จินตนาการถึงมิวสิกเฟสติวัลที่รวบรวมศิลปินที่เป็นที่ชื่นชอบหลากหลายแนวดนตรีมาไว้ในงานเดียวกัน มีพื้นที่สร้างสรรค์ให้ได้ร่วมสนุก เต็มไปด้วยมิตรภาพจากผู้คนที่พร้อมมาแลกเปลี่ยนประสบการณ์ดนตรีซึ่งกันและกัน โดยที่มีฉากหลังเวทีเป็นทิวเขาของดินแดนภาคเหนือ น่าจะเป็นฝันของใครหลายๆ คนที่อยากสัมผัสบรรยากาศเช่นนี้สักครั้ง
ปลายปีนี้ GMM Grammy และ ZAAP Party เตรียมเล่นใหญ่ เนรมิตมิวสิกเฟสติวัลในฝันอย่าง ‘ช้าง มิวสิก คอนเน็กชั่น พรีเซ็นต์ เชียงใหญ่เฟส’ มหกรรมดนตรีที่ตอกย้ำความเป็น ‘ที่สุด’ ในหลายๆ ด้าน ทั้ง ‘ใหญ่ที่สุด’ ในภาคเหนือ ‘สนุกที่สุด’ กับไลน์อัพศิลปินระดับท็อปของประเทศกว่า 40 วง ครบทุกแนวดนตรี และ ‘คุ้มที่สุด’ กับราคาบัตรที่บอกได้เลยว่าจ่ายน้อยได้มาก โดย a day BULLETIN มีโอกาสได้สนทนากับหัวเรือใหญ่ของงานนี้อย่าง ภาวิต จิตรกร และศิลปินฮิปฮอปมาแรงซึ่งเป็นหนึ่งในผู้ที่จะขึ้นโชว์งานนี้อย่าง LazyLoxy ที่มาเป็นตัวแทนเล่าถึงเบื้องหลังความสนุกที่กำลังจะเกิดขึ้น และแนวคิดการสร้างแบรนด์มิวสิกเฟสติวัลให้ประสบความสำเร็จในปัจจุบัน
อ่านจบแล้วแนะนำให้รีบกดจองบัตรอย่างไว เพราะทีมงานกระซิบมาว่าหากมัวชักช้าพลาดแล้วจะเสียดาย!
มหกรรมดนตรีที่ใหญ่ที่สุดในภาคเหนืออย่างเชียงใหญ่เฟส เกิดขึ้นมาได้อย่างไร แล้วทำไมต้องเป็นที่เชียงใหม่
ภาวิต: เนื่องด้วยแกรมมี่มีงานเฟสติวัลและมีฐานข้อมูลศิลปินเยอะ ดังนั้น เราจึงมีข้อมูลหลังบ้านเยอะเช่นกัน ซึ่งจากข้อมูลจะเห็นว่าเรามีแฟนคลับที่เป็นคนภาคเหนือจำนวนมาก แต่ว่ามันสวนทางกับยอดขายบัตรงานเฟสติวัลที่เราเป็น อย่างเช่น Big Mountain ซึ่งเป็นเฟสติวัลอันดับหนึ่งของเรา กลับมีแฟนคลับจากภาคเหนือที่ซื้อบัตรแค่ 1 เปอร์เซ็นต์ ซึ่งแทบจะเกิดกับทุกคอนเสิร์ตหรือเฟสติวัลที่เรามีเลย ดังนั้น ปัญหาคือเขาไม่มา หรือเราไม่ไป แต่เราไม่คิดจะโทษผู้บริโภค ฉะนั้น เราเลยบอกว่าเราจะไปแล้วกัน จึงเป็นความตั้งใจที่จะทำเฟสติวัลที่ใหญ่ที่สุดและดีที่สุดในภาคเหนือ และเป็นที่มาที่ไปของการเชิญ ZAAP Party มาร่วมมือกัน เขาเป็นทีมที่ทำปาร์ตี้ในภาคเหนือเยอะมาก ซึ่งใครๆ ก็บอกว่าภาคเหนือเป็นจังหวัดปราบเซียนในการจัดงานลักษณะนี้ ไม่มีใครจัดสเกลใหญ่เท่านี้เลย งานนี้จึงเป็นการร่วมลงทุนและประสานจุดแข็งของทั้งสองฝ่าย โดยที่ทาง ZAAP Party จะเป็นครีเอทีฟกับออร์แกไนเซอร์ ส่วนแกรมมี่จะเป็นคนดูยุทธศาสตร์ การตลาด แล้วก็เรื่องศิลปิน
