ณัฐพล เสียงสุคนธ์ หรือที่ใครรู้จักกันดีในชื่อ DJ Maft Sai เป็นหนึ่งในหัวหอกคนดนตรีสำคัญที่ปลุกซีนดนตรีพื้นบ้านของประเทศไทย โดยเฉพาะเพลงหมอลำให้เกิดขึ้นในประเทศไทยอีกครั้ง ไม่ว่าจะเป็นการเปิดค่ายเพลงสุดแรงม้า (ZudRangMa Records) ทำแผ่น compilation ชุบชีวิตเพลงไทยเก่านำกลับมาให้คนได้ฟังกันอีกครั้ง หรือแม้แต่การเริ่มต้นทำ Paradise Party ที่กระจายวัฒนธรรมเพลงพื้นบ้านให้เป็นที่รู้จักแก่คนฟังทั้งไทยและต่างประเทศ ไปจนถึงการเกิดขึ้นของ The Paradise Bangkok Molam International Band ที่เขานิยามให้เราฟังว่าเป็นหมอลำแห่งศตวรรษที่ 21 ซึ่งเดินทางไปพิสูจน์ฝีมือทางดนตรีในเทศกาลดนตรีใหญ่ๆ มาแล้วกว่า 100 โชว์ทั่วโลก
แต่ระหว่างเส้นทางที่เขาได้เดินมานั้นไม่ได้มีท่วงทำนองที่เรียบง่ายอย่างเดียว เพราะตั้งแต่จุดเริ่มต้น เขาต้องเจอกับคำดูถูกในช่วงเวลาที่เพลงหมอลำถูกเปรียบเหมือน ‘ขยะ’ การถูกทวงถามว่าเป็นหมอลำ ‘แท้ไม่แท้’ ในวัฒนธรรมแช่แข็ง เขาผ่านเรื่องจริงอะไรมาบ้าง เราชวนคุณไปฟังจากปากเขากัน
“
สมัยก่อนคนยังไม่ได้บ้าคลั่งเพลงไทยเก่าขนาดนั้น อาจจะมีคนมีอายุหน่อยเก็บแผ่นแนวลูกกรุงหรือว่าลูกทุ่ง แต่ว่าหมอลำนี่ถูกมองเป็นขยะเลย ซื้อ 10 แผ่นแถมอีก 10 แผ่น เหมือนเทกระจาด
”
ถามถึงความทรงจำเกี่ยวกับ Converse ก่อน คุณมีความประทับใจอย่างไรบ้าง
Converse เป็นรองเท้าที่ผมใส่มานานแล้ว และซื้อใส่อยู่เรื่อยๆ ใส่จนขาดก็มีหลายคู่ ซึ่งคู่แรกของผมคือ Chuck Taylor All Star สีขาวธรรมดาๆ นี่แหละ ใส่ปาร์ตี้จนพื้นสึกเน่าไปเลย (หัวเราะ) แต่มีคู่หนึ่งที่เราจำได้แม่น คือคู่ที่ใส่ไปงาน Glastonbury ออกจากงานมานี่เน่าเลย โคลนอยู่ใต้พื้นรองเท้าเพียบ ซักออกมาแล้วจากรองเท้าขาวๆ ก็ยังเป็นสีครีม สำหรับผู้ชายเราว่า Converse เป็นรองเท้าที่ใส่ง่ายและคลาสสิกที่สุด ใส่กับกางเกงยีนส์คือจบ ตอนไปทัวร์ 3-4 ปีแรกผมใส่แต่ Converse เพราะว่ามันลุย ไม่ต้องกลัวสกปรก
พูดถึงคอนเซ็ปต์ All the Stories Are True รู้สึกอย่างไรที่ Converse ชวนทุกคนมาสนใจเรื่องจริงที่เกิดขึ้นในชีวิตของคนแบบนี้
