แคน นายิกา

แคน นายิกา: เมื่อฟ้าสีทองผ่องอำไพ กลุ่มต่อต้านจะเป็นใหญ่ในสตาร์วอร์ส

“สมัยก่อนเราย้ายโรงเรียนมากถึง 4 ครั้งเลย ทั้งโรงเรียนคาทอลิก โรงเรียนรัฐบาล โรงเรียนสองภาษา และโรงเรียนนานาชาติ ถือเป็นช่วงเวลาที่ทำให้เราเติบโตและเข้าใจคำว่ามนุษย์ได้ชัดเจนที่สุดแล้ว ณ ตอนนั้น”

        เรื่องราวในวัยเด็กของ ‘แคน’ – นายิกา ศรีเนียน อดีตสมาชิกวง BNK48 ที่สอนให้เธอรู้จักความหลากหลายของมนุษย์ และมองเห็นถึงปัญหาของระบบการศึกษา ชวนให้เธอตั้งคำถามต่อความไม่ถูกต้องที่ฝังอยู่ในรากของสังคม จนต่อยอดกลายเป็นเป้าหมายที่เธออยากแก้ไขในเวลาต่อมา 

        ในวันนี้ที่เธอได้ทำอะไรมากมากมายทั้งการเป็นไอดอล ออกค่ายอาสาพัฒนาชุมชน รวมไปถึงการไปร่วมชุมนุมกับกลุ่มนักศึกษา เราจึงขอรบกวนเวลาพักผ่อนในวันเสาร์ตอนบ่ายแก่ๆ นั่งคุยถึงเรื่องราวที่เธอกำลังสนใจในปัจจุบันที่มีตั้งแต่ความหลากหลายของมนุษย์ ระบบการเมืองในเรื่อง สตาร์วอร์ส และเป้าหมายครั้งใหม่ของเธอที่กำลังจะเกิดขึ้นในอนาคต

        ซึ่งตัวเธอเองก็หวังว่าจะเปลี่ยนแปลงอะไรในสังคมให้ดีขึ้นมาได้บ้าง

 

แคน นายิกา

ประสบการณ์ย้ายโรงเรียนถึง 4 ครั้งสอนอะไรให้กับคุณในวัยเด็กบ้าง

        อย่างแรกเลยคือเราโตขึ้นเร็วมาก จำได้ว่าหลังจากนั้นเปลี่ยนเป็นอีกคนหนึ่งเลยเพราะได้สัมผัสแทบทุกสังคมแล้ว 

        อีกอย่างคือเราเข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้น เราได้รู้ว่าไม่มีใครอยากเป็นคนเลว เป็นตัวร้ายในสังคมหรอก แต่ด้วยเหตุผล ด้วยเหตุการณ์บางอย่าง ที่ส่งผลกระทบและหล่อหลอมให้เขามีพฤติกรรมแบบนี้ขึ้นมา หลังจากนั้นเราเลยพยายามมองคนอื่นให้ลึกมากยิ่งขึ้น มองให้เห็นว่าทำไมคนเหล่านี้ถึงมีพฤติกรรมแบบนั้น จะไม่ไปตัดสินเขาก่อน

คิดว่าระบบการศึกษามีปัญหาตรงไหน คุณถึงต้องเปลี่ยนโรงเรียนมากขนาดนี้

        โรงเรียนที่เราเข้าครั้งแรกที่จริงเป็นโรงเรียนที่ดีเลย เด็กทุกคนโตมาพร้อมกัน ไม่ค่อยมีเด็กที่เข้ามากลางคัน เลยไม่เคยได้เจออะไรแปลกๆ มักจะยึดติดกับชุดความคิดเดิมๆ และเจอกับค่านิยมที่ว่า ถ้าอยากเข้ามหาลัยอันดับต้นๆ ของประเทศ อยากเรียนหมอหรือเรียนวิศวกรควรไปเข้ารัฐบาลนะ ก็เลยไปสอบเข้ารัฐบาล 