ส่วนชื่อเฟสติวัลมาจากความตั้งใจที่บอกวิสัยทัศน์ จริงๆ เรามีการคิดชื่อหลายแบบ ผ่านการทำรีเสิร์ชด้วย แต่เราพบว่าคนเชียงใหม่หรือคนเหนือเขาอยากได้อะไรที่เข้าใจง่ายๆ ด้วยความที่เราอยากให้เป็นเฟสติวัลที่เป็นแลนด์มาร์กของจังหวัด คือผ่านไปอีกสามปีก็อยากให้คนรู้สึกมากๆ ว่างานที่เป็นมิวสิกเฟสติวัลที่สนุกที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด แล้วรอคอยทุกปีคืองานนี้ เราเลยเอาชื่อจังหวัดเชียงใหม่ผสานกับคอนเซ็ปชวลที่อยากให้เป็นงานที่ใหญ่ที่สุดเข้าไปรวมกัน จึงกลายเป็นงานเชียงใหญ่เฟส
ตอนลงไปรีเสิร์ชเจอข้อมูลอะไรที่น่าสนใจมากๆ และไม่เคยทราบมาก่อนบ้างไหม
ภาวิต: มีข้อมูลที่น่าสนใจหลายเรื่องมาก เช่น สิ่งหนึ่งซึ่งเราได้ยินมาตลอดคือเชียงใหม่ต้องเป็นเพลงอินดี้ แต่ว่าพอไปสัมผัสจริงๆ เราพบว่านอกจากอินดี้แล้ว เขาก็มองเห็นศิลปินที่อยู่ในท็อปชาร์ตเหมือนกับคนกรุงเทพฯ นะ ไม่ได้แปลว่าคุณต้องทำให้งานเป็นอินดี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ เพราะความรู้สึกที่เป็นงานเฟสติวัลใหญ่ๆ มันก็ดึงดูดเขาเช่นเดียวกัน นี่คือความเซอร์ไพรส์ที่เราพบเจอ คือไม่จำเป็นต้องเป็นศิลปินที่เล่นอยู่ในผับบาร์ของเขาร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือเป็นอินดี้ร้อยเปอร์เซ็นต์ก็ได้
สถานที่จัดงานอย่างลานเนินนุ่มมีศักยภาพอย่างไรในการทำเฟสติวัลอย่างที่ต้องการ
ภาวิต: เราจัดที่ลานเนินนุ่มเพราะมีศักยภาพค่อนข้างพร้อมในหลายด้าน ข้อแรกคือเป็นพื้นที่ที่ยังไม่ค่อยได้จัดงานมาก แต่ก็ไม่ใช่พื้นที่ที่คนเชียงใหม่ไม่รู้จัก ข้อที่สอง เป็นพื้นที่ที่คนเชียงใหม่ใช้เวลาเดินทางเพียงแค่ 10-15 นาทีจากตัวเมือง เพราะฉะนั้น ความสะดวกคือการมาเฟสติวัลนี้ไม่ต้องค้างแรม เป็นประสบการณ์อีกแบบหนึ่ง ไม่เหมือนเราไป Big Mountain ที่ต้องขับรถไปสองร้อยกิโล เพราะฉะนั้น เรื่องกลยุทธ์การเลือกทำเลที่ตั้งมีความน่าสนใจที่จะสร้างวัฒนธรรมเฟสติวัลอีกรูปแบบ คือไม่ต้องหาที่หลับที่นอน เสร็จก็กลับ พรุ่งนี้ก็มาสนุกใหม่ นอกจากนั้น ลานเนินนุ่มมีแบ็กกราวนด์ถูกต้องตามหลักยุทธศาสตร์ของเฟสติวัลที่ควรจะเป็น คือฉากหลังเป็นวิวดอยสุเทพ มองขึ้นฟ้าไปเป็นทิวเขาหมดเลย เป็นสถานที่ที่สวย แล้วเป็นสถานที่ที่มีศักยภาพที่จะขยายตัวเพื่อรองรับคนได้มากขึ้น ถ้าเราจะใหญ่โตไปเป็นแบบ Big Mountain ในอนาคต
การรวมศิลปินมาตั้ง 40 ชีวิตขนาดนี้เป็นความยากไหม
ภาวิต: ไม่ยากเลย เราว่าศิลปินทุกคนคิดถึงแฟนคลับของเขาในแต่ละภาคนะ จริงๆ เราวางแผนโปรเจ็กต์เชียงใหญ่เฟสมาประมาณปีกว่า มีการวางแผนยาวล่วงหน้า มีทั้งการทำวิจัย มีทั้งแผนการตลาด มีการร่วมมือกับพาร์ตเนอร์ ร่วมมือกับช่องทางการขาย ร่วมมือกับศิลปินหลากหลายรูปแบบ มันจึงเป็นการทำงานล่วงหน้าหนึ่งปี เราเลยบอกว่าการรวบรวมศิลปินให้เยอะขนาดนี้ไม่ใช่เรื่องที่ยาก อาจเป็นเรื่องที่ง่ายที่สุด เพราะการรวบรวมมันเกิดมาจากการวางแผนที่ดี แต่การทำให้เชียงใหญ่เฟสกลายเป็นแบรนด์ให้ได้กลับเป็นเรื่องที่ยากที่สุด
มองเห็นศักยภาพอะไรในเชียงใหม่อีกนอกจากเรื่องดนตรี
ภาวิต: สำหรับเรา คนที่นั่นเป็นคนน่ารัก ตรงไปตรงมา เป็นกลุ่มคนที่เรามองว่าค่อนข้างใหม่กับคำว่าเฟสติวัล เพราะเขาจะเข้าใจว่ามันคือคอนเสิร์ต มันไม่ใช่สิ่งที่เป็นพฤติกรรม แต่ก็มีคนที่เขามา Big Mountain นะ เพียงแค่วัฒนธรรมดนตรีที่เป็นเฟสติวัลยังไปไม่ถึงเขา เรารู้สึกว่านี่เป็นจุดที่น่าสนุก เพราะยังไม่มีวัฒนธรรมนี้ โห ศิลปินสี่สิบคนจะเวียนดูยังไง เป็นความตั้งใจที่เราจะไปสร้างวัฒนธรรมใหม่ๆ ให้เกิดขึ้นที่นั่น
ในยุคที่งานดนตรีเกิดขึ้นมากมาย เชียงใหญ่เฟสจะมอบประสบการณ์ความแปลกใหม่หรือแตกต่างจากเฟสติวัลอื่นๆ ได้อย่างไร
ภาวิต: ในพื้นที่ทั้งหมด คนจะรู้สึกว่ามันแตกต่างด้วยสเกลงานที่ใหญ่ที่สุด ศิลปินมาเยอะที่สุด อันนี้คือจุดขายและจุดที่เราเน้น สเกลของเวทีใหญ่กว่า 80 เมตร สูงกว่า 22 เมตร เป็นเวทีที่ลงทุนมากที่สุดแล้วในการจัดงานเฟสติวัล ไม่มีคำว่าเวทีใหญ่ เวทีเล็ก มีสองเวที เป็นเวทีใหญ่ทั้งคู่ มีประสบการณ์ของการที่เราสร้างโซนความร่วมมือระหว่างคนในพื้นที่กับร้านอาหาร คนในพื้นที่กับอาร์ตดีไซน์ เพราะเราทำเพื่อจังหวัดเชียงใหม่ แล้วก็จังหวัดภาคเหนือรอบข้าง ให้เขามีประสบการณ์ที่รู้สึกว่าแตกต่างที่สุด
