ชะตาธิปไตย

ชะตาธิปไตย: บทเรียนแห่งมิตรภาพ-อุดมการณ์ท่ามกลางวิกฤตการเมือง จากหนังที่รอฉายนานถึง 6 ปี

เดชา ปิยะวัฒน์กูล คือนายแพทย์ที่อยากทำหนัง หลังจากเรียนจบเขาใช้ชีวิตคาบเกี่ยวระหว่างอาชีพหมอกับคนทำงานสายโปรดักชัน หนังสั้นของเขา ถึงคุณ (2547) ได้รับรางวัลวิจิตรมาตรา ในเทศกาลภาพยนตร์สั้นครั้งที่ 8 และมีโอกาสเดินทางไปประกวดที่ฝรั่งเศส ส่วน ความพยายาม ได้เข้าฉายชิงสายภาพยนตร์สั้นจาก Bangkok International Film Festival 

        ราวปี 2550 ศิษย์เก่าแพทย์ฯ ศิริราชฯ รุ่น 92 ได้กลับมาเจอกันที่งานเลี้ยงรุ่น หลังจากเพื่อนๆ ได้รู้ข่าวดีเกี่ยวกับหนังสั้นของเขา น.พ. ชลน่าน ศรีแก้ว ขณะนั้นมีสถานะเป็น ส.ส. ได้ออกปากชักชวนให้เขาทำหนังสารคดีตามติดชีวิต ส.ส. เขายังไม่ตกปากรับคำในทันที จนกระทั่งปี 2553 การเมืองไทยเดินสู่จุดวิกฤต จากเหตุประท้วงนำไปสู่การปะทะจนมีคนบาดเจ็บล้มตาย 

        ความหดหู่เศร้าใจกับหายนะของประเทศผลักดันให้เขาริเริ่มโปรเจ็กต์หนังสารคดีที่ว่าด้วยชีวิตของเพื่อน ส.ส. ทั้งสามที่เรียน สังสรรค์ และมีความทรงจำเกี่ยวกับมิตรภาพมากมาย แต่ชะตาชีวิตพลิกผันให้พวกเขายืนอยู่บนอุดมการณ์ที่แตกต่างและสังกัดอยู่คนละขั้วการเมือง 

        ก่อนจะตีตั๋วไปดูหนัง a day BULLETIN อยากชวนมาอุ่นเครื่องกับบทสัมภาษณ์ถึงมิตรภาพ อุดมการณ์ และความเจ็บปวดจากชะตาที่ไม่อาจหลีกเลี่ยง แล้วชวนคิดไปพร้อมกันว่าชะตาชีวิตของเพื่อนทั้งสามคนนี้ฉายให้เห็นภาพรวมของสิ่งที่เกิดขึ้นในประเทศนี้อย่างไร

 

ชะตาธิปไตย

เรื่องราวของมิตรภาพและความสัมพันธ์ระหว่างพวกคุณทั้ง 4 คนเป็นอย่างไร สนิทสนมกับใครมากที่สุด  

        พวกเราเป็นเพื่อนร่วมรุ่นกันตั้งแต่สมัยเรียนอยู่คณะแพทยศาสตร์ ศิริราชฯ เรียน เล่น ทำกิจกรรม และกินดื่มเฮฮาด้วยกันมา หลังเรียนจบทุกคนต่างแยกย้ายกันไปทำงานใช้ทุนในจังหวัดต่างๆ แต่ด้วยวิชาชีพแพทย์ทำให้ชะตาชีวิตของพวกเรายังต้องเวียนกลับมาเจอกันอยู่เรื่อยๆ เช่น ในงานเลี้ยงรุ่น รวมถึงยังมีการปรึกษาหารือเกี่ยวกับเรื่องวิชาชีพกันอยู่เสมอ ในบรรดาสี่คนผมจะสนิทสนมกับภูมินทร์มากที่สุด อาจเพราะว่าเราเป็นก๊วนเด็กกรุงเทพฯ เหมือนกัน ส่วนบัญญัติจะเรียบร้อย สไตล์เด็กนักเรียนห้องคิง ไม่ค่อยสุงสิงกับใคร ขณะที่ชลน่านเองก็จะมีก๊วนเด็กต่างจังหวัดของเขาอยู่ 

