ชาติชาย เกษนัส

ชาติชาย เกษนัส | ‘มาร-ดา’ อำนาจที่ยึดโยงไว้กับความผูกผันและความเชื่อฉบับเมียนมา

“เราเชื่อว่า …” มักเป็นประโยคขึ้นต้นของ ‘แน็ต’ – ชาติชาย เกษนัส ผู้กำกับหนังร่วมทุนไทย-พม่า อย่างหนังรัก From Bangkok to Mandalay สารคดีเชิงประวัติศาสตร์ โยเดีย และล่าสุดกับหนังผีเรื่อง มาร-ดา (The Only Mom) ที่เขามีความเชื่อมั่นว่าหนังเรื่องนี้จะตอบคำถามเชิงสังคม ว่าด้วยเรื่องของชนชั้นและรากเหง้าของสังคมพม่า ที่เกี่ยวข้องกับความเชื่อและอำนาจที่เกิดขึ้นเหมือนผี ที่พิสูจน์ไม่ได้ทางวิทยาศาสตร์ แต่สัมผัสได้ด้วยจิตวิญญาณ และเขายังเชื่อว่าอำนาจที่ยึดโยงความเชื่อในสังคมพม่ามีความคล้ายคลึงกับสังคมไทย ซึ่งอาจมีจุดเริ่มต้นมาจาก ‘ผี’ ตนเดียวกัน ผีที่เรียกว่า ‘อำนาจ’

ชาติชาย เกษนัส

 

TAKE 1: Myanmar in your eyes

     เพราะประวัติศาสตร์ที่เกี่ยวข้องกับประเทศเพื่อนบ้านค่อนข้างผิดเพี้ยน ทำให้ใครบางคนลุกขึ้นมาถ่ายทอดประวัติศาสตร์หรือนำเสนอมุมมองเกี่ยวกับประเทศและชาวเมียนมาให้เป็นที่เข้าใจเสียใหม่ คนคนนั้นมาในฐานะผู้กำกับหนัง ผู้ที่สนใจในความเป็นเมียนมา และสนใจในประวัติศาสตร์พม่าที่เกี่ยวข้องกับไทยอย่างปฏิเสธไม่ได้ ทำให้เขาตัดสินใจเก็บข้อมูลและใส่รายละเอียดทุกด้าน ไม่ว่าจะเป็นผู้คน ความเชื่อ ความรัก ความผูกพัน ความทรงจำ หรือแม้กระทั่งการอบรมสั่งสอน เพื่อมาตอบคำถามให้แก่ตัวเอง ก่อนจะถ่ายทอดออกมาเป็นหนังรัก หนังผี และสารคดีที่น่าติดตาม

 

ในฐานะผู้กำกับหนังเมียนมา ประเทศและชาวเมียนมาในมุมมองของคุณเป็นอย่างไร

     ก่อนหน้าที่จะมาทำหนังพม่า ในอดีตเรามีภาพเกี่ยวกับประเทศนี้อีกรูปแบบหนึ่ง เมื่อย้อนกลับไปในสมัยเราฝึกงานที่เชียงใหม่กับพี่ๆ ครูบาอาจารย์ ซึ่งตอนนั้นกำลังทำสารคดีเรื่อง รัฐฉาน เราก็จะเห็นพม่าในสายดาร์ก ชนิดดาร์กมากผ่านมุมมองของชนกลุ่มน้อย ตอนนั้นเราก็ไม่ชอบ ไม่ชอบทั้งๆ ที่ยังไม่เคยเข้าไปสัมผัส อาศัยแต่มองพวกเขาผ่านจินตนาการและคำบอกเล่าจากผู้อื่น จนวันหนึ่งเรามีโอกาสได้เข้าไปแล้วพบกับนักวิชาการและนักประวัติศาสตร์ นั่นทำให้ความคิดของเราเปลี่ยนไป เราได้เห็นสิ่งที่ไทยและพม่าเหมือนกันอยู่ไม่น้อย โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความรู้สึก ปมในใจ ที่กลายมาเป็นความเชื่อ และมีส่วนเกี่ยวข้องกับเรื่องของอำนาจที่มีมาเนิ่นนาน