เป็นเรื่องที่ดีมาก ทำให้เห็นเรื่องราวของแต่ละคนที่กว่าจะทำอะไรออกมาได้อาจจะไม่ได้ง่าย การที่ Converse หันมาสนใจเรื่องพวกนี้ผมว่าดีมากๆ เพราะเป็นแบรนด์ของวัยรุ่นอยู่แล้ว น่าจะทำให้วัยรุ่นได้รับแรงบันดาลใจใหม่ๆ คือผมคิดว่าความจริงของสิ่งใกล้ๆ ตัวมีคุณค่าเยอะมาก อย่างผมทำเพลง เวลาเดินทางไปไหนมาไหนก็จะพยายามหาร้านแผ่นเสียง มองหาของพื้นบ้านที่อาจจะอยู่ใกล้ๆ ตัวของแต่ละคน คือทุกอย่างถ้าเราเปิดใจ ไม่ยึดติดว่าจะต้องเป็นแบบนั้นแบบนี้ เราอาจจะเจอสิ่งที่ให้แรงบันดาลใจกับชีวิตได้ เอามาใช้กับงานของเราได้ แล้วเลิกที่จะยึดติดว่าอะไรห้ามแตะ แน่นอนมันมีสิ่งที่ไม่ควรแตะ แต่ว่าถ้าคิดจะแตะจริงๆ ก็ต้องศึกษามันก่อน ศึกษาให้รู้ถ่องแท้ ถ้าเรารู้จริง คนที่อยู่ในซีนนั้นก็จะว่าเราไม่ได้ เพราะเราไม่ได้ทำด้วยความไม่เคารพ เมื่อเรารู้ถ่องแท้ก็จะรู้ว่าอะไรสมควรไม่สมควร
ถามถึงจุดเริ่มต้นของคุณบ้าง ความชอบเรื่องดนตรีเริ่มเข้ามาอยู่ในชีวิตคุณได้อย่างไร
ก่อนหน้านี้ผมอยู่ประเทศอังกฤษ กลุ่มเพื่อนที่อยู่ด้วยกัน เรียนมาด้วยกัน แต่ละคนก็จะเป็นดีเจ เป็นนักสะสมแผ่นเสียงคนละแนว เพื่อนคนหนึ่งอินฮิปฮอป บางคนอินเฮาส์มิวสิก เดินไปห้องไหนก็จะได้ยินเสียงเพลงตลอดเวลา อารมณ์เหมือนอยู่คลับ พออยู่กับเพลงตลอดเวลาความชอบเรื่องเพลงก็เริ่มเข้ามา
แล้วโชคดีอีกอย่างคือที่อังกฤษร้านแผ่นเสียงเยอะมาก พอไปในเมืองหรือที่ไหนก็จะมีร้านแผ่นเสียงให้เข้าไปดู ซึ่งสมัยนั้นเพลงหลายๆ เพลงจะยังไม่ได้อยู่ในระบบไฟล์ดิจิตอล ซีดีก็มีอยู่เพียงจำนวนหนึ่งแต่ไม่ได้มีทั้งหมด เพราะฉะนั้น ถ้าอยากจะฟังเวอร์ชันรีมิกซ์ของศิลปินสักคนหนึ่งก็ต้องซื้อแผ่นเสียง จุดนั้นทำให้ผมซื้อแผ่นเสียงมาเรื่อยๆ
ฟังดูเหมือนตอนนั้นเป็นแค่งานอดิเรก แล้วอาชีพดีเจเกิดขึ้นตอนไหน