        แต่พอเข้ารัฐบาล เรากลับเจอสังคมที่ต้องพึ่งพาตัวเองสูงมาก อยากเรียนเก่งต้องไปเรียนพิเศษเพิ่ม คุณครูบางคนตั้งใจสอนในที่เรียนพิเศษมากกว่าในห้องเรียนเสียอีก นั้นหมายความว่า 7 ชั่วโมงในโรงเรียนไม่พอ ต้องไปเรียนเพิ่มอีก 4 ชั่วโมงในที่เรียนพิเศษอีก 

        ตอนเจอจริงๆ เราก็ตกใจนะ มันขนาดนี้เลยเหรอ ทำไมเขาไม่สอนให้เด็กให้เข้าใจและสนุกตั้งแต่อยู่ในห้องไปเลย  ทั้งที่เราก็จ่ายเงินเข้ามาเรียนแล้ว กลับกันพอเราไปโรงเรียนนานาชาติ เขาจะผลักดันให้เรามีเป้าหมายในที่ไกลขึ้น ทุกคนรอบตัวจะพูดคุยกันถึงมหาวิทยาลัยอันดับต้นๆ ในต่างประเทศ ไม่เข้าใจอะไรก็ถามคุณครูได้ตลอด มีอุปกรณ์การเรียนใหม่ๆ ให้ใช้ สนุกกับทุกวันที่ไปเรียน ได้เจอเพื่อนๆ ที่มีความหลากหลาย ทั้งวัฒนธรรม และภาษา เคารพและเข้าใจในความต่างของกันและกัน แค่นี้ก็สะท้อนแล้วว่าเป้าหมายของแต่ละโรงเรียนมีความต่างกันอย่างไร 

        อีกสาเหตุสำคัญที่จะไม่พูดก็ไม่ได้เลย คือเรื่องเงิน ลองคิดดูสิ ถ้าเราไม่ได้เกิดมาในครอบครัวที่พอมีฐานะ จะเอาเงินจากไหนส่งลูกเรียนโรงเรียนนานาชาติเพื่อให้ได้สังคม และการเรียนการสอนที่ดี 

        ดังนั้น หากใครบอกว่าความสำเร็จทางการศึกษาเป็นเรื่องของความขยัน เราบอกเลยว่าแทบจะเป็นส่วนน้อย เด็กทุกคนทีความขยันไม่เท่ากัน และความสนใจไม่เหมือนกัน สุดท้ายเงินเหมือนจะเป็นคำตอบมากกว่า 

เหมือนที่พ่อแม่ยุคใหม่เริ่มพูดกันว่า ‘อยากซื้อสังคมให้ลูก’

        เราต้องยอมรับกันก่อนว่าประเทศไทยไม่ได้ให้โอกาสกับเด็กกันอย่างเท่าเทียมขนาดนั้น ยกตัวอย่างง่ายๆ เมื่อไม่นานที่ผ่านมา มีคลิปรีวิวโรงเรียนนานาชาติราคาหลักล้านในกรุงเทพฯ ตอนเราดูก็รู้สึกว่าดีมากเลย น่าส่งลูกหลานไปเรียนมากๆ แต่พอเห็นค่าเทอมเฉียดล้านแบบนั้น เราก็สะอึกเลย จะมีกี่คนในประเทศที่สามารถเข้าถึงโอกาสแบบนั้นได้

 

แคน นายิกา

ฟังดูเป็นเรื่องยาก หากจะแก้ไข

        ไม่ยากเลย ถ้าคนหันมาสนใจเปลี่ยนแปลงระบบการศึกษามากขึ้น จากเหตุการณ์ในทุกวันนี้ก็เห็นชัดอยู่แล้วว่าคนให้ความสำคัญกับเด็กน้อยไป ไม่อย่างน้นคงไม่เกิดการประท้วงขึ้นมาจากเด็กหรอก (หัวเราะ) เขาอาจสนใจเรื่องเศรษฐกิจ เรื่องปากท้อง เลยอาจมองข้ามเรื่องการศึกษาไปบ้าง ทั้งที่ในความเป็นจริงการศึกษาคือวิธีแก้ปัญหาของสังคมรูปแบบหนึ่งเลย