        หลังเรียนจบ ภูมินทร์จับฉลากได้ไปใช้ทุนที่แม่ฮ่องสอนอยู่ 2 ปี จึงย้ายกลับมาทำงานที่อำเภอกันทรลักษ์ จังหวัดศรีสะเกษ อีกราว 3 ปี จากนั้นเขาเริ่มต้นลงสมัคร ส.ส. ในสังกัดพรรคความหวังใหม่ ชนะเลือกตั้งนับตั้งแต่สมัยแรกแล้วก็ทำงานการเมืองต่อเนื่องมาเรื่อยๆ ส่วนชลน่าน หลังจากทำงานเป็นหมออยู่ที่บ้านในจังหวัดน่านได้ราว 7-8 ปีก็ตัดสินใจลงสมัครเลือกตั้งในสังกัดพรรคไทยรักไทย ซึ่งตอนนั้นพรรคความหวังใหม่ยุบมารวมกับพรรคไทยรักไทยแล้ว ภูมินทร์ในเวลานั้นก็ได้เลื่อนขึ้นเป็น ส.ส. บัญชีรายชื่อของพรรคไทยรักไทยเป็นที่เรียบร้อย แต่ต่อมาเขาต้องลาออกตามมารยาททางการเมือง เนื่องจากไปวิจารณ์ ทักษิณ ชินวัตร ซึ่งเป็นหัวหน้าพรรคในเวลานั้น 

        จากนั้นภูมินทร์ก็ไปสังกัดอยู่กับพรรคสายกลางในอีสานใต้อย่างพรรคชาติไทยพัฒนาเพื่อแผ่นดิน จากเดิมที่เคยชนะเลือกตั้งติดต่อกันมาหลายสมัย พอต้องมาแข่งขันกับพรรคใหญ่ๆ อย่างพรรคไทยรักไทย หรือพรรคภูมิใจไทย ก็มักจะพ่ายแพ้แบบเฉียดฉิว ส่วนชลน่านกลายเป็น ส.ส. ที่ชนะเลือกตั้งทุกสมัย ส่วนบัญญัติ หลังจากทำงานแพทย์ใช้ทุนอยู่ที่อุบลราชธานีจนเสร็จสิ้นก็กลับไปเป็นหมอที่บ้านเกิดของเขา ในอำเภอแกลง จังหวัดระยอง จนกระทั่งวันหนึ่งได้ตัดสินใจลงสมัคร ส.ส. สังกัดพรรคประชาธิปัตย์ในที่สุด

 

ชะตาธิปไตย

แปลกใจหรือเปล่า เมื่อเพื่อนร่วมรุ่นที่เรียนแพทย์มาด้วยกัน อยู่ดีๆ พวกเขาก็ได้เข้าไปทำงานการเมือง 

        ผมไม่แปลกใจเลยที่รู้ว่าภูมินทร์ตัดสินใจเล่นการเมือง เพราะเขามีความสนใจทางการเมืองและชอบทำกิจกรรมมาตั้งแต่สมัยเรียนแพทย์แล้ว ส่วนชลน่าน ผมแปลกใจอยู่บ้าง แต่ถ้ามองดีๆ ก็รู้สึกว่าพอจะเป็นไปได้นะ เพราะว่าเขาเองเป็นคนที่มีอุดมการณ์สูงมาก เรียกได้ว่าบ้าอุดมการณ์มาตั้งแต่ไหนแต่ไรแล้วล่ะ (หัวเราะ) แต่คนที่ผมแปลกใจมากที่สุดและดูไม่เห็นแววมาก่อนเลยก็คือบัญญัติ อย่างที่บอกว่าเขาเรียนเก่ง เรียบร้อย แถมบ้านเขายังเป็นบ้านหลังใหญ่โตในจังหวัดระยอง มีฐานะร่ำรวยมาก เขาน่าจะจบไปเป็นหมอ มีเส้นทางชีวิตเช่นเดียวกับนายแพทย์ทั่วไป แต่พอดูหนังเรื่องนี้ก็จะรู้เหตุผลว่าเขาเลือกเป็น ส.ส. เพราะอะไร 