ตอนแรกผมก็ไม่ได้มีเครื่องเทิร์นเทเบิลนะ ก็ไปอาศัยยืมห้องเพื่อนคนนั้นคนนี้ฟัง จนสุดท้ายก็คิดว่าซื้อเป็นของตัวเองดีกว่า ส่วนจุดเริ่มต้นของการเป็นดีเจ เกิดจากการที่มีเพื่อนผมคนหนึ่งเปิดเพลงอยู่ในผับที่เวสต์ลอนดอน แล้วผมมักจะเจอเขาที่ร้านแผ่นเสียงในทุกวันหยุด ไม่ได้สนิทกันมาก่อนแต่รู้ว่าเป็นเพื่อนของเพื่อน จนวันหนึ่งได้มีโอกาสนั่งพูดคุย แลกกันเปิดกระเป๋าโชว์ว่าซื้ออะไรมาบ้าง เฮ้ย ซื้อแผ่นแนวเดียวกันเลย รสนิยมดีนี่หว่า (หัวเราะ) คุยไปคุยมาเขาเลยชวนไปเปิดเพลงด้วยกัน พอเปิดที่นี่ปุ๊บก็มีคนมาฟังแล้วเขาสนใจ ก็เลยได้ไปเปิดอีกที่หนึ่ง มันเหมือนพอเราอยู่ในซีนของคนที่เปิดเพลง ชอบสะสมแผ่นเสียง ทำให้ค่อยๆ ต่อยอด ได้รู้จักคนมากขึ้น ได้เก็บประสบการณ์ไปเรื่อยๆ
ตอนนั้นคุณกำลังสนใจแนวเพลงอะไรอยู่
ตอนนั้นขึ้นอยู่กับว่าบ้านอยู่ใกล้แถวไหนผมก็จะเก็บเพลงแนวนั้น มีอยู่ช่วงหนึ่งย้ายไปอยู่บริกซ์ตัน มีเพลงแนวเร็กเก้เยอะ ผมก็เก็บแนวเร็กเก้มา เก็บมาหลายแนว มีตั้งแต่ฮิปฮอป ดีปเฮาส์ เทคโนฯ โซลฟังก์ ดิสโก้ แจ๊ซ ไปจนถึงแอฟริกันมิวสิกที่เคยได้ยินแซมเปิลในเพลงฮิปฮอปมาก่อน หรือมีรีมิกซ์ในเพลงเทคโนฯ พอเริ่มรู้จักศิลปินคนหนึ่ง เริ่มคุยกับเพื่อน เขาก็แนะนำให้รู้จักคนนั้นคนนี้ต่อไปเรื่อยๆ ได้ไปฟังเพลงจากไนจีเรีย เพลงจากมาลี เพลงจากโมร็อกโก กานา เซเนกัล
ทำไมความสนใจดนตรีของคุณถึงหลากหลายได้ขนาดนั้น
อาจเพราะว่าผมไม่ได้มาจากครอบครัวที่ชอบฟังเพลง เพลงสำหรับผมจึงเป็นเรื่องใหม่ ทุกอย่างพอเป็นเรื่องใหม่ทำให้ผมพร้อมที่จะรับฟังทุกแนว ไม่ได้ยึดติดว่าโตมากับสายร็อกก็จะฟังแต่เพลงร็อก หรือโตมากับสายอิเล็กทรอนิกก็จะฟังแต่อิเล็กทรอนิก ผมชอบบางเพลงของอิเล็กทรอนิก ชอบบางเพลงของฮิปฮอป การฟังเพลงสำหรับผมมันเป็นเรื่องส่วนตัว บางทีผมไม่รู้ว่าชอบเพราะอะไร แต่มันทำให้ผมเจอแนวเพลงใหม่ๆ ตลอดเวลา
แล้วจากแนวเพลงพวกนั้น เริ่มมาสนใจเพลงไทยเก่าๆ ได้อย่างไร
ปี 2007 ผมกลับมาเมืองไทย ก็ขนแผ่นเสียงจากที่นู่นมาด้วย ตอนนั้นใส่คอนเทเนอร์มาหนักประมาณ 2 ตัน แล้วด้วยนิสัยที่ชอบซื้อแผ่นเสียงก็เริ่มไปร้านแผ่นเสียงในไทย ไปแถวสะพานเหล็ก เจอร้านอย่างบรอดเวย์ เสียงสยาม ตั้งเสียงไทย ทั้งหมดอยู่บนถนนเส้นเดียวกันเลยนะ เป็นร้านที่เขาเปิดมาตั้งแต่เมื่อ 40 ปีที่แล้ว ตอนนี้หลายๆ ร้านก็ยังเหมือนเดิม แต่หลายร้านก็ปิดไป