 

หมายความว่า ชาวเมียนมารู้สึกว่าต้องต่อสู้อยู่ตลอดเวลา

     ไม่เชิง เพราะจริงๆ แล้วสังคมพม่าเป็นพหุสังคมที่อยู่รวมกันอย่างผสมแต่ไม่ผสาน ทุกคนต่างมีตัวตนเป็นของตัวเองชัดเจนและสูงมาก นั่นเป็นเหตุให้เกิดปัญหาต่างๆ มากมาย อย่างปัญหาการแบ่งแยกรัฐต่างๆ รวมทั้งปัญหาโรฮีนจา ดังนั้น เวลามีปัญหาขึ้นมาทีหนึ่งจึงรุนแรง

 

สามารถเรียกว่าการแบ่งรัฐนั้นคือชาตินิยม หรือเป็นการแสดงจุดยืนเรื่องอำนาจ

     ไม่เชิงชาตินิยม เพราะเรื่องชาตินิยมสมัยใหม่มีความซับซ้อน แต่สิ่งหนึ่งที่เหมือนกันกับไทยคือ เรื่องของบุรพกษัตริย์ในอดีตก็ยังเป็นสิ่งที่ยึดโยงจิตใจของผู้คนอยู่ เพราะชาติสมัยใหม่ไม่ได้ตอบโจทย์ผู้คน ซึ่งไม่ได้แฮปปี้กับเผด็จการทหาร

     ยกตัวอย่างกรณีน้องดวงตา หญิงสาวที่อยู่ในสารคดี โยเดีย ในช่วงที่ทำสารคดีจบ เธอเพิ่งเรียนจบและกลับมาที่ย่างกุ้ง เธอไม่ได้มีรากอะไรกับย่างกุ้ง เธอไม่รู้จัก ไซไซ คำแลง ดาราหนุ่มพุ่งแรง ไม่อินกับป๊อปคัลเจอร์ในย่างกุ้ง แต่อะไรที่ทำให้เธอกลับไป นั่นเป็นเพราะลึกๆ แล้วเธอรู้สึกภูมิใจและเป็นตัวเองได้ 100% ทั้งๆ ที่ความเป็นจริงแล้วเธอเติบโตมาในสังคมไทย สิ่งที่เลี้ยงดูและหล่อหลอมความคิดของเธอคือระบบการศึกษาไทย แต่มีความรู้สึกเสมอว่า ยังไงก็ต้องกลับไปอาศัยและเลี้ยงชีพที่พม่าอยู่ดี และเธอเคยเล่าให้ฟังว่า คุณพ่อของเธอจะอยู่ในหมู่บ้านหนึ่งของรัฐยะไข่ที่มีปัญหาเรื่องโรฮีนจา ซึ่งในวันที่เราเริ่มทำหนัง ก็เกิดปัญหาเรื่องโรฮีนจาพอดี เธอเล่าว่า ในวันที่พ่อกลับไปยังหมู่บ้านก็ตกใจและเศร้ามาก เพราะในหมู่บ้านชาวมุสลิมหายไปหมดเลย ซึ่งจริงๆ แล้วเรื่องนี้มีความซับซ้อนของปัญหามากมาย