เริ่มตั้งแต่ประสบการณ์ที่จอดรถ การคมนาคมมีความสะดวก หรือต่อให้คุณไม่ได้ซื้อบัตรเข้างาน คุณมองจากข้างนอกก็รู้สึกตื่นเต้นว่ามันดูยิ่งใหญ่มากตั้งแต่ประตูทางเข้า เข้าไปปุ๊บ จะมีแลนด์มาร์กที่แตกต่าง เป็นความร่วมสมัยที่คนจะรู้สึกว่ามีความเก๋ในการเข้ามาอยู่ในประสบการณ์นี้ แน่นอนว่าศิลปินทุกคนก็เป็นมืออาชีพ มีครบทุกสไตล์ มีครบทุกรูปแบบดนตรีที่คนเชียงใหม่ต้องการ เพราะเรารีเสิร์ชมาหมดแล้วว่าเขาต้องการใครบ้าง เราจัดมาให้คุณทุกวงจนหมดตูดเลย (หัวเราะ) สายร็อก สายพ็อพ สายฮิปฮอป สายอินดี้ แล้วก็มีศิลปินที่เป็นคนเชียงใหม่ด้วย
หัวใจสำคัญที่จะทำให้การจัดเทศกาลดนตรีประสบความสำเร็จได้ในยุคนี้คืออะไร
ภาวิต: ข้อแรกคือเรื่องของแบรนดิ้ง การจัดเฟสติวัลมีความแตกต่างจากการจัดคอนเสิร์ต การจัดคอนเสิร์ตทั่วๆ ไปเป็นความพร้อมของศิลปินและแฟนคลับ ความพร้อมของศิลปินแปลว่าเขาต้องมีความโด่งดังระดับหนึ่ง เขาต้องมีเพลงฮิตมากเพียงพอที่คนจะรู้สึกว่าสามารถอยู่ในงานคอนเสิร์ตได้ แต่เฟสติวัลเป็นเรื่องของการออกแบบประสบการณ์ ถ้าเราไม่ออกแบบแบรนดิ้งกับประสบการณ์ให้เชื่อมกันแล้วชัดเจนในใจคน โอกาสเกิดของเฟสติวัลจะยากมาก ข้อสองคือต้องมีความแตกต่างเพื่อจะบอกคนให้ได้ว่าสิ่งที่เราทำแตกต่างจากสิ่งที่คนอื่นจัดอย่างไร ข้อสามเป็นเรื่องของการสร้างความประทับใจ ไม่มีเฟสติวัลไหนสามารถยืนอยู่ได้ถ้าคนไปงานแล้วรู้สึกว่าไม่อยากกลับไปอีก
ณ ตอนนี้เราอยากให้จำอย่างเดียวเลยว่าจุดที่แตกต่างที่สุดของเชียงใหญ่เฟสคือเราเยอะที่สุด ใหญ่ที่สุด แล้วพอมีประสบการณ์กับงานในปีนี้ เราสัญญาว่าปีหน้าเราจะพูดให้คุณเห็นเป็นรูปธรรมได้มากขึ้น เพราะตอนนี้เราจะพูดว่ามีเวทีนั้นเวทีนี้ มีเรื่องราวเป็นอย่างไร เราก็ไม่เห็นภาพอยู่ดี ตอนนี้ให้รู้แค่ว่าเราจัดเต็มขนาดนี้เลยเหรอ มากันสี่สิบวงเลยเหรอเนี่ย สองวันขายบัตรแค่ 900 บาท โห ถูกกว่านี้ไม่มีอีกแล้ว (หัวเราะ)
คุณเชื่อมั่นในความเปลี่ยนแปลงที่เกิดจากพลังในการรวมตัวของผู้คนมากน้อยขนาดไหน