        ประเทศญี่ปุ่นเขาอยากเปลี่ยนแปลงอะไรเขาจับปัญหานั้นยัดใส่ในการศึกษาทันที ให้เด็กได้เรียนรู้ ได้เข้าใจ ได้หาวิธีแก้ไขปัญหา ไม่กี่ปีหลังจากนั้นพอเด็กชุดนี้โตมา เขาก็รับมือและจัดการปัญหาเหล่านั้นได้ไม่ยุ่งยาก 

การศึกษาเป็นสิ่งที่สำคัญในชีวิตมนุษย์มาก เป็นสิ่งที่หล่อหลอมให้เราคิดอย่างไร รู้สึกอย่างไร และมองสังคมแบบไหน

การที่คุณเดินไปบอกครอบครัวว่าอยากเปลี่ยนโรงเรียนถึง 4 ครั้งแบบนี้ พวกเขาไม่สงสัยเหรอ

        ก็ยังก็งงอยู่เหมือนกัน (หัวเราะ) อาจเป็นเพราะเราคือลูกคนเดียวและหลานคนแรกในบ้าน เขาเลยตามใจมากเป็นพิเศษ แต่ก็ไม่ได้ตามใจไปทุกอย่างนะ เขาจะสนับสนุนก็ต่อเมื่อเราสามารถอธิบายเขาได้ว่าอยากทำแบบนี้เพราะอะไร อยากได้เงินไปซื้อของชิ้นนี้เพราะอะไร ถ้ามีกระบวนการพูดคุยแบบนั้น เขาจะเห็นด้วย 

ซึ่งคุณเห็นด้วยกับวิธีการเลี้ยงลูกแบบนี้ไหม

        เราโอเคมาก สิ่งสำคัญที่ครอบครัวสอนเราคือการที่เขาไม่สอนอะไรเลย แต่จะคอยช่วยเหลือ ห้ามปราม ตัวเราและความคิดของเราเท่านั้น เราโชคดีมากที่พวกเขาเคารพความคิดส่วนบุคคล ไม่พยายามยัดอะไรใส่เข้ามาในหัว นี่คือสิ่งที่ครอบครัวหล่อหลอมให้เป็นเราในทุกวันนี้

แล้วเรื่องการเมืองล่ะ เขาได้บอกอะไรคุณบ้าง

        ที่บ้านไม่ได้ปลูกฝังหรือสอนเรื่องนี้กับเราเลย ตอนเด็กๆ เราก็เลยแทบไม่รู้เรื่องรู้ราวเกี่ยวกับการเมืองเท่าไหร่ ทั้งๆ ที่นักการเมืองในบ้านเยอะมาก จนต้องไปศึกษาเองไปเรียนรู้เองแล้วค่อยเอามาพูดคุยกับเขาทีหลัง มีครั้งหนึ่งเคยเถียงกับพ่อเพราะเราสงสัยว่าทำไมประเทศไทยไม่ปกครองแบบเผด็จการคนจะได้อยู่กันแบบเป็นระเบียบดี (หัวเราะ) ตอนนั้นก็เถียงกันยาวเลย แต่ก็ไม่ได้ใช้อารมณ์กันเท่าไหร่ เป็นเหตุผลมากกว่า เขาก็พยายามยกตัวอย่างเผด็จการและประชาธิปไตยในหลายๆ ประเทศมาให้เราลองคิด ลองตัดสินใจดู

        ทุกวันนี้เราก็เชื่อและรับฟังบางอย่างที่พ่อบอกอยู่บ้าง แต่สุดท้ายตัวเราเองเท่านั้นที่จะเป็นคนตัดสินใจเชื่อหรือไม่เชื่ออะไร 