     ที่น่าสนใจคือ ในขณะที่ปัญหาดังกล่าวเกิดขึ้น เรากลับเห็นพัฒนาการของผู้นำหญิง อองซานซูจี ในวันที่เธอกล่าวสุนทรพจน์ ประโยคประมาณว่า ฉันไม่กลัวเธอหรอกชาวต่างชาติ หากเกิดอะไรขึ้นให้เธอเข้ามาดูที่ฉัน ซึ่งเราเข้าใจว่านี่คือภาวะของมารดาแบบเดียวกับในหนัง หรือแบบครูประถมที่เราเคยรัก เพราะใจดี ต่อมาจะกลายเป็นครูที่ดุ และนี่คือภาวะเดียวกันกับแม่ในเรื่อง มาร-ดา ที่แสดงให้เห็นถึงอำนาจนิยมมากกว่า

 

หรือจริงๆ แล้วการเกิดปัญหามีจุดเริ่มต้นมาจากครอบครัว

     เราเชื่อว่ามนุษย์ทุกคนจะเกิดปมบางอย่างในช่วง 3 ปีแรกของชีวิตที่จะผูกติดและค่อยๆ สร้างกันขึ้นไป ปมปัญหาอาจมาจากโรงเรียนแรกของเด็กๆ ที่เรียกว่า บ้าน โดยมีครูคนแรกคือ แม่ แต่หากให้วิเคราะห์ เราคิดว่า ระบบการศึกษาพม่าไม่ได้ดึงเวลาแม่ลูกออกจากกันเยอะ อาจเป็นเพราะบางเมืองโรงเรียนไม่พอ เขาจะจัดการเรียนออกเป็นรอบเช้าและรอบบ่าย รอบเช้าคือ เข้าเรียนตอนเช้าแล้วกลับตอนเที่ยง เท่ากับเวลาที่เหลือก็จะอยู่กับครอบครัว ทำให้ความแข็งแกร่งในเรื่องครอบครัวของเขาสูงมาก ในขณะที่เด็กๆ ของเราใช้เวลาอยู่กับโลกภายนอกนาน ความแข็งแกร่งเชิงครอบครัวอาจจะน้อย ส่งผลให้หัวใจของพวกเขาเปราะบางได้ง่ายขึ้น

 

ชาติชาย เกษนัส

 

TAKE 2: อำนาจ (นิยม) ‘เกิดเป็นลูกอย่าเลือกแม่’

     ประโยคบอกเล่าเชิงคำสั่งสั้นๆ แต่ฟังแล้วเต็มไปด้วยพลังแห่งอำนาจด้านมืด ที่น้อยคนนักจะเคยพูดหรือได้ยินประโยคนี้จากผู้เป็นแม่จริงๆ ซึ่งเป็นประโยคหลักที่ผู้กำกับต้องการนำเสนอให้กับทุกคนได้เห็นอำนาจของความเชื่อที่มาในรูปแบบของสิ่งที่มองไม่เห็น จับต้องไม่ได้ แต่ (อาจ) มีอยู่จริง

 

ระหว่างความชอบธรรมกับอำนาจ คุณมองสิ่งนี้อย่างไร

     เราเชื่อว่า ‘อำนาจนิยม’ มักชนะเสมอ มันอาจจะเป็นการเลี้ยงดู และเติบโตมาในระบบนี้ แม้จะไม่มีเหตุผลมากนัก แต่ก็มีความชอบธรรม และเราก็จะให้น้ำหนักมันอยู่เรื่อยๆ ก็ไม่แปลกที่สุดท้ายแล้วเราจะรักครู หรือพ่อแม่ที่ดุ รวมทั้งได้ผู้นำที่ไม่ต้องใช้เหตุผลตลอดเวลา แต่ขอให้มั่นใจได้ว่าสิ่งที่เขาทำนั้นดีแล้ว ซึ่งมันก็จะมีความย้อนแย้งอยู่ในตัวมันเองสูงเหมือนกัน

 