ภาวิต: เราเชื่อแน่นอน ต้องบอกว่าการทำเฟสติวัลเป็นเรื่องของการที่เราเชื่อว่าคนได้แลกเปลี่ยนประสบการณ์กัน เราว่าเฟสติวัลเป็นคำว่า culture หรือวัฒนธรรมนะ ความรู้สึกต้นของคนไปเฟสติวัลคืออาจจะไปด้วยความชอบของสิบในร้อย แต่เมื่อเขาเข้าไปในเฟสติวัลแล้ว มันจะเกิดสิ่งที่เรียกว่าการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ข้อแรกที่เราเห็นบ่อยสุดคือการแลกเปลี่ยนเพื่อน คือเจอเพื่อนใหม่เยอะมาก คุณอาจจะฟังเพลงร็อกและไม่เคยฟังฮิปฮอปเลย แต่เมื่อไปปั๊บ เขาอาจจะได้ฟังแล้วเกิดชอบขึ้นมาก็ได้ นี่คือเสน่ห์ของเฟสติวัล เฟสติวัลเป็นเรื่องของการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรม ทั้งบุคคลและดนตรี
เราเป็นคนที่โตมากับเฟสติวัลตั้งแต่เด็ก เราชอบอินดี้ ดังนั้น เวลาไปก็จะดูอินดี้ เราเคยไปดูดาจิมเล่นที่ Fat Fest#1 ใต้โรงงานยาสูบ พูดเลยเราร้องเพลงเขาไม่เป็นหรอก แต่เราอยากรู้มากเลยว่าแร็ปใต้ดินเป็นยังไง แล้วเราก็กลับมาพร้อมความรู้สึกว่า โห มิกซ์เทปเพลงใต้ดินเป็นแบบนี้เหรอ สุดท้ายอาจไม่ใช่ตัวตนเราอยู่ดี แต่อย่างน้อยเราไปแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมมาแล้ว หรือเราเป็นคนชอบเพลงร็อกมาตั้งแต่เด็ก แต่เราไปดูเพลงพ็อพแล้วก็รู้สึกว่าเราก็รับได้นี่
เราเพิ่งอ่านบทความอันหนึ่ง เชื่อไหมว่า เวลาฝรั่งซื้อบัตรไปงานเฟสติวัล 90 เปอร์เซ็นต์รู้จักวงในงานไม่เกินครึ่ง แต่เวลาเราขายบัตรเราต้องบอกไลน์อัพ ทั้งที่จริงๆ คนอาจจะไม่รู้จักทั้งหมด ฉะนั้น มันคือการแลกเปลี่ยนวัฒนธรรมไง
LazyLoxy: เราก็รู้สึกแบบเดียวกัน ที่จริงเราก็ไม่ได้เป็นคนฟังฮิปฮอปจริงจังขนาดนั้น เราเป็นคนฟังอินดี้เหมือนกัน เรารู้สึกว่าคนฟังอินดี้จะหาอะไรใหม่ๆ ฟังเร็วมาก สมมติชอบวงนี้ เขาก็จะชอบดนตรีที่ใกล้เคียงกันแบบนี้ไปเรื่อยๆ เราเชื่อว่าการได้รับสิ่งใหม่ๆ มามันดีกว่า คือการไปเฟสติวัลจะได้ฟังอะไรใหม่ๆ มากกว่าไปงานคอนเสิร์ตวงเดียวที่เราอยากไปแน่นอนอยู่แล้ว
นอกจากเรื่องดนตรี คุณคาดหวังการมีส่วนร่วมอย่างสร้างสรรค์ของผู้คนที่มางานในแง่อื่นบ้างไหม