สมัยก่อนคนยังไม่ได้บ้าคลั่งเพลงไทยเก่าขนาดนั้น อาจจะมีคนมีอายุหน่อยเก็บแผ่นแนวลูกกรุงหรือว่าลูกทุ่ง แต่ว่าหมอลำนี่ถูกมองเป็นขยะเลย ซื้อ 10 แผ่นแถมอีก 10 แผ่น เหมือนเทกระจาด แผ่น 7 นิ้วขายกันแผ่นละ 5 บาท 10 บาท คนไม่ได้ค่อยแคร์กันเท่าไหร่
ซึ่งเพลงไทยที่ผมเคยฟังแรกๆ จะเป็นเพลงทั่วไปจากทีวี วิทยุ สมมติถ้าฟังเพลง ผู้ใหญ่ลี ก็จะเจอเวอร์ชันยุค 80-90s แต่ไม่ใช่เวอร์ชันต้นฉบับ แต่พอมาค้นแผ่นเสียงเจอเพลง ผู้ใหญ่ลี เป็น 10 เวอร์ชันเลย เจอ ผู้ใหญ่ลีอะโกโก้ ผู้ใหญ่ลีซานตาน่า คือมีเยอะมาก แล้วพอเก็บเพลงพวกนี้ไปมากๆ ก็รู้สึกว่าเพลงลูกทุ่งทำให้นึกถึงแนวเพลงเอธิโอเปีย เพลงหมอลำก็ทำให้นึกถึงเพลงจากมาลี โอเคอาจจะไม่เหมือนกันร้อยเปอร์เซ็นต์ หรือมีวัฒนธรรมร่วมกัน แต่มันมีซาวนด์บางอย่างที่ทำให้นึกถึงแนวที่ผมชอบฟังมาก่อน
คุณเห็นอะไรในเพลงหมอลำ ที่ตอนนั้นคนยังมองว่าเป็นซาวนด์ขยะ
ผมรู้สึกว่ามันน่าสนใจ ช่วงนั้นพอเจอหมอลำ อย่างที่บอกว่ามันมีโครงสร้างบางอย่างที่เหมือนเพลงที่ผมชอบ พอค้นไปค้นมามีอะไรบางอย่างเยอะกว่าที่รู้อีก บางอันคล้ายคลึงกับเพลงที่เคยฟัง แต่บางอันก็ไม่ได้คล้ายเลย แต่ว่ามีความเป็นออริจินัลสูงมาก แค่นี้ก็รู้สึกว่าน่าสนใจแล้ว ก็เก็บมาเรื่อยๆ เริ่มเปิดให้เพื่อนฟังบ้าง ไม่ได้คิดว่าจะทำโปรเจ็กต์อะไรจากตรงนี้ พอทำไปสักพักก็คิดว่าเป็นไปไม่ได้น่า จะมีแค่เราที่ชอบเหรอวะเพลงแบบนี้ คนไทยมีเป็นล้านๆ คน แล้วก็ไม่อยากพูดว่าเราอินแต่ทำไมไม่มีคนอินเลย เฮ้ย มันต้องมีสิแต่แค่เรายังไม่ได้เจอกลุ่มก้อนคนที่เขาอินด้วย
จนไปเจอ คริส เมนิสต์ (Chris Menist) ที่ร้านแผ่นเสียง เหมือนเดิมเลย คุยไปคุยมาถูกคอกัน ซึ่งเป็นเพื่อนที่เริ่มโปรเจ็กต์ด้วยกันมา ก็คุยว่าน่าจะเอาเพลงพวกนี้ไปเปิดข้างนอกบ้างนะ แทนที่จะมานั่งเปิดฟัง 3-4 คนที่บ้านแล้วคุยกันว่าเจ๋งอย่างนั้นอย่างนี้
