ร่ำเปิงกาแฟ

เชียงใหม่ไดอารี่ 02 | กวีผู้สร้างสมดุลของชีวิตและมิตรสหาย

‘ชวด’ – ชัยวัฒน์ มัตถิตะเตา เป็นทั้งนักดนตรีกลางคืนและกวี (นามปากกา: ผการัมย์ งามธันวา) เกิดที่นครราชสีมา ฟอร์มวงกับเพื่อนและเข้ากรุงเทพฯ มาเล่นดนตรีตามผับ นั่นคือเรื่องเมื่อยี่สิบกว่าปีที่แล้ว ที่ซึ่งเมื่อสมาชิกในวงแยกย้าย เขากับเพื่อนสนิท ‘ฮวก’ – อรุณรุ่ง สัตย์สวี จึงเดินทางมาเชียงใหม่ เล่นดนตรีเปิดหมวกตามที่ต่างๆ ได้สักพัก ฮวกก็เริ่มต้นธุรกิจร้านกวยจั๊บกึ่งบาร์เล็กๆ ที่ชวดไปร่วมเล่นดนตรีขับกล่อมลูกค้าในยามค่ำคืนให้ นั่นคือที่มาของร้าน ‘สุดสายแนน’ ร้านเหล้าที่หากคุณเป็นศิลปิน กวี นักเขียน หรือทำงานเอ็นจีโอในเชียงใหม่ แล้วไม่รู้จัก ก็อาจต้องทบทวนโลกทัศน์ของตัวเองใหม่

สุดสายแนน

 

     ขณะที่วิถีของเพื่อนราบรื่นไปกับร้านเหล้า ชวดก็สร้างครอบครัวกับคนรักในบ้านไม้หลังน้อยภายในซอยวัดอุโมงค์ ความที่มีลูก เขาจึงเริ่มมองหารายได้ที่มากกว่าการเล่นดนตรีกลางคืน นั่นทำให้เขาเปิดร้าน ‘ร่ำเปิงกาแฟ’ ร้านกาแฟเล็กๆ ในยุคสมัยที่ซอยวัดอุโมงค์-วัดร่ำเปิง (หลังมหาวิทยาลัยเชียงใหม่) ยังไม่คึกคักด้วยคาเฟ่และร้านเก๋ๆ เช่นทุกวันนี้

 

สุดสายแนน

 

     “ผมขายกาแฟให้พอมีรายได้เสริมเข้ามาบ้าง พออยู่ได้ แต่ไม่ได้ฟู่ฟ่า ผมเล่นดนตรี อ่านหนังสือ และเขียนบทกวี พอเปิดร้านก็อยากให้เป็นที่พบปะแลกเปลี่ยนของคนทำงานสร้างสรรค์กัน ร้านผมไม่ได้ทำการตลาด ไม่ใช่ร้านที่วัยรุ่นจะมาถ่ายรูปเช็กอิน แต่ถ้ามองในแง่ว่ามันสร้างชุมชนแบบที่ผมอยากให้เป็นไหม มันก็ประสบความสำเร็จนะ”

     เป็นอย่างที่ชวดบอก เราอาจนิยามที่นี่ได้ว่าเป็นสุดสายแนนในภาคปลอดสุราและเปิดให้บริการในเวลากลางวัน ความที่ย่านนี้เป็นที่พำนักของทั้งนักเขียนและศิลปินอยู่มาก ร้านกาแฟของชวดจึงเป็นศาลาการเปรียญของอาร์ทิสต์ไปโดยปริยาย

 

สุดสายแนน

 

     ปัจจุบันร่ำเปิงกาแฟเข้าสู่ปีที่ 12 โดยเมื่อสี่ปีที่แล้ว ชวดและภรรยายังต่อเติมพื้นที่ในบ้าน สร้างบ้านต้นไม้หลังน้อยที่เปิดให้บริการในรูปแบบ airbnb รองรับนักท่องเที่ยว ซึ่งเขาบอกว่าเป็นธุรกิจที่ทำรายได้แบบไม่ต้องพะวงกับยอดขายของกาแฟ หรือไม่ต้องห่วงว่านิตยสารหรือสำนักพิมพ์จะจ่ายค่าต้นฉบับบทกวีหรือเรื่องสั้นล่าช้า

     “ไม่มีความทะเยอทะยานในการหาเงินเท่าไหร่ คือขอให้พอมีเลี้ยงชีพได้ และทำให้ผมมีเวลาไปทุ่มเทกับดนตรีและงานเขียน ซึ่งสองสิ่งนี้คือสิ่งที่ผมจะไม่มีวันทิ้งมันไปเด็ดขาด ผมมองว่าศิลปะคือการสร้างสมดุลแก่ชีวิต คุณอาจไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินก็ได้ เพียงเอาสิ่งที่คุณชอบมาอยู่ในกิจวัตร ยิ่งถ้ามีการงานที่รักและสามารถหารายได้จากตรงนั้นได้ยิ่งดี แล้วก็มีครอบครัว คนรัก และมิตรสหาย แค่นี้นับเป็นชีวิตที่เรียบง่ายและพอดีแล้ว”