ชาญพิชิต

ชาญพิชิต พงศ์ทองสำราญ | เรื่องเล่าเบื้องหลังการบันทึกภาพรอยสักโบราณที่ใกล้สูญหาย

“ถ่ายพี่ออกมาเป็นไง หล่อไหม ไม่เห็นพุงใช่ไหม” คำพูดติดเขินของผู้ชายผมยาวตรงหน้าผู้ตระเวนบันทึกภาพรอยสักโบราณมาตลอดกว่าสี่ปี ที่จู่ๆ ก็กลายมาเป็นคนโดนถ่ายเสียเอง

     ตอนนี้ภายใน ‘สำนักป๋า’ ตึกแถวสอนศิลปะเล็กๆ กลายมาเป็นสถานที่สนทนากันอย่างออกรสเกี่ยวกับผลงานต่างๆ และหนึ่งในนั้นคือภาพถ่ายรอยสักโบราณที่เขาได้วางดินสอ สะพายเป้ แล้วออกเดินทางข้ามเขาข้ามดอยด้วยระยะทางอันยาวไกลเพื่อไปเก็บบันทึกลวดลายแห่งประวัติศาสตร์ที่ใกล้สูญหายเต็มที

     สักขาลาย (หรือสับขาลาย) เป็นการสักที่สืบทอดกันมาอย่างยาวนาน โดยสักจากใต้หัวเข่าขึ้นมาจนถึงบริเวณเอวเหนือสะดือ โดยมีกรอบวงกลมหรือสี่เหลี่ยมล้อมรอบรูปสัตว์ต่างๆ เป็นลวดลายทึบเต็มขาเหลือช่องว่างให้เห็นผิวหนังมังสาเพียงบางส่วน และเป็นที่เล่าต่อกันมาว่าทุกการลงเข็มนั้นเจ็บปวดจนทำให้มีคนหลายคนต้องดับชีวิตให้แก่การสักขาลาย

     แม้ผลงานของเขาจะได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับ 2 กับรางวัล popular vote จากการประกวด 10 ภาพเล่าเรื่องของนิตยสาร National Geographic แต่ความสำเร็จที่เขายินดีที่สุดคือการที่ได้เห็นรอยยิ้มของเหล่าบรรดาพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ย และการได้บอกเล่าถึงเรื่องราวอัตลักษณ์แห่งชาติพันธุ์ ความสวยงาม และความทรงจำดีๆ ผ่านการกดชัตเตอร์หลายหมื่นครั้ง

 

ชาญพิชิต

ชีวิตเราถ้าเราได้บันทึกสิ่งที่ดี ไม่เป็นไร บันทึกเถอะ วันหนึ่งมันจะมีคุณค่า

 

ปัจจุบันบทบาทหลักๆ ของคุณทำอะไร

     ผมโบ้ครับ ชาญพิชิต พงศ์ทองสำราญ ตอนนี้มีตึกสอนศิลปะเล็กๆ และมีงานพิธีกรอยู่ช่อง One31 ชื่อรายการ แกะกล้า แล้วก็มีโปรเจ็กต์บันทึกภาพทั้งต้นไม้ใหญ่ตลอดสายพันธุ์ทั่วประเทศ และบันทึกภาพรอยสักโบราณ คือจริงๆ เป็นครูสอนศิลปะ เขียนหนังสือ แล้วก็เดินทาง ไม่ค่อยอยู่ตึก ชอบออกไปถ่ายรูป แต่อย่าเอาลงนะเดี๋ยวไม่มีคนมาเรียน (หัวเราะ)

 

เมื่อหลายปีก่อนเราจำโปรเจ็กต์ ‘หัวใจต้นไม้’ ที่จังหวัดน่านได้ จากคนวาดรูปคุณเริ่มมาสนใจการถ่ายภาพได้อย่างไร

     ตอนนั้นได้ไปทำงานสตรีทอาร์ตที่น่าน มันมีเรื่องหม่นๆ ของอุโมงค์ต้นไม้ที่เขาจะตัด แล้วมันเป็นถนนเส้นที่สวยมาก ทางการเขาจะตัดทั้งๆ ที่เป็นถนนเส้นที่สามารถสร้างบางอย่างให้เกิดการตระหนักขึ้นได้ พี่เลยพาเด็กๆ ที่ช่วยเราเซตงานไปเขียนหัวใจทับเครื่องหมายกากบาท แล้วก็ถ่ายภาพจนเกิดเป็นเซตภาพที่ชื่อว่า ‘หัวใจต้นไม้’