ผมเลยเริ่มทำค่ายเพลงสุดแรงม้า (ZudRangMa Records) ทำแผ่น compilation รวมเพลง ตอนนั้นคนยังแอนตี้แนวพวกนี้อยู่ เลยคิดว่าถ้าทำเพลงลูกทุ่งหมอลำเลยอาจจะเข้าถึงยาก ก็เลยทำโปรเจ็กต์ไทยฟังก์ นำเพลงไทยเก่าที่เอาทำนองเพลงฝรั่งมาทำแต่แปลงเนื้อไทยมารวมแผ่นก่อนเพื่อให้คนเริ่มเข้าถึง ตอนนั้นก็ลองขายในเมืองไทย แต่ขายไม่ได้ แทบจะแจกฟรี ขายอยู่หนึ่งปีได้ 10 แผ่น แต่พอส่งไปขายต่างประเทศเดือนหนึ่งขายได้เป็น 100 แผ่น อาจเป็นเพราะว่าเรามักจะมองไม่เห็นค่าของบางอย่างที่อยู่ใกล้ตัวเกินไป
แต่ตอนนั้นในต่างประเทศ คนที่สะสมแนวเพลงลึก เช่น แนวฟังก์ คนเริ่มรู้สึกว่ารู้จักศิลปินฟังก์หมดแล้ว จนมีคนเริ่มไปขุดศิลปินจากทวีปแปลกๆ จากประเทศที่เขาไม่เคยได้ยินอย่างแอฟริกา เอเชีย โดยเฉพาะดีเจ ที่จะรู้สึกว่าเปิดเพลงที่คนรู้จักมันก็งั้นๆ แต่ถ้าเปิดเพลงที่คนไม่รู้จัก มีคนถามว่าเพลงอะไรวะ จะยิ่งสะใจ (หัวเราะ) เหมือนอีโก้ของดีเจเป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้แนวเพลงพวกนี้ได้รับความนิยมขึ้นมา
แล้ว The Paradise Bangkok Molam International Band เกิดขึ้นอย่างไร
ตอนที่เริ่มโปรเจ็กต์ ผมไม่ได้มองเรื่องการค้าขายมาก่อน แต่มองว่าจะทำอย่างไรให้รอดมากกว่า ตอนมิกซ์อัลบั้ม ไทยฟังก์ ขึ้นมา คิดแค่ว่าขายยังไงให้คุ้มทุนที่ลงไปก็พอแล้ว เหลือจากนั้นเราก็แจกหมด มันเหมือนการทำให้คนรู้จักมากกว่า เพราะเพลงที่เราทำเป็นสิ่งใหม่มากของคนฟังยุคนี้ เราจะมาหาเงินจากสิ่งนี้เลยมันไม่เมกเซนส์ พอคนเริ่มอินกับ ไทยฟังก์ ผมก็ออก compilation ชื่อว่า ลูกทุ่ง ออกมา หลังจากนั้นก็เริ่มเข้าหาหมอลำเพื่อให้คนเริ่มรู้จักแนวเพลงนี้มากขึ้น แต่กว่าจะมาเป็นวง The Paradise Bangkok Molam International Band ไม่ใช่ว่าทำปีนี้แล้วปีหน้าทัวร์ได้เลย แต่มันเกิดจากการสะสมเพาะบ่มมา
ผมทำค่ายสุดแรงม้าตอนปี 2007-2008 ทำ Paradise party เพลงเก่าๆ ให้คนรู้จัก แล้วจากนั้นมาเริ่ม Paradise party ที่เป็นงานดีเจ เปิดเพลงให้คนเต้นกัน สิ่งที่ผมทำเหมือนเป็นการไปสร้างซีนของเพลงเก่าและเพลงหมอลำในหลายๆ ประเทศ จนคนเริ่มรู้จักมากขึ้น การรีวิวเริ่มเยอะขึ้น คนก็เริ่มถามว่าใครเป็นคนทำ compilation เขาก็รู้ว่าเป็นกลุ่มของเรา
