยู่กับบุคคลต่างสถานะและในสถานที่เป็นทางการ ระดับภาษาและถ้อยคำก็ต้องเปลี่ยนไปตามความเหมาะสม
ผมบอกไว้แล้วว่าภาษาไทยมีระดับ จุดประสงค์พื้นฐานของภาษาคือการสื่อสารเพื่อความเข้าใจ ขณะเดียวกันเรายังมีภาษาอีกกลุ่มหนึ่งที่ไม่ได้มีจุดประสงค์เพื่อความเข้าใจเพียงอย่างเดียว แต่ยังมุ่งสื่อถึงความงดงาม ความจรรโลงใจ นั่นคือ ‘ภาษาเชิงวรรณศิลป์’ ซึ่งปรากฏแบบแผนอยู่ในวรรณคดีโบราณ การตรวจสอบชำระเพื่อเผยแพร่ภาษาเชิงวรรณศิลป์จากวรรณคดีโบราณนับเป็นเรื่องยุ่งยากของภารกิจ วรรณคดีถือเป็นงาน วิจิตรศิลป์ (Fine Arts) อย่างหนึ่ง และเป็นมรดกวัฒนธรรมที่จำเป็นต้องเผยแพร่และสืบทอด คนรุ่นใหม่แม้จะมีภาษาใหม่ใช้อยู่ในกลุ่ม แต่ภาษาเชิงวรรณศิลป์ที่เป็นเอกลักษณ์ของชาติก็ยังเป็นสิ่งที่คนรุ่นใหม่จะต้องรับรู้เล่าเรียนและสืบทอด
ทั้งนี้ ไม่ได้หมายความว่า ภาษาเชิงวรรณศิลป์จะไม่มีการเปลี่ยนแปลง ภาษาทุกระดับมีการเปลี่ยนแปลง กวีนิพนธ์สมัยอยุธยาตอนต้นต่างกับสมัยอยุธยาตอนปลายทั้งรูปแบบและถ้อยคำ กวีนิพนธ์สมัยรัตนโกสินทร์ตอนต้นก็ต่างกับสมัยปัจจุบัน แต่การเปลี่ยนแปลงลักษณะดังกล่าวเกิดขึ้นอย่างช้าๆ โดยที่เจ้าของภาษาไม่รู้ตัว
นอกจากงานชำระต้นฉบับวรรณคดีโบราณแล้วอาจารย์ได้เขียนหนังสือของตัวเองบ้างไหม และทำไมอาจารย์ถึงสนใจศึกษารายละเอียดของภาษาไทยมากขนาดนี้
ก็มีหลายเล่มนะ มีทั้งกาพย์กลอน และหนังสือเชิงสารคดี กับงานเผยแพร่ศิลปะวัฒนธรรม เช่น ทศชาติคำฉันท์, รัตนมงคลคำฉันท์, ชาดกและพุทธประวัติจากตู้ลายรดน้ำ, รามเกียรติ์จากตู้ลายรดน้ำ, โขน:อัจฉริยลักษณ์แห่งนาฏศิลป์ไทย, ชายคาวรรณคดี ฯลฯ
สำหรับผมแล้ว งานที่ทำคืองานหนังสือ ซึ่งผมคิดว่าสิ่งที่ทำไว้เป็นอนุสรณ์ของการได้เกิดมาเป็นมนุษย์ถึงตัวตายไปแล้วสิ่งที่ทำไว้ยังอยู่และอาจเป็นประโยชน์ต่อคนรุ่นหลัง เหมือนอย่างในโคลงโลกนิติว่า
โคควายวายชีพได้ เขาหนัง
เป็นสิ่งเป็นอันยัง อยู่ไซร้
คนเด็ดดับสูญสัง ขารร่าง
เป็นชื่อเป็นเสียงได้ แต่ร้ายกับดี ฯ
มีพันธกิจอะไรที่อาจารย์ตั้งใจทำให้เสร็จในหน้าที่การงานนี้หรือไม่ ที่แม้เกษียณอายุราชการแล้วก็ยังกลับมาทำงานอยู่
ก็ที่ทำอยู่นี่แหละ ยังมีวรรณคดีอีกหลายเรื่องที่บันทึกไว้ในสมุดไทยที่ยังไม่มีการพิมพ์เผยแพร่ออกมา การศึกษาวรรณคดีทุกวันนี้ไม่ใช่ว่าเราจะมุ่งแต่ความงามเชิงวรรณศิลป์เท่านั้น เนื้อหาในวรรณคดีบอกรายละเอียดของสังคมในแต่ละยุคสมัย ฉะนั้น ถ้าเราอยากรู้ว่าผู้คนในยุคต้นรัตนโกสินทร์ อยุธยาตอนกลาง อยุธยาตอนปลาย เขาอยู่กันยังไง ก็หาอ่านได้จากวรรณคดีที่แต่งขึ้นในยุคนั้น เราก็พยายามจะนำเสนอเรื่องแบบนี้