ทำไมต้องหยิบยกหยิบความเป็นแม่และอำนาจมาผูกกันไว้

     เพราะแม่เป็นองค์ที่มีทั้งด้านบวกและลบ มีความรัก แต่ความรักแบบซอฟต์ๆ อย่างเดียวคงเอาไม่อยู่ อาจจะต้องมีส่วนดุบ้าง มารบ้าง ซึ่งเราก็เติบโตจากการเลี้ยงดูแบบนี้มา เราโตมากับความเชื่อว่าเลี้ยงลูกให้ตี ซึ่งมันก็คืออำนาจนิยม และถูกหยิบยกขึ้นมาเป็นความชอบธรรมในเรื่องการใช้ความรุนแรง เป็นอำนาจที่ยอมอ้าแขนรับ ด้วยเงื่อนไขที่ไม่ต้องคอยมาหาเหตุผลตลอดเวลา ในขณะเดียวกัน เราก็มองว่า ‘ผีแม่’ เปรียบได้ดั่งอำนาจของผู้หญิงในอดีต อำนาจของผีแม่เป็นอำนาจที่ต่อรองไม่ได้ ซึ่งมาพร้อมกับการเกิด การเลี้ยงดู การเจริญเติบโต ซึ่งเราจะเห็นได้จากร่องรอยของการบูชาผีแม่ หรือพิธีกรรมที่เกี่ยวกับผี ก็จะมีความดุอยู่ มันมีสิ่งที่ตกค้าง ทำให้มีการสืบทอดกันมาจนถึงปัจจุบัน

 

ลึกๆ แล้วอยากดุไหม

     แน่นอนว่าไม่มีแม่หรือครูคนไหนอยากเป็นคนดุหรอก พวกเธอแค่กำลังต่อสู้กับสิ่งที่ใหญ่กว่า หรือแค่อดทนกับการอบรมเลี้ยงดูลูกหรือเด็กคนหนึ่งไม่พอ รวมทั้งกล่อมเกลาเด็กๆ ไม่ทัน ทำให้ต้องดุหรือต้องทำโทษ เรียกว่า จำเป็น ซึ่งอาจจะเป็นปัญหาแค่ในเจเนอเรชันเรา เพราะเลี้ยงกันมาแบบนี้ เจนฯ ถัดไปอาจจะไม่มีปัญหานี้ก็ได้

 

ชาติชาย เกษนัส

 

TAKE 3: Faith ความเชื่อ มาร-ดา

      เปิดเรื่องด้วยเสียงเพลงกล่อมเด็กภาษาพม่าฉบับปรับปรุงที่ค่อยๆ ดังขึ้น เนื้อความดั้งเดิมกำลังหมายถึงแมวดำ บางตอนแปลว่า “…คืนนี้ลูกของฉันจะหลับฝันดี แมวดำที่มีความโหดร้าย กินเลือดกินเนื้อ มีเขี้ยว แสนน่ากลัวอย่าเข้ามาใกล้” แค่เพียงบทเปิดก็แสดงให้เห็นถึงความดุร้ายในเนื้อหา แสดงอำนาจแฝงแม้ในเพลงกล่อมเด็ก และนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเล็กๆ ที่ค่อยๆ ผลิบานในใจใครสักคน ก่อนจะกลายเป็นอำนาจในเชิงสังคมได้ในท้ายที่สุด

 

เพราะเหตุใดถึงเลือกสร้างหนังผี

     เพราะผียึดโยงอยู่กับเรื่องของอำนาจและความผูกพัน โดยเฉพาะในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เราจะพบว่า ผีแม่มีเหมือนกัน ผีพ่อจะไม่ค่อยประสบความสำเร็จ เรารู้จักกระสือแต่ไม่ค่อยสนใจกระหัง (หัวเราะ) อย่างในพม่าเองก็มีผี ที่เรียกกันว่า ‘นัต’ (Nat) แล้วเราก็สนใจ บวกกับความสนใจส่วนตัวที่เกิดจากการสังเกตเห็นว่า ภาพถ่ายที่มีทุกบ้านของชาวเมียนมาคือภาพถ่ายของนายพลอองซาน เราก็สงสัยว่า จริงๆ แล้วมันแสดงถึงอำนาจทหาร น่าจะห้ามไม่ให้มีมากกว่า ทำไมถึงไม่ห้าม แต่แล้วก็เจอกับคำตอบที่ได้มาจากสมมติฐานในเรื่องของความเชื่อเรื่องผีนัต ที่ว่าด้วยเรื่องของอำนาจเก่า แต่การปกครองใหม่