คิดว่าทุกคนควรรู้เรื่องการเมืองตั้งแต่เด็กเลยไหม

        เรื่องนี้ควรอยู่ในหนังสือเรียนวิชาสังคมศึกษาด้วยซ้ำ ทุกวันนี้เรามีแต่เรียนว่ากษัตริย์สมัยอยุธยารบชนะกี่ครั้งแทนที่จะรู้ว่ารัฐธรรมนูญมีไว้ทำไม ส่วนตัวเรามองว่าประวัติศาสตร์ที่เป็นอดีตสามารถเรียนรู้เองได้จากการหาอ่านนอกห้องเรียน กลับกันสิ่งที่กำลังเป็นอนาคตของพวกเด็กๆ เขาอย่างการดำเนินงานของรัฐบาล ระบบการปกครองต่างหากที่เด็กควรรู้ตั้งแต่แรกเริ่ม ไม่ใช่ต้องไปเรียนต่อเอาเองในสาขานิติศาสตร์หรือรัฐศาสตร์ในมหาวิทยาลัย

คุณมีงานในฝันที่อยากทำบ้างไหม

        ด้วยบุคลิกและนิสัยที่เปลี่ยนมาเรื่อยๆ กลายเป็นว่าเราสนุกกับการได้คุยกับคนที่หลากหลาย ชอบลงพื้นที่ไปคุยกับชาวบ้าน เป็นอาสาสมัครอยู่บ่อยๆ ตอนเรียนจบเลยตัดสินใจว่าอยากลองทำงานการเมืองดู แต่คงยังไม่ได้คิดถึงขั้นเป็นสส.อะไรแบบนั้น เราอยากเป็นส่วนหนึ่งในทีมที่ช่วยคิดนโยบายพัฒนาประเทศในด้านต่างๆ มากกว่า

แล้วความฝันที่อยากเป็นหนึ่งในสมาชิกวง BNK48 เกิดขึ้นตอนไหน

        ต้องย้อนกลับไปตั้งแต่ช่วงที่ยังไม่ได้สนใจการเมืองขนาดนั้น แต่ด้วยความเป็นคนที่ชอบเปลี่ยนแปลงอะไรบางอย่างในชีวิตอยู่แล้ว ก็เลยลองสมัครดู เพราะ BNK48 เป็นอีกหนึ่งสังคมที่ไม่เคยสัมผัสดูท้าทายกับชีวิตเราดี อีกอย่างในวงเองก็มีหลายครั้งที่เปิดโอกาสให้เราได้ทำ CSR ได้ช่วยเหลือสังคม และที่สำคัญคือการได้เป็นกระบอกเสียงของเยาวชนในการพูดอะไรต่างๆ มากมาย แล้วตัวเราเองก็เป็นคนชอบฟังเพลงอยู่แล้ว มีโอกาสแล้วทำไมจะไม่ลองดูล่ะ 

 

แคน นายิกา

สำหรับคุณ สิ่งสำคัญที่ได้เรียนรู้จากวง BNK48 คืออะไร

        สิ่งที่อยากขอบคุณคือโอกาสที่เราได้รับจากวง เป็นโอกาสที่ทำให้เจอผู้คนที่หลากหลาย โอกาสที่ทำให้เราเติบโต โอกาสที่ให้เรียนรู้ว่าโลกช่างกว้างใหญ่และมีอีกหลายเรื่องที่เราไม่รู้จัก

        เราเคยโตมาด้วยเหตุและผลของตัวเองเพียงลำพัง แต่ในวันที่มีชื่อต่อท้ายเป็น  BNK48 เราค้นพบว่าหลายอย่างก็อยู่เหนือการควบคุมของเรา รู้ว่าหน้าที่และบทบาทของตัวเองอยู่ตรงไหน ได้รู้จักการเป็น ‘ส่วนหนึ่ง’ ของสังคมมากขึ้น

ฟังดูเหมือนกับว่าคุณพึงพอใจกับบทบาทนี้ของตัวเองอยู่เหมือนกัน

        ใช่ (ยิ้ม)

เห็นว่าคุณชื่นชอบหนังเรื่อง สตาร์วอร์ส เป็นพิเศษ คุณมีความเห็นต่อการเมืองในหนังเรื่องนี้อย่างไรบ้าง