พอทำปาร์ตี้ไปสักพักหนึ่ง ส่วนตัวเริ่มอยากฟังศิลปินสด ก็ไปชวนนักดนตรีหมอลำรุ่นเก่าๆ อย่าง ดาว บ้านดอน, ศักดิ์สยาม เพชรชมภู มาเล่นคอนเสิร์ต เป้าหมายแรกของการรวมสมาชิกวง The Paradise Bangkok Molam International Band เกิดจากการที่เราจะได้ไม่ต้องหาวงดนตรีแบ็กอัพทุกครั้ง แต่เรามีวงที่พร้อมเข้ามาเล่นกับศิลปินที่ชวนมาได้ตลอด แต่พอวันแรกที่ซ้อมด้วยกันผมรู้สึกว่าสิ่งที่วงส่งออกมาเป็นได้มากกว่าวงแบ็กอัพนะ สามารถเป็นวงของตัวเองได้ และถ้าเราจะชวนศิลปินมาก็แค่ให้เขาเป็นแขกรับเชิญให้กับวงดีกว่า
ตอนนั้นวางเป้าหมายของวงไว้อย่างไร
ก็มานั่งคิดกันว่าอยากได้ซาวนด์หมอลำยังไง เรามีซาวนด์ในหัว อยากเอาส่วนประกอบของเพลงหมอลำที่ชอบมายำรวมกัน ก็เริ่มทำดนตรีกันใหม่ คือผมเป็นคนอินกับออริจินัลซาวนด์มาก แต่ว่าทำให้ตายยังไงก็ไม่มีทางทำซาวนด์ได้เหมือนยุค 60-70s หรอก เรื่องของวิธีการเล่น เรื่องของอุปกรณ์ เรื่องของการอัดเสียง ทำให้ตายขนาดไหนก็ไม่ได้อารมณ์ในยุคนั้น
แล้วผมก็รู้สึกว่าตัวเองเป็นคนยุคนี้ ถ้าจะเลียนแบบให้เหมือนทุกอย่างก็รู้สึกไม่เป็นธรรมชาติ ถึงทำก็ไม่รู้ว่าจะฝืนได้นานแค่ไหน งานที่พวกเราทำขึ้นมาเลยไม่ได้ต้องการให้เหมือนของเก่า ผมอยากได้สำเนียงใหม่ ออริจินัลเป็นเพียงแรงบันดาลใจ และที่สำคัญไม่อยากให้คนที่มาฟังเพลงของเรามีแต่ผู้ใหญ่มาตบมือย้อนคิดถึงอดีต ผมคิดว่าจะทำอย่างไรให้ของแบบนี้เข้าไปอยู่ในชีวิตคนได้ ให้เขามาเต้นกับมันได้ ไม่ใช่ว่าเอาไปแอบเต้นอยู่ที่บ้านเพราะอายคน ต้องทำให้คนสนุกกับเพลงพวกนี้ได้ เพราะว่าถ้าคนสนุกกับเพลงพวกนี้ได้ เพลงก็จะกลับมามีคุณค่าอีกครั้งหนึ่ง
อัลบั้มแรกเราเลยตั้งชื่อว่า 21st Century Molam คือการทำซาวนด์ใหม่ขึ้นมาโดยที่ยังมีกลิ่นของเดิมอยู่ แต่มันก็มีคนตั้งคำถาม เพราะว่าคำว่า หมอ ในหมอลำ หมายถึงผู้เชี่ยวชาญอะไรสักอย่าง คนเก่งด้านพิณก็เรียกหมอพิณ แล้วคำว่า ลำ แปลว่าร้อง รวมกันเป็นผู้เชี่ยวชาญด้านการร้อง พอวงเราเป็นวงบรรเลง คนก็ยิ่งบอกว่าเราไม่ใช่หมอลำ ผมก็เลยบอกว่าตรรกะของหมอลำพื้นบ้านจะเป็นอย่างไรก็แล้วแต่ แต่ว่าเราเอาดนตรีหมอลำมาเป็นแรงบันดาลใจส่วนตัว ก็เลยเป็นเพลงหมอลำในศตวรรษที่ 21 เพราะฉะนั้น เมนหลักมันคือความสนุก คือการสังสรรค์ พอเอาไปเล่นต่างประเทศ คนฟังก็สามารถสัมผัสถึงความสนุกสนานและเริ่มเต้นกับเพลงของเรา มันเลยเข้ากับความเป็นเฟสติวัลได้