     ต้นไม้ที่เขาไม่เอาเขาจะกากบาททาสีทับบนต้นไม้ เราเลยไปเขียนหัวใจทับให้ใหญ่กว่ากากบาทในจุดที่ถ้าขับรถผ่านต้องเห็น พอเขียนเสร็จก็ชวนน้องๆ ไปถ่ายรูปกลางถนน หลังจากนั้นก็เกิดกระแสขึ้นเลยรักษาเขาได้หนึ่งปี

      หลังจากหนึ่งปีมีลมพายุเข้าทำให้มีต้นไม้หักไปหนึ่งหรือสองต้นเลยเกิดกลุ่มคนอีกกลุ่มหนึ่งที่ออกมาบอกว่าเป็นเพราะต้นไม้ล้มทับสายไฟเลยทำให้ชุมชนแถวนั้นไฟดับไปสองสามชั่วโมง เจ้าหน้าที่ตัดเหี้ยนเลยภายในหนึ่งวัน

 

แล้วจุดเริ่มต้นของการตามหาสักขาลายเป็นมาอย่างไร

     เราเคยไปที่วัดภูมินทร์ในตัวเมืองน่าน แล้วเจอภาพที่มีสักขาลายชื่อว่าภาพปู่ม่านย่าม่าน เรียกว่า ‘กระซิบรักบันลือโลก’ แล้วระหว่างที่เราถ่ายต้นไม้เราได้เดินทางไปทั่วประเทศ เราได้เข้าไปในป่าในชุมชน ไปบนดอยก็เจอชาวบ้านคนแก่ที่ชอบนั่งคุย เคยถามเขาว่ามีรอยสักขาไหม เขาบอกว่าคนที่มีเพิ่งเสียไปเมื่อเดือนที่แล้ว ถ้าเรามาเมื่อเดือนที่แล้วเราจะเห็นคนแก่ที่มีลายสักขา เราไม่รู้มาก่อนว่ารอยสักเต็มตัวที่เขาบอกมันเป็นยังไง และก็เริ่มรู้สึกเบื่อกับการที่ฟังเขาเล่าอย่างเดียวแต่มองไม่เห็นแล้ว

     ถ้าอยากรู้ว่าต้นไม้ต้นไหนใหญ่ที่สุดในประเทศผมก็จะเข้าป่าไปเลยสามสี่วันแล้วถ่ายรูปเอามาให้ดู อยากไปเห็นใช่ไหม ไปเลย แต่รอยสักไม่ใช่ต้นไม้ที่มีอายุ 70 80 90 หรือ 100 ปี จะมีกี่คนที่อายุยืนมาก เขาอาจจะตายไปทุกนาทีก็ได้ เราไม่สามารถรู้เลย สิ่งที่เราทำเริ่มต้นจากด้วยความอยากเห็น

     ก่อนที่จะเริ่มโปรเจ็กต์นี้เราหงุดหงิดมากเลย พม่าก็มีรอยสัก ก็มีต่างชาติมาบันทึกภาพเป็นสารคดี ฟิลิปปินส์ก็มี หลายๆ ประเทศรอบบ้านเรามี แต่ประเทศเราไม่ได้มีแค่สักยันต์นะ แล้วทำไมหนังสือโฟโต้บุ๊กดีๆ ต้องเป็นต่างชาติทำ เราไม่เชื่อว่าต่างชาติจะบันทึกได้ครบหรอก ต้องเป็นคนในบ้านเราสิ เราคาดหวังว่าวันหนึ่งต่างชาติควรได้เห็นว่าเมืองไทยมีสิ่งนี้นะ มันเจ๋งมาก แล้วควรมีโฟโต้บุ๊กดีๆ ออกมา

 

ชาญพิชิต

 

คุณเริ่มต้นที่ไหน

     ที่แรกคืออมก๋อย อมก๋อยเป็นชุมชมกะเหรี่ยงโปกับสะกอ แต่บางที่เขาก็ใช้ชื่อปกาเกอะญอ ตอนแรกตั้งใจว่าจะไปถ่ายภาพสักขาลายอย่างเดียว แต่กลายเป็นว่าที่ไปเจอมีเรื่องของชาติพันธุ์ที่น่าสนใจเยอะแยะเลย เราไปเจอคนที่สักเต็มแขน ที่เขาเรียกว่าสักยา สักแบบดำทึบที่เรียกว่าการสักแบบว่าน การสักแบบนี้เป็นความเชื่อของทหารชาวไทใหญ่ว่าจะช่วยเรื่องความหนังเหนียว