แล้วตัวคุณเอง จากอาชีพหมอต่อยอดมาสู่บทบาทคนทำหนังได้อย่างไร 

        ผมเรียนหมอเพราะว่าที่บ้านอยากให้เรียน แต่ใจผมอยากทำงานทางด้านโปรดักชันมากกว่า แล้วก็มีความใฝ่ฝันอยากทำหนังใหญ่มาตลอด สมัยเรียนผมมักจะไปขลุกอยู่กับการทำละคร ทำกิจกรรมอยู่ในชมรมแสงสีเสียง จนกระทั่งเรียนจบออกมาใช้ทุนอยู่ 4-5 ปี ก็ผันตัวมาทำงานในสายสื่อสารมวลชน ผมเคยทำงานอยู่ที่ศิริวัฒนา อินเตอร์พริ้นท์ เคยอยู่เอเจนซี ชูโอ เซ็นโก แล้วก็เคยไปทำงานอยู่กับบริษัทหนังมาก่อน เรียนรู้งานไปสักพักจนบ้านเราเกิดวิกฤตเศรษฐกิจปี 40 ผมจึงกลับไปเป็นอาจารย์แพทย์ก่อนจะหวนกลับวงการอีกครั้งหนึ่ง จึงเรียกได้ว่าเป็นคนที่วนเวียนอยู่ในสายสื่อสารมวลชนมาโดยตลอด

        ผมกลับมาเปิดโปรดักชันร่วมกับเพื่อน จุดนั้นเองที่ผลักดันให้เราต้องทำหนังสั้นเพื่อใช้เป็นโชว์รีลของบริษัท ก็ทำแบบลองผิดลองถูกไปจนถึงเรื่องที่สี่ชื่อเรื่อง ถึงคุณ (2547) ปรากฏว่าหนังเรื่องนี้ได้เข้ารอบชิงชนะเลิศของมูลนิธิหนังไทย และก็ยังมีโอกาสได้เดินทางไปประกวดที่ประเทศฝรั่งเศสด้วย 

        ราวปี 2550 พวกเราศิษย์เก่าแพทย์ก็ได้กลับมาเจอกันที่งานเลี้ยงรุ่น ชลน่านเป็น ส.ส. เป็นที่เรียบร้อยแต่ยังไม่ถึงกับได้เป็นดาวสภาฯ พอเขาได้รู้เรื่องเกี่ยวกับหนังสั้นของผม จึงชักชวนให้ผมไปทำหนังเกี่ยวกับชีวิต ส.ส. “มาถ่ายหนังชีวิต ส.ส. ให้กูมั้ย น่าสนใจนะ” ผมเองยังไม่ได้ตอบรับในทันที เพราะเราชอบทำหนังแนวดราม่า แต่แนวทางของหนังที่เขาเสนอมาน่าจะเป็นหนังแนวสารคดีกึ่งข่าว แล้วซับเจ็กต์ก็มีแค่ตัวเขาคนเดียว ผมมองว่ายังไม่น่าสนใจสักเท่าไหร่ หลังจากนั้นผมก็ทำโปรเจ็กต์ของตัวเองและพยายามหาทุนทำหนังของเราไปเรื่อย จนถึงช่วงที่บัญญัติลงสมัคร ส.ส. แล้วสอบผ่าน ได้เป็น ส.ส. สมัยแรกในปี 2551   

        เฮ้ย! เรามีเพื่อนสมัคร ส.ส. ถึงสามคน คนหนึ่งอยู่พรรคกลางๆ อีกคนอยู่พรรคเพื่อไทย ส่วนอีกคนหนึ่งสังกัดพรรคประชาธิปัตย์ พอมันอยู่ในเงื่อนไขแบบนี้สิถึงจะน่าเอามาทำเป็นหนัง จากนั้นก็เริ่มติดต่อกลับไปหาเพื่อนๆ 

        ชลน่านตอบรับทันทีเพราะอยากทำมานานแล้ว ส่วนบัญญัติเพิ่งเป็น ส.ส. หมาดๆ ย่อมอยากพรีเซนต์ตัวเองให้สังคมได้รู้จัก ส่วนภูมินทร์ไม่ค่อยเต็มใจสักเท่าไหร่ เพราะเขาสอบตกบ้าง สอบได้บ้าง เขาเองก็กลัวว่าถ้าเกิดเลือกตั้งไปแล้วเขาสอบตกในขณะที่เพื่อนอีกสองคนสอบได้ ก็เสียหน้าสิ ด้วยความเข้าใจและเคารพในสิทธิของเขา เราจึงรอจนกว่าจะถึงเวลาที่เหมาะสม 

