ช่อผกา

ช่อผกา วิริยานนท์ | นักสื่อสารมวลชนผู้ทำหน้าที่พูดและต่อสู้แทนต้นไม้ทุกๆ ต้นในกรุงเทพฯ

ภาพการตัดต้นไม้ในเขตเมืองสร้างความรู้สึกไม่สบายใจและความไม่เข้าใจในการกระทำดังกล่าวให้เกิดขึ้นพร้อมๆ กัน และดูเหมือนว่ายิ่งนานวันเข้า มักจะมีภาพเหล่านี้เกิดขึ้นให้เห็นซ้ำๆ ทำไมถึงเป็นเช่นนั้นได้? เข้าใจปัญหาอันซับซ้อนของต้นไม้ในกรุงเทพฯ ผ่านมุมมองของ ‘อุ๊’ – ช่อผกา วิริยานนท์ นักสื่อสารมวลชนคนเก่งที่ได้รับการขนานนามว่าเป็น Tree Lobbyist ของเมืองไทย และหนึ่งในผู้ร่วมก่อตั้ง ‘เครือข่ายต้นไม้ในเมือง : Thailand Urban Tree Network’ เครือข่ายซึ่งรวบรวมกว่า 70 องค์กรที่มีความสนใจเรื่องต้นไม้ เพื่อผลักดันทั้งด้านนโยบายและกิจกรรมอย่างจริงจัง

ช่อผกา

 

จากประสบการณ์ทำงานในเครือข่ายต้นไม้ในเมือง คุณมองว่าสถานการณ์ต้นไม้ในกรุงเทพฯ ตอนนี้มันวิกฤตแค่ไหน

     ถ้าเทียบกับเมืองหลวงอื่นในโลก เราคิดว่าสถานการณ์ต้นไม้ในเมืองไทยน่ากลัวมาก เพราะสภาพทางภูมิศาสตร์ของประเทศไทยอยู่ในเขตร้อนชื้น ซึ่งเป็นโซนที่ต้นไม้ในเมืองเติบโตง่ายมาก เราควรจะมีพื้นที่ที่ต้นไม้เขียวชอุ่ม ภายใต้งบประมาณที่ไม่เยอะ แต่ถ้าเทียบกับประเทศที่สภาพภูมิศาสตร์คล้ายๆ ประเทศไทยอย่างสิงคโปร์และเวียดนาม ต้นไม้ในเมืองเขาดีกว่าเมืองไทยมาก ซึ่งตรงนี้ทำให้เรามองว่าสถานการณ์ต้นไม้ในเมืองของกรุงเทพฯ มันน่ากลัวและน่าสงสาร เพราะเรากำลังทำลายโอกาสของตัวเอง เรามีต้นทุนเป็นสภาพภูมิอากาศของประเทศ มีต้นไม้ พันธุ์พืช ที่มีความหลากหลาย แต่เรากำลังทำลายต้นทุนเหล่านั้นด้วยวิธีคิดอย่างการไม่ให้ความสำคัญกับสิ่งเหล่านี้มากเพียงพอ

 

ทำไมคนส่วนใหญ่ถึงละเลยความสำคัญของพื้นที่สีเขียว

     สองปีที่เราทำเรื่องต้นไม้ในเมือง เราน่าจะได้คำตอบมาประมาณ 50% ว่าสาเหตุของปัญหาเกิดจากวิธีคิดของผู้บริหารที่ดูแลต้นไม้ในเมืองและวิธีคิดของคนเมืองส่วนหนึ่งที่มองว่าต้นไม้เป็นสิ่งกีดขวาง เป็นอุปสรรคที่ขวางกั้นความเจริญทางวัตถุในแบบที่เขาต้องการ จึงไม่ได้มีวิธีคิดในการหาหนทางอยู่ร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพ ทั้งๆ ที่การที่เมืองเจริญด้วย ต้นไม้เขียวด้วย มันเป็นไปได้ และมันกำลังเกิดขึ้นในมหานครทุกแห่งในโลก แต่มันไม่เกิดขึ้นในเมืองไทยเพราะวิธีคิดแบบนี้เป็นต้นเหตุของปัญหา

 

เราจะสามารถแก้ไขวิธีคิดแบบนี้ได้อย่างไรบ้าง

     หลักๆ แล้วเราพยายามขับเคลื่อนเรื่องต้นไม้ในเมืองเชิงนโยบาย ที่มีทั้งไปบังคับ เปลี่ยนแปลง และเชิญชวนในส่วนของหน่วยงานและการกำหนดนโยบาย เราโฟกัสงานตัวเองชัดมาก ว่าเราขับเคลื่อน Policy ด้านต้นไม้ในเมือง เพราะการทำให้มีต้นไม้ในเมืองมากขึ้นมันไม่ใช่แค่เราต้องไปปลูกหรือตัดแต่งกิ่งเท่านั้น แต่เรายังต้องแก้ไขในส่วนของการบริหารจัดการด้วย

