เป็นคนเชียงดาว อำเภอทางตอนบนที่ตั้งของป่าต้นน้ำแม่ปิง ครอบครัวทำการเกษตรในพื้นที่ราบติดกับป่า ทำให้เธอผูกพันกับธรรมชาติตั้งแต่เด็ก เมื่อเข้าเรียนระดับอุดมศึกษา ‘มล’ – จิราวรรณ คำซาว จึงเข้าเรียนทางด้านชีววิทยา ก่อนจะต่อปริญญาโททางเทคโนโลยีชีวภาพ เธอเคยทำฟาร์มเห็ดโคนญี่ปุ่นเพื่อตัดดอกออกขาย เป็นนักวิจัยให้สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) และเป็นแม่ค้าคนกลางรับซื้อผลิตผลทางการเกษตรจากเชียงใหม่ไปขายในกรุงเทพฯ และทำแล็บวิจัยปริญญานิพนธ์ที่สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) กระทั่งสำเร็จการศึกษา เธอตัดสินใจสมัครงานที่นั่น
นั่นคือปี 2554 ที่เธอทำงานอยู่ในแล็บที่ สวทช. กรุงเทพมหานครเกือบทั้งเมือง รวมทั้งสำนักงานของเธอเกิดน้ำท่วมหนัก มลจึงกลับมาใช้ชีวิตอยู่ที่บ้าน การกลับบ้านครั้งนั้นมีส่วนในการเปลี่ยนมุมมองในด้านการงานและใช้ชีวิตของเธอไม่น้อย
“ถ้าเทียบกับกรุงเทพฯ เชียงดาวก็สโลว์ไลฟ์เลยล่ะ เพราะการกินข้าวแต่ละมื้อนี่แทบไม่เสียเงินสักบาท หมู่บ้านมีแปลงผัก มีสวนผลไม้ มีฟาร์มปศุสัตว์เป็นของตัวเอง และมีผักและผลไม้ให้กินตามฤดูกาล นั่นทำให้เราพบว่าการใช้ชีวิตจริงๆ แล้วมันไม่ใช่เงิน แต่มันคืออาหาร แต่ที่คนเราต้องการเงิน เพราะคนส่วนใหญ่ไม่มีพื้นที่ในการผลิตอาหาร”
แม้เปรียบเทียบเช่นนั้น และถึงเชียงดาวจะรุ่มรวยในทรัพยากร แต่มลก็ตระหนักดีว่าไม่ว่าจะอยู่ที่ใด ผู้คนก็ยังต้องใช้เงินเพื่อยังชีพอยู่ดี การที่จะสร้างรายได้จากทรัพยากรที่มีเหล่านี้ หลังจากเหลือกินแล้ว มันคืออะไร? นั่นทำให้เธอค้นหาสมดุลระหว่างการทำธุรกิจและการกินอยู่ที่ปลอดภัยและยั่งยืน
การค้นหาสมดุลที่ว่าจุดประกายให้มลกลับมาเปลี่ยนการทำเกษตรที่พึ่งพาสารเคมีหลักที่บ้านเกิดไปสู่การเกษตรอินทรีย์เพื่อเพิ่มมูลค่าแก่สินค้าและมูลค่าทางสิ่งแวดล้อมและสุขภาพควบคู่ไปกับการนำความรู้ทางเทคโนโลยีชีวภาพที่เธอร่ำเรียนมาไปต่อยอดวัตถุดิบจากเกษตรอินทรีย์ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนาเห็ดถั่งเช่าออร์แกนิกสูตรเจ แปรรูปสกัดเป็นผง กลายมาเป็นแบรนด์ผลิตภัณฑ์เสริมอาหาร รวมทั้งการคิดค้นและพัฒนาปุ๋ยชีวภาพจากเชื้อราไมคอร์ไรซา เพื่อใช้ส่งเสริมการทำเกษตรอินทรีย์แก่เครือข่ายเกษตรกรในประเทศที่ซึ่งดูเหมือนเหมาะเจาะกับช่วงเวลาที่ผู้คนเริ่มหันมาใส่ใจ (และลงทุน) กับการกินอาหารปลอดภัยมากขึ้น
ปัจจุบัน มลดำรงตำแหน่งซีอีโอของบริษัท CNX Healthy Products Co. Ltd. ผู้พัฒนาวิจัย ผลิต และจำหน่ายผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพจากวัตถุดิบเกษตรอินทรีย์ท้องถิ่นรวมถึงทีมบริหาร ‘เจียงใหม่ออร์แกนิควิสาหกิจเพื่อสังคม’ องค์กรที่เชื่อมโยงวัตถุดิบของเครือข่ายเกษตรกรอินทรีย์ในท้องถิ่นเข้ากับผู้ประกอบการโรงแรมและร้านอาหารในจังหวัดเชียงใหม่ นอกจากนี้เธอยังเป็นสมาชิกกลุ่ม ‘ม่วนใจ๋’ กลุ่มเกษตรอินทรีย์วิถีธรรมชาติเชียงดาว ทำงานส่งเสริมชาวบ้านอำเภอเชียงดาว ทำเกษตรอินทรีย์ รวมถึง ‘แก้งค์ถิ่นนิยม’ กลุ่มเยาวชนเชียงดาวที่คอยสร้างสรรค์กิจกรรมอนุรักษ์ธรรมชาติเชื่อมกับวิถีเกษตรอินทรีย์
แน่นอน จากหน้าที่การงานแต่ละวัน (รวมไปถึงศึกษาปริญญาเอกในด้านจุลชีววิทยาที่มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ด้วย) ชีวิตของเธอไม่ใกล้เคียงกับนิยามของคำว่าสโลว์ไลฟ์แม้แต่น้อย แต่นั่นล่ะสิ่งที่เธอทำในทุกวันนี้ก็เพื่อพิสูจน์ให้เห็นว่าวิถีเนิบช้าอย่างเกษตรอินทรีย์ ก็เป็นหนทางในการสร้างเศรษฐกิจที่มั่นคงได้
ภาพ: อาทิตย์ ทองสุทธิ์