 

ผีนัตสำคัญต่อชาวเมียนมาอย่างไร

     หากมองย้อนกลับไป นัตก็คือผีตายโหงที่ก่อนตายเป็นคนที่มีอิทธิฤทธิ์ ผู้นำทางจิตใจ หรือนักรบที่มีอารมณ์เกรี้ยวกราดรุนแรง ตอนมีชีวิตอาจจะยังไม่ได้รับการนับถือเท่าไหร่ แต่เมื่อตายแล้วจะได้รับการนับถือ ซึ่งเกิดขึ้นมากว่า 1,000 ปี อย่างสมัยพระเจ้านรธา ช่วงกลางของอาณาจักรพุกาม ก่อนหน้าสุโขทัย กษัตริย์ที่นับถือศาสนาพุทธยังต้องการจะปราบนัต แต่ทำไม่ได้ ทำให้ยังคงอยู่เรื่อยมา จากเรื่องนี้ทำให้เรามองไปถึงวิธีการจัดการเชิงอำนาจ กล่าวคือผู้นำสองคนที่มีอำนาจ อยู่ด้วยกันไม่ได้ก็ต้องมีฝ่ายใดฝ่ายหนึ่งตายเพื่อให้ชาวบ้านบูชาแทน เหมือนผ่อนความตึงเครียดแล้วโยนให้เป็นเรื่องของอีกมิติหนึ่งไป เรื่องดังกล่าวนี้กลายเป็นจักรวาลคู่ขนานของชาวเมียนมาและยังคงอยู่มาจนถึงทุกวันนี้

     นอกจากนี้สิ่งที่น่าสนใจเกี่ยวกับนัตอีกอย่างก็คือ นัตกะด่อ ซึ่งเป็นร่างทรงนัต หรือผู้นำสาร ภาษาชาวบ้านจะเรียกว่า เมียนัต ทุกคนล้วนเป็น LGBT โดยมีเรื่องเล่ามาว่า ผู้ชายที่แต่งงานมีลูกแล้วจะได้ยินเสียงเรียกจากนัต ซึ่งต้องทำหน้าที่บางอย่าง สุดท้ายทนเสียงเรียกนั้นไม่ไหวอีกต่อไป จำเป็นต้องไปแต่งหญิงเพื่อไปเป็นนัตกะด่อให้องค์ลงเพื่อสื่อสารและคงความน่าเกรงขาม นี่เป็นอีกวิธีหนึ่งของการจัดการ ความเชื่อที่เกิดขึ้นทำให้เหล่า Gender มีพื้นที่ที่เป็นตัวเองได้ และยังได้รับการเคารพจากผู้คน ไม่ถูกดูถูกดูแคลน ซึ่งเป็นเรื่องน่าอัศจรรย์มากที่จักรวาลคู่ขนานแบบนี้ยังทรงอิทธิพลอยู่แม้ผ่านไปนานกว่า 1,000 ปี

 

หรือนี่คืออำนาจของความเชื่อที่ส่งผลต่อจิตใจผู้คน

     ใช่ มันคล้ายๆ นิทานก่อนนอนที่ถูกเล่าต่อๆ กันมา โตมาแล้วมันก็อยู่ในบริบทสังคมจริงๆ ความเชื่อต่างๆ ขึ้นอยู่กับคน ทุกคนมีสิทธิ์ที่จะเชื่อหรือไม่ก็ตาม มันคลุมเครือ ตอบได้ยาก จริงๆ แล้วเรื่องความเชื่อมันก็ของใครของมัน ชาวเมียนมาอาจเชื่อเรื่องนัตจนหมดใจ