 

ช่อผกา

 

นโยบายนี้ครอบคลุมถึงอะไรบ้าง

     ขอพูดให้เข้าใจก่อนว่า พื้นที่ป่าในเมืองและต้นไม้ในเมืองมี 2 ส่วน คือ ส่วนที่เป็นราชการ และส่วนที่เป็นเอกชน เราแยกเอาส่วนที่เป็นราชการออกมาก่อน เพราะถ้าราชการจะทำ เขาสามารถทำได้พรึบเดียวเลย

     ปัจจุบัน ต้นไม้ในส่วนของราชการเขาจะมีหน่วยงานเป็นผู้ดูแล ซึ่งหน่วยงานก็ทำแบบเข้าใจถูกบ้าง ผิดบ้าง ทำให้มีภาพที่เราเห็นว่าว่ามีต้นไม้โดนตัดโค่น ตัดเหี้ยน ตัดยอด ซึ่งมันฟ้องชัดเลยว่าหน่วยงานที่ดูแลเขาเข้าใจผิด และไม่สามารถหาหนทางในการอยู่ร่วมกันได้ กลุ่มเครือข่ายของเราจึงพยายามสื่อสารกับหน่วยงานเหล่านี้ให้เกิดการทบทวนการคัดเลือกชนิดพันธุ์ของต้นไม้ที่เหมาะสมในการปลูกแต่ละจุด อย่างฟุตปาธที่มีขนาดแคบก็ควรใช้ไม้ยืนต้นขนาดเล็ก ทรงพุ่มไม่ใหญ่ และเป็นไม้ที่ไม่เปราะ พูดง่ายๆ คือเอาความรู้ของการเลือกพันธุ์ไม้มาปรับใช้ ทำให้เราได้ต้นไม้ที่โตเร็ว ยั่งยืน ไม่เกิดอันตราย และสามารถใช้ชีวิตร่วมกับวัตถุที่อยู่รอบด้านได้ รากไม่แซะ ไม่ทำให้ฟุตปาธแตก ไม่ไปชอนไชตึกข้างๆ เพราะต้นไม้ในเมืองมันต้องอยู่ร่วมกับตึก อยู่ร่วมกับฟุตปาธ กับถนน กับมอเตอร์ไซค์ กับแม่ค้าส้มตำได้

     จากนั้นก็เพาะพันธุ์กล้าที่แข็งแรง ขณะปลูกก็ต้องใส่ใจ เตรียมหลุม เตรียมดินให้ถูกต้องตามหลักวิชาการ มันไม่ใช่เรื่องยากเลย แต่มันเป็นเรื่องพิถีพิถัน พอมันโตขึ้นมาก็ดูแลตัดแต่งกิ่ง และดูแลระบบราก ไม่ให้สิ่งก่อสร้างไปทำลายราก เพราะถ้าเราไปปูฟุตปาธหรือปูถนนทับจนถึงโคนแล้วรากมันหายใจไม่ได้ สุดท้ายมันก็ล้มลงมาฟาดหัวคน มันเป็นสิ่งที่ไม่ว่าเราจะทำอะไรกับเขา สุดท้ายมันก็จะมีผลย้อนกลับมาที่เราเสมอ ฉะนั้นเรื่องเล็กๆ น้อยๆ ที่เราใส่ใจเขา มันเป็นความสุขที่ย้อนกลับมาสู่คนไทยทั้งชาติ

 

ระบบการบริหารจัดการต้นไม้ในเมืองแบบนี้จะเกิดขึ้นได้อย่างไร

     เมื่อผู้คนเปลี่ยนวิธีคิดเสียใหม่ โดยมองว่าต้นไม้ใหญ่ในเมืองคือสินทรัพย์ของเมือง ซึ่งเป็นทั้งต้นทุนทางอากาศ ทางการท่องเที่ยว ทางความสุข เหมือนประเทศมีทองคำสำรองเงินตรา เหมือนประชาชนมีที่ดินเป็นสินทรัพย์ ซึ่งมีแต่จะงอกเงยในอนาคต ต้นไม้จะเพิ่มมูลค่าให้เมืองทั้งในเชิงเศรษฐกิจ และในเชิงความสุขที่วัดได้ ซึ่งโดยทางอ้อมมันคือการลดความทุกข์และลดผลสะท้อนจากความทุกข์นั้น เช่น อาชญากรรมและยาเสพติด