        จนกระทั่งสถานการณ์การเมืองไทยเดินสู่จุดวิกฤต จากการบุกยึดสนามบินของกลุ่มพันธมิตรฯ การหวนกลับมาของกลุ่มคนเสื้อแดง เรื่อยไปจนถึงเหตุการณ์เผาบ้านเผาเมือง รัฐบาลอภิสิทธิ์สั่งสลายมวลชน จนในที่สุดมีคนตาย ช่วงเวลานั้นผมหดหู่มาก และเชื่อว่าจิตใจของคนไทยย่ำแย่กันไปหมด ไม่ว่าจะเชียร์ฝั่งไหนก็ตาม แต่ผมคิดว่าทุกคนรู้สึกเศร้าเสียใจไม่ต่างกันเลย 

 

ชะตาธิปไตย

การกลับมาสานต่อโปรเจ็กต์หนังสารคดีของเพื่อนทั้งสามจึงเป็นการหาทางออกจากความหดหู่เศร้าใจของคุณ

        ในตอนนั้นผมถามตัวเองว่าเราพอจะทำอะไรสักอย่างกับเหตุการณ์นี้ได้บ้าง? มันก็คือการตามถ่ายชีวิตของ ส.ส. ทั้งสามคนนี้เพื่อที่จะเปรียบเทียบให้เห็นว่าประเทศเรามันเดินมาถึงจุดที่ใกล้จะล่มจมแบบนี้ได้ยังไง แล้วคนที่จะทำหนังแบบนี้ได้ก็มีเราเพียงคนเดียวเท่านั้น เพราะเราเป็นเพื่อนของ ส.ส. ที่กำลังต่อสู้กันอยู่บนถนนในนามของพรรคการเมืองขั้วตรงข้ามกัน  และเราเองก็พอจะถ่ายหนังเป็น จุดนั้นจึงขอร้องเพื่อนๆ ขอทำเถอะ ถึงเวลาต้องทำแล้ว สรุปว่าทุกคนตอบรับและตกลงกันว่าถ้ายุบสภา เปิดให้มีการรณรงค์หาเสียงเลือกตั้งครั้งใหม่เมื่อไหร่ เราจะเริ่มถ่ายทำหนังเรื่องนี้กัน  

ช่วงนั้นความสัมพันธ์ของเพื่อนๆ ทั้งสามคนเป็นอย่างไร 

        เราเองก็ไม่รู้ว่าหรอกว่าความสัมพันธ์ของพวกเขาเป็นอย่างไรหรือรู้สึกแบบไหนต่อกัน แล้วเราก็ไม่ได้ถามไถ่เรื่องเหล่านี้ด้วย รู้เพียงว่านักการเมืองทุกคนเครียดมาก ต่างคนต่างมีปัญหาที่ต้องจัดการ ส่วนเราก็พยายามพัฒนาบทหนังของเราให้ออกมาดีที่สุด จนออกมาเป็นบทหนังที่ว่าด้วยการตามติดชีวิตการเลือกตั้งและหาเสียงของ ส.ส. ทั้งสามพรรคการเมือง เล่าสลับกันไปมาจนจบ แล้วจุดไคลแม็กซ์ที่อยู่ช่วงท้ายของสารคดีจะเป็นฉากที่พวกเขาทั้งสามที่ต่างผ่านความเจ็บปวดจากการขับเคี่ยวและแข่งขันกัน เมื่อมาเจอกัน ได้พูดคุยกัน เรื่องราวของมิตรภาพระหว่างเพื่อนทั้งสามคนจะเป็นอย่างไร ซึ่งบทดั้งเดิมนี้ใช้ชื่อเรื่องว่า Classmate ประเทศไทย 

 

ชะตาธิปไตย

ในที่สุดหนังได้เปลี่ยนชื่อมาเป็น ชะตาธิปไตย เพราะอะไร 

        เพราะบทเปลี่ยนไป สิ่งที่พบจากการออกกองไปถ่ายทำในสิบวันแรกทำให้รู้ว่าการเล่าเรื่องที่วางไว้แบบเดิมมันไม่ใช่แล้ว จริงอยู่ที่การตามไปถ่าย ส.ส. ตอนหาเสียง ได้เห็นบรรยากาศต่างๆ มันก็สนุกสนานเฮฮา มีชีวิตชีวาในอีกรูปแบบหนึ่ง แต่ยิ่งตามติดพวกเขาไปเรื่อยๆ เรากลับยิ่งพบว่าสิ่งที่เขาต่อสู้อยู่ไม่ใช่คู่แข่งทางการเมืองเพียงอย่างเดียว เขายังต้องต่อสู้กับตัวเองด้วย สำหรับเราสิ่งเหล่านี้น่าสนใจมากกว่าสีสันทางการเมืองซึ่งผมคิดว่าดูซ้ำได้ไม่เกินสองครั้งก็น่าจะเบื่อแล้ว สิ่งที่น่าสนใจคือเบื้องหลังที่อยู่ลึกลงไป เพราะอะไรชลน่านถึงกลายเป็นพรรคเพื่อไทย? ทำไมบัญญัติถึงปักใจว่าจะอยู่แต่กับพรรคประชาธิปปัตย์? และเพราะอะไรภูมินทร์ถึงย้ายพรรคไปเรื่อยๆ?  