แสดงว่าคุณเคยโดนดูถูกจากสิ่งนี้เหมือนกัน
มี เคยมีคนมาพูดกับผมว่า เคยอยู่ต่างประเทศแท้ๆ รสนิยมน่าจะดี ทำไมมาอินกับเพลงแบบนี้ มาชอบแผ่นพวกนี้ ผมเคยเปิดแผ่นในปาร์ตี้ครั้งหนึ่งแล้วมีคนตะโกนว่ากลับบ้านนอกไป ผมก็รู้สึกว่า เฮ้ย จะกลับบ้านนอกยังไงก็กูเกิดกรุงเทพฯ (หัวเราะ) คือมันมีตรรกะของคนที่ชอบด่าไว้ก่อนเพื่อเป็นเกราะให้ตัวเองรู้สึกว่ากูเป็นคนกรุงเทพฯ นะเว้ย กูมีรสนิยมนะเว้ย ซึ่งสำหรับผมเรื่องที่มาของแนวเพลงมันไม่เกี่ยวกับตัวเนื้อเพลง
บางคนบอกว่าวงนี้ไม่ใช่หมอลำ ซาวนด์ไม่ใช่พื้นบ้าน ทำนองก็ผิด มาเรียกตัวเองว่าหมอลำได้ยังไง จังหวะมันต้องเป็นสามช่าถึงจะเป็นพื้นบ้านไทย
แต่สำหรับผมมันไม่มีอะไรหรอกที่เป็นไทยร้อยเปอร์เซ็นต์ ผมไม่อยากพูดเรื่องนี้ด้วยซ้ำ เพราะสำหรับผมการจะต่อยอดวัฒนธรรมต้องทำให้คนได้ใช้ ไม่งั้นก็จะกลายเป็นวัฒนธรรมแช่แข็ง ถ้าเกิดมีแต่ผู้เฒ่าผู้แก่เข้าใจ แต่ไม่ได้ให้พื้นฐานเด็กรุ่นใหม่ๆ ไม่ได้มีอะไรเกี่ยวข้องกับเขาเลย ใครเขาจะมาอยากฟัง กลับกลายเป็นว่าวัฒนธรรมจะอยู่รอดก็ต่อเมื่อมีกระทรวงเก็บเอาไว้ที่นู่นที่นี่ ตราบใดที่เรายังไม่นำสิ่งเหล่านี้เข้ามาอยู่ในชีวิตประจำวัน มันก็จะเป็นแค่ของที่เก็บเอาไว้
แล้วคิดว่าสิ่งที่คุณทำอยู่คือการรักษาวัฒนธรรมหรือเปล่า
พูดไปก็แอบเป็นเหตุผลที่ค่อนข้างเห็นแก่ตัว เพราะผมไม่ได้ทำโดยคิดว่าเป็นการอนุรักษ์วัฒนธรรมขนาดนั้น แต่ก็ไม่ใช่ว่าเราไม่รักษา แต่เป้าหมายคือถ้าไม่อินผมก็คงไม่ทำมัน แต่บังเอิญสิ่งที่ผมอินและทำมันไปซัพพอร์ตกับวัฒนธรรมด้วย ผมมองว่ารสนิยมของแต่ละคนไม่เหมือนกัน บางคนเขาก็คงไม่ชอบที่จะมาเจอเพลงแปลกๆ ที่เขาไม่รู้จักและไม่อิน แต่เขาอาจจะอินกับการฟังเพลงเก่าที่เคยฟังเมื่อสมัยเด็ก ตรงนั้นก็ไม่ผิดไง มันเป็นการฟังคนละแบบกันเท่านั้นเอง
สิ่งที่พวกคุณทำ สร้าง impact ในวงกว้างเยอะเลยนะ