 

การมีต้นไม้มันไปเชื่อมโยงกับเรื่องทางสังคมได้ขนาดนั้นเลยหรอ

     ใช่ มันเชื่อมหมด เพราะมันคือเพื่อนที่ยืนช่วยเราในเมืองโดยไม่เคยได้รับเงินเดือนเลยแม้แต่บาทเดียว และไม่ว่าเราจะตบตีมัน เอาน้ำร้อนราด เอามีดไปฟันหัว ฟันแขน มันก็ยังจะทำหน้าที่ช่วยเราตลอดโดยไม่เคยปริปากบ่น มันเป็นเพื่อนที่ซื่อสัตย์และมีประโยชน์มาก

     เพราะฉะนั้นถ้าผู้บริหารไม่ได้มองว่าเพื่อนพวกนี้เป็นสินทรัพย์ของเมือง เขาก็จะไม่สนใจ ไม่มีนโยบาย ไม่มีบุคลากร ไม่มีองค์ความรู้ ไม่มีงบประมาณในการดูแล แต่ถ้าเขามองว่ามันเป็นสินทรัพย์ ก็จะต้องจัดสรรคน เอาองค์ความรู้เข้าไปปรับใช้ เพื่อให้ต้นไม้ในเมืองสามารถอยู่ร่วมกับสิ่งปลูกสร้างต่างๆ ในเมืองได้ แล้วองค์ความรู้พวกนี้ก็มีอยู่มากมายในโลกใบนี้ ถ้าบอกว่าจะเอา เครือข่ายเราแค่ดีดนิ้วเป๊าะเดียวก็จะเอามาประเคนให้ได้เลย (หัวเราะ) เพราะเครือข่ายมีคนหลากหลายอาชีพ หลายความเชี่ยวชาญ ทั้งภูมิสถาปัตยกรรม การเกษตร การสื่อสารมวลชน ฝ่ายต่างประเทศ วิศวกร นักอนุรักษ์ และทุกคนเห็นว่ามันมีวิธีหมดแล้ว แต่คนที่มีหน้าที่รับผิดชอบหรือจะสั่งให้มันเกิดขึ้นได้เขาดันไม่เข้าใจ หรืออาจจะมองว่ามันเป็นเรื่องเล็กและไม่สำคัญ

     เราเองเคยไปคุยกับนักการเมืองหลายท่าน เขาก็บอกว่าต้นไม้ในเมืองมันเป็นเรื่องเล็ก เป็นเรื่องที่ไม่สำคัญมากเท่าปัญหาการจราจร หรือการเพิ่ม GDP ประเทศ มันเป็นลำดับความต้องการขั้นสุดท้ายของการพัฒนาเมือง

 

ช่อผกา

 

แล้วในฐานะคนตัวเล็กๆ ทั่วไป เราจะทำให้ผู้บริหารเหล่านั้นเข้าใจได้ไหม

     สเต็ปแรกเราต้องไม่นิ่งดูดาย ทำหน้าที่พลเมืองที่ดี เมื่อเห็นว่ามีการตัดต้นไม้ที่ไม่ถูกต้อง เราก็โพสต์ลงโซเชียลมีเดียก็ได้ เพื่อให้เขาเห็นว่ามันกำลังเกิดอะไรขึ้น แต่ต้องไม่หยุดแค่นั้น เพราะมีหลายคนเลยที่แค่บ่นแล้วเรื่องก็เงียบไป เราต้องทำสเต็ปที่สอง ซึ่งเป็นการรวมพลังเหล่าคนบ่นในกลุ่มโซเชียลฯ ให้เกิดแอ็กชันจริงๆ เพราะถ้าเรายังเดินหน้าด้วยการบ่นต่อไป ก็จะไม่มีอะไรดีขึ้นในบ้านเมืองนี้ มีแต่การเพ่งโทษ ไม่สามารถแก้ปัญหาได้ มองทุกคนในแง่ร้ายหมด ต่อไปเราก็วิเคราะห์ว่าปัญหามีอะไรบ้างและตั้งเป้าหมายในเรื่องที่เราต้องทำ เพราะปัญหาต้นไม้ในกรุงเทพฯ มันเชื่อมโยงกับหลายหน่วยงาน หลายองค์กร หน้าที่ของเราคือต้องดันเรื่องนี้ต่อไปเรื่อยๆ ให้รัฐบาลและให้หน่วยงานเข้าใจ