        หนังเรื่องนี้เป็นตัวอย่างการต่อสู้ระหว่างระบอบเผด็จการและระบอบประชาธิปไตยที่ชัดเจนมาก เหตุผลที่กลุ่มต่อต้านที่ต้องออกมาต่อสู้กับจักรวรรดิกาแลกติก ก็เพราะเขาไม่เห็นด้วยกับการที่กลุ่มใดกลุ่มนึงสามารถทำลายล้างดาวได้โดยไม่ฟังความคิดเห็นของคนอื่น

        เป้าหมายของกลุ่มต่อต้านไม่มีอะไรมากเลย มีแค่การล้มระบอบและวิธีคิดแบบจักรวรรดิเท่านั้นเอง เราเชื่อถ้าวันหนึ่ง ดาร์ธ เวเดอร์ หรือ ไคโล เรน เคารพความเห็นต่างของคนอื่นได้ พวกเขาก็ไม่ใช่ตัวร้ายในความคิดของกลุ่มต่อต้าน

        เรื่องแบบนี้ค่อนข้างอ้างอิงกับความเป็นเหตุเป็นผลและศีลธรรมมากเลยนะ นั่นจึงเป็นเหตุที่คนดูอย่างพวกเราถึงเลือกเชียร์กลุ่มต่อต้านที่เป็นฝ่ายกบฏมากกว่าจักรวรรดิกาแลกติกที่เป็นผู้ปกครอง

ฟังดูแล้วคล้ายกับบางประเทศบนโลกนี้เลย

        เราไม่เคยคิดเลยว่าสุดท้ายหนังที่ตัวเองชอบยังเกี่ยวข้องกับการเมือง ชีวิตคงหนีเรื่องนี้ไม่พ้นจริงๆ (หัวเราะ)

ถ้าเกิดคุณเป็นสตอร์มทรูเปอร์ (Stormtrooper) ที่ฝึกฝนให้ปกป้องจักรวรรดิกาแลกติกมาทั้งชีวิต แล้ววันหนึ่งเรากลับพบว่าอุดมการณ์ของเราขัดแย้งกับตำแหน่งของตัวเอง คุณจะทำอย่างไร

        เราก็จะกลายเป็นเหมือนตัวละครฟินในเรื่อง เป็นสตอร์มทรูเปอร์ที่ถอดหมวกออกมาหลังรู้สึกว่าจักรวาลที่อาศัยอยู่ไม่ปกติ ตอนเด็กๆ หลายคนอยากเป็นทหาร เพราะจะได้เป็นฮีโร่กันทั้งนั้น แต่ถ้าสิ่งที่ฝ่ายปกครองสั่งมาขัดต่อความตั้งใจจริงที่เราต้องการปกป้องผู้คน จะมีเหตุผลอะไรที่เรายังต้องทำตามคำสั่งต่อ 

        เรื่องนี้เป็นอีกหนึ่งปัญหาที่สำคัญซึ่งควรได้รับการถกเถียงกันอย่างจริงจัง การสร้างเมล็ดพันธุ์ของการเป็นรั้วของชาติ ของโลก หรือของจักรวาลก็แล้วแต่ควรได้รับกับกำหนดเส้นแบ่งอย่างชัดเจน เพราะหน้าที่ที่มาพร้อมกับอำนาจขนาดนั้น ถือเป็นเรื่องสุ่มเสี่ยงอย่างมากที่จะก่อให้เกิด ‘ความลุ่มหลง’ ระหว่างปัจเจกบุคคล

ในความเห็นที่แตกต่างทางการเมือง จำเป็นต้องเลือกข้างไหม

        ไม่จำเป็นต้องเลือกข้างเลย แต่จำเป็นต้องสนใจเรื่องการเมือง ถ้าชีวิตมนุษย์ในสังคมขับเคลื่อนโดยโครงสร้างทางการเมืองที่ปกครองสังคม ถ้าคุณคิดว่าตัวเองไม่มีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องนี้แสดงว่าชีวิตคุณอยู่ผิดที่ผิดทางแล้ว 