ภาวิต: ความตั้งใจของแกรมมี่และ ZAAP Party คืออยากให้คนเชียงใหม่หรือคนเหนือมีส่วนร่วม เพราะฉะนั้น โซนร้านอาหารทั้งหมด เราไม่ได้เอาร้านจากกรุงเทพฯ ไปเลย เราอยากให้คนเชียงใหม่ได้ทำมาค้าขาย โซนที่เป็นเรื่องไลฟ์สไตล์ โซนถ่ายรูป โซนเก๋ๆ เราร่วมมือกับดีไซเนอร์ในพื้นที่เพื่อมาออกแบบ พูดง่ายๆ คือเราเอาความรู้เชิงขั้นตอนของกรุงเทพฯ เข้าไป เช่น projection mapping เรื่องของเวทีที่อลังการ แต่ก็มีการผสมผสานเรื่องการค้าขาย การส่งเสริมรายได้ ให้กับคนในจังหวัดด้วย
อย่าง LazyLoxy เป็นศิลปินฮิปฮอปรุ่นใหม่ที่ได้รับความนิยมมาก การได้เป็นส่วนหนึ่งในงานเฟสติวัลที่ใหญ่เช่นนี้ถือว่าสำคัญขนาดไหนในอาชีพคุณ
LazyLoxy: ตื่นเต้น แล้วก็ดีใจด้วย อยากไปเล่นมาก เราได้ไปเล่นเฟสติวัลที่ใหญ่ที่สุดของภาคใต้ แล้วก็อยากมาเล่นของภาคเหนือด้วยเหมือนกัน จริงๆ ไม่ค่อยได้ไปเหนือบ่อยนัก แต่เชียงใหม่ก็เคยไป เราค่อนข้างชอบซีนดนตรีที่นั่น คนที่นั่นตั้งใจฟังเพลงมาก เราชอบความเป็นอินดี้อยู่แล้ว เราเลยอยากลองไปเล่นที่นั่นดูว่าอารมณ์จะเป็นอย่างไร
ภาวิต: อันนี้เราพูดจากรีเสิร์ชจริง อย่าง LazyLoxy ต้องบอกเลยว่าเป็นท็อป 3 ของศิลปินฮิปฮอปที่คนอยากดูมากที่สุด เพราะฉะนั้น ก็เป็นสิ่งที่คนคาดหวัง อย่างที่บอก สิ่งที่เราวางไว้เป็นโครงสร้างพื้นฐาน คือถ้าเราลงเรือลำเดียวกันในอุตสาหกรรม ใครก็ตามที่คนฟังอยากฟัง เราก็ร่วมมือกันในการจัดการ แกรมมี่มีหน้าที่ลงทุน เขาชอบ LazyLoxy เราก็ต้องเชิญเขาไป แต่ขณะเดียวกันคนดูก็คิดถึงพี่ตูน Bodyslam คิดถึงพี่เล็ก Greasy café คิดถึง Tattoo colour ได้เหมือนกัน ทุกคนมีความชอบของตัวเอง ดังนั้น แฟนใครแฟนมัน หรือมีบางคนบอก เฮ้ย เคยดูพี่ตูนมาแล้ว เผอิญรอบนี้เวลาตรงกับ LazyLoxy เขาก็อาจจะไปดู LazyLoxy บ้างก็ได้ เพราะไม่เคยดู เราว่ามันเป็นเสน่ห์ของการจัดเฟสติวัล
ในมุมของศิลปินเวลาขึ้นเวทีใหญ่ๆ แล้วคนเป็นร้อยๆ จ้องมาที่เรา มันบั่นทอนความรู้สึกบ้างไหม แล้วคุณคาดหวังความรู้สึกแบบไหนบนเวที