        นอกจากนี้การติดตาม ส.ส. แต่ละคนไปหาเสียงทำให้เราได้เห็นสภาพความเป็นอยู่จริงๆ ของชาวบ้านในพื้นที่ที่การเมืองมีผลกระทบกับชีวิตความเป็นอยู่ของเขาโดยตรง บ้างอยู่ในพื้นที่ที่เต็มไปด้วยเขาหัวโล้น ราวกับว่าภูมิประเทศของเขากำลังมีหายนะรออยู่เบื้องหน้า บ้างอาศัยในพรมแดนที่อยู่ท่ามกลางความขัดแย้งระหว่างประเทศ ได้รับผลกระทบเดือดร้อนอยู่แทบจะตลอดเวลา ขณะเดียวกันก็มีเรื่องราวที่เต็มไปด้วยความขบขัน มีบรรยากาศระหว่างหาเสียงที่ชวนขำ แต่ทุกชีวิตล้วนตั้งอยู่บนชะตากรรมทั้งสิ้น ไม่ว่าจะเป็นชะตากรรมของพรรคการเมืองต่างๆ และเพื่อน ส.ส. ทั้งสามของผม ชะตากรรมของชาวบ้านจากการเล่นการเมืองของบรรดาพรรคการเมืองและนักการเมือง จนส่งผลมาถึงชะตากรรมของบ้านเมืองเรา

        พอเอาฟุตเทจทั้งหมดกลับมาตัดต่อจนเหลือสองชั่วโมงครึ่งกลับยิ่งพบว่า เส้นเรื่องของ ส.ส. ทั้งสามคนนี้กลายเป็นเรื่องเศร้าทั้งสามเส้น (ยิ้ม) เพราะฉะนั้นหนังชื่อ Classmate ประเทศไทย ไม่เหมาะแล้ว ดูหน่อมแน้มเกินไป ก็ช่วยกันคิดกับทีมงานอยู่สักพักจนมาลงเอยที่ชื่อ ชะตาธิปไตย ในที่สุด  

        ผมคิดถึงชื่อนี้หลังจากประมวลเหตุการณ์ทางการเมืองที่ผ่านมา แล้วถามตัวเองว่ามึงเชื่อเหรอว่าประเทศนี้ปกครองด้วยระบบการปกครองที่ประชาชนเป็นใหญ่ เป็นการปกครองเพื่อประชาชน ไม่เลย ดูไปดูมาแล้วประเทศนี้ปกครองด้วยระบอบการปกครองที่ชะตากรรมของอะไรก็ไม่รู้ที่เป็นใหญ่ ดูเหมือนว่าทุกสิ่งทุกอย่างกำลังดำเนินไปตามชะตากรรมที่ไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เสียมากกว่า จนความเละเทะตกมาถึงนักการเมือง ตกถึงชาวบ้าน ที่ต่างเป็นคนตัวเล็กๆ ซึ่งกำลังผจญภัยอยู่ในชะตาชีวิตของตัวเอง 

เพราะอะไรคุณถึงมองการเมืองในแง่ร้าย

        เมื่อเดินเข้าสู่เส้นทางการเมือง คุณแทบจะสูญเสียการควบคุมชะตาชีวิตของตัวเองไปทั้งหมด ช่วงกลางๆ ของหนังเรื่องนี้ได้ถ่ายสมุดโน้ตหน้าหนึ่งที่เขียนไว้ว่า “การเมืองคือโรงงานทำลายมนุษย์” ทุกคนก่อนจะเข้าสู่ระบบการเมืองล้วนเป็นคนดี มีอุดมการณ์ น่านับถือ แต่เส้นทางการเมืองเป็นเหมือนเครื่องปั่นหรือเครื่องบดอะไรสักอย่างหนึ่งซึ่งส่งผลให้ผลิตออกมาแต่นักการเมืองกลางๆ หรือไม่ก็นักการเมืองแย่ๆ ทำไมถึงกลายเป็นแบบนี้ไปได้ ดังนั้น ผมคิดว่าปัญหาอาจไม่ได้อยู่ที่คนแล้ว แต่มันอยู่ที่ระบบการเมืองของเราที่ผิดเพี้ยนและทำลายมนุษย์  

