แม้หลายคนจะชื่นชอบงานเขียนเรื่องสั้นของ ภู่มณี ศิริพรไพบูลย์ แต่อย่างที่ทราบกัน การเป็นนักเขียนวรรณกรรมร่วมสมัยในประเทศนี้เป็นอาชีพไม่ได้ ภู่มณีตระหนักดีในข้อนี้ แต่ครั้นจะให้กลับไปเป็นอาจารย์ (เขาเคยเป็นอาจารย์ประจำคณะมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยรัฐแห่งหนึ่งในเชียงใหม่ หากลาออกมาดูแลลูก) ที่มีวิถีชีวิตเป็นรูทีน เขาก็พบว่าวิถีเช่นนั้นเผาผลาญพลังงานเขามากไปจนไม่อาจเขียนหนังสือได้
กระนั้นภู่มณีก็บอกผมว่าเขาโชคดีที่ภรรยาของเขาเคยทำงานในบริษัทอสังหาริมทรัพย์แห่งหนึ่ง นั่นทำให้เขาและภรรยาพบช่องทางอาชีพใหม่ที่ยั่งยืน คือการเป็นคนดูแลห้องพักที่เปิดเป็น airbnb
รูปแบบเป็นเช่นนี้ ใครสักคนจากที่อื่นซื้อห้องในคอนโดมิเนียมแถวใจกลางเมืองเชียงใหม่ไว้ พวกเขาต้องการสร้างมูลค่าจากการเปิดห้องว่างให้เช่าเป็น airbnb แต่ใครล่ะจะเป็นคนบริหารจัดการเรื่องการจองห้อง ต้อนรับและมอบกุญแจให้ลูกค้า ดูแลความเรียบร้อย และหาแม่บ้านมาทำความสะอาดห้องให้ในเมื่อเจ้าของห้องไม่อยู่
ภู่มณีทำหน้าที่ที่ว่าโดยได้เปอร์เซ็นต์จากค่าเช่าพัก ซึ่งปัจจุบันเขาดูแลมากถึง 10 ห้อง (โดย 2 ห้องในจำนวนนั้นเป็นของเขาเอง) และมีรายได้มากกว่าสมัยเป็นอาจารย์มหาวิทยาลัยหลายเท่า เขาบอกว่าถ้าไม่ใช่เชียงใหม่ก็คงประกอบอาชีพนี้ไม่ได้
“เชียงใหม่มีความเป็นเมืองอยู่ คือเป็นทั้งเมืองท่องเที่ยวและเมืองแบบมหานคร แต่ความที่มันเล็กกว่ากรุงเทพฯ ก็เลยขับรถไปทำธุระได้มากในเวลาอันสั้น นั่นหมายความว่าวันหนึ่งผมสามารถเดินทางไปดูแลห้องพักลูกค้าต่อกันได้หลายห้อง ซึ่งกรุงเทพฯ ทำไม่ได้ หรือถ้าทำได้ก็คงเป็นอาชีพที่เหนื่อยมาก”
ตื่นแต่เช้าเพื่อแปลหนังสือไปจนถึงเที่ยง (เขากำลังแปลนิยายของ ชาร์ลส์ บูคาวสกี้ อยู่) จากนั้นขับรถออกจากที่พักเพื่อไปตรวจดูความเรียบร้อยของห้องพัก และประสานงานกับลูกค้าในแต่ละห้องในกรณีฉุกเฉิน งานของภู่มณีจะแล้วเสร็จก่อนห้าโมงเย็น ที่ซึ่งช่วงเย็นถึงหัวค่ำหากไม่อ่านหนังสือ ก็จะดูหนังหรือเขียนเรื่องสั้นไปจนถึงดึก
นอกจากรายได้ ภู่มณีบอกว่า การที่เขาได้พบเจอและพูดคุยกับผู้มาเยือนต่างชาติ ก็ทำให้เขามีวัตถุดิบไปต่อยอดงานเขียนของเขา เพราะหากจะอยู่บ้านเพื่อมุ่งมั่นในการเขียนหนังสืออย่างเดียวโดยไม่ได้ใช้ชีวิต เขาก็พบว่าตัวเองไม่มีเรื่องอะไรไปเขียน – งานเลี้ยงชีพ วิถีชีวิต งานเขียน และเมืองเชียงใหม่ของภู่มณี จึงพึ่งพิงและหลอมรวมเข้าด้วยกัน
“หลังจากที่พบว่าชีวิตต้องถูกขังอยู่บนถนนกลางกรุงเทพฯ ระหว่างไปและกลับจากที่ทำงานเกือบ 4 ชั่วโมงต่อวัน และเมื่อพบว่าเชียงใหม่ยังพอมีแหล่งงานที่ผมถนัดและทำได้อย่างมีความสุขอยู่บ้าง ผมก็ไม่ลังเลที่จะย้ายจากเมืองหลวงไปปักหลักอยู่เชียงใหม่