อย่างหน่วยงาน กทม. จับมือกับการไฟฟ้า เขาก็จะมีปัญหากับต้นไม้สองข้างทางบนฟุตปาธและเสาไฟฟ้า ส่วนการประปา เขาก็มีปัญหากับต้นไม้ริมคลองประปา เพราะใบไม้ที่ร่วงลงไปจะทำให้ใบพัดในคลองทำงานไม่ได้ ส่วนกรมทางหลวง ปัญหาของเขาก็กลัวว่าต้นไม้ข้างทางจะไม่ปลอดภัย เพราะฉะนั้นวิธีที่เราจะแก้ไขก็ต้องสัมพันธ์กันกับปัญหา พยายามเข้าไปเข้าใจสภาพปัญหา เข้าให้ถึงสาเหตุและแนวทางที่จะแก้ปัญหา เพื่อให้เกิดเป็นการพัฒนาและการสร้างเครือข่ายร่วมกัน

 

แสดงว่าความเคลื่อนไหวมันจะเกิดขึ้นได้เมื่อคนขี้บ่นตัวเล็กๆ หลายๆ คนจับมือกัน

     การจับมือร่วมกันจะได้พลังก็ต่อเมื่อเราโฟกัสและรู้ว่าครั้งนี้เราจะเล่นเรื่องอะไร เหมือนการตั้งจุดประสงค์ย่อยลงมา แล้วแบ่งงานกันไปทำ อย่างเรา พอมีเป้าหมายแล้วก็ออกไปเรียกร้องผ่านสื่อต่างๆ เพราะเรามีความสามารถด้านนี้ งานต้นไม้ในเมืองมันทำคนเดียวไม่ได้หรอก การแก้ปัญหาเพื่อความเขียวขจีของเมืองคือเราต้องถอยหลังออกมามองหาปมที่มันซ้อนทับกันมาเป็นสิบๆ ปี แล้วค่อยคลี่มันออกจนไปถึงปมสุดท้าย

     บางทีปมพวกนี้ก็ต้องคลี่ต้องแก้ไปพร้อมกัน ใครถนัดด้านไหนก็แก้ปมนั้น เพราะเราเองก็คงไม่ได้มานั่งปลูกต้นไม้หรือตัดแต่งกิ่งไม้ เราถนัดเรื่อง Policy เราก็ลุยด้านนี้ไปเลย

     อย่างเรื่องต้นไม้กับเสาไฟฟ้า เราก็ไม่รู้หรอกว่า กทม. กับการไฟฟ้าเขาทำงานกันอย่างไร แต่เราเห็นผลลัพธ์สุดท้ายว่าต้นไม้เหี้ยน เรากับกลุ่ม BIG Trees ก็เลยพยายามเข้าไปเจ๋อ จัดอบรมรุกขกร ถึงขั้นพารุกขกรเจ๋งๆ จากสิงคโปร์และออสเตรเลียมาสอนในประเทศไทย และตั้งหลักสูตรอบรมทั้ง 50 เขตใน กทม. เรียนกันหมดแล้วทุกเขต… ปรากฏกว่า ตัดผิดเหมือนเดิมทุกเขต!

 

ทำไมเป็นแบบนั้นไปได้

     เพราะมันไม่ใช่แค่ตัดผิดตัดถูก แต่มันมีงานต่อเนื่อง เขาเคยตัดกันแบบจ้างเพื่อนบ้านอาเซียน ให้ขวานหนึ่งอัน แล้วก็พาเขาลงไปที่ถนน เพื่อนบ้านอาเซียนทำงานเร็วมาก แค่วันเดียวตัดเสร็จทั้งถนนเลย การตัดแบบนี้มันใช้คนน้อยและใช้ค่าจ้างต่ำ แต่การตัดต้นไม้ให้ถูกต้องตามหลักรุกขกรจริงๆ ต้องใช้คนเยอะ ใช้ทุนสูง ใช้เวลานานมากขึ้น แล้วบางทีก็ต้องมีอุปกรณ์มากขึ้น ต้องมีการจัดซื้อจัดจ้างอุปกรณ์ ซึ่งก็ไปเปลืองงบประมาณเขา มันก็กลับไปเรื่องที่เขาไม่ให้ความสำคัญอีกนั่นแหละ