ผมเคยคุยกับพี่คำเม้า (คำเม้า เปิดถนน) เขาเป็นอาจารย์สอนพิณที่มหิดลด้วย เขาบอกว่าเมื่อก่อนมีคนเรียนดนตรีพื้นบ้านน้อยมาก บางปีมีคนเรียนกับเขาไม่ถึง 10 คน บางคนเรียนอยู่แต่แม่บอกว่าให้ออกไปเรียนเครื่องดนตรีฝรั่งดีกว่า เพราะว่าเครื่องดนตรีพื้นบ้านจะหากินยังไง จะเลี้ยงตัวเองยังไง แต่ทุกวันนี้พี่คำเม้าไปอีสาน เขาบอกว่าตั้งแต่เราทำวงมาและอาจจะอีกหลายๆ องค์ประกอบด้วยนะ มีวัยรุ่นอีสานเริ่มมาแตะเครื่องดนตรีพื้นบ้านมากขึ้นกว่าเดิม สิ่งที่เราทำเหมือนเป็นการทำให้เขาเห็นว่าดนตรีพื้นบ้านมีทางต่อยอดนะ ไม่ใช่ว่าคุณต้องไปเปิดหมวกเล่นดนตรีตรงทางขึ้นสถานีรถไฟฟ้าอย่างเดียว คุณสามารถไปเล่นคอนเสิร์ตได้ คุณสามารถทำเพลงใหม่ๆ ได้ถ้าคุณมีจินตนาการ สิ่งที่เราทำมันพิสูจน์ว่าเครื่องดนตรีพวกนี้สามารถอยู่รอดได้ ถ้าถูกเอาไปใช้ในบางอย่าง
แล้วมีโชว์ไหนที่ประทับใจบ้าง
ปีแรกเราไปมาประมาณ 8 เฟสติวัล ซึ่งงานที่ใหญ่ที่สุดคือเฟสติวัลที่โปแลนด์ ซึ่งเป็นงานที่เข้ามาท้ายสุด และโซแลง น้องสาวของบียอนเซ่ เขาแคนเซิลโชว์เพราะไม่สบาย คนจัดงานเลยเอา The Paradise Bangkok Molam International Band ขึ้นแทนเวทีใหญ่ช่วงเวลาไพรม์ไทม์ การที่มีผู้ชายไทย 5-6 คนยืนบนเวทีแทนน้องสาวบียอนเซ่ก็ดูไม่ค่อยสุนทรีย์ตาเท่าไหร่ (หัวเราะ) แล้วมันเป็นเฟสติวัลร็อก ก่อนหน้าวงเราขึ้นเป็นวงร็อก คนตัวใหญ่ๆ หัวโล้นมาตะโกน แล้วมีวงเราขึ้นต่อ ซึ่งตอนแรกก็ไม่รู้ว่าจะเวิร์กหรือไม่เวิร์ก แต่พอเล่นไปมีคนเต้น มีบอดี้เซิร์ฟ จบโชว์มีคนมาบอกว่าวงของเราเป็นเหมือน Sunshine of festival เลย เอาความอบอุ่นเข้ามา ซึ่งถ้าเทียบกับวงก่อนหน้าก็คงเป็นแบบนั้น เพราะวงก่อนหน้ามันโหดมาก (หัวเราะ) หลังจากนั้นเราก็ทัวร์ไปเรื่อยๆ ไป Glastonbury ไปที่นู่นที่นี่ ถึงวันนี้เราน่าจะเล่นไปประมาณ 100 โชว์ได้แล้วทั่วโลก
ผมว่าพอเราทำอะไรแล้วมีคนสนใจก็มีความสุขอยู่แล้วแหละ ฟีดแบ็กที่ได้มาวันนี้เกินกว่าที่คาดหวังไปแล้ว อาจจะเพราะว่าตอนเริ่มโปรเจ็กต์ในปี 2007 เราไม่ได้คาดหวังว่าต้องทำให้คนไทยรู้จัก ต้องไปเล่นเฟสติวัล ตอนนั้นเป้าหมายแรกคือมันต้องมีคนชอบเหมือนเราสิวะ แค่นั้นเอง