เจ้าของบ้านบอกผมว่า ถึงเธอจะเลี้ยงชีพด้วยการทำและเสิร์ฟอาหารที่บ้าน แต่เธอก็ไม่ใช่ ‘เชฟ’ เช่นนั้นแล้ว การนิยามธุรกิจปัจจุบันของเธอว่า Chef’s Table จึงไม่เชิงถูก
ในชุมชนที่ร่มรื่นด้วยต้นไม้น้อยใหญ่และทุ่งนาเชิงเขาของตำบลหนองควาย อำเภอหางดง ชายขอบทิศใต้ของเมืองเชียงใหม่ บ้านของ ‘ก้อย’ – กนิษฐา ลิมังกูร วางตัวขนานไปกับลำเหมืองของหมู่บ้าน ด้านหลังของรั้วที่เกิดจากทิวต้นชาดัดคือสนามหญ้าและชานบ้านโปร่งโล่ง ที่ซึ่งมีเพียงกระจกใสกั้นพื้นที่ภายใน-ภายนอก โซฟาอยู่หน้าโทรทัศน์ ถัดมาคือโต๊ะกินข้าว 8 ที่นั่ง ที่มีฉากหลังเป็นชั้นหนังสือ มีพื้นที่เว้นพอให้ออกแรงก้าวอีกเล็กน้อย ตู้เก็บจานชาม ตู้เย็น เตาอบ เคาน์เตอร์ครัวและเครื่องดูดควัน—นั่นคือที่ทำงานของเจ้าของบ้าน บ้านที่มีชื่อว่า ‘อันจะกินวิลล่า’
อาชีพของก้อยคือการเปิดบ้านรับลูกค้า (ที่ต้องโทรศัพท์จองล่วงหน้า) มากินข้าว ซึ่งเธอจะรับลูกค้าเพียงวันละกลุ่ม หรือวันละโต๊ะ ไม่มากไป แต่ก็อาจน้อยไปกว่านั้น เพราะบางวันเธอก็ไม่รับ ดูตัวเลขตามจริง เธอเฉลี่ยรับลูกค้าเพียง 3-4 ครั้งต่อสัปดาห์เท่านั้น หากวันไหนมีคนโทร.จองเป็นมื้อกลางวัน วันนั้นเธอก็จะไม่รับมื้อเย็น กลับกัน ถ้ามีโทร.จองมื้อเย็น มื้อกลางวันของวันนั้น และมื้อกลางวันวันถัดไป ก็จะไม่มีใครได้กินข้าวฝีมือเธอ
ไม่ได้ถือตัวว่าเป็นคนมีฝีมือ หรืออยากวางตัวเองเป็น niche แต่ความที่เธอทั้งจัดตารางนัด เตรียมสถานที่ จ่ายตลาด และทำอาหารด้วยตัวเอง โดยมีผู้ช่วยในครัวอีกหนึ่งคน เธอจึงพอใจจะทำงานแค่นั้น
“เราอยากให้ลูกค้ามาและใช้เวลาให้เต็มที่ กินอาหารและพูดคุยกัน เลยไม่เคยรับนัดซ้อนกัน บางกลุ่มเขามากินมื้อกลางวัน เขาก็นั่งคุยกับเพื่อนเขายาวไปถึงสี่ห้าโมงเย็นเลย ถ้าเรารับนัดซ้อนมื้อเย็นอีก เราก็เริ่มกระวนกระวายละ ต้องเตรียมอาหาร เตรียมโต๊ะใหม่ คนที่มานั่งก่อนเขาก็จะดูออกว่าไม่สบายใจ เลยวางแผนไว้ว่าในหนึ่งวัน รับลูกค้าโต๊ะเดียวกลุ่มเดียว ให้เวลากับเขาไปเต็มที่เลยดีกว่า”
เจ้าของอันจะกินวิลล่ากล่าวสรุปชีวิตประจำวันในด้านการทำงานของเธอว่าทั้งหมดขึ้นอยู่กับการโทรศัพท์นัดหมาย และความสบายใจของทั้งเธอเองและลูกค้า
เกิดและโตที่กรุงเทพฯ ใช้เวลาเกือบ 20 ปีกับงานในตำแหน่งระดับสูงของบริษัทพลังงานเจ้าดังระดับโลก บริษัทที่จะเลี้ยงเธอไปอย่างมั่นคงและมั่งคั่งได้ทั้งชีวิต กระนั้นเธอก็กลับเลือกลาออกมาในวัย 44 ปี นำแพสชันในการทำอาหารมาเปิดร้านที่เขาใหญ่ (นครราชสีมา) และในย่านสีลม หากไม่มีเมืองไหนที่เธออยากใช้ชีวิตที่เหลือเท่ากับเชียงใหม่ นั่นเป็นเหตุผลที่เธอย้ายมาอยู่ที่นี่ ไม่ได้มาทำงาน แค่อยากมาใช้ชีวิต แต่อยู่เฉยๆ แล้วจะเอาอะไรกิน (เธอว่าอย่างนั้น) นั่นเป็นที่มาของธุรกิจที่เธอเรียกว่า ‘วันละโต๊ะ’ ซึ่งทำมาได้ 3 ปีแล้ว
ถึงเจ้าตัวจะยืนกรานปฏิเสธ แต่นี่คือหนึ่งในธุรกิจ Chef’s Table รายแรกของเมืองเชียงใหม่