 

ชะตาธิปไตย

“การเมืองเป็นโรงงานทำลายมนุษย์” คุณพูดประโยคนี้ด้วยความรู้สึกแบบไหน

        เศร้านะ มันเป็นความเศร้าเมื่อเราเห็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับเพื่อน ผมเชื่อว่าเพื่อนทั้งสามเป็นคนดีมาก ทั้งเป็นเพื่อนที่ดี มีน้ำจิตน้ำใจ พวกเขาทำงานจนชาวบ้านรักใคร่ ได้รับเลือกตั้งเข้ามา มันก็ต้องเป็นคนดีพอสมควรนะ แต่ทำไมบัญญัติจึงกลายเป็นนักการเมืองที่ดูเปิ่นๆ คนหนึ่ง ชลน่านดูมีแววได้ดีที่สุดแต่กลับมีคนโจมตีในหลายๆ เรื่อง ซึ่งไม่ยุติธรรมกับเขาเลย ส่วนภูมินทร์เป็นคนที่เก่งมากและผมคิดว่าเก่งที่สุดในบรรดาเพื่อนสามคนนี้ แต่ด้วยชะตาชีวิตทำให้เขาต้องไปอยู่พรรคกลางๆ ที่มักจะสอบตก อะไรที่ทำให้เพื่อนของเรากลายเป็นแบบนี้ ผมจึงเศร้า แต่เป็นความเศร้าที่ตั้งอยู่บนความเข้าใจ ผมหวังแค่ว่าจะมีใครสักคนที่มาดูหนังแล้วเข้าใจว่าผมกำลังจะบอกอะไร แค่นี้ผมก็โอเคแล้ว แต่ถ้าใครสักคนดูหนังแล้วเอาหนังเรื่องนี้ไปโจมตีคนอื่นๆ หรือพรรคการเมืองใด รวมทั้งทหาร ชาวบ้าน คนจน หรือคนรวย ผมจะรู้สึกเฟลมาก

แต่การที่หนังจะถูกนำไปตีความทางการเมืองก็อาจเป็นชะตาที่คุณไม่อาจหลีกเลี่ยงได้เช่นกัน

        ผมเลี่ยงไม่ได้หรอก แต่ถ้าเห็นเยอะๆ ผมเสียใจแน่นอน ด้วยความรู้สึกว่าเราพยายามทำถึงขนาดนี้แล้ว คุณยังไม่เห็นเหรอว่าเราพยายามจะบอกอะไร หนังจะทำให้เห็นเลยว่าทำไมชลน่านกับบัญญัติถึงสุดโต่ง แล้วในความสุดโต่งนั้นเขาต่างมีเหตุผล ส่วนภูมินทร์ ถ้าตั้งใจฟังตอนเขาปราศรัย ผมเชื่อว่าสำหรับคนที่เป็นกลางดูแล้วจะเข้าใจว่าเขาพยายามจะบอกอะไร ซึ่งในความเป็นหนังเราพยายามจะถ่ายทอดออกมาอย่างมีศิลปะมากที่สุด 

คุณเขียนเล่าไว้ว่า หลังจากหนังเรื่องนี้ตัดต่อเสร็จแล้วกลับต้องพับเก็บไว้นานถึง 6 ปี จนคุณถอดใจไปแล้ว

        ใช่ หนังเรื่องนี้มีชะตากรรมของมันเช่นกัน คือตอนตัดต่อเสร็จกำลังจะได้ฉายอยู่แล้ว เกิดการลงถนนต่อต้านรัฐบาลของกลุ่ม กปปส. ถ้าเกิดเอาหนังไปฉายโรงแล้วมีคนมาเดินประท้วงหน้าโรงหนังจะเกิดอะไรขึ้น เพราะสถานการณ์การเมืองตอนนั้นนับวันยิ่งรุนแรงขึ้นเรื่อยๆ จนในที่สุด เปรี้ยง! เกิดรัฐประหาร จบเห่เลย ในที่สุดวันนี้ก็มาถึง หนังชื่อ ชะตาธิปไตย ได้ประสบชะตากรรมของมันแล้ว ในที่สุดเราก็เอาชนะสิ่งที่ชั่วร้ายด้วยสิ่งที่ชั่วร้ายยิ่งกว่า เราใช้สิ่งที่ชั่วร้ายที่สุดเป็นทางออกของประเทศนี้จนได้ โห โคตรเศร้าเลย