 

แล้วคุณล่ะเชื่อมากน้อยแค่ไหน

     (หัวเราะ) ตอนเริ่มทำงาน ก็เชื่อครึ่งไม่เชื่อครึ่ง แต่พอทำหนังเสร็จ เรารู้สึกว่าเริ่มเอนเอียงไปในทางจิตวิญญาณเยอะอยู่เหมือนกัน

 

มีความเชื่อใดที่แสดงถึงอำนาจได้อีก

     การร้องเพลงกล่อมเด็กพม่าแอบมีความโหดที่อธิบายความน่ากลัวของแมวดำเอาไว้ ซึ่งของไทยเราก็มีความดุหรือมีอำนาจแฝงอยู่ เช่น เรื่องที่เราสอนเด็กมา ปลาบู่ทอง ลูกกินแม่ นางสิบสอง ควักลูกตา หรือ กาเหว่าที่บางเพลง เรามองว่าเป็นวัฒนธรรมร่วม อาจเป็นสิ่งที่อธิบายได้ว่า เวลาเกิดเหตุการณ์บางอย่างในสังคมจะมีทิศทางไปในเชิงความรุนแรง เทียบเคียงกับ เหตุการณ์ 8888 (การเรียกร้องประชาธิปไตยของพม่าเมื่อปี ค.ศ. 1988) ในพม่าก็รุนแรงมาก เหตุการณ์ 6 ตุลาของไทยก็เหี้ยมโหด กรณีเขมรแดงก็โหดร้ายเกิดกว่าจินตนาการ เราเชื่อว่าเพลงกล่อมเด็กเองก็เช่นกัน อาจจะไปซ่อนหรือสร้างผีสักตัวร่วมกันให้กับพวกเราก็ได้

 

หรือเพลงกล่อมเด็กมีพลังทำให้ความเชื่อกลายเป็นอำนาจเกิดขึ้นในสังคม

     จริงหรือเปล่าไม่แน่ใจ แต่เราเชื่อว่าของที่ถูกเล่าซ้ำ ผลิตซ้ำนั้น เหตุผลที่เคยเกิดขึ้นจะค่อยๆ หายไป พอหายไปก็จะเต็มไปด้วยพิธีกรรมตามแบบแผน ซึ่งก็ทำตามๆ กันมา เราก็คิดว่าพอเรายิ่งแก่ เราก็จะยิ่งตั้งสติได้ยากมากขึ้น เพราะมีเรื่องที่เป็นตะกอนค่อนข้างเยอะ หนังผีเองก็เช่นกัน ทำให้เราอยากย้อนกลับไปทำความเข้าใจประวัติศาสตร์ อย่างเรื่องเพลงกล่อมเด็ก นิทานก่อนนอน หรือวิชาประวัติศาสตร์ที่เราอยากจะย้อนกลับไปหยิบขึ้นมาพูดถึงและทำความเข้าใจ เราคิดว่ามันน่าจะสร้างสังคมที่เข้มแข็งได้ อย่างน้อยการเดินทางย้อนกลับไปทำความเข้าใจ มันเหมือนการปลดล็อก เหมือนกับการที่เราไปพบจิตแพทย์ แล้วสุดท้ายเราก็จะคุยถึงเรื่องในวัยเด็ก ปมในอดีต พอเราหยิบขึ้นมาวางแล้วพูดคุยถึงมัน มันก็หาย

 

คำตอบสุดท้ายของหนังเรื่องนี้ที่คุณอยากจะบอกคืออะไร

     เราอยากชวนคิดต่อว่า แท้ที่จริงแล้วอำนาจนิยมที่มาพร้อมกับความรัก มันคือสิ่งที่ใช่และดีที่สุดแล้วจริงหรือ?

 


The Only Mom Trailer