“น่าเศร้าอยู่นิด เพราะถึงแม้เป็นเมืองที่รุ่มรวยด้วยศิลปวัฒนธรรม หากนักธุรกิจส่วนใหญ่ในเชียงใหม่ก็ไม่ได้ให้คุณค่าหรือยอมลงทุนกับการทำงานด้านความคิดสร้างสรรค์เท่าไหร่ และแม้เงินเดือนของกองบรรณาธิการนิตยสารท้องถิ่นที่นี่ไม่มากพอให้ธนาคารเชื่อว่าคุณจะเป็นหนี้เพื่อปลูกบ้าน แต่เมื่อทำงานไปได้สักพัก มีเครือข่ายคนรู้จักและเป็นที่ไว้ใจมากพอ ผมก็ลาออกมาทำงานเขียนและงานแปลแบบอิสระอยู่ที่บ้านได้ ปีนี้ผมอยู่เชียงใหม่ครบ 10 ปี ไม่ได้มีเงินเก็บมากเท่าไหร่ แต่ในชีวิตก็ไม่คิดว่าตัวเองขาดอะไร
“หากคุณเป็นคนขับรถเร็ว คุณอาจจะรำคาญการขับรถแบบไร้คันเร่งของคนเชียงใหม่ไปบ้าง หรือหากคุณเป็นคนเถรตรงกับระบบ ความอะลุ่มอล่วยบางอย่างของทั้งภาครัฐและคนเมือง อาจทำให้คุณหงุดหงิดใจ แต่นั่นละ เว้นก็แต่เดือนมีนาคมที่ฝุ่นละอองสุมเมืองราวกับอยู่ในนรก เชียงใหม่ในเดือนอื่นค่อนข้างรื่นรมย์
“อาจจะเพราะที่ที่ไปประจำหรืองานที่ทำ แปลกดีเหมือนกัน ผู้คนที่ผมรู้จักและพบเจอในชีวิตประจำวันก็มีวิถีชีวิตคล้ายกันหมด – ถ้าไม่มีธุรกิจ (ทั้งเล็กและใหญ่) เป็นของตัวเอง ก็เป็นคนทำงานอิสระหรือคนทำงานสร้างสรรค์ แทบไม่มีใครทำงานออฟฟิศ”
“ผมรู้จักรุ่นพี่ผู้หญิงนักกิจกรรมที่เปิดร้านบราวนีที่บ้านและเป็นผู้ประสานงานระหว่างกลุ่มเกษตรอินทรีย์กับร้านอาหาร, ชายหนุ่มที่เอาดีกับการพัฒนาสุราพื้นบ้านจนสร้างแบรนด์ได้ ก่อนจะทำคราฟต์เบียร์จนสามารถทำร้านขยายสาขาทั่วเชียงใหม่, มิตรสหายที่เปิด graphic house เล็กๆ และเลือกรับเฉพาะงานที่พึงใจ ยังไม่นับรวมสถาปนิก นักออกแบบ คนทำงานไอทีและสตาร์ทอัพ นักเขียน ฯลฯ ที่เลือกนั่งทำงานที่บ้านหรือไม่ก็โคเวิร์กกิ้งสเปซและใช้ร้านกาแฟเจ้าประจำเป็นที่ประชุม
“เวลาพูดถึงวิถีสโลว์ไลฟ์ในเชียงใหม่ เรามักจะนึกถึงคาเฟ่สไตล์มินิมอลขาวและโล่ง กับภาพถ่าย soft focus ของกาแฟร้อนในถ้วยเซรามิก คู่กับนิตยสารอย่าง Kinfolk หรือ Cereal (ที่ซึ่งทุกวันนี้ก็ยังมีร้านกาแฟหลายร้านใช้เป็นพร็อพและนิยมถ่ายรูปกันอยู่) แต่นั่นละ ผู้คนที่ผมพบเจอในชีวิตประจำวันกลับดูเหมือนอยู่คนละโลกกับความมินิมอลเหล่านั้น และหากไม่ใช่เชียงใหม่ ก็ยากจะจินตนาการเหมือนกันว่าวิถีการทำงานของพวกเขาเหล่านั้นจะสามารถหยัดยืนและฝังรากจนเกิดเป็นวิชาชีพได้ไหม
“และถึงไม่อาจเหมารวมได้ว่านี่คือเครือข่ายวัฒนธรรม Slow แต่สิ่งหนึ่งที่พอจะยืนยันได้ก็คือ พวกเขายังคงยั่งยืนอยู่กับจังหวะที่เนิบช้ากว่าคนส่วนใหญ่ได้ดี (หลายคนก็มั่งคั่งเลยละ) แถมยังมีความสุขกับสิ่งที่ได้เลือกและได้ทำมากเป็นพิเศษ”