        ในทางการเมือง ผมเป็นอนุรักษ์นิยม แล้วผมก็เชื่อว่าสังคมต้องมีพรรคการเมืองที่เป็นตัวแทนของทั้งเสรีนิยมและอนุรักษ์นิยม เพียงแต่เป็นอนุรักษ์นิยมแล้วอย่าคร่ำครึ ขอให้มันสอดคล้องกับโลกในปัจจุบันได้มั้ย แต่ถ้าจะให้ผมเห็นด้วยกับการรัฐประหาร ผมเห็นด้วยไม่ลง เราไม่สามารถแก้นิสัยเสียของคนได้ด้วยการไปตามใจให้มีนิสัยเสียมากขึ้น ผมเชื่อว่าประชาชนจะต้องเจ็บปวด ต้องเรียนรู้ และต้องเติบโต ประเทศนี้ถึงจะมีทางออก อย่างไรก็ตาม หลังจากรัฐประหารไปสักระยะหนึ่ง ผมถอดใจแล้ว ช่างมัน เจ๊งก็เจ๊ง ผมลงทุนกับหนังเรื่องนี้ไปเป็นล้านๆ นะครับ ด้วยทุนส่วนตัวที่ควรจะเป็นเงินเก็บของลูกของเมียเรา เอามาทำแบบนี้ก็ถือว่าเสียหายมากทีเดียว 

        หลังจากล้มเลิกความคิดอยากฉายหนัง เราก็กลับมาเป็นหมอ มีเวลาตรวจคนไข้มากขึ้น ให้เวลากับลูกกับเมีย มีความสุขในอีกรูปแบบหนึ่ง จนถึงวันที่ทีมงานของ Documentary Club ติดต่อมาถามว่า “ยังอยากฉายหนังอยู่มั้ยพี่” มันทำให้เราหวนกลับไปนึกถึงหนังเรื่องนี้อีกครั้ง ดีใจมาก อย่างที่ผมได้เขียนเล่าไว้ว่าถึงกับร้องไห้ออกมาเลย ที่ผ่านมาเราพยายามเลิกที่จะคิดถึงมันไปแล้ว แต่จู่ๆ มันกำลังจะได้กลับมาฉาย

 

ชะตาธิปไตย

ถึงจุดนี้คุณคิดว่าตัวตนของเพื่อนทั้งสามคนเปลี่ยนแปลงไปมากน้อยแค่ไหน พวกเขายังเป็นคนที่คุณเคยสนิทสนมเมื่อ 30 ปีก่อนหรือเปล่า

        สิ่งที่ไม่เปลี่ยนคือมิตรภาพและความสนิทสนมที่ทำให้กล้าเปิดใจพูดคุยกันในเรื่องส่วนตัวของพวกเราทุกคน บรรยากาศเฮฮาปาร์ตี้เมื่อเพื่อนเก่าได้กลับมาเจอกัน ความเป็นมนุษย์เหล่านี้สวยงามและยังไม่เปลี่ยนไป แต่บางอย่างเปลี่ยน โดยเฉพาะเรื่องที่เกี่ยวข้องกับความคิดเห็นทางการเมือง เวลาพูดคุยถึงประเด็นนี้ทุกคนจะระมัดระวังตัวมากขึ้น ซึ่งเห็นได้อย่างชัดเจนเลยว่าแต่ละคนมีบทบาทและสถานะตัวเองที่ต่างต้องคอยระวัง เราก็ยอมรับด้วยความเข้าใจและเคารพในสิทธิของเขาเช่นกัน 