LazyLoxy: ไม่เลยนะ คือเวลาที่เราเห็นคนมองมาที่เรา เขากำลังดูการแสดงบนเวทีของเราอยู่ เขากำลังดูว่าเราทำอารมณ์แบบไหน จะร้องอะไรออกไป บางทีไม่ได้เล่นอยู่ แต่คำพูดบางคำก็ทำให้คนสนุกขึ้นมาได้ อย่างเพลง Morning เป็นเพลงเศร้าก็จริง แต่พอเอาไปเล่นบนเวทีอารมณ์มันไม่ได้เศร้า มันทำให้ทุกคนมีอารมณ์คิดถึงใครบางคนจนต้องตะโกนออกมาเหมือนเป็นเรื่องราวของตัวเองเลยนะ เราอยากให้เป็นแบบนั้นในทุกๆ เพลง ถึงแม้จะเป็นเพลงเศร้าก็ตาม อยากให้ทุกคนใส่เต็มที่ เราคิดว่าน่าจะสนุก
ภาวิต: แต่จริงๆ คนเชียงใหม่เป็นแบบนั้นนะ การตอบสนองน่าจะเยอะ ก่อนที่โปรเจ็กต์นี้จะเกิดขึ้นได้ เราน็อกไปสองวันเลย เพราะไปตระเวนดูดนตรีด้วยตัวเองเกือบยี่สิบผับ แล้วเห็นว่าเขาตอบสนองกับศิลปิน กับเพลง เยอะมาก เราว่าคนเชียงใหม่ชอบดนตรีมาก
LazyLoxy: เราเพิ่งไปถ่ายงานที่เชียงใหม่มาแล้วแวะไปนั่งดื่ม มีคนเข้ามาถามว่าเดี๋ยวจะมางานเฟสติวัลปลายปีใช่ไหม เขาซื้อบัตรรอแล้วนะ เราก็ อ๋อ ใช่ๆ เดี๋ยวเราจะมา (หัวเราะ)
ล่าสุดตอนนี้เชียงใหญ่เฟสดำเนินการไปถึงไหนแล้ว
ภาวิต: เรากำลังจะเข้าสู่เฟสที่เริ่มโปรโมตอย่างเต็มทั่วเมืองเชียงใหม่ ด้วยความตั้งใจที่อยากจะให้คนรู้สึกว่ามันดีจริงๆ ดีที่สุด ยิ่งใหญ่ที่สุด เราก็ส่งทีมไปอยู่ที่นั่นเลย อะไรไม่ถูกต้องรีบปรับ จัดปลายปี แต่เราทำงานล่วงหน้าหนึ่งปี นี่คือการทำงานเฟสติวัลสไตล์แกรมมี่ และ ZAAP Party เพราะฉะนั้น ก็มีการเตรียมตัวทุกอย่าง แม้กระทั่งลิสต์เพลง ไลน์อัพ เวลา ก็ถูกคิดอย่างดี เพื่อให้คนรู้สึกว่ามันสนุกขึ้นไปเรื่อยๆ
LazyLoxy: มันจะเป็นอะไรใหม่ๆ จากตัวศิลปินด้วย พอถึงช่วงปลายปี เราเองก็จะมีเพลงใหม่เยอะมาก กลายเป็นโชว์ที่ใหม่ขึ้น สนุกขึ้น ตอนที่เราไปนั่งร้านอินดี้ในเชียงใหม่ คนที่เขาบอกว่าจะซื้อบัตร เขาเป็นคนทำงานในร้านอินดี้เลย เราก็ถามว่าพี่จะไปดูวงอะไร มันอาจจะไม่ได้อินดี้เลยนะ เขาบอกว่ามันไม่มีเฟสติวัลใหญ่ขนาดนี้ที่นี่ แล้วก็บอกว่าเขาจะดูทุกวงเลย
ภาวิต: ฟังแล้วดีใจจัง นั่นคือความตั้งใจเลย เหมือนเราเคยชอบพูดเล่นว่าคนทำงานมอเตอร์โชว์เขาทำงานกันหนึ่งปีนะ คนทำเฟสติวัลหนึ่งแบรนด์ก็ต้องทำหนึ่งปี นี่คือหลักคิด เพราะฉะนั้น คุณต้องเตรียมตัวมากๆ แล้วพอจบงาน คุณก็ต้องเริ่มงานของปีหน้า มันจึงจะเกิดเฟสติวัลที่ประสบความสำเร็จ ศิลปินเขาก็ต้องพัฒนาตัวเองไปเรื่อยๆ สร้างตัวเองให้ยิ่งใหญ่ไปเรื่อยๆ ผูกพันกับแฟนคลับให้มากขึ้น คนจัดเฟสติวัลก็ต้องขยับตัวเองเหมือนกัน เหมือนกับที่เราไม่เชื่อว่าเชียงใหม่เป็นจังหวัดปราบเซียน ไม่งั้นก็จะกลายเป็นคิดกันแบบเดิม