     หรือหากเจอคนที่สักเสือในหมู่บ้านไทใหญ่หรือกะเหรี่ยง แปลได้ว่าคนนั้นเคยออกนอกพื้นที่หรือเคยอพยพย้ายถิ่น จากแค่เห็นรอยสัก เริ่มกลายเป็นเรื่องชาติพันธุ์ กะเหรี่ยงสักอีกแบบหนึ่ง ไทใหญ่สักอีกแบบหนึ่ง เมื่อเราเดินทางเราได้เจอรูปแบบของแต่ละชาติพันธุ์ พอเจอเรามีความสุข แล้วเราก็รู้สึกว่าอยากให้คนอื่นได้เห็น

 

รอยสักสำหรับพวกเขามีความหมายอย่างไร

     เขาเกิดมาเห็นพ่อแม่สักเขาก็สักตาม บางคนสักตอนสิบสองสิบสาม ก็เหมือนที่เรามองวัยรุ่นทั่วไปที่มีรอยสัก เราอาจจะมองว่ามันไม่มีคุณค่า แต่สำหรับพวกเขา รอยสักคือความรู้สึกแบบผู้ใหญ่ ปู่ พ่อ มีรอยสัก เราต้องมี ถ้าไม่มีจะไม่ขลังไม่เท่ อันนี้เป็นส่วนหนึ่งที่มองเรื่องของความงาม เป็นแค่การสักตามๆ กันเหมือนแฟชั่น

     กับอีกส่วนที่จะมีเรื่องของความเชื่อ บางทีเขาบอกว่าเป็นการตอบแทนบุญคุณพ่อแม่ แม่เจ็บเพื่อคลอดเรา กะเหรี่ยงบางพื้นที่ที่สักเกล็ดพญานาค เขาก็สักตามสิ่งที่เขาเชื่อเพราะถือว่าตัวเองเป็นลูกหลานพญานาค หรือบางหมู่บ้านบอกว่าอันนี้สักเพราะว่าเอาไว้อวดสาว ถ้าไม่มีรอยสักเทียบเป็นคำปัจจุบันเขาบอกว่าไม่แมน สมัยนั้นถ้าไม่มีรอยสักต้องไปอาบน้ำที่ปลายน้ำ ผู้ชายที่อาบต้นน้ำต้องมีรอยสัก ซึ่งหลายหมู่บ้านให้คำตอบต่างกันมันเลยมีคำพูดที่ขัดแย้งกันเยอะ

 

มีเรื่องประทับใจอะไรเบื้องหลังกล้องบ้าง

     เวลาที่บันทึกเสร็จก็จะมานั่งสัมภาษณ์ว่าลายสักนี้เป็นตัวอะไร สักกี่บาท แล้วตอนนั้นค่าเงินเท่าไหร่ ใช้วิธีง่ายๆ สมมติเขาบอกว่า 5 บาท พี่ก็ถามว่าสมัยนั้นซื้ออะไรได้บ้าง อาจจะซื้อหมูได้หนึ่งตัวหรือซื้อไก่ได้ห้าตัว เราก็มาเทียบว่าหมูหนึ่งตัวสมัยนั้นปัจจุบันอาจจะราคาสามหมื่น โห รอยสักราคาสามหมื่น

     มีครั้งหนึ่งไปบันทึกภาพในพื้นที่ของชาวกะเหรี่ยงซึ่งน่ารักมาก คือเรากำลังบันทึกภาพพ่ออุ๊ยกับแม่อุ๊ย พ่ออุ๊ยหน้าดุมากเลย มีรอยสัก แถมเคยเป็นผู้ใหญ่บ้าน เราก็ถามแม่อุ๊ยว่าที่สักเป็นรูปดอกไม้ตรงมือนี้สักตอนไหน เขาบอกว่าสิบห้า พอถามว่าใครสักให้กลับยิ้ม ไม่ตอบ ขำกลิ้งไปกลิ้งมา เราก็สงสัยว่าทำไมหัวเราะขนาดนั้น พ่ออุ๊ยที่หน้าบึ้งมาตลอด หน้าบึ้งมาตลอดเลยนะ ตอนถ่ายรูปเท่มากอยู่ๆ ก็ยิ้ม