การนำวรรณคดีแต่ละเรื่องมาพิมพ์เผยแพร่ จึงต้องตั้งคำถามก่อนว่าทำไมจึงนำเสนอเรื่องนี้ เอกสารเป็นหมื่นเป็นแสนทำไมต้องทำเรื่องนี้ ต้องอ่านงานให้ขาด เลือกงานให้เป็น
ในโลกปัจจุบันที่มีหนังสือมากมาย อ่านไม่หวาดไม่ไหว แต่ละปีมีการพิมพ์หนังสือใหม่อยู่เรื่อยๆ ทำไมเราถึงยังต้องคัดลอกสมุดเก่าไว้อยู่อีก
เมื่อกระบวนการต่าง ผลที่ได้รับย่อมต่าง ทุกวันนี้เราอาจหาข้อมูลต่างๆ ได้อย่างรวดเร็วจากอินเทอร์เน็ต แต่หนังสือก็ยังมีความสำคัญ ต้องใช้เวลาในการผลิต เพราะหนังสือเหล่านี้จะอยู่ไปได้อีกนับร้อยๆ ปี เป็นหลักฐานที่คนรุ่นต่อไปจะได้อ่านได้รู้ ดังนั้น คนทำหนังสือต้องมีความระมัดระวัง ถ้านำเสนอข้อมูลผิดๆ ก็จะผิดไปตลอด ฉะนั้น จรรยาบรรณคนทำหนังสือต้องรับผิดชอบความถูกต้องของข้อมูล ไม่ใช่แค่เขียนเร็วๆ เพื่อเอาไปขาย เราต้องดูด้วยว่างานเราจะมีประโยชน์อะไรต่อสังคมบ้าง
หลายคนอาจมองว่าสิ่งที่เราทำตกยุคไปแล้ว แต่สังคมเราอยู่ได้ทุกวันนี้เพราะเรามีบันไดรากฐานขั้นที่หนึ่ง สอง สาม ไม่ใช่อยู่ๆ เรากระโดดขึ้นไปชั้นบนเลย แต่การหาข้อมูลจากอินเทอร์เน็ตเหมือนกับการใช้ลิฟต์ คือไปถึงแล้วกดขึ้นไปเลย มองไม่เห็นสิ่งระหว่างทาง แต่ข้อมูลในหนังสือยุคต่างๆ เหมือนกับการเดินขึ้นบันได ได้ดูทีละชั้นว่าเราผ่านอะไรมาบ้าง ก็จะทำให้เรารู้จักตนเอง คนที่จะรู้จักตนเองได้ ต้องเป็นคนที่มองเห็นชีวิต แต่เราต้องไม่ไปโทษว่าเด็กสมัยนี้เอาแต่ขึ้นลิฟต์ เราต้องดูว่าใครไปสร้างลิฟต์ให้เขาแต่แรก จะไปโทษว่าเขาติดสบายอย่างเดียวก็ไม่ได้
น้อยคนที่จะรู้ว่าวันที่ 29 กรกฎาคม เป็นวันภาษาไทยแห่งชาติ ปกติวันสำคัญต่างๆ เราจะมีประเพณี มีกิจกรรมที่ต้องทำ อย่างในวันภาษาไทยแห่งชาติมีกิจกรรมอะไรไหม ที่จะทำให้เรารู้สึกถึงความสำคัญของวันนี้ได้มากขึ้น
วันภาษาไทยแห่งชาติเป็นวันที่กำหนดขึ้นเพื่อให้คนไทยตระหนักถึงความสำคัญของภาษาไทย ซึ่งเป็นภาษาประจำชาติ เราทำงานด้านภาษาเป็นภารกิจอยู่ทุกวัน ไม่ใช่วันภาษาไทยเราก็ต้องทำ ถ้าเราทำงานกันเฉพาะวันภาษาไทย หนังสือหลายเล่มคงไม่เกิดขึ้น แต่ถ้าจะมีอะไรเป็นพิเศษสำหรับวันนี้ คือทุกปีเราจะคัดเลือกหนังสือที่มีคุณค่าในอดีตเป็นหนังสือหายากมาตีพิมพ์ใหม่ อย่างวันภาษาไทยแห่งชาติปีนี้ กลุ่มภาษาและวรรณกรรม กรมศิลปากร เลือกหนังสือ บทละครเรื่องอิเหนา พระราชนิพนธ์ในรัชกาลที่ 1 หนังสือเล่มนี้พิมพ์ครั้งแรกเมื่อ พ.ศ. 2464 นับเป็นหนังสือหายากเล่มหนึ่ง