คนดูต้องเตรียมตัวยังไงบ้างก่อนไปสนุกกับงานเชียงใหญ่เฟส
ภาวิต: ข้อแรกเลยอย่าช้า คือเราอาจจะประกาศ sold out เมื่อไหร่ก็ได้นะ เพราะการทำเฟสติวัลที่ใหญ่ที่สุดอาจจะไม่ใช่ความคิดว่าเราต้องการเงินมากที่สุด แต่เราอยากให้คนมีประสบการณ์ที่ดีที่สุดต่างหาก ฉะนั้น เมื่อคนเยอะเกิน เราก็อาจจะประกาศ sold out เรารู้ว่าพื้นที่นี้จุคนได้กี่คน เรารู้ว่าบัตรมันกำลังเดินอยู่นะ แล้วเดินดีด้วย รีบตัดสินใจซื้อ อย่าไปคิดกังวลเรื่องอื่น หมดแล้วเราไม่เปิดเพิ่มนะ ข้อสอง เตรียมตัวให้ดี ต้องแข็งแรงหน่อย เพราะการดูสองวัน สองเวที มันหนักเอาการนะ กลับบ้านขาลากแน่ๆ มันเป็นประสบการณ์ที่เราต้องให้คุณเดินไปเดินมา แลกเปลี่ยนวัฒนธรรมกัน ข้อสาม อยากให้มาแลกเปลี่ยนเยอะๆ ศิลปินยุคนี้เก่งมากๆ นะ มีวิธีสื่อสารกับคนหลากรูปแบบ ซึ่งตอนนี้เท่าที่ดูลิสต์ศิลปินและแนวเพลงมันวาไรตี้มากเลย แต่ก็มาจากการที่เราเชื่อว่าทุกวงเป็นวงที่คนอยากฟัง ดังนั้น ต้องสนุกแน่นอน
LazyLoxy: เราอยากให้คนเปิดใจ ไม่ว่าจะเป็นวงแบบไหน ถ้าสนุกก็คือสนุก กลับบ้านไปอาจจะรู้สึกอินกับเพลงที่เราเพิ่งได้ไปฟังมามากขึ้นก็ได้ อย่างเราก็เคยไป Big Mountain สนุกแต่ก็เหนื่อยหน่อย เหนื่อยเพื่อให้ได้ในสิ่งที่เรารู้สึกว่าดี ถ้าไม่ดีเราจะไปทำไม อย่างตอนนั้นเราก็ได้ฟังอะไรใหม่ๆ ด้วย บางเพลง บางวง ก็ไม่รู้จัก แต่พอฟังแล้วสนุกมาก แล้วพอเจอคนเยอะ เราก็ได้เรียนรู้ด้วยว่าการไปเฟสติวัลเป็นอย่างไร ดังนั้น อยากให้มาสนุกด้วยกัน
Chang Music Connection presents เชียงใหญ่เฟส
ซื้อบัตรได้ที่: Counter Service All Ticket ใน 7-Eleven ทุกสาขาทั่วประเทศ, www.allticket.com/event/ChiangYaiFest2019
ราคา: 1,500 บาท (บัตร 1 ใบ เข้างานได้ 2 วัน) พิเศษ บัตร Early Bird เพียง 900 บาท ขาย 3 วันเท่านั้น ตั้งแต่วันที่ 31 สิงหาคม 2562 เวลา 08.00 น. – 2 กันยายน 2562 เวลา 23.45 น. (หรือจนกว่าบัตรจะหมด)
วันแสดง: 23-24 พฤศจิกายน 2562 สถานที่: ลานเนินนุ่ม จ.เชียงใหม่
รายละเอียดเพิ่มเติม: เชียงใหญ่เฟส