     ลูกหลานเขาก็บอกว่าพ่ออุ๊ยเป็นคนสักให้แม่อุ๊ยตอนที่พ่ออุ๊ยอายุประมานสิบเจ็ดสิบแปด ซึ่งแม่อุ๊ยตอนนั้นก็อายุสิบสี่สิบห้า เขารักกันชอบกัน พ่ออุ๊ยมีช่างมาสักแล้วอยากลองสัก แม่อุ๊ยกลัวเข็มแต่พอพ่ออุ๊ยอยากสักก็เลยยอมเพราะว่ารัก จนตอนนี้อยู่กันมาหกสิบกว่าปี เป็นสตอรีที่แบบว่า เฮ้ย ไม่ใช่ช่างสัก แต่คนที่นั่งข้างๆ เขาเป็นคนสักให้ แล้วเรารู้สึกว่าสตอรีเหล่านี้ถ้าเราไม่เดินทางก็ไม่มีวันเจอ

 

ชาญพิชิต

ชาญพิชิต

 

เมื่อเดินทางไปเจอเรื่องราวจริงๆ มีแง่มุมไหนของการสักที่คุณรู้สึกสนใจบ้าง

     สิ่งที่หดหู่คือมันมีคำพูดที่บอกว่า ทุกการสักขาลาย 10 คน จะมี 3 คนที่เสียชีวิต อาจเป็นเพราะว่าเขาทนไม่ไหว แต่ถ้าความคิดแบบปัจจุบันเรามองได้ว่าสมัยนั้น คนบนดอยเวลาสักเสร็จมันปวดมันระบมหรือเป็นไข้ แล้วเขาไม่มียา เขาอาจจะทนไม่ไหวก็ได้ แล้วเขาจะรู้ได้ยังไงว่าเข็มสะอาด อาจจะเกิดการติดเชื้อไหม หรือว่าหมึกที่ใช้จะเป็นยังไง ทำให้เรารู้สึกว่ามันมีหลายเหตุผลไม่ใช่แค่เรื่องความเจ็บปวด บางทีอาจเป็นเรื่องของความแข็งแรงของแต่ละคนด้วย แต่คนเราก็ยอมแลกความเจ็บปวดกับอะไรแบบนั้น

 

การเดินทางไปสัมผัสความหลากหลายของชาติพันธุ์ ทำให้เข้าใจความเป็นมนุษย์มากขึ้นหรือเปล่า

      เข้าใจตัวเองมากขึ้นมากกว่า เรารู้แล้วว่าความสุขของเราคืออะไร รู้ว่าความสุขของเราคงไม่ใช่การเดินทางแบบเร็วๆ เราชอบการเดินทางแบบช้าๆ เราชอบการไปในแต่ละที่แล้วไปเข้าใจพวกเขา ได้สัมผัสเรื่องราวต่างๆ ได้รู้จักกลุ่มคนน่ารัก ได้กินอะไรที่ไม่เคยคิดว่าจะได้กิน มันมีความสุขตรงนั้น แล้วเราก็เสียดายแทนคนที่ไม่ได้เห็น เพราะเรารู้ว่าสิ่งที่เราบันทึกนั้นอีกห้าปีสิบปีจะไม่เหลือ

     กับสิ่งที่เราทำ เราไม่มีคำหล่ออะไรเลย ใครถามก็บอกว่าแค่อยากถ่าย สิ่งอื่นคนอื่นเขาถ่ายกันสวยแล้ว อย่างเขาถ่ายพริตตี้สวยจังเลยแค่นั่งดูก็ฟินแล้วเนอะ (ยิ้ม) ทุกคนมีมือถือ แล้วมือถือเดี๋ยวนี้ถ่ายสวยกว่ากล้องตัวใหญ่อีก แต่ประเด็นคือสิ่งที่เราอยากเห็นยังไม่มีใครถ่ายไง มีคนน้อยมากที่ถ่าย แล้วพอเขาถ่ายมามันไม่ใช่ภาพที่เราอยากเห็น

     อีกอย่างใครบอกว่าเราเป็นช่างภาพไม่ได้เพราะเราไม่เคยรับเงิน เราไม่เคยเป็นช่างภาพ ให้เราถ่ายคนเรายังถ่ายไม่เก่งเลย แต่เราไปถ่ายสิ่งที่รู้สึก เราเลยรู้สึกว่าชีวิตถ้าเราได้บันทึกสิ่งที่ดี ไม่เป็นไร บันทึกเถอะ วันหนึ่งมันจะมีคุณค่า

 