     ที่มันฟังดูยากอาจจะเป็นเพราะว่าปัญหาต้นไม้ในเมืองมันไม่ใช่เรื่องคอขาดบาดตาย มันให้ความสุขกับเราโดยที่เรามองไม่เห็น และมันก็ให้นรกกับเราโดยที่มองไม่เห็นเช่นกัน เราตัดมันทุกวัน ไม่เห็นความเปลี่ยนแปลงอะไรเลย แต่พอ 2 ปีผ่านไป ทำไมอุณหภูมิกรุงเทพฯ มันสูงขึ้นวะ ทำไมสงกรานต์เราไม่มีปีไหนเลยที่อุณหภูมิต่ำกว่า 40 องศา อย่าไปคิดว่าติดแอร์แล้วจบ เราต้องคิดถึงคนอื่นที่เขาไม่มีแอร์ใช้ด้วยสิว่ามันทรมานแค่ไหน หรือเราจะใช้ชีวิตอยู่ในห้องแอร์ตลอดเวลาหรอ ก็ไม่ เราต้องออกมานอกบ้านบ้าง พ่อแม่เราก็อยากใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติ เขาไม่ได้มีความสุขกับการอยู่ห้องแอร์ เพราะฉะนั้น ต้นไม้มันให้ความสุขที่ซับซ้อนกว่านั้น แต่ปัญหาของมันก็ลึกลับซับซ้อนเช่นกัน

ต้นไม้ผลิตออกซิเจนให้เราหายใจ มันให้ประโยชน์กับเราทุกขณะ แต่เราก็ไม่เคยเห็นคุณค่ามันเลย

     เพราะมันอยู่กับเราทุกขณะนั่นแหละ จะมีสักกี่คนที่มองเห็นต้นไม้ พิจารณาต้นไม้ที่อยู่ข้างๆ บ้านหรืออยู่รั้วฝั่งตรงข้ามบ้าน คุณเคยคิดบ้างไหมว่าไอ้สีเขียวๆ ที่เห็นจากหน้าต่างบ้านตัวเองมันคือต้นอะไร สภาพของต้นมันเป็นยังไง มันอยู่สุขสบายดีไหม มีใครมาตัดแขนตัดขาหรือเปล่า เคยสบตาหรือดูความเป็นอยู่สุขทุกข์ของเขาไหม ไม่หรอก (เสียงสูง) เขาเป็นเพื่อนเรา แต่เราไม่เคยดูแลเพื่อนเลย

 

ช่อผกา

 

เราจะทำให้คนทั่วไปตระหนักถึงเพื่อนคนนี้ได้ยังไงบ้าง

     ต้นไม้ในเมืองคือระบบนิเวศของสิ่งมีชีวิตที่อยู่ร่วมกับสิ่งปลูกสร้าง เราเรียนระบบนิเวศในป่า เรารู้ว่าไส้เดือน กิ้งกือ เกี่ยวอะไรกับช้าง แต่เราไม่รู้เลยว่า รากไม้เกี่ยวอะไรกับมอเตอร์ไซค์ เพราะฉะนั้นระบบนิเวศต้นไม้ในเมืองจึงเป็นองค์ความรู้ใหม่ที่คนเมืองไม่รู้ เราเลยต้องทำให้เขารู้ ไปพร้อมๆ กับการผลักดันนโยบาย และเปรียบเทียบความสำเร็จกับประเทศอื่นที่เขาทำได้

 

สุดท้ายแล้วกรุงเทพฯ จะเป็นเมืองสีเขียวได้ไหม และต้องใช้เวลานานแค่ไหน

     จริงๆ กรุงเทพฯ เป็นเมืองสีเขียวนะ แต่เป็นเขียวจากหญ้า จากวัชพืช เป็นสีเขียวที่ไม่ยั่งยืน เราจึงคิดว่า ประเทศไทยควรเปลี่ยนความเขียวที่เกิดความโชคดีที่ได้อยู่ในเขตร้อนมาเป็นความเขียวแบบยั่งยืนจากต้นไม้ใหญ่จริงๆ เพราะอย่างประเทศที่มีหน้าหนาว เขาจะโหยหาความเขียวและดูแลต้นไม้เขาเป็นอย่างดี แต่ประเทศเราเขียวทั้งปีจนเราไม่รู้คุณค่าของมัน และความไม่รู้นี่แหละที่ทำลายคุณค่าของมันเอง ถ้าถามว่านานแค่ไหน ก็อาจจะต้องใช้เวลาหลายสิบปีกว่าจะเป็นแบบนั้นได้ หรืออาจนานกว่านั้น ถ้าเรายังไม่รู้คุณค่าของมันดีพอ

 


ติดตามความเคลื่อนไหวและกิจกรรมได้ที่ เฟซบุ๊ก เครือข่ายต้นไม้ในเมือง :: Thailand Urban Tree Network