        ดังนั้น เราถึงบอกว่ายังไม่จำเป็นต้องเลือกข้างหรอก ให้คุณศึกษาเรื่องการเมืองให้ดีก่อน เพราะถ้าถึงจุดนั้นแล้วคุณก็จะเลือกข้างเองโดยที่ไม่ต้องลังเล มานั่งตัดสินใจแบบนี้เลย

ถ้าเจอคนที่มีความเห็นต่างจากคุณ จะทำอย่างไร

        อันดับแรกเราจะลองเข้าไปพูดคุยดูก่อน ลองเปิดใจดูว่าเขาคิดเห็นอย่างไรกับเรื่องเหล่านั้น ถ้าเขาเปิดใจด้วยเช่นกัน ก็เกิดเป็นการแลกเปลี่ยนความคิดเห็นซึ่งก็จะดีต่อตัวเขาและเราเองด้วย แต่ถ้าเขาไม่เปิดใจจริงๆ เราก็อย่าไปยุ่งดีกว่า บางคนก็ต้องการเวลาและโอกาสที่เหมาะสมจริงๆ เขาถึงจะเปิดใจคุยกับเราได้

 

แคน นายิกา

เท่าที่ฟังคุณมา ดูเหมือนคุณจะไม่ได้เชื่อในอุดมการณ์ของประชาธิปไตยขนาดนั้น แต่กลับเชื่อเหตุและผลในแบบของตัวเองมากกว่า 

        เราเป็นคนที่เชื่อว่าไม่มีอะไรดีที่สุดสำหรับเรา ทุกอย่างต้องคอยผสมหล่อหลอมเข้าด้วยกัน เพื่อให้เหมาะในแต่ละบุคคลไป เพราะพูดกันตามตรงเป็นเรื่องยากมากที่เราจะหาอุดมการณ์ไหนมารองรับความแตกต่างของมนุษย์ที่มากขนาดนี้ได้ ก็ต้องปล่อยให้เป็นเรื่องความเฉพาะของพื้นที่ ของสังคม ที่จะมากำหนดระบอบการปกครองที่เหมาะสมกันต่อไป 

อนาคตที่ดีของประเทศชาติ สำหรับคุณแล้วหน้าตาเป็นแบบไหน

        ถ้าในระยะสั้นเราอยากให้กรุงเทพฯ ไม่ได้อยู่แค่ในกรุงเทพฯ เราอยากให้เกิดการกระจายรายได้ อาชีพ การคมนาคมให้ทั่วถึงทุกจังหวัด 

        มีพี่หมอคนหนึ่งที่เราสนิทเคยเล่าให้เราฟังว่า อีกไม่กี่ปีอาชีพหมอมีโอกาสตกงานสูงมากเพราะในกรุงเทพฯ โรงพยาบาลก็มีบุคลากรเต็มหมดแล้ว จะให้ไปอยู่ต่างจังหวัดเขาก็ไม่ไปกันเพราะมีช่องว่างที่เป็นความเหลื่อมล้ำระหว่างหมอในกรุงเทพฯ และหมอต่างจังหวัดอยู่สูงมาก ทั้งในเรื่องรายได้และสวัสดิการ 

        นี่เป็นแค่ตัวอย่างหนึ่งที่เราเคยได้ยินมา แต่ก็ยังมีอีกหลายเรื่องมากที่ปรากฏช่องว่างที่เหลื่อมล้ำตรงนี้อยู่ เราเลยมองว่าการกระจายรายได้ออกไปและการทำให้ทุกจังหวัดกลายเป็นศูนย์กลางคือวิธีแก้ไขที่มีประสิทธิภาพมากในตอนนี้

        (นิ่งคิดครู่หนึ่ง) ตลกเหมือนกัน ที่คุยกันเรื่องการเมืองมาตลอดบทสัมภาษณ์ แต่สุดท้ายสิ่งที่เราอยากได้ไม่ใช่ระบบการปกครองแบบไหน แต่เป็นชีวิตที่ดีขึ้น แค่นั้นเองจริงๆ