ต้นทุนจากการเป็นหมอมีข้อดีต่อการทำหนังบ้างไหม 

        ส่วนที่ผมคิดว่าอาจจะเป็นข้อดีอยู่บ้างก็คือหมอทุกคนถูกฝึกมาให้เคารพนับถือในชีวิต เราเชื่อว่า Life is Precious กว่าที่ชีวิตหนึ่งจะเกิดขึ้นมา กว่าจะดูแลรักษาเมื่อเกิดโรคภัยไข้เจ็บ มันยากแสนสาหัส เลือดตาแทบกระเด็น ชีวิตจึงมีค่าสูงสุด ดังนั้น เมื่อเราทำหนังสารคดีที่ต้องออกไปถามคำถามกับใคร เราจะรู้ว่าจุดไหนที่ไม่ควรเข้าไปยุ่ง เรานับถือชีวิต เราจึงไม่ถามอะไรที่ไปย่ำยีศักดิ์ศรีความเป็นมนุษย์ของคน ซึ่งมันอาจจะเป็นข้อเสียก็ได้นะ ถ้าคุณมองว่าหนังเรื่องนี้จะไม่ทะลวงหรือชอนไชแบบสารคดีของ ไมเคิล มัวร์ แต่ข้อดีก็คือคนจะให้ความร่วมมือกับเรา แล้วเราจะคุยกับใครต่อใครก็ได้ แม้กระทั่งไปคุยกับหัวคะแนน เขาก็ไม่รู้สึกว่าเราไปคุกคามเขา 

สุดท้ายแล้วการทำหนังเรื่องนี้เปลี่ยนแปลงความคิดรวมถึงพฤติกรรมทางการเมืองของคุณไปอย่างไรบ้าง

       ผมยังคงเป็นอนุรักษ์นิยมเหมือนเดิม แต่ไม่ว่าเราจะมีอุดมการณ์ทางการเมืองแบบใดก็ตาม สิ่งสำคัญคือต้องรู้ว่าโลกนี้มีรายละเอียดปลีกย่อยอีกมากมายที่เราต้องรู้จักแยกแยะให้ได้ อีกอย่างหนึ่งที่สำคัญและยังเป็นเหมือนเดิมตลอดมาก็คือผมเชื่อว่าต่อให้เห็นต่างกันยังไงก็ตาม แต่เราเป็นมนุษย์เท่ากัน ต่อให้มีความเห็นทางการเมืองไม่ตรงกัน หรือต่อให้ผมเกลียดคุณมากมายแค่ไหน แต่ถ้าวันหนึ่งคุณเกิดเจ็บป่วยหรือมาเป็นอะไรต่อหน้าต่อตา ถ้าช่วยชีวิตได้ ผมยืนยันจะช่วย แล้วก็จะมีความภูมิใจไม่น้อยไปกว่าการได้ช่วยชีวิตคนที่เราชอบความคิดเห็นทางการเมืองของเขาด้วย 

        สิ่งที่จะแตกต่างไปบ้างก็คือเห็นอกเห็นใจคนที่เป็นเสรีนิยมมากขึ้น เริ่มเข้าใจว่าทำไมกับเรื่องบางเรื่องเขาถึงอยากจะแตกหัก ขณะที่เราก็ยังไม่เห็นด้วยกับการแตกหักเหมือนเดิมนะ เพราะการแตกหักมันเจ็บปวด ในวันที่พวกเรายังเด็ก เราไม่รู้หรอกว่าการสูญเสียมันเจ็บปวดขนาดไหน ถ้ามัวเอาแต่ใจตัวเอง ไม่ได้ดั่งใจก็พร้อมแตกหักหรืออยากใช้ความรุนแรง บทเรียนที่ผ่านมาได้สอนว่ามันจะไม่ได้นำไปสู่ทางออกหรอก แต่เราก็มองดูด้วยความเข้าใจว่า อ๋อ ทำไมถึงเลือกใช้วิธีนี้ เพราะก็คงรู้สึกว่าสุดจะทนแล้วเหมือนกัน 

        การทำหนังเรื่องนี้เราไม่ได้พยายามนำทัศนะทางการเมืองของใส่ลงไปแบบตรงๆ หรอกนะ ในหนังจะไม่มีการตำหนิใครหรืออะไรเลย ผมไม่เชื่อว่าการตำหนิ กล่าวโทษ หรือว่าการเกลียดชังมันควรจะนำมาทำเป็นหนัง หนังแบบนั้นคือหนังปลุกระดมมวลชน ยุยงให้คนตีกัน ผมไม่ทำ คนที่อยู่กับหนังเรื่องหนึ่งตลอดกระบวนการผลิต นับตั้งแต่เขียนบท ถ่ายทำ ตัดต่อ และอดทนรอวันที่หนังจะฉายได้ถึง 8 ปี อย่างมีความหวังว่าอย่างน้อยมันน่าจะมีประโยชน์อะไรบ้าง คนคนนั้นก็ต้องมีเจตนาที่ดีในการทำอยู่ใช่มั้ย ถ้าเจตนาร้ายมันยอมแพ้ไปนานแล้วล่ะ (ยิ้ม) 

 


ขอบคุณภาพ: ชะตาธิปไตย