คุณคิดว่าจำเป็นไหมที่คนเราต้องมีทั้งงานที่หล่อเลี้ยงชีวิตและหล่อเลี้ยงจิตวิญญาณ

     สำหรับเรา การหล่อเลี้ยงชีวิตมีหลักง่ายๆ อยู่สามอย่าง คือการหล่อเลี้ยงปากท้อง หล่อเลี้ยงความสุข และหล่อเลี้ยงความฝัน เรามีสิ่งที่สร้างมาและเรียกมันว่าฝีมือ เราวาดรูปได้ เพราะฉะนั้น การวาดรูปเป็นสิ่งที่หล่อเลี้ยงชีวิตเรา ให้เราเปิดโรงเรียนสอนศิลปะได้ ทำให้เรามีอาชีพตั้งแต่สมัยเรียนศิลปากร

      แต่หลังจากที่เราหล่อเลี้ยงชีวิตได้แล้ว ก็ต้องหล่อเลี้ยงเรื่องความสุข ซึ่งสำหรับเราความสุขคือการเดินทาง เรามีความสุขกับการได้ไปเห็น เราไม่ได้มีความสุขกับการนั่งอ่านหรือดูจากของคนอื่น เพราะยิ่งไปเห็นเราจะยิ่งฉลาดขึ้น สำหรับเราการเดินทางเลยกลายเป็นการหล่อเลี้ยงความสุขไปโดยปริยาย

 

ชาญพิชิต

 

แล้วเรื่องความฝันล่ะ

     พอเริ่มออกเดินทางไปเห็นสิ่งต่างๆ ที่อยากจะเห็นแล้ว สิ่งต่อมาที่สำคัญที่สุดคือความฝัน เราคิดว่าต้องเดินทางเพื่อบางอย่าง ซึ่งเราไม่รู้ว่าของคนอื่นคืออะไรนะ แต่สำหรับเรา เราเดินทางเพื่อสร้างโปรเจ็กต์บางอย่าง ไม่ใช่เดินทางเพื่อท่องเที่ยวอย่างเดียว เราอยากเอาความฝันที่เห็นอยู่คนเดียวมาให้คนอื่นได้ดู

     เราชอบคิดถึงคำพูดของ ‘พี่โน้ส’ – อุดม แต้พานิช ก่อนทำเดี่ยวไมโครโฟนว่า “กูเห็นผี พอไปเล่าให้คนฟังกลับไม่มีใครเชื่อ แต่กูเห็นผี งั้นกูต้องทำให้เขาเห็น” ไม่มีใครเชื่อว่าพี่โน้สจะทำเดี่ยวฯ ได้ เพราะเขาสร้างจากความเชื่อ จนมันเกิดเดี่ยวไมโครโฟนหนึ่ง สอง สาม มาจนถึงเดี่ยวปัจจุบัน เราเห็นสิ่งที่เราฝันแต่เราไม่สามารถบอกกับคนอื่นได้จนกว่าเราจะไปเอาภาพเหล่านั้นมาให้เขาเห็น

 

อะไรเป็นสิ่งที่วัดความสำเร็จในชีวิตสำหรับคุณ

     เราได้เดินทางและมีความสุขที่จะกลับมาเล่าสิ่งที่ได้พบเจอ คำว่าชอบไม่ชอบอยู่ที่คนดู แค่เขาได้เห็นก็พอแล้ว อย่างนิทรรศการที่กำลังจะจัดขึ้น เราอยากพาพ่ออุ๊ยแม่อุ๊ยจากบนดอยมาดู แล้วจะอัดขยายรูปไปมอบให้เขา เราว่าแค่นี้พอแล้ว แค่เขายิ้มก็คือความสุขของเราแล้ว เป็นสิ่งที่เป็นความฝันที่เราเห็นแล้วนะ แล้วที่สำคัญคือคนอื่นก็ได้เห็นด้วย

 


The Mark of Culture

     นิทรรศการแสดงผลงานภาพถ่าย รอยเเห่งวัฒนธรรม โดย นายชาญพิชิต พงศ์ทองสำราญ นำเสนอลายสักยันต์ สักขาลาย (สักเตี่ยวก้อมในภาษาล้านนาระหว่างวันที่ 26 กรกฎาคม – 29 กันยายน 2562 เวลา 08.30-16.30 น. (หยุดวันจันทร์) พิธีเปิดวันที่ 26 กรกฎาคม 2562 เวลา 17.30 น. ณ ห้องนิทรรศการหมุนเวียน หอภาพถ่ายล้านนา ถนนพระปกเกล้า ต.ศรีภูมิ อ.เมือง จ.เชียงใหม่

     รายละเอียดเพิ่มเติมที่ Chiang Mai House of Photography